Friday, 5 July 2024
Info

ธุรกิจแบบเดียวกัน ที่ชอบเปิดร้านใกล้เคียงกัน

🔍เคยสงสัยกันมั้ย ว่าทำไมร้านค้าที่ขายของคล้าย ๆ กัน ถึงชอบเปิดร้านใกล้กัน ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ทั้งนี้ หากมองในมิติเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี ‘Hotelling's law’ 

แต่ถ้าจะมองในมิติที่ไม่ซับซ้อน อาจกล่าวได้ว่า การที่ธุรกิจประเภทเดียวกัน เปิดร้านอยู่ใกล้กัน ในบางธุรกิจถือว่าเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความคึกคักน่าสนใจและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไปลองดูตัวอย่างธุรกิจประเภทเดียวกันที่มักพบเห็นเปิดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ว่ามีอะไรบ้าง 

Forced sell หมายถึง การบังคับขาย

🔍‘Forced sell’ หรือ ‘การบังคับขาย’ หมายถึงการที่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้ นำส่วนหนึ่งของหลักทรัพย์ในบัญชีเงินกู้ยืมซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าออกขาย เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของลูกค้ารายนั้น ๆ 

โดยบริษัทหลักทรัพย์จะทำการบังคับขายก็ต่อเมื่อหลักประกันหนี้ของลูกค้ามีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้แล้ว โดยมีอัตราส่วนเท่ากับหรือต่ำกว่าระดับอัตราหลักประกันที่ต้องดำรงไว้ (Maintenance Margin Rate) ที่เป็นเกณฑ์การบังคับขาย

หลักเกณฑ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ลูกค้าแต่ละรายมีภาระหนี้เกินตัวจนไม่อาจแบกรับได้ หรือหากปล่อยค้างไว้ ถ้าหุ้นที่วางเป็นประกันมีมูลค่าลดลงไปอีก อาจทำให้มีหลักประกันไม่คุ้มมูลหนี้ จนกระทบถึงฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์และกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งระบบได้

38 พันธุ์ไม้ เฉิดฉาย!! รับซื้อจากไทยไม่อั้น!!

🔍‘ซาอุดีอาระเบีย’ มีแผนจะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลก เพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (The Saudi Green Initiative) เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น และร่วมสนับสนุนผลักดันโครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้นทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง

โดย ‘ประเทศไทย’ เป็นตลาดนำเข้าต้นไม้ของซาอุดีอาระเบียเช่นกัน ส่งออกไปแล้วกว่า 200,000 ต้น และยังมีโอกาสให้ไทยส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ได้อีกมากมาย

วันนี้ THE TOMORROW จะพาไปดู 38 พันธุ์ไม้ที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปดีตลาดซาอุดีอาระเบียและแถบเอเชียตะวันตก จะมีต้นอะไรบ้าง มาดูกัน!!

'เดนมาร์ก' แชมป์ ขีดความสามารถแข่งขัน ปี 66 ไทยขยับขึ้น อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

🔍‘IMD’ ขยับขีดความสามารถแข่งขันไทยดีขึ้น 3 อันดับอยู่ที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ชี้คะแนนหลายด้านดีขึ้นทั้งสมรรถนะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ - ธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ‘TMA’ ได้เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 ไทยปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจในปีนี้ 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อน 

2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): อันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ

3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ

4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): อันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ

โดยเมื่อเทียบกับในอาเซียนไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 4 และมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 27 ของโลก

3 บริษัท AI ระดับโลก ที่ 'คนไทย' เป็นเจ้าของหุ้นได้

🔍Artificial Intelligence : AI หรือชื่อเต็ม ๆ ภาษาไทยว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง นั่นเพราะแทบจะทุกอุตสาหกรรมล้วนต้องพึ่งพา AI ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะงานด้านการวิเคราะห์และประมวลผล ที่ทำงานแทนมนุษย์ได้

ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเฉพาะใน Wall Street มีหุ้นกลุ่ม AI ที่กำลังเติบโตและน่าสนใจหลายตัว และวันนี้นักลงทุนไทย สามารถลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Microsoft (MSFT), Alphabet (GOOGL), Amazon (AMZN), Nvidia (NVDA) ผ่านตลาดหุ้นไทย ด้วยการซื้อขาย DR ซึ่งสามารถซื้อขายด้วยเงินบาท และเทรดผ่าน Streaming

นักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.setinvestnow.com/ อาจจะได้เจอทางออกทางการลงทุน ในจังหวะที่ตลาดหุ้นไทยยังรอความชัดเจนทางการเมืองไปอีกสักระยะ

