'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการณ์ แต่เขื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น