Monday, 8 July 2024
ECON

บัตรคอนเสิร์ต 'เทย์เลอร์ สวิฟต์' ในสิงคโปร์ขายหมดเกลี้ยงทุกรอบ ส่วนราคาเที่ยวบิน-ที่พักพุ่ง!! ด้านนักเศรษฐศาสตร์หวั่นเกิด 'เงินเฟ้อ'

(8 ก.ค.66) บัตรคอนเสิร์ตของ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ นักร้องสาวชาวอเมริกัน ซึ่งเตรียมมาเปิดการแสดงที่สิงคโปร์ 6 รอบในเดือนมีนาคมปีหน้า จำหน่ายหมดแล้ว หลังเปิดขาย 2 วัน

เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้อง และนักแต่งเพลงชื่อดังชาวอเมริกัน เตรียมลัดฟ้าบินมาเปิดคอนเสิร์ต ‘ดิ อีราส์ ทัวร์’ (The Eras Tour) ที่สนามกีฬาแห่งชาติของสิงคโปร์ 6 รอบ ในวันที่ 2-4 และ 7-9 มีนาคม ปี 2024

โดย เออีจี พรีเซนต์ส เอเชีย (AEG Presents Asia) ผู้จัดคอนเสิร์ต เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า บัตรเข้าชมการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว “จำหน่ายหมดแล้ว” หลังจากเปิดขายรอบพรีเซลเมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) และรอบทั่วไปสำหรับผู้ที่ได้รับโค้ดกดบัตรเมื่อวานนี้ (7 ก.ค.)

ขณะที่ก่อนหน้านี้ แฟนๆบางส่วนในสิงคโปร์ ตั้งแคมป์ปักหลักต่อคิวนานข้ามวัน บริเวณด้านหน้าที่ทำการไปรษณีย์สิงคโปร์สาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรอซื้อตั๋วคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัย วัย 22 ปี รายหนึ่งเปิดเผยว่า มาต่อแถวตั้งแต่ช่วงเย็นวันพุธ หลังจากพลาดบัตรรอบพรีเซล จึงตัดสินใจรีบมาตั้งแคมป์ที่จุดจำหน่ายบัตร เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ตั๋ว

สิงคโปร์เป็นจุดหมายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นักร้องสาวชาวอเมริกันรายนี้จะมาเปิดการแสดงสดเป็นเวลา 6 คืนต่อหน้าแฟนๆ ที่โชคดีกว่า 3 แสนคน แต่ ‘สวิฟตี้’ จำนวนมากทั่วภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคน พลาดโอกาสสุดพิเศษนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการคอนเสิร์ตและความบันเทิงที่พุ่งสูงหลังวิกฤตโรคระบาด และอุปสงค์ที่พุ่งสูง ทำให้ราคาบัตร

คอนฯ ปรับตัวขึ้นสูงตาม จนนักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกปรากฏการณ์เงินเฟ้อลักษณะนี้ว่า ‘สวิฟต์เฟลชัน’ (Swiftflation)

ขณะที่ธนาคารกลางของสิงคโปร์ถูกตั้งคำถามว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศรุนแรงขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีรายงานว่า ราคาเที่ยวบินและโรงแรมทั่วเกาะพุ่งสูงขึ้นมากในสัปดาห์ที่ ‘เทย์เลอร์’ จะมาเปิดการแสดงที่สิงคโปร์

AOT จ่อใช้ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่องยกระดับการบิน ไม่ต้องโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรปชช.’


AOT เตรียมใช้การสแกนใบหน้า แทนโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรประชาชน’ ยกระดับด้านบริการ นำร่องเปิดใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง ภายในปี 2567

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า AOT อยู่ในระหว่างผลักดันและพัฒนาระบบ Biomatic เข้ามาใช้ในท่าอากาศยาน โดยจะมีระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร หลังผู้โดยสารเช็คอินผ่านเคาน์เตอร์, ผ่านระบบมือถือ หรือเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ 

หลังจากนั้นระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารมาสร้างเป็นข้อมูล One ID เก็บไว้ ส่งผลให้ผู้โดยสารสามารถเข้าใช้บริการจุดต่าง ๆ ภายในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น จุดตรวจค้นสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนคู่กับ boarding passอีกต่อไป

ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID

เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน

โดยระบบ biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567
 

‘สตาร์บัคส์’ ลั่น!! เปิดร้านในไทยให้ได้ 800 สาขาในปี 2030 พร้อมตั้งเป้าขยายร้านกาแฟชุมชนให้ครบ 8 แห่งภายในปีเดียวกัน



ไม่นานมานี้ ‘เนตรนภา ศรีสมัย’ กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเดินทางกว่า 25 ปีของสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ทำให้แบรนด์มีร้านสาขาทั่วประเทศถึง 465 สาขา เป็นสาขาหลัก 396 สาขา, ไดรฟ์ทรู 56 สาขา และสตาร์บัคส์รีเสิร์ฟ 13 สาขา 

“สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ซึ่งมีพาร์ทเนอร์ (พนักงาน) กว่า 4,300 คนที่ร่วมกันส่งมอบประสบการณ์สตาร์บัคส์ในทุกวัน ให้บริการลูกค้ามากกว่า 800,000 คนในทุกสัปดาห์ ยังคงเดินหน้าในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับลูกค้าและชุมชน พร้อมมองหาโอกาสในการสร้างสัมพันธภาพที่มากขึ้นผ่านแก้วกาแฟ”

