Monday, 8 July 2024
EXCLUSIVE

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง!! ศก.ไทยเหมือนร้านอาหาร เมนูส่วนใหญ่ ‘ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม-ไม่ปรับตัวตามเวลา’

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ (ต๊ะ) คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.67 ระบุว่า…

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก อาจโตแบบช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมองไปที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่ในปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่อัตราการว่างงานไม่มากนัก ภาวะทางการคลังมีหนี้สูง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่กระทบการเติบโตของสหรัฐฯ

ส่วนยุโรป ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออก ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและอาหารฝั่งยุโรปสูงขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ยังติดกับดักเศรษฐกิจภาวะเงินฝืดมายาวนาน ซึ่งวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นแพงสําหรับคนญี่ปุ่น แต่กับคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ว่าค่าครองชีพที่นั่นถูกมากในรอบหลาย 10 ปี ฉะนั้นวันที่ภาพของญี่ปุ่น จึงเป็นภาพของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงและการส่งออกที่ดีจากค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ภายใต้สัญญาณการสิ้นสุดการหยุดดอกเบี้ยติดได้ลบเร็ว ๆ นี้ 

ข้ามมาที่ จีน ตอนนี้อยู่ในภาวะการปรับฐานเศรษฐกิจหลังจากที่เติบโตมายาวนาน ซึ่งทางการอยากให้โตช้าลง โดยเริ่มโฟกัสไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน ด้วยการไม่อนุญาตให้ลงทุนกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบเก็งกำไร เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง เริ่มมีปัญหาในลักษณะนี้แล้ว ทางการจีนจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเราเหมือนร้านอาหารเป็นร้านอาหารที่ดีแต่โต๊ะเต็มแล้ว ต้องเพิ่มช่องว่างและศักยภาพทางการตลาด โดยเปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ขายอาหารแพงขึ้น เปลี่ยนเป็นร้านอาหารที่ราคาสูงมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากประเทศที่ขายของถูกกลายเป็นขายของแพง หรือ ลดต้นทุน เช่น ร้านอาหารนี้เคยใช้พนักงานจำนวนมาก ขายของไม่แพงเราก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร และปรับใช้คนน้อยลง ก็สามารถทำให้ธุรกิจไปต่อได้

เปรียบแล้ว ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมีเมนูใหม่ ๆ มาขาย ที่ผ่านมาเรามีแต่เมนูเดิม ๆ ถ้าเรานึกภาพว่าประเทศไทยส่งออกอะไรบ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ยังเหมือนกันกับ 10 ปีที่แล้ว และก็เหมือนกันมาจนถึงวันนี้ที่เราก็ยังส่งออกของเดิม ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ 30 ปีที่แล้วส่งออกแบบหนึ่ง 20 ปีที่แล้วส่งออกอีกแบบหนึ่ง 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ก็ส่งออกอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปตลอด เพราะเขาเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลก

เมื่อถามถึงเรื่องพลังงาน คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า โครงสร้างพลังงานของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีส่วนได้เปรียบ เช่น ซื้อพลังงานด้วยถ่านหินแก๊สธรรมชาติหรืออะไรต่าง ๆ แล้วบริหารจัดการผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาพลังงานสูงตามไปด้วย จนไม่เกิดการแข่งขัน แต่กลับกันถ้าโรงไฟฟ้าสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดการแข่งขันกันทำโปรโมชัน ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ 

ส่วนสาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็เพราะว่าเรามีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในระบบเยอะมาก ทำให้ค่าเอฟทีแพง เพราะว่าเราต้องสำรองเรื่องนี้ แน่นอนว่าในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่ เพราะถ้าหากเราเริ่มหนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีเสถียรภาพของไฟฟ้าหมุนเวียนที่น้อย การมีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ก็จะช่วยเข้ามาชดเชยตรงนี้ได้ 

โดยสรุปแล้วในส่วนของพลังงานไทย คุณพลัฏฐ์ มองว่า ประเทศไทยต้องก้าวตามเทรนด์พลังงานสีเขียวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และมุ่งรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้าอีวีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามมา แต่ผลของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีที่จะถูกลง ขณะเดียวกันมลพิษและอากาศจะเป็นสิ่งที่หายไป ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจุดจ่ายไฟ หรือนโยบายที่จะมาสนับสนุน แต่จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามในรายละเอียดข้างหน้ากันต่อไป

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้

‘อรรถวิชช์’ ดัน!! ปฏิรูปเครดิตบูโร ล่า 10,000 รายชื่อ แก้กฏหมาย

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. ซึ่งได้ให้คำแนะนำรัฐบาลถึงการแก้หนี้นอกระบบ พร้อมทั้งการปฏิรูปกฎหมายเครดิตบูโร ยุติแช่แข็งลูกหนี้ และเตรียมรวม 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายเข้าสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ระบุว่า...

ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบมีปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะคนที่ติดหนี้นอกระบบแล้วโดนดอกเบี้ยสุดโหด ไม่สามารถกลับเข้ามากู้เงินในระบบได้ เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ เพราะติดแบล็กลิสต์กับธนาคาร ถึงแม้จะจ่ายหนี้หมดแล้วก็ตาม เนื่องจากมีประวัติข้อมูลต่างๆ ค้างอยู่ในระบบข้อมูลเครดิตถึง 3 ปี ซึ่งทางธนาคารจะใช้มาประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ ทำให้ประชาชนผู้ที่มีประวัติ เสียโอกาสในการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำมาลงทุนธุรกิจ 

ขณะที่ประชาชนบางท่านที่ไม่ได้มีเจตนาหนีหนี้ แต่เกิดจากการหลงลืม เช่น ลืมจ่ายค่าบัตรเครดิตไปเพียงครั้งเดียวก็สามารถติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรได้เช่นกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วควรพิจารณาจากนิสัยการใช้เงินของลูกหนี้ประกอบด้วยว่ามีพฤติกรรมอย่างไร 

จากจุดนี้ ผมจึงพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายเครดิตบูโร เช่น ชำระหนี้หมดแล้วต้องลบข้อมูลหนี้บัญชีนั้นทันที หรือกลับมาจ่ายได้ปกติหกเดือนติดต่อกัน ก็ควรลบข้อมูลค้างเก่าในบัญชีนั้นเช่นกัน ลูกหนี้จะได้มีโอกาสกู้ในระบบได้บ้าง ซึ่งผมนำเสนอให้ใช้ระบบคะแนนเครดิต Credit Scoring ใครคะแนนเครดิตดีได้ดอกเบี้ยต่ำ ใครคะแนนเครดิตต่ำได้ดอกเบี้ยสูง ถ้าทำแบบนี้ จะเกิดการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์กันมากขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่าการเปลี่ยนเป็นระบบ Credit Scoring มีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ขอตอบว่าไม่มีผลเสีย แต่จะมีผลดี คือ ธนาคารปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น โดยมีระบบการประเมินที่เป็นสากล การใช้ระบบ Credit scoring เป็นการแจ้ง ‘คะแนน’ ที่จะนำเอา ‘ข้อมูลดี’ มาประกอบด้วย เช่น รายได้ การจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันต่างๆ 

ตัวอย่างที่มีให้เห็นชัดเจน ก็เช่นกรณี ‘บังฮาซัน’ สู้ชีวิต อินฟลูเอนเซอร์คนดัง ขายอาหารทะเลให้ชุมชน เก็บเงินสด 30 ล้าน สร้างบ้านเอง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เนื่องจาก ‘เคย’ ติดหนี้บัตรเงินสดสมัยที่ยังทำงานสู้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จะมีสักกี่คน ที่มีความสามารถหาเงินได้แบบนี้ โดยไม่ต้องใช้ทุนตั้งตัว

อย่างไรเสีย เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ สามารถทำโดยการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยเฉพาะ ด้วยการแก้ไขให้ใช้ระบบ Credit Scoring เป็นรูปแบบการจำแนกคุณภาพสินเชื่อของบุคคลตามจริง แทนที่ระบบแบล็กลิสต์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และรักษาระบบสินเชื่อให้เป็นไปตามความจริง ซึ่งขณะนี้ได้ร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้

‘ESG Investing’ แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่? ในวันที่ ‘การฟอกเขียว’ เพื่อลวงลงทุน ก็เริ่มแพร่หลาย

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ESG Investing แก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?' เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เนื่องจากปัจจัยหลายประการบ่งชี้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองแห่งการลงทุนไทย จึงเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะพิจารณาการลงทุน ESG ซึ่งเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ทั้งในตลาดโลกและตลาดไทย 

มีรายงานว่ากองทุน ESG ทั่วโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ไม่น้อยกว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวใน 6 ปี ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวม ESG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และล่าสุดรัฐบาลได้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ในกองทุนรวมไทยยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควรจากนักลงทุน และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนระยะยาว (8 ปี) ในหลักทรัพย์ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

โดยธรรมชาติแล้ว หลักการลงทุนและหลักการ ESG มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงธุรกิจลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทคือ การบริหารจัดการกิจการให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นภายใต้กรอบกฎหมายของสังคม แต่การดำเนินการดังกล่าวมักก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (Externalities) อันเป็นต้นทุนแก่สังคมหรือบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนไปในอากาศ การละเมิดสิทธิของแรงงาน การไม่เหลียวแลชุมชนที่กิจการตั้งถิ่นฐานอยู่ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

กลับกันหลักการ ESG จะมุ่งที่การนำปัจจัยทางสังคม 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลให้ภาคธุรกิจมีความประพฤติดีทางด้านสังคม เพิ่มเติมจากการทำหน้าที่เพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาของการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ส่วนจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ น่าจะเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อันที่จริงแล้ว ESG Investing ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ในตลาดสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มการพัฒนาแนวปฏิบัติ ESG ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเริ่มจาก... 

