Monday, 8 July 2024
THE TOMORROW

‘BWG-ETC-GULF’ ปิดดีลใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

‘BWG-ETC’ บิ๊กดีลผนึกร่วมลงทุน GULF ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท ประกาศขึ้นแท่นผู้ดำเนินโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์1ของประเทศ

(12 มี.ค. 67) บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG, บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC, และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ร่วมลงนามลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ

นายศุภวัฒน์  คุณวรวินิจ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ร่วมลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ดังนี้

1.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด หรือ GGP ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50:50 ซึ่ง GWTE มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งมีศักยภาพทางการเงิน เนื่องจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการใช้เงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท

2.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง BWG กับ GWTE เพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ

3.การลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบัน GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ ETC อยู่ที่ 33% GWTE อยู่ที่ 34% และ WTX อยู่ที่ 33% ซึ่งปัจจุบัน SIP มีการดำเนินการ ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,200 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG กล่าวว่า ความร่วมมือกับ GULF ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ โดยการดำเนินธุรกิจด้านโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมของ BWG รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของ ETC และบริษัทในเครือถือเป็นการให้ความสำคัญด้านการลงทุนที่สร้างโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อเป็นพลังงานนี้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านพลังงานสีเขียว และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“BWG มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม (ขยะอุตสาหกรรม) อย่างครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) และ ETC เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะ ชุมชนที่มีมาตรฐานสูง”

ล่าสุดบอร์ดเคาะอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ แบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 540,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท (Par) เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 6 (BWG-W6) จำนวน 900,199,539 หน่วยเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินที่ได้รองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับผู้ร่วมทุนอื่นจำนวน 10 โครงการ และ 2 โครงการ จากการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

12 มีนาคม พ.ศ. 2558 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ม.พะเยา “การงานใดจะสำเร็จลุล่วงได้ ต่อเมื่อทุกคนรู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน”

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2556 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า…

“การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการขั้นสูง และสามารถใช้ความรู้นั้นประกอบอาชีพการงานสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตน แก่ส่วนรวมได้ บัณฑิตในฐานะที่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับสูง จึงต้องตั้งใจนำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้ประกอบกิจการงานให้บังเกิดผล แต่การที่จะทำงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้จริงนั้น สำคัญที่แต่ละคนจะต้องรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นอย่างจริงจังหนักแน่น กล่าวคือ ในการปฏิบัติกิจการงาน บัณฑิตจะต้องทำความเข้าใจให้ทราบชัดว่า ตนมีหน้าที่อะไรแล้วตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงจนสำเร็จลุล่วงด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งพยายามปรับปรุงพัฒนางานในหน้าที่ให้ดีขึ้นเจริญขึ้นอยู่เสมอ เมื่อทุกคนรู้หน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน การงานทุกอย่างที่ทำก็จะสำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ และผลสำเร็จอันเกิดจากการปฏิบัติงานของแต่ละคนนั้น นอกจากจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองแล้ว ยังประกอบเกื้อกูลกันเป็นความเจริญก้าวหน้าของส่วนรวมด้วย จึงขอให้บัณฑิตทุกคนรู้หน้าที่ของตนและรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างเคร่งครัดจะได้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่แท้จริงและยั่งยืนให้แก่ตนเองและส่วนรวมได้สืบไป”

ต่อจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระเกศพระพุทธรูปนาคปรก ส.ธ. ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา ณ มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

11 มีนาคม พ.ศ. 2453 รำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร’ ผู้ริเริ่มการประดิษฐ์ ‘ปรุงยาไทย’ ผสมกับ ‘ยาต่างประเทศ’ คนแรก

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2398 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2411 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล รับหน้าที่เป็นนายด่าน ทำการก่อสร้างหอพระคันธารราฐ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งก่อสร้างค้างมาตั้งแต่รัชกาลก่อน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ มีพระอัธยาศัยนิยมศึกษาตัวบทกฎหมายและอรรถคดี จึงโปรดฯ ให้ไปศึกษากฎหมายและการพิจารณาความกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งทรงบัญชาการศาลรับสั่ง อยู่ในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2417 โปรดให้ตั้งองคมนตรีสภา (เดิมคือ ปรีวีเคาน์ซิล) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล เป็นองคมนตรีในครั้งนั้นด้วย และแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี พิจารณาความรับสั่งบางเรื่อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งศาลฎีกา ขึ้นในปี พ.ศ. 2419 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา พระองค์แรก และทรงได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร และเป็นอธิบดีศาลแพ่งกลาง และศาลแพ่งเกษม อีก 2 ศาล ในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่พระองค์ได้ทรงจัดการศาลต่างประเทศ และจัดการระเบียบการปกครองภาคเหนือใหม่ ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2428 และในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2429 ทรงได้รับสถาปนาเลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงศักดินา 15,000

