Monday, 8 July 2024
THE TOMORROW

5 มีนาคม พ.ศ. 2562 ‘พระองค์ภาฯ’ เสด็จฯ เปิดศูนย์การเรียนรู้ ศก.พอเพียง 'เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ' พร้อมทรงแนะนำผู้ต้องขังให้ 'มีสติในการใช้ชีวิต - รู้จักวางแผน' เมื่อพ้นโทษ

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทรงเป็นประธานการเปิด ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ ณ บริเวณเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ อำเภอเมือง จ.ตราด โดยมี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม, ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม , พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และข้าราชการ เฝ้ารับเสด็จ

พระองค์ทรงเสด็จไปยังพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกราบ และเสด็จไปยังพลับพลาพิธี จากนั้น นายพงศธร กราบทูลรายงานความเป็นมา ต่อจากนั้นทอดพระเนตร วีดิทัศน์ ศูนย์การเรียนรู้เขาระกำ ประทานของที่ระลึกให้กับผู้สนับสนุนโครงการ และคนต้นแบบโครงการกำลังใจฯ แล้วเสด็จออกไปยังบริเวณศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายศูนย์การเรียนรู้ฯ และป้ายร้านกาแฟ Inspire by Princess จากนั้นเสด็จไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง และเสด็จไปทรงตัดริบบิ้นเปิดอาคารนิทรรศการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทอดพระเนตรภายในอาคารนิทรรศการฯ

ต่อจากนั้น เสด็จเข้าร่วมกิจกรรมพี่สอนน้องในการอบรมผู้ต้องขังรุ่นที่ 9 ที่เป็นกิจกรรมให้ความรู้ รวมถึงแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ ให้สู้กับความกลัวในโลกภายนอก โดยทรงร่วมกิจกรรมกับผู้เข้าอบรมอย่างทรงไม่ถือพระองค์ และประทานโอวาทให้ผู้เข้ารับการอบรมผู้ต้องขังรุ่นที่ 9 ตอนหนึ่งว่า

“ความรู้ที่เราได้ ไม่มีอะไรไม่เป็นประโยชน์ ทุกอย่างเป็นประโยชน์หมด ไม่ว่าจะไปทำอะไรในอนาคต แต่ก็ขอให้ตรึกตรอง คิด วางแผนให้ดี ในสิ่งที่จะทำต่อไป และทุกสิ่งจะประสบความสำเร็จ และก็ต้องมีความอดทน”

“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ห้ามรวย แต่คือให้มีการวางแผน ให้มั่นคง ร่ำรวย ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเลี้ยงแพะ เลี้ยงกบ เลี้ยงวัว แต่คือแนวคิดเรื่องการวางแผน การตัดสินใจ การมีสติในการใช้ชีวิต”

จากนั้นเสด็จไปยังบ้านการฝึกวิชาชีพวากาชิ และรุกขกร และการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ และเสด็จไปทอดพระเนตร ร้านกาแฟ Inspire by Princess ทอดพระเนตรการสาธิตชงกาแฟ ทอดพระเนตรการทำอาหารประเภทสเต๊ก ทอดพระเนตรสะพานกำลังใจ และทรงถ่ายรูปกับรูปปั้นสุนัขหลังอาน แล้วเสด็จกลับในเวลาต่อมา

สำหรับ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี มีพื้นที่ปลูกป่า สวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ อาทิ แพะ เป็ด ไก่ ปลาดุก แหล่งท่องเที่ยว และ ที่ทำการเรือนจำ เกิดขึ้นจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในเรือนจำ เพื่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ ทั้งยังทรงมีพระเมตตา ประทานเงินทุนส่วนพระองค์เพื่อดำเนินโครงการนำร่อง โดยพบว่า ผู้ต้องขังที่ออกไป กระทำผิดซ้ำเพียงร้อยละ 5

4 มีนาคม พ.ศ. 2520 ครบรอบ 47 ปี ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนสิริกิติ์’ เขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ปชช.นานัปการ

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ ‘เขื่อนผาซ่อม’ ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า ‘เขื่อนสิริกิติ์’

เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานเมื่อปีพ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง 113.6 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่ 3 รองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพลโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จใน ปี พ.ศ. 2515 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520

เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ โดยประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ

>> การชลประทาน น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรม

>> การบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

>> การผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

>> การประมง กฟผ. ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

>> การคมนาคมทางน้ำ ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

>> การท่องเที่ยว เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสายนอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งคือ สวนสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไป ด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรม ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของสวน ชื่อ ‘ประติมากรรมสู่แสงสว่าง’ ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! 3 ตัวแปร ที่ทำให้ 'แบงก์ชาติ' ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย 'เข้าใจบทบาทตนเองผิด-เกรงใจสถาบันการเงิน-กฎหมายล้าหลัง'

(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า 

ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ 

วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น

ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง

ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง 

ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...

ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง

ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

3 มีนาคม พ.ศ. 2426 วันคล้ายวันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ’ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย ผู้บุกเบิกทัพฟ้าสยามทัดเทียมนานาประเทศ

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช (ในรัชกาลที่ 6) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ นริศรราช มหามกุฎวงศ์ จุฬาลงกรณ์นรินทร สยามพิชิตินทรวรางกูร สมบูรณ์พิสุทธิชาติ วิมโลภาษอุทัยปักษ์ อรรควรรัตน์ขัตติยราชกุมาร กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) และขุนบำนาญ วรวัฒน์ (สิงโต) ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารขึ้น ในพระบรมมหาราชวังแล้วได้ทรงเข้าโรงเรียนนี้ ทรงศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (ครูสอนภาษาอังกฤษ คือ มิสเตอร์วุลสเลย์ และมิสเตอร์เยคอลฟิลค์เยมส์) ครั้นเมื่อพระชนมายุได้ 14 ชันษา คือ ในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรป โดยมี จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงษ์วรเดช เชิญเสด็จไปถึงทวีปยุโรป เมื่อถึงแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ  

ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายร้อยทหารบกของประเทศสยาม แต่คงให้ทรงศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษไปก่อน แล้วจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงศึกษาวิชาในประเทศรัสเซีย ตามที่สมเด็จ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิรัสเซียได้ขอไว้ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2441 จึงได้เสด็จไปประเทศรัสเซีย เพื่อทรงศึกษา ณ โรงเรียนทหารทางประเทศรัสเซียได้ถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ทั้งได้มอบให้ผู้บัญชาการโรงเรียนมหาดเล็ก และนายร้อยเอก นายทหารม้ารักษาพระองค์ (พลตรี เคานต์ เค็ลแลร์ และ ร.อ.วัลเอมาร์ฆรูล็อฟฟ์) เป็นนายทหารช่วยเหลือในการศึกษา และคอยถวายความสะดวก ดูแลทุกประการ

ในการศึกษานี้ สมเด็จพระจักรพรรดิ ได้รับสั่งให้เข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกที่มีอยู่ 9 ชั้น ให้สอบไล่ได้ในกำหนด 4 ปี เพราะฉะนั้นในการศึกษาชั้นต้น ๆ จึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการศึกษาวิชา เพื่อเตรียมพระองค์เข้าเป็นนักเรียนชั้น 6 ทีเดียว โดยจัดครูมาสอนในที่ประทับ จากนั้นจึงเข้าศึกษาชั้น 6 และจบชั้น 9 ในปี พ.ศ. 2445 โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 พระองค์ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยทหาร และทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2448 สมเด็จพระเจ้านิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยยิ่ง ทรงแต่งตั้งให้เป็นพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซีย และเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิกับพระราชทานสายสะพาย เซนต์อันเดรย์ ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์ อีกด้วย

ในระหว่างที่ประทับอยู่ประเทศรัสเซีย พระองค์ทรงเษกสมรสกับพยาบาลชาวรัสเซีย ชื่อ คัทรินเดนิตสกี้ และทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ ซึ่งภายหลังได้พระนามว่า พระเจ้าจุลจักรพงษ์

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศรัสเซีย ทรงเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2449 และต่อมาในปีเดียวกันทรงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2452 ทรงเป็นผู้รั้งหน้าที่ เสนาธิการทหารบก และได้ทรงเป็นเสนาธิการทหารบกในปีเดียวกันพร้อมกับทรงรั้งหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (เปลี่ยนการจัดโรงเรียนทหารบก เป็นกรมยุทธศึกษาทหารบก) จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2456 และในปี พ.ศ. 2453  ทรงเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์อีกตำแหน่งหนึ่ง

ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบก็ได้ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่ นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ บรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการที่ได้ปรับปรุงขึ้นอย่างกว้างขวาง ทรงจัดวางแนวทางหลักสูตรการศึกษา โรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง ‘พงศาวดารยุทธศิลปะ’ และเอกสารอื่นๆ ซึ่งใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการ สืบจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ. 2460 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ในการปรับปรุงให้ราชการทหารเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้สามารถจัดส่งทหารอากาศไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ผลตามพระราชประสงค์ทุกประการ ในปี พ.ศ. 2461 ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นกองทัพอากาศ และทรงริเริ่มก่อสร้างค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2462 ได้โปรดให้ทดลองใช้เครื่องบินนำถุงไปรษณีย์ไปเมืองจันทบุรี และบินแสดงให้ประชาชนจังหวัดนั้นชมได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีพระราชดำรัสเป็นการสนับสนุนการบินอย่างเต็มที่ว่า "กำลังในอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียวที่จะป้องกันมิให้สงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งยังประโยชน์อย่างยิ่งในการคมนาคมปกติ" นับว่าพระองค์ ทรงวางรากฐานบนแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในทุกวันนี้

จากพระประวัติโดยสังเขปของพระองค์ จะเห็นได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถเฉียบแหลม ทั้งด้านการศึกษา และด้านรับราชการ ทรงรับผิดชอบการงานต่างๆ อย่างมากมาย และต้องทรงเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ยากที่จะหาเวลาพักผ่อนได้อย่างพอเพียง จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2463 พระองค์ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไปพักผ่อนพระวรกาย พระองค์พร้อมพระชายาและพระโอรส จึงได้เสด็จไปประพาสทางฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2463 แต่เสด็จไปได้เพียง 1 วัน ก็ประชวรไข้ไปตลอดทางจนวันที่ 8 มิถุนายน ถึงสิงคโปร์ พระอาการประชวรยิ่งกำเริบหนักขึ้น จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 เวลา 13 นาฬิกา 50 นาที พระองค์ได้เสด็จทิวงคต สิริพระชนมายุได้ 38 ชันษา 3 เดือน 10 วัน

‘Gadhouse’ แบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงไทย ผู้ปลุกกระแส ‘แผ่นเสียง’ ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณเพชร วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gadhouse เมื่อวันที่ 2 มี.ค.67 กับการปลุกกระแสความนิยมเครื่องเล่นแผ่นเสียงให้กลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางการสมรภูมิ Music Streaming ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน เบื้องหลังความสำเร็จนี้เป็นอย่างไร คุณเพชร ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Gadhouse เริ่มต้นจากการนำเข้าเครื่องเสียงแบรนด์ต่างๆ มาจำหน่ายในเฟซบุ๊ก โดยยังไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง ในชื่อ Gadhouse ซึ่งมาจากคำว่า House of Gadget 

เมื่อถามว่า ทำไมถึงขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงซึ่งหลายคนมองว่าตกยุคไปแล้ว และในปัจจุบันนิยมฟังผ่าน Streaming มากกว่า? คุณเพชร บอกว่า “เริ่มต้นจากความชอบและเชื่อว่าตลาดแผ่นเสียงยังไม่ตายไปจากคนที่ชอบฟังเพลงจริงๆ ซึ่งการหวนกลับมาของแผ่นเสียงก็น่าจะเป็นเพราะ Streaming ด้วย เนื่องจากปัจจุบันทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมดแค่ปลายนิ้ว แต่ขณะเดียวกันความเร็วแบบฉาบฉวยเหล่านี้ ก็กระตุ้นคนอีกกลุ่มที่เริ่มโหยหาวิถี Slow Life อยากเสพสุนทรีย์ และแสวงหาเสน่ห์จากปกที่ให้รายละเอียดของอัลบั้ม เนื้อเพลงและศิลปิน และพวกเขากำลังมองหาร้านที่จะตอบโจทย์ และเราคือคำตอบ”

เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมดนตรีของโลกในปัจจุบัน? คุณเพชร เผยว่า “หลัก ๆ ตลาดถูกขับเคลื่อนจากสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าตลาด Streaming ก็เติบโตสูงมากๆ จากตลาดเหล่านี้ รองลงมาก็จะเป็นกลุ่ม Vinyl, ซีดี และเทปคาสเซ็ต ที่เริ่มขยับตัวขนานไปกับ Streaming” 