G (Corporate Governance) หรือบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุพื้นฐานของการเกิดวิกฤต โดยได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนให้มีกรรมการอิสระ (Independent Directors) การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การพัฒนาความรู้ด้าน CG โดยจัดตั้งสถาบันกรรมการ (Institute of Directors) การจัดทำมาตรฐาน ประเมินและให้รางวัล บริษัทจดทะเบียนเป็นต้น ต่อมาได้เริ่มวางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน 

S (Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชน รวมทั้งมีการประเมินและมอบรางวัลเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ตัวแปรที่กำลังมาแรงคือ E (Environment) หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกสีเขียวที่มาพร้อมกับความวิตกกังวลกับปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น ตลท. และ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครบถ้วนโปร่งใส ที่เรียกว่า แบบ 56-1 One Report ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและของเสีย และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ตลอดจนมีการจัดทำการประเมินและดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นข้อมูลกับนักลงทุน

การนำมิติต่างๆ ทั้ง 3 ด้านมาประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มิติต่างๆ เหล่านี้มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและมิใช่มิติทางการเงิน (Non-financial) จึงยากที่นำมาประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับมิติทางการเงิน (Financial) ที่มีมาตรฐานการบัญชีรองรับ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลพยายามจัดทำคู่มือ มาตรฐานรวมทั้งดัชนีในการประเมินความดีทางสังคม แต่การจัดอันดับ ESG (ESG Ratings) ก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับเครดิต (Credit Ratings) 

นอกจากนี้ การนำเอาตัวแปรจำนวนมากใน 3 กลุ่มรวมกันเป็นดัชนีตัวเดียวน่าจะไม่ถูกต้องในทางทฤษฎี เพราะตัวแปรแต่ละกลุ่มอาจขัดแย้งกันเอง (Tradeoff) เช่น ธุรกิจที่มี CG ไม่ดีอาจจะเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนก็เป็นไปได้ ตัวแปรหลายตัวก็มีปัญหาในการวัดเชิงปริมาณและจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการให้คะแนน โดยเฉพาะตัวแปรด้านความรับผิดชอบทางสังมและด้าน CG ตัวแปรที่น่าจะวัดเชิงปริมาณได้ง่ายที่สุดน่าจะเป็นตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก

โดยหลักการแล้ว การลงทุน ESG จะให้ผลตอบแทนทางการเงินต่ำกว่าการลงทุนทั่วไป เนื่องจากธุรกิจจะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการจัดการภารกิจทางสังคม กิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือชุมชนหรือการควบคุมมลพิษ ล้วนนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และยังอาจนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอกอันเป็นการบิดเบือนภารกิจหลักของธุรกิจในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร 

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านการลงทุน ESG ก็เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างในสหรัฐฯ ถึงขั้นมีการออกกฎหมายในบางรัฐ เช่น ฟลอริดา ห้ามมิให้นำปัจจัย ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุนของกองทุนภาครัฐ กรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) ซึ่งหมายถึงการหลอกลวงนักลงทุนโดยใช้กฎเกณฑ์ ESG เป็นเครื่องบังหน้า จนมีการจับกุมผู้บริหารกองทุนหลายแห่ง ซึ่งเห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ การกดดันธุรกิจโดยใช้กลไกตลาดทุนมาจัดระเบียบทางสังคม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และอาจทำให้สังคมละเลยบทบาทของรัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลถืออำนาจรัฐที่จะจัดการกับผู้สร้างมลพิษ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยคาร์บอน โลกได้พัฒนาเครื่องมือที่อิงกลไกตลาดที่ตั้งอยู่บนหลักการ Polluters Pay Principle กล่าวคือ ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจัดกลไกกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) และจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งสะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างแท้จริง 

การเก็บภาษีคาร์บอนต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมือง แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตรงประเด็นกว่าการใช้กลไกตลาดทุน

ESG Investing ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะบิดเบือนการทำงานของตลาดทุน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

'ผู้ประกอบการไทย' ชี้!! อนาคตสถานบันเทิงไทย ปี 67 หลังไฟเขียวตี 4 พร้อมแนะ!! จับตาตลาดท่องเที่ยวคาซัคฯ มาแรง หลังฟรีวีซ่า

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ คุณพีระพล พิภวากร เจ้าของร้านอาหาร Ministry of Single และรองประธาน Kazakh Thai Alliance ในประเด็น 'อนาคตสถานบันเทิงไทย เปิดถึงตี 4 ดีจริงไหม?' โดยคุณพีระพล กล่าวว่า...

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาร้านอาหารและสถานบันเทิงได้รับผลกระทบพอสมควร จากการที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากนโยบายของภาครัฐในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมาบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยเริ่มดีขึ้น เพียงแต่ต้องมีการปรับบริบทและกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยก่อนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนเป็นคนไทยแล้ว

ฉะนั้นอยากให้ภาครัฐที่ออกนโยบายลงมาพูดคุยกับผู้ประกอบการถึงความต้องการจริงๆ ว่าต้องการอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ และมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ควรเข้มงวดในเรื่องกฎหมาย เช่น การเมาแล้วขับรถต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ เช่น การลดหย่อนภาษี มีกองทุนร้านอาหารเพื่อแปลงหนี้เป็นทุน หรือส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ คุณพีระพล ยังได้เปิดประเด็นสำคัญอีกเรื่องเกี่ยวกับมุมมองตลาดท่องเที่ยวคาซัคสถานหลังฟรีวีซ่า ซึ่งในฐานะรองประธาน Kazakh Thai Alliance คุณพีระพล กล่าวว่า...

พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคาซัคสถานส่วนใหญ่จะมีวันหยุดยาวเป็นเดือนโดยเลือกจุดหมายมาเมืองไทยกันเป็นจำนวนมากในช่วงนี้หลังจากฟรีวีซ่า โดยนักท่องเที่ยวคาซัคสถานมีกำลังซื้อสูง นิยมท่องเที่ยวภูเก็ต, กระบี่ และพัทยา โดยแต่ละปีมาท่องเที่ยวเมืองไทยกว่า 300,000 คน 

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวคาซัคสถานในปัจจุบันยังน้อยอยู่ด้วยหลายปัจจัย เช่น เที่ยวบินจากไทยไปคาซัคสถานยังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวต้องไปกับทัวร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ในด้านการส่งเสริมการตลาดที่ประเทศคาซัคสถาน ก็ต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยสูง เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ คนในคาซัคฯ ก็เชื่อมั่นมาก หลายๆ ชนิดสินค้าก็ได้รับการตอบรับดี เช่น ผลไม้ไทย, น้ำจิ้มไก่, อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง, เครื่องกระป๋อง เป็นต้น 

แน่นอนว่า ในส่วนของคาซัคสถานเอง ก็อยากนำสินค้ามาเปิดตลาดในไทยด้วยเช่นกัน เช่น เนื้อวัว, เนื้อม้า, เนื้อแกะ, ข้าวสาลี เป็นต้น 

คุณพีระพล ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ในปีนี้ช่วงหลังเดือนกุมภาพันธ์ ตนจะมีการจัดทริป Business Matching เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่อยากไปเปิดตลาดธุรกิจที่คาซัคสถานอีกครั้ง ถ้าท่านใดสนใจท่องเที่ยวและร่วมทริป Business Matching สามารถสอบถามได้ที่ 095-936-9635

'อ.พงษ์ภาณุ' กระตุก 'แบงก์ชาติ' ถึงเวลาลดดอกเบี้ย เตือน!! หยุดดื้อรั้น ก่อนพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ความเสี่ยง

(7 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยในเมืองไทยที่ควรถึงเวลาลดลงได้แล้ว ว่า...

ธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดสถาบันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางควรจะเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้ น่าจะต้องทบทวนความคิดดังกล่าวแล้ว เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดมาโดยตลอด ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในลักษณะวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) 

เริ่มตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกรอบที่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นจากระดับเกือบศูนย์มาเป็น 5.5% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมปรับดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลที่แล้ว จนเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 6% ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พอการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างของ Inflation Targeting ไปเสียแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ก็น่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการสร้างความผันผวนทางการเงินและต้นทุนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างไม่จำเป็น

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อติดลบส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยสูงเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ระบบธนาคารในประเทศตึงตัวและสินเชื่อหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ประกอบกับดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดึงดันคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นแก่เศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเตือนแบงก์ชาติให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธปท. อย่ามัวแต่ไปด่าคนอื่น เอาเรื่องเงินเฟ้อเงินฝืดของตัวเองให้รอดเสียก่อน แล้วก็หยุดดื้อรั้นเถิดครับ หันกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ประชาชนจะทวงคืนความเป็นอิสระของท่าน

‘จิรวัฒน์’ เลคเชอร์!! โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย 67 ความคืบหน้า ‘เส้นทางรถไฟ-รถไฟฟ้า’ เดินหน้าน่าพอใจ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ คุณจิรวัฒน์ จังหวัด เจ้าของเพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 ถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในปี 2567 โดยช่วงหนึ่งของรายการ คุณจิรวัฒน์ ได้อัปเดตเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

ตอนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดใช้ทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน รวมถึงสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย 

ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้ตรวจสอบความพร้อมของโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนในเส้นทางสายใต้ ‘ช่วงนครปฐม-หัวหิน’ และ ‘ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์’ รวมถึง ‘ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร’ โดยพบความก้าวหน้าใกล้จะแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมกำหนดเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตรในช่วงเมษายนนี้ เพื่อช่วยลดเวลาในการเดินทาง เพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินขบวนรถ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้การรถไฟฯ สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า 

“ตรงนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่สำคัญรถไฟทางคู่ยังช่วยกระจายโอกาสทางสังคมการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน” คุณจิรวัฒน์ กล่าว

ส่วนรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการออกแบบสถานี เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ล้านนาอย่างโดดเด่นสวยงาม สอดคล้องบริบทท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเส้นทางนี้ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ในการขนส่งสินค้า ฉะนั้นการพัฒนาโครงสร้างอาคารสถานีดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นอันดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ในแง่ของการสร้างความประทับใจแรกเห็น (First Impression) แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมาก 

คุณจิรวัฒน์ ขยายความต่ออีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของสถานีเชียงของ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่จะเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เชื่อม ‘ไทย-ลาว-พม่า-จีน’ โดยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารต่อเนื่องระหว่างประเทศจะเชื่อมโยงผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 รวมถึงยังเป็นสถานีรถไฟโดยสาร และ โรงซ่อมบำรุง ไว้ในที่เดียวกันด้วย ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ สายนี้ 

ส่วนความคืบหน้าของรถไฟความเร็วสูง ‘สายกรุงเทพ-โคราช’ คุณจิรวัฒน์ เผยถึงความคืบหน้าว่าอยู่ที่ประมาณ 28% โดยอาจจะมีบางส่วนช้าอยู่ในเรื่องของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน แต่ที่สระบุรี และปากช่องก็เริ่มมีขุดเจาะวางเสาเข็มกันบ้างแล้ว ส่วนการก่อสร้างที่พระนครศรีอยุธยา ยังคงต้องรอข้อสรุปกันอยู่ 

