Friday, 5 July 2024
EXCLUSIVE

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะรัฐหาแรงจูงใจเอกชน ลุยธุรกิจลดโลกร้อน ปั้นระบบนิเวศให้พร้อม สู่การสร้างเงินจากสภาพภูมิอากาศ

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ' (Climate Finance) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) โดยการเก็บภาษีคาร์บอน และการใช้กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกสีเขียว (Green Transition) ได้อย่างราบรื่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาคการเงินการคลังไม่ช่วยระดมทรัพยากรมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ประการแรก ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรของรัฐบาล เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงต้องมาจากภาคเอกชน ภาครัฐต้องจัดโครงสร้างสิ่งจูงใจ (Incentive Structure) ที่เอื้อให้เอกชนกล้าลงทุนในโครงการ/อุตสาหกรรมที่ลดโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตเป็นก้าวแรก ที่สำคัญกว่านั้นคือ การยกเลิกการอุดหนุนคาร์บอน (Carbon Subsidies) ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน

ประการที่สอง การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นมาตรฐานและมีการรับรอง รวมทั้งการจัดกลุ่ม/นิยามกิจกรรมที่ลดโลกร้อน (Green Taxonomy) จะช่วยให้ตลาดการเงินและสถาบันการเงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงเป้ามากขึ้น

ตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์เริ่มนำผลิตภัณฑ์สีเขียวมาให้บริการบ้างแล้ว สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มเป็นที่นิยม กองทุน ESG มีจำนวนมากขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ ESG ของตลาดกับเป้าหมายการลดคาร์บอนจะตรงกันหรือไม่ หรือบางทีอาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing)

ในสาขาพลังงาน ซึ่งเป็นสาขาที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ปัจจุบันยังมีโครงสร้างที่พึ่งพา Fossils อยู่ค่อนข้างสูง กล่าวคือ การผลิตพลังงานไฟฟ้าในไทยยังอาศัยก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นตัวขับเคลื่อนถึงกว่า 80% และใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนน้อย ดังนั้นภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและระบบสายส่ง และภาคเอกชนในรูปแบบโรงไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

การลงทุนและการแบ่งรับภาระความเสี่ยงระหว่างรัฐกับเอกชนร่วมกันในรูปแบบ PPP น่าจะเป็นทางออกสำคัญ IPP และ SPP เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในภาคพลังงาน มีความเป็นไปได้ที่จะขยาย PPP ในโครงการลดคาร์บอนในสาขาอื่นๆ ด้วย

ตลาดการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีเครื่องมือทางการเงินมากมายที่สามารถเสริมทรัพยากรในประเทศได้ รัฐบาลประเทศร่ำรวยประกาศใน COP 28 สนับสนุนงบประมาณแก่ประเทศกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีบริการพิเศษที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงการลดคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ประการสุดท้าย ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย่อมมีกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำรายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มเติมจากภาษีคาร์บอนไปช่วยเป็นมาตรการรองรับทางสังคมแก่กลุ่มคนเหล่านี้

เปิดใจ 'วิชัย ทองแตง' ลั่น!! ขอใช้ทั้งชีวิตจากนี้ตามรอย 'ศาสตร์พระราชา' พร้อมผุด 'หยุดเผา-เรารับซื้อ' แก้โลกเดือด แถมช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณวิชัย ทองแตง ทนายคนดังสู่มหาเศรษฐีของไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ในหัวข้อ 'บุกตลาดคาร์บอนเครดิต แก้ปัญหาโลกเดือด'

คุณวิชัย กล่าวว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมครอบครัวของตนเป็นครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน โดยหลักง่ายๆ ที่วิชัยใช้สอนลูกหลาน คือ 4R ได้แก่ Rethink, Recycle, Reuse และ Reduce 

- Rethink ต้องคิดใหม่ว่าโลกใบนี้ห้อมล้อมเรา เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ให้ได้ 
- Recycle การนำเอาวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้งานแล้วมา 'แปรรูป' กลับเอามาใช้ใหม่ได้ 
- Reuse ง่ายกว่าเรื่องใดๆ เพียงแค่นำมาใช้ซ้ำอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไร 
- ส่วน Reduce พยายามใช้ทรัพยากรให้น้อยหรือลดการใช้ เมื่อมาถึงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องโลกร้อนธรรมดาแล้วแต่เป็นโลกเดือด

เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงผลักดันทำให้คุณวิชัยสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม? คุณวิชัยตอบว่า "ผมจะไม่เพิกเฉยกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ปัจจุบันครอบครัวเราได้ตั้งมูลนิธิหนึ่งน้ำใจขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสตามชายแดน โดยปัจจุบันได้สร้างโรงเรียน 19 แห่ง ซึ่งล้วนเดินทางยากลำบากมาก 

"ขณะเดียวกัน ในช่วงตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ทีมงานของเราได้ขึ้นลงไปสำรวจในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ก็ทำให้ได้รับรู้ปัญหาอื่นที่ควบคู่ ผ่านความรู้สึกของชาวบ้านที่พูดถึงมหันตภัยสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ ซึ่งเราก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่พอจังหวัดเชียงใหม่เกิดปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ผมรับไม่ได้ เลยพูดคุยถึงแนวคิด 'โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ' ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมองเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวบ้านเผาป่า เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านหยุดเผา"

คุณวิชัย เผยว่า "วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ คือ แปลงเป็นเงิน เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นไปในตัว โดยนำสิ่งที่จะเผา เช่น วัสดุทางการเกษตรทั้งต้นทั้งซังมาขายให้กับเรา ด้วยการให้นักธุรกิจในพื้นที่รวบรวมจากชาวบ้านแล้วส่งมาที่โรงงาน จากนั้นทางโรงงานก็จะแปรรูปเป็นชีวมวลอัดเม็ด (Biomass Pallets) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น"

คุณวิชัย มองว่า ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมองไปที่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และมีความต้องการสูงในเรื่องนี้ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีความต้องการ 10 ล้านตันต่อปีแล้ว และต้องการเซ็นสัญญายาวล่วงหน้า 20 ปี 

"หัวใจของธุรกิจนี้คือ ต้องมีวัสดุเหลือใช้มากพอเข้ามาป้อนโรงงาน จึงอยากให้นักธุรกิจในท้องถิ่นได้มีส่วนช่วยในการรวบรวมเศษวัสดุมาให้เรา ส่วนความคืบหน้าของโครงการฯ ตอนนี้เรามีหนึ่งโรงงานที่ อำเภอจอมทอง ส่วนโรงงานที่สองน่าจะเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่"

คุณวิชัย เล่าอีกว่า "รู้สึกเสียดายที่โครงการนี้เกิดขึ้นได้ช้า เพราะหลักๆ เราใช้โมเดลที่ไม่ได้พึ่งพางบประมาณของรัฐบาลเลย โดยระดมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 300 ล้านบาท รับซื้อแบบไม่จำกัด ซึ่งการรับซื้อก็ช่วยสร้างความยั่งยืนในระดับหนึ่ง แต่เราต้องเติมความยั่งยืนให้กับชาวบ้านอีกว่า เงินของชาวบ้านจะสามารถเพิ่มพูนงอกเงยขึ้นได้อีกอย่างไร...