รู้จัก 4 'ผู้ตรวจสอบบัญชี' ระดับโลก STARK เคยใช้บริการ

🔍แม้จะมีการใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีที่เก่งกาจหรือมีชื่อเสียงแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีออกมาได้อย่างถูกต้อง 100% ทุกบาททุกสตางค์ หากเหล่าผู้บริหารและตัวบริษัทที่เป็นผู้ให้ข้อมูล จงใจปกปิดข้อมูลบางอย่างต่อบุคคลภายนอกอย่างผู้ตรวจสอบ

ดั่งเช่น STARK ที่ตกแต่งงบการเงิน จนเกิดความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนของไทย ซึ่ง STARK เอง ก็ใช้ผู้ตรวจสอบบัญชีที่อยู่ใน BIG4 ด้วยเช่นกัน

สะพัด!! 4 หมื่นล้าน!! 'ต่างชาติ' ลงทุนไทย 5 เดือนแรกปี 66

🔍‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์!! 

จากสถิติ 5 เดือนแรกของปี 2566 นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนในไทยมูลค่ารวมกว่า 45,392 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 2,999 คน โดยญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 1 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,873 ล้านบาท

ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

เปิดสถิติ 1 ปี 'สลากดิจิทัล' 80 บาท ประสบความสำเร็จแค่ไหน ?

🔍การจำหน่าย ‘สลากดิจิทัล’ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ดูจะเป็นหนทางที่ถูกที่ควรและโดนใจประชาชนเอามาก ๆ เนื่องจากในแต่ละงวดสลากถูกขายหมด และบางงวดสลากดิจิทัลในระบบขายหมดภายใน 12 วัน

ปัจจัยหลักที่ทำให้การซื้อขายสลากดิจิทัลเป็นที่นิยม ก็คงเป็นเรื่องการควบคุมราคาอยู่ที่ใบละ 80 บาท และผู้ซื้อสามารถค้นหาเลขที่ต้องการซื้อได้อย่างง่ายดาย 

ดังนั้น เมื่อความต้องการซื้อพุ่งสูงขึ้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2566 มีสลากดิจิทัล 30 ล้านใบ สิ้นปี 2567 เพิ่มเป็น 40 ล้านใบ และสิ้นปี 2568 เพิ่มเป็น 50 ล้านใบ หรือครึ่งหนึ่งของสลากทั้งหมดต้องเป็นดิจิทัล

ส่อง 10 แบรนด์ธุรกิจ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกปี 2023

🔍ส่องแบรนด์ระดับโลกที่มีมูลค่าสูงสุด 2023 พบ Apple ยังครองแชมป์เหนียวแน่น ส่วน FACEBOOK น่าผิดหวังมูลค่าแบรนด์ลดฮวบ 50% หลุด 10 อันดับแรกแล้ว

Kantar บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก ได้เปิดผลการสำรวจ Kantar BrandZ Most Valuable Global Brands 2023 หรือ 100 อันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 6.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 20% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน จากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับแบรนด์ที่ครองอันดับ 1 แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุด ยังคงเป็น APPLE มีมูลค่า 880,455 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วย GOOGLE มีมูลค่า 577,863 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 3 คือ MICROSOFT มูลค่า 501,856 ล้านเหรียญสหรัฐ และอันดับ 4 คือ AMAZON มูลค่า 468,737 ล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้ง 4 อันดับแรก เป็นบริษัทเทคโนโลยีจากประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ในขณะที่ FACEBOOK ซึ่งติด 1 ใน 10 มาโดยตลอด แต่ในปีนี้มูลค่าแบรนด์ลดฮวบถึง 50% ทำให้หล่นจากอันดับ 8 ในปีที่แล้วมาอยู่ในอันดับ 12 ด้วยมูลค่า 93,024 ล้านเหรียญสหรัฐ 

ในขณะที่แบรนด์ที่มีมูลค่าเติบโตสูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้ ประกอบด้วย อันดับ 1 AIRTEL ธุรกิจโทรคมนาคม จากอินเดีย มีมูลค่า 22,332 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24% ตามมาด้วยอันดับ 2 PEPSI มูลค่า 18,826 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% และ อันดับ 3 BCA ธุรกิจธนาคารจากอินโดนีเซีย มูลค่า 22,684 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12%

สรุปความเคลื่อนไหว 'ตลาดหุ้นไทย' 16-23 มิถุนายน 2566

🔍ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน โดยในช่วงต้น-กลางสัปดาห์บรรยากาศตลาดในภาพรวมถูกกดดันจากประเด็นเฉพาะของบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลและแรงขายหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance ประกอบกับยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนในช่วงปลายสัปดาห์หุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศหลังประธานเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ในวันศุกร์ (23 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,505.52 จุด ลดลง 3.45% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,473.82 ล้านบาท ลดลง 6.38% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.64% มาปิดที่ระดับ 463.22 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้ (26-30 มิ.ย. 2566) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,490 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. และ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีน


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top