Monday, 8 July 2024
ECON

'กุ้งก้ามกรามบางแพ' สินค้า GI ตัวใหม่ของราชบุรี สร้างรายให้ชาวนากุ้งปีละกว่า 2.56 พันล้านบาท

📌 เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย. 66) กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียน 'กุ้งก้ามกรามบางแพ' เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดราชบุรีแล้ว นับเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 5 ของจังหวัด ราชบุรี ต่อจากสินค้ามะพร้าวน้ำหอมราชบุรี สับปะรดบ้านคา โอ่งมังกรราชบุรี และไชโป้วโพธาราม ที่ได้ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้

กุ้งก้ามกรามบางแพ เลี้ยงกันมากในอำเภอบางแพ อำเภอดำเนินสะดวก และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะเป็นดินเหนียวสีเทาเข้มถึงสีดำที่มีเนื้อละเอียด เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำจืด น้ำทะเล และน้ำกร่อย ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุและจุลินทรีย์สูง จึงเหมาะแก่การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพเป็นอย่างยิ่ง กุ้งก้ามกรามบางแพนี้ มีเปลือกสีน้ำเงินมันเงา ก้ามสีน้ำเงินหรือสีครามปนสีทอง เนื้อแน่นเต็มเปลือก เมื่อปรุงสุกจะโดดเด่นด้วยรสชาติหวาน มีมันกุ้งมาก และไม่มีกลิ่นคาว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพกว่า 1,122 ราย สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยกว่า 2,569 ล้านบาทต่อปี

พบลู่ทางใหม่!! DITP ชี้ช่อง!! โอกาสของผู้ประกอบการ ‘สิ่งทอ’ ในไทย แนะบุกตลาดอิตาลี เหตุเป็นประเทศที่มีความต้องการสูง

📌 (29 มิ.ย. 66) นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ถึงแนวโน้มตลาดสินค้าสิ่งทอ ในตลาดอิตาลี และโอกาสในการส่งออกสินค้าสิ่งทอไทยเข้าสู่ตลาด

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องติดตามประเด็นเศรษฐกิจมหภาค และการเมืองในภูมิภาคของประเทศคู่ส่งออกอย่างใกล้ชิด และวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 และต้องคอยติดตามนโยบายภาษีและกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ที่มีผลต่อการกำหนดมาตรฐานของสินค้า

รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ขณะนี้ช่องทางออนไลน์ยังคงมีความสำคัญ และเป็นช่องทางที่ดำเนินการได้จากต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องกระจายช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อรักษาประสิทธิภาพและสัดส่วนตลาดต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ด้านการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อดึงดูดลูกค้า

‘ค้าชายแดน-ผ่านแดน’ ฟื้นตัว!! ดันยอด พ.ค. พุ่ง 4.94% ‘สปป.ลาว’ นำโด่ง!! ขยายตัวติดต่อกันเข้าเดือนที่ 4

📌 (28 มิ.ย.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจชายแดนเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ทำให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนพฤษภาคม มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 153,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.94% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 

โดยการส่งออกชายแดนไป สปป.ลาว ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 89,396 ล้านบาท ลดลง 1.52% และการนำเข้ามูลค่า 64,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.44% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งสิ้น 24,966 ล้านบาท

ทั้งนี้ไทยมีการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (สปป.ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา) มีมูลค่าการค้ารวม 82,418 ล้านบาท ลดลง 6.84% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 54,210 ล้านบาท ลดลง 1.46% และการนำเข้ามูลค่า 28,208 ล้านบาท ลดลง 15.67% โดยไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 26,001 ล้านบาท แบ่งเป็น

- มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 14,655 ล้านบาท (-1.86%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์
- สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 14,335 ล้านบาท (+8.40%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และน้ำตาลทรายขาว
- เมียนมา มูลค่าส่งออก 13,607 ล้านบาท (+1.14%) สินค้าสำคัญได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องดื่มอื่น ๆ
- กัมพูชา มูลค่าส่งออก 11,613 ล้านบาท (-13.37%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มอื่น ๆ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส และรถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน

ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ) มีมูลค่ารวม 71,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 35,187 ล้านบาท ลดลง 1.60% และการนำเข้ามูลค่า 36,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.99% โดยจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก

- จีน มูลค่าส่งออก 18,825 ล้านบาท (-1.48%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด และฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ
- เวียดนาม มูลค่าส่งออก 4,313 ล้านบาท (+15.42%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส และมังคุดสด 
- สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 4,225 ล้านบาท (+8.71%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
- ประเทศอื่น ๆ (เช่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มูลค่าส่งออก 7,823 ล้านบาท (-13.35%)

นอกจากนี้ยังมีการจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 88 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 75 แห่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เปิดจุดผ่อนปรนการค้า บ้านบึงชนังล่าง จ.จันทบุรี ตรงข้ามกับด่านบ้านสวายเลง จ.พระตะบอง ของกัมพูชาด้วย

'กระทรวงฯ' เปิดตัวเลขส่งออกไทย พ.ค. หดตัว 4.6% แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ 8-10% เชื่อ!! ครึ่งปีหลังดีขึ้น

📌 (27 มิ.ย. 66) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน พ.ค. 66 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 24,340 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% จากตลาดคาดหดตัว 8-10% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 26,190 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน พ.ค. ไทยขาดดุลการค้า 1,849 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.66) การส่งออก มีมูลค่า 116,344 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.1% การนำเข้า มีมูลค่า 122,709 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 6,365 ล้านดอลลาร์

"ยอดการส่งออกเดือน พ.ค. ที่ -4.6% ถือว่าดีขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ -7.6% เราติดลบน้อยลง และถ้าเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่ต่างติดลบกัน 2 digit ซึ่งเป็นไปตาม trend ของเศรษฐกิจโลก" นายกีรติ รัชโน กล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกไทยในปีนี้ ไว้ที่ 1-2% และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สถานการณ์การส่งออกจะเริ่มดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก 

ไทยรับอานิสงส์ ต่างชาติจ่อย้ายฐานการผลิต หลังการแข่งขันเทคโนโลยี ‘จีน-สหรัฐฯ’ ยืดเยื้อ

🔴สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย สถานการณ์การแข่งขันเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ยังคงยืดเยื้อ และคาดการณ์ว่าจะยังไม่สิ้นสุดในระยะเวลาใกล้นี้ ส่งผลให้บริษัทรายสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศคู่แข่งขันในสงครามเทคโนโลยี โดยมองว่า ‘ไทย’ จะได้รับอานิสงส์ หลังมีการวางตัวเป็นกลางระหว่างทั้งสองประเทศ

🟢นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติในไทย พบว่า ปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทานของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความไม่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทย ในแง่ของการเป็นฐานการผลิตสินค้าแต่ละประเทศมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน หรือก็คือเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน ไทยมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นประเทศปลายทางในการตั้งฐานการผลิต โดยหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศคู่ขัดแย้งในสงครามเทคโนโลยีครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการของตน และไทยเองมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเหล่านี้ได้

⚪อย่างไรก็ตามภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรวางแผนการกระจายความเสี่ยงกรณีห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก โดยการจัดหาวัตถุดิบที่มาจากหลายแหล่ง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้เร่งส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ

เปิดสถานะ 'การเงิน-การคลังไทย' แข็งแกร่ง 8 เดือนแรกปีงบฯ 66 จัดเก็บรายได้กว่า 1.22 แสน ลบ.

📌(27 มิ.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ฐานะการเงิน-การคลังของไทยมีความแข็งแกร่ง หลังรับทราบรายงานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าประมาณการ และรายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนกว่า 2.57 แสนล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,643,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,378 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่...

(1) กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ 

(2) ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนเป็นรายได้แผ่นดิน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และรายได้จากใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM 

(3) กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี 

และ (4) รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้ที่เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่นและกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 69,248 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 

นายอนุชา กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - พฤษภาคม 2566) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,569,515 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,221,328 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 384,243 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 256,857 ล้านบาท 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีสัญญาณเป็นไปในทิศทางบวก สถานะการเงินการคลังของไทยแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนทิศทางการทำงานที่ถูกต้องของรัฐบาลภายใต้วินัยทางการเงินการคลังที่เคร่งครัด รวมถึงความมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตลอดมา โดยยึดหลักของความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน

‘เจ้าสัวธนินท์’ ยกไทยศูนย์กลางของอาเซียน ชวนนักธุรกิจจีนทั่วโลกหาโอกาสลงทุนในพื้นที่ EEC

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย. 66) ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวรหอการค้าไทย-จีน ปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก

นายธนินท์ ระบุตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไงก็แล้วแต่นักธุรกิจชาวจีน และนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และหาทางคว้าโอกาสเหล่านั้นได้

