Friday, 5 July 2024
ECON

'ดนัยณัฏฐ์' คิกออฟ!! 'แฟรนไชส์เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2024' ต่อยอดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ 15-18 ก.พ.นี้ ที่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว

เมื่อวานนี้ (15 ก.พ. 67) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘งานแฟรนไชส์เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2024’ พร้อมด้วย นาวสาวปนัดดา แสงธรรมชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท สกุล วี กรุ๊ป จำกัด, นายพรภิชิต สมัครธรรม Chief Executive Officer THE STATES TIMES, นายอนันนต์ รัตนมั่นคง Vice President of Food and Beverage Services Group บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด, นายมานะ ฮาดสุวรรณ ผู้บริหารแบรน์แฟรนไชส์โลโซโตเกียว, นางสาวชยานิษฐ์ จิรธรบุญญาสิทธิ์ ผู้บริหารแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวเรือปัญจะรส และนางวลัยลักษณ์ วณิชชาภิวงศ์ กรรมการผู้จัดการแฟรนไชส์ชาตันหยง เข้าร่วมด้วย

สำหรับสุดยอดงานแสดงธุรกิจแฟรนไชส์แห่งปี ‘งานแฟรนไชส์เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2024’ (Franchise SMEs EXPO 2024) มีผู้ประกอบการร่วมงานหลากหลายธุรกิจ พร้อมกับมีโปรโมชันลดพิเศษสุด ๆ จากธุรกิจแฟรนไชส์ ‘เยอะ ครบ คุ้ม’ อาทิ ธุรกิจอาหารและขนม ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการ ธุรกิจนำเข้าสินค้าต่างประเทศ และระบบซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการร้าน เรียกได้ว่ามางานนี้ได้ครบจบในที่เดียว

สำหรับผู้ที่กำลังมองหาแฟรนไชส์ อาชีพทำเงิน หรือโอกาสใหม่ ๆ สามารถเข้าร่วมงานฟรีทุกวัน 10.30-20.00 น. ระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ลงทะเบียนเข้าชมงานรับฟรีเครื่องดื่ม 1 แก้ว ทุกวัน!!

SME D Bank สร้างนิวไฮ ปี 66 พาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนทะลุ 7 หมื่นล้านบาท ชูธง ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ 4 ปี ดันเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

SME D Bank แถลงผลสำเร็จปี 2566 สร้างสถิติใหม่รอบด้าน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร เผยพาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนกว่า 7.06 หมื่นล้านบาท และตลอด 4 ปี กว่า 2.3 แสนล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท พัฒนาเสริมแกร่งกว่า 7.5 หมื่นราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 7.5 แสนราย  ขณะที่บริหาร NPL มีประสิทธิภาพ เหลือต่ำสุดในรอบ 22 ปี ประกาศปี 2567 ยกระดับสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ คิกออฟใช้ระบบ CBS พร้อมแพลตฟอร์ม DX มั่นใจเดินหน้าไร้รอยต่อ  

(9 ก.พ. 67) นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ปี 2566 และภาพรวมตลอด 4 ปี (2563-2566) ว่า จากจุดยืนการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่พร้อมเคียงข้างส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตยั่งยืน ด้วยแนวทาง 'เติมทุนคู่พัฒนา' ประกอบกับความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานที่รวมพลังเป็น ONE Team ส่งผลให้ปี 2566 ที่ผ่านมา  SME D Bank สร้างสถิติใหม่สูงสุด (New High) นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี สามารถพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,695 ล้านบาท และยังเป็นการสร้าง New High ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (2563-2566) อีกทั้ง ช่วยสร้างประโยชน์เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 323,780  ล้านบาท รักษาการจ้างงานประมาณ 123,200 ราย นอกจากนั้นช่วยพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจอีกกว่า 24,000 ราย

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2566) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  SME D Bank ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ และข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ โดยเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรม สัมมนา ช่วยขยายตลาด ยกระดับมาตรฐาน สนับสนุนเข้าถึงนวัตกรรม พาจับคู่เพิ่มช่องทางขายในและต่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมและได้รับประโยชน์มากกว่า 75,000 ราย 

นอกจากนั้น ดูแลลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท อีกทั้ง สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีประสิทธิภาพ ลงลด 4 ปีติดต่อกัน เหลือเลข 1 หลัก 2 ปีซ้อน โดยปี 2566 ลดเหลือประมาณ 8,690 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 

"ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา SME D Bank เพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการทำงาน อีกทั้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อตอบความต้องการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์จริง ควบคู่กับสร้าง DNA แห่งการเป็น ‘นักพัฒนา’ หรือ DEVELOPER ในหัวใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อจะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน" นางสาวนารถนารี กล่าว

สำหรับปี 2567 การทำงานของ SME D Bank ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System (CBS) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัว รวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด นอกจากนั้น ยังนำหลัก ESG (การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) มาขับเคลื่อนในทุกมิติขององค์กร สร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

นางสาวนารถนารี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ จะครบวาระการทำงาน 4 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ด้วยรากฐานมั่นคงขององค์กร อีกทั้ง ทีมผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ล้วนเป็นบุคลากรภายในที่ร่วมผลักดันยกระดับองค์กรมาด้วยกัน และยังอยู่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่อง ทำให้การทำงานทุกด้านของ SME D Bank สามารถเดินหน้าได้ดีอย่างไร้รอยต่อ และเชื่อมั่นว่า SME D Bank พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง และมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตลอดไป 

‘BOI’ ชี้!! ลงทุนสุขภาพ ปี 67 เติบโตก้าวกระโดด รับ ‘เทรนด์สูงวัย-โรคอุบัติใหม่-ท่องเที่ยวการแพทย์’

(21 ม.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ กระแสการดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

โดยในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่สนใจเข้ามาในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐและยุโรป

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำของภูมิภาค ด้วยจุดแข็งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ความพร้อมของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 60 แห่ง มากเป็นอันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้

ดังนั้น อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ โดยมีแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตและการให้บริการ ทั้งในรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา

รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน เช่น สิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น

โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมกิจการ ตั้งแต่การผลิตเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์การแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) และการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์

โดยในปี 2566 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ในแง่เงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการโรงพยาบาล 10 โครงการ เงินลงทุน 9,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน 24 โครงการ 2,700 ล้านบาท กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคไต โรคมะเร็ง และจิตเวช 9 โครงการ 1,600 ล้านบาท และกิจการผลิตยา 12 โครงการ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บีโอไอได้มีการประชุมหารือกับบุคลากรในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และหากเป็นกิจการเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จะช่วยสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่จำเป็นต่อการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย เช่น กิจการบริการเดลิเวอรี่ทางการแพทย์ การผลิตไบโอพอลิเมอร์สำหรับการแพทย์ เป็นต้น