ทั้งนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนร้านสาขาจนครบ 800 แห่ง พร้อมกับร้านกาแฟเพื่อชุมชนครบ 8 แห่งภายในปี 2030 เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะเร่งการเติบโตในไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีพลวัตมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สำหรับร้านกาแฟสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน (Starbucks Community Store) ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นร้านสาขาที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พาร์ทเนอร์ สามารถเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับชุมชนในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละร้านสาขา

และล่าสุดสตาร์บัคส์ได้เปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาที่ 2 ที่ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยรายได้ 10 บาทจากการจำหน่ายกาแฟทุกแก้ว จะได้รับการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันให้แก่ 2 องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร

ซึ่งได้แก่ มูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (Integrated Tribal Development Foundation – ITDF) และ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance – SOS)

นอกจากนี้ ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งใหม่นี้ ยังสอดคล้องกับพันธกิจของสตาร์บัคส์ที่จะเปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชนให้ได้ทั้งหมด 1,000 แห่งทั่วโลกภายในปี 2030 ด้วย

สตาร์บัคส์ ประเทศไทย บอกว่า เหตุผลที่เลือกไอคอนสยามเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่ 2 ต่อจากสาขาแรกที่หลังสวน เนื่องจากสาขาไอคอนสยามเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนั่นหมายถึงเกิดโอกาสที่จะมีรายได้ไปแบ่งปันให้กับชุมชนมากขึ้นด้วย

“ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งใหม่ที่ไอคอนสยามนี้ สะท้อนคำมั่นสัญญาของแบรนด์สตาร์บัคส์ในการสร้างความเป็นไปได้แบบไร้ขีดจำกัดเพื่อการเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างผู้คน และการก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทย” เนตรนภา กล่าวเสริม
 

บัญชีทรัพย์สิน ‘พิธา’ ส่อเค้ามีปัญหา หลังไม่แจ้งถือหุ้นบริษัท ‘พรพนา พลัส’ ต่อป.ป.ช.


เจาะบัญชีทรัพย์สิน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’  ที่แจ้งป.ป.ช. หลังพ้นตำแหน่งส.ส. พรรคก้าวไกล 20 มี.ค. 2566 ส่อวุ่น พบไม่แจ้งการถือหุ้นในบริษัท ‘พรพนา พลัส’ ธุรกิจครอบครัวของตระกูล ลิ้มเจริญรัตน์

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 มีทรัพย์สิน 85,023,720.18 บาท หนี้สิน 20,740,176.02 บาท

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ว่านายพิธาอาจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินไม่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากในรายละเอียดประกอบรายการเงินลงทุน 65 รายการ ที่นายพิธายื่นต่อป.ป.ช. ไม่พบว่าได้มีการยื่นการถือหุ้นในบริษัท พรพนา พลัส จำกัด ที่มีชื่อนายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 3 จำนวน 1,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท แต่อย่างใด

สำหรับข้อมูล บริษัท พรพนา พลัส จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในแบบ บอจ 5 ได้ระบุการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 มีชื่อนายพิธา ถือหุ้นในบริษัท พรพนา พลัส จำนวน 1,000 หุ้น เลขที่หมายเลขหุ้น 02001-03000 ลงวันที่ 9 มกราคม 2550 

บริษัท พรพนา พลัส จำกัด จดทะเบียน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2550 วัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย

ผู้ถือหุ้น บริษัท พรพนา พลัส มีจำนวน 6 คน ประกอบด้วย
นางอัญชลี ลิ้มเจริญรัตน์
นางเปล่งศรี ลิ้มเจริญรัตน์
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
นายบรรลือ ลิ้มเจริญรัตน์
นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์
นายแสง ลิ้มเจริญรัตน์

ทั้งนี้ นายพิธา ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่า มีรายได้เงินเดือน 1,362,720 บาท รายได้จากการขายทรัพย์สิน ขายคอนโดปี 2563 จำนวน 13,673,506 บาท ขายรถ 2 คันปี 2565 จำนวน 936,000 บาท ขายหนังสือ 431,712 บาท

ส่วนค่าใช้จ่ายประกอบด้วย ค่าอุปโภคบริโภค 2,400,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 80,973.4 บาท ค่าท่องเที่ยว 100,000 บาท เงินบริจาค 5,193,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย 3,879,223.4 บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายบุตร  ประกอบด้วย ค่าอุปโภคบริโภค 120,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 28,985.48 บาท ค่าเล่าเรียน 413,000 บาท รวม 561,985.48 บาท

นายพิธา แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่า มีทรัพย์สิน ประกอบด้วยข้อมูลรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เงินสด 1,800,000 บาท เงินฝาก 286,045.70 เงินลงทุน 1,346,698.98 บาท เงินให้กู้ยืม 15,000,000 บาท ที่ดิน 18,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 15,000,000 บาท ยานพาหนะ 2,140,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 19,413,985.50 บาท ทรัพย์สินอื่นๆ 12,036,990 บาท เช่น โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง สูท 16 ตัว เนคไท 76 เส้น รองเท้า 21 คู่ นาฬิกา 10 เรือน พระเครื่อง 8 องค์ รวมทรัพย์สิน 85,023,720.18 บาท

