Monday, 8 July 2024
THE TOMORROW

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ทรงสถาปนา ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ รร.ต้นแบบแห่ง ‘หลักสูตร-วิธีการสอน’ ที่เผยแพร่ไปทั่วไทย

‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 131 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ‘รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จ.เชียงใหม่ ช่วยอำนวยประโยชน์ด้าน ‘ชลประทาน-ผลิตไฟฟ้า-บรรเทาอุทกภัย’

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า ‘เขื่อนแม่งัด’ ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

โดยเขื่อนอเนกประสงค์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน ซึ่งการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เช่นกัน

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455)

รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน

นอกจากนี้ ประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทนายความ’ หนึ่งในสถาบันด้านกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั่วประเทศถือเป็นวันทนายความ

วันนี้ในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นวันที่ทนายความในขณะนั้นมีแนวความคิดริเริ่มที่ต้องการให้วิชาชีพทนายความ ควรจะมีสถาบันที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทนายความ และเป็นอิสระควบคุมดูแลกันเอง จึงได้ประชุมกันก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขึ้น โดยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

ต่อมาสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันใช้ความเพียรพยายามเรียกร้องและผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงประสบผลสำเร็จออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

ในวันทนายความของทุกปีสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังสามัคคี และแสดงความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความ

‘EA’ ร่วมมือ ‘สภาอุตฯ จ.ภูเก็ต’ ลงนามความร่วมมือ สร้างต้นแบบเมืองท่องเที่ยวรักษ์โลกระดับเวิลด์คลาส

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เซ็นเอ็มโอยูสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมสนับสนุนสร้างเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ ซีอีโอ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศเดินหน้าร่วมมือทุกภาคส่วน ผลักดันภูเก็ตเป็นต้นแบบเมืองท่องเที่ยวรักษ์โลกระดับเวิลด์คลาส พร้อมนำ Green Business Platform ที่ใช้ไปประยุกต์ในจังหวัดอื่น หวังดันไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral เร็วกว่ากำหนด

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท EA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ในความร่วมมือ ‘สนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island : Low Carbon City เพื่อส่งเสริมการขยายการเติบโตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจในภูเก็ต’ เพื่อให้เมืองภูเก็ตเป็นเกาะสีเขียว เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในทุกมิติ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

โดยกลุ่ม EA มีความตั้งใจที่จะช่วยประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเล็งเห็นว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ดังนั้น ภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดแรกและเป็นจังหวัดต้นแบบที่ EA จะสนับสนุนส่งเสริม Carbon Neutral อย่างครบวงจร   

สำหรับแนวทางสนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island; Low Carbon City นั้น กลุ่ม EA พร้อมร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนและลงทุน Green Logistics และ Green Electricity ในเกาะภูเก็ต ประกอบด้วย 

1. ส่งเสริมสนามบินนานาชาติภูเก็ตลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ Green Electricity ผลิตไฟฟ้าจากไฮบริดโซล่าร์และแบตเตอรี่, เปลี่ยนรถใช้ในสนามบินเป็นอีวี และ ติดตั้งชาร์จเจอร์ในสนามบิน ส่งเสริมการใช้อีวีสาธารณะในสนามบิน โดยร่วมกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

2. ส่งเสริมการขายการใช้รถอีวีเพื่อการพาณิชย์และสาธารณะในภูเก็ตร่วมกับบริษัทเอกชนท้องถิ่น ผ่านบริษัท Nex Point PCL 

3. การติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า EA Anywhere ทั้งระบบ AC และ DC ตามจุดคมนาคมสำคัญของภูเก็ต

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำโดยใช้ E-Ferry ร่วมกับภาคเอกชนท้องถิ่น การขนส่งและท่องเที่ยวระหว่างเกาะ

5. ร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะประสิทธิภาพสูง กำลังการผลิต 9.9 MW ในโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 500 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครภูเก็ต 

6. การปรึกษาและลงทุนใน Smart City, เมืองใหม่, หรือ กลุ่มมิกซ์ยูสที่อยู่อาศัยใหญ่ ส่งเสริม Green Logistics และ Green Electricity

โดยกลุ่ม EA สามารถเริ่มโครงการ Carbon Neutral หลายโครงการพร้อมกันภายในปีนี้ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนของจังหวัดภูเก็ตให้การสนับสนุนการส่งเสริมการปฏิบัติการจริง เพื่อผลักดันให้เมืองภูเก็ต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่จุดหมายการท่องเที่ยวสีเขียว Green Traveling in Green Island. และกลุ่ม EA คาดหวังว่าจะสามารถนำ Green Business Platform ที่ดำเนินในภูเก็ต ไปประยุกต์ใช้จังหวัดอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral ได้เร็วกว่ากำหนด