‘ธนาคารออมสิน’ มอบสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ค้ารายย่อย หนุนอาชีพอิสระมีเงินทุน ไม่ต้องใช้หลักประกัน-ผ่อนได้ถึง 8 ปี

(20 ม.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมอบสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุด 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน ผ่อนชำระนานสูงสุด 96 งวด เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง, ผู้ขับขี่รถแท็กซี่, ผู้ขับขี่รถตู้สาธารณะ, พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น สำหรับเป็นเงินทุนประกอบอาชีพ โดยให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน (Flat Rate) แต่หากอัตราผิดนัดไม่ชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญา บวกร้อยละ 0.25 ต่อเดือน

นางรัดเกล้า กล่าวว่า โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 70 ปี และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่หรือสถานประกอบการที่แน่นอน สามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถสมัครได้ที่ ธนาคารออมสินทุกสาขาหรือสมัครออนไลน์ที่เว็บไซต์ของธนาคาร (https://www.gsb.or.th/gsb_govs/loan4idpc/#section4) โดยนำเอกสารการสมัครไปให้ครบถ้วน

“การกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก ธนาคารออมสินจึงได้มอบสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งสินเชื่อนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่สนใจ” นางรัดเกล้า กล่าว

‘ARISE Plus Thailand’ เปิดโครงการ ‘เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ มุ่งสร้างความตระหนักรู้-พัฒนาการเกษตรในไทยสู่ระดับสากล

(15 ธ.ค. 66) ‘ARISE plus Thailand’ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ได้นำเสนอโครงการ ‘Organic For All - เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ ซึ่งดำเนินกิจกรรมร่วมระหว่างสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (National Bureau of Agriculture Commodity and Food standards - ACFS) และศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Centre – ITC) โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการบริโภคอาหารอินทรีย์ และการพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ในไทยอีกด้วย

‘โลฆอง ลูร์เดร์’ ที่ปรึกษาด้านเกษตรจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ระบุว่า ‘Organic For All - เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่มุ่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และเสริมศักยภาพให้กับเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการผลิตและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ โดยทางสหภาพยุโรปนั้นมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวในฐานะผู้ช่วยขับเคลื่อนทางการค้าและเศรษฐกิจ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการส่งเสริมระบบอาหารแบบยั่งยืนในประเทศไทย

ในด้านของ ‘ซิลวี เบตอม โฆชัง’ จาก ศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ระบุถึงความสำคัญของการส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์นั้นนอกจากจะส่งผลดีกับความยั่งยืนทางอาหาร และดีต่อคุณภาพของดินของประเทศในระยะยาวแล้วนั้น เกษตรกรไทยที่ทำเกษตรอินทรีย์ยังมีโอกาสได้เข้าสู่ตลาดเกษตรอินทรีย์สากล ที่บริโภคให้คุณค่ากับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นค่านิยมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในระดับโลก”

โดยกิจกรรม ‘Organic For All - เกษตรอินทรีย์ดีต่อใจ’ ได้จัดขึ้น ณ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพมหานครฯ โดยมีพื้นที่การจัดกิจกรรม เช่น ครัวออร์แกนิก และตลาดออร์แกนิก ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ได้มาพบปะพูดคุย เพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมุ่งหวังให้การทำให้เกษตรอินทรีย์เป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ผ่านการสร้างความตระหนักรู้และการส่งเสริมกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งให้สาธารณชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลังในประเทศไทยต่อไป 

กิจกรรมนี้ มีผู้อยู่ในแวดวงเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมงานกว่า 100 ท่าน ทั้งจากฝั่งรัฐฯ และเอกชน ไปจนถึงฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพและสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็น พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ACFS), พงศ์ภพ เมธากุลวัฒน์ จาก ARISE PLUS ประเทศไทย, ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้ง บ้านเจ้าชายผัก, กนิษฐา ตรีรัตนภรณ์ จาก คิงดอม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค และผู้เข้าร่วมจำนวนมาก สะท้อนว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้เพียงแค่สร้างความตระหนักรู้ แต่ยังนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ด้านการยกระดับความคิด

“หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาเลือกบริโภคเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงที่โลกประสบกับโรคระบาดในปีที่ผ่านๆ ทำให้คนมีเวลาตระหนักถึงความเชื่อมโยงของสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ และผู้บริโภคยังเชื่อว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพของพวกเขาเท่านั้น แต่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยเมื่อเทียบกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้สารเคมี” ผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกภายในงาน กล่าวกับสื่อ

นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในด้านของการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน และการเข้ามามีบทบาทของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมแถลงข่าวนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมผ่านสื่อดิจิทัลและสื่อแบบกายภาพ โดยเน้นไปยังประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพ ตลอดถึงประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากการบริโภคและการผลิตอาหารออร์แกนิก โดยจุดสำคัญของกิจกรรมนี้คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานกับตัวกิจกรรมผ่านพื้นที่ ‘ครัวออร์แกนิก’ และ ‘ตลาดออร์แกนิก’

โดยกิจกรรมแรกในพื้นที่ครัวออร์แกนิก เป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกผ่านรูปแบบของการจำลองห้องครัว และบอกเล่าสาระประโยชน์ผ่านตัววัตถุจัดแสดง ที่ผู้เข้าร่วมสามารถหยิบจับและสำรวจตัวสินค้า เพื่อสำรวจว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกนั้นส่งผลดีกับสุขภาพของอย่างไร และในส่วนที่สอง พื้นที่ ‘ตลาดออร์แกนิก’ เป็นพื้นที่ที่ผู้เข้าร่วมสามารถจำลองประสบการณ์จับจ่ายสินค้าออร์แกนิก เสมือนกับการจ่ายตลาดหรือเที่ยวซูเปอร์มาร์เก็ต โดยได้รับสาระความรู้ไปพร้อมๆ กัน และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ การแจกกระเป๋าผ้าลายพิเศษที่สามารถสแกน QR โค้ดเพื่อเข้าถึงแหล่งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของท้องถิ่นต่าง ๆ ทันที

‘EXIM BANK’ เล็งออก ‘บลูบอนด์’ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 71

(13 ธ.ค. 66) นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในเวทีสัมมนา ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ ‘Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน’ ว่า ในมุมของสถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนทิศทาง ESG คือ การระดมทุน และการปล่อยสินเชื่อด้วยการสร้างกลไกให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ออกกรีนบอนด์ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อธุรกิจสีเขียวให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อคนตัวใหญ่ได้ต้นทุนการเงินที่ถูก คนตัวเล็กก็ต้องได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเช่นเดียวกัน

