Friday, 5 July 2024
ประเทศไทย

‘เมืองไทย’ ปลายทางยอดฮิต เย้ายวน ‘นักท่องเที่ยว LGBTQIAN+’ ทั่วโลก

📌งาน Bangkok Pride 2023 เพิ่งผ่านไป มีผู้เข้าร่วมในงานมากมายทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ 

รู้หรือไม่? ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIAN+ ติดอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก โดยนิยมมาเที่ยวในพื้นที่ขึ้นชื่อ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย และพัทยา นอกจากนี้ยังสร้างรายได้สะพัดเข้าไทยกว่า 2.26 แสนล้านบาทด้วย

4 ตระกูลใหญ่ กุมตลาดหุ้นไทย 20 %

📌Reuters รายงานว่า 4 ตระกูลใหญ่ของประเทศไทย รัตนาวะดี (Gulf), เจียรวนนท์ (CP Group), จิราธิวัฒน์ (Central Group) และ สิริวัฒนภักดี (TCC Group) คือกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่กุมสัดส่วนหุ้นไทยรวมกันถึง 20%

ส่อง 5 อันดับ ต่างชาติซื้อคอนโดในไทย ปี 65

🔍บ้านหลังที่สอง

คอนโดมิเนียมไทย ยังเนื้อหอมโดนใจชาวจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดใหญ่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ใกล้โรงเรียนนานาชาติ จากเทรนด์ซื้อเพื่อการลงทุน เปลี่ยนเป็นซื้อเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว เปรียบดังบ้านหลังที่สองก็ว่าได้

สะพัด!! 4 หมื่นล้าน!! 'ต่างชาติ' ลงทุนไทย 5 เดือนแรกปี 66

🔍‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์!! 

จากสถิติ 5 เดือนแรกของปี 2566 นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนในไทยมูลค่ารวมกว่า 45,392 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 2,999 คน โดยญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 1 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,873 ล้านบาท

ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 2 ปลายทางยอดนิยม นทท. ทั่วโลก ‘กรุงเทพฯ’ คว้าอันดับ 1 เมืองถูกจองเข้าพักมากที่สุด

📌(22 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผลสำรวจ เดือนม.ค. - พ.ค.ปี 2566 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นบนหลายแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ทั้ง Agoda และ Klook สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 5 เดือน กว่า 10.6 ล้านคน สะท้อนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไทย และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล

โดย Agoda แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เปิดเผยสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น จากการที่ไทยเปิดประเทศเร็ว โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับ ไทยมีเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ

ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการจองเข้าพักบนแพลตฟอร์มมากที่สุดในโลก โดย Agoda เชื่อมั่นว่า กรุงเทพฯ สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชียได้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

นายอนุชา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับ Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย ในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายใต้แคมเปญ ‘Let Your Journey be THAI’ โดยส่งเสริมต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทย ผ่านการประชาสัมพันธ์ 5F Soft Power ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจองกิจกรรมในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,200 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีการจองกิจกรรมไทยบนแพลตฟอร์ม Klook มากที่สุดเป็น 5 อันดับแรก กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ ทัวร์แบบ Day trip กิจกรรมชมความสวยงามของเมืองไทย และสปา เป็นต้น

‘เจ้าสัวธนินท์’ ยกไทยศูนย์กลางของอาเซียน ชวนนักธุรกิจจีนทั่วโลกหาโอกาสลงทุนในพื้นที่ EEC

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย. 66) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน ปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก

นายธนินท์ ระบุตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไงก็แล้วแต่นักธุรกิจชาวจีน และนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และหาทางคว้าโอกาสเหล่านั้นได้

โดยในด้านการลงทุนนั้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางอาเซียน ตอนนี้ยังมองโอกาสของการพัฒนาความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยหวังว่านักธุรกิจจีนจะมองโอกาสเข้ามาการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย เพราะในอนาคตภาคการผลิตถือว่ามีความสำคัญ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการพัฒนาในพื้นที่ EEC โดยให้สิทธิประโยชน์กับโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

พร้อมกันนี้ยังมองด้วยว่า ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การเข้ามาของนักลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทยก่อนหน้านี้ และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประเทศมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น

“ปัจจุบัน จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน คิดย้อนกลับไปญี่ปุ่นมีประชากรไม่กี่ร้อยล้านคนแต่สามารถสร้างบทบาทด้านเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจีนก็สามารถทำได้เช่นกัน”

