Monday, 8 July 2024
ECON

‘สนามมวยราชดำเนิน’ จับมือ ‘แกร็บ’ ทุ่มเงิน 100 ล้าน ปลุก ‘มวยไทย’ ดันซอฟต์เพาเวอร์ หนุนท่องเที่ยวเชิงกีฬา

(20 ก.ค. 66) นายเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ‘GSV’ กล่าวว่า…

“มวยไทยถือเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามวยไทยให้สามารถเข้าถึงทุกคน และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของคนทั่วโลก สนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยมาตรฐานแห่งแรกของโลก และเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยอาชีพจึงได้มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมจัดให้มีการแข่งขันหลากหลายรายการ ทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์

รวมถึงการสร้างรายการใหม่ อย่างรายการ ‘ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์’ ที่มีการปรับกติกาและรูปแบบการแข่งขันให้เข้าใจง่ายและน่าติดตาม ด้วยโปรดักชันมาตรฐานระดับสากล โดยถ่ายทอดไปกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครอง เพื่อรองรับกลุ่มคนดูใหม่ๆ พร้อมสร้างสีสันและยกระดับมาตรฐานวงการมวยไทยไปสู่ระดับสากล”

“หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายกระแสความนิยมมวยไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% ของผู้ชมทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยว 5 ชาติแรกที่เดินทางมาชมแมตช์การชกที่สนามของเรา คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและปลุกกระแสมวยไทยให้เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ล่าสุด GSV จึงจับมือร่วมกับ ‘แกร็บ’ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเรียกรถยอดนิยมอันดับหนึ่ง ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อโปรโมตกีฬามวยไทยผ่านสื่อ และกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมมอบส่วนลด 10% สำหรับบัตรเข้าชมการแข่งขันมวยไทย ณ สนามมวยเวทีราชดำเนิน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกวันจนถึงสิ้นปี”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของเราในปีนี้เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บ

ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แกร็บได้ดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนามาตรฐานบริการ เพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทาง โดยมีไฮไลต์สำคัญอย่างการปรับโฉมบริการ GrabCar Premium ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘The Ultimate 5 Senses Experience’ รวมถึงการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำแคมเปญ ‘อะเมซิ่งทั่วไทย มั่นใจไปกับ Grab’ และจัดทำไกด์บุ๊ก Grab&Go เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

สำหรับการผนึกความร่วมมือกับสนามมวยเวทีราชดำเนินในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยโดยใช้ Soft Power อย่างมวยไทยมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนอกจากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและกิจกรรมการตลาดในช่องทางต่างๆ แล้ว แกร็บยังมอบส่วนลดพิเศษ 30% สำหรับผู้ใช้บริการ GrabCar Premium และ GrabSUV เมื่อเดินทางไปยังสนามมวยเวทีราชดำเนินเพียงใส่รหัส RAJADAMNERN ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2566
 

‘EA’ ผนึก ‘นางสาวถิ่นไทยงาม’ รณรงค์ใช้พลังงานสะอาด-ยานยนต์ไฟฟ้า ลดมลพิษ-ลด PM 2.5 ในแคมเปญ ‘EA Go Green Clean Energy’

 

(20 ก.ค. 66) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ตอกย้ำสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมสนับสนุน Sustainable Beauty รับเทรนด์ความสวยแบบรักษ์โลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Go Green Clean Energy’ โดยมีนางสาวถิ่นไทยงาม ร่วมโปรโมต ปักธงรณรงค์สร้างพฤติกรรมใหม่ กระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ลดมลภาวะชุมชนเมือง ลด PM2.5 แก้ปัญหารถติด สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) พร้อมด้วย นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะผู้บริหาร โปรโมตแคมเปญ EA Go Green Clean Energy เชิญผู้เข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม ลงพื้นที่ถ่ายทำ Branding เดินหน้าสร้างพฤติกรรม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด-ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ‘รถ-เรือ-ราง’ เชื่อมโยงการเดินทางได้ไกล ไร้มลพิษ

การขับเคลื่อนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาด โดยมีนางสาวถิ่นไทยงาม ร่วมโปรโมตจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้สู่กลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายยิ่งขึ้น เกิดการกระตุ้นและขยายโอกาสธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ โดยมีการถ่ายทอด Branding ผ่านผลิตภัณฑ์ EA ที่ตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ดังนี้

- MINE Bus ยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะทางบก ที่มีการส่งมอบสู่ตลาด ให้บริการประชาชน แล้วกว่า 2,000 คัน และคาดว่าจะมีการส่งมอบอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 คัน เพื่อรองรับการขนส่งสาธารณะเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ได้กว่า 320,000 Ton Co2 per year 

- MINE Mobility MT30 รถกระบะไฟฟ้า EV Mini Truck ที่ออกแบบด้วยกลยุทธ์ Respect Environment เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายแห่งสนใจติดต่อเพื่อขอนำรถไปทดลองใช้ ทั้งด้านโลจิสติกส์, ด้านบริการขายอาหาร เป็นต้น

- MINE Smart Ferry มิติใหม่แห่งการโดยสารทางเรือ ที่เปิดให้บริการประชาชนสัญจรทางน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วกว่า 27 ลำ และมีเป้าหมายขยาย 44 ลำ ซึ่งคาดว่าสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ได้กว่า 8,800 Ton Co2 per year 

- MINE Locomotive หัวรถจักรไฟฟ้าพร้อมตู้แบตเตอรี่แยก (Power Car) นวัตกรรมยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ 

ทั้งนี้ เพื่อสอดรับเทรนด์กระแสความสนใจด้าน Sustainable Beauty ความงามที่ยั่งยืน และกระตุ้นพฤติกรรมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะมากขึ้น EA จึงได้ร่วมกับพันธมิตรนางสาวถิ่นไทยงามโปรโมต Branding สะท้อนการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี อันนำไปสู่การส่งเสริมภาพจำให้กับสาธารณะชน ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งอนาคต (Future Leader)
 

