Friday, 5 July 2024
COLUMNIST

‘มิตซูบิชิ อีเล็คทริค’ ผุด ‘XY Series’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ กลุ่มอินเวอร์เตอร์ พร้อมรุกธุรกิจ B2B ครบวงจร ตั้งเป้ารักษาแชมป์ตลาดเครื่องปรับอากาศ

(20 ม.ค. 67) มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา เดินหน้ารักษาแชมป์อันดับ 1 ผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน จัดหนักแคมเปญส่งเสริมการตลาด พร้อมขยายฐานผู้บริโภคต่อเนื่อง คว้า ‘นนท์ - ธนนท์ จำเริญ’ พรีเซนเตอร์ปีที่ 2 สานต่อปรากฏการณ์ความสำเร็จจากปีที่ผ่านมาด้วยกลยุทธ์ Music Marketing เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตอกย้ำ จุดแข็งแบรนด์คุณภาพ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศกลุ่มอินเวอร์เตอร์รุ่นใหม่ ‘XY Series’ ที่สุดของเทคโนโลยี ‘Fast Cooling Plus’ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ลงตัว และตู้เย็นกลุ่ม ‘Premium Series’ คุณภาพสูง โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีถนอมอาหาร พร้อมเร่งขับเคลื่อนธุรกิจ B2B มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายชินจิ คามิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า “ปี 2566 ที่ผ่านมา วงการธุรกิจเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ต้องประสบปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างไรก็ตาม จากภาวะอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ประมาณการได้ว่า บริษัทฯ จะสามารถสร้างยอดขายโดยรวมทั้งปีงบประมาณ 2566 (เมษายน 2566 - มีนาคม 2567) ได้เติบโตสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 10%”

“ในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ปั๊มน้ำ และพัดลมระบายอากาศ เรายังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้สูงสุดต่อเนื่องจากปีก่อน รวมทั้งผลการดำเนินกิจกรรมการสร้างแบรนด์ยังได้รับผลตอบรับในความไว้วางใจ โดยนิตยสารทางธุรกิจที่มีชื่อเสียง เช่น นิตยสาร Marketeer และ BrandAge ได้จัดอันดับให้ทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้านและปั๊มน้ำมิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในประเทศไทยต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน”

“สำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและงานบริการ ตามพันธกิจองค์กรที่วางไว้ โดยมุ่งให้ผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทฯ มอบประโยชน์ด้านการสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางสังคมไทยได้มากยิ่ง ๆ ขึ้น”

“และในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายโดยรวมไว้ให้ได้มากกว่า 10% โดยมุ่งเน้นดำเนินการหลัก ๆ 4 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่

1.) กิจกรรมด้านผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้มีฟังก์ชันการทำงานที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความหลากหลายหรือเพิ่ม Line Up ในแต่ละตัวผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ซึ่งจะพัฒนายกระดับประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานให้สอดรับกับมาตรฐานประหยัดพลังงานฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน 

2.) ในปีนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมงบทางการตลาดไว้ ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยมุ่งยกระดับคุณค่าแบรนด์ เพื่อสร้างการจดจำและรับรู้ในแบรนด์ ตลอดจนมุ่งเน้นกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านค้าให้มากยิ่งขึ้น

3.) ด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ ตระหนักว่าธุรกิจในกลุ่มนี้จะเป็นรากฐานการสร้างความเจริญเติบโตให้บริษัทฯ ในอนาคตได้ ดังนั้น จึงกำหนดการสร้างเสริมระบบงานการตลาดการขายที่มีความพร้อม ช่วยสนับสนุนการเจรจาการค้าในส่วนภูมิภาค ควบคู่กับการพัฒนาการนำเสนองาน ให้เป็นที่ยอมรับในการตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ หรือโซลูชันในธุรกิจระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ ซึ่งเป็นความชำนาญการพิเศษของเรา เพื่อขยายการจัดจำหน่ายในส่วนนี้ให้ได้มากยิ่งขึ้น

4.) งานบริการหลังการขาย เน้นการยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า และพัฒนาระบบงานที่จะรับส่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น งานซ่อมจากลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาการเพิ่มทักษะฝีมือของช่างบริการ เพื่อให้สามารถส่งมอบงาน บริการหลังการขายที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

จากกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้กล่าวไปนั้น บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะยังคงได้รับความไว้วางใจในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในปีนี้เราจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคชาวไทยทุกคนต้องการอย่างแท้จริง”

