Tuesday, 16 July 2024
แลนด์บริดจ์

เชื่อม ‘ขนส่ง-ลงทุน’ จากซีกโลกถึงซีกโลกผ่านไทยแลนด์ โปรเจกต์เปลี่ยนไทยให้เนื้อหอมที่ ‘จีน-สหรัฐฯ’ จ้อง!!



ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่กับโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโปรเจกต์ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าในโครงการนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสมหาศาลของไทย หากทำได้สำเร็จ โดยรายการหนุ่ยทอล์ก ดำเนินการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรไอทีและผู้ผลิตคอนเทนต์ชาวไทย ซึ่งได้พูดคุยกับแขกรับเชิญอย่างคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI / นักเขียน และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นั้น ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสรุปคร่าวๆ แล้ว ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในโลกของกลุ่มมหาอำนาจ ตั้งแต่เรื่องของพลังงานที่แย่งชิงกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาสู่การแย่งชิง ‘แร่หายาก’ (Rare Earth) ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่เชิงภูมิศาสตร์  และนั่นก็ทำให้การมองหาพิกัดในการได้มาและถ่ายเทไปซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ที่ตนมีไปสู่ประเทศอื่นๆ จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง

โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกกัน โดยทั้ง 2 ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมในอาเซียนจะมี ‘ช่องแคบมะละกา’ ที่เป็นพิกัดในการขนส่งสินค้ามาลงประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่แร่หายาก 

แต่หากมีการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์นี้ รับรองได้ว่า ‘ไทย’ จะได้รับโอกาสใหม่ๆ อย่างมหาศาล

แน่นอนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่จะใช้เป็นทางลัดจาก ตะวันตก / ตะวันออกกลาง ไปเอเชียหรือไปสู่จีนได้ใกล้กว่ามะละกา แล้วก็สามารถแก้ปัญหาการแออัดของช่องทางคลองสุเอช รวมถึงช่องทางระหว่างแดนต่างๆ จากยุโรปไปถึงตะวันออกกลางและเอเชียภายใต้กรณีพิพาทจากสงคราม 

การเคลื่อนไหวตามข่าวที่เราได้เห็นกันชัดเจนแล้ว คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มาคุยเจรจากับไทย ในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าสิงคโปร์ รวมถึงการลงทุนในโครงการนี้ที่จะตามมาอีกมาก คือสัญญาณว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศไทย แต่เป็นโครงการที่โลกต้องใส่ใจ ภายใต้คำตอบที่ง่ายดายว่า โครงการนี้ขนส่งใกล้กว่าสิงคโปร์ และมีการโอกาสในการต่อยอดด้านการลงทุน สาธารณูปโภค และการขนส่งระหว่างสองซีกอ่าวอย่างมโหฬาร

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้แลนด์บริดจ์เกิด คือ สร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างท่อน้ำมัน กระจายต่อไปทางจีนได้เร็วเท่าไร โอกาสก็ยิ่งชัดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ก็คงไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่โครงการนี้เดินหน้าได้ไม่ยาก เนื่องจากถ้าเราสร้างคลังน้ำมันใหญ่ตรงนี้ได้ การสร้างท่อน้ำมันจากตรงนี้ไปยังประเทศที่โฟกัส ก็จะไม่ยาวมาก

ทั้งสองท่านมองอีกว่า นี่คือความสำคัญของประเทศไทย ในขณะที่จีนกับอเมริกาเขาทะเลาะกัน เพราะพิกัดบริเวณแลนด์บริดจ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากอเมริกามาคุมตรงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ศูนย์กลางของโลกไปเลย นำเศรษฐกิจวิ่งไปอาเซียนได้ ไป EEC ได้ ไปจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วิ่งไปที่จีนข้างบนแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน หากมองประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ในย่านนี้ การมีแร่พลังงาน หรือแม้แต่แร่หายากใหม่ๆ จากประเทศจีน ก็จะไหลมาหาไทยได้ง่ายขึ้น เพราะตรงนี้ก็จะอยู่ไม่ไกลจากเรา อีกทั้งไทยเรามี FTA กับจีน ก็ขนแร่มามาทางนี้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำเชื่อมต่อได้เลย ซึ่งนี่ก็เหตุผลที่ทำไมรถไฟฟ้าจีนถึงได้มาเมืองไทย

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทําไมบรรดาค่ารถยนต์จีนอย่าง MG หรือแม้แต่ GWM ถึงเริ่มแห่มาไทย เพราะในอนาคตนอกจากที่ว่าไปข้างต้นแล้ว เขายังสามารถขนเอาแร่ลิเธียมจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาบริเวณนี้ได้อีกด้วย

ดังนั้น หมากเกมนี้ รัฐบาลลุงตู่ เหมือนจะวางไว้เพื่อรับโอกาสหลายมิติ แต่มิติที่ใกล้สุดก็คือการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโรงผลิตรถไฟฟ้าโดยธรรมชาติ และเราจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าสิงคโปร์ได้ในอนาคต หากเราทำพิกัดนี้สำเร็จ ถึงบอกว่าประเทศไทยเรามีความหวังมากเลยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะบอกเลยว่า อาจจะเจ๋งกว่า EEC เสียอีก 

ลุงตู่นี่แกก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย
 

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว  THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก 

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้ 

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน 

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง 

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา 

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU 

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...