‘นิพนธ์’ พร้อมดัน ‘สงขลา’ สู่ศูนย์กลางปลูกทุเรียนในไทย ควบคู่แลกเปลี่ยนความรู้แก่เกษตรกร ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ

เมื่อวานนี้ (17 ก.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ‘การทำทุเรียนฉบับขั้นเทพ’ โดยมีอาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ นายไพบูลย์ แก้วกันหา ผู้จัดการสื่อการตลาด และเจ้าหน้าที่บริษัทเทพวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าช้าง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์การเกษตร ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา 

เนื่องด้วยปัจจุบันทุเรียนเป็นพืชตัวหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างมากจากการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการขยายตัวอย่างมาก

บริษัท เทพวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับร้านตัวแทนจำหน่ายคือร้านชูพันธ์เกษตรฟาร์มและพันธมิตรได้แก่ บริษัทไฮโดรไทย (ปุ๋ยเรือใบไข่มุก) บริษัท แอดวานส์ เฟอร์ติไลเซอร์ต้องการใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการ การใช้ปุ๋ยใช้ยาในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิต ที่ดีมีคุณภาพจึงได้เชิญวิทยากรจากบริษัทเทพวัฒนาคือ อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม มาบรรยายให้ความรู้ ในครั้งนี้ เพื่อเกษตรกรจะได้ต้นทุเรียนที่สวยงดงาม และให้ผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร

นายนิพนธ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ได้เห็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเชิงวิชาการ การทำทุเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรีบนได้มองเห็นโอกาสร่วมกัน ซึ่งเห็นบรรยากาศแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินหน้าให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน จากความตั้งใจของพี่น้อง และความสนใจของพี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าสงขลามีศักยภาพในการที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียน เพราะสงขลาเรามีพื้นที่ค่อนข้างจะมาก ซึ่งเดิมสงขลาเราปลูกยางพารา และถือเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย 

วันหนึ่งเราเห็นว่าพืชทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ขณะนี้เราส่งทุเรียนไปจำหน่ายต่างประเทศ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวปีที่แล้วแสนกว่าล้าน นั่นคือคนจีนยังทานทุเรียนไม่ถึง 10% ของพลเมืองประเทศจีน ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน ขณะที่คนทานทุเรียนยังไม่ถึง 100 ล้าน ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ที่ดูแลธุรกิจในประเทศไทยคือท่านธนินทร์ เจียรวานนท์ ท่านเจ้าสัวซีพี ให้ข้อมูลกับผมว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไป เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน 

ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขัง แต่พืชทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจทุเรียนถือเป็นธุกิจแสนล้านหรือสองแสนล้านได้ในอนาคต แต่จุดอ่อนของบ้านเราท่านบอกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องตัวหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ ท่านจึงส่งเจ้าหน้าที่ของซีพีมากับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาตัวหนอนในเมล็ดได้ แล้วทำให้จังหวัดยะลา เป็นฮับทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นมาผมจึงเริ่มสนใจการปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะท่านเป็นผู้ชี้แนะอะไรหลายอย่าง และท่านพูดแล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาตำราที่ไหน ผมเชื่อว่าความคิดของท่านที่บอกว่า ในประเทศนี้ธุรกิจที่น่าทำคือพลังงาน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพลังงานคือน้ำมัน นั่นคือพลังงานเครื่องจักร แต่ท่านบอกว่าคงลืมไปว่าพลังงานของคนคืออาหาร ตราบใดที่มีคนหก เจ็ดพันล้านคนในโลกนี้ตราบนั้นคนต้องกินอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จากคำพูดนั้นนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ทำไมซีพีจึงผลิตอาหารเลี้ยงคน 

ดังนั้นวันนี้อนาคตของประเทศไทยคือทุเรียน และพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส ทำอย่างไรเราจะปิดช่องว่างจุดอ่อนของทุเรียนภาคใต้ นั่นคือการแก้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ในทุเรียน อย่าให้มีหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ แล้วอนาคตก็จะดี ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้การทำเกษตรบ้านเราจะทำตามยถากรรมย่อมไม่ได้ การทำการเกษตรต้องมีหลักวิชา และเชื่อว่าเราจะสร้างอาชีพใหม่ได้แน่นอน ถ้าเกษตรกรคนใดมีสองอย่างคือทั้งยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งยางพารานั้นเก็บรายได้ทุกวัน เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ถ้าท่านปลูกทุเรียนไปด้วยทุเรียนจะถือเป็นโบนัสประจำปี สามารถสร้างกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสดีมีทั้งสวนยางพาราและสวนทุเรียนไว้บ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือองค์ความรู้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครรู้เรื่องของ ทุเรียนดีซะทุกอย่าง การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือสุดยอดวิชา ใครมีปัญหาก็พูดคุยกัน และไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดกับคนอื่นอีก หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลูกทุเรียนได้ จึงอยากเห็นเกษตรกรได้ทำสิ่งเหล่านี้ และตั้งใจในการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ ฉะนั้นจากทฤษฎีทั้งหลายที่เราดำเนินการอยู่นี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปดูแลในกระทรวงเกษตร ผมจึงมีความเข้าใจการสร้างมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่างๆที่กระทรวงเกษตรกำหนด หรือแม้แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งสินค้าไปขาย 

