Monday, 8 July 2024
EXCLUSIVE

‘บุปผา เรืองสุด’ ปลื้ม!! เด็กไทยคว้า 6 เหรียญสุดยิ่งใหญ่ ในเวทีแข่งขันฝีมือแรงงานระดับเอเชีย ณ กรุงอาบูดาบี

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยอัปเดตกับ นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในประเด็น ‘เยาวชนไทยคว้าชัยจากเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.66 โดยมีรายละเอียด ดังนี้...

การแข่งขันฝีมือแรงงานเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลในเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับเอเชียมาได้ทั้งหมด 6 เหรียญ ประกอบด้วย... 

>> 1 เหรียญทอง จากสาขาแต่งผม นายสิทธิพร พาสง่า สนับสนุนโดยโรงเรียนเสริมสวยอรอุบล  

>> 2 เหรียญเงิน ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม นายสิทธิชัย ไชยวิเศษ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ประเภททีม) ได้แก่ นายภัคพล ปรีชาวนา และนายฬูค่า ชนกันต์ บอนด์ จากศูนย์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและนวัตกรรมหุ่นยนต์ 

>> 1 เหรียญทองแดง จากสาขาเทคโนโลยีเว็บ นายณฐนันท์ แพน้อย วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) 

>> และคว้าเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมมาได้อีก 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น นายหัตศนัยต์ บุญแก้วคง จากวิทยาลัยเทคนิคสงขลา และสาขากราฟิกดีไซน์ นางสาวปภัชญา พีรกรวรธรรม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ วิทยาเขตสะพานใหม่

นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า น้อง ๆ ที่คว้ารางวัลกลับมายังประเทศไทยในครั้งนี้ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และได้แสดงศักยภาพด้านทักษะฝีมือให้ประเทศอื่น ๆ ได้เห็นว่า เด็กไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก ส่วนน้อง ๆ ที่พลาดเหรียญรางวัลก็ไม่ต้องเสียใจ ทุกคนได้ทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยอย่างเต็มที่และสุดความสามารถแล้วประสบการณ์ที่ได้รับมีคุณค่ามากกว่า เพราะหาฝึกจากที่ไหนไม่ได้  และต้องยอมรับว่าทุกคนที่ก้าวมาถึงเวทีนี้ถือว่าสุดยอดมาก ๆ ขอให้นำประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นแรงผลักดันในการต่อสู้ในเวทีอื่น ๆ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเรียนและการทำงานในอนาคตต่อไป 

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาผู้อยู่เบื้องหลังแห่งสำเร็จในครั้งนี้ที่ให้การสนับสนุนในช่วงระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อม พร้อมกับสนับสนุนด้านต่าง ๆ จนทำให้เยาวชนไทยสามารถไปร่วมการแข่งขันและคว้าเหรียญรางวัลกลับประเทศไทยอย่างภาคภูมิใจ เวทีการแข่งขันทุกเวทีเป็นการกระตุ้นให้เกิดการ Upskill แรงงานได้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะส่งแรงงานและเยาวชนเข้าร่วมในทุกเวทีและทุกด้าน เพื่อสร้างแรงผลักดันให้แรงงานไทยทุกคนได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาหรือ Upskill ฝีมือตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเยาวชนที่สามารถคว้าเหรียญรางวัล จะได้รับรางวัลดังนี้ เหรียญทอง 261,000 บาท เหรียญเงิน 161,500 บาท เหรียญทองแดง 82,000 บาท เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม 35,000 บาท และรางวัลปลอบใจสำหรับน้องที่พลาดเหรียญรางวัลคนละ 10,000 บาท สำหรับการดูแลต่อจากนี้ นอกเหนือจากการเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อไปแข่งในระดับนานาชาติช่วงเดือนกันยายน 2567 หากน้อง ๆ ต้องการที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะประสานกับทางมหาวิทยาลัย จัดหาโควต้าในการศึกษาต่อให้ สำหรับการเข้าทำงานต้องยอมรับว่า น้อง ๆ มีทักษะสูงจึงมีบริษัทจองตัวไว้แล้ว อีกส่วนหนึ่ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเตรียมรับเป็นวิทยากรของกรมฯ เพื่อทำหน้าที่ครูฝึกให้แก่แรงงานต่อไปด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ แนะ!! หวังสร้างท่องเที่ยวฯ ยั่งยืน ความปลอดภัยในไทยต้องยกเป็นวาระอันดับ 1

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ผลักดันท่องเที่ยวไทย ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1’ การกลับมาทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ของ ทรัมป์' เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อย่าหวังการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม หากไม่ปรับปรุงภาพลักษณ์ด้านความสะดวก ความสะอาด และความปลอดภัย 

ควรดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง!!

น่าเสียดายที่ช่วงโควิด 3 ปี รัฐบาลชุดก่อนไม่ใช้โอกาสในการปรับปรุงด้านอุปทาน (Supply Side) ของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะในด้านภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นข้อด้อยของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดอันดับความปลอดภัยของไทยไว้ท้ายๆ ตารางเสมอมา และเป็นอันดับที่ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศ รวมทั้งพม่าและลาว

วันนี้ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนในปี 2566 มีน้อยเต็มที การคาดการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้อยู่ที่เพียง 20 ล้านคน แม้จะมีการออกมาตรการฟรีวีซ่ามา ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ไปมากพอควร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ก่อนโควิดเคยมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านคนในปี 2562 อย่างเก่งปีนี้น่าจะทำได้แค่ 3 ล้านคน 

หากจำกันได้ ตอนนั้นจีนมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มาเสียชีวิตในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการจมน้ำตาย และรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาและสื่อสารภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิผล 

มาวันนี้ยังมีปัญหาจีนเทา ยาเสพติด และอาวุธปืนผิดกฎหมายเข้ามาเพิ่ม ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมทรามลง และส่งผลให้มีการยกเลิกทริปมาไทยเป็นจำนวนมาก

ประเทศที่แย่งซีนไทยไปและสมควรยึดถือเป็นตัวอย่างคือ ญี่ปุ่น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากระดับที่แทบไม่มีความสำคัญเลย จนวันนี้ถือได้ว่าแซงหน้าไทยไปแล้ว 

มาตรการสำคัญ ได้แก่ ฟรีวีซ่า การคืนภาษีที่สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ตลอดจนภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสมควรจะนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป

โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ควรจะมุ่งเน้นตลาดจีนเป็นหลัก เพราะรัฐบาลจีนมีความวิตกกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนหนึ่งในสี่ของของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย 

ดังนั้นภาครัฐควรกระตุ้นบทบาทในชี้นำภาคการท่องเที่ยว ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมด้านการท่องเที่ยวไทย-จีน ซึ่งมีอยู่แล้ว และมีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวของสองประเทศเป็นประธานร่วมกัน เป็นกลไกหลักในการปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยในตลาดจีนต่อไป