โดยในด้านการลงทุนนั้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางอาเซียน ตอนนี้ยังมองโอกาสของการพัฒนาความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยหวังว่านักธุรกิจจีนจะมองโอกาสเข้ามาการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย เพราะในอนาคตภาคการผลิตถือว่ามีความสำคัญ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการพัฒนาในพื้นที่ EEC โดยให้สิทธิประโยชน์กับโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

พร้อมกันนี้ยังมองด้วยว่า ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การเข้ามาของนักลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทยก่อนหน้านี้ และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประเทศมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น

“ปัจจุบัน จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน คิดย้อนกลับไปญี่ปุ่นมีประชากรไม่กี่ร้อยล้านคนแต่สามารถสร้างบทบาทด้านเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจีนก็สามารถทำได้เช่นกัน”

นายธนินท์ กล่าวว่า ในอนาคตคนหนุ่มสาวจะต้องมีการออกไปสร้างธุรกิจ ซึ่งในวันนี้การสร้างธุรกิจ มีความสะดวกมากกว่าในอดีต เพราะมีทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตที่สามารถใช้สืบค้นข้อมูลตัวเลขและจัดหาสินค้าและวัตถุดิบในการลงทุนได้ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการผลิต และการมีศูนย์กระจายสินค้าที่ดีด้วย 

ทั้งนี้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ ต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก แม้อนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และเทคโนโลยีชีวภาพ แต่แรงงานคน ก็สามารถหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้นได้

นอกจากนี้ยังมองถึงเรื่องการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในภาคการผลิตของอนาคต เพราะจะช่วยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรม

โดยยกตัวอย่างนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากนิวเคลียร์ และประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่ได้แสดงการคัดค้านเรื่องนิวเคลียร์ นั่นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลฝรั่งเศสวางมาตรการในการลดความเสี่ยงและคุ้มครองประชาชน ส่งผลให้เกิดความคึกคักในการลงทุนอย่างมาก

นายธนินท์ ยอมรับว่า เรื่องของพลังงานสะอาด ถือเป็นสิ่งสำคัญและมีหลายประเภททั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ เพราะในอนาคตพลังงานสะอาดจะมีความสำคัญต่อภาคการผลิต และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกด้วย

‘กรมการค้าฯ’ ยกทัพเอกชน บุก ‘ฮ่องกง-ปักกิ่ง’ ขยายตลาดส่งออก ‘ข้าวไทย-มันสำปะหลัง’

📌 (23 มิ.ย. 66) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566 และกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11-15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยได้พบปะหารือกับกรมการค้าและอุตสาหกรรมของฮ่องกง (Trade and Industry Department : TID) ในประเด็น ๆ อาทิ การควบคุมคลังสินค้า ถิ่นกำเนิดสินค้า กฎระเบียบทางการค้า ใบอนุญาตส่งออก เป็นต้น ตลอดจนการทำและการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) ในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี

พร้อมกันนี้ กรมนำคณะนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์) และนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ (นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์) และผู้ส่งออกข้าวไทยรวม 16 ราย เข้าพบหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงและบริษัทผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงรายสำคัญ ซึ่งบรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยความเชื่อมั่นและสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ค้ากันมาอย่างยาวนาน โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าข้าวระหว่างกัน

ปัจจุบันฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง ประมาณ 170,000-188,000 ตัน โดยประมาณร้อยละ 70-80 เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยฮ่องกงอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของตลาดข้าวหอมมะลิไทยมาโดยตลอด และข้าวไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดข้าวฮ่องกงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของตลาดข้าวฮ่องกง

สำหรับภาพรวมการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยส่งออกแล้วปริมาณ 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.74 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.64 และมีมูลค่าการส่งออก 64,322 ล้านบาท หรือ 1,896 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.61 และ 30.58 ตามลำดับ

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการนำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจีน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกรมได้เข้าพบหารือกับองค์การบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน (State Administration for Market Regulation: SAMR)