เขาเห็นว่า ในระยะต่อไป การระดมทุนจะไม่ได้มุ่งไปที่กรีนบอนด์เท่านั้น แต่จะพัฒนาไปยังบลูบอนด์คือ บอนด์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยในปีหน้า ธนาคารมีแผนจะระดมทุนผ่านบลูบอนด์จำนวน 5 พันล้านบาท จะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท หรือ 45% ของพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.8 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2571 พอร์ตสินเชื่อสีเขียวจะขยับเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า เครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวหรือสีฟ้ายังมีไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้ภาคเอกชน และภาคการเงินช่วยกัน เพราะสิ่งที่ออกมาช่วยกันทำให้มีซัพพลายทางการเงินตลาดสีเขียวมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจะได้รับต้นทุนที่ต่ำลง

“แม้เราพยายามแค่ไหน จำนวนความต้องการของโลกที่จะใช้กรีนไฟแนนซ์ เพื่อคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณสูงกว่าสิ่งที่ซัปพลายในวันนี้มากถึง 6 เท่า หมายความว่าผลิตภัณฑ์ในการออกกรีนบอนด์ กรีนโลน รวมทั้ง บลูบอนด์นั้น จะออกมายังไงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดปัจจุบัน เชื่อว่า ทุกคนในวันนี้อยากจะเดินหน้าสู่โลกสีเขียว เราจะต้องช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า” นายรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับสมการ การให้สินเชื่อ และการระดมทุนใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ดูเพียงกระแสเงินสดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังดูถึงเรื่องการจ้างแรงงาน รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่ทำดีมากๆ ธนาคารจะให้สินเชื่อกรีนสตาร์ต ที่ออกมาช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอสเอ็มอีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการดูแลชุมชน แม่น้ำ หรือลำคลองได้ดี จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

เขาย้ำว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องร่วมมือกันสร้างบุญใหม่กลบกรรมเก่า เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งขออธิบายง่ายๆ ในภาษาพุทธศาสตร์ว่า ที่เราทำมาในอดีต ถือเป็นกรรมเก่า ต่อไป เราต้องสร้างกรรมดี เพื่อกลบกรรมเก่า ที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง กล่าวคือ หากต้องการให้การปล่อยคาร์บอนจากในอดีต เหลือศูนย์ เราสามารถสร้างกรรมดีได้ด้วยการซื้อคาร์บอนจากชาวบ้าน แต่หากต้องการเป็น NET ZERO เราต้องปลูกป่า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่อาจจะใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เพราะการนำงบดุลย้อนหลังมาโชว์ 3-5 ปี แต่มีตัวเลขสีเขียวอันดับสุดท้าย ธนาคารก็ไม่ได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นหลักอีกแล้ว เราจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจาก DNA ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม” นายรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ธนาคารได้เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของหลายบริษัทในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเรามี KPI ในการตรวจวัดบริษัทเหล่านี้ เช่น เรือด่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และธนาคารก็ได้เดินหน้าทำโซล่าฟาร์มตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ธนาคารเดินทางมาตลอด ทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง DNA ให้กับเราด้วย

‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! อยากตรึงค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 67 ไว้ที่ 3.99 ชี้!! อาจต้องให้ ‘ปตท.-กฟผ.’ ช่วยแบกรับแทนประชาชนไปก่อน

(8 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป ว่า ขณะนี้กำลังพยายามหาแนวทางหลากหลายรูปแบบในการดำเนินการ เพื่อทำให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.68 บาทตามที่ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศล่าสุด

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับก่อนว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้แบบที่ใจคิด เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยการที่จะให้ค่าไฟลดลง 10 สตางค์ จะต้องมีค่าใช้จ่าย หรือผู้ที่ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท 

“การพยายามจะตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ระดับเดิม 3.99 บาทต่อหน่วยคงทำได้ยาก เพราะราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟมีการปรับขึ้นราคาในช่วงฤดูหนาว แต่จะพยายามทำให้ต่ำที่สุด”

ขณะที่ประเด็นที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องการให้ค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ราคา 4.10 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 4.20 บาทต่อหน่วยตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุว่าจะดำเนินการก่อนหน้านี้นั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยมากกว่า

“การจะปรับลดค่าไฟไม่ใช่อยู่ที่การพูดว่าต้องการเท่าไหร่ แต่อยู่ที่หลายภาคส่วนประกอบกัน เช่น ผู้ประกอบการจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะปัจจุยันไม่ใช่มีแค่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนด้วย ซึ่งบางรายเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด19 หากเอกชนที่เป็นรายเล็กบางรายอยู่ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้มีไฟฟ้าไม่เพียงพอ ซึ่งคงวุ่นวายไปมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องคิดอย่างรอบครอบให้เกิดความเป็นไปได้ของทุกส่วน ต้องแก้ปัญหาให้เป็นวงกลม”

นอกจากนี้ การที่จะดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบด้วยในวันที่ 13 ธันวาคม 2566

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แน่นอนว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับ กฟผ. ที่อาจจะต้องแบกรับภาระเพื่อประชาชนอีก

ส่วนจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเลยหรือไม่นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเพื่อไม่ให้ปัญาทางด้านพลังงานจะต้องเกิดขึ้นทุก 3-4 เดือนที่จะมีการประกาศค่าไฟงวดใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมขอมูลเกี่ยวกับปัญหา เพื่อนำมาแก้ไข

“ตอนนี้คงต้องทำตามโครงสร้างเดิมก่อน เพราะเป็นแบบนี้มามากกว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็พยายามหาทางทุกมิติว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานอย่างไร เพื่อให้ราคาลดลงได้ด้วยตัวเอง และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน หรือเรียกว่าปลดแอกจากราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นปัจจัยหลักสำคัญ”

‘ญี่ปุ่น’ ซื้อกล้วยหอมทองเมืองย่าโม 5 พันตัน กว่า 100 ลบ. หลังได้ชิมแล้วติดใจ เพราะ ‘ผลใหญ่ หวาน หอม อร่อย’

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมลำตะคอง โรงแรมแคนทารี่ จังหวัดนครราชสีมา นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วย นายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายฉันทพันธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว, MRS.PIMJAI MATSUMOTO กรรมการผู้จัดการ บ.พีแอนด์เอฟ เทดโน จำกัด ผู้นำเข้าญี่ปุ่น และนายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ หัวหน้าส่วนราชการ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา-จ.ขอนแก่น หอการค้าฯ ภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง อ.เสิงสางฯ ร่วมพิธี

