Tuesday, 16 July 2024
จีน

‘นักวิจัย’ ชี้!! อาจเห็นความร่วมมือ ‘จีน-ญี่ปุ่น’ ผนึกกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

📌(21 มิ.ย. 66) ทังจิ้น เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสประจำธนาคารมิซูโฮของญี่ปุ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าจีนและญี่ปุ่นมีโอกาสร่วมมือกันในกระบวนการพัฒนาและขยับขยายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกมาก

ทังระบุว่าอัตราการเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในจีนได้ผ่านจุดเปลี่ยนแล้ว คำถามถัดไปคือยานยนต์ไฟฟ้าจะแข่งขันกับยานยนต์เชื้อเพลิงอย่างไร ความเร็วของใช้พลังงานไฟฟ้าจะเร็วเท่าไร และจะใช้เวลากี่ปีจึงจะเกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนั้นทังมองว่าการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของจีนมีทิศทางแข็งแกร่ง อาจมีการพัฒนาและปรับปรุงผ่านการแข่งขันจนกลายเป็นกระแสหลัก รวมถึงมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นผู้นำการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของโลกในอนาคต

ด้านผู้จัดจำหน่ายของญี่ปุ่นได้สั่งสมประสบการณ์มากมายในด้านวัสดุ อุปกรณ์ และส่วนประกอบผ่านการวิจัยขั้นพื้นฐานในระยะยาว โดยจีนและญี่ปุ่นต่างส่งเสริมกันในด้านเหล่านี้อย่างชัดเจน และมีโอกาสร่วมมือกันอีกมาก

“บริษัทยานยนต์ของจีนต้องการห่วงโซ่อุตสาหกรรมชั้นยอด เพื่อสร้างแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าชั้นยอดและเป็นที่หนึ่งในการแข่งขัน ขณะจีนและญี่ปุ่นสามารถคว้าชัยชนะร่วมกันในหลายด้าน” ทังกล่าว 

นอกจากนี้ทังยังแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนและญี่ปุ่นสามารถเรียนรู้จากกันและกันผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยี เงินทุน และอื่น ๆ ขณะยานยนต์ไฟฟ้าของจีนก้าวสู่ระดับโลก

ทังเสริมว่ากำลังการบริโภคยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดยานยนต์ทั่วโลกในอนาคต โดยคาดว่าตลาดจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้ และความต้องการของผู้บริโภคบางส่วนในประเทศพัฒนาแล้วจะกลับมา แต่ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการฟื้นตัวสู่ระดับในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่

จีนสั่งชาวแบงก์ งดใช้ของแบรนด์เนม ทลายนิสัยอวดไลฟ์สไตล์หรูหราแต่เนิ่นๆ

📌ถึงคิวชาวแบงก์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ แล้ว ที่จะต้องโดนใบเหลืองจากรัฐบาลจีน ในการสอดส่อง ไลฟ์สไตล์หรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อสังคมจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจการเงินของจีน นับเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีมูลค่าสูงกว่า 57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจจีน จึงไม่แปลกใจว่า กลุ่มคนทำงาน หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจการเงิน จะเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างตอบแทนสูงมากในจีน 

และด้วยรายได้ที่ดีกว่าอาชีพอื่น ๆ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูมั่งคั่ง และมั่นคง จึงนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ดูหรูหรา การเลือกใช้ของราคาแพง เพื่อให้ดูดีมีระดับ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของชาวจีนส่วนใหญ่ที่ยังต้องทำงานหนัก รายได้เดือนชนเดือน หรือยังหางานไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนทำงานในแวดวงการเงิน ถูกมองเป็นชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมจีน

ด้วยเหตุนี้ องค์กรเฝ้าระวังการฉ้อโกง ของรัฐบาลจีนได้ออกมาประกาศว่าจะขจัดแนวคิดของ 'ชนชั้นสูงทางการเงิน' ตามค่านิยมตามแบบตะวันตก ที่มุ่งแสวงหา 'รสนิยมระดับไฮเอนด์' มากเกินไป