นายประพนธ์ โพธิวรคุณ กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า “สำหรับกลยุทธ์ด้านบริการหลังการขายในปี 2567 นี้ บริษัทฯ วางแผนลงทุนเพิ่มเติมทรัพยากรที่จำเป็น ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบ Online Service เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถรองรับการบริการให้กับลูกค้ามิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั้งกลุ่ม B2C และ B2B ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลงทุนในส่วนของเครื่องมือที่ทันสมัยและอุปกรณ์ อาทิ การสำรองชิ้นส่วนอะไหล่สินค้าทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่ และศูนย์จำหน่ายอะไหล่แต่งตั้งที่มีอยู่กว่า 40 แห่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่ามีอะไหล่พร้อมบริการ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของศูนย์บริการแต่งตั้งที่มีอยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรองรับการบริการหลังการขายที่ได้มาตรฐานให้กับลูกค้ามิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่หลากหลายให้ลูกค้าได้ติดต่อกับทางศูนย์บริการ ไม่ว่าจะเป็น Hot Line 1325 รวมถึง Facebook และ Line Official Account : มิตซูบิชิ อีเล็คทริค เป็นต้น”

“ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนพัฒนาบุคลากรช่างเทคนิคให้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการรับรองในสาขาช่างเครื่องปรับอากาศและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 ซึ่งปัจจุบันช่างเทคนิคของศูนย์บริการมิตซูบิชิ อีเล็คทริค สำนักงานใหญ่ ได้ผ่านการทดสอบหลักสูตรดังกล่าวทั้งหมด และในปีนี้ ยังคงเดินหน้ายกระดับความสามารถของช่างเทคนิค ศูนย์บริการแต่งตั้งทั่วประเทศให้มีศักยภาพและมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทยสู่มาตรฐานสากล สานต่อ ‘โครงการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขาเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ (ระบบทวิภาคี)’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคชั้นนำต่าง ๆ โดยมีช่างผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้านเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ให้กับนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิค ให้มีความรู้และทักษะวิชาชีพ เมื่อจบหลักสูตรแล้วสามารถนำความรู้ไปประกอบวิชาชีพได้ต่อไป

ด้านกลุ่มธุรกิจ B2B เรามีความพร้อมทั้งในด้านผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ และระบบปรับอากาศที่เหมาะสมสำหรับที่อยู่อาศัย และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แบบครบวงจร มีทีมงานวิศวกรโครงการและช่างเทคนิคมืออาชีพ รวมถึงสำนักงานสนับสนุนลูกค้าโครงการระบบปรับอากาศซิตีมัลติ (CMS) เพื่อให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายในพื้นที่ต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่าย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงส่งมอบงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จและเติบโตไปด้วยกัน”

นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการขาย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า “ด้านยอดขายเครื่องปรับอากาศภายในบ้านของบริษัทฯ ในปีงบประมาณ 2566 เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 30% สำหรับกลยุทธ์การตลาดในปี 2567 นี้ เรายังคงมุ่งมั่นดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่าง แข็งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขาย สำหรับกลุ่ม B2C ได้กำหนดกลยุทธ์การขายเป็นรายผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน โดยกลุ่มเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน เน้นเสนอเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย ที่เย็นเร็ว รู้ใจ ประหยัดไฟยิ่งขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในกลุ่มตู้เย็นจะเน้นส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่สูงด้วยคุณภาพและเสริมสร้างการรับรู้ ความน่าสนใจในคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับสูงขึ้นในตู้เย็นกลุ่ม ‘Premium Series’

นอกจากนี้ ในธุรกิจ B2B จะมุ่งเน้นไปที่ระบบงานหลัก ๆ เพื่อให้บรรลุการเติบโตของธุรกิจส่วนนี้ต่อไป ได้แก่ ทำการขยายขอบเขตธุรกิจ (ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์) และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับยอดขายในช่องทางจัดจำหน่าย CAD (City-Multi Sales Authorized Dealer) โดยบริษัทฯ พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการนำเสนอโซลูชันต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าได้ต่อไป”

“ในปีนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนสื่อสารการตลาดครบวงจร ทั้งการเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ ผ่านพรีเซนเตอร์ปีที่ 2 ‘นนท์ - ธนนท์ จำเริญ’ พร้อมสานต่อกลยุทธ์ Music Marketing ที่ประสบความสำเร็จในด้านการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ยังคงเน้นทำกิจกรรมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานถึงกลุ่มลูกค้า ผู้มีรายได้ระดับปานกลางเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเน้นสร้างคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้ทำการสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง Offline และ Online Media ควบคู่กันไป พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งทางการขายโดยร่วมจัดแคมเปญ กิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ร่วมกับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายควบคู่ต่อเนื่องต่อไปด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับความสุขสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ผ่านผลิตภัณฑ์ที่สูงด้วยคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ความทนทาน พร้อมนวัตกรรม และการประหยัดพลังงาน ได้ตามค่ามาตรฐานใหม่ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ที่เปิดตัวในปีนี้ ได้แก่

• เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม ระบบอินเวอร์เตอร์ ในรุ่น XY Series ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ‘Fast Cooling Plus’ ที่ทำความเย็นได้อย่างรวดเร็วเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน มาพร้อมเซนเซอร์ตรวจจับโดยคำนวนจากอุณหภูมิภายในห้องนั้น เพื่อปรับความเย็นและลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสบายสูงสุดและเหมาะกับสภาพในขณะนั้นได้อย่างอัตโนมัติ รวมทั้งรุ่น GY Series ที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีดีไซน์หรูหราขึ้น และมีประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานที่สูงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ทุกรุ่น ได้พัฒนาให้คุณภาพอากาศภายในห้องดียิ่งขึ้นด้วยการเพิ่ม ‘V-Air Filter’ และ ‘PM2.5 Filter’ แผ่นกรองฝุ่นที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเฉพาะ สามารถกำจัดไวรัส แบคทีเรีย และดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างดี ซึ่งล้วนเป็นฟังก์ชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อความใส่ใจในสุขภาพของผู้ใช้เป็นสำคัญ

• ตู้เย็นมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ‘Premium Series’ คุณภาพสูง ทนทาน โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีถนอมอาหาร มีให้เลือกถึง 7 รุ่น ใน 5 ซีรีส์ อาทิ ตู้เย็นแบบ 2 ประตูรุ่นใหม่ ‘HS Series’ โดดเด่นด้วยช่องแช่แข็งที่มีขนาดความจุใหญ่ขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานด้วยการออกแบบให้ช่องแช่อเนกประสงค์พิเศษและช่องแช่ผักอยู่ในตำแหน่งส่วนกลางของตัวตู้เย็น ทำให้ผู้ใช้หยิบจับอาหารในช่องชั้นต่าง ๆ ได้สะดวก นอกจากนี้ ที่ช่องแช่อเนกประสงค์พิเศษในตู้เย็น ‘Premium Series’ ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยังออกแบบให้สามารถปรับตั้งค่าอุณหภูมิได้ (โดยเลือกโหมด Chill หรือ Soft Freezing) ซึ่งเป็นฟังก์ชันพิเศษที่สามารถลดเวลาทำละลายเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาได้อย่างมาก สามารถนำออกไปปรุงอาหารได้ในทันที ถือว่าเป็นตู้เย็นที่ถนอมอาหารได้ยาวนานขึ้น และในตู้เย็นแบบ 4 ประตู ได้เพิ่มสีใหม่ ‘Glass Dark Silver’ ดูหรูหราและสวยงามมากยิ่งขึ้น

• พัดลมมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ตั้งพื้นกึ่งตั้งโต๊ะ รุ่นใหม่ เพิ่มสองสีใหม่ คือ ฟ้าพาสเทล และเขียวพาสเทล พร้อมดีไซน์ตะแกรงหน้าแบบเรียบ สามารถส่งลมได้แรงขึ้น ไกลขึ้น และพัดลมรุ่น R12-MC มีใบพัดที่ออกแบบใหม่ สามารถถอดและทำความสะอาดได้ง่าย เพียงคลิกเดียว นอกจากนี้ พัดลมมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทุกรุ่น ยังมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐาน Premium Safety พร้อมรับประกันมอเตอร์ 5 ปี

• ปั๊มน้ำ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ยกระดับความน่าเชื่อถือไปอีกขั้น ด้วยการขยายระยะเวลาการรับประกันมอเตอร์ถึง 11 ปี พร้อมประสิทธิภาพการกระจายความร้อนสูงด้วยโครงสร้างมอเตอร์อะลูมิเนียมที่ทนทานและมีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐาน Premium Safety

“อีกกลยุทธ์หนึ่งที่เรามุ่งเน้น คือ การสร้างการรับรู้ในแบรนด์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดแนวคิดจากปี 2566 ‘ไม่หยุดทำ แค่คำว่าดี’ โดยในปีนี้ เราจะนำเสนอแนวคิดใหม่ คือ ‘แอร์ที่ใช่ ใส่ใจทุกรายละเอียด’ ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดและเสริมสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ขึ้นใหม่ 3 เรื่อง ผ่านการนำเสนอโดยพรีเซนเตอร์ คุณนนท์ ธนนท์ ที่สื่อให้เห็นถึงเจตนารมย์ของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งแนะนำจุดเด่นต่าง ๆ ด้วยเนื้อหาที่ง่ายต่อการจดจำในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค มิสเตอร์สลิม ให้แก่ผู้บริโภค”

“จากกลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และเพิ่มทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะช่วยสานต่อความสำเร็จในการทำตลาดของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค และผลักดันยอดขายให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย รวมถึงผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ได้เข้าสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง เพื่อนำเสนอให้ผู้บริโภคได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่า สิ่งนี้จะยังประโยชน์สู่สังคมโดยรวมในที่สุดได้” นายชิซุโอะ นาคาสึคาสะ กล่าวทิ้งท้าย

‘พาณิชย์’ เล็งส่งสินค้าสูตรโซเดียมต่ำตีตลาดญี่ปุ่น สอดรับนโยบาย รบ.ญี่ปุ่น รณรงค์ลดบริโภครสเค็ม

(10 ส.ค. 66) นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มาโดยต่อเนื่องนั้น ล่าสุดได้รับรายงานจากนายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอาหารในญี่ปุ่น

โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้าปริมาณการบริโภคเกลือของประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 7.0 กรัมต่อวัน ในปี 2567 ซึ่งเป็นเป้าหมายภายใต้โครงการ ‘ญี่ปุ่นสุขภาพดี 21’ หลังจากการสำรวจสุขภาพและโภชนาการของประชาชน พบว่า คนญี่ปุ่นบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 10 กรัม ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยร้อยละ 70 ของการบริโภคเกลือของคนญี่ปุ่นมาจากเครื่องปรุง ไม่ว่าจะเป็น ซอสโชยุ เต้าเจี้ยวมิโซะ เกลือ ซุป ซอสต่างๆ ฯลฯ แหล่งการบริโภคเกลือของกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุบริโภคเกลือจากผักดอง กลุ่มคนหนุ่มสาวบริโภคเกลือจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องแกงกะหรี่ ซึ่งเป็นสินค้าอาหารแปรรูป เป็นต้น จึงคาดการณ์ได้ว่า สินค้าอาหารแปรรูปลดเกลือมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูงขึ้นในอนาคต

ซึ่งการบริโภคเกลือปริมาณมากเกินไปยังเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญในด้านความยั่งยืนของระบบประกันสังคม ซึ่งคนญี่ปุ่นช่วงอายุ 40 - 59 ปี 1 ใน 3 คน และคนที่อายุมากกว่า 60 ปี 1 ใน 2 คนเป็นโรคความดันสูง

นอกจากนี้ ในอดีตคนญี่ปุ่นเป็นเส้นเลือดในสมองตีบหรืออุดตันจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเกลือมากเกินไป ความอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน อาทิ ผู้ผลิตอาหาร ร้านอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตอาหารของญี่ปุ่นพยายามวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารลดเกลือภายใต้คอนเซปต์ ‘อร่อย สุขภาพดี สะดวก’ สินค้ามีความหลากหลายออกจำหน่ายมากขึ้น ภายในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งมีชั้นวางสินค้าที่รวบรวมสินค้าเหล่านี้เอาไว้โดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคต่อสินค้าเกลือต่ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการบริโภคเกลือ

“ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น หากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอาหารแปรรูปหรือวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการและแนวทางการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นและเป็นโอกาสในการขยายตลาดและมูลค่าการส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป” นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นแล้วมูลค่ากว่า 59,243 ล้านบาท

หนุนความเชื่อมั่น!! กูรูหลักทรัพย์มอง ‘เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาล เพิ่มแรงส่ง ‘ตลาดหุ้น-คลายกังวลขึ้นภาษี’


(20 ก.ค. 66) หลังจากเมื่อวานนี้ มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีหุ้นสื่อไอทีวี และสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อน ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภาลงความเห็นห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วเสนอซ้ำ จึงเสนอชื่อพิธาโหวตนายกฯ รอบ 2 ไม่ได้ โดยเตรียมโหวตนายกฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ค. 66 นั้น

ด้าน นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและนักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นมีความชัดเจนด้านการเมืองพอสมควร ปัจจุบันเหลือเพียง 2 scenario คือ…

1.พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล และ
2.มีพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางใด มองเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น จากการที่ตลาดมีความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ทั้งยังลดแรงกดดันจากความกังวลนโยบายพรรคก้าวไกล ในเรื่องการเก็บภาษีหุ้น Capital Gain Tax  ภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีนิติบุคคล ฯลฯ การปรับลดราคาพลังงาน ทำให้เราประเมินว่าว่าภาพโดยรวมของตลาดหุ้น จะมีแรงส่งจากทิศทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดโฟลว์จากต่างประเทศเข้าไทยได้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง

นายกิจพณ กล่าวอีกว่า หากมองเปอร์เซนต์โอกาสที่ ‘พรรคก้าวไกล’ จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแค่ 30% แต่หากได้ทั้ง 2 พรรคมาร่วมรัฐบาล จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากกว่าในแง่ความเป็นเอกภาพ แต่หากเป็นการดึงจากหลายพรรค มาแทนที่ ‘ก้าวไกล’ เพื่อให้ได้เสียงเพียงพอ อาจมีความเสี่ยงเรื่องอำนาจต่อรอง เก้าอี้ รมต. และผลประโยชน์การบริหารกระทรวงต่างๆ

