Monday, 8 July 2024
WORLD

‘จนท.สหรัฐฯ’ เผย หลังกู้ซาก ‘เรือดำน้ำไททัน’ ขึ้นบก คาด!! พบชิ้นส่วนมนุษย์ติดมา เร่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

📌(29 มิ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันพุธ (28 มิ.ย. 66) แถลงการณ์จากหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ เปิดเผยการเก็บกู้ชิ้นส่วนที่คาดว่าน่าจะเป็นศพมนุษย์จากซากเรือดำน้ำไททันแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะทำการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการต่อไป

เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (22 มิ.ย. 66) เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งแถลงข่าวว่าเรือดำน้ำที่หายไปเกิดระเบิดใกล้กับซากเรือไททานิค ส่งผลให้ผู้โดยสารทั้ง 5 รายบนเรือไททันเสียชีวิต โดยก่อนหน้านั้นเรือดำน้ำลำนี้สูญหายห่างจากชายฝั่งเกาะนิวฟันด์แลนด์ทางตะวันออกของแคนาดามากกว่า 600 กิโลเมตร ระหว่างการดำดิ่งเพื่อลงไปสำรวจซากเรือไททานิคในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ

หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้รับชิ้นส่วนและหลักฐานที่เก็บกู้มาจากก้นทะเลบริเวณจุดเกิดเหตุระเบิด โดยชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของเรือดำน้ำถูกส่งไปยังเมืองเซนต์จอห์นส์ รัฐนิวฟันด์แลนด์ เมื่อวันพุธ (28 มิ.ย. 66)

แถลงการณ์ระบุว่าหลังจากหารือกับหน่วยงานสืบสวนพันธมิตรระหว่างประเทศแล้ว คณะกรรมการสอบสวนทางทะเล (MBI) วางแผนขนส่งหลักฐานบนเรือของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ไปยังท่าเรือในสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการฯ จะสามารถอำนวยความสะดวกการวิเคราะห์และทดสอบเพิ่มเติม

เจสัน นอยบาวเออร์ หัวหน้ากัปตันของคณะกรรมการฯ แสดงความรู้สึกขอบคุณการสนับสนุนระหว่างประเทศและระหว่างหน่วยงานในการกู้คืนและรักษาหลักฐานที่สำคัญนี้ซึ่งอยู่ห่างออกไปนอกชายฝั่งที่ระดับความลึกอย่างมาก โดยหลักฐานดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ตรวจสอบจากเขตอำนาจศาลระหว่างประเทศหลายแห่งได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มีความสำคัญเกี่ยวกับสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้

เพลาจิก รีเสิร์ช เซอร์วิส (Pelagic Research Services) บริษัทที่ให้บริการด้านมหาสมุทรซึ่งควบคุมยานพาหนะจากระยะไกลเพื่อค้นหาชิ้นส่วนจากซากเรือไททัน ทวีตข้อความว่า “ทีมของเราประสบความสำเร็จในปฏิบัติการนอกชายฝั่ง และจะเข้าสู่ขั้นตอนการย้ายออกจากเรือฮอไรซอน อาร์กติก (Horizon Arctic) ช่วงเช้านี้”

บริษัทฯ กล่าวเสริมว่า “ทีมงานทำงานตลอด 24 ชั่วโมงมาเป็นเวลาสิบวันแล้ว และผ่านความท้าทายทั้งทางร่างกายและจิตใจของปฏิบัติการนี้ พวกเขารอคอยที่จะปิดฉากภารกิจและกลับไปหาบุคคลอันเป็นที่รัก”

‘ไต้หวัน’ เปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI เป็นครั้งแรก หลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน

🔴 (29 มิ.ย.66) สถานีโทรทัศน์ FTV News ในไต้หวัน ได้มีการเปิดตัวผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศ AI ครั้งแรก หลังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน โดยทางสถานีระบุว่า เพื่อให้คล้ายคนจริงมากที่สุด ได้ให้ AI เรียนรู้จากการทำงานออกอากาศที่ผ่านมา และนำไปปรับเรื่องของการพูด การเว้นวรรค จังหวะ และสีหน้าท่าทางการแสดงออก ซึ่งจะมีเวลาให้ผู้ประกาศข่าว AI ทำงานวันละ 2 นาที ในช่วงทดลองออกอากาศ

สายสืบสหรัฐฯ อ้างจับสัญญาณบางอย่างได้ ทำให้รู้แผนก่อกบฏของ Wagner ก่อนปูติน

📌(27 มิ.ย.66) สื่อสหรัฐ ทั้ง Washington Post และ New York Times รายงานว่าหน่วยข่าวกรองของสหรัฐรับทราบข้อมูลล่วงหน้าที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่กองกำลัง Wagner จะก่อกบฏภายในรัสเซีย และได้สรุปรายงานนี้ให้กับทั้งทางทำเนียบขาว สภาคองเกรซ และ ฝ่ายกลาโหมก่อนหน้าจะเกิดเหตุจริงเพียงไม่กี่วัน 

สายสืบสหรัฐอ้างว่าสามารถจับสัญญาณการเคลื่อนไหวบางอย่างของเยฟเกนี พริโกซิน และกองกำลัง Wagner ในการต่อต้าน นายพล เซอร์เก ชอยกู ผู้นำฝ่ายกลาโหมรัสเซียตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

ถึงแม้จะไม่รู้แน่ชัดว่า พริโกซิน ริเริ่มวางแผนการตั้งแต่เมื่อใด แต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของเขาทำให้ทีมข่าวกรองของสหรัฐ รับรู้ถึงความไม่ปกติภายในว่า น่าจะมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด คือ สงครามกลางเมืองได้

