Monday, 8 July 2024
ECON

วันนี้วันแรก!! รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการ ‘วีซ่าฟรี’ อ้าแขนต้อนรับ นทท.จีน-คาซัคฯ กระตุ้นการท่องเที่ยว

วันนี้ (25 ก.ย. 66) จะเป็นวันแรกที่รัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (วีซ่าฟรี) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ จะเดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและมอบของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาโดยสายการบิน Thai Air Asia X (ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์) เที่ยวบิน XJ 761 เส้นทางเซี่ยงไฮ้-สุวรรณภูมิ ณ บริเวณประตูเทียบเครื่องบิน D4

ทั้งนี้เที่ยวบินที่ XJ761 วันที่ 25 กันยายน 2565 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด  341 คน โดยเป็นผู้โดยสารชาวจีน คิดเป็น 90 % และชาวต่างชาติ คิดเป็น 10 % โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT 80% และ 20%

อย่างไรก็ตามมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA Exemption) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 โดยรัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน ให้สามารถเข้ามาและพำนักในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 

โดยจะยกเว้นเป็นเวลา 5 เดือน เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถาน 

มาตรการดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวคาซัคสถานที่จะเดินทางมาไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะสามารถเดินทางมาไทยได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (ไม่ต้องขอวีซ่าจึงไม่มีค่าธรรมเนียม) และเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอันเป็นปัจจัยสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมตามนโยบายรัฐบาล

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นักท่องเที่ยวตลาดจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของประเทศไทย โดยยังมีการฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 และเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นแรงส่งช่วยพลิกฟื้นการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่มีการยกเว้นการตรวจลงตราจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนประมาณ 1,912,000 - 2,888,500 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 - 62  สร้างรายได้เข้าประเทศ 92,583 - 140,313 ล้านบาท 

ขณะที่นักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วง 5 เดือนดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 129,485 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ประมาณ 7,930 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการ Quick Win ที่รัฐบาลใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะสั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 กันยายน 2566 จำนวน 2,284,281 คน ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับที่ 2 รองจากมาเลเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ถ้าไม่มีมาตรการในการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) จะมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,470,430 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 31 สร้างรายได้ 174,358 ล้านบาท

แต่เมื่อมีการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการกระตุ้นตลาด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 4.04-4.4 ล้านคน และมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 257,500 ล้านบาทในปี 2566 

เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Traveling) นักท่องเที่ยวไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการขอตรวจลงตรา และเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ง่ายขึ้น รวมถึงในช่วงวันที่ 1- 8 ตุลาคมนี้ที่จะเป็นช่วง Golden week ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมออกเดินทางท่องเที่ยว 

ประกอบกับพันธมิตรด้านสายการบินมีความพร้อมจัดทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อาทิ เฉิงตู - สมุย, ปักกิ่ง - เชียงใหม่, กวางโจว - เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - ภูเก็ต, กวางโจว - ภูเก็ต, คุนหมิง - หาดใหญ่ ทั้งระยะของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรายังครอบคลุมถึงช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่และตรุษจีนที่จะช่วยส่งเสริมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Visa Free สนามบินสุวรรณภูมิคาดว่าจำนวนเที่ยวบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเพิ่มขึ้น

โดยคาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คือ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 674 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 96 เที่ยวบินต่อวัน) เป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 337 เที่ยวบิน 

ในส่วนประมาณการผู้โดยสารคาดว่าจะมีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 130,593 คน (เฉลี่ย 18,656 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 65,584 คน ขาออก 65,009 คน 

สำหรับเที่ยวบินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และสาธารณรัฐคาซัคสถาน คาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 มีเที่ยวบินรวม 6 เที่ยวบิน

แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 3 เที่ยวบิน เท่ากับช่วงก่อนมีมาตรการ แต่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,338 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ขาละ 669 คน 

การเตรียมความพร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิ ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า - ขาออก นั้นได้มีการบูรณาการการบริหารจัดการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

กระบวนการผู้โดยสารขาเข้า คือ 
1.ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ตม.) ขาเข้า 138 ช่องตรวจ (ช่องปกติ 118 ช่องตรวจ และช่อง Visa On Arrival อีก 20 ช่องตรวจ) และมีเครื่อง Auto Channel จำนวน 16 เครื่อง 

สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง (กรณีที่มีการใช้งานทุกช่องตรวจ) ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน และมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 1,550 ตารางเมตร ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิได้วางแนวทางดำเนินการกรณีเกิดความหนาแน่นบริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 11.00 - 16.00 น.) 