ในปี พ.ศ. 2434 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว เสด็จขึ้นไปว่าราชการอยู่ที่หัวเมืองลาวกาว ประจำอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทางภาคอีสาน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงหัวเมืองชั้นนอก ประมาณ 20 หัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ยังมิได้รวมเป็นมณฑล ในการเสด็จออกตรวจราชการตามท้องที่ต่าง ๆ ทำให้พระองค์ทรงมีความรู้เกี่ยวกับชายแดนลาว และเขมร เป็นอย่างดี

เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้พิพากษาฝ่ายไทยร่วมกันพิจารณาคดีความร่วมกับฝรั่งเศส ในกรณีพระยอดเมืองขวาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ที่สอง สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตน์วิศิษฎ์ ซึ่งถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเสด็จไปราชการ ณ ประเทศยุโรป และได้เป็นรัฐมนตรีด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงมีความรู้ด้านการแพทย์ ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่คิดประดิษฐ์ปรุงยาไทยผสมกับยาต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีพระอัจฉริยภาพในด้านการพระนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเรื่อง เช่น ท้ายกาสีหา นางปทุมสังกา พระองค์ยังได้ร่วมกับพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอจัดตั้งหอสมุดวชิรญาณขึ้นในปี พ.ศ. 2423 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองจนกระทั่งอ่านสามารถ fiction และ novel ภาษาอังกฤษได้คล่อง ทรงนิพนธ์เรื่องสนุกนึก ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรก ที่เรียกว่าเป็นบันเทิงคดี ตามแบบอย่างนิยายฝรั่งถือเป็นนิยายเรื่องแรกของไทย

ในปี พ.ศ. 2439 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เพราะประชวรพระวัณโรคภายใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แพทย์หลวงไปประกอบถวายพระโอสถ แต่พระอาการยังทรงกับทรุดจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม  พ.ศ. 2453 เวลา 04.00 น. เศษ สิริพระชันษาได้ 54 ปี 133 วัน ถึงเวลา 2 ทุ่ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง ประดิษฐานเหนือแว่นฟ้า 2 ชั้น พระสงฆ์มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานสวดสดับปกรณ์ เจ้าพนักงานประกอบพระโกศมณฑปเป็นเกียรติยศ

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! Carbon Pricing กุญแจสำคัญสู่ Net Zero ตอบโจทย์ธุรกิจในโลกยุคใหม่ ช่วยต่อลมหายใจให้โลกใบเก่า

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Carbon Pricing กุญแจสู่ Net Zero' เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มากับภาวะโลกร้อน 

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ที่รุนแรงที่สุดดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความกดดันที่จะต้องมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ 

แรงกดดันดังกล่าวมาจากทั้งองค์การระหว่างประเทศ ตลาดเงินตลาดทุน Supply Chains ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคและ NGO ต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศในที่การประชุม COP 26 ที่ Glasgow สหราชอาณาจักร ว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็ยังล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา

เป้าหมายดังกล่าว กอปรกับแรงกดดันจากทุกภาคส่วน ยังคงความจำเป็นให้ต้องมี Roadmap ที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรและขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย 

ดังนั้น การใช้กลไกตลาด จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของเส้นทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) อาจกระทำโดยการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดระบบซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ประการแรก การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดเก็บภาษีบาป (Sin Tax) อยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากสุรา, ยาสูบ และน้ำตาล จึงไม่มีปัญหาในการเพิ่มคาร์บอนเข้าไปในรายการสินค้าบาปแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ที่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น, ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่พลังงานสะอาด และที่สำคัญที่สุดความกล้าหาญทางการเมืองของรัฐบาล

ประการที่สอง การซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป สำหรับในประเทศไทยก็มีพัฒนาการในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องมากกว่านี้ 

กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ จะมีการกำหนดระดับการปล่อยคาร์บอนภาคบังคับของธุรกิจขนาดใหญ่ในบางสาขาอุตสาหกรรม และน่าจะช่วยให้ตลาดคาร์บอนของไทยมีความคึกคักมากขึ้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง รวมทั้งยกระดับคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล 