เจ้าหน้าที่สหรัฐเชื่อว่า จุดแตกหักของเรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้กองกำลังอาสาสมัครทั้งหมด ต้องมาขึ้นทะเบียน และลงนามข้อตกลงกับกองทัพรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นกลุ่มกองกำลัง Wagner แต่หลักปฏิบัตินั้นชัดเจนว่าทหารกองอาสาสมัครทั้งหมดทุกกลุ่มครอบคลุมถึงหน่วยของกองทหารรับจ้าง Wagner ต้องอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงกลาโหม

นั่นหมายความว่า ฝ่ายกลาโหมรัสเซียมีเป้าหมายที่จะควบรวมกองกำลัง Wagner เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ จากที่เคยเป็นกองกำลังอิสระ บริหารในรูปแบบบริษัทเอกชน ที่มีเยฟเกนี พริโกซิน เป็นผู้นำ และยังสร้างผลงานโดดเด่นในการสู้รบในยูเครน โดยเฉพาะสมรภูมิในเมืองบัคมุท 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการทหารของยูเครนก็ได้จับตา พริโกซิน หลังวันประกาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนเช่นกัน และเชื่อว่าผู้นำกองกำลัง Wagner เริ่มเคลื่อนพลเพื่อต่อต้านรัฐบาลมอสโควแล้วตั้งแต่วันนั้น และยังแสดงออกชัดเจนว่าไม่ลงรอยกับผู้นำสูงสุดของฝ่ายกลาโหมรัสเซียหลายครั้ง และมั่นใจว่า พริโกซินไม่รู้ตัวว่า ทั้งรัฐบาลยูเครน และ หน่วยข่าวกรองสหรัฐกำลังจับตาดูอยู่ อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลับระหว่างกันอีกด้วย 

หน่วยสอดแนมลับของสหรัฐเชื่อว่า แม้กระทั่งปูตินเอง น่าจะเพิ่งรับรายงานแผนการก่อกบฏของพริโกซิน ผู้ซึ่งเคยเป็นสหายคนสนิทของเขา ล่วงหน้าเพียงวันเดียวเท่านั้น ซึ่งพริโกซินก็ดำเนินตามแผนการที่วางไว้อย่างรวดเร็วจนน่าแปลกใจ 

และทันทีที่กลุ่ม Wagner ข้ามชายแดนยูเครนเข้ามาในรัสเซียในช่วงวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน ก็บุกยึดกองบัญชาการกองทัพรัสเซียในเมืองรอสตอฟได้ทันทีในวันเสาร์ และประกาศบุกมอสโควต่อในวันอาทิตย์ สร้างความปั่นป่วนโกลาหลไปทั่วกรุงมอสโคว ก่อนที่จะเยฟเกนี พริโกซิน จะยอมรับเงื่อนไขของทางรัฐบาลรัสเซีย ลี้ภัยไปเบลารุส และให้กลุ่ม Wagner ถอยกลับไปประจำในฐานที่มั่นของตน 

แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบแล้ว แต่กองทัพรัสเซียคงไม่อาจไว้วางใจกองกำลัง Wagner ได้อีกต่อไป แม้ปูตินจะยอมรับว่าทหาร Wagner ส่วนใหญ่ถือเป็นนักรบผู้กล้า ที่ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ แต่หลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา จำเป็นที่จะต้องสลายกลุ่ม Wagner โดยปูตินยื่นข้อเสนอว่า กองกำลัง Wagner มีทางเลือก 3 ทางคือเข้าประจำการในกองทัพรัสเซีย, กลับบ้าน หรือลี้ภัยไปเบลารุส เท่านั้น 

จากคำกล่าวอ้างของเยฟเกนี พริโกซิน มีกองกำลัง Wagner ที่ประจำการพร้อมรบอยู่ราว 25,000 คน และมีกองหนุนสำรองอีกนับหมื่นคน

‘โตโยต้า' จับมือพันธมิตร 'โตโยต้าทูโช - มิตซูบิชิ' ผลิตไฮโดรเจนจาก ‘มูลไก่-เศษอาหาร’ ครั้งแรกในไทย

📌 เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย. 66) รายงานข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ว่าขณะนี้ บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่นและ บริษัท มิตซูบิชิ คาโคกิ ไกชา จำกัด เตรียมแนะนำอุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สำหรับอุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนที่จะเปิดตัวจะผลิตโดย มิตซูบิชิ คาโคกิ ไกชา และติดตั้งในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลไก่ในท้องถิ่นและเศษอาหาร โดยโตโยต้า และ โตโยต้า ทูโช จะร่วมมือกันในการผลิตไฮโดรเจนเพื่อพิจารณาการสร้างและเปิดตัวระบบโดยรวมสำหรับการบีบอัด การจัดเก็บ และการขนส่งก๊าซชีวภาพและไฮโดรเจน ตลอดจนการจัดตั้งระบบปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ทั้ง 3 บริษัทและบริษัทในเครือจะทำงานร่วมกันและจัดการหารือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบสำหรับสภาพท้องถิ่น ซึ่งไม่เหมือนกับอุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนทั่วไปสำหรับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสถานีไฮโดรเจน โดยอุปกรณ์นี้จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิดริเริ่มในด้านการผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้ไฮโดรเจน

ทั้งโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น,โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่นและ มิตซูบิชิ คาโคกิ ไคชา จะยังคงใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนของญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละประเทศและภูมิภาค พวกเขายังจะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อช่วยให้บรรลุสังคมไฮโดรเจนและสังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอนในที่สุด