‘รศ.ดร.สมพงษ์’ มอง ‘แลนด์บริดจ์’ อาจเป็นได้แค่ทางผ่าน หากมองข้ามการยกระดับเป็น ‘ศูนย์กลางการค้า’ ใต้แผนนี้

จากรายการ THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์พิเศษหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'แลนด์บริดจ์ หรือจะเป็นได้แค่ทางผ่าน?' เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.66 โดยจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ซึ่ง รศ.ดร.สมพงษ์ เป็นหนึ่งในทีมงานการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วยนั้น ได้เปิดเผยว่า...

การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่มีการศึกษามาแล้วอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โดยโครงการนี้จะมีการสร้างท่าเรือในฝั่งชุมพร และระนอง ประกอบไปด้วยการสร้างรถไฟและทางมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงกัน พร้อมกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ควบคู่ 

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีการคาดการณ์เรือที่จะมาใช้บริการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าของไทยเรามากที่สุด คือ การถ่ายลำ (Transshipment) 78% กลุ่มสินค้าไทย 18%  กลุ่มสินค้าจีน 4% 

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลตรงนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่ากลุ่มสายเรือที่ต้องถ่ายลำที่คาดหวังสูงถึง 78% นั้น จะมาใช้แลนด์บริดจ์จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนเส้นทางมาจากช่องแคบมะละกา และถ้าเรือขนาดใหญ่ไม่เทียบท่าขนถ่าย ท่าเรือที่ออกแบบไว้ก็จะไม่คุ้มค่าในการลงทุน 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยที่ได้ศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบเบื้องต้นและความเหมาะสมในการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งสองฝั่งทะเล อ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งมีด้วยกันหลักๆ 3 โครงการ คือ การขุดคลองไทย, แลนด์บริดจ์ และ การเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายในฝั่งพม่า โดยงานวิจัยได้ศึกษา 3 ทางเลือกพร้อมกัน 

“ทว่าจากการศึกษาทั้ง 3 โครงการผลการศึกษา สะท้อนถึงความไม่คุ้มค่า ทั้งในด้านในมิติเศรษฐกิจ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ยังมีมิติของความมั่นคง ซึ่งน่ากังวลอยู่ ขณะเดียวกันถ้ามองในแง่การสนับสนุน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) แน่นอนว่าเราก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพท่าเรือที่มีอยู่ได้ แต่ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องใด และมีความจำเป็นในการใช้ท่าเรือหรือไม่ หรือจะส่งเสริมในเชิงท่องเที่ยวสุขภาพ เน้นบริการด้านสุขภาพ ก็สามารถพัฒนาได้ในอนาคต”

เมื่อถามว่า แล้วโดยสรุปโครงการแลนด์บริดจ์จะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่? รศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า “ด้วยงบประมาณที่มากถึง 1 ล้านล้านบาท ถ้าเกิดไม่มีลูกค้าสายเดินเรือมาถ่ายลำตามคาดการณ์จริงๆ จะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องพิจารณา ซึ่งไทยเองก็ยังไม่เคยทำโครงการที่มีการลงทุนมากขนาดนี้ อีกอย่างถ้ามาดูประโยชน์จริงๆ แล้วเหมือนไทยได้เก็บเพียงค่าผ่านทางเท่านั้น อาจไม่คุ้มค่า โดยแบ่งเป็น การขนถ่ายสินค้าไทย 20% อีก 80% คือสินค้าผ่านทาง หมายความว่าเราจะได้เพียงค่าผ่านทาง กลับกันสิงคโปร์เองไม่ได้เก็บเพียงค่าผ่านทาง แต่เขามองตนเองเป็นศูนย์กลางการค้า ขณะที่ไทยไม่ได้มองเป็นศูนย์กลางการค้า เราจะเน้นแต่การผลิตเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไทยควรสร้างความสามารถทางการค้าเพิ่มขึ้นควบคู่ … แลนด์บริดจ์ จึงจะไม่เป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น”

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top