ส่วนหนี้สิน ที่นายพิธา แจ้งต่อป.ป.ช.ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชี 807,414 บาท หนี้สินอื่น 19,932,762 02 บาท รวมหนี้สิน 20,740,176.02 บาท

การยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ครั้งนี้นายพิธาได้แจ้งถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) 42,000 หุ้น มูลค่า 44,100 บาท และบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) 880 หุ้น 41.50 บาท โดยหมายเหตุว่า ผู้ยื่นในฐานะผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 ได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรกดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ตาย ให้รับโอนหลักทรัพย์หุ่นนี้อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทอื่น

นอกจากนี้ นายพิธายังแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ว่าได้ให้เงินกู้ยืมแก่นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ 15 ธ.ค. 2563 จำนวน 15,000,000 บาทอีกด้วย

ที่มา : ป.ป.ช. / ฐานเศรษฐกิจ
 

‘กอบศักดิ์’ จี้ยกเครื่องใหญ่ ‘ตลาดทุน’ ป้องกันเหตุซ้ำรอยโกงหุ้น ‘STARK’


‘กอบศักดิ์’ จี้ยกเครื่องใหญ่ ‘ตลาดทุน’ ป้องกันเหตุซ้ำรอยหุ้น ‘STARK’ ชี้ต้องเอาคนผิดทุจริตมารับโทษ หลังผู้เสียหายมากมูลค่าเกินหมื่นล้าน แนะเพิ่มกลไกการตรวจสอบ เร่งเอาผิดทำให้เกิดความเสียหาย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงกรณีหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK” ที่มีปัญหาการทุจริตและมีผู้เสียหายจำนวนมากว่า ในส่วนแรกคนที่ทำความผิดต้องได้รับความผิด ต้องให้เกิดบทเรียนจากการทำผิดครั้งนี้ คนที่อยู่ในกระบวนการนี้ก็ต้องรับความผิดร่วมกัน

“เราจะยอมรับความผิดในลักษณะนี้ไม่ได้เพราะความเสียหายเป็นหลักหมื่นล้านบาท ความเสียหายมีความกว้างขวางมาก และความเสียงหายในครั้งนี้ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยอย่าเดียวแต่เป็นนักลงทุนสถานบันที่มีข้อมูลเพียบ มีนักวิเคราะห์อยู่เยอะไปหมด แต่เขายังพลาดได้ แสดงว่ากระบวนการในครั้งนี้เขามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายตามมา”

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่าในส่วนนี้ FETCO ได้เข้าไปหารือร่วมกับฝ่ายต่างๆในตลาดทุนแล้ว เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าจะต้องมีการเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องกับประชาชนที่ถูกกระทบ ว่าคดีนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร เงินที่เสียหายจะได้คืนอย่างไร เท่าไหร่ และเมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนมีคำถามกับเรื่องนี้

นอกจากนี้ในการหารือกันอย่างใกล้ชิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็ต้องมาดูเรื่องของกลไกตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยทุกๆครั้งที่เกิดเหตุลักษณะนี้ในตลาดทุน มักจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ และระบบต่างๆให้มีกลไกมากขึ้นมาตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบ 3 ระดับ ที่เรียกว่า “third line of defense” เพื่อจัดการไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอย

“มีหลายเรื่องที่ต้องมาดูเรื่องของรายการระหว่างกัน เรื่องของผู้ที่มาทำหน้าที่ในการตรวจสอบรวมทั้งเรื่องของธรรมาภิบาลต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนในตลาดทุนเพื่อให้ตลาดทุนไทยไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก” นายกอบศักดิ์ กล่าว
 

การค้าชายแดน 5 เดือนแรก พุ่ง 4.2 แสนล้าน ชี้ เป็นปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มดุลการค้าของไทย


(4 ก.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบและยินดีต่อภาพรวมสถานการณ์การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนไทย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 มูลค่าการค้าขยายตัว 4.9% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การค้าและการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.3% โดยนายกฯกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางเชิงรุกตามนโยบายรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ผลักดันการเปิดด่านและจุดผ่านด่านเพิ่มเติม พร้อมเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนไทย เดือนพ.ค. 2566 มีมูลค่ารวม 153,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 และไทยได้ดุลการค้า รวม 24,966 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 82,418 ล้านบาท ซึ่งไทยได้ดุลการค้าประมาณ 26,001 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดนไปจีน เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ มีมูลค่าการค้ารวม 71,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 

โดยในภาพรวม 5 เดือน (มกราคม – พฤษภาคม) ปี 2566 ไทยส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน รวม 420,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนไทย ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอีก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งผลักดันการเปิดด่านและจุดผ่านแดนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการค้าชายแดนและผ่านแดนไทยให้ขยายตัวมากขึ้น

“นายกฯ ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยว ขานรับแนวนโยบายของรัฐบาล ผลักดันมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อตัวเลขดุลการค้าของไทย ถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญต่อมูลค่าการระหว่างประเทศของไทยที่เพิ่มขึ้น และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ด้วยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทย ประกอบกับนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาค จะผลักดันการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้โอกาสทำมากิน รายได้ครัวเรือน และวิถีชีวิตของประชาชนไทยดีขึ้น” นายอนุชา กล่าว 
 

‘ธุรกิจกายภาพบำบัด’ บูม!! วัยทำงานแห่ใช้บริการ พบ 'กรุงเทพฯ' ยืนหนึ่ง ผู้ประกอบกระจุกตัว