BIS ชี้ ‘เงินเฟ้อ’ หลายประเทศชั้นนำยังสูงต่อเนื่อง เตือน!! มีโอกาสเกิดวิกฤตเงินเฟ้ออีกระลอก

📌(26 มิ.ย. 66) ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เรียกร้องให้ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเตือนว่าเศรษฐกิจโลกในขณะนี้กำลังอยู่ในจุดที่สำคัญ เนื่องจากหลายประเทศกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมเงินเฟ้อ

BIS ระบุว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา แต่เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อ 15 ปีก่อน

นายออกัสติน คาร์สเตนส์ ผู้จัดการทั่วไปของ BIS ระบุในรายงานประจำปีว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งความท้าทายที่รุนแรงเช่นนี้จำต้องได้รับการแก้ไข การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น ๆ ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือการใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ โดยควรจะใช้ควบคู่กับนโยบายการคลัง”

ขณะที่นายเคลาดิโอ โบริโอ หัวหน้าฝ่ายการเงินและเศรษฐกิจของ BIS กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะก่อตัวขึ้นอีก แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอังกฤษและนอร์เวย์ที่สูงกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้

“ความท้าทายเหล่านี้ไม่เหมือนเดิมเมื่อเทียบมาตรฐานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นับเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกเกิดขึ้นพร้อมกับความเปราะบางทางการเงินเป็นวงกว้าง” นายโบริโอกล่าว

รายงานของ BIS ระบุว่า ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนานเท่าไร การดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินก็จำเป็นต้องบังคับใช้ยาวนานขึ้น พร้อมกับเตือนว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดปัญหาเพิ่มอีกในภาคการธนาคาร

นายโบริโอกล่าวว่า หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกับช่วงกลางทศวรรษ 1990 ภาระการชำระหนี้โดยรวมของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“ผมคิดว่าธนาคารกลางจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะงานของพวกเขาคือการรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม” นายโบริโอ กล่าว

‘จีน’ คิกออฟ ‘โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด’ 10,000 ไร่ ลดปล่อยคาร์บอนฯ มากกว่า 1.6 ล้านตันต่อปี

📌 (26 มิ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถานีไฟฟ้าพลังน้ำ-พลังแสงอาทิตย์แบบผสมผสานขนาดใหญ่ในอำเภอหย่าเจียง แคว้นปกครองตนเองกานจือ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เริ่มเปิดดำเนินการแล้วเมื่อวันอาทิตย์ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับสถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เคอลา ซึ่งเป็นโครงการระยะแรกของโครงการพลังน้ำ-พลังแสงอาทิตย์แบบผสมผสานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเหลี่ยงเหอโข่ว (Lianghekou) เป็นสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ-พลังแสงอาทิตย์แบบผสมผสานขนาดใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่บนที่สูงสุดในโลก

รายงานระบุว่าสถานีแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,667 เฮกตาร์ (ราว 10,000 ไร่) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1 ล้านกิโลวัตต์ และสามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 2 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1.6 ล้านตันต่อปี

อนึ่ง โรงไฟฟ้าพลังน้ำเหลี่ยงเหอโข่ว มีกำลังการผลิตติดตั้งตามการออกแบบรวม 3 ล้านกิโลวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำหย่าหลงในแคว้นปกครองตนเองกานจือ โดยแอ่งแม่น้ำหย่าหลงเป็นหนึ่งในฐานพลังงานสะอาดของจีน

‘SWIFT’ เผยเดือน พ.ค. ทั่วโลกใช้ ‘เงินหยวน’ เพิ่มขึ้น ครองอันดับ 5 ด้านการใช้จ่ายระหว่างประเทศมากที่สุด

🔴(26 มิ.ย. 66) สมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลกหรือสวิฟต์ (SWIFT) รายงานว่าสกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) หรือเงินหยวนของจีน ครองส่วนแบ่งสกุลเงินที่ถูกใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

🟢รายงานระบุว่าเงินหยวนครองอันดับ 5 ด้านการใช้จ่ายระหว่างประเทศ ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 2.54 ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.29 ในเดือนเมษายน มูลค่าการชำระเงินหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.38 จากเดือนเมษายน ขณะมูลค่าการชำระเงินทั้งหมดในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.75 

⚪นอกจากนี้เงินหยวนครองอันดับ 6 ด้านการชำระเงินระหว่างประเทศ หากไม่นับรวมการชำระเงินภายในยูโรโซน ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 1.51 และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับการทำธุรกรรมเงินหยวนนอกชายฝั่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 73.48 ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรที่ร้อยละ 5.17 และสิงคโปร์ที่ร้อยละ 3.84

‘จีน’ จัดส่งพัสดุครึ่งปีแรกทะลุ 6 หมื่นล้านชิ้น ทุบสถิติทำยอดเร็วกว่าปี 2019 ถึง 172 วัน

📌 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การไปรษณีย์แห่งประเทศจีน รายงานปริมาณการจัดส่งพัสดุในปีนี้สูงเกิน 6 หมื่นล้านชิ้นแล้ว เมื่อนับถึงวันที่ 24 มิ.ย. 66 ซึ่งสะท้อนความมีชีวิตชีวาของเศรษฐกิจจีน

รายงานระบุว่า ปริมาณการจัดส่งพัสดุของจีนสูงเกิน 6 หมื่นล้านชิ้น เร็วกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถึง 172 วัน และเร็วกว่าปี 2022 ราว 34 วัน

