Monday, 8 July 2024
STORY

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทย จัดให้มีการเลือกตั้ง สส. เป็นครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียว

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียวของไทย โดยเป็นการเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนเลือกตัวแทนของตนในระดับตำบล เพื่อไปทำหน้าที่เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 78 คน รวมกับสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการเป็น 156 คน

การเลือกตั้งครั้งนั้น เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ประเทศไทย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 70 จังหวัด และตามรัฐธรรมนูญ 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท โดยมีจำนวนเท่า ๆ กัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง

ในขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละจังหวัดจะมี สส. ได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน ทำให้มี ส.ส. ประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน และ สส. ประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 คน รวมเป็น 156 คน ซึ่งจากการคำนวณดังกล่าว ทำให้ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเลือก สส. ได้จังหวัดละ 1 คน และมีบางจังหวัดที่มี สส. มากกว่า 1 คน คือ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และนครราชสีมา มี สส. จำนวน 2 คน ในขณะที่จังหวัดพระนครและอุบลราชธานี มี สส. มากที่สุด คือ 3 คน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย ถูกจัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และเป็นการเลือกตั้ง สส. ประเภทที่ 1 โดยใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือ ประชาชนจะไปใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกนั้น จะไปทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนประชาชนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยในครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน และมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็น 41.45% โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็น 78.82% และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์น้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็น 17.71%

14 พฤศจิกายน ของทุกปี  ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2545 

เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ซึ่งโครงการฝนหลวงนี้ มีประโยชน์ต่อราษฎรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน ได้ในยามแล้งน้ำ

โครงการฝนหลวง เป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวง ร.9 ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยาก ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค รวมไปถึงการใช้ในทางเกษตรกรรม เนื่องจากสภาวะแห้งแล้ง ซึ่งพบได้บ่อยในฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยความแห้งแล้งเกิดจากการคลาดเคลื่อนของฤดูตามธรรมชาติ เช่น ฤดูฝนล่าช้าหรือหมดไวกว่าปกติ

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงศึกษาสภาพอากาศ ลักษณะต่าง ๆ รวมไปถึงภูมิประเทศของไทย ที่อยู่ในภูมิภาคเขตร้อน ทำให้อยู่ในอิทธิพลของมรสุมทวีปเอเชีย โดยเฉพาะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นฤดูฝนและเป็นฤดูเพราะปลูกประจำปีของประเทศไทย พระองค์จึงดำริว่าจะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อให้เกิดฝนตกได้

ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า วิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนมั่นพระทัย ใน พ.ศ. 2499 จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ ‘ฝนหลวง’ ให้ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ การรับสนองพระราชดำริ

โดยได้ร่วมมือกันระหว่าง ม.ล. เดช สนิทวงศ์, ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

จนกระทั่ง พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืช กรมการข้าว เพื่อสนับสนุนโครงการฝนหลวง อีกทั้งในปีเดียวกันนี้เองที่ได้มีการทดลองปฏิบัติจริงบนท้องฟ้าครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) ที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม

ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่น ๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ‘รพินทรนาถ ฐากูร‘ กวีเอกชาวอินเดีย ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

วันนี้ เมื่อ 110 ปีก่อน 'รพินทรนาถ ฐากูร' กวีเอกชาวอินเดีย ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม จากบทประพันธ์ 'คีตาญชลี' นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 (ค.ศ.1913) กวีชาวอินเดีย รพินทรนาถ ฐากูร ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม จากงานประพันธ์และแปลหนังสือรวมบทกวี 'คีตาญชลี' เป็นภาษาอังกฤษ นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

รพินทรนาถ ฐากุร (Robindronath Thakur) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 และเสียชีวิตเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 มีสมัญญานามว่า 'คุรุเทพ' เป็นนักปรัชญาพรหโมสมัช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกาลี

รพินทรนาถ เริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี ครั้นอายุได้ 16 ปี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานกวีนิพนธ์ภายใต้นามปากกา ภาณุสิงโห และเริ่มเขียนเรื่องสั้นกับบทละครในปี พ.ศ. 2420

รพินทรนาถเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง ละครเพลง และเรียงความมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง และเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้ และรับผลงานของเขายังสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต รพินทรนาถต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอังกฤษอย่างเปิดเผย และร่วมเคลื่อนไหวการประกาศเอกราชของประเทศอินเดียอีกด้วย

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 พิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ของ รฟท. ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันนี้ เมื่อ 55 ปีก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรกที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำพิธีปล่อยรถโดยสารรุ่นแรก ที่สร้างโดยกองโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของการรถไฟฯ พ.ศ. 2510 - 2514 ออกจากโรงงานมักกะสัน จำนวน 14 คัน ได้แก่ รถโบกี้นั่งชั้นที่ 3 (บชส.) 10 คัน และรถโบกี้สัมภาระมีเครื่องห้ามล้อ (บพห. ข้างโถง) 4 คัน 

โดยมี พลเอกครวญ สุทธานินทร์ ประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี โครงการ 5 ปีดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดสร้างรถโดยสาร 180 คัน และรถสินค้า 597 คัน ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้รวมทั้งสิ้น 223.55 ล้านบาท ในการสร้างรถโดยสารนี้ จำนวนหนึ่งเป็นการสร้างตัวรถขึ้นใหม่ทั้งคัน และอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นการประหยัดโดยใช้โครงประธาน และแคร่โบกี้เดิมของรถโบกี้โดยสารที่ตัดบัญชีแล้ว นำมาสร้างตัวรถบนโครงประธานเหล่านี้ เรียกว่าประเภทรถ Rebuilt

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 155 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ กลับคืนสู่ประเทศไทย หลังหายกว่า 30 ปี

วันนี้ เมื่อ 35 ปีก่อน ‘ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์’ ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่หายไปกว่า 30 ปี ถูกส่งคืนสู่ประเทศไทย หลังการเรียกร้องขอคืนจากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐอเมริกา

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ โบราณวัตถุสุดล้ำค่า ของประเทศไทย ได้หายไปจากปราสาทหินพนมรุ้ง นานหลายสิบปี โดยสันนิษฐานว่าถูกโจรกรรมไปในช่วงสงครามเวียดนาม ประมาณปี พ.ศ. 2507-2508 ทางกรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลจะได้พยายามค้นหา

กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ได้มีรายงานว่ามีการพบชิ้นส่วนด้านซ้ายที่ร้านค้าของเก่า 'Capital Antique' แถวราชประสงค์ กรุงเทพฯ จึงยึดไว้ แต่ก็ไม่พบชิ้นส่วนที่เหลือ

ภายหลังมีคนไปพบ ถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐอเมริกา 

จากนั้น รัฐบาลไทยได้ทำจดหมายขอคืนสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนชาวไทยในชิคาโก้ได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ รวบรวมทุนและดำเนินการกดดันด้านสื่อมวลชนจนได้รับการส่งคืนโดยไม่มีเงื่อนไข และส่งกลับมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 หลังถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทยนานกว่า 30 ปี

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 อัญเชิญ ‘พระพรหมเอราวัณ’ ประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ

วันนี้ เมื่อ 67 ปีก่อน มีพิธีอัญเชิญ ‘พระพรหมเอราวัณ’ ประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ แยกราชประสงค์ จึงถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี จะเป็นวันบวงสรวงใหญ่ของพระพรหมเอราวัณ หรือที่เรียกกันว่า ‘วันเกิดพระพรหม’

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ที่สี่แยกราชประสงค์ ได้มีการอัญเชิญองค์ท้าวมหาพรหม มาประดิษฐานบริเวณหน้าโรงแรมเอราวัณ หรือโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ในปัจจุบัน เพื่อความเป็นสิริมงคลและช่วยปกปักรักษาสถานที่

ที่มาของการตั้งพระพรหมเอราวัณที่บริเวณแยกราชประสงค์เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอก‪เผ่า ศรียานนท์ กำหนดให้มีการก่อสร้าง‪โรงแรมเอราวัณขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่าในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี ‪พ.ศ. 2499 ทาง ‪บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรี‪หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม ‘เอราวัณ’ นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของ‪พระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมี‪การบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจาก‪พระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม

จากนั้นจึงได้มีการตั้งศาล ‘พระพรหมเอราวัณ’ ขึ้น ออกแบบตัวศาลโดยนาย‪ระวี ชมเสรี และ ม.ล.‪ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วย‪ปูนปลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนาย‪จิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โรงแรมเอราวัณจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา

จากวันที่ศาลพระพรหมถูกตั้งขึ้น ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างพากันมากราบไหว้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยปัดเป่าอุปสรรคและส่งเสริมโชคลาภและความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้ เมื่อ 130 ปีก่อน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เวลา 12.25 น. หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 

พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์ที่ 14 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ มีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า ‘พระไตรปิฎกสยามรัฐ’ เป็นต้น ความไม่พอพระราชหฤทัยและการเพลี่ยงพล้ำในการคัดค้านคณะราษฎรในหลายโอกาสนำไปสู่การสละราชสมบัติ และพระองค์ยังทรงถูกฟ้องคดียึดทรัพย์

สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีพระราชโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต 

ทั้งนี้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 9 ปี และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริพระชนมพรรษา 47 พรรษา หลังสวรรคต พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น ‘กษัตริย์นักประชาธิปไตย’

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

วันนี้ เมื่อ 27 ปีก่อน ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด โดยทรงมีหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างวันที่ 8-10, 12, 14, 23 มิถุนายน, 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 รวมทั้งสิ้น 7 วัน 

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2549 จึงมีกำหนดการการแสดงกระบวนเรือพระราชพิธีขึ้นอีกครั้งในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยเป็นลักษณะของการจัดกระบวนเรือ มิใช่ ‘การเสด็จพยุหยาตราชลมารค’ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จโดยกระบวนเรือแต่อย่างใด

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วันนี้ เมื่อ 45 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ด้วยทรงมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวช ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เสร็จแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ทรงได้รับพระนามฉายาว่า ‘วชิราลงฺกรโณ’ และผนวชอยู่ 15 วัน จึงทรงลาผนวช

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรชาวขอนแก่น

วันนี้ เมื่อ 68 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่นเป็นครั้งแรก

ภายหลังจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสร็จสิ้นพระราชภารกิจจาการศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และได้เสด็จนิวัตมาประทับในพระราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรแล้ว จึงกำหนดการ 'เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร' ในทุกภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรขึ้น 

โดยปฐมแห่งการเสด็จฯ ได้ออกไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 

โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถไฟ เยี่ยมพสกนิกรจังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งแรก 

ซึ่งชาวขอนแก่นได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายถนนเส้นทางสายสำคัญเพื่อเป็นอนุสรณ์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระองค์ ในชื่อ 'ถนน 5 พฤศจิกายน'

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 กลุ่มหัวรุนแรงชาวอิหร่านเข้ายึดสถานทูตสหรัฐฯ จับนักการทูต - พลเมืองสหรัฐฯ เป็นตัวประกันนาน 444 วัน

วันนี้ เมื่อ 44 ปีก่อน นักการทูตและพลเมืองของสหรัฐฯ  52 คนถูกจับเป็นตัวประกัน หลังจากที่กลุ่มนักศึกษากึ่งทหารของอิหร่าน บุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 มกราคม 2524 รวมระยะเวลา 444 วัน

ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) นักศึกษาชาวอิหร่านราว 300 - 500 คน ได้บุกฝ่ากองกำลังของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่คุ้มกันอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเตหะราน เข้าไปจับกุมตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันส่งตัวพระเจ้าชาห์ โมฮัมเมด เรซา ปาห์เลวี (Mohammad Reza Pahlavi) ที่กำลังรักษาโรคมะเร็งอยู่ที่สหรัฐฯ กลับไปดำเนินคดีในอิหร่าน 

โดยเหตุการณ์ในตอนแรก กลุ่มนักศึกษาได้จับเจ้าหน้าที่อเมริกัน 52 คน เป็นตัวประกัน และยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับมา แต่สหรัฐฯ ปฏิเสธคำเรียกร้องโดยอ้างว่า พระเจ้าชาห์กำลังรักษาตัวอยู่ นักศึกษาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ทันทีและยกเลิกการขายน้ำมันให้