(4 ก.ค. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25-54 ปี หรือ กลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง รวมถึงอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ประชากรกลุ่มนี้จึงเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ทำงานออฟฟิศ ที่มีพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม : Office Syndrome’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คลินิกกายภาพบำบัด เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึง ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน

จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ ร้อยละ 41.7) ทุน 31.4 ล้านบาท (ลดลง 126.60 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.1) ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย (เพิ่มขึ้น 20 ราย หรือ ร้อยละ 117.7) ทุน 101.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69.95 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 222.8) และ ปี 2566 เดือนมกราคม-พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท (ม.ค.-พ.ค.65 จัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท)

ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 267.73 ล้านบาท ขาดทุน 18.79 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 246.94 ล้านบาท (ลดลง 20.69 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 7.7) ขาดทุน 15.29 ล้านบาท (ลดลง 3.50 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 18.6) และ ปี 2564 รายได้รวม 417.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 170.41 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 69.0) กำไร 37.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 143.5) ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562 – 2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขาโดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น

การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 1,632.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.0 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 14.85 ล้านบาท (ร้อยละ 0.89) รองลงมา คือ อเมริกัน มูลค่า 5.41 ล้านบาท (ร้อยละ 0.32) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.24 ล้านบาท (ร้อยละ 0.31) และอื่นๆ มูลค่า 7.74 ล้านบาท (ร้อยละ 0.48)

ปัจจุบัน ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.007 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 163 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.14 มูลค่าทุน 1,645.85 ล้านบาท และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 174 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.43 สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 91 ราย (ร้อยละ 52.00) ทุนจดทะเบียนรวม 1,284.31 ล้านบาท (ร้อยละ 77.11) รองลงมา คือ ภาคกลาง 33 ราย (ร้อยละ 18.86) ภาคเหนือ 15 ราย (ร้อยละ 8.57) ภาคใต้ 13 ราย (ร้อยละ 7.43) ภาคตะวันออก 11 ราย (ร้อยละ 6.29) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย (ร้อยละ 4.57) และภาคตะวันตก 4 ราย (ร้อยละ 2.28)

และด้วยกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าใช้บริการของผู้บริโภคและการเข้ามาลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน ประกอบกับธุรกิจมีการปรับตัวที่น่าสนใจจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจากสำรวจนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า มีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในอนาคตคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการนำเข้าเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจกายภาพบำบัดยังคงมีที่ว่างสำหรับนักลงทุนชาวไทย/ต่างชาติในการเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้รับ คือ ผลประกอบการที่เป็นบวกและมีผลกำไรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

‘ทิสโก้’ ชี้ไตรมาส 3 หุ้นไทยอาจแตะ 1,400 จุด สะท้อนการเมืองวุ่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย


บล.ทิสโก้ กังวลการเมืองในประเทศวุ่น ผนวกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย คาดกดดันหุ้นไทยทดสอบระดับ 1,400 จุด แนะเดือนกรกฎาคมใช้กลยุทธ์ปรับพอร์ตแบบสมดุลระหว่างหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงรุก 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นไทย (SET Index) ให้ผลตอบแทน -10% ถือว่าแย่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ที่ให้ผลตอบแทน +12% นอกจากนี้ หากไม่รวมความเคลื่อนไหวของหุ้น DELTA ระดับ SET Index จะอยู่ที่ประมาณ 1,400 จุดต้น ๆ เท่านั้น สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนไม่โดดเด่น ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง  รวมทั้งประมาณการกำไรของตลาดที่ยังมีแนวโน้มถูกหั่นลงอยู่ ทำให้ครึ่งแรกของปีนี้ ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท 

สำหรับภาพรวมไตรมาส 3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะปัจจุบันดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่หลุดระดับ 1,500 จุดกำลังสะท้อนภาพการเมืองในประเทศที่ส่อแวววุ่นวาย คือ การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าและมีชุมนุมประท้วง โดยบล.ทิสโก้มองว่า ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 มีโอกาสลงทดสอบบริเวณ 1,450 จุด และในกรณีเลวร้ายที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมาผสมโรงด้วย SET Index มีโอกาสลงทดสอบบริเวณ 1,400 จุด แต่น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ก่อนมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปีนี้ 

“การเมืองไทยนับถอยหลังการโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงครึ่งหลังเดือนกรกฎาคมนี้ ในกรณีฐาน บล.ทิสโก้ยังคงมุมมองเดิมว่าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและคุณพิธาได้รับการโหวตเลือกเป็นนายกฯ แม้สถานการณ์ปัจจุบันความเป็นไปได้กรณีนี้จะลดลงก็ตาม  อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้อยากแนะนำให้จับตาการโหวตเลือกประธานสภาฯ เป็นลำดับแรกก่อน หากผลการโหวตเลือกประธานสภาฯ ไม่ใช่ตัวแทนที่มาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวที่ปรากฎก่อนหน้านี้ บล.ทิสโก้มองจะเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีว่าการโหวตเลือกนายกฯ ในลำดับต่อไปอาจยืดเยื้อ-ไม่ราบรื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาด และจะเพิ่มโอกาสเกิดการพลิกขั้ว-จับคู่ใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีหลังนี้ก็จะสุ่มเสี่ยงเกิดการชุมนุมประท้วงได้” นายอภิชาติกล่าว   

