Monday, 8 July 2024
STORY

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 วางระเบิด ‘เรนโบว์ วอร์ริเออร์’ เรือของกรีนพีซ ฝีมือ ‘สายลับฝรั่งเศส’


เมื่อปี วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สายลับของฝรั่งเศส ได้วางระเบิดสองลูกเพื่อจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ เป็นเหตุให้ช่างภาพชาวโปรตุเกสเสียชีวิตหนึ่งราย

ย้อนไป วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528  เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซทอดสมออยู่ที่เมืองโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกปฏิบัติการต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่หมู่เกาะปะการังโมรูรัว

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน กัปตันพีท วิลล์คอกซ์ และลูกเรือคนอื่นๆกำลังจะเข้านอน มีลูกเรือสองสามนายรวมทั้งเฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพประจำเรือ ยังนั่งคุยและดื่มเบียร์สองขวดสุดท้ายกันอยู่ที่โต๊ะเอนกประสงค์ของเรือ

ทันใดนั้น มีแสงสว่างวาบขึ้น ตามด้วยเสียงกระจกแตก และเสียงโครมของน้ำ ในนาทีแรกพวกลูกเรือคิดว่าเรืออาจถูกเรือโยงชน

หลังจากนั้นก็เกิดระเบิดลูกที่สอง

ลูกเรือที่อยู่บนดาดฟ้าเรือรีบกระโจนขึ้นบันไดหรือกระโดดหลบในที่ปลอดภัยบนท่าเรือ ภายในเวลาไม่กี่นาที พวกเขาเห็นเสากระโดงเรือที่เป็นเหล็กบิดงอไปต่อหน้าต่อตา 

เหตุการณ์ระเบิดได้คร่าชีวิต เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพชาวโปรตุเกส ซึ่งเขาขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ในฐานะลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ที่มีหน้าที่ถ่ายภาพการทดลองนิวเคลียร์ของฝรั่งศส เพื่อนำไปเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ประจักษ์ ร่างของเขาพูดน้ำพัดและจมไปในคืนนั้น

แน่นอนว่า เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ไม่ได้ถูกเรือโยงชน แต่เป็นฝีมือสายลับของฝรั่งเศส ที่ได้พยายามขัดขวางแผนการรณรงค์ของเรือ โดยวางระเบิดหุ้มพลาสติกไว้สองลูก ลูกหนึ่งซ่อนไว้ในใบพัด อีกลูกหนึ่งอยู่นอกกำแพงห้องเครื่อง

ในตอนแรก รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ชัดเจนว่า รัฐบาลฝรั่งเศสมีส่วนรู้เห็น จนในที่สุดนายโลรองต์ ฟาบัวส์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปรากฎตัวทางโทรทัศน์และกล่าวกับสาธารณชนว่า “สายลับ DGSE ได้ปฏิบัติการจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ทั้งนี้ เป็นปฏิบัติการตามคำสั่ง”

โดมินิเก พริเยอร์ และ อแลงน์ มาฟาร์ต ซึ่งครั้งนั้นอยู่ในสถานะของนักท่องเที่ยวชาวสวิส เป็นสายลับเพียงสองนายที่เข้ารับการไต่สวน และยอมรับในข้อกล่าวหาฆาตกรรมและทำลายทรัพย์สินโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุก 10 และ 7 ปี แต่มีการเจรจาในกรอบของสหประชาชาติที่มีผลให้ทั้งสองคนย้ายไปต้องโทษที่หมู่เกาะ Hao ซึ่งเป็นฐานทัพทหารของฝรั่งเศสในเฟรนซ์โปลินิเซีย

และทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวในช่วงไม่ถึงสองปีหลังจากนั้น

คริสติน กาบอง เป็นสายลับอีกหนึ่งคนที่แทรกซึมเข้าไปในสำนักงานของกรีนพีซนิวซีแลนด์ก่อนมีการวางระเบิดที่เรือ เธอหลบหนีก่อนจะถูกจับได้ในอิสราเอลและไม่มีใครเห็นเธออีกเลย ส่วนฌอง-มิเชล แบร์เตโล หนึ่งในนักประดาน้ำสองคนที่เชื่อว่า เป็นผู้วางระเบิด ก็ไม่มีใครพบเห็นเช่นกัน 