ต่อไปนี้ไม่ใช่ใครมีสินค้าทำอย่างไรก็ได้ การใช้ยาเคมีใช้อย่างไรให้พอดี ใช้ปุ๋ยอย่างไรใช้ให้พอดี เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในเชิงวิชาการทั้งสิ้น และหลักวิชาการเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนเป็นพืชเกษตรตัวใหม่ของประเทศไทย และสงขลายังไม่สายเกินไปที่จะปรับขบวนการเหล่านี้ และร้อยเรียงทำอย่างไรที่จะทำให้ทุเรียนสงขลาเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เราต้องช่วยกัน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลอย่างยิ่ง และรัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าประเทศจีน ดังนั้นสิ่งนี้พวกเราต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องไม่ทำลายตัวเราเอง เพราะการที่เราจะทำให้ทุเรียนของเราไม่มีคุณภาพ จะเป็นการตัดราคาตัดโอกาสของเกษตรกร ดังนั้นการทำให้ทุเรียนไม่มีราคา ถ้าเราลองนั่งคำนวณดูจะเห็นว่าไม่มีผลไม้ชนิดไหนแล้วในปัจจุบัน ที่จะส่งออกได้ดีกว่าทุเรียน ดังนั้นเราต้องทำให้สินค้าทุเรียนสงขลาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! เทศกาลภาพยนตร์ไทย-มาเลเซีย 2023 คึกคัก พร้อมดันกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน


(17 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยรับทราบผลสำเร็จของงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในมาเลเซียประจำปี 2566 ภายใต้ธีม ‘Bridging Thainess to International Audience’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่  13 - 16 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์ GSC Mid Vally โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย คณะกรรมการพัฒนาภาพยนตร์แห่งมาเลเซีย (FINAS) คณะทูตานุทูตต่างประเทศ พร้อมทั้งสื่อมวลชนมาเลเซีย นักเรียน นักศึกษามาเลเซียและไทย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาเลเซีย และแฟนคลับชาวไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมมิตรภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และความร่วมมือในอนาคตระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงของทั้งสองประเทศ เปิดโอกาสทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความสำเร็จของประเทศไทยสามารถดึงดูดคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย ทำให้สถิติ 7 ปี (2559 - 2565) สร้างรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ครม.พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ  ทำให้มั่นใจว่าจะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียนได้ตามเป้าหมาย

สำหรับการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในมาเลเซีย ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม ‘เชื่อมความเป็นไทยสู่สากล’ นำภาพยนตร์ไทย 5 เรื่องจากเครือภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงมาฉายสู่สายตามิตรชาวมาเลเซีย ได้แก่ แอน (Faces of Anne) เทอมสองสยองขวัญ (Haunted Universities 2nd Semester) บุพเพสันนิวาส 2 (Love Destiny the Movie) Fast & Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ และหนังรักคลาสสิคตลอดกาล Friend Zone ระวัง...สิ้นสุดทางเพื่อน โดยจัดฉายในโรงภาพยนตร์ในเครือ Golden Screen Cinemas (GSC) 4 แห่งใน กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองปูตราจายา และรัฐสลังงอร์ ได้แก่ GSC Mid Valley GSC 1 Utama GSC MyTown และ GSC IOI City Mall โดย ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
 

‘รัฐบาล’ เร่งยกระดับ ‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ สู่ท่าเรือสีเขียว ดันเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชียแบบไร้มลพิษ

 

 

(17 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังมาโดยตลอด โดยตั้งเป้าให้แหลมฉบังเป็นศูนย์กลางทางการขนส่ง สร้างท่าเรือสีเขียว ลดมลพิษจากการขนส่งพร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลักพันล้านบาทต่อปี รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระดับเอเชีย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการดำเนินการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือได้อย่างมีนัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

1. การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) โดยหากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี  

2. การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.1% CAGR ในปี 2579 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e  

3. การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟ โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ทำให้แหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1.2 พันล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางรางของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยได้วิเคราะห์ว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ของท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 สามารถช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อยราว 1.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 600 ล้านบาท และในช่วงปี 2567-2578 ส่วนการเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นทางรถไฟมากขึ้น จะช่วยทำให้ธุรกิจผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในส่วนนี้ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ผลักดันการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือสีเขียว เพื่อให้รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทย และก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชีย รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือสีเขียวตามแนวทางของเศรษฐกิจบีซีจี (BCG) เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจประเภทใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ รองรับความท้าทายในโลก ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้าน
 

ไทย ขึ้นแท่นส่งออกปลากระป๋องเบอร์ 2 ของโลก หลัง 5 เดือนแรกปี 66 มูลค่าพุ่ง 1,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูป ไปตลาดคู่เจรจา FTA ช่วง 5 เดือนปี 66 มีมูลค่าสูงถึง 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 15.7% ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่จีนเท่านั้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 931.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 4.6% ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ปัจจุบันไทยมี FTA กับคู่ค้า 18 ประเทศ โดยคู่ค้า 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีน แมคเคอเรลกระป๋อง และไข่ของปลาค็อด อัตรา 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีนกระป๋อง อัตรา 16% ทูน่ากระป๋อง ทั้งแบบในน้ำมันและต้มสุกแล้ว อัตรา 20% ปลาไหลแปรรูป และฟิชเพสต์ อัตรา 5% และอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าทูน่าทุกประเภท และคาร์เวียร์ อัตรา 30% และภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทูน่าต้มสุกในกระป๋องให้ไทยจนเหลือศูนย์ในปี 2579

“ไทยมีศักยภาพการผลิตปลากระป๋องและแปรรูปเป็นยอมรับจากทั่วโลก จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และไทยมี FTA จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปของไทยขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อขยายส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ” นางอรมนกล่าว

 

 

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฟันธง!! ไทยควรถึงเวลาปฏิรูปภาษี ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล-เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน

(16 ก.ค. 66) ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ ‘Easy Econ’ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE TOMORROW ในประเด็นการปฏิรูปการคลัง (Fiscal Reform) ของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า นโยบายการคลัง คือนโยบายที่ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีอากร และการก่อหนี้สาธารณะหากเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ นโยบายการคลังอยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าความต้องการของประชาชนได้รับการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาวะการคลังของเกือบทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในฐานะขาดดุล เพราะฝ่ายการเมืองชอบที่จะใช้จ่ายมากกว่าหารายได้ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ทุกประเทศรวมทั้งไทย ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังปีละ 5-6% ของ GDP และมีหนี้สาธารณะที่ระดับ 62% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์การคลังไทย

ในสถานการณ์ปกติ ฐานะการคลังดังกล่าวถือว่าบริหารจัดการได้ แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง สังคมสูงอายุ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายด้านการทหารและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับมาตรการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงทางการคลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะทำการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง

ในด้านรายได้ ถึงเวลาที่จะต้องทำการปฏิรูปภาษีอากรครั้งใหญ่ หลังจากที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รายได้ภาษีอากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP เพราะฐานภาษีสึกกร่อนจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digitalization) แนวโน้มดังกล่าวยังความจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยปรับอัตรา) ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเลิกการยกเว้นลดหย่อนภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน และเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน

ในด้านรายจ่าย มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมสูงอายุทั้งในด้านความเพียงพอ ตรงเป้า และยั่งยืน การลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้าและการรั่วไหลในการดำเนินการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็จะต้องมีการรื้อกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP (Public Private. Partnership) มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว นโยบายการคลังด้านภาษีมีความสำคัญในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้สอดคล้องกับนโยบายในการบริหารประเทศที่ต้องนำไปพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป

ไทย ติดอันดับ 6 ต่างชาติอยากย้ายมาทำงานมากสุด ชี้ ที่พักไม่แพง - อาหารถูกใจ แต่กังวลด้านสิ่งแวดล้อม


รายงาน Expat Insider 2023 จัดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 8 จากทั้งหมด 53 ประเทศ

สำหรับ 10 จุดหมายปลายทางน่าอยู่และเหมาะทำงานมากที่สุดในโลก ในปี 2023 ได้แก่
1.เม็กซิโก
2.สเปน
3.ปานามา
4.มาเลเซีย
5.ไต้หวัน
6.ไทย
7.คอสตาริกา
8.ฟิลิปปินส์
9.บาห์เรน
10.โปรตุเกส

เกณฑ์การจัดลำดับของ Expat Insider 2023 จะพิจารณาจาก 5 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีคุณภาพชีวิต ดัชนีความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน ดัชนีการทำงานในต่างประเทศ ดัชนีการเงินส่วนบุคคล และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การติดต่อราชการ ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย Expat Insider ระบุว่า ดัชนีคุณภาพชีวิตของไทยอยู่ลำดับที่ 37 ดัชนีความสะดวกสบายในการเข้าพักอยู่ลำดับที่ 11 ดัชนีการทำงานในต่างประเทศอยู่ลำดับที่ 39 ดัชนีการเงินส่วนบุคคลอยู่ลำดับที่ 4 และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติอยู่ลำดับที่ 18

Expat Insider อธิบายถึงการจัดลำดับของไทยว่า ชาวต่างชาติ 86% เห็นว่ารายได้ครัวเรือนเพียงพอต่อการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ราคาบ้านถูก และชาวต่างชาติ 9 ใน 10 พึงพอใจกับอาหารไทยที่มีความหลากหลาย วัฒนธรรมไทยและชีวิตกลางคืนก็เป็นปัจจัยที่ชาวต่างชาติชื่นชอบมากถึง 78%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวต่างชาติกังวลคือด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เพราะชาวต่างชาติเชื่อว่า รัฐบาลไม่ค่อยมีนโยบายสนับสนุนปกป้องสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการสีเขียว รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรก็ยังไม่น่าพึงพอใจ

นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัยมากนัก เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ

ขณะที่ชาวต่างชาติบางส่วนยังรู้สึกไม่สบายใจกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ชาวต่างชาติประมาณ 42% มองว่า คนไทยไม่ค่อยคิดนอกกรอบ และมีเพียง 45% เท่านั้นที่ทำงานในไทยแล้วได้พัฒนาทักษะอาชีพตนเอง ส่วนชาวต่างชาติ 1 ใน 3 ยังไม่พอใจกับการให้บริการออนไลน์ของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ราว 81% พึงพอใจกับความเป็นมิตรของคนไทยในท้องถิ่นมาก และเปรียบเทียบว่าอยู่ไทยเหมือนได้อยู่บ้านตัวเอง และแม้ภาษาไทยจะเป็นอุปสรรคที่ยากสำหรับชาวต่างชาติ แต่ 63% บอกว่าสามารถอยู่ไทยได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องพูดไทยก็ได้
.