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ประเทศไทยน่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาคได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดราคาคาร์บอนจะเป็นหัวใจของเส้นทางเดินสู่ Net Zero ก็ตาม แต่คงไม่เพียงพอที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศได้ 

ฉะนั้น ประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติในวันนี้ และก็จำเป็นที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้ด้วย

10 มีนาคม พ.ศ. 2539 น้อมรำลึกวันคล้ายวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘สมเด็จย่า’ ผู้ทรงก่อตั้ง ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ เพื่อช่วยให้ชาวไทยภูเขาได้อยู่ดีกินดี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมป์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบ และทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ เดินหน้าช่วยสังคมไทยระลอกใหม่ มอบ 100 ล้านสานฝันเด็กไทย ผ่าน ‘Aerosoft Give Scholarships’

จากรายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 9 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ใจดีของสังคมไทย คุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) ซึ่งมาเผยถึงผลสำเร็จของโครงการสนับสนุนการศึกษาเด็กไทยทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Aerosoft Give Scholarships มอบทุน 100 ล้าน สานฝันให้เด็กไทย’ ซึ่งเป็นโครงการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬาให้แก่ 1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2. ศึกษาพิเศษ 3. ศูนย์ศึกษาพิเศษ และ 4. ศึกษาสงเคราะห์ ทั่วประเทศ รวม 2,549 โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567

คุณโกมล เผยถึงรายละเอียดด้วยว่า ทุนที่มอบให้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย มอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี / ความประพฤติดี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3-5 โรงเรียนละ 6 ทุน ทุนละ 5,000 บาท (ระดับชั้นละ 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน) มอบทุนสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ทุนละ 5,000 บาท และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน โรงเรียนละ 5,571 บาท เป็นทุนที่มอบให้ในลักษณะให้ฟรี โดยไม่มีพันธะผูกมัดใด ๆ

“การมอบทุน 100 ล้านบาท จาก Aerosoft เพื่อสนับสนุนการเด็กไทยทั่วประเทศในครั้งนี้  มีแนวคิดมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ผมมองเห็นว่าเด็กนักเรียนในชนบทจำนวนมาก เป็นเด็กที่เรียนดี เป็นเด็กที่เก่ง เพียงแต่พวกเขามักจะขาดแคลนทุนทรัพย์กันพอสมควร ผมจึงมองว่าเงินตรงนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาที่จะช่วยให้พวกเขานำไปต่อยอดโอกาสในการเรียนและสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการมอบอุปกรณ์เครื่องกีฬาที่มีการแจกให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายและห่างไกลจากยาเสพติด” คุณโกมล กล่าว

เมื่อถามถึงการขยายโครงการการมอบทุน ‘Aerosoft Give Scholarship’ เพิ่มเติมในอนาคต? คุณโกมล เผยว่า ขอประเมินผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ส่วนตัวมีแนวคิดว่าจะเพิ่มทุนให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ อยากฝากหลานๆ ทุกคนให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียรในการศึกษา เพราะความรู้เท่านั้นที่จะนำพาเราสู่อนาคตที่ดีได้ ที่สำคัญอย่าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนันออนไลน์ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งกล้าปฏิเสธไม่ทำในสิ่งที่ผิด แล้วนำความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนไปพัฒนาตัวเอง เมื่อมีหน้าที่การงานที่ดีจะได้กลับมาตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ในอนาคต” คุณโกมล เสริม

เมื่อถามถึงเหตุผลว่า ทำไม คุณโกมล และ Aerosoft ในช่วงระยะหลังจึงออกมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 (EURO 2020) ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโรฟรีๆ การบริจาคเงิน 100 ล้านบาท และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลศิริราช ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และยังได้ดำเนินงานด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อแก้ปัญหา พร้อมยกระดับวงการข้าวไทยครบวงจร ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนา เป็นต้น? คุณโกมล บอกว่า... 

“ผมแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมไม่ได้หวังผลตอบแทนใดกลับคืนครับ แต่ผมตั้งใจอยากตอบแทนบุญคุณคืนแก่แผ่นดินของเรา ผมคิดแค่นั้น ฉะนั้นถ้ามีโครงการในรูปแบบใดที่จะช่วยเหลือสังคมและประเทศได้ ผมก็จะลงมือช่วยทันที อย่างในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีการคิดจะสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลในบ้านเรายังขาดแคลนอยู่มาก”

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ‘สืบสาน-รักษา-ต่อยอด’ พระราชปณิธาน ‘ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง’

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 19.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารบกหน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานโครงการ พร้อมด้วยกรรมการโครงการ และกรรมการชุมชนจากพื้นที่โครงการในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเส้นทางการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภค ด้านอาชีพ ต่างๆ

จากนั้นได้พระราชทานพันธุ์ไม้ 2 พันธุ์ คือ มะม่วงมหาชนกและต้นรวงผึ้งให้กับนางกะมุ้ย นายวราวุฒิ เกสรพฤกษาทิพย์ กรรมการชุมชนไล่โว่ นายสุวิทย์เคียว เซ้ง และนางหน่อพิใจ กรรมการชุมชน สาละวะตามลำดับหลังจากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี

การนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นทอดพระเนตรวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แล้วทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายแก่คณะกรรมการโครงการ

โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งนี้ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งทรงเห็นว่าพื้นที่ในโครงการเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดนอันถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและรักษาต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น ในการนี้จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานตาม โครงการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ

โดยนับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ ได้รับพระราชทานพระบรมราโชบายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางในการทำงานกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอยู่ติดชายแดนและพื้นที่เป็นมรดกโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นหัวใจหลักของความเป็นมรดกโลกโดยให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจรเข้าออกชุมชนที่ทรงทราบว่ามีความยากลำบากในการเดินทางและเรื่องสุขภาพที่สัมพันธ์กับเรื่องเส้นทางสัญจรเป็นลำดับต้นในการดำเนินงาน

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ จึงน้อมนำแนวทางตามพระบรมราโชบายข้างต้นมาทรงงานพัฒนาชุมชนบ้านไล่โว่และบ้านสาละวะร่วมกับคณะกรรมการโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนสาละวะจานวนราย 8 และชุมชนไล่โว่ 6 รายทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานรวมทั้งนำเสนอข้อมูล ปัญหา ความต้องการในเรื่องต่างๆ ได้แก่เรื่องเส้นทางสัญจรด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนและเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่งจึงพบว่า นอกจากเรื่องเส้นทางสัญจรแล้วชุมชนต้องได้รับการพัฒนาในเรื่อง การบริหารจัดการน้า เรื่องสาธารณูปโภค และเกษตรกรรม

ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจริง 3 ครั้ง รวมทั้งมีการนำคณะกรรมการชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในจังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการในพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ข้อสรุปในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุขที่ได้มีการอบรมประชาชนให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีการสร้างโรงเรือนอนามัยใน 2 ชุมชน ด้านเส้นทางการคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาน้ำหลากบนเส้นทางสัญจรด้วยการสร้างรางระบายน้ำ ปรับผิวทางสัญจร และสร้างทางข้ามบริเวณเส้นทางตัดทางน้ำ ด้านสาธารณูปโภคที่ปรับปรุงระบบโซลาร์เซลล์ และจัดทำระบบ Hydropower เนื่องด้วยใน 2 ชุมชน มีปริมาณน้ำมาก จึงนำน้ำมาใช้เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำได้เป็นอย่างดี ด้านอาชีพและเกษตรกรรม และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เน้นเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการเกษตรทฤษฎีใหม่

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเน้นย้ำว่า ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาเป็นแนวทางการทรงงานในโครงการฯ รวมทั้งพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีการประสานความร่วมมือร่วมใจของส่วนราชการ กรรมการชุมชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลก อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ‘พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ’ เสด็จฯ ประทานรางวัล ‘สตรีทำงานดีเด่น’ เชิดชู 'พลังหญิงไทย' แรงขับเคลื่อนสำคัญแห่งยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปประทานโล่รางวัลสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 เนื่องในงานวันสตรีสากล ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด พลังแรงงานสตรีไทย ก้าวไกลสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ณ ห้องมิราเคิล แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และผู้บริหารกระทรวง เฝ้ารับเสด็จ

การนี้ เมื่อเสด็จถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เข้าเฝ้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน ‘กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย’ จากนั้นนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ กราบทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กราบทูลเบิกสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 เข้ารับประทานโล่รางวัลสตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2561 

หลังจากนั้นทรงเสด็จออกจากห้องมิราเคิล แกรนด์ บอลรูม เพื่อทอดพระเนตรประวัติสตรีทำงานดีเด่นฯ และนิทรรศการ และเสด็จไปฉายพระรูปร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน สตรีทำงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2561 คณะกรรมการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี พ.ศ.2561 และคณะอนุกรรมการสรรหาและคัดเลือกสตรีทำงานดีเด่น และเสด็จกลับในเวลาต่อมา