"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผมได้คุยกับทาง กฟผ. แล้ว ถ้าเราสามารถสร้างโรงงานพร้อมกันได้ 10 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2568 ปัญหาเรื่อง PM 2.5 ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทางภาคเหนือแล้ว ตอนนี้เรามีการขยายไปทางภาคใต้ด้วย เช่น การพัฒนาสนามกอล์ฟรูปแบบ Carbon Neutral ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ Carbon Neutral อันดับที่ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ และทีมงานยังได้ศึกษาต้นปาล์มด้วยว่าสามารถนำมาทำ Pallets ได้ไหมสรุปว่าสามารถทำได้ก็จะขยายความร่วมมือและต่อยอดต่อไป"

เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย? คุณวิชัยกล่าวว่า "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการเดินหน้าเป็นอย่างดี และมีการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นเช่นกัน ผมได้เจอนักธุรกิจสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทุน 'เทมาเส็ก' หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ โดยกำลังทำแพลตฟอร์มด้านคาร์บอนเครดิตระดับเอเชีย จึงอยากขอให้ไทยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาก็ตอบรับและเข้ามาประชุมแล้ว เรียกว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ร่วมมือกัน เพราะทางสิงคโปร์เองก็ต้องการคาร์บอนเครดิตอีกมาก ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย"

เมื่อถามถึงทิศทางการเติบโตคาร์บอนเครดิตในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป? คุณวิชัยกล่าวว่า "ผมมองเห็นการเติบโต เราสามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทั่วประเทศได้ วัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือใช้หลายอย่างสามารถแปลงเป็นภาชนะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่าง บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'เกรซ' สามารถนำวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ซังข้าว, ข้าวโพด, อ้อย และอื่นๆ มาแปลงเป็น ถ้วยชาม หลอด รักษ์โลก เราจึงพยายามเชื่อมโยงบริษัทฯ นี้กับพื้นถิ่นที่เรากำลังจะสนับสนุนด้านคาร์บอนเครดิต...

"เมื่อก่อนเราผลิตเพื่อทดแทนพลาสติก แต่ไม่สามารถทดแทนได้หมดเนื่องจากราคาสูง ปัจจุบันสามารถทำราคาได้ใกล้เคียงกับพลาสติกแล้ว ต่างกันแค่ 20-30% และสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้ สร้างความยั่งยืนได้ เมื่อย่อยสลายสามารถกลายเป็นปุ๋ยได้ และยังฝังเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ทำให้กลายเป็นต้นไม้ได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ...

"ส่วนการขยายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดจากได้ทราบแนวคิดของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับมาเลเซีย เลยมีแนวคิดนำคาร์บอนเครดิตลงไปแนะนำในท้องถิ่น ซึ่งถ้า SEC เกิดขึ้นจริง พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถลงทุนพัฒนาได้ในอนาคต"

เมื่อถามถึงเรื่อง BCG? คุณวิชัย เผยว่า "เราสนใจมานานแล้ว นักธุรกิจควรเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, Governance) เป็นหลักโดยเฉพาะกองทุน ESG ต้องเชื่อมโยงกับกองทุนเหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พึ่งเริ่มทำ โดยพยายามถ่ายทอดความรู้ในเรื่องนี้ในการบรรยายให้กับธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ให้สนใจเรื่องนี้ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเป็น ESG ด้วยหลักคิดง่ายๆ 4 ประการ ได้แก่ Net Zeo, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ เป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับประเทศตาม Passion ของผม เกษตรกรต้องไม่จน"

เมื่อถามถึงความคืบหน้าจากโครงการ 'กวี คีตา อัมพวาเฟส' ที่ผ่านมา? คุณวิชัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากแรงบันดาลใจเนื่องจากตนเป็นเขยสมุทรสงคราม มีความผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง ชอบธรรมชาติและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์สร้างโมเดล Cultural Carbon Neutral Event แห่งแรกของไทยและของโลก ด้วยการจัด Event วัฒนธรรมและสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย 

"ผมอยากให้เกิดโมเดลแบบนี้ไปทั่วประเทศ จึงเกิดการต่อยอดโดยหลานทั้งสองของผม อายุ 16 ปีและอายุ 14 ปี ที่มีความคิดอยากทำตาม Passion ของปู่ ในเรื่องสิ่งแวดล้อม Carbon Neutral ให้ยั่งยืนต่อเนื่องกับอัมพวาจริงๆ ก็เลยมีแนวคิดเปลี่ยนเรือในคลองอัมพวา จากเรือสันดาปใช้พลังงานน้ำมัน เป็นเรือใช้พลังงานไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากคลองเฉลิมพระเกียรติ หรือคลองบางจาก ใน Concept Net Zero อัมพวา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลานๆ เกิดความสำนึกต่อการรักษ์โลกใบนี้ก็ถือว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งแล้ว...

"ขณะเดียวกัน ก็มี 'สวนสมดุล' ที่เกิดจากลูกชายคนเล็กของผม ที่ขอไปเป็นเกษตรกรตามรอยศาสตร์พระราชา ทุกตารางนิ้วในสวนเป็น Organic ทั้งหมด ไม่ใช้สารเคมีเลย โดยมุ่งหวังสร้างผลิตภัณฑ์มาตรฐานไทยขึ้นมาซึ่งคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เช่น ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น รวมถึงยังเลี้ยงผึ้งชันโรง และตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง"

เมื่อพูดถึงศาสตร์พระราชาถูกมาใช้ในการบริหารธุรกิจอย่างไร? คุณวิชัยกล่าวว่า "หลังจากผมประกาศว่าเมื่อผมอายุครบ 70 ปี อยากทำตาม Passion ตัวเอง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.เกษตร 2.การศึกษา 3.ร้านค้าปลีกโชห่วยที่ได้รับความเดือดร้อน ผมก็ได้เดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ แต่ทุกครั้งที่เดินสาย ถ้ามีโอกาสผมจะพูดถึงปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลึกซึ้งถ้าเรียนรู้และนำไปปรับใช้อย่างแท้จริงแล้ว เราจะไม่ได้เพียงการดำรงชีวิตที่อยู่ได้ แต่เรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจที่ตัวเองทำ...

"ในหลวงท่านไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทคโนโลยี แต่แนวคิดท่านทำให้คนเริ่มบาลานซ์เทคโนโลยีกับวิถีชีวิตจริง วิถีเกษตรกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนมาที่ตัวเราได้โดยไม่ต้องต่อต้านเทคโนโลยี แต่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ อย่างเด็กเกษตรที่ผมเคยบรรยายก็ได้ตระหนักถึงปรัชญานี้ ผมจึงมีโครงการมาตรฐานการเกษตรที่ชลบุรีบ้านเกิดผม โดยจะแนะนำเทรนด์เรื่องการบริหารฟาร์มและสร้างหลักสูตรที่เรียกว่า 'เกษตรหัวขบวน' เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เข้าใจแผนงานการตลาดและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายสำคัญของ คุณวิชัย ที่สอดคล้องไปกับฉายา Godfather of Startup ว่าคืออะไร? คุณวิชัย เผยว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่ขาดเวทีในการแสดงความสามารถ ซึ่งตนประกาศว่ากำลังตามหายูนิคอร์นตัวใหม่ วันนี้จึงขอฝากถึงทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ไทยพบช้างเผือกในป่าลึก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ฝากถึงนักธุรกิจที่อยากประสบความ ก็ต้องยึดหลัก กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ด้วย

"สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมักจะขาดก็คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการต่างๆ เช่น Collaboration, Connectivity, M&A ในการเริ่มต้นอย่าคิดว่าเก่งคนเดียวต้อง Collaboration ถ้าเก่งบวกเก่ง กลายเป็นซุปเปอร์เก่งเลย เราต้องทำให้สินค้าบริการให้ครบวงจร อย่ามอง Hedge Fund อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืน และต้องมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ อย่าทำผ่านๆ ไป เป้าหมายจะไปที่ไหน ต้องเขียน Roadmap อย่างไร ถามว่าคุณวิชัยเคยล้มเหลวไหม คุณวิชัยตอบว่า เยอะมาก จำไว้เลยนะครับว่าไม่มีใครสำเร็จอย่างเดียว และไม่มีใครล้มเหลวอย่างเดียว ความล้มเหลว คือ บทเรียนที่คุ้มค่าให้เราเรียนรู้ได้เสมอ อย่ากลัวความล้มเหลว"