“กลุ่ม EA สนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island; Low Carbon City เพื่อส่งเสริมการขยายการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจในภูเก็ตในระดับ World Class เราพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนและลงทุน Green Logistics และ Green Electricity ทุกมิติในเกาะภูเก็ต และ กลุ่ม EA คาดหวังว่าจะสามารถนำ Green Business Platform ที่ดำเนินการในภูเก็ต ไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นในโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral ได้เร็วกว่ากำหนด” นายสมโภชน์ กล่าวในที่สุด

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ‘ไทย-ลาว’ หยุดยิงใน ‘สมรภูมิร่มเกล้า’ ความขัดแย้งจากข้อพิพาทเส้นแบ่งดินแดน

วันนี้เมื่อ 36 ปีก่อน ‘ไทย-ลาว’ ประกาศหยุดยิงใน ‘สมรภูมิร่มเกล้า’ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ

ความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530 เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร

ด้านกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งกองกำลังหลักเข้าผลักดันกองกำลังลาวที่เข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง โดยวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ยุทธการบ้านร่มเกล้า ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด

ทหารไทยได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆ ที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนินซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ซึ่งไทยต้องเสียเครื่องบินรบแบบเอฟ-5 หนึ่งลำ และโอวี-10 อีกหนึ่งลำพร้อมกับชีวิตทหารอีกนับร้อยนายในการศึกครั้งนี้

หลังการสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 นายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวในขณะนั้น ได้ส่งสาส์นถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอให้หยุดยิง พร้อมตั้งคณะกรรมการพิสูจน์เขตแดน และติดต่อสหประชาชาติให้ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งพล.อ.เปรมตอบรับ นำไปสู่การเจรจาและได้ข้อตกลงโดยทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เวลา 08.00 น. และถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ 3 กิโลเมตร

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ‘ไคลด์ ทอมบอห์’ ค้นพบ ‘ดาวพลูโต’ อดีตดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เป็นวันค้นพบ ‘ดาวพลูโต’ อดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ของระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกค้นพบโดย ‘ไคลด์ ทอมบอห์’

ดาวพลูโต (Pluto) เป็นอดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นวัตถุแถบไคเปอร์ชิ้นแรกที่ถูกค้นพบ มีขนาดใหญ่และมีมวลมากที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดาดาวเคราะห์แคระที่รู้จักในระบบสุริยะ และยังเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 และมวลมากเป็นอันดับที่ 10 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวพลูโตมีลักษณะเหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน ประกอบด้วยหินและน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ มีมวลและปริมาตรประมาณ 1 ใน 6 และ 1 ใน 3 ของดวงจันทร์ตามลำดับ ซึ่งวงโคจรของดาวพลูโตมีความเยื้องศูนย์กลางมาก อยู่ที่ 4.4-7.4 พันล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ดาวพลูโตมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 32.6 หน่วยดาราศาสตร์

ดาวพลูโตมีดาวบริวารที่ 5 ดวง ได้แก่ แครอน, สติกซ์, นิกซ์, เคอร์เบอรอส และไฮดรา ซึ่งในบางครั้งดาวพลูโตและแครอนถูกจัดเป็นระบบดาวคู่ เนื่องจากจุดศูนย์กลางมวลของวงโคจรไม่ได้อยู่ในดาวดวงใดดวงหนึ่งเฉพาะ ทำให้ไอเอยูยังไม่มีการให้คำนิยามของระบบดาวเคราะห์แคระคู่อย่างเป็นทางการ และแครอนกลายเป็นดาวบริวารของดาวพลูโตอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559

ชื่อของดาวพลูโตถูกตั้งขึ้นตามชื่อของเทพเจ้าแห่งยมโลก ซึ่งถูกเสนอโดยนักเรียนหญิงวัย 11 ปีในออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2473 โดยสมาชิกทุกคนได้ลงคะแนนให้ชื่อพลูโตทั้งหมดและได้ถูกประกาศในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2473

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ชื่อดาวพลูโตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้วอลต์ ดิสนีย์ได้รับแรงบันดาลใจ โดยเขาได้เสนอชื่อเพื่อนสุนัขของมิกกี้ เมาส์ว่า พลูโต

ทั้งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศลดขั้นของดาวพลูโตให้เป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์แคระ จึงทำให้ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวงเท่านั้น

‘กูรูฟุตบอลไทย’ ชี้!! เส้นทางวงการฟุตบอลไทยยุคนี้ สดใส หลังโครงสร้างสมาคมใหม่ เหมือน รบ.แห่งชาติด้านฟุตบอล

จากผลการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นายกสมาคมคนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกของไทย ทำให้เกิดการจุดประกายให้กับวงการฟุตบอลไทยว่าจะกลับมาสู่ยุคเฟื่องฟูอีกหรือไม่? รายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES จึงได้คลุกวงในพูดคุยกับ คุณศิริชัย ยิ่งเจริญ ผู้จัดรายการ BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งอยู่ในแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน ถึงทิศทางและโอกาสของฟุตบอลไทยในปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 17 ก.พ.67โดยคุณศิริชัย กล่าวว่า…