ปริมาณการจัดส่งพัสดุด่วนพุ่งสูงด้วยอานิสงส์กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจช่วงกลางปีจากบรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเดือนมิถุนายน โดยปริมาณการจัดส่งพัสดุด่วนระหว่างวันที่ 1-18 มิ.ย. เฉลี่ยสูงกว่า 400 ล้านชิ้นต่อวัน

ขณะที่กลุ่มบริษัทจัดส่งพัสดุปรับปรุงกระบวนการขนย้ายและจัดส่ง ขยายการใช้ระบบคัดแยกอัตโนมัติ คลังสินค้าแบบไม่มีคนควบคุม ยานยนต์ไร้คนขับ โดรน ตลอดจนอุปกรณ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจตั้งแต่ต้นปีนี้

นอกจากนั้นบริษัทต่าง ๆ ยังดำเนินการปรับปรุงแผนผังศูนย์กลางพัสดุในต่างประเทศ เครือข่ายภาคพื้นดิน และคลังสินค้าในต่างประเทศ เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคข้ามพรมแดนได้ดียิ่งขึ้น

‘จีน’ มีสถานีฐาน 5G ทะลุ!! 2.73 ล้านแห่งแล้ว พร้อมเร่งสร้างขุมเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

📌 เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนมีสถานีฐาน 5G เพิ่มขึ้นเป็น 2.73 ล้านแห่ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก

สำหรับงานแถลงข่าวของการประชุมเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก (Global Digital Economy Conference) ปี 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ระบุว่าจีนกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี 5G โดยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 5G จำนวน 634 ล้านราย

ขณะเดียวกันภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจจีน จำนวน 45 ภาคส่วน ได้ทำการบูรณาการอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งส่งเสริมขนาดอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงเกิน 1.2 ล้านล้านหยวน (ราว 5.82 ล้านล้านบาท) 

สำหรับทางด้านรายได้ของอุตสาหกรรมการผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของจีนในปี 2022 อยู่ที่ 15.4 ล้านล้านหยวน (ราว 74.64 ล้านล้านบาท) ขณะที่รายได้ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อยู่ที่ 10.8 ล้านล้านหยวน (ราว 52.35 ล้านล้านบาท) และรายได้ของอุตสาหกรรมคลังข้อมูลขนาดใหญ่อยู่ที่ 1.57 ล้านล้านหยวน (ราว 7.61 ล้านล้านบาท) ซึ่งวางรากฐานมั่นคงสำหรับการบูรณาการสารสนเทศและอุตสาหกรรมในจีน

จีนสั่งชาวแบงก์ งดใช้ของแบรนด์เนม ทลายนิสัยอวดไลฟ์สไตล์หรูหราแต่เนิ่นๆ

📌ถึงคิวชาวแบงก์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ แล้ว ที่จะต้องโดนใบเหลืองจากรัฐบาลจีน ในการสอดส่อง ไลฟ์สไตล์หรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อสังคมจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจการเงินของจีน นับเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีมูลค่าสูงกว่า 57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจจีน จึงไม่แปลกใจว่า กลุ่มคนทำงาน หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจการเงิน จะเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างตอบแทนสูงมากในจีน 

และด้วยรายได้ที่ดีกว่าอาชีพอื่น ๆ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูมั่งคั่ง และมั่นคง จึงนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ดูหรูหรา การเลือกใช้ของราคาแพง เพื่อให้ดูดีมีระดับ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของชาวจีนส่วนใหญ่ที่ยังต้องทำงานหนัก รายได้เดือนชนเดือน หรือยังหางานไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนทำงานในแวดวงการเงิน ถูกมองเป็นชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมจีน

ด้วยเหตุนี้ องค์กรเฝ้าระวังการฉ้อโกง ของรัฐบาลจีนได้ออกมาประกาศว่าจะขจัดแนวคิดของ 'ชนชั้นสูงทางการเงิน' ตามค่านิยมตามแบบตะวันตก ที่มุ่งแสวงหา 'รสนิยมระดับไฮเอนด์' มากเกินไป

จึงมีคำสั่งภายในองค์กรการเงิน และธนาคารตั้งแต่ขนาดใหญ่ จนถึงขนาดกลาง ไม่ให้บุคคลากรในทุกระดับ อวดโชว์ไลฟ์สไตล์โก้หรูจนเกินงาม ด้วยการโพสต์ภาพมื้ออาหารหรู ๆ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงของตนลงในโซเชียล เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม 

พนักงานธนาคารขนาดกลางแห่งหนึ่งของจีนเล่าว่า มีคำสั่งจากหน่วยงานให้เจ้าหน้าที่ทุกคนงดใช้กระเป๋า หรือสิ่งของแบรนด์เนมในที่ทำงาน รวมถึงการเข้าพักในโรงแรม 5 ดาว เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างเมือง

นอกจากข้อห้ามการใช้ข้าวของหรูหราแล้ว เบี้ยเลี้ยงที่ไม่จำเป็น และโบนัสอาจต้องถูกตัดด้วย 

แหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่า ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง...

Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ China Construction Bank Corp (CCB) มีแผนที่จะลดเบี้ยเลี้ยงพิเศษสำหรับพนักงานภายในปีนี้ หลายสถาบันการเงินอาจต้องปรับลดโบนัสลงตั้งแต่ 30% - 50%

การปรับลดเบี้ยเลี้ยง โบนัส หรือการออกข้อบังคับให้คนทำงานในองค์กรการเงินใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ เป็นผลพวงจากนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ของรัฐบาลจีนที่เล็งเป้ามาที่ภาคธุรกิจการเงิน และมีการแต่งตั้งองค์กรเฝ้าระวังการฉ้อฉลในภาคการเงินโดยเฉพาะในยุคของสี จิ้นผิง เทอม 3 เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลจีนทั้งแนวคิด และทางการเมือง

แต่อีกนัยยะหนึ่ง ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ จำเป็นต้องตักเตือนพนักงานของตนเรื่องการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย หรือการใช้สื่อโซเชียลโพสต์รูปอวดการใช้ชีวิตที่ทำให้หลายคนอิจฉา อาจทำเพื่อป้องกันไม่ให้สะดุดตาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลจีน ที่กำลังตรวจสอบหนักอยู่ในขณะนี้ 

ดังเช่นกรณีการหายตัวไปของนาย เป่า ฟาน นักลงทุน และ ผู้ก่อตั้งบริษัท China Renaissance เมื่อไม่นานมานี้ ที่ต่อมาทราบแต่เพียงว่า กำลังเก็บตัวเพื่อให้ความร่วมมือกับทีมสอบสวนคดีทุจริตของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีในธุรกิจการเงินจีนอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องหายหน้าไปจากสื่อ เมื่อต้องพัวพันกับคดีทุจริต หรือการตรวจสอบจากรัฐบาลจีน 

อาทิ กั่ว กวงฉาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Fosun International เสี่ยว เจี้ยนหัว นักลงทุนสัญชาติจีน - แคนาดา เจ้าของบริษัท Tomorrow Holding และเป็นที่รู้จักกว้างขวางของคนวงในรัฐบาลจีน แต่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง และ คอร์รัปชัน  รวมถึง แจ็ค หม่า เจ้าของธุรกิจ Alibaba  ที่ต้องหายหน้าจากสื่อจีนนานเกือบ 2 ปี ในช่วงที่จีนเริ่มตรวจสอบธุรกิจ Fin Tech 

ดังนั้นนโยบายการลดค่านิยมหรูหรา ฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนทำงานในองค์กรธนาคาร และ สถาบันการเงิน อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการลดช่องว่างทางสังคมหรือปัญหาการว่างงานในจีนแต่อย่างใด แต่ช่วยในด้านการลดกระแสสังคมที่มองว่าเป็นกลุ่มทุนชั้นสูง ที่มักถูกครหาว่าสร้างแนวคิดในการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ หรือไม่ก็เป็นการป้องกันตัวไม่ให้สะดุดตาจากองค์กรตรวจสอบทุจริตของภาครัฐ ที่มักจบลงด้วยคดีความที่ยุ่งยากตามมานั่นเอง

‘ไมครอน’ ทุ่มเงินลงทุน 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งโรงงานประกอบ-ทดสอบชิปแห่งแรกในอินเดีย

📌(23 มิ.ย. 66) ไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) หนึ่งในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีฐานในสหรัฐฯ ประกาศการลงทุนสร้างโรงงานประกอบและทดสอบชิปแห่งแรกในอินเดีย มูลค่าสูงถึง 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.91 หมื่นล้านบาท) ในรัฐคุชราตทางตะวันตกของประเทศ

แถลงการณ์จากไมครอน ระบุว่าการลงทุนดังกล่าวจะสร้างงานโดยตรงเพิ่มถึง 5,000 อัตรา และงานสำหรับชุมชนเพิ่ม 15,000 อัตรา ในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยบริษัทฯ จะรับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับต้นทุนของโครงการรวมร้อยละ 50 จากรัฐบาลกลางอินเดีย และสิ่งจูงใจคิดเป็นร้อยละ 20 ของต้นทุนโครงการทั้งหมดจากรัฐคุชราต

ไมครอนกล่าวว่าการลงทุนร่วมกันของไมครอนและรัฐบาลทั้งสองระดับในช่วง 2 ระยะ จะมีมูลค่าสูงถึง 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.7 หมื่นล้านบาท)

ซันเจย์ เมห์โรทรา ประธานของไมครอน กล่าวว่าโรงงานประกอบและทดสอบแห่งใหม่ในอินเดียจะช่วยไมครอนขยายฐานการผลิตระดับโลก ตลอดจนให้บริการลูกค้าในอินเดียและทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น

อนึ่ง ไมครอนคาดการณ์ว่าการก่อสร้างโรงงานแบบหลายระยะในรัฐคุชราตจะเริ่มในปี 2023

‘ไททานิก’ บรรทุกโลงศพมัมมี่เจ้าหญิงอียิปต์ เป็นเหตุให้เรืออับปาง จมสู่มหาสมุทรแอตแลนติก

📌(23 มิ.ย. 66) จากกรณีข่าวโด่งดังทั่วโลกกับเรือดำน้ำที่มีชื่อว่า ‘ไททัน’ ของ ‘บริษัทโอเชียนเกต’ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรือนำเที่ยวพาชมซากเรือสำราญแห่งตำนานอย่าง ‘ไททานิก’ ที่ต้องใช้เงินมหาศาลถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 21 มิ.ย. 23) เพื่อแลกกับ 1 ที่นั่งที่แสนจะคับแคบและอึดอัด (เรือดำน้ำไททัน มีความยาวประมาณ 6.4 เมตร) ได้ขาดการติดต่อกับเรือพี่เลี้ยงที่อยู่บนผิวน้ำ ซึ่งลอยลำอยู่ห่างจากอ่าว Cape Cod รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปทางตะวันออกประมาณ 900 ไมล์ (1,448 กิโลเมตร) หลังพาคณะทัวร์รวม 5 คน ดำดิ่งลงสู่ใต้น้ำได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที! ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 18 มิ.ย. 23