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมทองระหว่างคณะตัวแทนผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอม ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา โดยมีการเซ็นสัญญาซื้อปริมาณ 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เป็นการช่วยขยายช่องทางในการจำหน่ายกล้วยหอมทองให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะได้นำผลผลิตกล้วยหอมในพื้นที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า พิธีเซ็นสัญญาในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามการผลักดันภายใต้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยใช้การทำงานเชิงรุก และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ รวมทั้งให้เร่งใช้ประโยขน์จากผลของการเจรจา FTA ที่มีอยู่ มาใช้ในการผลักดันให้มีปริมาณการส่งออกของสินค้าไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยประเทศไทยเองก็ได้รับสิทธิประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ซึ่งยกเว้นภาษีให้กล้วยจากประเทศไทยถึง 8,000 ตันอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเราเองก็ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึงครึ่งของโควต้า จึงเป็นโอกาสอันดีในการเร่งผลักดันเชิงรุกผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ จนสามารถสร้างผลลัพธ์เร่งด่วน Quick win ภายใน 100 วัน ด้วยยอดขายได้ถึง 100 ล้านบาทได้สำเร็จ

สำหรับที่มาของการเซ็นสัญญาสั่งซื้อกล้วย จำนวน 5,000 ตัน ของผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า หลังจากที่ได้จับมือทำงานบูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาเพื่อมุ่งขยายตลาดกล้วยไทยในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ตนก็ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยชาวญี่ปุ่นลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาเทคนิคการปลูกให้กล้วยในพื้นที่มีคุณภาพ และปริมาณตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นโดยทันที

นอกจากนี้กล้วยหอมของไทยนั้น เป็นพันธุ์กล้วยหอมทอง ซึ่งนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ในปัจจุบันไทยยังเป็นแหล่งผลิตที่ยังคงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขายในการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี และเมื่อได้พาคณะผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นไปเยี่ยมชม และลองชิมผลผลิตกล้วยหอมทองนั้น ต่างก็ได้รับความพอใจอย่างมาก จนตกลงทำสัญญาซื้อขายในทันที

นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ กล่าวว่า ตนในฐานะประธานกลุ่มฯ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่กล้วยหอมทองจากอำเภอเสิงสาง ได้ส่งไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่กล้วยหอมในพื้นที่ถูกนำไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ผลผลิตกล้วยหอมของกลุ่มฯ นั้น จำหน่ายเฉพาะภายในประเทศ โดยตนเชื่อมั่นว่ากล้วยหอมจากอำเภอเสิงสางนั้นจะถูกใจคนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เนื่องจากผลผลิตลูกใหญ่ หวาน หอม อร่อย ซึ่งจากการเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมจากตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ด้านนายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองมากถึง 1,350 ไร่ ให้ปริมาณผลผลิตถึง 8,100 ตันต่อปีและทางจังหวัดนครราชสีมาก็เตรียมส่งเสริมในด้านการขยายพื้นที่การผลิตกล้วยหอมทองในพื้นที่ แต่ขณะนี้ยังคงต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของกล้วยหอมทองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นต้องการ

‘ไทยสมายล์’ แจ้งโอนย้าย ‘สำรองที่นั่ง-บริการ’ ไป ‘การบินไทย’ พร้อมเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ เริ่ม 16 ธ.ค. 66

(10 พ.ย. 66) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊ก THAI Smile Airways ของบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงการสำรองที่นั่งและบริการต่างๆ ของสายการบินไทยสมายล์ โดยจะเริ่มถูกโอนย้ายไปยังการบินไทยตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยเว็บไซต์ www.thaismileair.com จะให้บริการถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2566

ส่วนห้องจำหน่ายบัตรโดยสารไทยสมายล์ (Smile Service Center) จะให้บริการถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Smile Contact Center) 0-2118-8888 (หรือ 1181) และฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ customer.service@thaismileair.com จะให้บริการถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

ผู้โดยสารสามารถติดต่อขอรับบริการได้โดยตรงที่การบินไทย ได้แก่ เว็บไซต์ www.thaiairways.com ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารการบินไทย (THAI ticketing service) ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (THAI Contact Center) 0-2356-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ contact@thaiairways.com

ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้ทยอยเปิดเส้นทางบินภายในประเทศ แทนสายการบินไทยสมายล์ มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เริ่มจากเส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-ภูเก็ต ก่อนที่จะทยอยเข้าไปดำเนินการทั้งหมด จำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี กระบี่ ขอนแก่น นราธิวาส เชียงราย หาดใหญ่ และอุบลราชธานี ซึ่งจะเปิดครบทุกเส้นทางในวันที่ 1 ม.ค. 2567

สำหรับการเปิดเส้นทางบินภายในประเทศของการบินไทย เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจการบินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยที่ตัดสินใจยุบแบรนด์สายการบินลูกอย่างไทยสมายล์ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2555 เป็นต้นมา และโอนเครื่องบิน A320 กลับมาที่การบินไทยทั้งหมด 20 ลำ พร้อมกับทยอยโอนนักบิน ลูกเรือและจุดบินมาด้วย

ก่อนหน้านี้ สายการบินไทยสมายล์ได้ยุบเส้นทางบินกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-สุราษฎร์ธานี ไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

‘ผู้แทนการค้าไทย’ มั่นใจ!! ‘Sharp’ ลงทุนในไทยต่อเนื่อง เล็งดึง ‘Foxconn’ ตั้งบริษัท ปั้นรถ EV ส่งออกต่างประเทศ

(10 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายชูเฮย์ อาราอิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชาร์ป ไทยจำกัด และคณะ โดยชาร์ปได้ยืนยันที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศไทย หลังจากที่เริ่มทำธุรกิจและลงทุนในไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2530 และยังสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศไทย โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยในปี 2559 ชาร์ปได้ควบรวมกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้นำการผลิตและประกอบชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และต่อมาในปี 2564 ฟ็อกซ์คอนน์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อก่อตั้งบริษัทและโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Horizon+ ในไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และทำให้ไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต โดยชาร์ปจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์ 

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ชาร์ปเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยทั้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความได้เปรียบ และสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ได้ รวมทั้งรัฐบาลยังมีสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตชาร์ปสนใจที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำน้อยและสามารถรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือไดร์เป่าผมที่มีเสียงเบาเหมาะกับคอนโดขนาดเล็กใจกลางเมือง 

ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปเข้าร่วม งาน Sharp Tech Day ในโอกาสเฉลิมฉลองการก่อตั้งบริษัทครบรอบ 111 ปี ตามคำเชิญของชาร์ป ในระหว่างวันที่ 10 - 12 พ.ย. 66 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของชาร์ป ตัวแทนของฟ็อกซ์คอนน์ และบริษัทอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ ที่มาร่วมงานนี้ เพื่อเจรจาเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ผู้บริหารชาร์ปบอกด้วยว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากนายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมบริษัทแม่ของชาร์ป ที่นครโอซากา ระหว่างการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเดือน ธ.ค. 66 นี้ 

สำหรับบริษัทชาร์ป ไทย ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 แล้ว โดยมีบริษัทในเครือ 7 แห่ง แบ่งเป็น บริษัทสาขาการขาย 4 แห่ง และโรงงาน 3 แห่ง สร้างยอดขายกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี และมีพนักงานมากกว่า 7,300 คน ที่ผ่านมาได้ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับบุคลากรของไทย และยังคัดสรรนวัตกรรมคุณภาพเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

‘วิชัย ทองแตง’ เยือน ‘สกลนคร’ พบปะเกษตรกร ร่วมแชร์ไอเดียนวัตกรรมการเกษตร เสริมแกร่ง ‘สกลนครโมเดล’

นักปั้นนมือทอง!! ‘วิชัย ทองแตง’ เยือนถิ่นสกลนคร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมแชร์ไอเดีย หวังผลักดันนัวตกรรมการเกษตร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมหนุนโครงการสกลนครโมเดลให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป ได้เดินทางเยือนจังหวัดสกลนคร ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการพัฒนาเกษตรนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร 

สำหรับเดินทางเยี่ยมเยียนเกษตรกรในครั้งนี้ คุณวิชัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ และแนวทางการทำตลาดสินค้าเกษตรในยุค ‘Digital Transformation’ ซึ่งถือเป็นยุคแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาสินค้า โอกาสในการขยายตลาด และโอกาสในการเรียนรู้ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ แต่ที่สำคัญหากโอกาสมาถึงแล้ว อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรภายใต้โครงการ ‘สกลนครโมเดล’ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของการเกษตรเชิงนวัตกรรมในพื้นที่ และรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวม จาก น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 6 ถึงความสำเร็จในการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตั้งแต่พืชผักสวนครัว สมุนไพร กล้วยหอมทอง เห็ดป่า ผ้าทอ และผ้าย้อมคราม โดยเฉพาะผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของสกลนคร และสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย 

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยจุดเด่นของวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงทักษะของเกษตรกรสกลนคร คุณวิชัย เชื่อว่า หากได้รับการสนับสนุนและการนำด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอด จะช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

สดช. เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จ ‘กองทุนดีอี’ พร้อมโชว์ 10 โครงการเด่น ยกระดับดิจิทัลเพื่อสังคม

สดช. แถลงผลการดำเนินงานกองทุนดีอี มีโครงการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 89.93 ทุกโครงการเดินหน้าขยายผลโครงการเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน 10 โครงการเด่น 

(25 ต.ค. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสัมมนาและนิทรรศการผู้รับทุนกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2566 (กองทุนดีอี) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมฯ และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวรายงานและแถลงผลการดำเนินงานในภาพรวมของการให้ทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนดีอี คือ การส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ความรู้ สร้างสิ่งใหม่แก่สาธารณชน โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต่อโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศในระยะถัดไป โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First ซึ่งได้วางกรอบในการขยายเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 

ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีโครงสร้างดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ในส่วนของ Digital ID มีกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นและขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว สำหรับเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ชั้นข้อมูล พร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP) 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า
ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุน และระบบสนับสนุนภายในทั้งทางด้านการวิเคราะห์โครงการ และด้านการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีการนำเอาผลสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาจัดทำเป็นแผนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้ขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ กองทุนดีอีมีเป้าหมายที่จะนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของผู้รับทุน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการยื่นขอรับทุน รวมทั้งมีการจัดนิทรรศเพื่อการแสดงผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นไอเดียสำหรับผู้สนใจที่จะขอรับทุนต่อไป โดยมีการนำโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาจัดแสดงในงานนิทรรศการแสดงผลงาน จำนวน 10 โครงการ ได้แก่

1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 26 (1) ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการใช้อากาศยานไร้คนขับ ในการสำรวจทางอุทยานแห่งชาติและชายฝั่ง ซึ่งในวันนี้กระทรวงฯ ได้มานำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่ และจัดทำแผนที่อุทยานแห่งชาติในรูปแบบภาพถ่ายทางอากาศ 

2. โครงการโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล เสนอขอโดยสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำโปรแกรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Science Museum Guides program) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง

3. โครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) เสนอขอโดยกรมการปกครอง ในมาตรา 26 (1) เป็นการจัดทำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service: FVS) ของประเทศเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีฟังชั่นก์ที่ให้บริการ อาทิ 

(1) แสดงบัตรประชาชน 
(2) แสดงข้อมูลทะเบียนบ้าน 
(3) ข้อมูลการฉีดวัคซีน โควิด-19 
(4) การคัดและรับรองเอกสารงานทะเบียน พร้อมทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น ระบบ Health link ระบบ Lands Maps ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ และระบบยื่นภาษีออนไลน์

4. โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน เสนอขอโดยคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในมาตรา 26 (1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 2 ระยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยมีการขยายพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม 

5. โครงการให้บริการรายการข้อมูลภาครัฐ เสนอขอโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 
ในมาตรา 26 (1) เป็นการให้บริการรายการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำรายการข้อมูลภาครัฐ Data Catalog และ Data Government สำหรับ 50 หน่วยงาน โดยเป็นการเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่ติดตั้งอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

6. โครงการระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกคลัสเตอร์เส้นใยธรรมชาติเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับวิสาหกิจชุมชนไปสู่วิสาหกิจนวัตกรรม เสนอขอโดยภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายธุรกิจในการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไปสู่ห่วงโซ่ อุปทานของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

7. โครงการการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง (Development of Chemistry Lab in Metaverse) เสนอขอโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในมาตรา 26 (2) เป็นการพัฒนาห้องปฏิบัติการการทดลองทางเคมีในชุมชนโลกเสมือนจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการทางเคมีให้กับนักเรียน/นักศึกษาโดยสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทำการทดลองทางเคมีแบบมีผู้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคนในสภาพแวดล้อมเหมือนห้องปฏิบัติการจริง ประกอบกับลดข้อจำกัดจากการทำห้องปฏิบัติการทางเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีกด้วย

8. โครงการศูนย์บริการประชาชน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสนอขอโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาระบบสนับสนุน เพื่อให้บริการประชาชนตั้งแต่รับแจ้ง แก้ไข ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายจนคดีถึงที่สุด

9. โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย เสนอขอโดยกรมที่ดิน ในมาตรา 26 (1) เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและให้บริการข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์ม Data as a Service : DaaS

10. โครงการพัฒนาชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริงเพื่อสร้างเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอาชีพในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง เสนอขอโดยสำนักวิจัย และ บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในมาตรา 26 (2) เป็นการสร้างชุดฝึกอบรมยานยนต์สมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง เพื่อเตรียมกำลังคนในกลุ่มเยาวชนในวัยทำงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งใช้ฝึกก่อนการปฏิบัติงานจริง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงาน 

“กองทุนดีอีได้สนับสนุนทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติโครงการมาตรา 26 (1) (2) และ (6) ซึ่งเป็นการให้ทุนในกรณีสถานการณ์โควิด-19 และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ไปแล้วจำนวน 244 โครงการ ซึ่งปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 89.93 โดยทุกโครงการจะมีการนำไปขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

‘Eco-Friendly Event’ เทรนด์อีเวนต์ยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ด้วยแนวคิด ‘BCG’ ใช้พลังงานหมุนเวียน-ลดมลพิษ-ลดขยะอย่างยั่งยืน

(18 ต.ค. 66) รู้จัก ‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) เป็นหนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจไมซ์ (MICE) เป็นธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และมีค่าใช้จ่ายตอบแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแต่ละทริป ในอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าการท่องเที่ยวประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละประเทศ จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก เพื่อที่จะยกระดับประเทศตนเองให้เป็นมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ของภูมิภาค และเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมนานาทวีป เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) คือ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยมีการจัดการอย่างมืออาชีพ ประกอบด้วยธุรกิจต่าง ๆ คือ Meetings, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing), และ Exhibitions ซึ่งแต่ละธุรกิจมีความหมาย ดังนี้

M : Meeting คือ ‘การประชุมของกลุ่มบุคคล’ ผู้แทนจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทในเครือเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจร่วมกัน

I : Incentive Travel คือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล’ เป็นการจัดนำเที่ยวเป็นหมู่คณะให้กับพนักงาน เพื่อตอบแทนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายของบริษัท โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

C : Convention หรือ ‘Conferencing’ คือ การประชุมที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การมุ่งให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานที่มีการอภิปราย การเข้าสังคม ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจัดแบบหมุนเวียนตามประเทศสมาชิก หรือประมูล เพื่อเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน

E : Exhibition คือ ‘การจัดงานแสดงสินค้า’ หรือนิทรรศการนานาชาติ การแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายชม โดยการจัดแสดงงานสินค้า มีวัตถุประสงค์หลักเชิงพาณิชย์ในการก่อให้เกิดการติดต่อซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

‘ธุรกิจไมซ์’ มีความสำคัญอย่างไร?
ประเทศไทย นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งที่น่าสนใจแล้ว ยังมีจุดเด่นที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ เช่น ประเพณีและวัฒนธรรม อาหารไทย สถานที่จัดประชุม สถานที่รับรองที่ได้มาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจไมซ์จากหลายประเทศ และในอนาคต คาดว่าจะมีการผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากธุรกิจไมซ์ จะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่น เช่น หน่วยงานการเที่ยว องค์กรรับจัดงานอิเวนต์ ศูนย์จัดการประชุม โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งความน่าสนใจ คือ เมื่อธุรกิจไมซ์ มีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้น ความต้องการของตลาดแรงงานจะสูงขึ้น เนื่องจากงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจไมซ์มีความหลากหลาย

อุตสาหกรรม MICE ลดโลกร้อนได้อย่างไร?
อุตสาหกรรมไมซ์ ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization Pathways) โดยครอบคลุมการลดและเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการจัดงาน (Carbon Reduction and Avoidance) อันจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)

‘การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) หนึ่งในกลไกของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาผสานเข้ากับแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับรูปแบบกิจกรรมในการจัดงานไมซ์ ให้เกิดการลดการใช้ (Reduce) ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าของงานอีเวนต์ (Value Added Event) อีกด้วยขณะเดียวกัน ผู้จัดงานไมซ์ทั่วโลก เริ่มนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการจัดงาน โดยแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวก แต่ยังช่วยลดต้นทุนการจัดงานได้อีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างการจัดงานที่ลดคาร์บอน และนำหลักการ ‘BCG Model’ มาใช้
เมื่อธุรกิจไมซ์ นำแนวคิดรักษ์โลกมาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานให้เป็น Green Venue ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการประหยัดพลังงานภายในงาน และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเรื่อง ‘Eco-Friendly’ มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของงาน รวมถึงการจัดการและลดปริมาณขยะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘โอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น’ อีเวนต์ระดับโลก ที่เชื่อมโยง BCG Model ครบทุกมิติ แบบ ‘Eco-Friendly Event’ อย่าง มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการวางแผนที่ดีในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่แข่งขัน มาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยไฟฟ้ามาจากพลังงานชีวมวลจากไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง หรือการตัดไม้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบางส่วนมาจากการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิ เมื่อปี 2011 ระบบการขนส่งใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฟที่ถูกจุดในกระถางคบเพลิงและตลอดการวิ่งคบเพลิงทั่วญี่ปุ่น ก็ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงแหล่งพลังงานบางส่วนในหมู่บ้านนักกีฬา มาจากพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เหรียญรางวัลและโพเดียมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่เมื่อรื้อถอนแล้ว วัสดุก่อสร้างจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่

ซึ่งหากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกใช้วิธีการจัดงานแบบเดิม จะสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 3,010,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) แต่ด้วยความพยายามลด และหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 280,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อปีมากกว่า 30,000 ครัวเรือน ถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ ให้กับผู้จัดงานที่ต้องการจัดอีเวนต์แบบรักษ์โลก

‘ศูนย์ประชุมนานาชาติบาร์เซโลนา’ ที่สามารถลดและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการผลิตพลังงานและพลังงานชีวภาพทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 175 ตันต่อปี

‘งาน Expo CIHAC ที่ประเทศเม็กซิโก’ ที่สร้างโดยใช้วัสดุต้นทุนต่ำ และใช้แนวคิดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มแบบ Upcycling ด้วยการนำลังใส่น้ำอัดลมกว่า 5,000 ลัง มาสร้างเป็นบูธแสดงงาน ใช้ต้นทุนต่ำและไม่สร้างขยะเพิ่มเติมหลังจบงาน ทั้งยังสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกด้วย