รู้จัก ‘น้องไตตั้น’ แชมป์กอล์ฟเยาวชนโลก วัย 12 มุ่งมั่นความฝัน ‘เทิร์นโปร-ก้าวสู่จักรวาล PGA’

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.66 ได้พูดคุยกับ ‘เจษฎา ช่วงประยูร’ หรือ ‘น้องไตตั้น’ หนุ่มน้อยวัย 12 ปี อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเยาวชนไทยที่สามารถกวาดรางวัลมามากมายใน รายการ ‘สิงห์ ไทยแลนด์ จูเนียร์ เวิลด์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ 2023’ ครั้งที่ 14 การแข่งขันระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นในไทย ที่ สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ซึ่งรายการนี้มีนักกีฬากอล์ฟจากนานาชาติเข้าร่วมกว่า 17 ประเทศ รวมนักกีฬาประมาณ 140 คน แบ่งเป็นหลายระดับ ตั้งแต่อายุไม่เกิน 12 ปี และ ไม่เกิน 18 ปี ครับ ซึ่งเด็กไทยกวาดได้ถึง 7 แชมป์ นับเป็นอีกรายการสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนโชว์ฝีมือ และเติมประสบการณ์ ก้าวสู่เส้นทางนักกีฬาในอนาคต ‘ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง’ 

สำหรับผลการแข่งขันในครั้งนี้ปรากฏว่า แชมป์โอเวอร์ออลโลว์กรอสส ซี-ดี ได้แก่ ‘น้องไตตั้น’ ที่มีความชื่นชอบกีฬากอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อ คุณรุ่งโรจน์ บุณยทรัพยากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์เจนิฟู้ด ซึ่งคุณรุ่งโรจน์กล่าวว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ “ต้องหากิจกรรมให้ลูกได้ลองเล่นหลายๆ อย่าง เมื่อชอบแล้วก็สนับสนุนให้เรียนฝึกทักษะอย่างจริงจัง บังเอิญเค้าได้ลองเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เลยสนับสนุนมาตลอดจนประสบความสำเร็จ หลายคนถามว่าหาตัวตนของลูกได้อย่างไร คำตอบก็คือ ต้องใช้ลูกเป็นตัวตั้งว่าเค้าชอบอะไรและสนับสนุนในสิ่งที่เค้าเก่ง สิ่งที่เค้าชอบ หาให้เจอว่าเค้าเก่งในด้านไหนจะได้ช่วยสนับสนุนได้”

น้องไตตั้น กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้แชมป์ในครั้งนี้ ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังเรียนในรูปแบบ Home School หลักสูตรของสหรัฐอเมริกาเพื่อจะได้มีเวลาในการฝึกซ้อมกอล์ฟมากขึ้น โดยตอนเช้าเรียนหนังสือ ตอนบ่ายซ้อมกอล์ฟ ซึ่งต้องมีการแบ่งเวลาเป็นอย่างดี”

เมื่อถามว่าทำไมถึงชอบกีฬากอล์ฟ? น้องไตตั้น เผยว่า “เพราะเคยไปลองตีกอล์ฟกับคุณพ่อตอนเด็ก ๆ เลยชอบมาถึงทุกวันนี้ ทุกวันนี้ซ้อมพัตต์อย่างเดียว วันละ 3-4 ชั่วโมง ตั้งแต่วันอังคาร-วันศุกร์ หยุดพักแค่วันจันทร์” 

เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต? น้องไตตั้น กล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า “ผมตั้งใจจะสอบโปรให้ผ่าน และตั้งใจเข้า PGA ให้ได้ต่อไป”

ทั้งเรียนและเล่นกีฬาอย่างจริงจังในเวลาเดียวกัน ย่อมมีบ้างที่เด็กวัย 12 จะรู้สึกเหนื่อยล้า แต่เจ้าตัวก็ตอบปนเปื้อนรอยยิ้มว่า “เหนื่อยแต่มีความสุขในการซ้อม เพราะการเล่นกอล์ฟช่วยฝึกร่างกาย ฝึกความคิดและสภาพจิตใจได้ดีครับ” แชมป์กอล์ฟเยาวชนโลก วัย 12 ปีกล่าว

MASTER ไขความลับ!! ปั้นธุรกิจสู่แนวหน้าศัลยกรรมความงามเมืองไทย ชู!! 'สวย-หล่อ' ไม่ตามปกคนดัง แต่ดูปังในแบบตัวเองจนใครก็ต้องมอง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 25 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช Specialty Hospital ของอุตสาหกรรมด้านความงามอันดับต้นของประเทศไทยและเอเชีย เปิดเผยถึง อุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของไทย ระบุว่า...

ปัจจุบันอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 71,000-72,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 2.3%-3.6% (YoY) ทยอยกลับมาฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย 

แต่มูลค่าดังกล่าวยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด-19 และตัวเลขการเติบโตในภาพรวม อาจไม่ได้สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทุกราย ขึ้นอยู่กับการตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งในเรื่องของค่าบริการ รสนิยม คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ รวมถึงผลลัพธ์หรือความพึงพอใจในผลงานของแพทย์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคมีต่อการเลือกใช้บริการธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามที่แตกต่างกันออกไป (ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย)

ทั้งนี้จากภาพทั่วโลกคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตที่ประมาณ 13.2% ในช่วงปี 2024-2032 เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านศัลยกรรมความงาม และมาตรฐานของอุตสาหกรรมดังกล่าวในระดับสูง คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

กลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงด้านศัลยกรรมความงามของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเอเชียไทยเป็นรองแค่เพียงประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น โดยมีปัจจัยเอื้อคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์และความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโซเชียลมีเดีย ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงการทําศัลยกรรมความงามได้มากขึ้น (หมายเหตุ: ตลาดศัลยกรรมของเกาหลีใต้มีมูลค่า 1.95 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากอิทธิพลของคนดังและมาตรฐาน K-beauty ที่สูง ตลาดคาดว่าจะเห็นการเติบโตต่อไปในช่วงคาดการณ์ของปี 2024-2032 โดยเติบโตที่อัตราการเติบโตประจำปีแบบทบต้น (CAGR)13.2%)

คุณลภัสรดา กล่าวอีกว่า จากสถิติมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหัตถการที่โดดเด่นสองถึงสามอย่าง ได้แก่ การดึงหน้า ยกคิ้ว การทำตาสองชั้น การผ่าตัดปรับโครงสร้างหน้า ยุบโหนก ตัดกราม การเสริมจมูกโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างจมูกโอเพน