จึงมีคำสั่งภายในองค์กรการเงิน และธนาคารตั้งแต่ขนาดใหญ่ จนถึงขนาดกลาง ไม่ให้บุคคลากรในทุกระดับ อวดโชว์ไลฟ์สไตล์โก้หรูจนเกินงาม ด้วยการโพสต์ภาพมื้ออาหารหรู ๆ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงของตนลงในโซเชียล เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม 

พนักงานธนาคารขนาดกลางแห่งหนึ่งของจีนเล่าว่า มีคำสั่งจากหน่วยงานให้เจ้าหน้าที่ทุกคนงดใช้กระเป๋า หรือสิ่งของแบรนด์เนมในที่ทำงาน รวมถึงการเข้าพักในโรงแรม 5 ดาว เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างเมือง

นอกจากข้อห้ามการใช้ข้าวของหรูหราแล้ว เบี้ยเลี้ยงที่ไม่จำเป็น และโบนัสอาจต้องถูกตัดด้วย 

แหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่า ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง...

Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ China Construction Bank Corp (CCB) มีแผนที่จะลดเบี้ยเลี้ยงพิเศษสำหรับพนักงานภายในปีนี้ หลายสถาบันการเงินอาจต้องปรับลดโบนัสลงตั้งแต่ 30% - 50%

การปรับลดเบี้ยเลี้ยง โบนัส หรือการออกข้อบังคับให้คนทำงานในองค์กรการเงินใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ เป็นผลพวงจากนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ของรัฐบาลจีนที่เล็งเป้ามาที่ภาคธุรกิจการเงิน และมีการแต่งตั้งองค์กรเฝ้าระวังการฉ้อฉลในภาคการเงินโดยเฉพาะในยุคของสี จิ้นผิง เทอม 3 เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลจีนทั้งแนวคิด และทางการเมือง

แต่อีกนัยยะหนึ่ง ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ จำเป็นต้องตักเตือนพนักงานของตนเรื่องการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย หรือการใช้สื่อโซเชียลโพสต์รูปอวดการใช้ชีวิตที่ทำให้หลายคนอิจฉา อาจทำเพื่อป้องกันไม่ให้สะดุดตาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลจีน ที่กำลังตรวจสอบหนักอยู่ในขณะนี้ 

ดังเช่นกรณีการหายตัวไปของนาย เป่า ฟาน นักลงทุน และ ผู้ก่อตั้งบริษัท China Renaissance เมื่อไม่นานมานี้ ที่ต่อมาทราบแต่เพียงว่า กำลังเก็บตัวเพื่อให้ความร่วมมือกับทีมสอบสวนคดีทุจริตของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีในธุรกิจการเงินจีนอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องหายหน้าไปจากสื่อ เมื่อต้องพัวพันกับคดีทุจริต หรือการตรวจสอบจากรัฐบาลจีน 

อาทิ กั่ว กวงฉาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Fosun International เสี่ยว เจี้ยนหัว นักลงทุนสัญชาติจีน - แคนาดา เจ้าของบริษัท Tomorrow Holding และเป็นที่รู้จักกว้างขวางของคนวงในรัฐบาลจีน แต่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง และ คอร์รัปชัน  รวมถึง แจ็ค หม่า เจ้าของธุรกิจ Alibaba  ที่ต้องหายหน้าจากสื่อจีนนานเกือบ 2 ปี ในช่วงที่จีนเริ่มตรวจสอบธุรกิจ Fin Tech 

ดังนั้นนโยบายการลดค่านิยมหรูหรา ฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนทำงานในองค์กรธนาคาร และ สถาบันการเงิน อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการลดช่องว่างทางสังคมหรือปัญหาการว่างงานในจีนแต่อย่างใด แต่ช่วยในด้านการลดกระแสสังคมที่มองว่าเป็นกลุ่มทุนชั้นสูง ที่มักถูกครหาว่าสร้างแนวคิดในการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ หรือไม่ก็เป็นการป้องกันตัวไม่ให้สะดุดตาจากองค์กรตรวจสอบทุจริตของภาครัฐ ที่มักจบลงด้วยคดีความที่ยุ่งยากตามมานั่นเอง