‘Tote Bag Music Festival เทศกาลดนตรีรักษ์โลกของเมืองไทย’ ผู้จัดงาน ธุรกิจไมซ์ หลายราย เริ่มหันมาใช้ BCG Model เป็นแนวทางในการจัดงาน เช่น แผนคอนเสิร์ตรักษ์โลก จัดโดย ‘กรีนเวฟ’ ใช้คอนเซ็ปต์รักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ เป็นคอนเสิร์ตแรกในไทยที่วางแผนการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ รวมทั้งลดพลังงานสิ้นเปลืองภายในงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั่นไฟพลังงานทางเลือกแทนน้ำมันดีเซล การให้ผู้ร่วมงานพกถุงผ้า แก้ว จาน ช้อน ส้อม มากันเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ รวมทั้งการใช้ของทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด เช่น หลังคาจากเวทีคอนเสิร์ต หลังจบงานจะถูกส่งต่อเพื่อไปทำหลังคาให้กับโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย นับเป็นเทศกาลดนตรีในคอนเซ็ปต์ ‘ZERO WASTE’ อย่างแท้จริง

‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ได้นํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่สถานที่ตั้งและการเดินทางเชื่อมต่อกับรถฟ้าใต้ดิน และใกล้กับป้ายรถประจำทาง ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะ เป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการเดินทาง ตลอดจน มีบริการที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่อาคาร ลดการใช้แสงจากหลอดไฟ โดยเพิ่มแสงธรรมชาติและระบบไหลเวียนอากาศจากธรรมชาติทั่วอาคาร และติดตั้งอุปกรณ์และใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคาร ใช้ระบบน้ำหยดและนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทำให้ลดการใช้น้ำได้ถึง 45%

รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนวณการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และติดตามการใช้งาน รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ผนวกกับการตรวจสอบและการควบคุมอาคารอัจฉริยะ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,400 ตารางเมตร บนชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งไฟ LED ในห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับความสว่างในบริเวณ Lobby และพื้นที่ร้านค้าให้สอดคล้องกับแสงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติการก่อสร้างสีเขียว ประกอบด้วยการควบคุมมลพิษในการก่อสร้าง และแนวทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้าง มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างที่ต้องนำไปกำจัด ด้วยการกลบฝังได้มากกว่า 75%

สรุปได้ว่า การจัดงานแบบ ‘Eco-Friendly Event’ รักษ์โลก สามารถทำได้โดยยึดหลักการ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.) Eco-Friendly ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงาน ที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว

2.) เลือกสถานที่จัดงานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงานที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และได้รับการรับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดน้ำ-ไฟ มีมาตรฐาน ISO 20121 ในการบริหารการจัดงานอิเวนต์อย่างยั่งยืน

3.) ลดขยะในทุกมิติของงานอีเวนต์ เริ่มจากลงทะเบียน และอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ ลงช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการใช้กระดาษ ส่วนอาหารและของว่างสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และของที่ระลึกควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมถึงวางแผนลดการสร้างขยะจากอาหาร ด้วยการส่งต่ออาหารที่สั่งมาเกินให้แก่ผู้ขาดแคลน โดยติดต่อมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อช่วยประสานงานรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ และส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนโดยตรง

ทั้งหมดนี้ คือทิศทางที่ผู้ประกอบการไมซ์กับแนวทาง BCG Model จะเดินไปด้วยกัน เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก พร้อมทั้งสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน (Sustainability)

‘กรมพัฒน์ฯ’ จับมือ ‘Shopee’ จัดโปรโมชัน แจก Coins-ส่วนลด 50% หวังกระตุ้นยอดขายให้ผู้ประกอบการชุมชนผ่านไลฟ์สด ดีเดย์ 18 ต.ค.นี้

(16 ต.ค. 66) นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ Shopee จัดกิจกรรมดันยอดขายผ่านไลฟ์สด ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566 โดยได้คัด 3 ร้านค้า ที่ชนะรางวัล Shopee Award of Thailand e-Commerce Genius 2023  เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการชุมชน ภายใต้การส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย คือ

1.ร้านขนมทันจิตต์ เวลา 20.00 - 20.30 น.
2.ร้านรสหนึ่ง เวลา 20.30 - 21.00 น.
3.ร้าน Pick Me Please เวลา 21.00 - 21.30 น.

โดยจะไลฟ์สด บนแอปพลิเคชัน Shopee (search ‘สุขใจซื้อของไทย') หรือเข้าเว็บไซต์ https://shopee.co.th/dbdonline พร้อมรับโปรโมชัน 2 ต่อ ต่อที่ 1 : แจก Coins รวมกว่า 6,000 Coins ตลอดช่วงเวลาการไลฟ์ของทั้ง 3 ร้าน และต่อที่ 2 : โค้ดส่วนลด 50% ลดสูงสุด 100 บาท

>> ของดีนำมาขาย

สำหรับสินค้าที่นำมาจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นสินค้าคุณภาพที่ผ่านการคัดสรรเพื่อผู้บริโภค ได้แก่ ร้านทันจิตต์ เผือกทอดรูปตะแกรง ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปีจากรุ่นสู่รุ่น และปัจจุบันได้ยกระดับการผลิตจาก ในครัวเรือนสู่โรงงานที่ได้มาตรฐาน

ร้านรสหนึ่ง สินค้า OTOP จ.สิงห์บุรี ปลาช่อนแม่ลาแดดเดียวของดีเมืองสิงห์บุรี สูตรดั้งเดิม รสกลมกล่อม ไม่เค็มเกินไป ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกางมุ้งตาก ไม่มีแมลงกวน ทำให้สะอาด ปลอดภัย ผลิตใหม่สดทุกวัน ไม่มีสารกันเสีย

ร้าน Pick me please หมูหยองกรอบคั่วเตาถ่าน ซึ่งได้เลือกใช้เนื้อหมูเฉพาะส่วนไร้มันมาปรุงด้วยสูตรลับเฉพาะ และนำมาคั่วบนเตาถ่านด้วยเวลากว่า 4 ชั่วโมง จนกรอบ และมีลักษณะเป็นชิ้นหมูหยองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปราศจากผงชูรสเเละสารกันเสีย การันตีความอร่อย เหมาะกับผู้บริโภคที่รักสุขภาพทุกวัย

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นยอดขาย ยังช่วยสร้างการมองเห็นให้กับร้านค้ามากขึ้น และถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลอง ในโอกาสการสถาปนากรมพัฒนาธุรกิจการค้าครบรอบ 100 ปี ซึ่งช่วยตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของกรมฯ ในการเดินหน้าส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมืออาชีพ ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้