ล่าสุด นิปปอน นวนันท์ บำรุงพฤกษ์ ผู้ประกาศคนดัง ได้มาออกรายการแฉ พร้อมเล่าเรื่องราวอาถรรพ์ของ ‘ไททานิก’ โดยนิปปอน เล่าว่าในสมัยนั้น เรือไททานิก ถือว่าเป็นเรือที่ใหญ่มากคนมีเงินเท่านั้นถึงจะได้ขึ้น โดยเรือไททานิกล่มวันที่ 15 เมษายน ปี 1912 ออกจากอังกฤษเพื่อไปนิวยอร์ก ออกไปได้แค่ 3 วัน เรือล่มชนภูเขาน้ำแข็ง หายไปกว่า 70 ปี กว่าคนจะหาเจอซากใต้มหาสมุทรแอตแลนติก

ซึ่งก็ยังไม่มีใครเคยเห็นภาพเรือไททานิก ที่จมอยู่ข้างใต้ด้วย จนสุดท้ายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีบริษัทที่ทำแผนที่ใต้ทะเลลงทุนไปถ่ายสแกนภาพ 3 มิติ สรุปแล้วเรือไททานิกนั้นจมในสภาพหักครึ่งอยู่ห่างกัน 800 เมตร โดยคนสมัยนั้นเชื่อว่าอาจเป็นอาถรรถพ์เล่าลือกันว่าในเรือไททานิกมีโลงศพมัมมี่ ของเจ้าหญิงอียิปต์อยู่บนนั้น

ในสมัยหนึ่งมีคนเชื่อว่าใครที่ได้ครอบครองมัมมี่อียิปต์จะหายสาปสูญไปทันที ก่อนหน้านั้นมีเศรษฐอียิปต์ได้ไปครอบครองก็หายตัวไปในทะเลทรายเฉย ๆ จนกระทั่งมีเศรษฐีซื้อไป ก็ทำให้บ้านไฟไหม้เจอแต่เคราะห์ร้าย เศรษฐีจึงให้มัมมี่กับพิพิธภัณฑ์อังกฤษ จนกระทั่งปี 1912 มีนักโบราณคดีสหรัฐฯ คนหนึ่งซึ่งไม่เชื่ออาถรรพ์ต้องการจะให้โลงมัมมี่กลับมาอยู่ที่นิวยอร์กก็เลยใส่มาบนเรือไททานิก

นอกจากนี้มดดำได้กล่าวเสริมอีกหนึ่งอาถรรพ์ที่เกิดขึ้นปี 2533 เป็นเรือประมงของประเทศนอร์เวย์ บังเอิญไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งว่ายน้ำมาขอความช่วยเหลือ พอช่วยขึ้นมาหญิงคนนั้นบอกว่าตนอายุ 29 มาจากเรือไทนานิก ซึ่งปีที่เรือไททานิคล่มอยู่ในปี 2455 ห่างกัน 100 กว่าปี ซึ่งสิ่งที่แปลกประหลาดหลังจากพาหญิงสาวรายนี้ไปรักษาโรงพยาบาลได้ประมาณ 6 เดือน เธอก็แก่ลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตไปอย่างปริศนา

ล่าสุด (23 มิ.ย. 66) บีบีซีรายงานความคืบหน้าปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททันของบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชั่น ที่หายสาบสูญไปพร้อมลูกเรือ 5 คน ระหว่างดำดิ่งลงไปทัวร์ซากเรือไททานิก ว่าพบเศษชิ้นส่วนปริศนากระจายเต็มพื้นทะเล โดยมีชิ้นส่วนของเรือไททันรวมอยู่

การเปิดเผยล่าสุดมาจากนายเดวิด เมิร์นส์ เพื่อนของหนึ่งในผู้โดยสารบนเรือดำน้ำไททัน กล่าวว่า ชิ้นส่วนที่พบนั้นมีส่วนของขาตั้งและฝาครอบด้านหลังของเรือรวมอยู่ด้วย

ความคืบหน้านี้ต่อเนื่องจากการเปิดเผยจากหน่วยบัญชาการกลางภารกิจค้นหาโดยหน่วยยามฝั่งของสหรัฐอเมริกา ว่าผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งวิเคราะห์เศษชิ้นส่วนที่พบอย่างละเอียด และเตรียมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 23 มิ.ย. ตามเวลาประเทศไทย

รู้จัก ‘โอเชียนเกต’ ‘บริษัทเรือดำน้ำ’ ที่พาชมซาก ‘เรือไททานิก’ เปิดมากว่า 14 ปี โกยรายได้ต่อปี 344 ล้านบาท

📌 (23 มิ.ย. 66) บริษัทโอเชียนเกต ก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดย ‘สต็อกตัน รัช’ อดีตนักบินสู่นักประกอบเรือดำน้ำมือฉมัง เขามีเรือดำน้ำที่สร้างขึ้นเองหลายลำ โดยเขาดูแลด้านการเงินและวิศวกรรมของบริษัท โดย ‘โอเชียนเกต’ ให้บริการเรือดำน้ำแบบมีคนขับสำหรับเพื่ออุตสาหกรรม การวิจัย การสำรวจใต้ทะเลลึก และการบันทึกสื่อและภาพยนตร์ใต้น้ำ บริษัทมีเรือดำน้ำ ให้บริการ 3 รุ่น ได้แก่

1. TITAN ระดับความลึก  4,000 เมตร (13,123 ฟุต) วัสดุทำจากคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม สามารถเข้าถึงมหาสมุทรเกือบ50% ของโลกได้ ไททันเป็นเรือดำน้ำเพียงลำเดียวในโลกที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารถึง 5 คนไปที่ความลึกเหล่านี้ได้