2.ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสายพานรับกระเป๋าขาเข้าสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ 4 สายพาน และสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ 18 สายพาน โดยหากเกิดความหนาแน่นบริเวณสายพานรับกระเป๋า สนามบินสุวรรณภูมิจะกำกับดูแลและติดตามเวลา First Bag และ Last Bag ของผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน 

ปัจจุบันผู้รับสัมปทานผู้ให้บริการภาคพื้น (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด) สามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นจากช่วงปลายปี 2565

กระบวนการผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการบริหารจัดการขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

1.ขั้นตอนการเช็กอินซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน แบบเดิม 302 เคาน์เตอร์ (ใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน) และมีเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) จำนวน 50 เครื่อง (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) และกำหนดแนวทางการลดปัญหาความหนาแน่น โดยการทำ Early Check-in พร้อมประสานสายการบินให้นั่งเคาน์เตอร์ให้เต็ม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารใช้ CUSS และ CUBD 

2. บริการจุดตรวจค้น ซึ่งปัจจุบันมีจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจำนวน 3 โซน เครื่องเอ็กซเรย์ 25 เครื่อง และมีการติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน วางแนวทางลดความหนาแน่น โดยเกลี่ยแถวในโซนจุดตรวจค้นที่หนาแน่น 

3. ขั้นตอนการตรวจลงตรา ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจหนังสือเดินทาง ตม.ขาออก 69 ช่องตรวจ และเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คนต่อชั่วโมง 

โดยได้วางแนวทางลดความหนาแน่นบริเวณ ตม.ขาออก โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 - 07.00 น. ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 14.00 - 15.00 น. และช่วงกลางคืนระหว่างเวลา 21.00 - 23.00 น.)

‘กองทุนดีอี’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ 5G ต้นแบบ หลัง ม.เชียงใหม่ได้รับทุนนำร่องขยายบริการเข้าถึงประชาชน

สดช. ลงพื้นที่เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District)

เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร’ นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย พร้อมด้วย  นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ส่วน 5G Smart Health เพื่อพัฒนาแนวทางและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยี 5G ในการส่งเสริมการให้บริการการแพทย์ 5G Smart Ambulance สำหรับบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ และ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแหล่งข้อมูล (Big Data) เพื่อนําไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อในด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อประชากรในท้องถิ่นระบบเชื่อมโยงและข้อมูลระหว่างกลุ่มข้อมูลแบบเรียลไทม์ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่

'รฟม.' ปลื้ม 2 ต่อ!! แคมเปญ 'ชวนใช้รถไฟฟ้า MRT' เข้าถึงผู้คนมหาศาล ใต้คอนเทนต์ 'สร้างสรรค์-โดนใจ' จนคว้ารางวัลใหญ่ Thailand Influencer Awards 2023

(19 ก.ย.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับรางวัล Best Automotive and Transportation Influencer Campaign ในสาขา Brand and agency awards จากเวทีประกาศรางวัล Thailand Influencer Awards 2023 โดยมี นายยุทธศักดิ์ ชื่นใจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทน รฟม. เข้ารับรางวัล ณ ICONSIAM HALL