คุณเพชร เสริมว่า “ส่วนตลาดในประเทศไทยเองก็มีทั้งที่เสพเพลงผ่าน Streaming และ Physical Media จากศิลปินที่ชื่นชอบ ในแบบที่ต้องการหาซื้อมาฟังจริงๆ และเลือกเป็นของสะสม ซึ่งสิ่งที่น่าดีใจ คือ ตลาดแผ่นเสียงไทยในปัจจุบันกำลังปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะไม่มีแผ่นเสียงใหม่ออกมาจำนวนมากเหมือนต่างประเทศ แต่พอค่ายเพลงใหญ่ๆ เริ่มหันกลับมาผลิตแผ่นเสียงเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้แฟนคลับเริ่มกลับมา”

เมื่อถามในส่วนการวิธีการทำตลาดของ Gadhouse แล้ว คุณเพชร บอกว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตลาดในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจำหน่ายในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่จะได้รับความนิยมอย่างสูงที่ประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย โดยจุดเด่นของแบรนด์ Gadhouse นั้น คือ การเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าที่พึ่งเริ่มต้นเล่นแผ่นเสียง ด้วยฟังก์ชันที่ใช้งานง่าย มีดีไซน์สวย แต่ราคาจับต้องได้ในระดับคุณภาพสูง

ทั้งนี้แบรนด์ Gadhouse ได้วาง Positioning เป็นแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำของไทยโดยมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นสินค้านำร่อง แต่ก็มองการเติบโตของวงการ Vinyl ที่น่าจะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ไว้บ้างแล้ว 

อย่างไรก็ตาม อีกจุดเด่นสำคัญของ Gadhouse คือการเป็นแบรนด์พัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่ตอบโจทย์ Sustainability ด้วย โดยมีการผลิตเครื่องเล่นจากขยะและสิ่งเหลือใช้ เช่น กล่องนม เป็นต้น เพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมไปกับเสียงเพลง 

“ผมอยากให้ Gadhouse เป็นแบรนด์เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เติบโตสูงสุด และเป็นเครื่องเสียงของคนไทยที่ชาวต่างชาติอยากได้มากที่สุด โดยวางเป้าหมายเป็น Top ในระดับโลก ของกลุ่ม Retro Modern ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ส่วนแผนการจะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป” คุณเพชร ทิ้งท้าย

2 มีนาคม พ.ศ. 2565 'กรมพระศรีสวางควัฒนฯ' โปรดเกล้าให้นำผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ CM 1957 มาจำหน่าย โดยรายได้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ยากไร้

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จทอดพระเนตรการออกร้านจัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี นำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ มาร่วมจัดกิจกรรม เพื่อประชาสัมพันธ์ สินค้า OTOP ของดีของจังหวัด 

พระองค์ทรงโปรดให้นำผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ CM 1957 และโครงการถักร้อยสร้อยรัก จากร้านค้าในพระดำริ 906 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงออกแบบ มาจำหน่าย อาทิ สร้อยมุก, ต่างหูมุก, เข็มกลัด, กระเป๋า, นาฬิกา, พวงกุญแจ โดยรายได้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ยากไร้ของมูลนิธิจุฬาภรณ์, มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ 

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานี มีการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิตชุมชน ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่ลงทะเบียน OTOP จำนวน 1,669 กลุ่ม ส่วนผลิตภัณฑ์ในชุมชน มีการลงทะเบียนสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น รวม 3,406 ผลิตภัณฑ์ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว ที่เข้าร่วมแสดงสินค้ามี 20 กลุ่ม อาทิ...

กลุ่มหัตถกรรมพื้นเมืองบ้านผาสิงห์ ตำบลหมากหญ้า, กลุ่มทอผ้าไหมหมี่ขิดบ้านศรีชมชื่น ตำบลหนองอ้อ, กลุ่มทอผ้าชุมชนคุณธรรมวัดโนนสว่าง, กลุ่มผ้าไหมแพรวา ของชุมชนภูไทดำจังหวัดกาฬสินธุ์ 

ทั้งนี้ สินค้า OTOP ของจังหวัดอุดรธานี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการทางความคิด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาภูมิปัญญาไทย ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้สร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว เชิงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ของจังหวัดอุดรธานีด้วย

TVDH โอนส่วนล้ำมูลค่าหุ้น ล้างขาดทุนกว่า 241.7 ลบ. หวังเปิดทางจ่ายปันผล หากมีกำไรในอนาคต

