'พงษ์ภาณุ' หวั่น!! สังคมไทยผู้สูงวัยพุ่ง อัตราเกิดต่ำ ชี้!! เปิดทางแรงงานคุณภาพต่างชาติ ช่วย ศก.ไทย

📌(19 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า...

โลกกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่แก่เร็วมาก มีตัวเลข ว่าถ้าชาติใดมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ก็จะนับว่าประเทศนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันชาติไทยก็ได้เกินหลักเกณฑ์นั้นไปแล้ว อายุเฉลี่ยของคนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี นั่นก็หมายความว่าคนไทยมีอายุมากกว่า 40 ปีและน้อยกว่า 40 ปีในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน 

โดยในอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ย น้อยกว่าประเทศไทยยกเว้นสิงคโปร์ที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย สาเหตุตรงนี้ก็คือเด็กเกิดใหม่นั้นมีน้อยส่วนผู้สูงอายุนั้น ก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัฒนธรรมการมีลูกของคนไทยในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป 

ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ต่อผู้หญิงไทย 1 คนจะมีลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้หญิงไทย จะมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 คน ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งถ้าจะคงที่ของประชากรไทยไว้ผู้หญิง 1 คนจะต้องมีลูกประมาณ 2 คนนิด ๆ ถึงจะคงค่าเฉลี่ยของประชากรไทยไว้ได้เหมือนเดิม ค่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 

คนไทยมีอยู่ประมาณ 70 ล้านคนซึ่งวิเคราะห์ตัวเลขนี้แล้วก็บอกว่าคงจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ อันนี้ฟังแล้วก็น่าใจหาย ที่อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากว่าในปัจจุบันประชากรจากชนบทนั้นได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานกันอยู่ในเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเกษตรกรรมกันทำไร่ทำนากันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา คนเมืองที่อยู่ในบ้านในเมืองใหญ่ซึ่งบ้านจะเล็กกว่าบ้านตามชนบทการมี ลูก ก็เลยจะน้อยลงต่างกับคนชนบทที่จะมีลูกกันมาก

เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนที่จะมีลูกนั้นก็จะต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายค่าเลี้ยงดูค่าเล่าเรียนการศึกษา ค่าอาหารการกินค่าที่พักอาศัยซึ่งจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นการมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ และนโยบายจากทางภาครัฐนั้นก็ถือว่าสำคัญ อย่างถุงยางอนามัยถุงยางมีชัยนั้นก็ถือว่าได้ผลเกินคาด

เมื่อเราเป็น ผู้สูงวัยเกษียณอายุ ชีวิตก็จะมีอยู่ 3 ทางเลือก 1 ถอนเงินออมออกมาใช้ 2 พึ่งบำนาญจากทางราชการ 3 ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเรา สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมผู้สูงอายุ และในภาวะที่อัตราการเกิดลดลงก็คือ อัตรากำลังในภาคแรงงาน นั้นจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรประเทศ ซึ่งตรงนี้คือตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่ผลักดันทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ

หลาย ๆ ประเทศก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เพิ่มจำนวนผู้อพยพเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะเข้ามาเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไปโดยปริยาย อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะดึงดูดประชากรใหม่เข้ามาในประเทศปีละเป็นแสนเป็นล้านคน ในประเทศไทยก็ได้เปิดให้แรงงานเข้ามาในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการรับผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่า มีความแตกต่างกันมาก เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเปิดรับผู้อพยพที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ามาคิดค้น นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ อย่างเช่นสตีฟ จ๊อบ ก็มีพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศจอร์แดน หรือในปัจจุบัน CEO ของ Microsoft หรือ CEO ของ Google ก็เป็นคนแขก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยผู้อพยพที่เข้ามาส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ เพราะห่วงว่าคนต่างด้าวจะเข้ามาแข่งขันกับคนไทย จึงเอาเฉพาะแรงงานระดับรากหญ้าระดับที่ติดดินเข้ามา ซึ่งความคิดตรงนี้อาจจะต้องเปลี่ยน