 

ตลท. ขอให้ ‘NUSA’ แจงงบการเงิน Q1/66 หลังผู้สอบบัญชีพบข้อสังเกตการซื้อโรงแรมในเยอรมนี

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ขอให้ บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1/66 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี ภายใน 25 ก.ค. 66 ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวตั้งแต่งบการเงินปี 64

▪️ ประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ ต้องการให้ NUSA ชี้แจงมีดังต่อไปนี้

1. NUSA แจ้งรายการเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนี เดือน ม.ค. 64 ซึ่งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ต่อมาในงบการเงินไตรมาสที่ 3/65 ได้เปลี่ยนเป็นการซื้อหุ้นแทน โดยจ่ายเงินมัดจำให้ผู้ขายแล้ว 624 ล้านบาท (84% ของราคาซื้อ) การก่อสร้างให้แล้วเสร็จเลื่อนจากปี 66 เป็นปี 67

2. ให้ NUSA ชี้แจงเหตุผล การขยายเวลาคืนเงินเพิ่มทุนและเงินมัดจำ มาตรการดำเนินการเพื่อให้ได้รับคืนเงินดังกล่าวเมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยาย รวมทั้งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท จากกรณีการลงทุนในบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มอร์ มันนี่) 30% (ผู้ถือหุ้นอีก 50% คือ บริษัทย่อยของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE)) เพราะได้วางเงินมัดจำให้แก่มอร์มันนี่ ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกการร่วมลงทุน และขายหุ้นมอร์มันนี่ โดยได้โอนกรรมสิทธิในหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระค่าขายรวม 57.5 ล้านบาท ออกไปอีก 90 วัน 

3. ความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงาน เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีผู้สอบบัญชีได้ให้ข้อสังเกต ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/66 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินสำคัญ คือ เจ้าหนี้ค่างานก่อสร้างของบริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (ณุศา เลเจนด์) รวม 1,723 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของข้อพิพาทดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเหตุผิดนัดในมูลหนี้อื่นของบริษัท เช่น หนี้หุ้นกู้ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ NUSA เคยถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ  ตักเตือน และขอให้ชี้แจงข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมมาแล้ว 

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ธ.ค. 2565 ตลท. ได้ให้ NUSA ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2565 และการลงทุนที่สำคัญ ดังนี้

1. การซื้อหุ้นบริษัท โฮดิ้ง (บริษัท พานาซีแฟรว์าลทุงส์ จี เอ็ม บี เอช : PCNV)  2. การลงทุนและการชำระเงินมัดจำให้แก่บริษัท มอร์ แดน ณุศา เอ็นเตอร์เทน จำกัด 3. เงินค้างรับจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยให้กิจการร่วมค้า

4. เงินจ่ายล่วงหน้าค่าเพิ่มทุนบริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด 5. แนวทางการชำระคืนเงินกู้ยืมจากกิจการอื่นที่ครบกำหนดชำระและผลกระทบกรณีบริษัทย่อย ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินที่สถาบันการเงินกำหนด และ 6. การลงทุนในบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) (DEMCO) โดยเมื่อ 30 ธ.ค. 65 NUSA ได้ชี้แจงตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงไปแล้ว

ต่อมาเมื่อเดือน เม.ย. 2566 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกมาตอกย้ำอีกรอบด้วยการเตือนให้ “ผู้ถือหุ้น NUSA” ศึกษาข้อมูล และไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อ 28  เม.ย. 66 กรณีที่ NUSA ได้ซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO จำนวน 90,730,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 453.65 ล้านบาท

โดยเป็นการซื้อจาก บริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (THANA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NUSA และได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก THANA จำนวน 600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 8.75%  ต่อปี ระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน และมีหลักประกันเป็นหุ้นของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) จำนวน 2.60 ล้านหุ้น (คิดเป็นมูลค่า 452.32 ล้านบาท)

ธุรกรรมทั้ง 2 รายการดังกล่าวแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2565 โดย NUSA ไม่ได้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 จึงได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น NUSA เพื่อพิจารณาอนุมัติให้สัตยาบันต่อการเข้าทำรายการ

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เห็นว่า ผู้ถือหุ้นไม่ควรอนุมัติการให้สัตยาบันในการเข้าทำธุรกรรมการรับความช่วยเหลือทางการเงิน และธุรกรรมการได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ DEMCO กับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันในครั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่สมเหตุสมผล และไม่เหมาะสมในเรื่องต้นทุนการเข้าทำธุรกรรม ความจำเป็นในการเข้าทำธุรกรรม และเงื่อนไขในการเข้าทำธุรกรรม

โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ย 8.75% ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าต้นทุนทางการเงินที่ NUSA เคยได้รับจากแหล่งเงินทุนอื่น และระยะเวลาการกู้ยืมเงิน 6 เดือนจาก THANA ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง และติดตั้งงานวิศวกรรม ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่า 6 เดือน

รวมทั้งราคาหุ้น DEMCO ที่เสนอขายมูลค่า 5 บาทต่อหุ้นสูงกว่าช่วงมูลค่ายุติธรรมที่ IFA ประเมินได้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหุ้นเท่ากับ 2.22 - 4.39 บาทต่อหุ้น และมูลค่ายุติธรรมกรณีฐานที่ 3.24 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ DEMCO ยังมีผลประกอบการในภาพรวมที่ขาดทุน จึงอาจกระทบต่อฐานะทางการเงินของ NUSA และ NUSA ยังขาดประสบการณ์ในธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจก่อสร้างธุรกิจวิศวกรรม และธุรกิจผลิตจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในกรณีผู้ถือหุ้นมีมติไม่อนุมัติการให้สัตยาบันในการเข้าทำรายการดังกล่าว NUSA อาจมีความเสี่ยงจากการที่ผู้ขายปฏิเสธการใช้สิทธิเรียกร้อง และชดเชยความเสียหาย เนื่องจาก NUSA ไม่มีการทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับ THANA

คณะกรรมการ NUSA เห็นว่า การเข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญ DEMCO และการรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก THANA เป็นไปตามกลยุทธ์ของ NUSA ที่จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความเติบโตสูงและ DEMCO เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจก่อสร้างระบบไฟฟ้าและระบบผลิตไฟฟ้า โดยจะส่งผลให้เกิดการประสานพลัง (synergy) ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัทในธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจพลังงานที่ NUSA ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต

การเข้าทำธุรกรรมทั้ง 2 รายการของ NUSA ตามที่กล่าวข้างต้นเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ และรายการที่เกี่ยวโยงกัน (ธุรกรรมการได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ DEMCO จาก THANA และธุรกรรมการรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก THANA ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ NUSA) จึงต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับส่วนของผู้มีส่วนได้เสีย

ดังนั้น ก.ล.ต. ขอให้ผู้ถือหุ้นศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการรักษาประโยชน์ของตนเอง พร้อมทั้งสอบถามผู้บริหาร NUSA ถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนในการประกอบการตัดสินใจออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นด้วย 

และเมื่อ 28 เม.ย. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็มีมติอนุมัติให้สัตยาบันรายการที่เกี่ยวโยงกันสำหรับการซื้อหุ้น DEMCO

กระทั่งกรณีล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมลูงบการเงินของ NUSA ในไตรมาส 1/66 พร้อมทั้งให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่25 ก.ค. 2566

โดยทาง นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ได้ชี้แจงในเบื้องต้นใน 3 ประเด็นดังกล่าว ว่า

1.รายการเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนี ในการเปลี่ยนเป็นเงื่อนไขการซื้อเดิมจากการซื้อทรัพย์สิน (โรงแรม รวมถึงสิทธิในใบรับรองใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงแรม โดยได้ออกให้ไว้โดยถูกต้องตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี รวมตลอดถึงสิทธิ ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า ตราสินค้าของทรัพย์สินที่ซื้อขาย) เป็นการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท พานาซี แฟร์วาลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จำกัด (PNCV) ผู้ถือหุ้นในบริษัท บาดิชเชอร์ โฮเทลแฟร์วัลทุงส์ จีเอ็มบีเฮช จำกัด (BHV) (เป็นเจ้าของทรัพย์ตามสัญญาซื้อทรัพย์สินเดิม) โดยเหตุที่ NUSA ไม่รับเงินมัดจำคืนทันที เนื่องจากผู้ขายหุ้นใน PNCV คือบุคคลเดียวกับผู้ขายทรัพย์เดิม และปัจจุบันบริษัทได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้น PNCV (เจ้าของโรงแรม) มาเป็นของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2.รายการเกี่ยวกับบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในธุรกิจจัดคอนเสิร์ต Rolling Loud Thailand โดยในไตรมาส 2/2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับชำระค่าหุ้นจำนวน 1.5 ล้านบาทแล้ว ยังคงเหลืออีกจำนวน 57.5 ล้านบาท ซึ่งได้รับแจ้งขอขยายเวลาชำระคืนเงินเพิ่มทุน และเงินมัดจำ จำนวนรวม 57.5 ล้านบาทนั้น เนื่องจากทางมอร์ มันนี่ ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดคอนเสิร์ต Rolling Loud Thailand 2023 ยังไม่แล้วเสร็จ ทางมอร์ มันนี่ฯ จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 90 วัน ทั้งนี้ บริษัทยังมีการคิดดอกเบี้ยในเงินส่วนที่ให้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าว

3.ความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง กรณีเจ้าหนี้ค่างานก่อสร้างของบริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (Legend Siam) โดย China International Economic and Trade Arbitration Commission มีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้บริษัทชำระหนี้ของ Legend Siam ซึ่ง ณุศา ถือหุ้นเพียง 50% นั้น ข้อพิพาทในการชำระหนี้ข้างต้นยังไม่เป็นเหตุให้ผิดนัดในมูลหนี้อื่น เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งศาลเป็นที่สิ้นสุด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายในศาลแพ่ง ดังนั้นหากคำพิพากษาสิ้นสุดให้บริษัทชำระหนี้ดังกล่าว บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ในวงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอในการชำระหนี้ และการขยายงานในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณา ซึ่งมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าภาระตามข้อพิพาทดังกล่าวมิได้กระทบต่อสภาพคล่อง และการชำระคืนหนี้ต่างๆ ของบริษัทแต่อย่างใด
.

'วิชัย ทองแตง' ปั้นภาคีเครือข่าย 'รัฐ-เอกชน' ดึงกว่า 50 องค์กร ร่วมใจพลิกเชียงใหม่ไร้ฝุ่น PM 2.5

'หยุดเผา เรารับซื้อ' หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 'ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน' ผ่านการร่วมกันคิดและทำให้สำเร็จ ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ด้วยมาตรฐานระดับโลกที่โรงงานต่างๆ ทั่วโลก ที่พร้อมจะรับซื้อต่อไปได้

(12 ก.ค.66) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนและกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน สำคัญที่สุดในอันที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของพี่น้อง ลูกหลานเราโชคดีเหลือเกินที่เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏเหมือนที่ใดมาก่อนเหมือนในวันนี้”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “พวกเราประจักษ์รู้ในความเป็นจริงกันทุกคนว่าแท้จริงแล้ว มันเกิดจากฝีมือมนุษย์เราเอง การเผาป่า เรือกสวน กิ่งไม้ ไร่นา เพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำกินของพวกเรากันเอง นั้นเกิดประโยชน์มหึมาแต่ก็เกิดโทษมหาศาล ทางอบจ.เราเองได้จัดงบลงไปปีละหลายสิบล้าน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 บรรเทาทุกข์ให้กับชาวเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ชาวเชียงใหม่จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการแสดงครั้งสำคัญของพวกเรา” 

ด้าน คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจผู้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งหวังให้ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือปลอด PM 2.5 ได้กล่าวว่า “ภาคีเครือข่ายนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ พวกเราต้องเป็นแกนนำผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่และของประเทศไทย อยู่ที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปพร้อมกันในวันนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่วันนี้ได้มารวมตัวกัน แม้ผมจะเป็นผู้ริเริ่มแต่การผลักดันให้สำเร็จก็อยู่ที่ท่านทุกคน และผลของความสำเร็จก็จะตกอยู่ที่ชาวเชียงใหม่และประเทศชาติของเรา”