คนที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่ท่าเรือโอคแลนด์ ในคืนนั้น ล้วนหายตัวไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

‘ไมค์ ไทสัน’ ถูกปรับ 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกแบน จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’

 


เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ เจ้าของฉายามฤตยูดำ ถูกปรับเงิน 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกยึดใบอนุญาตชกมวย จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดใบหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’ ในการชกชิงแชมป์โลก รุ่น เฮฟวีเวท

ซึ่งชนวนเหตุ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ไมค์ ไทสัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักเขาในฉายา มฤตยูดำ ต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 2 ในการชกมวยอาชีพ ด้วยน้ำมือของ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ด้วยการถูกน็อกในยก 11 พร้อมกับทำให้ ไทสัน เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทของสมาคมมวยโลก (WBA) ไปแบบสุดเจ็บช้ำ ซึ่งจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ทำให้ไทสันพยายามที่จะขอรีแมตช์เพื่อแย่งแชมป์โลกคืนมา และในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงดวลกำปั้นกันอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ที่สังเวียน เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ ลาสเวกัส พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เมื่อเริ่มยกแรก โฮลีฟิลด์ คู่ปรับเดินหน้าเข้าใส่ทันที และทำได้ดีจนกระทั่งเข้าสู่ยกที่ 2 โฮลีฟิลด์ ได้เอาหัวไปโขกไทสันจนบริเวณตาขวาบวมขึ้นมา แต่กรรมการ มิลล์ เลน ไม่ได้ลงโทษใด ๆ เนื่องจากมองว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งจากอุบัติเหตุครั้งนี้ก็ทำให้ ไทสัน เริ่มออกอาการหัวเสีย

เมื่อเข้าสู่ยกที่ 3 ไทสัน ดูจะฟิวส์ขาดอย่างชัดเจน เพียงแค่ 40 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดยก ในขณะที่ทั้งคู่กำลังคลุกวงในอยู่ ไทสันที่ฟิวส์ขาดจนฉุดไม่อยู่ ก็ได้สร้างเหตุการณ์ช็อกโลก ไทสันแอบคายฟันยางและกัดเข้าที่ใบหูข้างขวาของ โฮลีฟิลด์ จนขาดติดปาก ก่อนจะถ่มลงพื้นเวที ทำเอา โฮลีฟิลด์ กระโดดไปทั่วด้วยความเจ็บปวดปนช็อกที่ไม่คิดว่าจะมาเจออะไรแบบนี้บนสังเวียน และการชกก็ต้องหยุดลงไปหลายนาทีเพื่อปฐมพยาบาล 

โดยเมื่อแพทย์ได้ห้ามเลือดและดูบาดแผลแล้วก็ยังอนุญาตให้ชกได้ กรรมการจึงประกาศหักคะแนนไทสัน 2 แต้ม จากการทำผิดกติกาก่อนจะให้ชกกันต่อ แต่ดูเหมือนไทสันจะยังไม่หนำใจ เพราะเขาได้ทิ้งรอยแผลที่หูอีกข้าง ด้วยการกัดไปอีกหนึ่งรอบ ก่อนระฆังจะหมดยก ซึ่งกรรมการ มิลล์ เลน ก็ได้ ปรับให้ไทสันแพ้ฟาวล์ในการกัดหูรอบที่สอง
 

8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพ ผู้ที่ยูเนสโก ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ครบรอบ 30 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุ (2449-2536) มรณภาพอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา
หลังจากท่าพุทธทาสภิกขุมรณภาพไปแล้ว ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
 

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 ‘สะพานสารสิน’ เปิดใช้งานครั้งแรก เชื่อมแผ่นดินพังงา - ภูเก็ต


วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน เป็นวันเปิดใช้งาน สะพานสารสิน เป็นครั้งแรก เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต

สะพานสารสิน เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 หรือเมื่อ 55 ปีที่แล้ว เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต โดยเชื่อมต่อระหว่างบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงาและบ้านท่าฉัตรไชยของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสะพานสารสินมีความยาวทั้งหมด 660 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง

สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาทำการก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะแรกมีปัญหาเพราะขาดความชำนาญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มทำการก่อสร้างสะพานอีกครั้งจนสำเร็จ และเปิดทำการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,770,000 บาท