"ที่ผ่านมา MASTER ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามในเมืองไทย ด้วยการวางมาตรฐานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมแพทย์ หรือการทำราคาเดียว ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกค้าที่ติดต่อผ่านมาทางช่องทางใดก็ตาม การปฏิวัติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ กระตุ้นให้ผู้คนจํานวนมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกเลือกทําศัลยกรรมความงามที่เมืองไทยเพื่อเพิ่มความงามของพวกเขา"

เมื่อถามถึงเทรนด์ในปีหน้า? คุณลภัสรดา เผยว่า จากข้อมูลของ Mintel บริษัทวิจัยระดับโลก ได้รายงานแนวโน้มข้อมูลเชิงลึกถึงเทรนด์ที่เริ่มส่งผลต่ออุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และก้าวต่อไปในปี 2024 โดยเทรนด์แรกที่ Mintel ระบุไว้คือ NeuroGlow (กายงามใจฟู / ใจสุขกายฉ่ำ)

"ช่วงชีวิตต่อไปของสุขภาพที่ดี จะเป็นความงามด้านคุณค่าทางจิตใจและร่างกาย ซึ่งทั้งภายในและภายนอกมีความเชื่อมโยงถึงกัน นวัตกรรมนี้ได้ถูกใช้ประโยชน์แล้ว สำหรับกลุ่มความงาม และอาหารเสริม ที่มุ่งเน้นให้ทั้งคุณประโยชน์ด้านความงามและความรู้สึกดีเพิ่มขึ้น โดยความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตที่ดี การมีสุขภาพกายที่ดี สภาวะของจิตใจส่งผลโดยตรงต่อสภาพผิวพรรณ ความงาม ซึ่งบริการของมาสเตอร์ เป็นมากกว่าแค่การทำหัตถการ เราต้องการให้ลูกค้าสัมผัสได้ว่า บริการของเราสามารถสร้างประสบการณ์ ความสุข ความภูมิใจ และปลอดภัย สุขภาพดี"

คุณลภัสรดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความงาม x ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมความงาม โดยทำให้มีอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งในแง่นวัตกรรมเทคโนโลยี และข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก ความรู้และทักษะจะก้าวกระโดดไปพร้อมกัน

"ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครื่องสร้างความเป็นจริงเสมือน (VR) และเครื่องสร้างความเป็นจริงเสริม (AR) เป็นตัวสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล พร้อมติดตามชี้วัดความเป็นอยู่ว่าดีจริงหรือไม่ และให้คำปรึกษาด้วยการวิเคราะห์แนวทางการมีสุขภาพที่ดีแบบเสมือนจริง ซึ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมสุขภาพ การติดตามการรักษา การดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุ"

ทั้งนี้เมื่อถามถึงความมุ่งมั่นในการเป็นแบรนด์ศัลยกรรมความงามที่อยากให้ผู้คนจดจำมากที่สุด? คุณลภัสรดา กล่าวว่า MASTER 'เรา' ไม่ได้มาเปลี่ยนใครให้กลายเป็นคนอื่น เพราะสิ่งที่เรายึดมั่นเสมอคือ Be a Better You หรือ เป็นเราในแบบที่ดีกว่าเดิม ฉะนั้นการมาทำศัลยกรรมที่ รพ.มาสเตอร์พีช ลูกค้าก็จะยังคงเป็นตัวเองในนเวอร์ชันที่ดีที่สุด

เหตุผลเพราะเราต้องการช่วยให้เกิด…

1. ความพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น เสริม / ลด หรือ แก้ไข ปรับสภาพ ทุกอย่างจะมุ่งเน้นไปสู่ความไม่ใหญ่โต หรือแปลกแตกต่างจากธรรมชาติ เช่น การเสริมจมูกก็จะไม่แปลกแตกต่างจากโครงของเชื้อชาติกำเนิด หรือมากจนน่าตกใจ เสริมหน้าอกในความพอดี เหมาะกับสัดส่วนร่างกาย หรือแม้แต่การเสริมขนาดน้องชายด้วยฟิลเลอร์ของคนเอเชีย ก็พิจารณาให้พอเหมาะพอดีกับคู่ชีวิต หรือการปลูกผม คิ้ว หนวด เครา ก็ให้เหมาะกับลุคส์ เหมาะกับตัวตน และวิถีชีวิต

2. ความงามเฉพาะบุคคล ปรับให้เหมาะกับคนนั้น เพราะหมดยุคของการนำรูปมาปรึกษา แล้วบอกว่า เอาแบบนี้ เราต้องการเป็นอย่างเขา ศิลปิน คนดัง คนนั้นคนนี้ เพราะท้ายสุดความเข้าใจในสัดส่วน สรีระ โครงสร้างใบหน้า ร่างกาย เฉพาะบุคคลเป็นสิ่งสำคัญกว่า จะเป็นไปตามหลักสมดุล ของทั้งตัวผู้รับบริการ และเทคนิคที่เหมาะสม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เพื่อเคสนั้น ๆ เท่านั้น เราจะไม่มี นางสาวเอ สิบคน นางสาวบี ยี่สิบคน แต่จะมี นางสาวเราคนนี้คนเดียว สวยเหมือนกัน แต่ไม่ซ้ำกัน

3. ความยั่งยืนของโลกศัลยกรรมความงาม ต้องมาจากความคุ้มค่า มาตรฐานและความปลอดภัย เพราะเราพบข่าวเศร้าและสะท้อนสังคมบ่อยครั้ง จากการรับบริการการศัลยกรรมความงามในสถานที่ที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัย โลกอุตสหกรรมอื่น ๆ เชิงกายภาพ อาจลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับโลกธุรกิจบริการ คือการทำให้คุ้มค่า ซื้อเท่านี้ ได้เกินคุ้ม เกินคุ้มคือ ได้ของดี น่าพอใจ ไม่ต้องแก้

"เพราะทุก ๆ การแก้ศัลยกรรมมีค่าใช้จ่ายไม่แพ้กับการทำศัลยกรรม หรืออาจสูงกว่ามากหากอาการหนัก ฉะนั้นแล้วสังคมและผู้บริโภคจึงเริ่มตระหนักในข้อนี้ แต่ต้องไม่ตระหนก" คุณลภัสรดา ทิ้งท้าย

'ทรัมป์' ทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ใต้นโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การกลับมาทวงบัลลังก์สู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ของ ทรัมป์' เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประธานาธิบดีไบเดนกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC Summit) ที่เมือง San Francisco เร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นเวทีหารือด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก 

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้ง ก็จะมีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมประชุม ที่สำคัญ APEC Summit จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แห่งจีน จะมีโอกาสพบกับประธานาธิบดีไบเดน เป็นครั้งแรกในรอบปี เพื่อเคลียร์ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจเป็นชนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้

การประชุมสุดยอดเอเปคครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างการเริ่มต้นกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2024 ขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีไบเดน และหากการเลือกตั้งมีขึ้นในวันนี้ โพลล่าสุดของ New York Time ก็ชี้ว่าทรัมป์มีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้งได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง

ในสมัยแรกที่เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ขึ้นชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่กีดกันการค้ามากที่สุดคนหนึ่ง โดยใช้ภาษีนำเข้า (Import Tariff) และเงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการจัดการประเทศที่เป็นศัตรูทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนทำให้อัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ สูงขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่ต้องเสียภาษีสูงถึงกว่า 20% ส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ข้อเสนอหลักของทรัมป์คือ การเก็บภาษีนำเข้า 10% across the board จากสินค้าทุกชนิดของทุกประเทศที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ

น่าจะเป็นการเข้าใจผิดของทีมงานทรัมป์ที่เชื่อว่าการใช้ภาษีขาเข้าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทุกอย่างที่สหรัฐฯ ประสบอยู่ได้ สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลากว่า 50 ปี เนื่องจากมีการใช้จ่ายเกินตัว แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงความเป็น Superpower แต่เพียงผู้เดียวของโลกอยู่ได้ เพราะสหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและการค้าเสรี ในทางตรงข้าม นโยบายของทรัมป์ดูเหมือนจะสวนทางกับหลักการนี้ และจะก่อเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ เอง

CP Seeding 'องค์ความรู้-ศักยภาพ' แห่งเครือ CP หนุน!! ผู้ประกอบการ SME ไทย GO INTER

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณเอกชัย ตั้งรัตนาวลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ซีดดิ้ง โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะขององค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศ ได้รับโอกาสทางธุรกิจผ่านแพลตฟอร์ม CPseeding.com และสามารถขยายธุรกิจไประดับโลกได้ ว่า...

CP Seeding เป็นหน่วยงานที่ CP สร้างขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เติบโตได้ ด้วยกลไกต่าง ๆที่ทาง CP พร้อมสนับสนุน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจประสบความสำเร็จมายาวนาน ซึ่งถ้านำองค์ความรู้ของ CP มาสนับสนุนผู้ประกอบการจะทำให้เติบโตได้เร็วขึ้น รวมทั้งกระบวนการพัฒนาและตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

คุณเอกชัย กล่าวว่า "เรามองผู้ประกอบการคนไทยเป็นดั่งพี่น้อง ดังนั้นการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ ของพี่น้องคนไทย ให้เติบโตไปด้วยกัน จะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดีขึ้น และยกระดับสินค้าไทยให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"

คุณเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ผมมอง Mindset เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ Mindset เถ้าแก่ เราต้องสร้างความเข้าใจในธุรกิจ เข้าใจกลไกของธุรกิจ โดย CP Seeding มีการวางกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการออกเป็น 3 กรอบ ได้แก่ 

1.การเรียนรู้ตลาดก่อน ว่าสินค้าของผู้ประกอบการจะไปในทิศทางไหน ตอบโจทย์ผู้บริโภคหรือไม่ 
2.การทำต้นแบบสินค้าจริง เพื่อทดลองตลาดจริงๆ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุง 
3.การเข้าสู่ตลาด เนื่องจากทาง CP มีฐานตลาดจำนวนมาก ทำให้วิเคราะห์ตลาดให้เหมาะสมกับสินค้าได้"

ปัจจุบัน CP Seeding ได้เปิดรับนักธุรกิจที่สนใจ ได้แก่ 
1.กลุ่มเริ่มคิดทำธุรกิจ หรือยังไม่มีไอเดีย 
2.กลุ่มเกษตรกร 
3.กลุ่มสตรีทฟู้ด 
4.กลุ่มร้านอาหารและโรงแรม 
5.กลุ่มที่มีโรงงานและอยากผลิตสินค้าเข้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ 
6.กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถขยายเพิ่มเติมไปยังต่างประเทศได้ 

ในส่วนจุดเด่นของ CP Seeding คุณเอกชัย กล่าวว่า "เป็นเรื่องของการ Support ข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการคือ ข้อมูล และเวลา จะเดินช้าไม่ได้ โดยผู้ประกอบการที่มาปรึกษากับเราส่วนใหญ่นิยาม CP Seeding ว่าเหมือนบันไดเลื่อน ช่วยให้สำเร็จรวดเร็วมากขึ้น ส่วนเป้าหมาย คาดหวังว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจ หรือผมใช้คำว่าหาทีมชาติ 100 ผู้ประกอบการให้ไปตลาดโลกให้ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการพาผู้ประกอบการไทยไปสำรวจตลาดที่ต่างประเทศ (Business Survey) ซึ่งเราจะพาไปดูตลาดจริง กับผู้รู้จริง ๆ สำรวจพฤติกรรมของผู้ซื้อในแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร มี feedback กับสินค้าของเราอย่างไร ซึ่งตอนนี้มี แพลนพาผู้ประกอบการไปในรอบ ๆ บ้านเราก่อน เช่น กัมพูชา มาเลเซีย จีน เป็นต้น" 

สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.cpseeding.com/ ทางบริษัทฯ เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เติมเต็มองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! พิษสงคราม สั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ Local Currencies แทนดอลลาร์ 'ชำระเงิน-ค้าขาย' แบบทวิภาคี

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สงครามสั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ local currencies แทนดอลลาร์

ผลพวงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เคยอยู่ที่ระดับ 0% กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% และไม่มีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับเดิมในเร็ววัน 

แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ จากตลาดเงินตลาดทุนว่าสงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่เชื่อว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไปและอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศที่เป็นศัตรูเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเงินอีกด้วย

ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currencies) ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศไทยเคยมีบทบาทนำในการผลักดัน Asian Bond Market Initiative สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ได้เซ็น MOU ที่จะสนับสนุนการใช้เงินบาท, ริงกิต และรูเปียะ ในการชำระเงินการค้าขายแบบทวิภาคี ซึ่งถือเป็นความพยายามที่ดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า การผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และดูจะฝืนธรรมชาติด้วยซ้ำ เพราะมีความเสี่ยงสูง และต้นทุน (Transaction Costs) ต่อผู้ประกอบการ โดยวัดจาก Spread ของธนาคารก็สูงกว่ามาก 

แต่สถานภาพปัจจุบันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงิน Reserve Currency สกุลเดียวของโลกมาเป็นเวลากว่า 80 ปี และมีสัดส่วนกว่า 80% ในการชำระเงินและในทุนสำรองระหว่างประเทศ จนมีพลังต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกเสมอมานั้น คงถึงเวลาที่ภาครัฐของทุกประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งในระยะปานกลาง/ยาว ต้องจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยนทำนองเดียวกับ European Monetary System (EMS) และการมุ่งไปสู่เงินสกุลเดียวทำนองเดียวกับเงินยูโร ต้องคิดไว้ได้บ้างแล้ว...