สำหรับ ‘เส้นทางมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี’ นั้น ในปี 2567 น่าจะได้เริ่มใช้จาก ‘นครปฐม’ ไป ‘กาญจนบุรี’ ก่อน ส่วนเส้นทาง ‘กรุงเทพ-โคราช-บางปะอิน-นครราชสีมา’ นั้น หากมองในส่วน ‘โคราช-ปากช่อง’ ได้เปิดใช้งานมาก่อน และตอนนี้จะเปิดให้บริการแบบ 100% ฟรี เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี 

ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า สายสีม่วงใต้ ‘เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ’ ซึ่งทำเป็นอุโมงค์เสียส่วนใหญ่ และประมาณ 60% วิ่งเข้าเกาะรัตนโกสินทร์ (จะมีการลอดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวงเวียนใหญ่ สะพานพุทธ) มีระยะดำเนินการมาประมาณ 2 ปี พบความคืบหน้าอยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งถือว่าคืบหน้าพอสมควร คาดว่าปี 2570-2571 น่าจะแล้วเสร็จ ส่วนอีกเส้นหนึ่ง คือ สายสีชมพู เปิดบริการ 100% วิ่งผ่าน ‘แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี’ 

ทิ้งท้ายกับ แผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 ก็ได้มีการวิเคราะห์ลงรายละเอียดไปถึงบ้านเรือนของประชาชนกับที่ทำงาน ว่าจะมีการเดินทางอย่างไร โดยมีการมองภาพกว้างที่ไม่ใช่จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ แต่จะครอบคลุมไปถึงปริมณฑลด้วย เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการณ์ แต่เขื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น

‘รศ.ดร.สมชาย’ วิเคราะห์!! อนาคตเศรษฐกิจไทย ปีงูใหญ่ แนะ!! ‘ความชำนาญ-เชี่ยวชาญ’ ยังช่วยฝ่าโลกเปลี่ยนไว

จาก THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงทิศของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2567เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.66 โดย รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า…

ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2567 จะมีความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการที่ท้าทาย ได้แก่…

(1) ภัยธรรมชาติ โลกร้อน แผ่นดินไหว น้ำท่วม

(2) โรคติดต่อ หรือ โรคระบาด ถึงแม้โควิด-19 จะเพิ่งผ่านไป ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเสมอ โดยเฉพาะโรคที่จะมาจากสัตว์สู่คน ซึ่งในปัจจุบันมักเกิดถี่ขึ้น ทุกประเทศต้องเตรียมตัว

(3) เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (รัสเซีย-ยูเครน) แต่เนื่องจากวงของสงครามในตอนนี้เริ่มจำกัด จึงจะยังไม่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับตอนช่วงต้นของสงคราม ขณะที่ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ ประเมินว่า เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 67 แล้วหลังจากนั้นถ้าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายในการกำจัดผู้นำฮามาสได้ แรงกดดันจากประชาคมโลกก็จะลดลง ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นบ้าง แต่ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ อาทิ ทะเลจีนใต้, ไต้หวัน ซึ่งตรงนี้เชื่อว่ายังไม่มีการเผชิญหน้ากันแบบดุเดือด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากโฟกัสในด้านเศรษฐกิจโลกสำคัญ ๆ ของโลก รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่าคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เชื่อว่ายังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 2.7%-2.8% ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะขยายตัวดีมาก 

ส่วนยุโรป (EU) เศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว ประมาณ 0.2%-0.6% แต่ไม่เข้มแข็งมากนัก 

ขณะที่ประเทศจีนเศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว 4% ในกรณีที่จีนไม่กระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ แต่ถ้ามีการใช้มาตรการคลังเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 5% 

ส่วนประเทศญี่ปุ่นคาดเศรษฐกิจน่าจะขยายตัว ประมาณ 1%-2%  

ด้านเศรษฐกิจอาเซียนเอง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% 

โดยสรุปปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง บนความไม่แน่นอน แต่ก็จะมีความแตกต่างกับปีนี้ (2566) เนื่องจากตัวแปรเรื่องเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ไม่ยากเย็นนัก

ทั้งนี้เมื่อหันมามองเศรษฐกิจไทยในปี 2567 รศ.ดร.สมชาย มองว่า ปัจจัยที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ภาวะของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ 

“ถ้าตั้งสมมติฐานว่าถ้าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อ คู่ค้าประเทศต่าง ๆ ของเรายังขยายตัวได้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกบนความไม่แน่นอน ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ (1) การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3%-4% (2) เรื่องการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าทำการบ้านดี ๆ วางแผนงานได้ดีจะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 38-40 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และ (3) การบริโภคของเอกชน การลงทุนของภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัว รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น”

สรุปแล้วตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2567 คาดว่าจะเติบโตเกิน 3% โดยอยู่ที่ประมาณ 3.2%-3.4% โดยภาครัฐต้องระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพการคลัง เพราะหนี้สาธารณะของไทยเริ่มเกิน 60% 

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ อย่าให้งบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ เกิดการสะสมหนาแน่นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงเกินขอบเขต ควรมีมาตรการคู่ขนานกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การใช้ Digital Transformation มาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม และ Soft Power ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป 

นอกจากนี้เงินเฟ้อต่างประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง เงินเฟ้อประเทศไทยต่ำ จึงเชื่อว่าปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างแล้ว 

เมื่อถามถึงข้อแนะนำถึงนักธุรกิจในปี 2567 ที่จะมาถึงนั้น? รศ.ดร.สมชาย แนะนำว่า... 