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิด้านการโฆษณาและการจัดทำแบรนด์ทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เช่น นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย), สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย, ตัวแทนผู้บริหารจาก Line และ Tiktok (Thailand) ซึ่งมอบให้แก่หน่วยงานและองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคอนเทนต์ ให้มีพลังจนเป็นที่ยอมรับในสังคม อีกทั้งยังมีการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ ทาง รฟม. ได้นำกลยุทธ์ Influencer Marketing มาใช้ในการจัดทำแคมเปญ 'ชวนใช้รถไฟฟ้า MRT' ภายใต้โครงการเพิ่มจำนวนการใช้บริการรถไฟฟ้าของ รฟม. โดยสื่อสารสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์และบริการของ รฟม. ผ่าน Influencer กว่า 31 ราย และมีผลตอบรับที่ดีด้วยยอดเข้าถึงกว่า 1.1 ล้านครั้งเลยทีเดียว 

‘เลขา สดช.’ ชู แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 3 มั่นใจ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย

เลขาธิการ สดช. ร่วมเวทีสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ย้ำ ประเทศไทยต้องรักษาดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ไม่ให้ต่ำกว่าเดิม พร้อมเดินหน้าตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในระยะ 3 ครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้เข้าร่วมงานสัมมนาโครงการสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงผู้บริหารของกระทรวงฯ และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายภุชพงค์ ได้กล่าวบนเวที ถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ตามแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ในระยะ 3 ระหว่างปี 2566-2570 โดยระบุว่า ขณะนี้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ทางด้านศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก โดยเป้าหมายหลักคือการทำอันดับให้ดีขึ้น หรือ อย่างน้อยจะต้องไม่ลดจากอันดับเดิมที่เป็นอยู่

โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญ อย่างเช่น มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อจีดีพี (Digital Contribution to GOP) ในปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 และปี  พ.ศ. 2581 ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digltal Compettiveness Ranking ในปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และในปี พ.ศ. 2080 อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกหรืออยู่ใน 2 อันดับแรกของอาเซียน ส่วนในด้านสถานภาพการเข้าใจติจิล ( Digital Literacy) ของประชาชนคนไทย มากกว่า 30 คะแนน ในปี พ.ศ. 2570 และมากกว่า 85 คะแนน ในปี พ.ศ. 2580 

ทั้งนี้ การจะเดินไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จะขับเคลื่อนไปตามกรอบการพัฒนาทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านรัฐบาลดิจิทัล, ด้านการพัฒนากำลังคน และด้านการสร้างความเชื่อมั่นโดยการพัฒนาระบบนิเวศด้านโครงสร้างด้านเทคโนโลยี

“เราต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันนั้น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างสูง อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับประเทศในทุก ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในระดับนานาชาติ พร้อมกับพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศต่อไปให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุก ๆ ด้าน”

ขณะที่บรรยากาศภายในงานสัมมนา มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากทั้งภายในสถานที่จัดงาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคารสโมสร บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมถึงการรับชมผ่านออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังได้เยี่ยมชมบูธของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ซึ่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนฯ และจัดกิจกรรม เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกรับของที่ระลึกจากของกองทุนดีอี ทำให้บรรยากาศในงานสัมมนาตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความคึกคักอย่างมาก

‘พิมพ์ภัทรา’ เผย!! เร่งผลักดันส่งเสริม ‘อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า’ หลังค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเข้าพบ-หารือแนวทางสนับสนุน

(12 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานในการพิจารณากำหนดแนวทางผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือ EV 3.5 เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยด่วน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด ก่อนที่มาตรการอีวี 3.0 จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้

“ขณะนี้มีค่ายรถยนต์อีวีบางค่ายสอบถามเรื่องมาตรการส่งเสริมรถอีวี และเข้ามาพบ เพื่อหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกฝ่าย อาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบ้างบางข้อตามความเหมาะสม” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ฝากการบ้านถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาจะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องการพักหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนเอสเอ็มอีรายใหม่ รวมถึงเตรียมกำหนดแนวทางสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์สอดรับนโยบายรัฐบาลด้วย

‘BOI’ กางยอด 8 เดือน ไต้หวันแห่ลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท พร้อมยกเป็นฐานการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งออกทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ดิจิทัล อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกขยายตัวอย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัปพลายเชนครบวงจร และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนที่แข่งขันได้ ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