ขณะที่ทางสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้ตอบโต้ด้วยการให้อายัดทรัพย์สมบัติของอิหร่านทั้งหมดในสหรัฐฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) และก็ได้ส่งกองทัพเรือเข้าไปประชิดที่ทะเลอาหรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวประกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2524 อิหร่านจึงได้ปล่อยตัวประกันที่จับไว้ กินระยะเวลารวม 444 วัน

วิกฤตดังกล่าวยังนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอ่อนแอลงจนถึงปัจจุบัน

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ‘ไลก้า’ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ กลายเป็นสุนัขอวกาศตัวแรกของโลก

วันนี้ เมื่อ 66 ปีก่อน ‘ไลก้า’ (Leika แปลว่า เห่า) สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลกด้วยยานสปุตนิค 2 ของสหภาพโซเวียต ตามโครงการสปุตนิค 

สำหรับ ‘ไลก้า’ สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกีเพศเมีย ถูกจับมาจากข้างถนนในกรุงมอสโก และถูกนำมาใช้ทดลองในครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ยานสปุตนิก 2 ไม่ได้ออกแบบให้กลับสู่โลกอย่างสมบูรณ์ เรื่องของไลก้าจึงจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจรู้แน่ชัดนัก 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ไลก้ามีชีวิตอยู่ได้ ระหว่าง 4-10 วันในวงโคจร บางคนบอกว่า อาหารมื้อท้าย ๆ ของไลก้ามีภาวะเป็นพิษ บางส่วนก็อ้างว่าเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนเมื่อแบตเตอรี่หมด

ยานสปุตนิก 2 อยู่ในวงโคจรนาน 163 วัน โคจรรอบโลกครบรอบในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที รวม 2,370 รอบ ตกลงสู่โลกและไหม้สลายหมดไปในอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 จากนั้นอีก 40 ปีให้หลัง อนุสาวรีย์ของสุนัขอวกาศไลก้าก็ได้มีการสร้างขึ้นนอกกรุงมอสโก 

2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน หลังมีทารก 10 คน คลอดในเวลา 9.48 น.

วันนี้เมื่อ 27 ปีก่อน เป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอนามัยระบุว่า ประชากรคนที่ 60 ล้าน เป็นเด็กทารกเพศชาย คลอดในเวลา 09.48 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน ทางการได้มีกิจกรรมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 5 มีการรายงานผลการเกิดของทารกทั่วประเทศ มีหน่วยรถเคลื่อนที่ของช่อง 5 ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์จริงจากห้องคลอดของจังหวัดหลัก ๆ 

ทั้งนี้ มีเด็กที่เกิดในเวลา 09.48 น. ทั้งหมดจำนวน 10 คน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบของขวัญวันเกิดสุดพิเศษให้ เช่น พระเลี่ยมทอง หรือเลสทองคำสลัก ‘อัลเลาะห์’ สำหรับเด็กที่มารดานับถือศาสนาอิสลาม, เช็กของขวัญ 10,000 บาท, บัตรประกันสุขภาพ 10 ปี, ทุนการศึกษาครบหลักสูตร เป็นต้น 

สำหรับข้อมูลจาก กระทรวงมหาดไทยล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 ระบุว่าประชากรของไทยมีทั้งหมด 66,090,475 คน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน มีจำนวนคนแก่เพิ่มขึ้น และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อนึ่ง ในปี 2539 ขณะนั้น ประเทศไทย มีทั้งสิ้น 73 จังหวัด

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ครบ 35 ปี จัดฉลองใหญ่พร้อมเปิดถนนราชดำเนินนอก

วันนี้ เมื่อ 120 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และฉลองครองราชย์ครบ 35 ปี

ก่อนหน้านี้ ใน พ.ศ. 2444 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากมุมถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย มาบรรจบกับย่านริมสนามหลวงด้านตะวันออก ไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446

ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่สวยงามและเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง ตั้งแต่แรกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นถนนสายประวัติศาสตร์


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top