'กูรูอีสาน' โชว์ภาพรวม ศก.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 'เกษตรฯ-การลงทุน-นวัตกรรม' เฟื่องฟูไม่แพ้ถิ่นใด

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณสุรวัช อริยฐากูร ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจสินเชื่อ ธ.ก.ส. และที่ปรึกษาองค์กรภาคเอกชน ถึงประเด็น 'ภาพรวมของเศรษฐกิจในภาคอีสานในปัจจุบัน' โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หากพูดถึงอีสาน สิ่งที่เราจะนึกถึง คือ วิถีชีวิตของคนถิ่นที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความหวือหวา โดยคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว ปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจในภาคอีสานต้องพึ่งพาด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอีสาน ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตชัด จะประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมแป้งมัน, มันสำปะหลัง 

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่โดดเด่น คือ การเพาะปลูกข้าว ที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ 

ในด้านการปศุสัตว์ที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นหมวดของการขยายฟาร์มเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ถ้าจัดลำดับสัดส่วนสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์หลักๆ ของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา และข้าวโพด ถือเป็นพระเอก ส่วนปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นการทำฟาร์มสุกรขุน 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมโคนมก็ถือว่าเป็นสิ่งได้รับความนิยม โดยมีกลุ่มเกษตรกรการเกษตร คอยส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้วหันมาเลี้ยงโคนม หลังจากแถบวังน้ำเขียวเริ่มเข้ามาซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น 

ส่วนธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจในภาคอีสานอีกด้านหนึ่ง คือ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เนื่องจากภาคอีสาน มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก อีกยังเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงสูงเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอ ได้มีนโยบายสนับสนุนกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดโซลาร์ฟาร์มขายคืนพลังงานให้กับการไฟฟ้า กลายเป็นธุรกิจใหม่พลังงานสะอาดตาม BCG โมเดลในผืนถิ่นนี้

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับลูกหลานคนอีสานที่ย้ายถิ่นฐานกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว ทำให้บ้านจัดสรรได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในอำเภอรองในจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากเมืองเริ่มขยายตัว

ส่วนภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอยู่ในความรับผิดชอบของ 'บีโอไอโคราช' นั้น พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน 38 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุน 15,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 373

เห็นภาพรวมเศรษฐกิจคร่าวๆ ในดินแดนแห่งนี้ ที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นลงรายละเอียดเชิงลึกเป็นรายจังหวัดไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า การให้ความสำคัญในอีสานของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยทลายภาพอีสานแล้ง แล้วทดแทนด้วยความเจริญผนวกกับโอกาสที่เริ่มค่อยๆ เติมเข้ามามากขึ้นได้พอสมควรเลยจริง ๆ...

‘เลขาฯ กอช.’ กระตุ้นสังคมออมเงินไว้ยามการเกษียณ ยก ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ทางเลือกเพื่ออนาคต

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 4 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ในประเด็น ‘การออมเพื่อการเกษียณ โอกาสเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม’ โดยคุณจารุลักษณ์ กล่าวว่า...

“การออมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมเพื่อการเกษียณ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายโอกาสและเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุ จากการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา...

“โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามผลักดันนโยบายส่งเสริมการออม เพื่อให้ประชาชนวัยแรงงานจำนวนราว 39 ล้านคน เข้าสู่ 2 วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเพื่อการเกษียณในรูปแบบการออมทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ”

คุณจารุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ที่เป็นแรงงานในระบบมีช่องทางการออมภาคบังคับ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและประกันสังคมมาตรา 33 อีกทั้ง มีช่องทางการออมภาคสมัครใจสำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างประจำส่วนราชการคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

ทว่าในส่วนของแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ยังไม่มีการออมภาคบังคับ มีแต่การออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้คือ ประกันสังคมมาตรา 40 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อคนกลุ่มนี้ นั่นก็คือ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ซึ่งปัจจุบันดูแลสมาชิกอยู่มากกว่า 2.5 ล้านคน โดยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างสรรค์กลไกสวัสดิการภาครัฐ ให้แก่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับ ได้มีโอกาสรับบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสมและเงินสมทบ

“กอช. มีภารกิจในการส่งเสริมการออมทรัพย์ให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือที่เรารู้จักกันว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้ได้ใช้สิทธิสวัสดิการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง...

“โดยการออมกับ กอช. นั้นมีเกณฑ์ขั้นต่ำเพียง 50 บาท/ครั้ง สูงสุด 30,000 บาท/ปี สามารถรับเงินสมทบจากรัฐ สูงสุด 100% หรือไม่เกิน 1,800 บาท/ปี ที่สำคัญเป็นการออมภาคแบบสมัครใจ ผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. สามารถออมเงินได้ตามบริบทของชีวิต คือ ออมได้เมื่อพร้อม ทำให้สิทธิการเป็นสมาชิกยังคงอยู่เช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจผ่านจำนวนสมาชิก กอช. ในปัจจุบัน ที่มีจำนวนอยู่ 2,552,607 คน” เลขาฯ กอช. เสริม

สำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา กอช. ได้พัฒนาช่องทางการให้บริการให้ประชาชนผู้สนใจ และช่องทางอำนวยความสะดวกให้สมาชิกเข้าถึงการออมกับ กอช. ในการสมัครสมาชิก หรือออมต่อเนื่องกับ กอช. ผ่านหน่วยบริการต่างๆ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด ธนาคารของรัฐ ทั้ง 5 แห่ง อาทิ... 

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 
2. ธนาคารออมสิน 
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
4. ธนาคารกรุงไทย 
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินชุมชน, ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน รวมทั้งไปรษณีย์ไทย, สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม, เซเว่น-อีเลฟเว่น, เทสโก้โลตัส และตู้บุญเติม อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีช่องทางออนไลน์ ผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยแอดได้ที่ ไลน์แอดของ กอช. ‘@nsf.th’ / แอปพลิเคชัน กอช. / แอปพลิเคชัน เป๋าตัง / แอปพลิเคชัน MyMo / แอปพลิเคชัน K PLUS และแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT กอช. อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้กับสมาชิกที่ต้องการหลักประกัน เพื่อความอุ่นใจ โดยการจัดทำสมุดเงินออม (Passbook) ขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เป็นหน่วยรับให้บริการ ออกสมุดเงินออมให้แก่สมาชิก กอช. ได้อัปเดตความเคลื่อนไหวเงินออมของตนเองที่ออมกับ กอช. 