โครงการลงทุนจากไต้หวันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คอมพิวเตอร์พกพา (Notebook) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Device) เป็นต้น 

ซึ่งบีโอไอได้มองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากไต้หวันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานนำสมาชิกสมาคมผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากไต้หวัน เดินทางสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการลงทุนในประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัท PCB จากไต้หวัน ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี และได้พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ จนแข็งแกร่งและครบวงจร ทั้งยังผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกมาแล้ว จึงมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยจะดึงการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” นายนฤตม์ กล่าว

ปัจจุบันไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 65 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ สำหรับการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 35 โดยปัจจุบันผู้ผลิต PCB ไต้หวัน 20 อันดับแรก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 10 ราย เช่น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB เป็นต้น 

เมื่อรวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยประเทศเวียดนามและมาเลเซีย สำหรับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่เหลือ เป็นเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอจะเร่งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยบางรายได้ตอบรับและอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเร็ว ๆ นี้

“การเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิต PCB จากไต้หวันในรอบนี้ ถือเป็นคลื่นการลงทุนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ประเทศเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัปพลายเชนในประเทศ เกิดการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไออีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - สิงหาคม 2566) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการผลิต PCB 7 โครงการ เช่น บริษัท Gold Circuit Electronics, ITEQ Corporation, Taiwan Union Technology และเป็นการผลิตโน้ตบุ๊กให้กับ HP บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 2 ของโลก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท QMB และ Inventec นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่จากไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น บริษัท Delta Electronics, Tatung, Cal-Comp, Techman, Chicony, Primax เป็นต้น

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลในการดำเนินงาน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ.

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลในการดำเนินงาน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26 (1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 5 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน 'โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่' ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ขอทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC ได้แก่ การสร้างเครือข่าย Internet of Things และ CCTV พร้อม ทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจ ใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเมือง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่นักพัฒนาเมืองจะสามารถ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา และต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้

โดยผลการดำเนินงานในโครงการ ประกอบด้วย การติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้นในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้าน IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเริ่มใช้งานจริง เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รักษารวดเร็ว

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน ของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ และเจ้าหน้าที่กลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน” ของ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 
.
โครงการมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke ให้กับพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ในเขตพื้นที่บริการ ให้เป็นต้นแบบในการให้บริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจร เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและลดอัตราความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานในโครงการในการพัฒนาระบบเสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการเก็บผลการให้บริการจริงในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ พบว่า ผลเป็นที่น่าพอใจ การดำเนินการให้บริการของรถโมบายสโตรคยูนิตในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยประสานกับหน่วยส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน สพฉ. ในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาที่รถโมบายสโตรคยูนิต ที่สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ในวินิจฉัยโรคและการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Telestroke ตลอดจนการส่งต่อข้อมูลภาพถ่ายผลการสแกนสมองที่แม่นยำเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยในการใส่สายสวนหรือการให้ยาสลายลิ่มเลือดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตและลดอัตราความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ ก่อนนำส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลเครือข่ายต่อไป 

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากต้องการพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ปัญหาไฟป่า - PM2.5

ฝุ่นพิษ PM2.5 จากเดิมที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้คืบคลานเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก
 
ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 แล้ว ปัญหา ‘การเผาป่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มข้นในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และทุกภาคส่วนได้พยายามถอดบทเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมการรับมือทั้งการปลูกป่า การทำป่าเปียก และใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ซึ่งเป็นแอประบบสนับสนุนการตัดสินใจในบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง เป็นระบบที่บูรณาการ ทั้งข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

แต่ทว่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นไม้เบญจพรรณผลัดไป เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เมื่อใบไม้มีจำนวนมากขึ้น หากเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะเกิดความลำบากในการควบคุม ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การทำป่าชุมชน และการทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น

และอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จะทํานั่นก็คือ การดึงเชื้อเพลิงออกมาจากป่า เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัชพืชใบไม้จากพื้นที่ป่า และตอซังข้าวโพด จากพื้นที่เกษตร เพื่อลดการเผา และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรับซื้อเศษวัชพืชต่าง ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงแบบชีวมวล 

“การนำเศษวัชพืชไปทำเป็นชีวมวล เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมาทางหวัดได้พยายามที่จะศึกษา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ เนื่องจากว่า มูลค่าของวัสดุพวกนี้ ไม่คุ้มกับที่ชาวบ้านจะขนไปขาย เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง แต่การที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเพิ่มจุดรับซื้อ ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนขนวัชพืชและตอซังมาขายเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือร่วมใจแก้ไข เพราะไฟป่าหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไข อย่าลืมว่าอากาศไม่มีพรมแดน ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ถ้าเรานิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหาร่วมกัน คิดว่า เรื่องไฟป่า ก็จะอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปอีกนาน”

อีอีซี โชว์หมุดหมายศูนย์กลางลงทุนโลก ตั้งเป้า 5 ปี ปั๊มเงินกว่า 2.2 ล้านล้าน

(24 ส.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ EEC ยึดหลักสอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือ เริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ที่ดินผ่านการจัดสรรให้เกิดการลงทุนเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง รวมทั้งการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทาง อีอีซี ได้ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570 

โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดโรดโชว์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก! ในพื้นที่ อีอีซี มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

‘ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการอีวี วงเงินรายละ 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปี

(21 ส.ค. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ ภายใต้การบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นการผลิตยานยนต์ใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ

สินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance ภายใต้ ‘โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเก็จ ‘สินเชื่อ Green Loan’ ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ ‘โครงการ GSB For BCG Economy’ ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้

อนึ่ง ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เติบโต อย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว

‘คาร์บอนเครดิต’ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หนึ่งในหมัดเด็ด ช่วยฟื้นเชียงใหม่จาก PM2.5

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ มาบ้าง ซึ่งคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า จังหวัดตากของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากจนน่าตกใจ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นหายนะจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้จับมือเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยทาง จีอาร์ดี จะเข้ามาช่วยในด้านคาร์บอนเครดิต สร้างธุรกิจสร้างรายได้ให้คืนสู่เกษตรกรและจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการลดขยะ ลดการเผา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคืนกลับมาเป็นรายได้และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

รัฐบาล เตรียมเปิดตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ปักหมุดไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำคัญ

(18 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อรองรับและขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก พร้อมทำแผนยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ในเรื่องพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมุสลิม การออกแบบบริการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม และชี้แจงแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ระยะ 5 ปี (2566-2570) 

ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย การยกระดับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน, การพัฒนาสินค้า บริการ และกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม, สนับสนุนการนำเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมุสลิม, บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม และเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างการรับรู้ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม

น.ส.รัชดา กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อยกระดับผู้ประกอบการด้านบริการเพื่อการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางมาไทยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ข้อมูลจาก MasterCard-CrescentRating Global Muslim Travel Index 2022 จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศ/รัฐ/เขตปกครอง ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนิยมมาท่องเที่ยว รองจาก สิงคโปร์ และไต้หวัน (https://www.crescentrating.com/reports/global-muslim-travel-index-2022.html)

“รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิม ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ในการสนับสนุน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมั่นว่าแผนยุทธศาสตร์ที่มีประโยชน์นี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ไทยเป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมภายในปี 2570” น.ส.รัชดา กล่าว