‘จีน’ มีสถานีฐาน 5G ทะลุ!! 2.73 ล้านแห่งแล้ว พร้อมเร่งสร้างขุมเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

📌 เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนมีสถานีฐาน 5G เพิ่มขึ้นเป็น 2.73 ล้านแห่ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก

สำหรับงานแถลงข่าวของการประชุมเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Economy Conference) ปี 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ระบุว่าจีนกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี 5G โดยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 5G จำนวน 634 ล้านราย

ขณะเดียวกันภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน จำนวน 45 ภาคส่วน ได้ทำการบูรณาการอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งส่งเสริมขนาดอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงเกิน 1.2 ล้านล้านหยวน (ราว 5.82 ล้านล้านบาท) 

สำหรับทางด้านรายได้ของอุตสาหกรรมการผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของจีนในปี 2022 อยู่ที่ 15.4 ล้านล้านหยวน (ราว 74.64 ล้านล้านบาท) ขณะที่รายได้ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อยู่ที่ 10.8 ล้านล้านหยวน (ราว 52.35 ล้านล้านบาท) และรายได้ของอุตสาหกรรมคลังข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.57 ล้านล้านหยวน (ราว 7.61 ล้านล้านบาท) ซึ่งวางรากฐานมั่นคงสำหรับการบูรณาการสารสนเทศและอุตสาหกรรมในจีน

‘กรมการค้าฯ’ ยกทัพเอกชน บุก ‘ฮ่องกง-ปักกิ่ง’ ขยายตลาดส่งออก ‘ข้าวไทย-มันสำปะหลัง’

📌 (23 มิ.ย. 66) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566 และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11-15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยได้พบปะหารือกับกรมการค้าและอุตสาหกรรมของฮ่องกง (Trade and Industry Department : TID) ในประเด็น ๆ อาทิ การควบคุมคลังสินค้า ถิ่นกำเนิดสินค้า กฎระเบียบทางการค้า ใบอนุญาตส่งออก เป็นต้น ตลอดจนการทำและการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

พร้อมกันนี้ กรมนำคณะนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์) และนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ (นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์) และผู้ส่งออกข้าวไทยรวม 16 ราย เข้าพบหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงและบริษัทผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงรายสำคัญ ซึ่งบรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยความเชื่อมั่นและสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ค้ากันมาอย่างยาวนาน โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าข้าวระหว่างกัน

ปัจจุบันฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง ประมาณ 170,000-188,000 ตัน โดยประมาณร้อยละ 70-80 เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยฮ่องกงอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของตลาดข้าวหอมมะลิไทยมาโดยตลอด และข้าวไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดข้าวฮ่องกงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของตลาดข้าวฮ่องกง

สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยส่งออกแล้วปริมาณ 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.74 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.64 และมีมูลค่าการส่งออก 64,322 ล้านบาท หรือ 1,896 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.61 และ 30.58 ตามลำดับ

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการนำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกรมได้เข้าพบหารือกับองค์การบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน (State Administration for Market Regulation: SAMR)

นอกจากนี้ กรมยังได้หารือกับผู้นำเข้าและผู้ประกอบการสินค้าข้าวในจีน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้รับทราบถึงคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยด้วย รวมถึงนำผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยมีนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ และนายกิจจา เวศย์ไกรศรี รองเลขาธิการของสมาคมฯ พบหารือกับหน่วยงาน COFCO Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนและเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและการนำเข้าธัญพืชของจีน โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์การค้าข้าวระหว่างกัน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 600,000-700,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกำหนดจะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าข้าวกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของคู่ค้าที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ในเดือนกรกฎาคม และมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในครั้งนี้ ยังได้เข้าพบหารือกับผู้นำเข้ามันสำปะหลังในจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการสินค้ามันสำปะหลัง ตลอดจนการแปรรูปไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อเป็นการรักษาและขยายตลาดสินค้ามันสำปะหลังในตลาดส่งออกจีน