นายธนินท์ กล่าวว่า ในอนาคตคนหนุ่มสาวจะต้องมีการออกไปสร้างธุรกิจ ซึ่งในวันนี้การสร้างธุรกิจ มีความสะดวกมากกว่าในอดีต เพราะมีทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลตัวเลขและจัดหาสินค้าและวัตถุดิบในการลงทุนได้ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการผลิต และการมีศูนย์กระจายสินค้าที่ดีด้วย 

ทั้งนี้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ ต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก แม้อนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และเทคโนโลยีชีวภาพ แต่แรงงานคน ก็สามารถหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้นได้

นอกจากนี้ยังมองถึงเรื่องการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในภาคการผลิตของอนาคต เพราะจะช่วยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรม

โดยยกตัวอย่างนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากนิวเคลียร์ และประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่ได้แสดงการคัดค้านเรื่องนิวเคลียร์ นั่นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลฝรั่งเศสวางมาตรการในการลดความเสี่ยงและคุ้มครองประชาชน ส่งผลให้เกิดความคึกคักในการลงทุนอย่างมาก

นายธนินท์ ยอมรับว่า เรื่องของพลังงานสะอาด ถือเป็นสิ่งสำคัญและมีหลายประเภททั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ เพราะในอนาคตพลังงานสะอาดจะมีความสำคัญต่อภาคการผลิต และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกด้วย

โบรกฯ ชูหุ้น ‘GFPT-CPF’ คาด ‘ส่งออก-ราคาไก่พุ่ง’ หลัง ‘มาเลเซีย’ ไฟเขียวรับรองโรงผลิตปศุสัตว์ ‘ไทย’

🔴 (26 มิ.ย. 66) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ ว่า มาเลเซียได้ประกาศรับรองโรงงานผลิตปศุสัตว์ของไทยเพิ่มอีก 11 แห่ง ได้แก่ โรงฆ่าไก่ 7 แห่ง โรงฆ่าเป็ด 1 และโรงงานผลิตนม 3 แห่ง หลังจากเดินทางมาตรวจเดือน ก.พ. - มี.ค. ซึ่งคาดการณ์ปี 2566 มูลค่าส่งออกไปมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10% คิดมูลค่าที่เพิ่ม 1.5 พันล้านบาท

🟢 ทั้งนี้ KCS Strategist มองบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออกสัตว์ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) หรือ BR โดยเน้น 'GFPT' ราคาเป้าหมาย 14 บาท และ 'CPF' ราคาเป้าหมาย 23 บาท จากแนวโน้มการส่งออกไก่และราคาไก่ดีขึ้น

เปิดสถานะ 'การเงิน-การคลังไทย' แข็งแกร่ง 8 เดือนแรกปีงบฯ 66 จัดเก็บรายได้กว่า 1.22 แสน ลบ.

📌(27 มิ.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ฐานะการเงิน-การคลังของไทยมีความแข็งแกร่ง หลังรับทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าประมาณการ และรายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนกว่า 2.57 แสนล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,643,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่...

(1) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ 

(2) ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และรายได้จากใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM 

(3) กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี 

และ (4) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้ที่เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 69,248 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,569,515 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,221,328 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 384,243 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 256,857 ล้านบาท 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีสัญญาณเป็นไปในทิศทางบวก สถานะการเงินการคลังของไทยแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนทิศทางการทำงานที่ถูกต้องของรัฐบาลภายใต้วินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด รวมถึงความมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตลอดมา โดยยึดหลักของความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

ไทยรับอานิสงส์ ต่างชาติจ่อย้ายฐานการผลิต หลังการแข่งขันเทคโนโลยี ‘จีน-สหรัฐฯ’ ยืดเยื้อ

🔴สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย สถานการณ์การแข่งขันเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ยังคงยืดเยื้อ และคาดการณ์ว่าจะยังไม่สิ้นสุดในระยะเวลาใกล้นี้ ส่งผลให้บริษัทรายสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศคู่แข่งขันในสงครามเทคโนโลยี โดยมองว่า ‘ไทย’ จะได้รับอานิสงส์ หลังมีการวางตัวเป็นกลางระหว่างทั้งสองประเทศ

🟢นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทย พบว่า ปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความไม่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทย ในแง่ของการเป็นฐานการผลิตสินค้าแต่ละประเทศมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน หรือก็คือเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน ไทยมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการตั้งฐานการผลิต โดยหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการของตน และไทยเองมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้

⚪อย่างไรก็ตามภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรวางแผนการกระจายความเสี่ยงกรณีห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก โดยการจัดหาวัตถุดิบที่มาจากหลายแหล่ง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top