ปัจจุบัน สะพานสารสิน ไม่ให้รถยนต์สัญจรไปมาแล้ว โดยให้รถยนต์ใช้สะพานสารสิน 2 และ สะพานท้าวเทพกระษัตรีแทน

สะพานสารสินเดิม หรือ สะพานสารสิน 1 นั้นจึงถูกปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและสร้างหอชมวิวทิวทัศน์ สะพานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ทั้งนี้ สะพานสารสิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง

ขณะที่กิ๊วมีฐานะที่ดีกว่า และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านของกิ๊วได้กีดกั้นทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่กลางสะพานสารสิน ด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเรื่องราวของทั้งคู่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ คือ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2530 นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง และจินตรา สุขพัฒน์ และ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2541 นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล และคทรีน่า กลอส ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง จะมีกระต่ายสีขาวตาสีแดงคู่หนึ่ง ออกมาอยู่คู่กันที่สะพานแห่งนี้ เชื่อว่าเป็นวิญญาณของทั้งคู่อีกด้วย

 

6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 ‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ

วันนี้ เมื่อ 138 ปีก่อน หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นครั้งแรก โดยใช้รักษาให้กับเด็กชาย โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) วัย 9 ขวบ 

ในสมัยนั้น โรคพิษสุนัขบ้าแม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมาก เพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้เลย 

จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะถูกเลียหรือถูกกัด เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าไปทางแผลสู่ร่างกายได้ 

ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน แล้วนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายเมสเตร์ถูกสุนัขบ้ากัด ไหน ๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว พ่อแม่จึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์ทดลองรักษา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2431 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้ง "สถาบันปาสเตอร์” (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” ก่อตั้งในปี 2455 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย
 

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนนครนิวยอร์ก ปชช.กว่า 7.5 แสนคน รับเสด็จแน่นถนนบรอดเวย์

ภาพแห่งความทรงจำไทย-สหรัฐ: นครนิวยอร์กถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างสมพระเกียรติ ด้วยขบวนพาเหรดสายรุ้งอันสวยงาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คนมาคอยเฝ้าชมพระบารมี แน่นถนนบรอดเวย์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประชาชนกว่า 750,000 คน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับ โรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”
 

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร. 9 เสด็จฯ ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้ามหานคร

📌วันนี้ เมื่อ 19 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้ามหานคร รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย 'โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)' อย่างเป็นทางการ โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BEM) เป็นผู้รับสัมปทานในการให้บริการเดินรถ  รวมระยะเวลาเปิดให้บริการจนถึงวันนี้ เป็นเวลาครบ 19 ปี

รถไฟฟ้ามหานคร หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ‘รถไฟฟ้าใต้ดิน’ หรือ ‘MRT’ สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยรถไฟฟ้าเริ่มวิ่งจากหัวลำโพง – บางซื่อ ทั้งหมด 18 สถานีด้วยกัน 

สำหรับพิธีเปิดในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินจากสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงไปยังสถานีปลายทางศูนย์ซ่อมบำรุงสถานีพระราม 9 เพื่อกดปุ่มระบบคอมพิวเตอร์เป็นสัญลักษณ์การเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ 

พร้อมกันนี้ ยังทรงพระราชทานนามรถไฟฟ้าสาย 'เฉลิมรัชมงคล' โดยมีความหมายว่า งานเฉลิมฉลองความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา

ราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ตั้งแต่เปิดให้บริการ พ.ศ. 2547 ราคาตามระยะทางเริ่มต้นอยู่ที่ 16 – 42 บาท ก่อนที่จะมีการปรับราคาขึ้นในช่วง พ.ศ. 2563 เป็นราคาเริ่มต้นที่ 17 – 42 บาท และปัจจุบันรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลมีส่วนต่อขยายรวมทั้งหมด 38 สถานี

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จุดเริ่มต้นสู่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

📌วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นไปที่ 40 บาททันที

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันอีกหนึ่งวันที่คนไทยหลายคนยังจดจำไม่ลืม เมื่อรัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทันทีที่ 40 บาท และไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายบริษัทที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุน

จากภาวการณ์ลดลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อภาระหนี้ต่างประเทศเป็นอันมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนเพิ่มสูงเป็นอันมาก (ก่อนเกิดวิกฤต กู้มาในอัตราเพียง 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท) ในปี 2533 ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศ 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 82,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2539 และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นภาครัฐเท่ากับร้อยละ 22.5 และหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 77.5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

จากวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและได้ขยายไปสู่ประเทศต่างในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี

วิกฤตครั้งนั้น ยังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอันมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2542) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบคือ เท่ากับ –2.6 โดยที่ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.8 และภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ 0.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลให้รายได้ของคนไทยลดลงในปี พ.ศ. 2540 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของคนไทยเท่ากับ 75,991 บาท และลดลงเท่ากับ 73,771 บาท ในปี 2542 

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงได้สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าขนส่งและค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2540 อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 6 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ. 2541 มีคนว่างงานเนื่องจากการถูกปลดและบริษัทล้มละลายเกือบ 1 ล้านคน

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา ‘กิจการลูกเสือไทย’

📌วันนี้ เมื่อ 112 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้น จึงยึดถือเอาวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ’

ลูกเสือได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู

เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้วพระองค์ จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของลูกเสือด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งลูกเสือขึ้นในประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ ผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด

แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสวรรคตแล้วก็ ตาม พระราชอนุสรณ์กิจการลูกเสือของพระองค์ท่านได้พัฒนารุ่งเรืองมาตามลำดับจน โดยปัจุบันกลายเป็นกิจการที่สร้างคุณประโยชน์สร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศทั่วโลก และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน ทางราชการจึงได้กำหนดวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็น ‘วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ’ หรือ ‘วันลูกเสือ’

30 มิถุนายน พ.ศ. 2448 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ นำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’

📌วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ เผยแพร่บทความ ‘On the Electrodynamics of Moving Bodies’ ซึ่งนำเสนอ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (The Special Theory of Relativity)

บทความ ‘On the Electrodynamics of Moving Bodies’ ซึ่งนำเสนอ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (The Special Theory of Relativity) ของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นการรวมกลศาสตร์ดั้งเดิมเข้ากับ electrodynamics ของ Clark Maxwell โดยกล่าวถึงการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ในมิติของเวลา, สถานที่ และทิศทาง ต่อมาได้กล่าวถึงมวลสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และพลังงานก็สามารถเปลี่ยนเป็นมวลสารได้ หรือมวลสารกับพลังงาน คือ สิ่งเดียวกัน (mass and energy equivalent) ดังสมการที่ลือชื่อคือ E = mc2 เมื่อ E เป็น พลังงาน m คือ มวลที่มีหน่วยเป็นกรัม c คือ ความเร็วของแสง มีหน่วยเป็นเซนติเมตรต่อวินาที

ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity ) จะเกี่ยวข้องกับระบบที่มีความเร็วคงที่คือเป็น ระบบที่ไม่มีความเร่ง การอธิบายทฤษฎีนี้อย่างง่ายที่สุดก็เปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อเรารู้สึกว่าทุกสิ่งกำลังหยุดนิ่งหรือมีความเร็วที่เท่ากันเราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใดกำลังเคลื่อนที่ เช่น โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ เรายัง รู้สึกว่าทุกสิ่งกำลังอยู่กับที่ แต่ที่จริงสิ่งที่เรานึกว่าหยุดอยู่กับที่กลับเคลื่อนที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity) ถูกเสนอขึ้นในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) โดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในบทความของเขา ‘เกี่ยวกับพลศาสตร์ไฟฟ้าของวัตถุซึ่งเคลื่อนที่ (On the Electrodynamics of Moving Bodies)’ 

สามศตวรรษก่อนหน้านั้น หลักสัมพัทธภาพของกาลิเลโอกล่าวไว้ว่า การเคลื่อนที่ ด้วยความเร็วคงที่ทั้งหมดเป็นการสัมพัทธ์ และไม่มีสถานะของการหยุดนิ่งสัมบูรณ์และนิยามได้ คนที่อยู่บนดาดฟ้าเรือคิดว่าตนอยู่นิ่ง แต่คนที่สังเกตบนชายฝั่งกลับบอกว่า ชายบนเรือกำลังเคลื่อนที่ ทฤษฎีของไอน์สไตน์รวมหลักสัมพัทธภาพของกาลิเลโอเข้ากับสมมติฐานที่ว่า ผู้สังเกตทุกคนจะวัดอัตราเร็วของแสงได้เท่ากันเสมอ ไม่ว่าสภาวะการเคลื่อนที่เชิงเส้นด้วยความเร็วคงที่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