SME D Bank ทุ่ม 500 ล้าน เปิดตัว ‘Micro OK’ สินเชื่อใหม่หนุน SMEs เข้าถึงเงินทุน

SME D Bank คลอดสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’ วงเงินรวม 500 ล้านบาท เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธ.ค. 66 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้าทำงานเชิงรุก  พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และกระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro ที่มีศักยภาพเข้าถึงเงินทุนได้ง่าย รวดเร็ว ผ่านสินเชื่อใหม่ ‘Micro OK’ วงเงินรวม 500 ล้านบาท แจ้งความประสงค์ได้ง่ายด้วยระบบออนไลน์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งลงทุน ขยาย ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการ หรือหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ช่วยต่อยอดยกระดับธุรกิจเดินหน้าไม่มีสะดุด  

จุดเด่นสินเชื่อ ‘Micro OK’ เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro (รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ที่มีศักยภาพทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคผลิต ภาคค้าปลีกค้าส่ง และภาคบริการ ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.29% ต่อเดือน (MLR +8% ต่อปี) ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ที่สำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือเมื่อเต็มวงเงินโครงการ

อีกทั้ง พัฒนากระบวนการอำนวยสินเชื่อ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยแจ้งความประสงค์ผ่านออนไลน์ และพิจารณาคุณสมบัติด้วยระบบ Credit Scoring มีขั้นตอน ได้แก่ 

1. สแกน QR Code ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือคลิกผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th หรือ LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น 

2. กรอกรายละเอียดเบื้องต้น เช่น ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ วงเงินที่ต้องการกู้ เป็นต้น 

3. เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายเข้าเยี่ยมสถานประกอบการ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป หรือกรณีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแนะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการ ช่วยเตรียมความพร้อม เพื่อพาเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอนาคตต่อไป 

ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการสินเชื่อ ‘Micro OK’ และบริการด้านการพัฒนา สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ SME D Bank เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th, LINE Official Account : SME Development Bank และสาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

‘ชีวมวลอัดเม็ด’ จากเศษพืช - ตอซังข้าวโพด ตอบโจทย์ลดเผาป่า ฟื้นเชียงใหม่จากฝุ่นพิษ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของคนในพื้นที่

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะร่วมกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ และปัญหาจะวนกลับมาเป็นวัฏจักรทุกปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หลังจากเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน กว่า 50 องค์กร ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาป่าและตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าว

ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวล และ Black Pellets ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อตอซังข้าวโพด เพื่อนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่นควันไฟป่า และการเผาป่าทำการเกษตร จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจ ขจัด PM2.5 และลดโลกร้อน ในโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ 

ทั้งนี้ ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การผลิตชีวมวลอัดเม็ดกว่า 12 ปี เข้ามาร่วมแก้ปัญหา PM2.5 โดยเริ่มจากตัวเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวหนักที่สุด

โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดและเศษฟางข้าว เพื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอัดเม็ด จากนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

“ปัญหาการเผาป่านั้น เกิดจากคนมักจะนำไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ส่วนเศษตอซังข้าวโพด ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งพวกใบอ้อยต่าง ๆ จะไม่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะมีความหนาแน่นไม่มากพอและมีความชื้นสูง ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับเศษพืชที่ง่ายสุดคือการเผา จึงทําให้ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มกิจกรรมการเพาะปลูกใหม่ จึงเกิดการเผาป่ากันเป็นวงกว้าง สุดท้ายปัญหาที่ตามมาก็คือฝุ่นควัน PM2.5 อย่างที่เราเห็นกันทุก ๆ ปี”

สำหรับ โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ เชื่อว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดการเผาป่าน้อยลง เพราะสามารถนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษพืชอื่น ๆ มาขายเข้าโครงการ เป็นการเพิ่มรายได้จากเศษซากพืชที่เหลือใช้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรวบรวมชีวมวลเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจอมทองนั้น จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่จะนำมาขาย เพราะหากว่าจุดรับซื้ออยู่ระยะไกลมาเกินไปจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และจะไม่มีแรงจูงใจให้รวบรวมเศษตอซังมาขาย ดังนั้น ในเบื้องต้นได้เปิดจุดรับซื้อทั้งหมด 6 จุดในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบ ๆ โรงงานที่จอมทอง และในอนาคตจะกระจายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้น


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top