(1) ต้องบริหารความไม่แน่นอน ต้องถือว่าความไม่แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปต้องเตรียมพร้อมเสมอรวมถึงบริหาร Bottom line ของธุรกิจให้ได้

(2) โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ควรทำในสิ่งที่ชำนาญและเชี่ยวชาญ มองโลกอนาคต แล้วเพิ่มความชำนาญของตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวัน อาจเพิ่มในเรื่องนวัตกรรม หรือเอาเรื่องเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และ (3) วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศึกษาและขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง ชี้!! ยังดีที่รัฐกล้าหยิบปัญหาหนี้ครัวเรือนยกเป็นวาระแห่งชาติ

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ปัญหาหนี้สินกับนโยบายการคลัง' เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ปัญหาหนี้สินไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่และไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด 2020-2022 ระดับหนี้รวมทั้งโลกได้กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 350% ของ GDP และเมื่อธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งไทย ปรับดอกเบี้ยขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา ระหว่างปี 2022-2023 ภาระการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้น จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล

ต้องขอชื่นชมรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ หนี้ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือกว่า 90% ของ GDP เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และกำลังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศอย่างแรง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและทันการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบสถาบันการเงินอีกด้วย 

ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้าไปดูแลหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบครั้งนี้ จึงมีความเหมาะสม แต่จะต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง มิให้เกิดผลกระทบต่อวัฒนธรรมการชำระหนี้ และเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากจนเกินไป ตลอดจนต้องระวังมิให้กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส. เป็นต้น ที่จะใช้เป็นกลไกหลักในการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ เพราะเมื่อธนาคารเหล่านี้อ่อนแอลงก็จะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องเติมเงินเพิ่มทุนให้ในอนาคต

ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้จึงถือเป็นปีที่มีความท้าทายต่อนโยบายการคลังค่อนข้างมาก นอกจากภาระจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเตรียมออกมาตรการ Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เหตุการณ์หลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นล้วนสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย สังคมสูงอายุก่อให้เกิดรายจ่ายบำเหน็จบำนาญและการรักษาพยาบาลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อเยียวยาแก้ไขผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้พลังงานทดแทน การใช้จ่ายด้านการทหารก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความตึงเครียดที่น่าจะมีมากขึ้นในปีหน้า

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะทำการปฏิรูปทางการคลังขนานใหญ่ เพื่อให้ภาคการคลังมีความสมดุลมากขึ้น ไม่เพียงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น ในด้านรายได้ก็มีความจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีอากรทั้งระบบ โครงสร้างภาษีของไทย นับจากการปฏิรูปครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 ก็ไม่ได้มีการปรับปรุงอย่างจริงจังอีกเลย จนขณะนี้รายได้รัฐบาลคิดเป็นเพียง 13% ของ GDP และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐ และอาจถือได้ว่าระบบภาษีไทยล้าหลังและไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และพฤติกรรมทางธุรกิจ

ถือเป็นความกล้าหาญชาญชัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลกล้าที่จะจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ กล้าทีจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหว ก็ควรที่จะต้องกล้าที่จะปฏิรูปการคลังให้กลับสู่สมดุลด้วย

กลุ่ม KTIS เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้สายธุรกิจชีวภาพ ชู!! บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย 100% เชื่อ!! เติบโตตามเทรนด์โลก

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.66 ได้พูดคุยกับ นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร ถึงแนวโน้มธุรกิจในสายชีวภาพ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย 100% ว่ามีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะอยู่ในกระแสหลักของโลก โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หากจะพูดถึงกลุ่ม KTIS เราดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green) ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยวัตถุดิบตั้งต้นในห่วงโซ่การผลิตเป็นไบโอ (B) คืออ้อย และนำมาต่อยอดในสายธุรกิจชีวภาพ โดยใช้ผลพลอยได้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกากอ้อย (ชานอ้อย) กากน้ำตาล (โมลาส) หรือแม้กระทั่งใบอ้อย จนแทบจะไม่มีความสูญเสียระหว่างทาง หรือที่เรียกว่า Zero Waste 

ยกตัวอย่าง เช่น การหีบอ้อยได้น้ำอ้อยไปทำน้ำตาลทราย ส่วนชานอ้อยก็นำไปทำเยื่อกระดาษชานอ้อย รวมถึงต่อยอดไปเป็นภาชนะและบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยและหลอดชานอ้อย 100% ส่วนชานอ้อยอีกส่วนหนึ่งยังนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนโมลาสหรือกากน้ำตาล ก็นำไปผลิตเอทานอล ซึ่งการลงทุนในสายธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องครบวงจรนี้ ก็คือตัว C หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามโมเดล BCG นั่นเอง

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในด้านของเศรษฐกิจสีเขียว หรือ G นั้น ทางกลุ่ม KTIS ก็ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม KTIS เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ก่อก๊าซเรือนกระจก เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เยื่อกระดาษจากชานอ้อย หรือไบโอเอทานอล ทำให้บริษัทในกลุ่ม KTIS ได้รับการรับรองด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น iso14001 และยังรวมไปถึงการได้รับการรับรองทั้งกระบวนการใน supply chain ตั้งแต่ในไร่อ้อย เช่น มาตรฐาน Bonsucro และ VIVE program ซึ่งยืนยันในเรื่องการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน

เมื่อถามถึงโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย? นายสมชาย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน, ชาม, กล่อง, ถาดหลุมนั้น มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมนี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก โดยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสีเยื่อกระดาษ ทำให้ได้เยื่อกระดาษชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหารไม่ว่าจะร้อนจัด หรือเย็นจัด ก็สามารถใช้ได้ อีกทั้งก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ยังได้ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV อีกด้วย 

นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยของกลุ่ม KTIS นั้น ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น สามารถใส่น้ำโดยไม่รั่วซึม สามารถนำเข้าเตาอบและเตาไมโครเวฟได้ ไม่มีสารปนเปื้อนก่อมะเร็ง ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ภายใน 45 วัน โดยได้รับใบรับรองมาตรฐานระดับโลกด้านการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์ (Products made of compostable materials for industrial composting Clamshell and Plate) และอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยบริษัทผู้ตรวจสอบชั้นนำของประเทศไทย ในการรับรองระบบมาตรฐานโรงงานด้านความปลอดภัยของอาหาร ด้านการผลิต Food Packaging เช่น FSSC 22000, ISO 22000, GHPs/HACCP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในสายชีวภาพ นายสมชาย เชื่อว่า จะทำให้บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจน้ำตาลทราย และจะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความผันผวนน้อยลง เนื่องจากรายได้และกำไรของสายธุรกิจน้ำตาลนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ในแต่ละปีแล้ว ยังอิงกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก

'อ.พงษ์ภาณุ' เชื่อ!! Fed เตรียมลดดอกเบี้ย ส่งผลดี 'ยุโรป-ไทย' แนะ!! แบงก์ชาติไทย ลดดอกเบี้ยได้ทันที 0.50 โดยไม่ต้องรอ

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fed เตรียมลดดอกเบี้ย เปิดทาง ธปท. ลดดอกเบี้ยไทย' เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การประชุม Fed เมื่อวัน 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างชัดเจน และเตรียมพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 ถึงประมาณ 0.75% ส่งผลให้ดัชนีตลาดนิวยอร์กทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ วงจรดอกขาขึ้นรอบที่ผ่านมาที่ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงิน

ความจริงแล้ว อาจจะเร็วไปสักนิดที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความร้อนแรงอยู่มาก แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงค่อนข้างรวดเร็ว การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจไปกระตุกเงินเฟ้อให้ผงกหัวขึ้นมาได้ แต่การส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีและลดแรงกดดันต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า เช่น ยุโรป และรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ย หลังจาก ธปท. โดย กนง.ตัดสินใจผิดพลาดในการประชุมที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ Fed ลดดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยทำตาม ธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งจีน ได้เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ธปท. จึงควรเลิกดื้อรั้นไม่มีเหตุผลและประกาศลดดอกเบี้ยทันทีอย่างน้อย 0.50% ก่อนที่จะสายเกินไปเหมือนกับการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อปีก่อน หากผิดพลาดอีกคราวนี้คนไทยคงไม่ยกโทษให้แน่นอน

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus) จะช่วยหยุดเศรษฐกิจขาลงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคครัวเรือนจะมีภาระหนี้ลดลงและกลับมาจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจหลังจากหยุดการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาสักระยะก็จะกลับมาลงทุนและผลิตใหม่ ส่วนภาครัฐจะสามารถจัดงบประมาณที่ประหยัดได้จากภาระหนี้ที่ลดลงมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มขึ้น

กองทุนรวม ESG ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้และรัฐบาลได้ผลักดันให้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับประชาชนเพื่อออมเงินระยะยาว โดยผ่านกลไกกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน ESG แม้ว่าจะหักลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท แต่ก็ออกมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อำนาจละมุนหรือ Soft Power กำลังเป็นวาระแห่งชาติ การท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ อำนาจละมุน แม้ว่าการท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปี 2567 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงด้าน Supply อย่างขนานใหญ่ ในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวก ความสะอาด รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น Man-made Attractions ซึ่งขาดการพัฒนามานาน ไม่ว่าจะเป็น Theme Park, Casino หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาจใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP เพื่ออาศัยความสามารถด้านการบริหารจัดการของธุรกิจเอกชน 

ส่วนด้านการกีฬานั้น ต้องปรับทัศนคติต่อการกีฬาให้มีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันกีฬายังอาศัยเงินงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก หากสามารถเปิดให้ทุนเอกชนเข้ามาพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล มวยไทย และกอล์ฟ เชื่อว่าการกีฬาจะกลายเป็น Soft Power ที่สำคัญและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

‘รศ.ดร.สมพงษ์’ มอง ‘แลนด์บริดจ์’ อาจเป็นได้แค่ทางผ่าน หากมองข้ามการยกระดับเป็น ‘ศูนย์กลางการค้า’ ใต้แผนนี้

จากรายการ THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์พิเศษหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'แลนด์บริดจ์ หรือจะเป็นได้แค่ทางผ่าน?' เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.66 โดยจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ซึ่ง รศ.ดร.สมพงษ์ เป็นหนึ่งในทีมงานการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วยนั้น ได้เปิดเผยว่า...

การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่มีการศึกษามาแล้วอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โดยโครงการนี้จะมีการสร้างท่าเรือในฝั่งชุมพร และระนอง ประกอบไปด้วยการสร้างรถไฟและทางมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงกัน พร้อมกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ควบคู่ 

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีการคาดการณ์เรือที่จะมาใช้บริการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าของไทยเรามากที่สุด คือ การถ่ายลำ (Transshipment) 78% กลุ่มสินค้าไทย 18%  กลุ่มสินค้าจีน 4% 

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลตรงนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่ากลุ่มสายเรือที่ต้องถ่ายลำที่คาดหวังสูงถึง 78% นั้น จะมาใช้แลนด์บริดจ์จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนเส้นทางมาจากช่องแคบมะละกา และถ้าเรือขนาดใหญ่ไม่เทียบท่าขนถ่าย ท่าเรือที่ออกแบบไว้ก็จะไม่คุ้มค่าในการลงทุน 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยที่ได้ศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบเบื้องต้นและความเหมาะสมในการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งสองฝั่งทะเล อ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งมีด้วยกันหลักๆ 3 โครงการ คือ การขุดคลองไทย, แลนด์บริดจ์ และ การเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายในฝั่งพม่า โดยงานวิจัยได้ศึกษา 3 ทางเลือกพร้อมกัน 

“ทว่าจากการศึกษาทั้ง 3 โครงการผลการศึกษา สะท้อนถึงความไม่คุ้มค่า ทั้งในด้านในมิติเศรษฐกิจ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ยังมีมิติของความมั่นคง ซึ่งน่ากังวลอยู่ ขณะเดียวกันถ้ามองในแง่การสนับสนุน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) แน่นอนว่าเราก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพท่าเรือที่มีอยู่ได้ แต่ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องใด และมีความจำเป็นในการใช้ท่าเรือหรือไม่ หรือจะส่งเสริมในเชิงท่องเที่ยวสุขภาพ เน้นบริการด้านสุขภาพ ก็สามารถพัฒนาได้ในอนาคต”

เมื่อถามว่า แล้วโดยสรุปโครงการแลนด์บริดจ์จะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่? รศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า “ด้วยงบประมาณที่มากถึง 1 ล้านล้านบาท ถ้าเกิดไม่มีลูกค้าสายเดินเรือมาถ่ายลำตามคาดการณ์จริงๆ จะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องพิจารณา ซึ่งไทยเองก็ยังไม่เคยทำโครงการที่มีการลงทุนมากขนาดนี้ อีกอย่างถ้ามาดูประโยชน์จริงๆ แล้วเหมือนไทยได้เก็บเพียงค่าผ่านทางเท่านั้น อาจไม่คุ้มค่า โดยแบ่งเป็น การขนถ่ายสินค้าไทย 20% อีก 80% คือสินค้าผ่านทาง หมายความว่าเราจะได้เพียงค่าผ่านทาง กลับกันสิงคโปร์เองไม่ได้เก็บเพียงค่าผ่านทาง แต่เขามองตนเองเป็นศูนย์กลางการค้า ขณะที่ไทยไม่ได้มองเป็นศูนย์กลางการค้า เราจะเน้นแต่การผลิตเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไทยควรสร้างความสามารถทางการค้าเพิ่มขึ้นควบคู่ … แลนด์บริดจ์ จึงจะไม่เป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น”

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! สัญญาณดี แก้ฝุ่น PM 2.5 แบบยั่งยืน เมื่อรัฐบาลจัดมาตรการเชิงรุก และเอกชนช่วยผลักดันอีกแรง

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การกลับมาของฝุ่น PM 2.5 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องยกให้เป็นวาระแห่งชาติ' เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก รัฐบาลควรต้องเตรียมการป้องกันแก้ไขและยกเป็นวาระแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อนมีหลายประเด็นที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประชุม COP 28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 

ความพยายามที่จะให้มีการยุติการใช้เชื้อเพลิง Fossil Fuels อย่างสิ้นเชิง แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

ส่วนผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมน่าจะเป็นการจัดตั้งกลไกการเงินที่เรียกว่า กองทุน Loss and Damage ที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนเยียวยาและสนับสนุนการปรับตัวของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 

ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบางและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่นี้ด้วย กองทุนนี้น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้จัดการกองทุน

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในไทย ก็เป็นผลพวงหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ความพยายามของรัฐบาลก่อนที่ใช้มาตรการภาคบังคับทางกฏหมายได้พิสูจน์แล้วว่าไม่บังเกิดผลและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินให้รัฐบาลเป็นฝ่ายแพ้และต้องเร่งแก้ไขสภาพอากาศให้กับคนเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของคนเชียงใหม่และเป็นการยืนยันว่ามาตรการของรัฐไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้

ทางออกของเรื่องฝุ่น PM 2.5 นี้ จึงน่าจะอยู่ที่การใช้กลไกตลาดและกลไกทางธุรกิจของภาคเอกชน และก็เป็นที่น่ายินดี ที่ขณะนี้ธุรกิจเอกชนได้ริเริ่มโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ โดยเข้ามารับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากชาวไร่ชาวนา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Pellets) และส่งขายให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถนำปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จากการหยุดเผามาขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งต่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย

มาตรการริเริ่มของรัฐบาลที่น่าชมเชยคือ การจัดตั้งกองทุน ESG เพื่อระดมทุนจากประชาชนและนักลงทุนและจัดสรรเงินลงทุนไปสู่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top