คุณวิชัย ฝากทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์นี้อีกด้วยว่า "ประเทศนี้ให้ผมมาเยอะแล้ว ผมต้องสร้างคน สร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อคืนให้กับสังคม คืนให้กับประเทศชาติจนกว่าชีวิตผมจะหาไม่ ซึ่งเวลาผมไปบรรยายต้องให้ผู้ฟังช่วยปฏิญาณไปกับผมด้วยเสมอ คือ 1.เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น 2.เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม 3.เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า เป็นสิ่งที่ผมอยากปลูกฝังระบบคุณธรรมให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป"

‘กาสิโนในไทย’ แรงเสริมภาคการท่องเที่ยว ในวันที่จุดขายทางธรรมชาติ เริ่มสึกกร่อน

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กาสิโนในไทย ถึงเวลารึยัง?' เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

อบายมุขกับการท่องเที่ยวอาจเป็นของคู่กัน มีการศึกษาของหลายสำนักระบุว่าธุรกิจการพนันมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่รายได้ทางตรงจากการเล่นการพนันเท่านั้น แต่ผลประโยชน์ยังได้กระจายไปยังธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ได้แก่ โรงแรม, ร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, การจัดประชุมและนิทรรศการ ทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และระดับรากหญ้า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเล่นการพนันและพักผ่อนหย่อนใจในสถานบันเทิงต่างๆ เป็นนักท่องเที่ยวรายได้สูงและใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 

หลายประเทศ/เมืองประสบความสําเร็จจากการใช้ธุรกิจการพนันเป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยว ลาสเวกัส น่าจะเป็นเมืองแห่งการพนันและบันเทิงเมืองแรกๆ ของโลกที่ประสบความสําเร็จมาอย่างยาวนาน แม้จะตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเลทรายในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันลาสเวกัสได้กลายเป็นเมืองร่ำรวยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละกว่า 40 ล้านคน ลาสเวกัสยังเป็นโมเดลที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยึดถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจการพนันและบันเทิงแบบครบวงจร

มาเก๊าเป็นเมืองการพนันอีกเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และในบางช่วงเวลาได้สร้างรายได้การท่องเที่ยวได้มากกว่าลาสเวกัสเสียอีก เนื่องจากมาเก๊าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเป็นที่เดียวที่รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย จึงมีคนจีนเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจที่มาเก๊าเป็นจำนวนมาก

สิงคโปร์และญี่ปุ่นเป็นอีก 2 ประเทศที่เล็งเห็นประโยชน์จากการเปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย หลังจากเปิดได้เพียงไม่กี่ปี Marina Bay ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดและสร้างรายได้มหาศาลของสิงคโปร์ ขณะที่ญี่ปุ่นก็เพิ่งจะอนุญาตให้จัดตั้งกาสิโนเป็นครั้งแรกที่เมืองโอซากา กำหนดเปิดดำเนินการได้ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่มีความอนุรักษ์นิยมไม่ยิ่งหย่อนกว่าไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตด้วยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก วันนี้แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาหลังจากวิกฤตโควิด แต่ก็ยังไม่สามารถกลับสู่ระดับเดิมก่อนโควิดได้ การท่องเที่ยวของไทยพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ชายหาด, เกาะแก่ง, อุทยาน เป็นต้น นับวันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเหล่านี้ก็จะสึกหรอไปจากความแออัดของนักท่องเที่ยว การลงทุนเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made Attractions แม้ว่าจะมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มทีและต้องถือว่ายังไม่เป็นระดับโลก

จึงเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้มีการผลักดันเรื่องการจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายและสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งจากการศึกษาของหลายสำนัก รวมทั้งรัฐสภาและกระทรวงการคลัง พบว่ามีความเป็นไปได้และน่าจะมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย แต่มีประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ฝ่ายนโยบายต้องคำนึงถึง อาทิเช่น การกำกับดูแล การจัดเก็บภาษี การเลือกที่ตั้งที่เหมาะสม การสร้างความเชื่อมโยงกับ Soft Power ของไทย ผลกระทบทางสังคม เป็นต้น ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อห่วงใยที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต้องเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ

เรื่องสำคัญที่อาจจะยังไม่มีการพูดถึง คือ เรื่องของตลาดและเทคโนโลยี หากกาสิโนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมุ่งเน้นลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็คงจะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแข่งขันกับกาสิโนอื่นในภูมิภาค รวมทั้งมาเก๊าของจีน คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะขอให้รัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนจีนขนเงินมาเล่นการพนันในประเทศไทยในภาวะที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจและเงินทุนไหลออก ดังนั้นอาจจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันแบบ G to G กับทางจีนเป็นประการแรก  ส่วนเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีออนไลน์และ AI ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจบันเทิงทุกประเภท ก็อาจทำให้กาสิโนที่จะมีขึ้นมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

‘อุตฯ ฟอกหนังไทย’ ปรับตัวเดินตาม ‘BCG โมเดล’ ตามเทรนด์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับ ‘คุณสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ที่ปรึกษาและกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฟอกหนังของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของภาคการส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด 

โดยคุณสุวัชชัย กล่าวว่า “ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป สงครามที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควรในมุมมองของเศรษฐกิจ อย่างกรณียุโรปเองก็ประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปศุสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น วัตถุดิบมีอัตราแพงขึ้น ซึ่งเครื่องหนังเปรียบเสมือนสินค้าฟุ่มเฟือย อัตราการใช้งานก็ลดลงทำให้มูลค่าตลาดลดลง ส่วนทางสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกัน ทำให้ส่งผลกระทบทั้ง Supply Chain ในระดับโลก ต้องบอกว่าเมืองไทยเรามีการส่งออกโดยได้รับคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ส่งออกในห่วงโซ่นี้ทำให้ได้รับผลกระทบจาก Supply Chain อยู่พอสมควร”

คุณสุวัชชัย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยในตลาดโลกว่า “ประเทศไทยมีการส่งออก ขนมิงค์ (Mink Hair) หนังวัว ไปยังทวีปยุโรป เบาะรถยนต์ ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ส่วนกระเป๋าเดินทางก็ส่งออกอันดับต้น ๆ และรองเท้านำเข้ามาผลิตและประกอบเพื่อส่งออกกลับไปจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นของเครื่องหนังไทยที่ต่างชาติยอมรับ คือ ความประณีตในการตัดเย็บ รูปแบบดีไซน์ และคุณภาพดีสม่ำเสมอ ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น รวมถึงมีสินค้าหลากหลายรูปแบบมากกว่า เช่น หนังปลา หนังงู เป็นต้น  ซึ่งในอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยมีการนำเข้าและส่งออก อยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกับกระเป๋าและเครื่องใช้ในการเดินทาง รองเท้า น่าจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท”

คุณสุวัชชัย ระบุเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันทางสมาคมฟอกหนังไทยได้สร้างความร่วมมือกับทางสมาคมรองเท้า กระเป๋า เพื่อพัฒนาให้เกิด Young Designer รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อทำอย่างไรให้แบรนด์ไทยได้ครองใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนความต้องการของผู้ประกอบการต่อภาครัฐในปัจจุบัน คือ 

1.ต้นทุนการดำเนินงานลดน้อยลง 
2.ข้อกำหนดทางการค้าเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฟอกหนัง เช่น การขยาย FTA ให้มากขึ้น, ข้อกำหนดด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”

คุณสุวัชชัย ยังได้กล่าวถึงเทรนด์การทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ปัจจุบันสมาคมฟอกหนังไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟอกหนังเน้นเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต้องย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ใช้ การผลิต ออกแบบจะต้องอยู่ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเริ่มพัฒนาสินค้าไปในทิศทางนี้แล้ว เช่น เมื่อผลิตสินค้าสารเคมีจะต้องไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

“ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็ส่งเสริม BCG โมเดลและเริ่มผลักดันผู้ประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณสุวัชชัย เน้นย้ำ

ส่วนเป้าหมายของอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ปัจจุบันเราพยายามปรับตัวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น เรามุ่งเน้นไปที่ทำหนังอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากที่สุด การบำบัดน้ำเสียตอนนี้มีอยู่ในเขตประกอบการของเรา ซึ่งมีบ่อหนึ่งเราปิดบ่อเลย แต่เราได้แก๊สมีเทน (Methane) และเน้นไปด้านไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อได้พลังงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นที่แรกในเมืองไทย ที่สามารถเอาสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มาเป็นพลังงานได้ 

อุตสาหกรรมฟอกหนังไทยถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอด อยากฝากถึงประชาชนว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจ เราเป็นหนึ่งใน 45 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เราไม่ได้มานั่งแก้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของมลพิษ แต่เราพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปในชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อม หรือติดตามเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เข้มข้นขึ้น สำหรับการจัดการกลิ่น น้ำเสีย ปัจจุบันสามารถเช็กได้ว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร 

“การฟอกหนังใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ การใช้สารเคมีที่แตกต่างจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าสู่ BCG โมเดล เพื่อทำให้มลพิษลดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” คุณสุวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! Carbon Pricing กุญแจสำคัญสู่ Net Zero ตอบโจทย์ธุรกิจในโลกยุคใหม่ ช่วยต่อลมหายใจให้โลกใบเก่า

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Carbon Pricing กุญแจสู่ Net Zero' เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มากับภาวะโลกร้อน 

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ที่รุนแรงที่สุดดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความกดดันที่จะต้องมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ 

แรงกดดันดังกล่าวมาจากทั้งองค์การระหว่างประเทศ ตลาดเงินตลาดทุน Supply Chains ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคและ NGO ต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศในที่การประชุม COP 26 ที่ Glasgow สหราชอาณาจักร ว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็ยังล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา

เป้าหมายดังกล่าว กอปรกับแรงกดดันจากทุกภาคส่วน ยังคงความจำเป็นให้ต้องมี Roadmap ที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรและขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย 

ดังนั้น การใช้กลไกตลาด จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของเส้นทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) อาจกระทำโดยการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดระบบซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ประการแรก การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดเก็บภาษีบาป (Sin Tax) อยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากสุรา, ยาสูบ และน้ำตาล จึงไม่มีปัญหาในการเพิ่มคาร์บอนเข้าไปในรายการสินค้าบาปแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ที่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น, ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่พลังงานสะอาด และที่สำคัญที่สุดความกล้าหาญทางการเมืองของรัฐบาล

ประการที่สอง การซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป สำหรับในประเทศไทยก็มีพัฒนาการในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องมากกว่านี้ 

กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ จะมีการกำหนดระดับการปล่อยคาร์บอนภาคบังคับของธุรกิจขนาดใหญ่ในบางสาขาอุตสาหกรรม และน่าจะช่วยให้ตลาดคาร์บอนของไทยมีความคึกคักมากขึ้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง รวมทั้งยกระดับคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล 

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ประเทศไทยน่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาคได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดราคาคาร์บอนจะเป็นหัวใจของเส้นทางเดินสู่ Net Zero ก็ตาม แต่คงไม่เพียงพอที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศได้ 

ฉะนั้น ประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติในวันนี้ และก็จำเป็นที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้ด้วย

‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ เดินหน้าช่วยสังคมไทยระลอกใหม่ มอบ 100 ล้านสานฝันเด็กไทย ผ่าน ‘Aerosoft Give Scholarships’

จากรายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 9 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ใจดีของสังคมไทย คุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) ซึ่งมาเผยถึงผลสำเร็จของโครงการสนับสนุนการศึกษาเด็กไทยทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Aerosoft Give Scholarships มอบทุน 100 ล้าน สานฝันให้เด็กไทย’ ซึ่งเป็นโครงการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬาให้แก่ 1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2. ศึกษาพิเศษ 3. ศูนย์ศึกษาพิเศษ และ 4. ศึกษาสงเคราะห์ ทั่วประเทศ รวม 2,549 โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567

คุณโกมล เผยถึงรายละเอียดด้วยว่า ทุนที่มอบให้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย มอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี / ความประพฤติดี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3-5 โรงเรียนละ 6 ทุน ทุนละ 5,000 บาท (ระดับชั้นละ 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน) มอบทุนสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ทุนละ 5,000 บาท และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน โรงเรียนละ 5,571 บาท เป็นทุนที่มอบให้ในลักษณะให้ฟรี โดยไม่มีพันธะผูกมัดใด ๆ

“การมอบทุน 100 ล้านบาท จาก Aerosoft เพื่อสนับสนุนการเด็กไทยทั่วประเทศในครั้งนี้  มีแนวคิดมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ผมมองเห็นว่าเด็กนักเรียนในชนบทจำนวนมาก เป็นเด็กที่เรียนดี เป็นเด็กที่เก่ง เพียงแต่พวกเขามักจะขาดแคลนทุนทรัพย์กันพอสมควร ผมจึงมองว่าเงินตรงนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาที่จะช่วยให้พวกเขานำไปต่อยอดโอกาสในการเรียนและสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการมอบอุปกรณ์เครื่องกีฬาที่มีการแจกให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายและห่างไกลจากยาเสพติด” คุณโกมล กล่าว

เมื่อถามถึงการขยายโครงการการมอบทุน ‘Aerosoft Give Scholarship’ เพิ่มเติมในอนาคต? คุณโกมล เผยว่า ขอประเมินผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ส่วนตัวมีแนวคิดว่าจะเพิ่มทุนให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ อยากฝากหลานๆ ทุกคนให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียรในการศึกษา เพราะความรู้เท่านั้นที่จะนำพาเราสู่อนาคตที่ดีได้ ที่สำคัญอย่าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนันออนไลน์ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งกล้าปฏิเสธไม่ทำในสิ่งที่ผิด แล้วนำความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนไปพัฒนาตัวเอง เมื่อมีหน้าที่การงานที่ดีจะได้กลับมาตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ในอนาคต” คุณโกมล เสริม

เมื่อถามถึงเหตุผลว่า ทำไม คุณโกมล และ Aerosoft ในช่วงระยะหลังจึงออกมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 (EURO 2020) ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโรฟรีๆ การบริจาคเงิน 100 ล้านบาท และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลศิริราช ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และยังได้ดำเนินงานด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อแก้ปัญหา พร้อมยกระดับวงการข้าวไทยครบวงจร ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนา เป็นต้น? คุณโกมล บอกว่า... 

“ผมแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมไม่ได้หวังผลตอบแทนใดกลับคืนครับ แต่ผมตั้งใจอยากตอบแทนบุญคุณคืนแก่แผ่นดินของเรา ผมคิดแค่นั้น ฉะนั้นถ้ามีโครงการในรูปแบบใดที่จะช่วยเหลือสังคมและประเทศได้ ผมก็จะลงมือช่วยทันที อย่างในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีการคิดจะสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลในบ้านเรายังขาดแคลนอยู่มาก”

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! 3 ตัวแปร ที่ทำให้ 'แบงก์ชาติ' ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย 'เข้าใจบทบาทตนเองผิด-เกรงใจสถาบันการเงิน-กฎหมายล้าหลัง'

(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า 

ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ 

วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น

ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง

ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง 

ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...

ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง

ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

‘Gadhouse’ แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงไทย ผู้ปลุกกระแส ‘แผ่นเสียง’ ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณเพชร วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gadhouse เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 กับการปลุกกระแสความนิยมเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้กลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางการสมรภูมิ Music Streaming ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน เบื้องหลังความสำเร็จนี้เป็นอย่างไร คุณเพชร ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Gadhouse เริ่มต้นจากการนำเข้าเครื่องเสียงแบรนด์ต่างๆ มาจำหน่ายในเฟซบุ๊ก โดยยังไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง ในชื่อ Gadhouse ซึ่งมาจากคำว่า House of Gadget 

เมื่อถามว่า ทำไมถึงขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งหลายคนมองว่าตกยุคไปแล้ว และในปัจจุบันนิยมฟังผ่าน Streaming มากกว่า? คุณเพชร บอกว่า “เริ่มต้นจากความชอบและเชื่อว่าตลาดแผ่นเสียงยังไม่ตายไปจากคนที่ชอบฟังเพลงจริงๆ ซึ่งการหวนกลับมาของแผ่นเสียงก็น่าจะเป็นเพราะ Streaming ด้วย เนื่องจากปัจจุบันทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมดแค่ปลายนิ้ว แต่ขณะเดียวกันความเร็วแบบฉาบฉวยเหล่านี้ ก็กระตุ้นคนอีกกลุ่มที่เริ่มโหยหาวิถี Slow Life อยากเสพสุนทรีย์ และแสวงหาเสน่ห์จากปกที่ให้รายละเอียดของอัลบั้ม เนื้อเพลงและศิลปิน และพวกเขากำลังมองหาร้านที่จะตอบโจทย์ และเราคือคำตอบ”

เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมดนตรีของโลกในปัจจุบัน? คุณเพชร เผยว่า “หลัก ๆ ตลาดถูกขับเคลื่อนจากสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าตลาด Streaming ก็เติบโตสูงมากๆ จากตลาดเหล่านี้ รองลงมาก็จะเป็นกลุ่ม Vinyl, ซีดี และเทปคาสเซ็ต ที่เริ่มขยับตัวขนานไปกับ Streaming” 

คุณเพชร เสริมว่า “ส่วนตลาดในประเทศไทยเองก็มีทั้งที่เสพเพลงผ่าน Streaming และ Physical Media จากศิลปินที่ชื่นชอบ ในแบบที่ต้องการหาซื้อมาฟังจริงๆ และเลือกเป็นของสะสม ซึ่งสิ่งที่น่าดีใจ คือ ตลาดแผ่นเสียงไทยในปัจจุบันกำลังปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะไม่มีแผ่นเสียงใหม่ออกมาจำนวนมากเหมือนต่างประเทศ แต่พอค่ายเพลงใหญ่ๆ เริ่มหันกลับมาผลิตแผ่นเสียงเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้แฟนคลับเริ่มกลับมา”

เมื่อถามในส่วนการวิธีการทำตลาดของ Gadhouse แล้ว คุณเพชร บอกว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตลาดในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่จะได้รับความนิยมอย่างสูงที่ประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย โดยจุดเด่นของแบรนด์ Gadhouse นั้น คือ การเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าที่พึ่งเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียง ด้วยฟังก์ชันที่ใช้งานง่าย มีดีไซน์สวย แต่ราคาจับต้องได้ในระดับคุณภาพสูง

ทั้งนี้แบรนด์ Gadhouse ได้วาง Positioning เป็นแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำของไทยโดยมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นสินค้านำร่อง แต่ก็มองการเติบโตของวงการ Vinyl ที่น่าจะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ไว้บ้างแล้ว 

อย่างไรก็ตาม อีกจุดเด่นสำคัญของ Gadhouse คือการเป็นแบรนด์พัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ตอบโจทย์ Sustainability ด้วย โดยมีการผลิตเครื่องเล่นจากขยะและสิ่งเหลือใช้ เช่น กล่องนม เป็นต้น เพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมไปกับเสียงเพลง 

“ผมอยากให้ Gadhouse เป็นแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เติบโตสูงสุด และเป็นเครื่องเสียงของคนไทยที่ชาวต่างชาติอยากได้มากที่สุด โดยวางเป้าหมายเป็น Top ในระดับโลก ของกลุ่ม Retro Modern ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ส่วนแผนการจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป” คุณเพชร ทิ้งท้าย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ เปิดมุมมอง ‘หนี้สาธารณะ’ กับการพัฒนาประเทศ ข้อดี ‘ก่อหนี้-กู้ยืม’ สร้างแรงส่งสู่การลงทุน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจ

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้สาธารณะกับการพัฒนาประเทศ' เมื่อวันที่ 25 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

หลังการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศหลายประเทศ ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็มีระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก และเมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะจึงเริ่มเป็นปัญหาและในบางประเทศเข้าขั้นวิกฤต เช่น สหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหาเพดานหนี้จนอาจถึงขั้นรัฐบาลปิดดำเนินการ (Government Shutdown) จีนมีปัญหาหนี้รุนแรงในระดับรัฐบาลท้องถิ่นจนรัฐบาลกลางต้องเข้าไปอุ้ม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหนี้ตามสนธิสัญญา Maastricht ได้

แม้ว่าในบางครั้งหนี้อาจเป็นปัญหาและก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่หนี้โดยตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องหวาดกลัวเสมอไป การก่อหนี้หรือการกู้ยืมมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตเพื่อการบริโภคในอนาคตแทนที่จะบริโภคหมดไปในปัจจุบัน ตลาดและสถาบันการเงินมีหน้าที่หลักในการระดมทุนจากผู้ออมและจัดสรรทุนในรูปหนี้หรือทุนไปยังกิจกรรม/โครงการที่นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระดับประเทศก็เช่นกัน การก่อหนี้สาธารณะมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐบาลมีทรัพยากรเสริมจากรายได้ภาษีอากร เพื่อจัดให้มีบริการที่จำเป็นต่อประชาชนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ยิ่งถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จะระดมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาจมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเสริมเงินออมในประเทศ ระเบียบโลกจึงได้กำหนดให้มีโครงสร้างทางตลาดและสถาบันที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนไปยังที่ที่มีความต้องการใช้เงินทุนนั้น

แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มพยายามบิดเบือนและสร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับข่าวแผนการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ว่าเป็นการเปิดประตูเมืองชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอคติอย่างรุนแรงต่อกลไกตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ได้รับประโยชน์มหาศาลจากตลาดการเงินโลก เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดโลกครั้งแรก ที่ตลาดลอนดอน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำคัญ ๆ ล้วนใช้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งนั้น อาทิเช่น ทางหลวงแผ่นดิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นต้น รัฐบาลประยุทธ์ก็กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หากไม่มีแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยคงไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางเช่นทุกวันนี้

ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กฎหมายการเงินการคลังของไทยวางโครงสร้างและสถาบันภาครัฐเพื่อสร้างหลักประกันแห่งวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม และรัฐบาลไทยก็ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมา 

วันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับปลอดภัยและมีองค์ประกอบที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศมีความมั่นคง ประเทศไทยมี Credit Rating ในระดับ Investment Grade เสมอมา

ดังนั้น การออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาสร้างความตระหนกตกใจในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม ทำนองเดียวกับการออกพันธบัตรเพื่อสร้าง Yield Curve ของตลาดตราสารหนี้ในประเทศ แผนการออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานักลงทุนระดับโลก และสร้างตลาดอ้างอิง (Benchmark) ให้กับตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่จะพึงมีในอนาคตหากจำเป็น

ปรับทัศนคติเรื่องการเงิน กับ 'โจ มณฑานี ตันติสุข' 'วินัย' ที่สร้างได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือน

กลายเป็นประเด็นโด่งดัง ภายหลังจากกระแสข่าวที่ คุณโจ มณฑานี ตันติสุข ดีเจ พิธีกร นักวิจารณ์ นักเขียนและวิทยากรชื่อดัง ได้รีวิวการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท อย่างไรใน กทม. แบบชีวิตดี๊ดี จนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นจริงหรือไม่?