เมื่อวานนี้ (29 ก.พ. 67) บมจ.ทีวีดี โฮลดิ้งส์ (TVDH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เพื่อพิจารณาอนุมัติการโอนส่วนล้ำมูลค่าหุ้น จำนวน 241,723,180 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 241,723,180 บาท ภายหลังจากการชดเชยผลขาดทุนสะสมดังกล่าวแล้ว ผลขาดทุนสะสมของบริษัทฯ จะเท่ากับศูนย์ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถจ่ายเงินปันผลได้หากมีกำไรในอนาคต

'แสนสิริ' โชว์กำไรเติบโตเกือบ 50% แซงหน้าทุกค่ายอสังหาฯ สูงสุดนับแต่ก่อตั้งมา 40 ปี อานิสงส์กลุ่มบ้านหรูช่วยดัน

(1 มี.ค.67) Business Tomorrow เผย SIRI บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ปี 2023 มีกำไรสุทธิสูงถึง 6.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +42% จากปีก่อน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ 40 ปี หรือ All-time high คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15.5% ทุบสถิติใหม่ ทำให้แสนสิริมีอัตราการเติบโตด้านกำไรสุทธิสูงที่สุดแซงหน้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด

โดยปี 2023 มียอดขายรวม 4.9 หมื่นล้านบาท รายได้รวม 3.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น +12% จากปีก่อนหน้า มาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งบ้านและคอนโดฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มบ้านและคอนโดในแบรนด์ Luxury

ส่วนปี 2024 นี้ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 46 โครงการ มูลค่ารวม 6.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นคอนโดมิเนียม 10 แห่ง มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในต่างจังหวัดและชานเมือง ซึ่งยังคงมองการขยายกลุ่มบ้านราคาแพง และกลับไปรุกหัวเมืองท่องเที่ยวและจังหวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ด้านการตั้งเป้ายอดขายปีนี้ จะอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และเป้ายอดโอนที่ 4.3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีการวางกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงินเพื่อรักษาระดับสภาพคล่องไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท 

สุดท้าย แสนสิริเตรียมประกาศจ่ายเงินปันผลประจำปีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท โดยได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเมื่อเดือนกันยายน 2023 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท เตรียมจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท คิดเป็น Dividend Yield ปี 2023 อยู่ที่ 10.8%

1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ ‘ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา’ จังหวัดน่าน ตามติดโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นที่ให้ ‘กินดี-อยู่ดี’

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ​สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีนายโชติ ตาชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ นางเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ นายฐิติพันธ์ จูจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ นายนิทรรศ เวชวินิจ  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จังหวัดน่านเฝ้าฯ รับเสด็จ

โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่คณะทำงานศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ และโอกาสนี้นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปลูกป่าร่วมกับไม้เศรษฐกิจแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ โรงเรียน-บ้านสบปืน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่บ้านสบปืน การแก้ปัญหาสารพิษ และการปรับพื้นที่นาขั้นบันได บ้านห้วยกานต์ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมศูนย์ภูฟ้าพัฒนา

อย่างไรก็ตาม บ่อเกลือเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีอาชีพหลัก คือ การปลูกข้าวไร่และการหาของป่า เนื่องด้วยพื้นที่เพาะปลูกอยู่ตามไหล่เขาลาดชัน อีกทั้งยังทําไร่หมุนเวียนต้องถางและเผาป่า ส่งผลให้ป่าไม้ ดิน และน้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคและไม่มีอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ยังประสบปัญหาสุขภาพอนามัย มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต

จนเมื่อปีพ.ศ. 2542 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น ณ ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีพระราชประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ยกระดับรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมของชุมชน

29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ พระราชทานสิ่งของแก่ ‘อาสาสมัครทหารพราน’ หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-ยิงปะทะ จ.นราธิวาส

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนกองร้อยทหารพราน นาวิกโยธินที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ขณะทำการลาดตระเวนบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านยะลูตง ตำบลกาเยาะมาตรี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ดังนี้

- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐพล ชนะเกียรติ
- อาสาสมัครทหารพราน ดิฐวัฒน์ พุดหอม
- อาสาสมัครทหารพราน กฤษณะ แก้วมณี
- อาสาสมัครทหารพราน วัชรศักดิ์ ชูหอย
- อาสาสมัครทหารพราน ณัฐวัฒน์ มณีพันธ์

โดยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ถือเป็นความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top