ด้าน ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด กล่าวว่า “ผมเล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะขนาดนี้ แสดงว่าชีวมวลก็เยอะเช่นกัน ทีมงานจึงได้ลงสำรวจพื้นที่ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมแหล่งผลิตชีวมวล ในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ อ.จอมทอง เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตร พร้อมขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ  โดยนำไปใช้ในอุตสหกรรม เพื่อพลังงานทดแทนสะอาด เป็นชีวมวลอัดเม็ดพร้อมคาดหวังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้กระจายสู่ชุมชน ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชนโดย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้ได้อย่างยั่งยืน”

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต กล่าวว่า “ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่ แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หลังจากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ เราจะร่วมใจกันอย่างไรให้เชียงใหม่หมด PM 2.5 โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ คุณชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ บริษัท แอทเซส เวิล์ด คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต , คุณอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ , ดร.ณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ , คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย ประจำปี 2566 , ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด พร้อมฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่น่าประทับใจ และพร้อมที่จะพลักดัน หยุดเผา เรารับซื้อ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นลำดับต่อไป

สนใจนำเศษซาก ตอซังข้าวโพด เข้าร่วมโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0934165953

 

‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ คงอันดับเครดิตไทยที่ BBB+ มุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ


(11 ก.ค.66) นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้…

1) ฟิทช์ฯ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.6 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.7 และร้อยละ 3.8 ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 29 ล้านคน จาก 11.2 ล้านคน ในปี 2565 ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการสนับสนุนต่างๆ และมีสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ลดลง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดลงหรือชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจโลก และการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว

2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ฟิทช์ฯ คาดว่าการขาดดุลการคลังของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.4 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.4 ในปี 2566 และคาดว่าปี 2567 จะขาดดุลที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งการขาดดุลที่ลดลงสะท้อนถึงรายได้ภาษีที่แข็งแกร่งขึ้นและการสิ้นสุดของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ดี ภายในปี 2567 คาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.9 แต่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers) และจะทยอยลดลงเนื่องจากมีการปรับภาวะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุล

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังคงสามารถระดมทุนในประเทศได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ ส่งผลให้ หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทและมีอายุคงเหลือที่ค่อนข้างยาว จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านการคลัง

3) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่น แม้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงินโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยฟิทช์ฯ คาดว่า ปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 2.0 ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2567 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและสถานการณ์ราคาน้ำมันที่คลี่คลาย อีกทั้งปี 2566 คาดว่าประเทศไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก คือ 7.3 เดือน ขณะที่คาดว่า BBB Peers และ A Peers จะมีค่ากลางอยู่ที่ 4.2 เดือน

4) ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ฟิทช์ฯ ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ การลดลงของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) การลดการขาดดุลตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีศักยภาพในระยะปานกลาง ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ฟิทช์ฯ มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ คือ การไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและส่งผลต่อการเติบโตหรือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการปรับมุมมองในระยะปานกลาง (Medium-term growth outlook) คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลต่อแผนการปรับภาวะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) เป็นต้น 
 

‘บีโอไอ’ ชี้!! ยอดลงทุน 6 เดือน พุ่ง 3.6 แสนล้าน ‘พริงเกิลส์-โลตัส บิสคอฟ’ ขยายฐานการผลิตในไทยต่อ


(11 ก.ค.66) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘บีโอไอ’ เปิดเผยสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

นอกจากการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมทั้งไทยและต่างชาติแล้ว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีบริษัทระดับโลกหลายรายตัดสินใจขยายฐานผลิตมาที่ประเทศไทย เช่น บริษัท พริงเกิลส์ ผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โลตัส บิสคอฟ ผู้ผลิตบิสกิตชื่อดังแบรนด์ ‘Lotus Biscoff’ สัญชาติเบลเยี่ยม เป็นต้น 
 

รถไฟบรรทุก ‘ทุเรียนชุมพร’ ขบวนแรกถึงจีนแล้ว เปิดมิติใหม่ขนส่งผลไม้จากอาเซียนสู่ ‘มณฑลเหอหนาน’

 


‘ทุเรียนชุมพร’ ขนส่งผ่านรถไฟขนสินค้าจีน-ยุโรป นับเป็นห่วงโซ่ผลไม้แช่เย็น ‘ไทย-ลาว-เจิ้งโจว’ ขบวนแรกของเหอหนาน

รถไฟขนส่งผลไม้แบบห่วงโซ่แช่เย็นขากลับสาย ‘ไทย-ลาว-เจิ้งโจว’ ขบวนแรกที่ขนส่งทุเรียนเดินทางถึงสถานีกลางเจิ้งโจวในนิคมพัฒนาเศรษฐกิจเจิ้งโจว นับเป็นครั้งแรกที่มณฑลเหอหนานนำเข้าผลไม้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านรถไฟจีน-ลาว-ไทย

รถไฟขบวนนี้ออกจากสถานีสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ภาคใต้ของประเทศไทย บรรทุกทุเรียนคุณภาพดีไทยใช้เวลาขนส่งด้วยห่วงโซ่แช่เย็นเป็นเวลา 6 วัน หากเมื่อเทียบกับการขนส่งทางทะเลและทางรถแบบดั้งเดิม ได้ประหยัดเวลาและต้นทุนอย่างมาก

การเปิดใช้งานของทางรถไฟสายนี้ได้ผสมผสานการผลิตและความต้องการของตลาดระหว่างจีนและไทยเข้าด้วยกัน เพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ประหยัด และมีประสิทธิภาพสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภาคกลางของจีนกับอาเซียน และส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนกับประเทศอาเซียน
 