คุณจารุลักษณ์ กล่าวอีกด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กอช. ยังได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการลงพื้นที่ส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงิน ให้ตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินที่ดี และส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินออมยามเกษียณกับ กอช. ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.), ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด, ผู้แทนจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัด รวมถึงครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ ทาง กอช. ยังได้มีการจัดงานมอบรางวัลส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 เนื่องในงานวันออมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 ซึ่งเป็นการขอบคุณเครือข่าย หน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้ถึงการออมเงินกับ กอช. เพื่อวัยเกษียณให้กับตนเองและคนในครอบครัวอีกด้วย

ก็ถือว่าเป็นอีกหน่วยงานที่กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างโอกาสเสริมสร้างความเสมอภาคแก่คนไทยทุกคนให้เริ่มวางแผนชีวิตเพื่ออนาคตตั้งแต่เนิ่น ๆ 

วันนี้หากใครที่ยังไม่มีแผนเริ่มลงทุนเพื่ออนาคตยามเกษียณ ลองศึกษารายละเอียดของ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ เพื่อชีวิตในยามแก่ชราจะได้มีคุณค่าแบบไม่ต้องให้ใครมาห่วงกันเถอะ...

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะยาว และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ

ถอดกลยุทธ์ 'ท่องเที่ยวไทย' ยุคดิจิทัล พิชิตเป้า 25 ล้านนักท่องเที่ยว พร้อมวอนคนไทยต้อง Land of smile ไม่เผลอ Crocodile smile

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 28 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ คุณนรินทร์ ทิจะยัง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปี พ.ศ. 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้...

ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเข้าไปอยู่ที่ 25 ล้านคน ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 21 ล้านคนแล้ว ซึ่งมีโอกาสเป็นไปตามเป้า 

ส่วนผลกระทบเรื่องสงครามในตะวันออกกลางก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ อาจมีการชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) มีการกระจายความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวไว้หลากหลายตลาด ทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะในตลาดเอเชีย ซึ่งมีการกระจายไว้หลายส่วน 

โดย Top 5 ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย, จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย และรัสเซีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยเราก็ตั้งเป้าไว้ทั้งปี เฉลี่ย 250 ล้านคน/ครั้ง 

ทั้งนี้ คุณนรินทร์ ได้เล่าถึงในส่วนของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ด้านการท่องเที่ยวไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า...

"ตอนนี้เรามีการวางแผนไว้ทั้ง Before Trip During Trip และ End of trip ซึ่งแต่ละส่วนจะมีเครื่องมือขับเคลื่อน เช่น Before Trip ก็จะมีแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็น Marketing Tools ซึ่งทาง ททท. มีมากถึง 9 แพลตฟอร์ม พร้อมผู้ติดตามรวมแล้วประมาณ 10 ล้าน (Follower) ด้วยการส่งเสริมให้เห็นถึงภาพการเดินทางจริงของนักท่องเที่ยวได้มิติต่างๆ ของไทย 

"ส่วน During Trip คือ ในช่วงระหว่างการเดินทาง ก็จะมีสื่อสังคมออนไลน์คอยให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่าย ณ แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ 

"และ End of trip คือ เมื่อท่องเที่ยวเสร็จ ก็จะมีการรับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว เป็น Voice Of Social ถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง มีความประทับใจส่วนใดบ้างหรือไม่ เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวในด้านดิจิทัล คุณนรินทร์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้...

1.การพัฒนาเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัล เช่น ในอนาคตเราเตรียมใช้ Social Listening เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสียงจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่าพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างไร ชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำมาประมวลผลและทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวให้ตรงใจชาวต่างชาติต่อไป

2.การพัฒนาโครงสร้างข้อมูลให้พร้อม โดยเฉพาะ Data นำข้อมูลมาสอนให้พนักงานของ ททท. เข้าใจและใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น 

3.การพัฒนาองค์กรให้มีสมรรถภาพสูงและมีธรรมาภิบาลด้วย ส่วนของ Smart Data ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจทางหลวง สำนักงานอุตุนิยมวิทยา โดยนำข้อมูลต่างๆ มา ทำให้เกิดข้อมูลพร้อมใช้สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลทางการตลาดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมโครงการ เช่น โครงการท้าทาย ของ ททท. ซึ่งรวบรวมข้อมูลในลักษณะ Core Plus ขึ้นมา เพื่อสร้างฐานข้อมูลชุดใหม่เพื่อให้กับนักท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ ยังมองถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการนำ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Technology) มาใช้ตามวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศและส่งมอบคุณค่าที่ดีและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่มีความสอดคล้องกับการท่องเที่ยว ก็จะถูกเลือกนำมาใช้ เช่น เทคโนโลยีที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตระหนักถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทราบว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องสำคัญ คือ ต้องขอฝากคนไทยให้ช่วยกันต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม มีไมตรีจิต เพราะเราคงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวพูดว่า เมื่อก่อนเป็น Land of smile แต่ตอนนี้เป็น Crocodile smile แล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว หรือหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้อรายการนำเที่ยว สินค้าต่างๆ ในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น" คุณนรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

'อ.พงษ์ภาณุ' ห่วง!! สังคมไทยสูงวัยไม่พอ แต่คนรุ่นใหม่ เมินมีลูก เพราะห่วงภาระบาน

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น สังคมไทยใต้ปีกสังคมสูงวัย และ สถานการณ์ในยุโรปที่ต้องจับตา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

10 ปีที่แล้วโลกเริ่มมีประชากรสูงวัยจากประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สังคมผู้สูงอายุจึงเริ่มเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ คนเสียชีวิตช้าลง คนเกิดน้อยลง ซึ่งปัญหาเด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยอัตราที่เหมาะสมคือแต่ละครอบครัวต้องมีบุตร 2.1 คน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดต่ำกว่า 2.1 คน 

สำหรับประเทศไทยอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.3 คน ต่อครอบครัว แสดงว่า Generation ถัดไปประชากรจะเริ่มลดลง 

นิด้าโพลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างคนไทย ปรากฏว่าสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก…

- ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 
- ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 
- ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ 
- ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี 
- ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า 
- ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี 
- ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย
- และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก…

- ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก
- ร้อยละ 63.66 ระบุว่า รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี 
- ร้อยละ 30.00 ระบุว่า ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก 
- ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก 
- ร้อยละ 21.91 ระบุว่า มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด 
- ร้อยละ 19.92 ระบุว่า อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว 
- ร้อยละ 17.18 ระบุว่า พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก 
- ร้อยละ 9.85 ระบุว่า มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก 
- ร้อยละ 7.48 ระบุว่า เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก 
- ร้อยละ 5.50 ระบุว่า รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น
- ร้อยละ 4.89 ระบุว่า รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย 
- ร้อยละ 2.75 ระบุว่า รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ 
- และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อาจารย์พงษ์ภาณุ กล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่รัฐควรสนับสนุน เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีลูกจ่ายทันที 10,000 เหรียญ และจากผลการสำรวจของนิด้าโพลข้างต้นนี้ สรุปได้ว่าคนไทยอยากให้รัฐจัดสวัสดิการให้ แต่ถ้าเป็นการให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน น่าจะเหมาะสมกว่าการสนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก ส่วนปัญหาผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบ ได้แก่...