ทฤษฎีนี้มีข้อสรุปอันน่าประหลาดใจหลายอย่างซึ่งขัดกับสามัญสำนึก แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการทดลอง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษล้มล้างแนวคิดของสเปซสัมบูรณ์และเวลาสัมบูรณ์ของนิวตันโดยการยืนยันว่า ระยะทางและเวลาขึ้นอยู่กับผู้สังเกต และเวลากับสเปซนั้นถูกรับรู้ต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้สังเกต มันนำมาซึ่งหลักการสมมูลของสสารและพลังงาน ซึ่งสามารถแสดงเป็นสมการชื่อดัง E=mc2เมื่อ c คืออัตราเร็วของแสง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษสอดคล้องกับกลศาสตร์นิวตันในสำนึกทั่วไปและในการทดลองเมื่อความเร็วของสิ่งต่างๆ น้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราเร็วแสง

ทฤษฎีนี้เรียกว่า ‘พิเศษ’ เนื่องจากมันประยุกต์หลักสัมพัทธภาพกับกรอบอ้างอิงเฉื่อยเท่านั้น ไอน์สไตน์พัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปโดยประยุกต์หลักสัมพัทธภาพให้ใช้ทั่วไปกล่าวคือ ใช้ได้กับทุกกรอบอ้างอิง และทฤษฎีดังกล่าวยังรวมผลของความโน้มถ่วง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษไม่ได้รวมผลของความโน้มถ่วง แต่มันสามารถจัดการกับความเร่งได้ ถึงแม้ว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพจะทำให้เกิดการสัมพัทธ์กันของปริมาณบางอย่าง เช่น เวลาซึ่งเรามักคิดว่าเป็นปริมาณสัมบูรณ์เนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ถึงกระนั้นมันก็มีปริมาณบางอย่างที่เป็นปริมาณสัมบูรณ์ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นปริมาณสัมพัทธ์ กล่าวให้ชัดคือว่า อัตราเร็วของแสงจะเท่ากันสำหรับทุกผู้สังเกต แม้ว่าพวกเขาจะเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันก็ตาม ทฤษฎีสัมพัทธภาพแสดงให้เห็นว่า c ไม่ใช่แค่ความเร็วของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'แสง' เท่านั้น แต่ยังเป็นค่าพื้นฐานที่เชื่อมสเปซกับเวลาเข้าด้วยกัน กล่าวโดยเจาะจงคือว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพยืนยันว่าไม่มีวัตถุใดเคลื่อนที่เร็วเท่ากับแสงได้

29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำชุดแรก 4 ลำ ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทย

📌รู้หรือไม่ ในอดีตประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2481 

29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล, เรือหลวงมัจฉาณุ (ลำที่ 2) และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย 

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับการต่อที่อู่ต่อเรือ บริษัท มิตซูบิชิ ที่เมืองโกเบ เมื่อปี พ.ศ. 2479 ในสนนราคาลำละ 882,000 บาท วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำไล่เลี่ยกันคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม พ.ศ. 2479  ดังนี้ 

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2479

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยนางมิตรกรรมรักษา เมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (มีการถ่ายทำภาพยนตร์โดย ร.ท.นิตย์ สุขุม)

ทำพิธีมอบเรือ ร.ล.มัจฉาณุ และร.ล.วิรุณ เมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 ถือวันนี้เป็น “วันที่ระลึกเรือดำน้ำ”

พิธีมอบเรือ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ถอนสมอเคลื่อนที่ออกจากท่าน้ำประเทศญี่ปุ่น สู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2481 และเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 

หลังจากมาถึงประเทศไทยก็ได้ขึ้นระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 และปลดระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และ เรือตอร์ปิโด ถูกเรือฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนวอยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ขึ้นไปนับเป็นการดำที่นานที่สุด ตั้งแต่ได้เริ่มมีหมวดเรือดำน้ำมาจนกระทั่งได้ถูกยุบเลิกไป ปัจจุบันเรือหลวงมัจฉานุได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’