ทั้งนี้หากมองถึงปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกว่า ปัจจุบันมีความนิ่งพอสมควร ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่เคยกดดันในครึ่งปีแรก ปรับลดลงจนส่งผลต่อกำไรหุ้นพลังงานที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำไรตลาด แต่ครึ่งปีหลัง เข้าสู่ฤดูหนาว เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ถดถอยอย่างรุนแรง และประเทศจีนเปิดประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพของราคาน้ำมันดิบมีโอกาสการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อกำไรตลาดในครึ่งปี มีโอกาสจะปรับขึ้นด้วย

สำหรับ บล.ยูโอบีฯ ให้กรอบเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 66 ที่ 1450- 1630 จุด พีอี 16 เท่า พร้อมมองการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยการเมืองในประเทศ และผลประกอบบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อีกทั้งกลุ่มพลังงานที่จะมีแรงส่งจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มขยับขึ้น จะทำให้ดัชนี SET ค่อยๆ ฟื้นจากระดับ 1500 จุด ในปัจจุบันได้

>> ทรีนีตี้ จับตา ‘ภูมิใจไทย’ มาแรงร่วมรัฐบาล
ด้าน บล.ทรีนีตี้ จำกัด โดยนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้เผยบทวิเคราะห์ล่าสุด ว่า มองกรณีที่ประชุมรัฐสภา (19 ก.ค.) ลงมติเห็นด้วยกับข้อบังคับการประชุม 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำเป็นครั้งที่สอง เป็นตัวจุดประกายให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งจะเป็นพรรคลำดับถัดไปในการเสนอชื่อนายกฯรัฐมนตรีนั้น เดินเกมส์ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการโหวตนายกฯ ที่มาจากแคนดิเดตพรรคนั้น จะประสบความสำเร็จตั้งแต่รอบแรก ด้วยวิธีการ 2 แบบ ดังต่อไปนี้…

1) การไปดึงพรรคอื่นมาเพิ่มเติมเสียงให้กับกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ 8 พรรคเดิม อาทิ การจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ซึ่งก็จะทำให้มีคะแนนเสียงส.ส.ในมือรวมกันใหม่เป็น 384 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
2) การตัดสินใจข้ามขั้วไปจับมือกับแกนนำฝั่งพรรคอนุรักษ์นิยมทันที เช่นพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากสว.ให้ลงมติหนุนนายกที่มาจากแคนดิเดตเพื่อไทย รวมกันเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

Winner : ไม่ว่าในกรณีไหน มองโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 ตอนนี้มีสูงมาก ประเด็นนี้อาจทำให้เห็นแรงเก็งกำไรต่อเนื่องไปยังกลุ่มหุ้นที่ STEC, STPI, เชื่อมโยงกับพรรคดังกล่าวอย่างเช่น PTG เป็นต้น

สำหรับใน 3 ตัวนี้มี PTG ที่อยู่ภายใต้ Coverage ของเรา โดยในเชิงพื้นฐานแม้แนะนำ ‘ถือ’ แต่มีประเด็นเชิงบวกล่าสุดได้แก่ การที่กบน.มีมติใช้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร หลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค.

>> เอเซียพลัส : มองการเมืองบวกกับตลาดหุ้น คาดได้รัฐบาลใหม่ช่วงส.ค.66
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการประชุมรัฐสภา 27 ก.ค.66 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยในครั้งนี้ (27 ก.ค. 66)

เนื่องจากการประชุมสภารอบที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่าไม่สามารถเสนอรายชื่อ บุคคลเดิมเป็นแคนดิเดตนายกฯซ้ำได้ ภายใต้สถานการณ์อื่นไม่เปลี่ยนเป็น ‘ญัตติต้องห้าม’ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในเบื้องต้น โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศในช่วง ส.ค.66 โดย Scenario ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีดังนี้…

- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง 8 พรรค และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล และยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังได้ประเมินภาพการเมืองในช่วงนี้ว่า อยู่ในวิสัยที่สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น และน่าจะทำให้ดาวน์ไซด์ของ SET Index จำกัด โดยเชื่อว่าน่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงเดือน ส.ค. 66 จะมีก็แค่ ‘ความเสี่ยงนอกสภาฯ’ ที่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดัน SET Index อีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณา Google Trends คำว่า ‘ม็อบ-ประท้วง-Protest’ ในปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำกว่าในอดีตมาก
 

เชื่อม ‘ขนส่ง-ลงทุน’ จากซีกโลกถึงซีกโลกผ่านไทยแลนด์ โปรเจกต์เปลี่ยนไทยให้เนื้อหอมที่ ‘จีน-สหรัฐฯ’ จ้อง!!



ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่กับโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโปรเจกต์ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าในโครงการนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสมหาศาลของไทย หากทำได้สำเร็จ โดยรายการหนุ่ยทอล์ก ดำเนินการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรไอทีและผู้ผลิตคอนเทนต์ชาวไทย ซึ่งได้พูดคุยกับแขกรับเชิญอย่างคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI / นักเขียน และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นั้น ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสรุปคร่าวๆ แล้ว ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในโลกของกลุ่มมหาอำนาจ ตั้งแต่เรื่องของพลังงานที่แย่งชิงกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาสู่การแย่งชิง ‘แร่หายาก’ (Rare Earth) ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่เชิงภูมิศาสตร์  และนั่นก็ทำให้การมองหาพิกัดในการได้มาและถ่ายเทไปซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ที่ตนมีไปสู่ประเทศอื่นๆ จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง

โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกกัน โดยทั้ง 2 ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมในอาเซียนจะมี ‘ช่องแคบมะละกา’ ที่เป็นพิกัดในการขนส่งสินค้ามาลงประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่แร่หายาก 

แต่หากมีการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์นี้ รับรองได้ว่า ‘ไทย’ จะได้รับโอกาสใหม่ๆ อย่างมหาศาล

แน่นอนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่จะใช้เป็นทางลัดจาก ตะวันตก / ตะวันออกกลาง ไปเอเชียหรือไปสู่จีนได้ใกล้กว่ามะละกา แล้วก็สามารถแก้ปัญหาการแออัดของช่องทางคลองสุเอช รวมถึงช่องทางระหว่างแดนต่างๆ จากยุโรปไปถึงตะวันออกกลางและเอเชียภายใต้กรณีพิพาทจากสงคราม 

การเคลื่อนไหวตามข่าวที่เราได้เห็นกันชัดเจนแล้ว คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มาคุยเจรจากับไทย ในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าสิงคโปร์ รวมถึงการลงทุนในโครงการนี้ที่จะตามมาอีกมาก คือสัญญาณว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศไทย แต่เป็นโครงการที่โลกต้องใส่ใจ ภายใต้คำตอบที่ง่ายดายว่า โครงการนี้ขนส่งใกล้กว่าสิงคโปร์ และมีการโอกาสในการต่อยอดด้านการลงทุน สาธารณูปโภค และการขนส่งระหว่างสองซีกอ่าวอย่างมโหฬาร

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้แลนด์บริดจ์เกิด คือ สร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างท่อน้ำมัน กระจายต่อไปทางจีนได้เร็วเท่าไร โอกาสก็ยิ่งชัดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ก็คงไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่โครงการนี้เดินหน้าได้ไม่ยาก เนื่องจากถ้าเราสร้างคลังน้ำมันใหญ่ตรงนี้ได้ การสร้างท่อน้ำมันจากตรงนี้ไปยังประเทศที่โฟกัส ก็จะไม่ยาวมาก

ทั้งสองท่านมองอีกว่า นี่คือความสำคัญของประเทศไทย ในขณะที่จีนกับอเมริกาเขาทะเลาะกัน เพราะพิกัดบริเวณแลนด์บริดจ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากอเมริกามาคุมตรงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ศูนย์กลางของโลกไปเลย นำเศรษฐกิจวิ่งไปอาเซียนได้ ไป EEC ได้ ไปจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วิ่งไปที่จีนข้างบนแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน หากมองประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ในย่านนี้ การมีแร่พลังงาน หรือแม้แต่แร่หายากใหม่ๆ จากประเทศจีน ก็จะไหลมาหาไทยได้ง่ายขึ้น เพราะตรงนี้ก็จะอยู่ไม่ไกลจากเรา อีกทั้งไทยเรามี FTA กับจีน ก็ขนแร่มามาทางนี้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำเชื่อมต่อได้เลย ซึ่งนี่ก็เหตุผลที่ทำไมรถไฟฟ้าจีนถึงได้มาเมืองไทย

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทําไมบรรดาค่ารถยนต์จีนอย่าง MG หรือแม้แต่ GWM ถึงเริ่มแห่มาไทย เพราะในอนาคตนอกจากที่ว่าไปข้างต้นแล้ว เขายังสามารถขนเอาแร่ลิเธียมจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาบริเวณนี้ได้อีกด้วย