วันนี้รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอในประเด็นนี้ พร้อม ๆ ไปกับมุมมองชวนคิดที่จะชวนคนไทยได้ตระหนักถึงการใช้และบริหารการเงินในแบบที่ทุกคนสามารถอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ และสุขได้ในยุคที่เงินในกระเป๋าบางคนอาจจะไม่ได้แน่นฟูก็ตาม

โดย THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้เปิดบทสนทนา ด้วยการซักถามถึงจุดเริ่มต้นที่คุณโจได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเงิน ซึ่ง เธอ ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากชีวิตในช่วงวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง โดยสาเหตุเกิดจากเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องการเงิน เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร อีกทั้งยังปิดใจไม่ยอมรับว่าตัวเองประสบปัญหาการเงิน จนภายหลังก็เข้าใจว่า สาเหตุของวิกฤตการเงินของตนเกิดจากการใช้จ่ายเงินผิดพลาดนั่นเอง

ดังนั้น คุณโจ จึงหันมาศึกษาเรียนรู้เรื่องการเงินจากอินเทอร์เน็ต จากหนังสือ และงานสัมมนาต่าง ๆ อย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตวิทยาการเงิน ภายใต้ตัวแปรที่เรียกว่า 'คนเลี่ยงเงิน' 

คุณโจ เล่าต่อว่า 'คนเลี่ยงเงิน' ในที่นี้ คือ ไม่ใส่ใจในรายละเอียดว่าเราใช้เงินไปกับอะไร ใบแจ้งหนี้ส่งมาก็ไม่สนใจ ทำให้จ่ายหนี้ช้าตลอด จนถูกตัดน้ำตัดไฟเป็นประจำ 

การหลีกเลี่ยง ทำให้ไม่รู้สถานการณ์การเงินของตัวเอง จนนำพาชีวิตคุณโจไปสู่ความยากลำบากที่สุด ถึงขั้น บ้านโดนยึด ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ติดตัว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คุณโจ อยากนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ โดยให้คำแนะนำผู้คนผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อตั้งใจให้ทุกคนหลุดพ้นจากปัญหาการเงิน ซึ่งกล้าพูดเต็มปากเลยว่า 'มีแต่ความทุกข์ทรมาน'

เมื่อถามว่า อะไร คือ สัญญาณอันตรายทางการเงิน? คุณโจ กล่าวว่า เมื่อคุณเริ่มหมุนเงินไม่ทัน หรือเงินอยู่กับเราได้ไม่นาน เงินชักหน้าไม่ถึงหลังและเริ่มยืมเงินจากคนรอบข้างมากขึ้น จนกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อไร... สุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนล้มละลาย ฉะนั้นหากเริ่มมีสัญญาณเตือนเหล่านี้เข้ามา ต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน แต่อยากให้กำลังใจว่าไม่ว่าจะล้มตอนอายุเท่าไหร่ ล้มแล้วลุกได้เสมอ การล้มละลายไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตต่างหาก

เมื่อถามถึงนิยามในการบริหารจัดการการเงินที่ดีต้องทำอย่างไร? คุณโจ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ มุมมอง หรือ Mindset ทางการเงินของแต่ละคน ถ้าอยากมีเงิน แต่ไม่หารายได้ ไม่ตั้งใจทำงาน จะใช้ช่องทางกู้หนี้ยืมสินเพียงอย่างเดียว แน่นอนย่อมเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลับกันถ้าเรามีเงิน แต่ไม่มีวินัยทางการเงิน เช่น ไม่มีการบันทึกการใช้เงินในแต่ละวันหรือไม่ แบบนี้ก็อาจจะทำให้สุขภาพทางการเงินย่ำแย่ได้ในระยะยาว

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไปบังคับให้ผู้คนเลิกใช้? คุณโจ กล่าวว่า ถ้าต้องใช้ ก็อยากให้ปรับ Mindset ใหม่ เช่น คุณต้องเข้าใจว่า การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะทำให้คุณเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ และนั่นจะทำให้ปัญหาทางการเงินด้านอื่น ๆ ตามมา ควรซื้อเมื่อพร้อม

ขณะเดียวกันการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม (ในต่างประเทศมีโครงการในลักษณะนี้) และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น Mindset ในการใช้เงินก็สำคัญ อย่าปล่อยให้จิตใจเราถูกผลักด้วย Need หรือ Want ลองปรับวิธีคิด ซื้อแต่ของจำเป็น ก่อนของที่อยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใด ก็จะสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น

สรุปแล้วทั้งการจัดการและขจัดปัญหาทางด้านการเงิน ล้วนแล้วแต่ต้องแก้ที่ Mindset ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องยาก โดยคุณโจมองว่า คนที่มักจะมีวินัยการเงินได้ดี มักจะประสบวิกฤตมาก่อน แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็สามารถสร้างวินัยการเงินได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือนได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อถามว่าควรเริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่เมื่อไร? คุณโจ แนะว่า ควรเริ่มตั้งแต่วัยประถมเลย เพราะเด็ก ๆ จะได้รู้คุณค่าของเงิน รักเงิน มี Mindset เชิงบวกกับเงิน เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงทางการเงิน และมีสันติสุขทางการเงิน

สำหรับปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น โจ มณฑานี กล่าวว่า Mindset การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเป็นหนี้ในต่างประเทศ เขาจะให้ลูกหนี้เข้ามาเซ็นเพื่อหยุดก่อหนี้ก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ โดยเฉพาะ Mindset การใช้เงินว่าจิตใจเราถูกผลักด้วยอะไร need หรือ want ซื้อของจำเป็น หรือซื้อของที่ฉันอยากได้ เราต้องเลือกซื้อของจำเป็นก่อนอยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับอะไรแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น เช่น ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น 

เมื่อถามถึงประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในตอนนี้ กับหัวข้อ 'เงินเดือนละ 15,000 บาท ใช้ในเมืองหลวงได้พอจริงหรือไม่?' คุณโจ มองว่า จริง ๆ แล้วอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่เราเลือก และคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนก็แตกต่างกัน อย่างตนเลือกใช้คุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการปลดหนี้ การมีเงินออมเกษียณ ไม่ต้องรอหมายศาลว่าจะมาเมื่อไหร่ ได้กินของอร่อย ซึ่งพี่กินไข่ต้มราดน้ำปลาพริกก็อร่อยแล้ว เคยกินน้ำก๊อกมาแล้วในช่วงที่ยากลำบาก แต่ก็มีความสุขมากเพราะเปลี่ยนตัวเองแล้วและรู้ว่าจากนี้ไปจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

ในช่วงท้าย คุณโจ ได้กล่าวด้วยว่า "วิกฤตชีวิตที่เกิดขึ้นช่วยลอกเปลือกของเราออกเหลือแต่แก่นของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งความพอเพียง เป็นกุญแจไปสู่สันติสุขทางการเงิน อย่างทุกวันนี้ก็มีความสุขกับการเขียนหนังสือเล่มใหม่ ๆ หลายเล่ม และที่กำลังจะจัดจำหน่าย คือ เรื่อง 'เด็กๆ ที่ร่ำรวยและมีความสุข' เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อ่านและนำไปสอนลูก ๆ เกี่ยวกับการเงินได้"

ปัจจุบัน คุณโจ ยังคงเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย พร้อมให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่านทางเฟซบุ๊ก 'Montaneemoney' ท่านใดสนใจก็สามารถติดตามกันได้ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/montaneemoney?mibextid=ZbWKwL