>> ร้านค้า 400 ร้านบนแอปพลิเคชัน

โดยตลอดทั้งปีนี้ กรมฯ มีแผนร่วมมือกับ Shopee อย่างต่อเนื่องในการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการออนไลน์ไทย เพื่อช่วยส่งเสริมการขาย ขยายโอกาสทางการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการรายย่อยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่จำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ อยู่บนแอปพลิเคชัน Shopee จำนวนกว่า 400 ราย การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเลือกซื้อสินค้า ตามวัน เวลา ดังกล่าวข้างต้น หรือสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนส่งเสริมการใช้นวัตกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5961 และ www.dbd.go.th

'ไทยเบฟฯ' สานต่อ!! 'ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน' ปีที่ 7 ชูแนวคิด เกาะติดเทรนด์แฟชัน ใส่ได้ทุกเพศและทุกวัย

(4 ต.ค. 66) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ผสานความร่วมมือกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ทั่วประเทศ ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา และ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จากจุดเริ่มต้นของโครงการในปี พ.ศ. 2559 ภายใต้การทำงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการร่วมกันพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของชุมชนในชนบท โดยมี บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ผสานความร่วมมือกับ กรกิจเพื่อสังคม ทั่วประเทศ ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา ผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ ที่ริเริ่มโครงการโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะกรรมการ โครงการ ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ที่เป็นผู้ริเริ่มและหัวเรือหลักในการดำเนินงานมาตั้งแต่ต้น และเป็นผู้สนับสนุนหลักในโครงการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง สร้างความภาคภูมิใจในการสืบสาน และต่อยอดหัตถกรรมพื้นบ้านให้เกิดความยั่งยืน 

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กล่าวว่า งาน ‘ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน’ ครั้งนี้นับเป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีก่อน ๆ โดยกิจกรรมของเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Sustainability Expo 2023 (SX 2023) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นมหกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด ‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ 

โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย และ ‘ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน’ คือการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เฟ้นหาอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้าจากชุมชนต่าง ๆ และเสริมสร้างผ้าขาวม้าทอมือให้มีความโดดเด่นพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าให้มีความหลากหลายและตรงต่อความต้องการของตลาดเพื่อสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน 

อีกทั้ง ยังเป็นการอนุรักษ์ มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่มีคุณค่าจากฝีมือของมนุษย์ อาทิ การนำเส้นใยและสีธรรมชาติมาใช้กับการย้อมผ้าขาวม้า และการรวมพลังคนรุ่นใหม่ของ Creative Young Designer ให้มาร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือกับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งนอกจากต่อยอดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า ของใช้ ของที่ระลึก ของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัยแล้ว ยังมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมผ้าขาวม้าทอมือ เพิ่มศักยภาพ การผลิตและต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ชุมชนผ้าขาวม้า ด้วยแนวคิดในการออกแมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหบบใหม่ ๆ ผ่านการดูแลและให้คำปรึกษา (Coaching) และทำงานร่วมกับชุมชนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม 

ทั้งนี้ชุมชนจะได้รับผลิตภัณฑ์ต้นแบบนำไปต่อยอดด้านการตลาด รวมไปถึงสโมรสรฟุตบอลหลายแห่งที่ได้ร่วมสนับสนุนนำผ้าขาวม้าทอมือมาประกอบเป็นสินค้าที่ระลึกของสโมสร ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ โครงการ ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยประสบความสำเร็จ ใน 5 มิติหลัก คือ 

1) การสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ้าขาวม้าทอมือ 
2) การสร้างเครือข่ายภาควิชาการและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนชุมชนในการสั่งซื้อ ให้ความรู้เชิงธุรกิจ และการออกแบบ
3) การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน 
4) การสานต่องานผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าสู่คนรุ่นใหม่ 
5) การสร้างห่วงโซ่การผลิตผ้าขาวม้าทอมือที่เข้มแข็งมีความเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน 

นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือ จากจุดเริ่มต้นเพียง 2 ชุมชน 2 มหาวิทยาลัย ในปี 2562 ไปสู่ 18 ชุมชน 16 สถาบันการศึกษา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจร่วมงานกันมาในโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา จะยังคงร่วมกันถักทอแรงบันดาลใจในการพัฒนาผ้าขาวไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งจะไม่เป็นเพียงการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น แต่จะยังช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และที่สำคัญที่สุดคือ คนในชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทุกแห่งมีความรักสามัคคีและภูมิใจในคุณค่าภูมิปัญญาของตนเอง

คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้จัดการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กล่าวว่า ‘โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย’ เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออันดียิ่งจากชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด และยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป 

การจัดงาน ‘ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน’ ในปี 2566 ภายใต้แนวคิด Nature's Diversity สื่อให้เห็นว่า ผ้าขาวม้าสามารถใสได้ทุกเพศและทุกวัย มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนให้ได้มีพื้นที่จัดแสดงโชว์ผลงาน แลกเปลี่ยนแนวความคิด และสร้างเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันของชุมชน/การแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าขาวม้าจากโครงการ Creative Young designers Season3 ออกสู่สายตาประชาชน/การจัดแสดงนิทรรศการโซน cultural heritage/โซนจัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าของ 16 มหาวิทยาลัย 18 ชุมชน/กิจกรรมTalk หัวข้อ ผ้าขาวม้า มรดกภูมิปัญญาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน/โซน Market Place ของ 12 ชุมชน และโซนกิจกรรม online บอกต่อความประทับใจ ถ่ายภาพและแชร์พร้อมบรรยายเชิญชวนเพื่อนมาเที่ยวงาน ‘ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน’ ภายใน Sustainability Expo 2023 (SX 2023)  

ในฐานะตัวแทนของคณะทำงานโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ดิฉันขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนหลักของโครงการฯ ทั้ง บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษาในเครือข่าย eisa และ ภาคีทุกภาคส่วน ที่ได้ให้ความสนับสนุนโครงการนี้มาตลอดระยะเวลา 7 ปี ส่งผลให้โครงการฯ สามารถดำเนินงานมาได้อย่างต่อเนื่อง ดิฉันขอให้คำมั่นว่า โครงการของเราจะยังคงทำงานร่วมกับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการของเราจะยังได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านต่อไปในอนาคต เพื่อให้เราสามารถบรรลุถึงเป้าประสงค์หลัก คือ การพัฒนาผ้าขาวม้าทอมือของไทยเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนผู้ผลิตของเราทั่วประเทศ”

ขอเชิญเลือกช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าส่งตรงจาก ร้อยเอ็ด ลำปาง อุบลราชธานี สุโขทัย เชียงใหม่ ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี หนองบัวลำภู บึงกาฬ ในโซน Sustainable Marketplace ชั้น LG โซน B - Sufficient Living ชมการจัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ในชั้น G โซน Foyer A ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 ในงาน Sustainability Expo 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/PakaomaThailand 


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top