📌วันนี้ เมื่อ 91 ปีก่อน เป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมา ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของรัฐสภาไทยมาจนถึงทุกวันนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย

แม้จะล่วงเลยผ่านตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา รัฐสภาชุดต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยออกกฎหมายมาใช้บังคับในสังคม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะผู้แทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ และเป็นสิทธิเป็นเสียงแทนประชาชนทั้งประเทศต่อเนื่องตลอดมา

จากวันนั้น...ถึงวันนี้...เป็นระยะเวลา 91 ปี ที่รัฐสภาได้เกิดขึ้นเคียงคู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสมาชิกรัฐสภาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ รวม 25 ชุด มีประธานรัฐสภาทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและดูแลการบริหารราชการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ รวม 31 คน มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก ในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร รวม 8 คน รวมทั้งได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกับคณะรัฐมนตรี รวม 52 คณะ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รวม 29 คน

ตัวเลขเหล่านี้ ย่อมบ่งบอกถึงการผ่านร้อนผ่านหนาว สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ประโยชน์แก่บ้านเมืองมาเป็นระยะเวลาพอสมควร เผชิญเหตุการณ์มากมายทั้งที่เป็นปัญหาอุปสรรค และส่งเสริมสนับสนุนต่อวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เข้มแข็ง พัฒนาและก้าวหน้าขึ้น

27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับชั่วคราว’

📌วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว เป็นวันประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยพระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร 

นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า 'ชั่วคราว' สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นี้ใช้เพื่อเป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ประกาศใช้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475เท่านั้น และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ความเชื่อมั่น ‘ตลาดทุนไทย’ หดหาย รอลุ้น ‘DSI’ พิสูจน์ฝีมือช่วยกู้วิกฤต

📌เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะผ่าน 6 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ค่อยดีเลยสำหรับ ‘ตลาดหุ้นไทย’ หลังติดอันดับ TOP 3 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนยอดแย่ของโลก

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีทุจริตสะท้านวงการหุ้นซ้ำเติมอีก จากกรณีที่ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) เกิดการทุจริตทั้ง การไม่ยอมส่งงบการเงิน ร่วมกันตกแต่งบัญชี สร้างออเดอร์ยอดขายเทียม ลูกหนี้เก๊ ลูกค้าปลอม พร้อมถ่ายโอนเงินออกไปจากบริษัทจริง ส่งผลให้ราคาหุ้นรูดลงมาเหลือเพียง 0.02 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป เหลือเพียง 268 ล้านบาท จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 73,733 ล้านบาท

มหกรรมการโกง ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ได้สร้างหายนะต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ ของ STARK เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างหนัก พร้อมมีคำถามขึ้นมากมาย ไปถึงผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ บริษัทผู้สอบบัญชี และหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหลาย ๆ คำถาม ก็ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

แน่นอนว่า เมื่อหวังพึ่งหน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้แล้ว ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเสียหายกว่า 10,000 คน ได้เริ่มรวมตัวเรียกร้องความยุติธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ www.thaiinvestors.com ของ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ล่าสุดมีการรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องแล้ว จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงค์ดำเนินคดีรวม 1,759 คน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,063 ล้านบาท แม้โอกาสได้รับเงินกลับคืนนั้นแทบจะไม่มีเลย เมื่อเทียบกับเจ้าหนี่ที่มีหลักประกัน เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่ยังอาจพอมีหวังได้รับเฉลี่ยหนี้คืนบ้าง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของหายนะครั้งนี้ มีสัญญาณผิดปกติมาตั้งแต่การส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า โดยทาง STARK ได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีการเปลี่ยนวิธีการนับสินค้าคงคลัง อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่บริษัทเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจากบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด มาเป็น บริษัท บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PWC)