นอกจากนี้ บล.ทิสโก้มองทิศทางดอกเบี้ยยังมีความเสี่ยงที่จะปรับขึ้นสูงและนานกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในอดีตธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเสมอประมาณ 1-2% จึงจะช่วยกดเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายได้สำเร็จ แต่ระดับอัตราดอกเบี้ย FED ในปัจจุบันอยู่เท่ากับระดับอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น และแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อาจยังมีความหนืดอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5% ต่อปีจากแนวโน้มราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น  

สำหรับการลงทุนในเดือนกรกฎาคม บล.ทิสโก้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนเป็น 2 ส่วนแบบสมดุลระหว่างหุ้นเชิงรับและหุ้นเชิงรุก (Barbell Strategy) 1.หุ้นเชิงรับ บล.ทิสโก้ยังชอบหุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ที่มีค่า Beta น้อยกว่า 1 ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว เพราะน่าจะทนทานต่อความไม่แน่นอนของตลาดเดือนนี้ แนะนำ ADVANC, BBL, BDMS และCPALL และ 2.หุ้นเชิงรุก บล.ทิสโก้แนะนำหุ้นที่กำไรไตรมาส 2/2566 จะเติบโตได้และราคาปรับตัวลงลึกทำให้กลับมามี Upside น่าสนใจ แนะนำ EGCO, HANA, MENA และ SISB  ดังนั้น หุ้นเด่นของบล.ทิสโก้ในเดือนกรกฎาคม คือ ADVANC, BBL, BDMS, CPALL, EGCO, HANA, MENA และ SISB  ด้านแนวรับสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,450- 1,460 จุด แนวรับถัดไปที่ 1,420- 1,430 จุด  และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่  1,520-1,540 จุด และ 1,575 จุดตามลำดับ 
.
 


 

'พลัฏฐ์' ชี้!! 'ข้อเท็จจริง' กรณีเพิ่มจำนวนธนาคาร อาจไม่ทำให้ราคาดอกเบี้ยและค่าบริการลดลง

(3 ก.ค.66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

Players, Competition, Pricing & competitiveness

ถ้าการค้าสมัยนี้ 'ราคา' ขึ้นอยู่กับ 'กลไกตลาด' และ 'จำนวนผู้ค้า' มันก็คงดี

คุณ ศิริกัญญา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เสนอให้มีจำนวนธนาคารมากขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขัน ให้ราคาดอกเบี้ยลดลง 

เรื่องนี้ ผมเคยหารือกับ ท่านอดีตผู้ว่า ธปท.

ข้อเท็จจริง จำนวนธนาคารที่มากขึ้น อาจไม่ได้ทำให้ราคาดอกเบี้ยและค่าบริการลดลง เพราะกลไกตลาด ทำงานไม่ปกติ

ยกกรณีเปรียบเทียบอุตสาหกรรมอื่น

>> เบียร์
ในไทยมีหลักๆ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ช้าง, สิงห์ (ลีโอ), ไฮเนเก้น

มีผู้เล่นระดับโลกอยากเข้ามาไทย แต่ไม่สามารถเข้ามาแข่งได้เต็มที่เพราะ...

- ไทยห้ามโฆษณา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ระบบการจัดจำหน่าย ขนส่งและค้าปลีก ทำได้ยาก
- บรรจุภัณฑ์หลายประเภทอยู่ในห่วงโซ่ผู้เล่นหลัก

ต่อให้คุณเป็น Budweiser, Carlsberg, etc ก็เข้ามาทำตลาดให้ใหญ่ได้ยาก

>> ปุ๋ย
เรามีผู้เล่น มากกว่า 1,000 ราย แต่ตลาดส่วนใหญ่ 80% อยู่ในมือ 10 รายแรก ที่เหลือไม่มี Economic of scale ต้นทุนแพงจนไปต่อไม่ไหว แข่งยาก

>> บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 
เรามีผู้เล่น 4 ราย AIS, True, dtac, NT และ MVNO +/-20 ราย...การที่ True+Dtac จะทำให้การแข่งขันลดลง แม้ว่า เราจะมีผู้ให้บริการ MVNO เครือข่ายเสมือนก็มีขนาดไม่พอที่จะสู้กับรายใหญ่

>> ธนาคาร
Standard Chartered Bank เป็นผู้เล่นระดับโลก หลังจากซื้อธนาคารนครธน มาหลายปี ก็พบว่าตนเองแข่งกับ ธนาคารหลายแห่งไม่ได้ เนื่องจาก สาขา บุคลากร ฐานลูกค้าไม่พอ จึงจำกัดบริการทำแต่ Wholesale banking ลดบริการ SME and Retail bank เพราะบริการ ค้าปลีกทำไม่ไหว

ขนาด Standchart นะ ในไทยยังมี HSBC, Duetsche bank และอื่นๆ โดย HSBC ขาย credit card business ออกเพราะไม่คุ้ม 

ธนาคารที่บริการ Universal banking ในไทยจึงมีไม่มาก เป็นทางเลือกน้อย แต่ถ้าอยากจะให้มีมากขึ้นกลับไม่ง่าย เพราะ Entry Barrier สูงมาก แถมอุตสาหกรรมการเงินกำลัง Disrupt

ผมชื่นชมความตั้งใจของคุณไหม แต่ผมว่า น้องยังไม่กว้างและลึกมากพอครับ โลกวันนี้ไม่ง่ายอย่างในหนังสือเรียนหรืองานวิจัย ขอให้ท่านหาทีมแข็งๆ อยู่ช่วยนะครับ