โอกาสนี้ กรมยังเดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือเทียนจิน (Tianjin Port) ซึ่งเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่เชื่อมโยงไปยังเส้นทางขนส่งที่หลากหลายรวมทั้งมีเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทยโดยตรง ลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล สามารถตอบสนองการเชื่อมโยงตลาดภาคเหนือของจีนที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยได้เป็นอย่างดี นับเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะพิจารณาเลือกใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดภาคเหนือของจีนต่อไป

ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไทย โดยไทยส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไปจีนประมาณ 8 ล้านตัน/ปี ได้แก่ มันเส้น/มันอัดเม็ด ร้อยละ 69 แป้งมันสำปะหลัง ร้อยละ 30 และ สาคู/กากมัน ร้อยละ 1

NER แย้ม Q2 โตเด่น!! หลังจีนป้อนดีลใหญ่ ดันดีมานด์ยางทะลัก ล่าสุดออเดอร์ยาวถึง Q4

🔴 (26 มิ.ย. 66) บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม โดย นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ผลงาน Q2/66 คาดจะเติบโตดี เมื่อเทียบกับ Q1/66 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จาก ‘ราคายางปรับตัวดีขึ้น’ และคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น ภายหลังจากเปิดประเทศ ล่าสุดมีสินค้าที่เตรียมส่งมอบให้กับลูกค้าไปถึง Q4/66 แล้ว

🟢 สำหรับผลงานช่วง Q3/66 และ Q4/66 จะเติบโตต่อเนื่อง เพราะบริษัทเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ หลายราย ทั้งในจีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย รวมถึงยังได้รับอานิสงส์จากผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ย้ายฐานจากจีนมายังไทย ทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นทั้งปี 66 มั่นใจยอดขายจะเติบโตเป็น 500,000 ตัน ตามเป้าหมายที่วางไว้จากปี 65 อยู่ที่ 440,000 ตัน

⚪ นอกจากนี้ การลงทุนก่อสร้าง ‘โรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3’ กำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จและเริ่มรับรู้รายได้ในปี 67 คาดจะสนับสนุนให้มีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 688,400 ตันต่อปี นอกจากนี้บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะลดต้นทุนผลิตในการดำเนินงาน เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economic of Scale) ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ภายในโรงงานได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงจะมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ภายในโรงงานแห่งที่ 3 เพื่อลดต้นทุนพลังงานเพิ่มเติมด้วย

‘จีน’ จัดส่งพัสดุครึ่งปีแรกทะลุ 6 หมื่นล้านชิ้น ทุบสถิติทำยอดเร็วกว่าปี 2019 ถึง 172 วัน

📌 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การไปรษณีย์แห่งประเทศจีน รายงานปริมาณการจัดส่งพัสดุในปีนี้สูงเกิน 6 หมื่นล้านชิ้นแล้ว เมื่อนับถึงวันที่ 24 มิ.ย. 66 ซึ่งสะท้อนความมีชีวิตชีวาของเศรษฐกิจจีน

รายงานระบุว่า ปริมาณการจัดส่งพัสดุของจีนสูงเกิน 6 หมื่นล้านชิ้น เร็วกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถึง 172 วัน และเร็วกว่าปี 2022 ราว 34 วัน

ปริมาณการจัดส่งพัสดุด่วนพุ่งสูงด้วยอานิสงส์กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจช่วงกลางปีจากบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเดือนมิถุนายน โดยปริมาณการจัดส่งพัสดุด่วนระหว่างวันที่ 1-18 มิ.ย. เฉลี่ยสูงกว่า 400 ล้านชิ้นต่อวัน

ขณะที่กลุ่มบริษัทจัดส่งพัสดุปรับปรุงกระบวนการขนย้ายและจัดส่ง ขยายการใช้ระบบคัดแยกอัตโนมัติ คลังสินค้าแบบไม่มีคนควบคุม ยานยนต์ไร้คนขับ โดรน ตลอดจนอุปกรณ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจตั้งแต่ต้นปีนี้