ต่อมา ผู้สอบบัญชี (PwC) ตรวจพบปัญหาการตกแต่งบัญชีหลายรายการ เช่น การสร้างยอดรอเรียกเก็บหนี้จากลูกค้าปลอม ยอดขายปลอม และสร้างรายการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น โดยสมอ้างเป็นบริษัทคู่ค้าโดยไม่มีการซื้อขายหรือจ่ายเงินจริง คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 26,816 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังพบพฤติกรรมการโยกย้ายถ่ายเทเม็ดเงินเกิดขึ้นภายใน 3 บริษัทย่อยของ STARK ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ,บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) และ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) เริ่มจาก ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ ผู้สอบบัญชีพบว่ามีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริงสูงถึง 24,452 ล้านบาท ตามมาด้วย ‘อดิสรสงขลา’ มีการตกแต่งบัญชีสูงเกินจริง 1,045 ล้านบาท และ ‘ไทย เคเบิ้ลฯ’ อีกมูลค่า 689 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในช่วง 2 ปีก่อน (2564-2565) มีการตกแต่งบัญชีและโอนเงินให้บริษัทระหว่างกันทั้ง STARK และบริษัทบ่อยรวมถึงบริษัทที่อ้างเป็นคู่ค้าธุรกิจ จนทำให้ STARK มีผลขาดทุนจริงมากกว่า 12,640 ล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท และในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท

ภายหลังความจริงเริ่มปรากฏชัดออกมาเรื่อย ๆ สังคมตลาดทุนต่างมีคำถามมากมาย มีใครบ้างที่มีเอี่ยวกับการทุจริตดังกล่าว ทั้งผู้บริหารบริษัท พนักงานและบริษัทตรวจสอบบัญชีมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงแอคชันการทำงานที่ดูเหมือนจะล่าช้า จนเกิดความเสียหายหนักเกินจะเยียวยาแล้ว

ปฏิบัติการกู้คืนความเชื่อมั่น

ล่าสุดมีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบความผิดอย่างรวดเร็ว และหากพบความผิด ให้ดำเนินการเอาผิดในทุกกรณีตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่า การดูแลนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับแรก

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของSTARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่า มีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ส่วนกรมสรรพากร ระบุจะตรวจสอบการจ่ายภาษีของ บริษัท STARK อย่างละเอียด หลังพบการปลอมแปลงรายได้ของบริษัท

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน จับมือแถลงข่าวหวังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาพรวมตลาดทุน เมื่อช่วงเช้า วันที่ 26 มิ.ย. 66 แต่ในหลาย ๆ ประเด็นยังไม่มีความกระจ่าง โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบผู้สอบบัญชี และบริษัทผู้สอบบัญชี โดยนายธวัชชัย ทิพย์โสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่สามารถตรวจสอบและเอาผิดกับบริษัทผู้สอบบัญชีได้ เพราะมีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความเห็นผู้สอบบัญชีเท่านั้น ซึ่งยอมรับว่ามีช่องโหว่ และกำลังอยู่ระหว่างแก้กฎหมาย

ส่วนการตรวจสอบผู้สอบบัญชี สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมหากพบพบว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทุจริตรายอื่นที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องรายใด

นายธวัชชัย  ย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งการสั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก แม้ทาง ก.ล.ต. จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี แต่พร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่าย และหากช่วยได้ก็จะดำเนินการให้ โดยขอยืนยันว่าทาง ก.ล.ต. ทำเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย

ด้านนางสาวสิริพร สงบธรรม เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากที่สมาคมฯ ได้เปิดให้ผู้ลงทุนหุ้น STARK ลงทะเบียนเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ 19-25 มิ.ย.66 มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท โดยหลังจากนี้สมาคมฯจะนำข้อมูลของผู้เสียหายมาตรวจสอบเบื้องต้น และให้ความรู้ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม โดยจะเป็นคนกลางเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

จากข้อมูลที่แถลงออกมานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีการชี้แจงการเยียวยาผู้ลงทุนที่เสียหายทั้งจากการลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ STARK ที่เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากหุ้นกู้ 5 รุ่น รวม 9.1 พันล้านบาท และความเสียหายจากการทุจริตงบการเงินราว 2.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมมูลค่าตลาด (Market Cap) ที่ราคาหุ้น STARK ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์ความหายนะในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการตกแต่งบัญชี คงต้องรอการทำคดีของดีเอสไอ ว่าจะสืบสาวไปจนถึงต้นตอได้หรือไม่ และเชื่อว่าคนที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดคงเริ่มหนาว ๆ ร้อน ๆ อยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน เพราะมีโทษสูงสุดติดคุกถึง 20 ปีเลยทีเดียว 

26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

📌26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.2483 โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top