 

‘อาร์เอส’ ปิดดีลรับทรัพย์ 1.6 พันลบ. ดึง ‘ยูนิเวอร์แซล’ ร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลง


นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส (RS) กล่าวว่า อาร์เอส มิวสิค ประกาศเดินหน้าและรุกธุรกิจเพลงอีกครั้งในจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ที่ชัดเจน และจากการมีพาร์ทเนอร์ใหม่ที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศจะนำมาซึ่งกลยุทธ์เชิงรุกที่แตกต่างและไร้กรอบ เพื่อสร้างรายได้จากหลายช่องทาง

ล่าสุด อาร์เอส มิวสิค ได้พาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป (UMG) เข้ามาลงทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อบริหารลิขสิทธิ์เพลงของอาร์เอสทั้งหมด ซึ่ง UMG เป็นบริษัทดนตรีรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้นำในตลาดเพลง การร่วมลงทุนในครั้งนี้จะทำให้ผู้คนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ดนตรีของอาร์เอสได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทย

“บริษัทเชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจหรือโปรเจกต์ใหม่ในรูปแบบอื่นๆร่วมกันในอนาคต”

นายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน RS กล่าวว่า ดีลในครั้งนี้บริษัทได้รับเงินลงทุนจาก UMG ราว 1.6 พันล้านบาทเพื่อร่วมกันตั้งกิจการร่วมค้า โดยทาง UMG จะมีสัดส่วนถือหุ้น 70% และ อาร์เอส มิวสิค จะถือหุ้น 30% ซึ่งจะมีสิทธิในการบริหารจัดการแค็ตตาล็อกเพลงกว่า 10,000 เพลง รวมถึงคอนเทนต์เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ มิวสิควิดีโอ เนื้อเพลงและบทประพันธ์ (compositions) รูปภาพและภาพถ่ายต่างๆ รวมถึงสิทธิภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (rights under license agreements)

ความร่วมมือกับ UMG จะช่วยขยายรายได้จากช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญ เมื่อรวมกับรายได้จากการจัดกิจกรรมและคอนเสิร์ต การสร้างแคมเปญการตลาดกับลูกค้า และการบริหารศิลปิน คาดว่าจะช่วยผลักดันให้รายได้ของ อาร์เอส มิวสิค เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ที่ 700 ล้านบาท

นายสุรชัย กล่าวเสริมว่า นอกจากการผลิตคอนเทนต์ใหม่จากโปรเจกต์ RS Homecoming และ RS Newcomers รวมถึงความร่วมมือด้านลิขสิทธิ์เพลงกับ UMG แล้ว อาร์เอส มิวสิค ยังมองหาโอกาสใหม่ๆกับพาร์ทเนอร์คู่ค้า ทั้งที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้วและคู่ค้าอื่นๆ เพื่อต่อยอดการทำ Music marketing ทั้งยังจะจับมือกับศิลปินอิสระหรือจากค่ายต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสในการทำเพลงร่วมกับศิลปินชื่อดังของไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเพลงให้ครบวงจร และสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทาง

“ทั้งหมดนี้ นับเป็นการขยายศักยภาพในการกลับมารุกธุรกิจเพลงของ อาร์เอส มิวสิค ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางในการนำธุรกิจเพลงภายใต้ อาร์เอส มิวสิค เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 67 โดยจะมีการประกาศแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินภายในเดือนก.ค.นี้ด้วย” นายสุรชัย กล่าว
 

‘ส้มโอไทย 4 สายพันธุ์’ ยกทัพบุกถิ่นมะกันครั้งแรก ตอกย้ำ!! ‘ขีดความสามารถสินค้าไทย’ ในต่างแดน


(3 ก.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่นๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล ‘Sawasdee DC Thai Festival’ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรกไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 และเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

นายอนุชา กล่าวว่า การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ" นายอนุชา กล่าว
 

KKP Research ประเมินปัญหา ‘หนี้สาธารณะ’ ชี้ เป็นระเบิดเวลาเร่งความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจไทย’

📌 เมื่อไม่นานมานี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่ารัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ จากระดับหนี้ที่ปรับสูงขึ้นมากหลังวิกฤตโควิด-19 การขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้างตลอด 15 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีแนวโน้มจะแย่ลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

>> ปัญหาการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง

รัฐบาลมีการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้าง (structural deficit) คือ ขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 15 ปี ซึ่งขนาดของการขาดดุลการคลังทั้งหมดเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2010 อยู่ที่ปีละ 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และทำให้ยอดหนี้สาธารณะของไทยเติบโตขึ้นทุกปีปีละประมาณ 7-8% ซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะของไทยอาจแบ่งได้เป็น 3 ข้อ คือ 

1) การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ จากขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) ที่มีขนาดใหญ่ แรงงานส่วนมากประกอบอาชีพอิสระและอยู่นอกระบบภาษี อัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับประเทศอื่น 

2) สัดส่วนรายจ่ายประจำอยู่ในระดับสูง ขณะที่งบลงทุนมีสัดส่วนเพียง 20% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น สะท้อนว่าการจัดสรรงบประมาณของไทยอาจมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้น้อย 

3) การขาดดุลการคลังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งการเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาลที่จะลดลง โดยเฉพาะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล และรายจ่ายของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในหมวดสังคมสงเคราะห์

>> ผลกระทบหากไม่มีวินัยการคลัง

ประสบการณ์ของหลายประเทศในอดีตชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงและการขาดวินัยทางการคลังอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ 3 ด้าน ได้แก่ 

1) ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการคลัง (fiscal space) ลดลงซึ่งที่ผ่านมาระดับหนี้สาธารณะของไทยไม่เคยปรับลดลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้เลย และหากเทียบกับช่วงโควิดที่รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ของ GDP ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่สามารถมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่หากเกิดวิกฤตขึ้นอีกในอนาคต 

2) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลที่อาจปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีการก่อหนี้สูง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่มีแผนการชัดเจนในการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง 

3) การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย การอ่อนค่าของค่าเงิน และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อโดยเฉพาะประเทศที่มีการกู้ยืมหนี้สกุลต่างประเทศสูงและประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ามาก

>> ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เร่งปัญหาหนี้สาธารณะ

นโยบายที่เพิ่มค่าใช้จ่ายและการขาดดุลการคลังเช่นนโยบายการให้เงินอุดหนุน จะยิ่งสร้างต้นทุนต่อภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะ โดยถึงแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่จะสร้างภาระผูกพันระยะยาวให้กับรัฐซึ่งทำให้การปรับลดระดับหนี้สาธารณะในอนาคตทำได้ยากขึ้น โดย KKP Research ได้คำนวณผลกระทบของการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายสวัสดิการต่าง ๆ และนโยบายการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นพบว่าการดำเนินนโยบายรูปแบบดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะแตะระดับเพดานหนี้ 70% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ขณะที่การปฏิรูปรายรับรายจ่ายอาจช่วยลดภาระต่อหนี้สาธารณะได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้

>> ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

การก่อหนี้เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจในระยะยาวคือทางออกของการสร้างความยั่งยืนทางการคลังให้เกิดขึ้น โดยถึงแม้ในระยะสั้นการก่อหนี้ดังกล่าวจะทำให้ระดับหนี้สูงขึ้นได้บ้าง แต่ในระยะยาว การลงทุนเพื่อยกระดับผลิตภาพและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ทยอยปรับลดลงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โตเร็วขึ้นและการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่ควรปรับเพิ่มขึ้นตามรายได้ของคนในประเทศเช่นกัน

การจัดหารายได้เพิ่มและติดลบงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นควบคู่ไปด้วยจะช่วยลดปัญหาการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างของไทยที่มีแนวโน้มจะเลวร้ายลงภายใต้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ โดยการลดขนาดการขาดดุลทางการคลังควบคู่กับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะช่วยให้ระดับหนี้สาธารณะปรับลดลงได้เร็วขึ้น โดยประเมินว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับ 57.4% เมื่อเทียบกับกรณีที่มีการจัดสรรงบประมาณใหม่แต่ไม่มีการลดขนาดการขาดดุลทางการคลังเชิงโครงสร้างซึ่งระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 65.6% หรือต่างกันเกือบ 10%

>> ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น

มองไปข้างหน้า รัฐบาลไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ โดยนอกจากระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะมาซ้ำเติมการขาดดุลการคลังเชิงโครงสร้างแล้ว ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยเลวร้ายลงไปอีก โดยความท้าทายทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำความสำคัญของนโยบายรัฐที่จะต้องมุ่งเน้นการเพิ่มการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว การลดการขาดดุลเชิงโครงสร้าง รวมถึงควรมีการดำเนินการอย่างทันทีและต่อเนื่อง เพราะปัญหาหนี้สาธารณะอาจมาเร็วกว่าที่คิดและการแก้ปัญหาก็อาจใช้เวลานานกว่าที่หลายคนคาดเช่นกัน

‘บพท.’ เปิด 10 ปัญหา ‘ความยากจน-เหลื่อมล้ำ’ ของไทย แนะ!! ควรแก้ที่ระบบโครงสร้างโดยตรง อย่าแก้ที่ปลายเหตุ

📌 สถานการณ์ความยากจน ของประเทศไทย ยังนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หมดสิ้น แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี รัฐบาล หน่วยงาน องค์กรทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม จะพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และพบการตกหล่นอีกจำนวนไม่น้อย

โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานสถานการณ์ความยากจนของไทยในปัจจุบัน แม้จะมีระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบว่ามีคนจนอยู่ในพื้นที่ใดบ้างแล้ว แต่ก็ยังพบปัญหาการตกหล่นของคนจนอีกจำนวนไม่น้อย

ที่ผ่านมา บพท. ได้ทำการสอบทานข้อมูลคนจนแบบรายพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสมบูรณ์ที่สุด ผ่านระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (Practical Poverty Provincial Connext : PPPConnext) จนพบว่า ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 พบว่า มีจำนวนคนจนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่ยากจนที่สุด ประกอบด้วย
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกันจำนวน 1,039,584 คน มากกว่าข้อมูลที่กำหนดไว้ใน TPMAP ซึ่งแสดงข้อมูลไว้เพียงแค่ 350,601 คนเท่านั้น

ไม่นานมานี้ บพท. ได้จัดงานสัมมนาใหญ่ โดยมีการนำเสนอข้อมูลด้าน ความจน ความเหลื่อมล้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ของนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อมีเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีช่องว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ปัญหาความยากจนที่ตัวบุคคล ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ควบคู่กับการเสริมพลังกลุ่มยากจนและกลุ่มเปราะบางควบคุมกันไป