1.แรงงาน ดูผลของเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กำลังแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เห็นว่าจะเกิดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยขึ้น ถ้าไม่ได้เก็บออมไว้ก่อนอาจประสบปัญหาได้ 

2.ทุน ถึงแม้ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้เกิดการออมจากกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่บางส่วนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีบำนาญก็ไม่สามารถลงทุนได้ 

3.เรื่องเทคโนโลยี ผู้สูงวัยมีประสบการณ์มากกว่า แต่เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าต้องผสมผสานให้ดี โดยรัฐควรมองว่าทำอย่างไรให้มีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเกิดมากขึ้นได้หรือไม่ หรือขยายอายุเกษียณราชการให้ช้าลง ซึ่งควรพิจารณาโดยเร็ว 

อีกประเด็นคือ ควรเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในไทยโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดเสรีแรงงานระดับมืออาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ไขจะประสบปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการในอนาคต

นอกจากเรื่องสังคมผู้สูงวัยแล้ว อาจารย์พงษ์ภาณุ ได้เล่าถึง สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน โดยกล่าวถึงที่มาของการรวมกันของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งยุโรปในอดีตเกิดสงครามเยอะมาก การรวมตัวกันของ EU ก็เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม และทำให้ยุโรปมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดเล็ก เกี่ยวกับการค้าขายและการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ยังมีข้อเสีย โดยมีวิกฤตเกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาขึ้นมาโดดเด่นกว่ายุโรปแล้ว เพราะธุรกิจยุโรปยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งจีนและสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจไอที ที่ก้าวนำยุโรปไปแล้ว 

ขณะเดียวกันประเทศที่เป็นแกนกลางของยุโรป เช่นเยอรมนี ตอนนี้เศรษฐกิจก็กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์หดตัวลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV จากจีน ซึ่งแตกต่างกับประเทศฝรั่งเศส ที่ลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล เศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้า Luxury แถมยังได้ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลัก ซึ่งฝรั่งเศสมีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 

ขณะที่นโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มของฝรั่งเศสก็ส่งเสริมให้เกิดการเติบโต ซึ่งแตกต่างกับไทยที่มีนโยบายเก็บภาษีเครื่องดื่มแพงมาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรมองจุดนี้ แล้วหันมาส่งเสริมนโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้นด้วย 

ส่วนบทบาทของไทยกับยุโรป มองว่าควรเจรจาเปิดการค้าเสรี ไทย-ยุโรป อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก

'บางกอก เชน ฮอสปิทอล' โชว์กำไร 3 ปีโกยหมื่นล้าน รับ!! ธุรกิจโรงพยาบาลแบบกลุ่มสร้างแต้มต่อกว่าแบบเดี่ยว

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 21 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลการุญเวช ถึงสถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนและสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชน มีลักษณะธุรกิจที่เติบโตไปได้เรื่อยๆ เหตุผลก็คือ การรักษาพยาบาล เป็นปัจจัยสี่เรื่องความเจ็บป่วย และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนไทยป่วยเป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) กันเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นธุรกิจ Healthcare จึงเติบโต โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เปิดประเทศแล้ว ซึ่งในรอบ 6 เดือน มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติเป็นผู้ป่วยทางยุโรปและเอเชีย

เมื่อถามถึงแนวโน้มการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน นพ.เฉลิม กล่าวว่า "คนไทยป่วยมากขึ้น อาจเป็นเพราะไม่ได้ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่มีโอกาสในการดูแลตัวเองมากนัก ประกอบกันมีโรคแปลกๆ มากขึ้น หรือโรคที่หายไปนานแล้วกลับมาเป็นกันใหม่ในปัจจุบันอย่างเช่น โรควัณโรค เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองตลอด คนป่วยไม่ได้ลดลง ส่วนชาวต่างชาติที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในเครือ ส่วนใหญ่จะมาใช้บริการศูนย์รักษาเฉพาะทาง เช่น ศูนย์รักษาโรคเบาหวาน โรคความดันและหลอดเลือด โรคไต โรคหัวใจ ซึ่งเหตุผลที่ต่างชาติเลือกรักษากับเรา เนื่องจากมั่นใจในคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง"

เมื่อถามถึงผลประกอบการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) นพ.เฉลิม เผยว่า "เมื่อปี พ.ศ. 2564 เราสามารถทำกำไรสุทธิไปมากถึง 6,800 ล้านบาท ส่วนในปี พ.ศ. 2565 ทำกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2566 นี้ น่าจะเป็นปีที่ทางบริษัทฯ ทำกำไรได้สูงสุด"

ส่วนความท้าทายของการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน นพ.เฉลิม มองว่า "ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบ่งได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.กลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย และ 2.โรงพยาบาลเดี่ยว โดยกลุ่มโรงพยาบาลที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายมีแนวโน้มที่เพิ่มกำลังขยายได้มากขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์มากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า ทำให้มองเห็นตลาดได้กว้างกว่า โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย ส่วนโรงพยาบาลเดี่ยวที่เข้ามาในตลาดความแข็งแรงของธุรกิจอาจสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการแข่งขันจะรุนแรงไปเรื่อยๆ สรุปแล้วกลุ่มโรงพยาบาลจะได้เปรียบมากกว่าโรงพยาบาลเดี่ยว"

ส่วนอุปสรรคในการบริหารโรงพยาบาล คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็นสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน ซึ่งเคยมีข้อเสนอจากโรงพยาบาลเอกชน ที่ยินดีสนับสนุนทุนการศึกษาให้แพทย์เรียนจนจบ จะไม่ได้เกิดปัญหาว่าแพทย์จากหน่วยงานรัฐ ย้ายมาทำงานในภาคเอกชน 

"เรายินดีสนับสนุน ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะไม่รับแพทย์จบใหม่ แต่จะรับแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัจจุบันนี้วงการสาธารณสุขไทยไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะแพทย์ ยังขาดแคลนพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ อีกมาก เรียกได้ว่าขาดแคลนเกือบทั้งหมด" นพ.เฉลิม กล่าว

'อ.พงษ์ภาณุ' มองท่องเที่ยวไทย ภายใต้เศรษฐกิจจีน 'เปราะบาง' ยกเว้นวีซ่า ช่วยได้แค่ไหน แม้ไทยจะเป็นจุดหมายเบอร์ 1