2. Cyclops 1 ระดับความลึก 500 เมตร (1,640 ฟุต) Cyclops 1 เป็นเรือดำน้ำลำแรกของรุ่น Cyclops เป็นเรือดำน้ำต้นแบบ สู่การสร้างรุ่น Titan ทั้งซอฟต์แวร์เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เปิดตัวครั้งแรกในปี 2558 ถูกไปใช้ในภารกิจต่าง ๆ มากมายในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก รวมถึงอ่าวเม็กซิโก

3. Antipodes ระดับความลึก  305 เมตร (1,000 ฟุต) เดินทางในระดับน้ำที่ตื้น มีโดมอะคริลิกครึ่งวงกลมสองโดมให้มุมมองที่ไม่มีเด่นชัด และเป็นเรือที่เหมาะสำหรับการทำงานเป็นทีมร่วมกัน

ซึ่งการดำเนินธุรกิจของ ‘โอเชียนเกต’ มีดังนี้

ปี 2552-2554 - บริษัทซื้อเรือดำน้ำรุ่น Antipodes, ยานพาหนะหุ่นยนต์สองลำ, เรือสนับสนุนต่าง ๆ และอุปกรณ์สนับสนุนหลายชิ้น  

ปี 2555 - ได้รับเรือดำน้ำลำที่ 2 และสร้างขึ้นมาใหม่เป็น Cyclops 1 เพื่อทำหน้าที่เป็นต้นแบบสำหรับเรือไททัน

กิจการดำเนินไปอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จในการสำรวจมากกว่า 14 ครั้ง จากการดำน้ำมากกว่า 200 ครั้งทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอ่าวเม็กซิโก 

ปี 2561 -  ‘เดวิด ลอชริดจ์’ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท โอเชียนเกต (OceanGate) ถูกไล่ออกจากบริษัทหลังจากทำรายงานด้านความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน

ปี 2563 -  ‘สต็อคตัน’ ซีอีโอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เรือไททันแสดงอาการล้าจากการหมุน (Cyclic Fatigue) ในการทดสอบที่ระดับความลึก 4,000 เมตร ทำให้ขีดความสามารถถูกลดลงเหลือ 3,000 เมตร

ต่อมาทางบริษัทได้ปรับปรุงตัวเรือ และยกเลิกการใช้ตัวถังที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ไป 

ปี 2565 บริษัทได้เริ่มกลับมาให้บริการเรือดำน้ำครั้งแรก โดย 1 ในบริการเด่น คือ ทัวร์ชมเรือไททานิก

ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งใช้เวลาเดินทาง 8 วัน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 8.7 ล้านบาท

ปัจจุบัน ‘รายได้’ บริษัทโอเชียนเกต อยู่ที่ประมาณ 9.9 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ 344 ล้านบาท โดยได้รับการระดมทุนมาแล้ว 2 ครั้งทั้งหมด รวม 19.8 ล้านดอลลาร์หรือ 689 ล้านบาท

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับธุรกิจเรือดำน้ำด้วยกัน โอเชียนเกต ไม่ใช่ผู้นำอุตสาหกรรมกลุ่มในแง่รายได้ ข้อมูลจาก growjo.com จัดอันดับดังนี้

อันดับ 1 SAFE Boats International รายได้ 51.9 ล้านดอลาร์/ปี (1,818 ล้านบาท)
อันดับ 2 Oil Companies International Marine Forum (OCIMF) 26.2 ล้านดอลลาร์/ปี (917 ล้านบาท)
อันดับ 3 Intermarine 17.4 ล้านดอลลาร์/ปี ( 609 ล้านบาท)
อันดับ 4 OceanGate 9.9 ล้านดอลลาร์/ปี (344 ล้านบาท)
อันดับ 5 PYI 5.4 ล้านดอลลาร์/ปี (189 ล้านบาท)

เปิดปูม ‘ไททัน’ มีคนเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่สุดท้าย ตัวคนเตือนกลับโดน ‘ไล่ออก’

สื่อต่างประเทศเผยเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ของบริษัท OceanGate ซึ่งสูญหายระหว่างพาผู้บริหารและนักท่องเที่ยวลงไปสำรวจซากเรือไททานิคเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) เคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่คนเตือนจะถูก ‘ไล่ออก’

เรือดำน้ำไททันซึ่งมีซีอีโอของ OceanGate เป็นกัปตันผู้ควบคุมเรือ พร้อมผู้โดยสารอีก 4 คน ซึ่งได้แก่ เฮมิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ พอล-อองรี นาร์เจอเลต (Paul-Henri Nargeolet) นักดำน้ำมืออาชีพฝรั่งเศส และ 2 พ่อลูกมหาเศรษฐีปากีสถาน คาดว่าจะยังเหลือออกซิเจนเพียงพอจนถึงเวลา 10.00 GMT วันนี้ (22 มิ.ย.) หรือประมาณ 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

เรือดำน้ำไททันความยาว 6.7 เมตร ของบริษัท OceanGate ซึ่งมีฐานในเมืองเอเวอเร็ตต์ รัฐวอชิงตัน ถูกส่งลงไปใต้ทะเลลึกครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 โดยดำลงไปถึงระดับความลึก 4,000 เมตร ตามข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท และเคยดำลงไปยังซากเรือไททานิคบนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ความลึก 3,800 เมตร ครั้งแรกในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมหลายคน รวมถึงอดีตพนักงานคนหนึ่งได้เคยแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน เนื่องจาก OceanGate เลือกที่จะไม่ขอการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น American Bureau of Shipping ซึ่งเป็นสมาคมจำแนกประเภทการเดินเรือของอเมริกา หรือบริษัท DNV ของทางยุโรป