สำหรับปีดังกล่าว มีเหล่าคนดังที่ได้รับรางวัลสตรีทำงานดีเด่นประจำปี 2561 อาทิ นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, นางทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดีที บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประจำสำนักงาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ้ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน), นางจรรยา สว่างจิตร ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์สตีล จำกัด (มหาชน), นางสาวณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด (บริษัทในเครือ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป) และ นางสาวศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

7 มีนาคม พ.ศ. 2494 รำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร’ อธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก ผู้แยกหน้าที่ 'แพทย์-เภสัชกร' ตามแบบแผนที่ถูกหลัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ (ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) โดยประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังให้ประสูติกาลพระราชโอรสได้ 12 วัน เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่องก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มาพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ด้วยพระองค์เองพร้อมกับตรัสว่า “ให้มาเป็นลูกแม่กลาง” สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงรับพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ไว้อุปการะพร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยทรงเลี้ยงดูพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งทรงมีพระชนมายุใกล้เคียงกับเจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดชเหมือนกับพระราชโอรสที่ประทานกำเนิดด้วยพระองค์เอง

เสด็จในกรมฯ ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และยังทรงได้รับการอบรมอย่างใกล้ชิดในเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และความรู้ทั่วไปจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกเดินทางไปยุโรปเพื่อรับการศึกษาที่ประเทศเยอรมัน เสด็จในกรมฯ เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยม เมืองฮัลเบอร์สตัด และทรงเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเมืองไฮเดิลแบร์ก ทรงสนพระทัยที่จะศึกษาวิชาแพทย์มานานแล้ว แต่สมเด็จพระบรมชนกนาถรับสั่งว่า พระพลานามัยไม่สมบูรณ์ วิชาทหารและวิชาแพทย์ไม่เหมาะสม จึงทรงแนะนำให้ศึกษาวิชากฎหมายแทน ซึ่งจะน่ากลับมาช่วยบ้านเมืองได้มากมาย

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ ‘กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร’ ทรงรับราชการเป็น ‘ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง’ กระทรวงธรรมการ และรับหน้าที่เป็น ‘ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย’

พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรี สวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล สนับสนุนให้ศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์

พ. ศ. 2460 ทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงเพิ่มคณะใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ และให้โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์เพิ่มระยะเวลาการศึกษาเป็น 6 ปี

พ.ศ. 2460 ทรงจัดตั้งกองนักเรียนแพทย์เสือป่า และทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง

พ.ศ. 2461 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก สมัยนั้นคำว่า ‘สาธารณสุข’ ยังเป็นคำใหม่ซึ่งคนไทยไม่เข้าใจ จึงทรงวางรากฐาน ประสัมพันธ์และวางแผนจัดทำโครงการ แบ่งงานสาธารณสุขในพระราชอาณาเขตเป็นสาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน แม้กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงห่วงใยเรื่องหลักสูตรแพทย์ปรุงยา โดยทรงรับสั่งกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไว้ว่า

“เรื่องการเภสัชกรรมนั้นมีความสำคัญมาก สมควรที่ต้องมีกฎหมายบังคับคุ้มครองขึ้น จัดให้มีการแบ่งแยกหน้าที่ของแพทย์และเภสัชกรตามแบบแผนที่ถูกต้อง ตลอดจนถึงการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของยาตามแบบยุโรป เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน”

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขทรงริเริ่มงานการศึกษาและฝึกอบรม นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานสำคัญที่คนโดยมากไม่ใคร่รู้ ซึ่งก็คือการที่พระองค์ทรงจัดให้มี ‘กองกำกับโรคระบาด’ ขึ้น ทำให้มีการกักกันผู้เป็นโรคและผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเมื่อเดินทางเข้ามาในสยาม ซึ่งรู้จักกันในสมัยนี้ว่า State quarantine

อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศได้มีการจัดวัคซีนหมู่ ป้องกันโรคระบาด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับยุคนั้น ทรงให้มีการประชาสัมพันธ์ให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ อีกทั้งได้ทรงออกมาตรการใหม่ขึ้นมาปราบปราม โรคร้ายต่าง ๆ ที่เคยมีและพบมากในประเทศ เช่น ไข้มาลาเรีย โรคเรื้อน และอหิวาตกโรค จึงได้ถูกควบคุมและเริ่มลดลงไปตามลําดับ ซึ่งในกาลต่อมาหน่วยงานเหล่านี้ได้วิวัฒนาการ มาเป็น กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ภายใต้กรมควบคุมโรค จนพัฒนามาเป็นสถาบันวัคซีนแห่งชาติในปัจจุบัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการควบคุมโรคระบาดด้วยความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ การกักกันผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยว่ามีเชื้อโรค (Maritime quarantine) รวมไปถึงการริเริ่มฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและปราบปรามโรคระบาด ในสยามประเทศ ล้วนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคนี้ ทรงรับใช้ชาติโดยการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขอยู่ถึง 7 ปีเต็ม จนพระองค์ทรงลาออกจากราชการเมื่อต้นปี 2468

หลังจากเกษียณจากราชการแล้ว ก็ทรงดำเนินชีวิตส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงงานศิลปะ ออกแบบ ตกแต่งภายในจากผลงานศิลปะและโบราณวัตถุที่ทรงสะสมทั้งจากต่างประเทศและภายในประ เทศ อันเป็นที่ชื่นชมกันว่าทรงมี ‘ตาดี’ ในเรื่องงานศิลปะ ที่ทรงสืบทอดมาจาก สมเด็จพระราชบิดา ทรงงานอดิเรกถ่ายภาพและถ่ายภาพยนตร์โดยทรงเป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง ‘สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม’ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการพัฒนาที่ดินรุ่นแรกๆ ของสยามอีกด้วย

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ณ วังถนนวิทยุ เมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2494 ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย เป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระชนม์ยืนที่สุดด้วยพระชนมายุ 65 ปี 4 เดือน

6 มีนาคม พ.ศ. 2560 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ อัญเชิญพระราชดำรัส ‘ในหลวง ร.9’ "ปลูกป่าในใจคน" หวังคนไทยให้ความสำคัญในแหล่ง 'ดิน-น้ำ-ป่า' สืบต่อไป

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและเปิดการสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน’ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน โดยโครงการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ โดยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอแนวคิด แนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งหาทางฟื้นฟู จัดการให้ประชาชนชาวน่านได้ประกอบอาชีพและอยู่กินกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้รักษาธรรมชาติป่าไม้

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย’ โดยมีความตอนหนึ่งว่า...

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปตามที่ต่างๆ ของประเทศโดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ ตามไปด้วย ทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ชลประทาน ที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร เพราะความผาสุกของราษฎรจะทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับป่าไม้ที่จะเจริญได้ต้องมีน้ำ มีความชุมชื้น มีดินดี มีปุ๋ย

"สมัยก่อนการทำมาหากินในป่าไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหามาเกิดเมื่อออกลูกออกหลาน เกิดการย้ายถิ่นฐาน และโอกาสที่จะทำลายป่าไม้ก็มีมากขึ้น ในยุคต่อมามีการสัมปทานป่าไม้ มีการตัดไม้แต่ก็ปลูกทดแทน ดังนั้น 30 ปีมานี้ ป่าที่เห็นบางแห่งก็ไม่ใช่ป่าตามธรรมชาติ"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า มีโอกาสฟังเรื่องราวเมื่อต้นรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากถ้อยคำบอกเล่าโดยนายแก้วขวัญ วัชรโรทัย อดีตเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เรื่องจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ต้นยางนาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จยังจ.ประจวบคีรีขันธ์โดยรถไฟ ระหว่างทางผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีซึ่งมีต้นยางจำนวนมาก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้นำต้นยางมาไว้ในป่าสาธิตภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากที่อาจถูกทำลายในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ที่เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ดังนี้ 1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี 3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร 5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาศึกษาแต่ละโครงการอย่างจริงจัง เข้าถึงปัญหาของราษฎร เช่น ทรงประทับอยู่ จ.นราธิวาสและทรงขับรถไปทรงงานด้วยพระองค์เอง เป็นการปูพรมเรื่องการรักษาป่าและดินในทุกหมู่บ้าน ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน คือต้องสอนตั้งแต่เด็กในเรื่องการอนุรักษ์ป่า สอนว่าป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร เมื่อเขาเข้าใจชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลป่าไม้"

โดยสรุปคือ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของแหล่งดินแหล่งน้ำ พัฒนาคนในประเทศให้สุขภาพดี มีการศึกษา ประชาชนก็มีกำลังเพื่อพัฒนาประเทศชาติสืบไป


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top