นอกจากนั้นบริษัทต่าง ๆ ยังดำเนินการปรับปรุงแผนผังศูนย์กลางพัสดุในต่างประเทศ เครือข่ายภาคพื้นดิน และคลังสินค้าในต่างประเทศ เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคข้ามพรมแดนได้ดียิ่งขึ้น

‘จีน’ คิกออฟ ‘โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด’ 10,000 ไร่ ลดปล่อยคาร์บอนฯ มากกว่า 1.6 ล้านตันต่อปี

📌 (26 มิ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถานีไฟฟ้าพลังน้ำ-พลังแสงอาทิตย์แบบผสมผสานขนาดใหญ่ในอำเภอหย่าเจียง แคว้นปกครองตนเองกานจือ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เริ่มเปิดดำเนินการแล้วเมื่อวันอาทิตย์ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับสถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เคอลา ซึ่งเป็นโครงการระยะแรกของโครงการพลังน้ำ-พลังแสงอาทิตย์แบบผสมผสานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเหลี่ยงเหอโข่ว (Lianghekou) เป็นสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ-พลังแสงอาทิตย์แบบผสมผสานขนาดใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่บนที่สูงสุดในโลก

รายงานระบุว่าสถานีแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,667 เฮกตาร์ (ราว 10,000 ไร่) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1 ล้านกิโลวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 2 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1.6 ล้านตันต่อปี

อนึ่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำเหลี่ยงเหอโข่ว มีกำลังการผลิตติดตั้งตามการออกแบบรวม 3 ล้านกิโลวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำหย่าหลงในแคว้นปกครองตนเองกานจือ โดยแอ่งแม่น้ำหย่าหลงเป็นหนึ่งในฐานพลังงานสะอาดของจีน

‘จีน’ ทดลอง ‘เครื่องตอกเสาเข็มใต้น้ำลึก’ ที่พัฒนาเองรุ่นแรก ชี้!! ใช้พลังงานต่ำ-ก่อมลพิษน้อย ลงน้ำได้ถึง 2,500 เมตร

🔴 เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บริษัท ออฟชอร์ ออยล์ เอ็นจิเนียริง จำกัด ของจีน เปิดเผยการทดลองใช้งานเครื่องตอกเสาเข็มใต้น้ำลึกพิเศษ ระดับ 2,500 เมตร ซึ่งจีนพัฒนาขึ้นเองเป็นรุ่นแรก เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา

🟢 รายงานระบุว่าเครื่องตอกเสาเข็มที่ทดสอบครั้งนี้มีน้ำหนักประมาณ 165 ตัน และเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร สามารถตอก ‘เสาเข็มเหล็กกล้า’ ความยาว 100 เมตร ลงก้นทะเลภายในเวลาราว 3 ชั่วโมง เมื่อทำความเร็วสูงสุด

⚪ อนึ่ง เครื่องตอกเสาเข็มถือเป็นอุปกรณ์สำคัญของการวาง ‘รากฐาน’ ที่ก้นทะเลของแท่นต่าง ๆ เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง ซึ่งเครื่องตอกเสาเข็มรุ่นใหม่นี้มีข้อได้เปรียบด้านใช้พลังงานต่ำ ก่อมลพิษน้อย และปรับตัวได้ดี

‘อาร์เจนตินา’ ใช้ ‘เงินหยวน’ จ่ายหนี้ IMF สะท้อน!! เงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง

(3 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงาน อาร์เจนตินาเลือกใช้ ‘หยวน’ เป็นครั้งแรก ในการชำระหนี้บางส่วนแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันศุกร์ (30 มิ.ย.) กลายเป็นอีกหนึ่งชาติในหลาย ๆ ประเทศที่เพิ่มสัดส่วนของสกุลเงินจีนในเศรษฐกิจของตนเอง พร้อมกับลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ ความเคลื่อนไหวที่พวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันจะเร่งให้ ‘หยวน’ กลายเป็นสกุลเงินสากลเร็วยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้เห็น ในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตเลวร้ายจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อระดับสูงของสหรัฐฯ โดยเวลานี้มีบรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายชาติเพิ่มเติม ที่ปักหมุดหันเข้าหาเงินหยวนและละทิ้งดอลลาร์ เพื่อผละหนีความเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังคาดหมายด้วยว่ามันจะเร่งให้หยวนกลายเป็นสกุลเงินสากลมากยิ่งขึ้นและมีการใช้หยวนในตลาดระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว อาร์เจนตินาได้ชำระหนี้แก่ไอเอ็มเอฟด้วยสกุลเงินหยวน ในมูลค่าเทียบเท่ากับ 1,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,700 ล้านดอลลาร์ จะจ่ายในรูปแบบ Special Drawing Rights (สิทธิถอนเงินพิเศษ) ซึ่งคือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เปรียบเสมือนเงินสกุลหนึ่ง ที่สร้างขึ้นโดยไอเอ็มเอฟ

ธนาคารกลางอาร์เจนตินาแถลงก่อนหน้านี้ ว่าจะอนุญาตให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ใช้เงินหยวนของจีนในฐานะสกุลเงินสำหรับเงินฝากและเงินออมส่วนบุคคลหรือนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เงินหยวนมากยิ่งขึ้น โดยที่สถาบันการเงินทั้งหลายจะสามารถเปิดได้ทั้งสมุดเช็ค หรือบัญชีเงินฝากในรูปแบบของสกุลเงินจีน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการเดินทางเยือนจีนของ เซอร์จิโอ มาสซา รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาร์เจนตินา พร้อมด้วยคณะผู้แทนคนอื่น ๆ ของรัฐบาล เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการลงนามแผนความร่วมมือส่งเสริมข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่เสนอโดยจีน โดยที่ความร่วมมือด้านการเงินและประเด็นการคลังคือแก่นกลางของแผนดังกล่าว

หลิว หยิง นักวิจัยจากสถาบันศึกษาการเงินฉงหยาง แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในจีน ให้สัมภาษณ์กับโกลบอลไทม์สในวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) ว่า "อาร์เจนตินาเลือกใช้หยวนมากขึ้นในการต่อสู้กับวิกฤตหนี้ และหมดหวังต่อสถานะของดอลลาร์สหรัฐในประเทศ ซึ่งมันจะแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ที่เผชิญกับปัญหาคล้ายกันได้เห็น"

บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั้งหลายกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงการเสื่อมค่าของสกุลเงิน กระแสทุนและวิกฤตหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีต้นตอจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

"การดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ คือปัจจัยที่ก่อความกังวลอย่างยิ่ง เพราะว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของปฏิกิริยาคลื่นความช็อก ซึ่งสามารถก่อผลกระทบที่อันตรายโดยเฉพาะกับระบบการเงินและเศรษฐกิจในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา" ธนาคารโลกระบุในเอกสารที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างเสถียรของหยวน เป็นปัจจัยให้สกุลเงินจีนเป็นที่ต้องการ ในแง่ของคุณสมบัติหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในฐานะสกุลเงินสากล "การตัดสินใจของอาร์เจนตินาในการใช้เงินหยวน คืออีกก้าวย่างของการลดพึ่งดอลลาร์"

ขณะที่มากมายหลายชาติกำลังหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากสกุลเงินสหรัฐฯ เพื่อลดพึ่งพิงดอลลาร์ การก้าวมาเป็นสกุลเงินสากลของหยวนได้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ต้นปี โดยล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ปากีสถานได้จ่ายเงินด้วยสกุลเงินหยวนเป็นครั้งแรกในการชำระหนี้ในข้อตกลงนำเข้าน้ำมันกับรัสเซีย

ในรัสเซีย หยวนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 70% ของการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างรัสเซียกับจีน เป็นการค้าขายด้วยสกุลเงินรูเบิลและหยวน และมีมากมายหลายประเทศกำลังเรียกร้องให้ดำเนินการทำธุรกรรมทางการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของตนเอง
 


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top