วิล โคห์เนน (Will Kohnen) ประธานคณะกรรมการสอบทานด้านยานดำน้ำของ Marine Technology Society ระบุในจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค. ปี 2018 ที่ส่งไปถึง สต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ OceanGate ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดำน้ำที่สูญหาย โดยเขาได้ย้ำเตือนความกังวลของคนในแวดวงอุตสาหกรรมเรื่องที่ OceanGate ไม่ได้นำเรือไททันผ่านกระบวนการรับรองด้านการออกแบบ การผลิต และการทดสอบกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

ก่อนหน้านั้น เดวิด ล็อคริดจ์ (David Lochridge) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของ OceanGate ได้ส่งรายงานด้านวิศวกรรมไปยังผู้บริหารของบริษัท ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการวิจัยและพัฒนายานดำน้ำลำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวัสดุที่ใช้ผลิตลำตัวเรือ (hull) และการที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการทดสอบอย่างเข้มข้นว่าตัวเรือจะสามารถทนต่อแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึกได้หรือไม่

OceanGate ได้เรียกประชุมในวันถัดมาเพื่อหารือข้อกังวลของ ล็อคริดจ์ ซึ่งในตอนท้ายเจ้าตัวยืนยันว่ารับไม่ได้กับการออกแบบยานดำน้ำของทางบริษัท และจะไม่เซ็นอนุญาตให้ส่งคนลงไปกับเรือลำนี้จนกว่าจะมีการทดสอบเพิ่มเติม

จุดยืนของ ล็อคริดจ์ ทำให้เขาถูก OceanGate ไล่ออกในเวลาต่อมา นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ยื่นฟ้องเอาผิดกับเขาในปีเดียวกัน ฐานนำข้อมูลลับภายในบริษัทไปหารือกับบุคคลภายนอกอย่างน้อย 2 คน

ล็อคริดจ์ ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือน ส.ค. ปี 2018 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของ OceanGate และอ้างว่าบริษัทแห่งนี้พยายามข่มขู่ “ผู้เปิดเผยความจริง (whistleblowers) ไม่ให้ออกมาแฉปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้โดยสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่”

ขณะเดียวกัน เดวิด พ็อก (David Pogue) ผู้สื่อข่าว CBS ซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมทดสอบเรือดำน้ำไททัน ก็ออกมาทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (20) ว่า ยานลำนี้เคย “ขาดการติดต่อ” กับเรือแม่หลายชั่วโมงระหว่างที่ดำลงไปใต้ทะเลเมื่อปี 2022 และสิ่งที่ลูกเรือทำในตอนนั้นก็คือการ ‘ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต’ เพื่อไม่ให้นักข่าวแชร์ข้อผิดพลาดนี้ออกไป

“พวกเขายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ ไปยังเรือดำน้ำได้ แต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ในตำแหน่งไหน” พ็อก ระบุ

“สถานการณ์ตอนนั้นทั้งเงียบและตึงเครียด พวกเขาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้เราสามารถทวีตข้อมูลออกไปได้”

‘นักวิจัย’ ชี้!! อาจเห็นความร่วมมือ ‘จีน-ญี่ปุ่น’ ผนึกกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

📌(21 มิ.ย. 66) ทังจิ้น เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสประจำธนาคารมิซูโฮของญี่ปุ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าจีนและญี่ปุ่นมีโอกาสร่วมมือกันในกระบวนการพัฒนาและขยับขยายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกมาก

ทังระบุว่าอัตราการเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในจีนได้ผ่านจุดเปลี่ยนแล้ว คำถามถัดไปคือยานยนต์ไฟฟ้าจะแข่งขันกับยานยนต์เชื้อเพลิงอย่างไร ความเร็วของใช้พลังงานไฟฟ้าจะเร็วเท่าไร และจะใช้เวลากี่ปีจึงจะเกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนั้นทังมองว่าการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของจีนมีทิศทางแข็งแกร่ง อาจมีการพัฒนาและปรับปรุงผ่านการแข่งขันจนกลายเป็นกระแสหลัก รวมถึงมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นผู้นำการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของโลกในอนาคต

ด้านผู้จัดจำหน่ายของญี่ปุ่นได้สั่งสมประสบการณ์มากมายในด้านวัสดุ อุปกรณ์ และส่วนประกอบผ่านการวิจัยขั้นพื้นฐานในระยะยาว โดยจีนและญี่ปุ่นต่างส่งเสริมกันในด้านเหล่านี้อย่างชัดเจน และมีโอกาสร่วมมือกันอีกมาก

“บริษัทยานยนต์ของจีนต้องการห่วงโซ่อุตสาหกรรมชั้นยอด เพื่อสร้างแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าชั้นยอดและเป็นที่หนึ่งในการแข่งขัน ขณะจีนและญี่ปุ่นสามารถคว้าชัยชนะร่วมกันในหลายด้าน” ทังกล่าว 

นอกจากนี้ทังยังแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนและญี่ปุ่นสามารถเรียนรู้จากกันและกันผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยี เงินทุน และอื่น ๆ ขณะยานยนต์ไฟฟ้าของจีนก้าวสู่ระดับโลก

ทังเสริมว่ากำลังการบริโภคยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของตลาดยานยนต์ทั่วโลกในอนาคต โดยคาดว่าตลาดจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้ และความต้องการของผู้บริโภคบางส่วนในประเทศพัฒนาแล้วจะกลับมา แต่ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการฟื้นตัวสู่ระดับในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top