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น การท่องเที่ยวไทย ภายใต้เศรษฐกิจจีน 'เปราะบาง' และการยกเว้นวีซ่า จะช่วยได้จริงหรือไม่? เมื่อวันที่ 15 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การท่องเที่ยวของไทยปีนี้แม้ว่าจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนต้นปีและยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด 19 ได้ แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ 8 เดือนแรกของ 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 12 ล้านคน และอาจจะบรรลุเป้า 30 ล้านคน สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่

มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa Free) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน ของรัฐบาล จึงได้รับการจับตามองว่าจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้หรือไม่ แต่ต้องถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากทางการจีน โดยเฉพาะในจังหวะที่จีนกำลังเข้าสู่วันหยุด Golden Week เนื่องในวันชาติจีน (1 ตุลาคม) ซึ่งจากผลสำรวจของ Trip.com มักมีชาวจีนกว่า 20 ล้านคนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว และประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ 

ดังนั้น หากนโยบายยกเว้นวีซ่า ประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาในช่วง Golden Week นี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปให้กลับมาคึกคักได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ก็ยากที่จะด่วนสรุปว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ 

เพราะตอนนี้ จีนเจอปัญหาหลายด้าน ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะฟองสบู่แตกกำลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยากที่จะแก้ไขได้ในเวลารวดเร็ว รวมถึงความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก ก็กำลังซ้ำเติมปัญหาภายในของจีน สะท้อนจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลจีนเอง ก็ดูจะมีความล่าช้าที่จะใช้นโยบายการคลังและการเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันการ 

ความเปราะบางของจีนขณะนี้ จึงถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งจริงๆ ก็กำลังเผชิญอยู่ จนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด...

รู้จัก ‘ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล’ นักเรียนทุนแบงก์ชาติ ประกาศ!! ขอนำความรู้ที่ได้กลับมาช่วยประเทศไทย

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘น้องไอซ์’ ปราชญ์ เทวานฤมิตรกุล เด็กไทยผู้เพียรพยายามและขอกลับมาทำงานที่บ้านเกิด หลังเรียนจบ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.66 โดยมีเนื้อหา ดังนี้…

ประวัติของ น้องไอซ์ นั้น จบระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดดอนทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วสอบเข้าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ในระดับมัธยมต้น จากนั้นเข้าศึกษาระดับมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โดยอยู่ในห้องของเด็กโครงการความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ หรือ Gifted Math และเมื่อเรียนจบ ก็ได้สอบชิงทุนและได้รับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปศึกษาต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ น้องไอซ์ ถือเป็นเด็กสายแข่งขันที่กวาดรางวัลมามากมาย เช่น ช่วงมัธยมต้นแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง ช่วงมัธยมปลายแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ได้รางวัลเหรียญทอง และเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก นอกจากนี้ยังเคยแข่งขันแต่งบทร้อยกรองทั้งในระดับโรงเรียนและระดับประเทศ จากนั้นก็มุ่งมั่นสอบชิงทุน เนื่องจากมีเป้าหมายไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเอง และอยากเห็นโลกกว้างมากขึ้น เพื่อตามฝันของตัวเองตอนเด็ก ๆ ที่อยากเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเท่ดี เพราะจะมีลายเซ็นตัวเองอยู่บนธนบัตร โดยเจ้าตัวมักบอกเสมอว่า “ถ้ากล้าฝันก็ต้องพยายามไปให้ถึง” ซึ่งเขาเริ่มเข้าใกล้ความฝันแล้ว
.
เพราะด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้น้องไอซ์ได้รับทุนจาก ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ไปศึกษาต่อที่ Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาตรี ด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยขณะนี้กำลังขึ้นชั้นปี 2 ภายใต้รูปแบบการเรียนที่เจ้าตัวบอกว่าจะไม่พยายามกดดันตัวเอง ถึงแม้เวลากดดันตัวเองแล้วคะแนนจะดีขึ้นก็ตาม 
.
“ผมจะเรียนไปตามธรรมชาติที่เป็นไป แต่จะไม่กดดันตัวเอง เพราะถ้าเรากดดัน เช่น คาดหวังว่าต้องได้เกรด 3.9 ตลอดทุกเทอม จะทำให้เราไม่กล้าที่จะไปทำอย่างอื่น เช่น การเรียนรู้ชีวิตที่มหาวิทยาลัยว่าเป็นอย่างไร การปรับตัวต่าง ๆ เป็นต้น”
.
ทั้งนี้ น้องไอซ์ ได้บอกว่าความแตกต่างของมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาด้วยว่า มีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะโครงสร้างการสอน เพราะมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนในสิ่งที่อยากรู้ได้อย่างอิสระ แต่ต้องเรียนวิชาหลักของคณะให้ครบถ้วน ทว่าก็สามารถเรียนวิชาอื่น ๆ ที่อยากเรียนได้ 
.
“เราสามารถทำหลาย Major ได้ ซึ่งถือเป็นการเรียนแบบ ‘มิติสัมพันธ์’ เช่น เรียนเรื่องนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาหลักที่เราเรียนได้ เป็นต้น” 
.
เมื่อถามว่าอะไรคือ ความท้าทายเมื่อไปเรียนที่ต่างประเทศ? น้องไอซ์บอกว่า “มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความท้าทายเรื่องภาษา ต้องมีการไปเตรียมตัวเรียนภาษาก่อน 1 ปี 2.การจัดการเวลาเรียน เราต้อง Balance ให้ดี ทั้งเวลาเรียน ทำกิจกรรม การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และการได้อยู่กับตัวเอง และ 3.เรื่องอาหารและโภชนาการ เนื่องจากอาหารไม่ถูกปากเหมือนเมืองไทยเลยต้องปรับตัว”
.
เมื่อถามถึงตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมน้องไอซ์ให้มาถึงจุดนี้ได้? น้องไอซ์ เผยว่า “ครอบครัว มีส่วนผลักดันเยอะมาก รวมถึง อาจารย์ และเพื่อน ๆ ฉะนั้นเมื่อเรียนจบ ผมจะตั้งใจนำความรู้มาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งพร้อมกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองว่าเรียนรู้อะไรมาก็จะใช้ความรู้ที่เรียนมานั้น มาทำงานจริง ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตอนนี้มี Project ที่น่าสนใจมากมาย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จากการนำเข้าส่งออก เราสามารถส่งเสริมให้ไทยกลายเป็น ศูนย์กลางของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ หรือกลายเป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด หรือการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาโดยตลอด เป็นต้น”
.
น้องไอซ์ฝากทิ้งท้ายว่า “การเรียนหรือการพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนอะไรก็ตาม จริงๆ แล้วอยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเรามองว่าเราทำไม่ได้ ถึงแม้สังคมรอบข้างบอกว่าเราทำได้ เราก็จะทำไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ถ้าเรามีความมั่นใจในตัวเอง และตั้งใจทำมันจริง ๆ ผมก็เชื่อว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ครับ”


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top