สำหรับข้อเท็จจริงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนของประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ มีด้วยกัน 10 ข้อ ดังนี้

1. เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายรัฐบาลแจกเงินลงไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จำนวนมาก และหลากหลายนโยบาย
2. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยที่ผ่านมาเกิดปัญหาให้ทุนการศึกษากับเด็กแต่เด็กกลับไปเรียนไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกล
3. การจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาแบบเดิมไม่บรรลุผลความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะแบบเดิมใช้แบบหารรายหัว แต่โรงเรียนแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน
4. การให้บริการสาธารณสุข ขาดมาตรฐานกลางระหว่างหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ
5. การออกแบบระบบจัดการรายได้ยามชราขาดการบูรณาการและความยืดหยุ่น เพราะแต่ละหน่วยงานและกองทุนมีกฎหมายของตัวเองไม่เกิดความยืดหยุ่น
6. การกระจายอำนาจไม่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง บางครั้งถ่ายโอนแต่หน้าที่ แต่งบประมาณ และบุคลากรไม่มี ซึ่งจะต้องปรับรูปแบบการดำเนินการให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
7. ระบบภาษีขาดความเป็นธรรม โดยปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำคนที่มีฐานะสูง ได้รับการลดหย่อยจำนวนมาก และหลากหลาย ทำให้บางครั้งไม่ต้องเสียภาษีด้วย
8. ขาดยุทธศาสตร์การคุ้มครองทางสังคมในภาพรวมประเทศ
9. ขาดการบูรณาการฐานข้อมูลต่าง ๆ
10. ขาดการประเมินผลกระทบของนโยบาย จึงจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ในแต่ละปีมีการจัดสรรงบประมาณลงไปในด้านนี้จำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีใครกล้าทำการประเมิน

นายเอ็นนู ระบุว่า ที่ผ่านมานโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ไขปัญหาที่ตัวบุคคลไม่ได้คิดจะแก้ที่ระบบโครงสร้างอำนาจ เพราะนโยบายตอนนี้คิดเพียงแค่ว่าคนจนน่าสงสารแล้วต้องหาทางเข้าไปสงเคราะห์ ต้องแจกเงิน แทนที่จะหาทางเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส แต่กลับปิดโอกาสด้วยกฎหมายหลายข้อว่าทำไม่ได้ ต้องขออนุญาตทำให้คนจนไม่มีโอกาส

อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเสริมพลังทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย รวม 3 ข้อ ดังนี้

1. ด้านการศึกษาและการทำงานของคนจน โดยปฏิรูปการศึกษา ยกระดับแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้แรงงานมีการพัฒนาความสามารถและเข้ามามีส่วนร่วม
2. ด้านสวัสดิการ การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่เหมาะสม เชื่อมฐานข้อมูลสวัสดิการและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงสิทธิ์ มีกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานการกลางและเป็นธรรม จัดระบบจัดการรายได้ยามชรา และสนับสนุนนโยบายและมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรม
3. ด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจ ให้การบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นอำนาจของท้องถิ่น

‘ส่งออกข้าวไทย’ มีลุ้น!! มิ.ย. 66 คาดอยู่ที่ 700,000 ตัน หลังผู้นำเข้าเร่งสต็อกข้าวเพิ่ม หวั่นปัญหาแบบเอลนีโญ

📌 (30 มิ.ย.66) นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าการส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 มีปริมาณ 3,467,368 ตัน มูลค่า 64,322 ล้านบาท (1,896.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 26.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 34.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 2,741,910 ตัน มูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้การส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2566 มีปริมาณ 849,807 ตัน มูลค่า 15,710 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 53.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 48.9% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ที่มีการส่งออกมีปริมาณ 553,633 ตัน มูลค่า 10,546 ล้านบาท

เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออกข้าวทุกชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกข้าวขาวไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก ญี่ปุ่น มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกับข้าวนึ่งที่ส่งออกไปยังแอฟริกาใต้มากขึ้น

โดยการส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 478,632 ตัน เพิ่มขึ้น 48.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปประเทศอินโดนีเซีย อิรัก ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาเลเซีย ซิมบับเว เป็นต้น ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 173,654 ตัน เพิ่มขึ้น 86.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดประจำ เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 92,376 ตัน เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา จีน สิงคโปร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบให้กับผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญทั้งในแถบอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ขณะที่ผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยสต็อกข้าวในประเทศที่ลดลงและเก็บสต็อกสำรองไว้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะทำให้หลายประเทศประสบกับภาวะภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรรวมทั้งข้าวมีปริมาณลดลง

ประกอบกับในช่วงนี้อุปทานข้าวของไทยยังคงมีเพียงพอ และยังได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จึงทำให้ราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากประเทศคู่แข่งมากนัก ทำให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 508-512 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อินเดีย อยู่ที่ 468-472 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 488-492 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 523 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย อยู่ที่ 408-412 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 558-562 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ข่าวดี!! ‘แหล่งเอราวัณ’ เพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ ‘ค่าไฟ’ จ่อถูกลง

📌 (30 มิ.ย.66) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 24 เมษายน 2565) จนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม 

รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม โดยความคืบหน้าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม 

ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

“การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจฯ G1/61 กลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ โดยจะส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ประเทศต่อไป” 


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top