ดังนั้น หมากเกมนี้ รัฐบาลลุงตู่ เหมือนจะวางไว้เพื่อรับโอกาสหลายมิติ แต่มิติที่ใกล้สุดก็คือการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโรงผลิตรถไฟฟ้าโดยธรรมชาติ และเราจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าสิงคโปร์ได้ในอนาคต หากเราทำพิกัดนี้สำเร็จ ถึงบอกว่าประเทศไทยเรามีความหวังมากเลยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะบอกเลยว่า อาจจะเจ๋งกว่า EEC เสียอีก 

ลุงตู่นี่แกก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย
 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 คืบหน้า 82.5% คาด!! พร้อมเปิดให้บริการ ภายในปี 2567

(19 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้เร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  เชื่อมระหว่างบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคจากวิกฤติโควิด แต่ล่าสุด โครงการมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 82.550% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567

สำหรับโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ได้มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ในปี 2562 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  ที่อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว 

รูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ กรมทางหลวงออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง โครงการมีระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ฝั่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบา ท ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท) 


ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และมณฑลกว่างสีของประเทศจีน เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดในจีนตอนใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
 

‘ซาอุดีอาระเบีย’ ตั้งเป้าพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ดัน ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการพัฒนา



(12 ก.ค. 66) ช่องยูทูบ ‘ถามอีก กับอิก TAM-EIG’ โพสต์วิดีโอชื่อ ‘ซาอุฯ ทุ่ม! 2.5 แสนล้าน ดันไทยเป็นศูนย์กลางไฮโดรเจนสีเขียว’ พร้อมได้อธิบายความในวิดีโอไว้ว่า…

ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง จากข้อมูลของธนาคารโลก World Bank ระบุว่า GDP ภายในประเทศซาอุฯ มีขนาดประมาณ 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าประเทศไทย 1 เท่าตัว โดยมีบริษัทเรือธงที่เดินหน้าลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยก็คือ ‘Saudi Aramco’

Saudi Aramco เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ก่อตั้งเมื่อปี 1933 โดยประกอบธุรกิจปิโตรเลียมแบบครบวงจร และได้มีการเซ็นสัญญา MOU ว่าจะเข้ามาทำธุรกิจด้านพลังงานหลากหลายด้านในประเทศไทย เช่น ธุรกิจจัดหาน้ำมันดิบ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ LNG ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ธุรกิจสำรวจพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและสีฟ้าด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยซื้อน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 18 (เป็นรองแค่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) หมายความว่าความเรื่องระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในรอบนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทยในระยะยาวด้วย

และล่าสุด ไทยและซาอุดีอาระเบียได้ประกาศลงทุนพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ด้วยเม็ดเงินการลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

>>หลายคนคงสงสัยว่า ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ คืออะไร?
ต้องบอกก่อนว่า ไฮโรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุด และถุกพบมากที่สุดในเอกภพ รวมถึงเป็นองค์ประกอบของน้ำ เป็นสารประกอบที่มีมากที่สุดในโลก ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้วยความพิเศษนี้ จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสกัดไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากนั้นก็ทำมาป้อนกับเซลล์เชื้อเพลิง หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพื่อเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะให้ค่าพลังงานสูงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไป 2-4 เท่า และถ้ามีการใช้พลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานความรรร้อนใต้พิภพ ซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘ไฮโรเจนสีเขียว’

>> แล้วทำไมซาอุดีอาระเบีย ถึงสนใจพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ อย่างมาก?
ความมุ่งมั่นในครั้งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ โดยมีชื่อว่า ข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Saudi Green Initiative) เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เพราะซาอุดีอาระเบียเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก และกำลังประสบปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และที่แย่คือเริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนแล้ว

สิ่งที่ซาอุดีอาระเบียวางแผนจะทำมี 4 ด้าน ได้แก่...
- ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนร้อยละ 4 หรือประมาณ 130 ล้านตัน 
- ปลูกต้นไม้จำนวน 1 หมื่นล้านตัวทั่วประเทศ
- เพิ่มอาณาเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงรักษาระบบนิเวศทั้งบนบกและทะเล ให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากกว่า ร้อยละ 30 
- ใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นไฮไลต์หลักที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันใช้พลังงานทดแทนเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น หากจะบรรลุเป้าหมาย ซาอุดีอาระเบียต้องลงแรงอีกเยอะ และเป็นเหตุผลในการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ประเทศไทย

>> ประโยชน์ของ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’
- การกลั่นน้ำมัน การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ที่นำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันดิบ 
- เซลล์เชื้อเพลิง ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า 
- อุตสาหกรรมอาหาร สามารถเปลี่ยนโครงสร้างกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันสัตว์และน้ำมันพืช ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวได้
- เภสัชภัณฑ์ ใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตเครื่องสำอางและสารตึงผิว
- อุตสาหกรรม การเชื่อมโลหะ หรือการตัดโลหะ 
- การบินและอวกาศ สามารถเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับเป็นเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา

ซึ่งในปัจจุบันมีหลายๆ ประเทศในเอเชียเริ่มใช้ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ในวงการยานยนต์ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน โดยสัดส่วนความต้องการในปัจจุบันยังไม่มาก แต่ในอนาคต ปี 2050 อาจมีมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่าหากความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการสร้าง New S-Curve ให้ประเทศในระยะยาวได้ และยังมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ อีก เช่น นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การส่งออก ก็จะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือนี้ด้วย
.
 