แม้วงการฟุตบอลไทยจะเริ่มกลับมาเติบโต ถ้าเอาจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับวงการฟุตบอลทั่วโลกถือว่ายังอยู่ในช่วงไข่ด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาดูแลและขับเคลื่อน ภายหลังจากได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า มาดามแป้งมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการประสานงานในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้จัดการทีมชาติอยู่แล้ว และยังมีใจรักและทุ่มเท ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราได้รัฐบาลแห่งชาติด้านฟุตบอล ซึ่งคาดหวังว่าวงการฟุตบอลไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น 

เมื่อพูดถึงนักกีฬาดาวเด่นที่จะมาเป็นกำลังสำคัญจากทัวร์นาเมนต์การแข่งขันในไทยนั้น? คุณศิริชัย กล่าวว่า “ถ้าจะให้อธิบายถึงลีกฟุตบอลไทยอาชีพในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 5 ระดับด้วยกัน คือ Tier 1  Tier 2  และ Tier 3 และรองลงมาแบบสมัครเล่น ได้แก่ ‘ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก’ และ ‘ไทยแลนด์ เมเจอร์ลีก’ โดยมี BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งเป็นรายการที่จัดการแข่งขันอยู่ในกลุ่มไทยแลนด์ เซมิโปรลีก เป็นแม่เหล็กที่น่าสนใจ เพราะรายการนี้สามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่เลื่อนชั้นสู่ระดับอาชีพได้มากมาย เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนระดับมัธยมปลาย เพื่อเฟ้นหานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ เข้าสู่ทีมโดยมีเป้าหมายพัฒนาไปสู่นักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องมีใจรัก มีความพร้อมและทุ่มเท โดยเฉพาะสภาพร่างกาย และวินัยในการฝึกซ้อม”

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากนำเสนอเพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเกิดการพัฒนา? คุณศิริชัย กล่าวว่า “เราควรปูพื้นฐานใหม่ด้านกีฬาฟุตบอลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่โภชนาการ เทคนิคการเล่น วิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพร่างกาย ซึ่งควรเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่วัยเด็กหรือเยาวชน โดยที่ครอบครัวและผู้ปกครองก็จะมีส่วนสำคัญในด้านนี้ เช่น การส่งเสริมให้บุตรหลานอยากเป็นนักฟุตบอลด้วยใจรัก สนุกไปกับมัน ภายใต้ความพร้อมด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่าย”

อย่างไรก็ตาม คุณศิริชัย ก็ไม่ได้ตีกรอบให้ผู้ปกครองต้องผูกเด็กไว้กับกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ควรหาแรงบันดาลใจของบุตรหลานตัวเองให้ได้ว่าชอบกีฬาอะไร โดยการพาไปชมกีฬาหลาย ๆ ประเภทหรือทดลองเล่นกีฬาเหล่านั้นเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง เมื่อมีใจรักและมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม โอกาสประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นตาม 

“อย่างไรก็ตาม กีฬาฟุตบอล ก็ยังถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก สามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งมูลค่าของกีฬา มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือมูลค่าแฝงทางสังคมที่เกินกว่าตัวเงิน เช่น ความภาคภูมิใจของทีมกีฬา หรือตัวนักกีฬาเอง และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสมาคมฟุตบอลไทยยุคใหม่จะทำให้ภาพความสำเร็จเหล่านี้มาสู่เมืองไทยได้มากขึ้น” คุณศิริชัย ทิ้งท้าย

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สิ้น ‘พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น’ ศิลปินแห่งชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังสร้างพระเมรุ ‘สมเด็จย่า-พระพี่นาง-เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ’

วันนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลาประมาณ 05.40 น. พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ประจำปี 2541 ในวัย 71 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่อง และญาติได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พร้อมทั้งขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเย็นวันนี้ เวลา 15.00 น. 

ทั้งนี้ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2485 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป และศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน

เมื่อจบการศึกษาและทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ กับสถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับราชการเป็นสถาปนิกประจำกองทัพอากาศอยู่นาน 9 ปี จนติดยศเรืออากาศเอก โดยพลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟัง ในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้งหนึ่งว่า

เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่ง เกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2518 

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรนั้นเอง และได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อ พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น

พลอากาศตรี อาวุธ มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะผลงานสำคัญ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น

งานบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญอีกหลายแห่ง

ส่วนงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม เช่น ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ฯลฯ 

และงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมที่ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนจดจำคือ เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ทรงปราสาทจตุรมุขยอดเกี้ยว และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

และเป็นหัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

ในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้ ด้านสถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จบการศึกษามา นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ พ.ศ. 2550 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) และ พ.ศ. 2551  มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top