นอกจากนี้ กรมยังได้หารือกับผู้นำเข้าและผู้ประกอบการสินค้าข้าวในจีน เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้รับทราบถึงคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยด้วย รวมถึงนำผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยมีนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ และนายกิจจา เวศย์ไกรศรี รองเลขาธิการของสมาคมฯ พบหารือกับหน่วยงาน COFCO Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนและเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและการนำเข้าธัญพืชของจีน โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์การค้าข้าวระหว่างกัน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 600,000-700,000 ตัน/ปี ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกำหนดจะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปพบปะหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าข้าวกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของคู่ค้าที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ในเดือนกรกฎาคม และมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคมนี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในครั้งนี้ ยังได้เข้าพบหารือกับผู้นำเข้ามันสำปะหลังในจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการสินค้ามันสำปะหลัง ตลอดจนการแปรรูปไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อเป็นการรักษาและขยายตลาดสินค้ามันสำปะหลังในตลาดส่งออกจีน

โอกาสนี้ กรมยังเดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือเทียนจิน (Tianjin Port) ซึ่งเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่เชื่อมโยงไปยังเส้นทางขนส่งที่หลากหลายรวมทั้งมีเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของประเทศไทยโดยตรง ลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล สามารถตอบสนองการเชื่อมโยงตลาดภาคเหนือของจีนที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยได้เป็นอย่างดี นับเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะพิจารณาเลือกใช้เส้นทางเดินเรือดังกล่าวในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดภาคเหนือของจีนต่อไป

ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไทย โดยไทยส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไปจีนประมาณ 8 ล้านตัน/ปี ได้แก่ มันเส้น/มันอัดเม็ด ร้อยละ 69 แป้งมันสำปะหลัง ร้อยละ 30 และ สาคู/กากมัน ร้อยละ 1

EV ไทย 5 เดือนแรกโตไม่หยุด ยอดผลิตพุ่ง-รับอานิสงส์ส่งออก

📌 (22 มิ.ย. 66) นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV ในเดือน พ.ค. 2566 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 7,132 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 355.14% ทั้งรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสาร รถยนต์บริการทัศนาจร รถกระบะ รถแวน รถยนต์สามล้อรับจ้าง รถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ

โดยเฉพาะรถบรรทุกที่เพิ่มขึ้นถึง 2,700% หรือมีทั้งสิ้น 28 คัน ส่งผลให้ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2566) รถ BEV จดทะเบียนใหม่สะสมมี 33,365 คัน เพิ่มขึ้น 485.15%

และหากดูจากสถิติยอดการจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 พ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 65,333 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 283.72%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์เดือน พ.ค. 2566 ว่า ไทยยังคงมีการผลิตรถยนต์ทุกประเภทได้ทั้งสิ้น 150,532 คัน

เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.48% และเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2566 ถึง 27.96% ส่งผลให้ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2566) สามารถผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 775,955 คัน เพิ่มขึ้น 6.72%

เป็นส่วนของการส่งออก 89,709 คัน หรือ 59.59% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.46% ดังนั้น 5 เดือนแรก จึงมีส่วนยอดการผลิตเพื่อส่งออกได้ 445,746 คัน เพิ่มขึ้น 13.63%

ในขณะที่ยอดขายรถภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 65,088 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2566 ที่ 9.34% และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 0.55% แต่ 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศลดลง 4.91% หรือ 341,691 คัน ทั้งนี้ยังคงมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น

‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 2 ปลายทางยอดนิยม นทท. ทั่วโลก ‘กรุงเทพฯ’ คว้าอันดับ 1 เมืองถูกจองเข้าพักมากที่สุด

📌(22 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผลสำรวจ เดือนม.ค. - พ.ค.ปี 2566 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นบนหลายแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ทั้ง Agoda และ Klook สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 5 เดือน กว่า 10.6 ล้านคน สะท้อนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไทย และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล

โดย Agoda แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เปิดเผยสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น จากการที่ไทยเปิดประเทศเร็ว โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับ ไทยมีเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ

ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการจองเข้าพักบนแพลตฟอร์มมากที่สุดในโลก โดย Agoda เชื่อมั่นว่า กรุงเทพฯ สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชียได้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

นายอนุชา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับ Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย ในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายใต้แคมเปญ ‘Let Your Journey be THAI’ โดยส่งเสริมต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทย ผ่านการประชาสัมพันธ์ 5F Soft Power ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจองกิจกรรมในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,200 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีการจองกิจกรรมไทยบนแพลตฟอร์ม Klook มากที่สุดเป็น 5 อันดับแรก กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ ทัวร์แบบ Day trip กิจกรรมชมความสวยงามของเมืองไทย และสปา เป็นต้น


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top