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

‘กูรูฟุตบอลไทย’ ชี้!! เส้นทางวงการฟุตบอลไทยยุคนี้ สดใส หลังโครงสร้างสมาคมใหม่ เหมือน รบ.แห่งชาติด้านฟุตบอล

จากผลการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นายกสมาคมคนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกของไทย ทำให้เกิดการจุดประกายให้กับวงการฟุตบอลไทยว่าจะกลับมาสู่ยุคเฟื่องฟูอีกหรือไม่? รายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES จึงได้คลุกวงในพูดคุยกับ คุณศิริชัย ยิ่งเจริญ ผู้จัดรายการ BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งอยู่ในแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน ถึงทิศทางและโอกาสของฟุตบอลไทยในปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 17 ก.พ.67โดยคุณศิริชัย กล่าวว่า…

แม้วงการฟุตบอลไทยจะเริ่มกลับมาเติบโต ถ้าเอาจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับวงการฟุตบอลทั่วโลกถือว่ายังอยู่ในช่วงไข่ด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาดูแลและขับเคลื่อน ภายหลังจากได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า มาดามแป้งมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการประสานงานในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้จัดการทีมชาติอยู่แล้ว และยังมีใจรักและทุ่มเท ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราได้รัฐบาลแห่งชาติด้านฟุตบอล ซึ่งคาดหวังว่าวงการฟุตบอลไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น 

เมื่อพูดถึงนักกีฬาดาวเด่นที่จะมาเป็นกำลังสำคัญจากทัวร์นาเมนต์การแข่งขันในไทยนั้น? คุณศิริชัย กล่าวว่า “ถ้าจะให้อธิบายถึงลีกฟุตบอลไทยอาชีพในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 5 ระดับด้วยกัน คือ Tier 1  Tier 2  และ Tier 3 และรองลงมาแบบสมัครเล่น ได้แก่ ‘ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก’ และ ‘ไทยแลนด์ เมเจอร์ลีก’ โดยมี BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งเป็นรายการที่จัดการแข่งขันอยู่ในกลุ่มไทยแลนด์ เซมิโปรลีก เป็นแม่เหล็กที่น่าสนใจ เพราะรายการนี้สามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่เลื่อนชั้นสู่ระดับอาชีพได้มากมาย เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนระดับมัธยมปลาย เพื่อเฟ้นหานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ เข้าสู่ทีมโดยมีเป้าหมายพัฒนาไปสู่นักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องมีใจรัก มีความพร้อมและทุ่มเท โดยเฉพาะสภาพร่างกาย และวินัยในการฝึกซ้อม”

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากนำเสนอเพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเกิดการพัฒนา? คุณศิริชัย กล่าวว่า “เราควรปูพื้นฐานใหม่ด้านกีฬาฟุตบอลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่โภชนาการ เทคนิคการเล่น วิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพร่างกาย ซึ่งควรเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่วัยเด็กหรือเยาวชน โดยที่ครอบครัวและผู้ปกครองก็จะมีส่วนสำคัญในด้านนี้ เช่น การส่งเสริมให้บุตรหลานอยากเป็นนักฟุตบอลด้วยใจรัก สนุกไปกับมัน ภายใต้ความพร้อมด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่าย”

อย่างไรก็ตาม คุณศิริชัย ก็ไม่ได้ตีกรอบให้ผู้ปกครองต้องผูกเด็กไว้กับกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ควรหาแรงบันดาลใจของบุตรหลานตัวเองให้ได้ว่าชอบกีฬาอะไร โดยการพาไปชมกีฬาหลาย ๆ ประเภทหรือทดลองเล่นกีฬาเหล่านั้นเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง เมื่อมีใจรักและมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม โอกาสประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นตาม 

“อย่างไรก็ตาม กีฬาฟุตบอล ก็ยังถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก สามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งมูลค่าของกีฬา มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือมูลค่าแฝงทางสังคมที่เกินกว่าตัวเงิน เช่น ความภาคภูมิใจของทีมกีฬา หรือตัวนักกีฬาเอง และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสมาคมฟุตบอลไทยยุคใหม่จะทำให้ภาพความสำเร็จเหล่านี้มาสู่เมืองไทยได้มากขึ้น” คุณศิริชัย ทิ้งท้าย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ กระตุ้นสูตรความยิ่งใหญ่กีฬาไทย อาจต้องใช้เงินภาคเอกชน ‘อุดหนุน-พาสู่ฝัน’

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กีฬาไทย ต้องเป็นมืออาชีพและใช้เงินภาคเอกชน' เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปี 2567 จะเป็นปีที่วงการกีฬาโลกและกีฬาไทยมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2024 ที่กรุงปารีส (Paris Olympics) ฟุตบอลยูโร 2024 การแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 58 ที่ Las Vegas อาทิตย์นี้การเข้ามามีบทบทบาทในเวทีกีฬาโลกของซาอุดีอาระเบีย

ในขณะที่วงการฟุตบอลของไทยก็ได้นายกสมาคมคนใหม่ (มาดามแป้ง) มารับภาระในการพัฒนากีฬาฟุตบอล ซึ่งกำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์

น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่วงการกีฬาไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศอื่น วันนี้ต้องยอมรับว่ากีฬาไทยไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรการเงิน โดยเฉพาะเงินจากภาครัฐอีกต่อไป เมื่อปี 2558 รัฐบาลได้จัดสรรเงินภาษีบาป (ภาษีสุราและยาสูบ) ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องมาเข้ากองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ทำให้มีเงินเพียงพอที่จะสามารถจัดเงินอุดหนุนให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ อย่างพอเพียง

แต่จนแล้วจนรอดวงการกีฬาไทยก็ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ผลงานนักกีฬาไทยในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาคยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่ารัฐบาลจะใส่เงินลงไปค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแต่ผลงานก็ยังสู้ไม่ได้แม้แต่ประเทศเวียดนาม ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก กีฬาไทยยังพึ่งงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก และแม้ว่าจะได้รับเงินจากภาษีอากรมาค่อนข้างมาก แต่การใช้เงินขาดประสิทธิภาพ เงินงบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทางไปต่างประเทศของนักกีฬาและบุคคลติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก การใช้เงินของสมาคมกีฬาขาดความโปร่งใสและไม่มีการตรวจสอบ กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติไม่มีประสิทธิภาพในการอนุมัติและบริหารการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งสะท้อนจากการร้องเรียนของสมาคมกีฬาเป็นระยะ ๆ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กีฬากลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้มหาศาล และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐและเป็นภาระต่อผู้เสียภาษี กีฬาอาชีพหลายชนิด อาทิเช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ เป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าธุรกิจบันเทิงอื่น และหลังจากซาอุดีอาระเบียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เงินจากปิโตรเลียมได้มีส่วนกระตุ้นให้ทีม/สโมสร และผู้เล่นมีรายได้และค่าตอบแทนสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งในรูปของค่าสิทธิประโยชน์ (Sponsorships) ค่าสิทธิในการถ่ายทอด (Broadcasting Rights) และค่าตัวนักกีฬา

สมาคมฟุตบอลไทยในอดีตประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมพัฒนาฟุตบอลไทย คงจะไม่ยุติธรรมนักถ้าจะไม่เอ่ยชื่อคุณวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคม และบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ฟุตบอลไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่จากในอดีตที่เป็นแค่ทีมในสังกัดองค์กรมาเป็นสโมสรที่เป็นนิติบุคคล ไทยลีกได้พัฒนาเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชียไม่แพ้ J League ของญี่ปุ่น รายได้จากการประมูลสิทธิการถ่ายทอดเกมส์ฟุตบอลของไทยลีกมีจำนวนสูงถึงปีละกว่าพันล้านบาท การท่องเที่ยวเชิงกีฬาสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการเดินทางติดตามเชียร์ของแฟนคลับ

แทบไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จเหล่านี้ได้หายไปจากวงการกีฬาไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามานี้ วันนี้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อสร้างกีฬาไทยให้กลับมายิ่งใหญ่ และโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ภายใต้นายกสมาคมคนใหม่ ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำหลักการและบทเรียนที่ในอดีตกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อให้ความฝันบอลไทยได้ไปบอลโลก กลายเป็นความจริงเสียที

‘อ.พงษ์ภาณุ’ สรุปสาระสำคัญงาน CES 2024 แนะ ‘เศรษฐกิจไทย’ ควรเร่งจับ AI มาประยุกต์

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'AI กับการพัฒนาเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 4 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เทคโนโลยี AI กำลังมาแรงและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกสาขาที่มีการประยุกต์ใช้ โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI หากรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวและเตรียมพร้อมในด้านบุคลากร ฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Consumer Electronics Show (CES) ที่ Las Vegas รัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา CES เป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดเป็นประจำทุกปีที่ Las Vegas ปีนี้ CES มีความยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมีผู้แสดงสินค้ากว่า 4,000 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และกิจการ Start Up ที่คิดค้นนวัตกรรมที่เตรียมเข้าสู่ตลาดและมีผู้เข้าชมกว่า 130,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 วันของการแสดงสินค้า 

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ผู้แสดงสินค้าในนามของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และอิสราเอล ซึ่งนำนวัตกรรมไปแสดงอย่างน่าภาคภูมิใจ น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏนวัตกรรมจากประเทศไทยแม้แต่พื้นที่เดียว ผลลัพธ์ที่ได้อยู่ในรูปของการสั่งซื้อสินค้า การร่วมลงทุน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในระดับ B2C และ B2B

ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน CES ในปีนี้ หนีไม่พ้นสินค้าและบริการที่เป็น Applications ของ AI ในสาขาต่าง ๆ ในด้านสุขภาพและสาธารณสุข เครื่องสวมใส่ (Wearables) เช่น แหวนและกำไร ที่ทำหน้าที่ตรวจติดตามและวินิจฉัยสุขภาพของผู้สวมใส่แบบ real time ทั้งในเรื่องไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนสภาพจิตใจและประสาท

ในเรื่อง Smart Home ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น AI applications จำนวนมากมาแสดง ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการการใช้พลังงานในบ้านเพื่อลดโหลดและสร้างสมดุลการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV การใช้แสงสว่าง การใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

ในสาขาการคมนาคมขนส่ง Taxi Drones และรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Autonomous Taxis) เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีการนำมาใช้จริงในหลายเมืองทั่วโลก เครื่องมือติดตั้งรถยนต์ EV เพื่อใช้ควบคุมและพยากรณ์วิสัย (Range) การขับขี่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่อย่างแม่นยำ ที่ได้คำนึงถึงสภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ และสภาพถนนหนทาง เทคโนโลยี AI ยังนำมาใช้ในระบบบริหารจัดการการจราจรที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำอีกด้วย

ยังมีอีกหลายสาขาที่ AI Applications ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการ การประมาณการ และการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำ สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตร, การศึกษา, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แน่นอน นวัตกรรมเทคโนโลยีย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Tech Giants) ของสหรัฐฯ สามารถตักตวงผลประโยชน์ทางการเงินได้เป็นอันดับต้นๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ก็อยู่ในวิสัยที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้เช่นกัน…

- ประการแรกเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลายสาขา 

- ประการที่สอง AI สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่อิงกับ Smart Phone เป็นหลัก ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ไม่แพ้ใคร และไทยมีสัดส่วน Smart Phones ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก 

- และประการสุดท้าย ไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยี AI จะเข้ามาเสริมทักษะแรงงานไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความเพียงพอมากขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของการนำ AI มาใช้ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของภาครัฐ เราได้ยินนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันให้เกิด Big Data ในทุกภาคส่วน มาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรมเสียที ถึงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว ก่อนที่ไทยจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย

‘Anya Meditec’ ชี้!! คนไทยรู้ภัยนอนกรนน้อย แนะ!! ผู้มีภาวะเสี่ยง ‘อ้วน-ภูมิแพ้’ ควรทำ Sleep Test

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 3 ก.พ. 67 ได้พูดคุยกับ นายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรวิริยะ แพทย์ด้านหู คอ จมูก และเวชศาสตร์การนอนหลับ Anya Meditec ถึงปัญหาการนอนกรนของคนไทย ระบุว่า…

คนไทยมีปัญหาการนอนกรนเยอะมาก ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการนอนถือเป็น 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันของเรากันเลยทีเดียว แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ มันเป็นปัญหาใกล้ตัวที่หลายคนกลับมองข้ามไป

แน่นอนว่า โดยปกติปัญหาด้านการนอนของมนุษย์มักจะมีอยู่หลายแบบ ทั้งการนอนไม่หลับ นอนกรน นอนละเมอ หรือแม้แต่นอนกัดฟัน เป็นต้น แต่กับปัญหาการกรน เป็นอะไรที่จะส่งผลกระทบไปสู่หลายโรค

ทั้งนี้ สาเหตุของการกรน เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น โดยในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบน ได้แก่ ลิ้นไก่, เพดานอ่อน, คอหอย, โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง จะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อลมเคลื่อนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวจึงเกิดเสียงดังขึ้น กลายเป็นเสียงกรนเจ้าปัญหาในที่สุด โดยปัญหานี้ ส่วนใหญ่มักจะเจอกับผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ และคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ 

คำถาม คือ เมื่อไรที่เราต้องรีบรักษา? ก็ต้องบอกว่า ถ้าสังเกตได้ว่ามีอาการกรนเสียงดังมาก จนแทบไม่อาจนอนได้ตลอดทั้งคืน หรือร่วมกับอาการกรนที่ทำให้เกิดอาการหยุดหายใจ หรือมีอาการง่วงระหว่างวัน นี่บ่งบอกถึงคุณภาพในการนอนที่ย่ำแย่จากการกรนแล้ว และต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที 

เพราะอะไร? เพราะการกรนเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดหัวใจตีบง่าย, เส้นเลือดสมองตีบง่าย, หัวใจวาย และสมองเสื่อมได้ไวขึ้นจากการหลับที่ไม่ดี

ปัจจุบันมีการรักษาที่แก้ปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องทำการตรวจ Sleep Test ก่อน เพื่อตรวจดูคลื่นสมองว่าหลับลึกตื้นแค่ไหน เป็นการตรวจการนอนหลับ เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปวินิจฉัย เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับต่อไป 

โดยในขณะที่ทำ Sleep test นักเทคนิคการแพทย์จะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น…

- การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
- การตรวจวัดการทำงานกล้ามเนื้อตา การกัดฟัน และกระตุกของขาขณะหลับ
- ท่านอนและเสียงกรน
- การตรวจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

หลังจากนั้น จะนำข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกได้ พร้อมกับผลการตรวจร่างกาย มาวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากทำ Sleep Test เรียบร้อย ก็จะเข้าสู่วิธีรักษา ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ใช้เครื่องอัดอากาศเป่าลมเบาๆ เพื่อพยุงโครงสร้างในช่องคอให้โล่งขึ้น หรือการผ่าตัดแก้ไข หรือเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ขณะที่การลดน้ำหนักก็ช่วยได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดอาการภูมิแพ้ ลดจมูกบวม จมูกตัน ซึ่งการล้างจมูกส่งผลดีต่อการนอนกรนเช่นกันด้วย

อย่าปล่อยปัญหาให้เนิ่นนาน ทุกท่านสามารถมาปรึกษาและตรวจ Sleep Test ที่ Anya Meditec ได้ง่ายๆ ซึ่งผลการวัดมีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลชั้นนำ สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/AnyaMeditec


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top