ขยายกรอบบริการ ‘อัญยา เมดิเทค’ ประกาศเดินหน้าธุรกิจ - ขยายตลาด พร้อมขึ้นแท่นผู้นำศูนย์บริการด้านสุขภาพเพื่อการนอนหลับ


อัญยา เมดิเทค มั่นใจพร้อมขึ้นแท่นผู้นำศูนย์บริการด้านสุขภาพ เพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ หลังดึงวรวุฒิ อุ่นใจ นักธุรกิจมือฉมัง ระดับแถวหน้าของประเทศร่วมลงทุน และให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการ พร้อมผุดกลยุทธ์ขยายตลาด Healthcare เพิ่ม Co-Investors ทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาค ปรับโครงสร้างราคาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ารับการบริการได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ปักธงขยายบริการให้ครอบคลุมทั้งในส่วนเรื่องการนอนและการป้องกันโรคโดยเน้น เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ 

(11 ก.ค. 66) คุณทักษอร (อุ้ม) คงคาประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัญยา เมดิเทค จำกัด เปิดเผยว่า “ปัญหาการนอนไม่มีคุณภาพ เป็นภัยเงียบใกล้ตัว และคือหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น เบาหวานความดัน หัวใจ อัลไซเมอร์ และโรคภัยต่างๆ อีกมากมาย การนอนไม่มีคุณภาพเป็นปัญหาที่ทุกคนไม่ควรนิ่งนอนใจและไม่สามารถเพิกเฉยได้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากพบสถิติตัวเลขอุบัติการณ์ที่เป็นกันมากขึ้น คือ มีตัวเลขประชากรเกือบ 20% ที่อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนี้ รวมทั้งข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า ประชากรทั้งโลกป่วยเป็นภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคน หรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งโลก ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เป็นมากขึ้นในปัจจุบันทำให้เราต้องให้เกิดการ screening และ monitoring มากขึ้น

อัญยา เมดิเทค เรามุ่งเน้นการรักษาเชิง Preventive care ซึ่งเป็นศาสตร์ป้องกันโรค ตั้งแต่เรื่องการนอน จนถึงการดูแลรักษาที่เน้นความร่วมมือกับทีมบริษัทที่มีนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งในวันนี้เรามีความพร้อมที่จะที่จะขยายตลาด และฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น โดยเราได้เริ่มดำเนินการมีแผนการขยายสาขาเปิดรับ Co-Investors ทั้งในประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาคและต่างประเทศ ภายในสิ้นปีนี้เราตั้งใจว่าจะขยายไปยังเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค โดยประเดิม Co investor ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนในพื้นที่ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ประกอบกับกลยุทธ์ในการปรับโครงสร้างราคา ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น 

โดยในช่วงที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของยอดจำหน่าย และการเข้ารับรักษานั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 30% และคาดว่าจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกแน่นอนค่ะ”

นายวรวุฒิ อุ่นใจ หนึ่งในผู้ถือหุ้น กุนซือใหญ่ บริษัท อัญยา เมดิเทค ได้กล่าวถึงการเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ว่า “หลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จนนำมาซึ่งการเปิดประเทศ ทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์สุขภาพ ในปี 2566 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม New S-curve ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข และเทคโนโลยีของโลกที่มีการเติบโตขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าของบริการทางการแพทย์เหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ นั่นจึงเป็นที่มาของการมาร่วมลงทุนดำเนินธุรกิจกับ อัญยา เมดิเทค ในครั้งนี้จะเพื่อเปิดประตูสู่การขยายธุรกิจ และเพื่อปูทางสู่การผลักดันการแพทย์ใหม่ๆ และนั่นทำให้ผมมั่นใจครับว่า การเข้ามาถือหุ้น และ ทำธุรกิจ อัญยา เมดิเทค นั้นมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่สูงมาก และเชื่อว่า เราจะทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายมากยิ่งขึ้นจากการปรับโครงสร้างราคาและการรุกตลาดตามแผนที่บริษัทฯ ได้วางไว้”
.

 

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม "จุฬา" ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ. 2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530
 
ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีต้าร์

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง “กู่เจิง” ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ “ถักร้อย สร้อยรัก” และโครงการ “ดร.น้ำจิต” นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1
 


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top