‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง!! ศก.ไทยเหมือนร้านอาหาร เมนูส่วนใหญ่ ‘ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม-ไม่ปรับตัวตามเวลา’

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ (ต๊ะ) คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.67 ระบุว่า…

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก อาจโตแบบช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมองไปที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่ในปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่อัตราการว่างงานไม่มากนัก ภาวะทางการคลังมีหนี้สูง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่กระทบการเติบโตของสหรัฐฯ

ส่วนยุโรป ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออก ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและอาหารฝั่งยุโรปสูงขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ยังติดกับดักเศรษฐกิจภาวะเงินฝืดมายาวนาน ซึ่งวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นแพงสําหรับคนญี่ปุ่น แต่กับคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ว่าค่าครองชีพที่นั่นถูกมากในรอบหลาย 10 ปี ฉะนั้นวันที่ภาพของญี่ปุ่น จึงเป็นภาพของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงและการส่งออกที่ดีจากค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ภายใต้สัญญาณการสิ้นสุดการหยุดดอกเบี้ยติดได้ลบเร็ว ๆ นี้ 

ข้ามมาที่ จีน ตอนนี้อยู่ในภาวะการปรับฐานเศรษฐกิจหลังจากที่เติบโตมายาวนาน ซึ่งทางการอยากให้โตช้าลง โดยเริ่มโฟกัสไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน ด้วยการไม่อนุญาตให้ลงทุนกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบเก็งกำไร เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง เริ่มมีปัญหาในลักษณะนี้แล้ว ทางการจีนจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเราเหมือนร้านอาหารเป็นร้านอาหารที่ดีแต่โต๊ะเต็มแล้ว ต้องเพิ่มช่องว่างและศักยภาพทางการตลาด โดยเปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ขายอาหารแพงขึ้น เปลี่ยนเป็นร้านอาหารที่ราคาสูงมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากประเทศที่ขายของถูกกลายเป็นขายของแพง หรือ ลดต้นทุน เช่น ร้านอาหารนี้เคยใช้พนักงานจำนวนมาก ขายของไม่แพงเราก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร และปรับใช้คนน้อยลง ก็สามารถทำให้ธุรกิจไปต่อได้

เปรียบแล้ว ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมีเมนูใหม่ ๆ มาขาย ที่ผ่านมาเรามีแต่เมนูเดิม ๆ ถ้าเรานึกภาพว่าประเทศไทยส่งออกอะไรบ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ยังเหมือนกันกับ 10 ปีที่แล้ว และก็เหมือนกันมาจนถึงวันนี้ที่เราก็ยังส่งออกของเดิม ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ 30 ปีที่แล้วส่งออกแบบหนึ่ง 20 ปีที่แล้วส่งออกอีกแบบหนึ่ง 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ก็ส่งออกอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปตลอด เพราะเขาเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลก

เมื่อถามถึงเรื่องพลังงาน คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า โครงสร้างพลังงานของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีส่วนได้เปรียบ เช่น ซื้อพลังงานด้วยถ่านหินแก๊สธรรมชาติหรืออะไรต่าง ๆ แล้วบริหารจัดการผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาพลังงานสูงตามไปด้วย จนไม่เกิดการแข่งขัน แต่กลับกันถ้าโรงไฟฟ้าสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดการแข่งขันกันทำโปรโมชัน ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ 

ส่วนสาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็เพราะว่าเรามีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในระบบเยอะมาก ทำให้ค่าเอฟทีแพง เพราะว่าเราต้องสำรองเรื่องนี้ แน่นอนว่าในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่ เพราะถ้าหากเราเริ่มหนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีเสถียรภาพของไฟฟ้าหมุนเวียนที่น้อย การมีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ก็จะช่วยเข้ามาชดเชยตรงนี้ได้ 

โดยสรุปแล้วในส่วนของพลังงานไทย คุณพลัฏฐ์ มองว่า ประเทศไทยต้องก้าวตามเทรนด์พลังงานสีเขียวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และมุ่งรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้าอีวีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามมา แต่ผลของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีที่จะถูกลง ขณะเดียวกันมลพิษและอากาศจะเป็นสิ่งที่หายไป ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจุดจ่ายไฟ หรือนโยบายที่จะมาสนับสนุน แต่จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามในรายละเอียดข้างหน้ากันต่อไป