เมืองไทยน่าอยู่ ‘ประเทศไทย’ ติด 1 ใน 10 ประเทศน่าอยู่หลังเกษียณ ต่างชาติพอใจราคา ‘ค่าครองชีพ-ที่พัก-รักษาพยาบาล’

 

TST = WEB / FB / BD / TW / VK / Treads 
TT = WEB / FB


 

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เผยผลสำรวจ 10 ประเทศที่น่าพำนักอยู่หลังเกษียณ (10 Cheapest Places To Live After Retiring) ปี 2023 จากการจัดอันดับของ Annual Global Retirement Index
.
ผลสำรวจนี้ประมวลข้อมูลจากค่าครองชีพ สภาพอากาศ วีซ่า ค่าอาหาร ที่พัก และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ที่อาจอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องทำงาน หรือใช้เงินจำนวนมาก
.
โดย 10 ประเทศที่น่าพำนักอยู่หลังเกษียณ ได้แก่ 
1.โปรตุเกส  
2.เม็กซิโก 
3.ปานามา 
4.เอกวาดอร์ 
5.คอสตาริก้า 
6.สเปน 
7.กรีซ 
8.ฝรั่งเศส 
9.อิตาลีและไทย
.
สำหรับ ‘ประเทศไทย’ คว้าอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 9 ของโลก (เท่ากับอิตาลี) ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก แม้การท่องเที่ยวจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพี แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตผ่อนคลาย สนุกสนาน และเต็มไปด้วยการผจญภัย
.
และยังแนะให้ผู้สนใจเลือกใช้ชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยแสงสีและตึกใหญ่ หรือเลือกอยู่ในจังหวัดภาคเหนือที่อากาศเย็นสบาย
.
ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยไม่แพง สามารถเลือกซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 2 ห้องนอนได้ในราคาไม่ถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเลือกเช่าได้ในราคาเพียงเดือนละ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
.
 

บีโอไอ เผย รถยนต์อีวีจีน ปักหมุดฐานผลิตในไทย ดันมูลค่าลงทุนจากแดนมังกรปีนี้ทะลุ 7.7 หมื่นลบ.


บีโอไอนำธุรกิจไทยโรดโชว์จีน ร่วมมหกรรมแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตก เปิดเวทีจับคู่ธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมอีวี - พลังงานสะอาด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ มหานครฉงชิ่ง และนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 28 - 30 มิ.ย. 2566 โดยคณะได้พบกับผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ EV รายใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัท ฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด และบริษัท เฌอรี่ ออโตโมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ EV อันดับที่ 5 - 6 ของจีน โดยได้หารือกันถึงความคืบหน้าของแผนการลงทุนในประเทศไทย นโยบายส่งเสริมการลงทุนและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของไทย

นอกจากนี้ บีโอไอได้นำคณะผู้ประกอบการจากสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตกของจีน (WCIF) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 งานระดับชาติของจีน และประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประเทศเกียรติยศ เพียงประเทศเดียวในการจัดงานครั้งนี้ โดยภายในงาน บีโอไอได้ร่วมกับมณฑลเสฉวนและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จัดสัมมนาในหัวข้อ China (Sichuan) - Thailand Investment Cooperation Conference โดยบีโอไอ ได้นำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จีนมีความเชี่ยวชาญ เช่น EV, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และ BCG รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนครเฉิงตู และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งเมืองเทียนฟู จัดกิจกรรมสัมมนาและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งระบบชาร์จไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน เป็นต้น โดยบีโอไอได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจหลายราย เช่น สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัทในกลุ่ม ปตท., ทีซีซี และสหยูเนี่ยน เป็นต้น

นายนฤตม์ กล่าวว่า จากการเข้าพบบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด บริษัทได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย และยืนยันแผนการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 9,000 ล้านบาท เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดไทยและภูมิภาคอาเซียน และความพร้อมของไทยในการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่โดดเด่นของภูมิภาค โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์ EV ในไทยช่วงปลายปีนี้ สำหรับการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยได้เตรียมการฝั่งประเทศไทยพร้อมหมดแล้ว รอเพียงการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายจากรัฐบาลจีนเท่านั้น

สำหรับบริษัท เฌอรี่ ออโตโมบิล จำกัด บีโอไอได้หารือกับผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านการลงทุนต่างประเทศของบริษัท ซึ่งมองว่าไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขับพวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยบริษัทให้ความสนใจประเทศไทยอย่างมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรและพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในไทย ในส่วนของการเข้าสู่ตลาดไทย บริษัทมีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบ SUV รุ่น OMODA 5 เข้ามาเปิดตลาดในไทยเป็นรุ่นแรกในช่วงต้นปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย

“จากการหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่ของจีนทั้งสองราย มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ EV พวงมาลัยขวา เพราะมีความพร้อมด้านระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีตลาด EV ที่เติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งบีโอไอได้ตอกย้ำมาตรการสนับสนุน EV แบบครบวงจรของภาครัฐ รวมทั้งความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับประเทศไทย ได้ชื่อว่า เป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีที่สำคัญของค่ายรถยนต์จากจีน หลายค่ายได้ขยายการลงทุนมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท GAC AION New Energy Automobile หรือ GAC AION ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจีน ซึ่งมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 2.7 แสนคันในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 แสนคันในปีนี้ ทางบริษัทฯ ได้ตอบรับเดินหน้าลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. - พ.ค.) มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 93 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 31,000 ล้านบาท ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 แซงหน้าญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และเคมีภัณฑ์

และคาดว่า ตลอดทั้งปี 2566 จะมีโครงการจากจีนยื่นขอรับการลงทุนมากกว่าปี 2565 ที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท ได้อย่างแน่นอน
 


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top