Monday, 8 July 2024
EXCLUSIVE

WARRIX ปลื้มโต 30% เล็ง 4 ปีทะลุ 2,700 ล้าน ปูธุรกิจเสริม ‘คลินิกกายภาพ’ ช่วยเสริมแกร่งถึงเป้า

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 ได้พูดคุยกับ นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงทิศทางภาพรวมชุดกีฬาในประเทศไทย พร้อมแนวทางการเติบโตของ วอริกซ์ ไว้ว่า…

จากการประมาณมูลค่าตลาดชุดกีฬาในปัจจุบัน มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,000 -30,000 ล้านบาท (รวมทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติ) โดยวอริกซ์ มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 10% ในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา ไม่รวมรองเท้ากีฬา ซึ่งปัจจุบันมีแข่งขันกันสูงมากในทุกมิติ แต่สินค้าของวอริกซ์ เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดขายประมาณ 1,070 ล้านบาท เติบโต 20-30%  

นายวิศัลย์ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้มีกลยุทธ์ในการขยายทุกมิติทั้งเสื้อกีฬาผู้หญิง เสื้อไลฟ์สไตล์ โดยมีการขยายสาขาไปเปิดร้านที่สยามสแควร์เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น โดยภายใน 4 ปี ทางบริษัทฯ มีเป้าหมายเติบโต 2,700 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันทางวอริกซ์ ได้เปิดให้บริการคลินิกกายภาพ ในรูปแบบสหคลินิก โดยมีการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ โดยมองกลุ่มลูกค้า ได้แก่ นักกีฬามืออาชีพ ผู้สูงอายุ พนักงานบริษัททั่วไปที่มีปัญหาออฟฟิศซินโดรม มีอาการนอนไม่หลับ ฯลฯ โดยตัวคลินิกจะเน้นให้ความรู้ด้านกายภาพ ออกกำลังกาย และมีทั้งด้านโภชนาการ วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงมีเสื้อนอนเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการขยายจากธุรกิจสปอร์ตแวร์ ต่อยอดไปเป็น ‘เฮลท์ แอคทีฟ ไลฟ์สไตล์’ ได้อย่างน่าจับตา

สำหรับผู้ที่สนใจมาใช้บริการคลินิกกายภาพดังกล่าว สามารถดูรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก warrixhealth

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ห่วง!! ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง ความขัดแย้งกระทบนโยบายการคลังรัฐ สะเทือนเศรษฐกิจ

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในหัวข้อ ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) เมื่อวันที่ 7 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...
ธนาคารกลางกับวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle)

วัฏจักรธุรกิจเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกประเทศ กล่าวคือเศรษฐกิจมีขาขึ้นและขาลง (Boom and Bust) ช่วงขาขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวสูงและเงินเฟ้อก็สูงด้วย แต่ช่วงขาลงเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อก็ต่ำหรือบางทีก็เกิดเงินฝืด 

วัฏจักรธุรกิจสัมพันธ์กับนโยบายการเงินและดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด ธนาคารกลางมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินและมีกรอบอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นและลง (Inflation Targeting) แต่วัฏจักรธุรกิจการเมืองอาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย 

เมื่อรัฐบาลใกล้ครบวาระและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป มักจะขอหรือสั่งการธนาคารกลางให้ลดหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่มีความจำเป็นต้องสกัดภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตนเองและเพื่อให้รัฐบาลที่กำลังจะครบวาระชนะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ค่อยกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในภายหลัง แม้ว่าจะสายเกินไปและอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนเกิดความผันผวนอย่างยิ่งจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างก็ตาม

ประเทศไทยในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมามีลักษณะเหมือนวัฏจักรธุรกิจการเมืองดังกล่าว ปี 2565 เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก จนธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ นำโดย Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแรงและเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นจาก 0 มาเป็น 5% ในช่วงปลายปี แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรักษาดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่เพียง 1% จนทำให้ไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ที่อัตรา 6.1% ซึ่งสูงกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบกว่า 2 เท่าตัว 

ต่อเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาเหลือเพียง 0.3% และประเทศอื่นเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ ธปท. กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จนก่อให้เกิดความสับสนและขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล และเกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนอย่างรุนแรงในขณะนี้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

วัฏจักรธุรกิจการเมืองนี้ ถือเป็นวงจรอุบาทว์ และจำเป็นต้องขจัดให้หมดสิ้นเพื่อให้นโยบายการเงินเป็นอิสระจากการเมืองอย่างแท้จริง

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! 'ค่าเงินบาทอ่อน' สวน 'ดอกเบี้ยพุ่ง' ส่อสัญญาณขัดแย้ง 'นโยบายการคลัง-การเงิน' ไทย

ทีมข่าว  THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกับความผันผวนหลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (Federal Reserve Bank) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% และจะส่งผลต่อตลาดการเงินไทยหรือไม่อย่างไร เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนหลังจาก Federal Reserve คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% แต่ออกการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความร้อนแรงและอาจมีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี

ตลาดการเงินไทยก็ไม่พ้นจากความผันผวนนี้ แต่น่าจะรุนแรงกว่าความผันผวนในตลาดโลกด้วยซ้ำ เพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเป็นประวัติการถึงระดับ 36.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี กระโดดแรงขึ้นมาอยู่ที่กว่า 3% ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติที่ดอกเบี้ยขึ้น แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินไทยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความขัดแย้งและ/หรือความแตกต่างของทิศทางนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

แน่นอนทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะธนาคารกลาง ต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ความอิสระก็ย่อมต้องมีขอบเขต 

ที่ผ่านมาต้องถือว่าแบงก์ชาติผิดพลาดในเรื่องจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าช้า ทำให้ปี 2565 เงินเฟ้อไทยทะยานสูงสุดในอาเซียนที่ 6.1% แม้ว่าจะโชคดีที่เงินเฟ้อทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมาเพราะราคาพลังงานลดลง แต่ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายการเงินที่เก่งกาจแต่อย่างไร และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่กระโดดขึ้นฉับพลันก็แสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติไม่ยอมรับและไม่ตอบสนองต่อแนวทางของรัฐบาลใหม่ในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) แต่อย่างใด

เรื่องยังไม่จบอยู่เท่านี้ เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา กนง. มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.50% โดยไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจสนับสนุน และน่าจะถือว่าสวนทางกับนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด 

ความขัดแย้งทางนโยบายนี้ได้ทำลายความมั่นใจและสร้างความปั่นป่วนอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอาจทำให้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดการสะดุดได้

เราเชื่อในความเป็นอิสระของธนาคารกลาง แต่ความอิสระนี้จะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย

'ดร.พงศ์ธร ธาราไชย' อัปเดต PSS ขยับตัวเสริมรายได้ยั่งยืน เล็ง!! ธุรกิจรักษ์โลก พร้อมปั้นวิลล่าสุดหรูเสิร์ฟตลาดภูเก็ต

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 30 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS ถึงภาพรวมธุรกิจ ทิศทาง การเติบโตในปี 2566 พร้อมทั้งธุรกิจใหม่ ที่จะถูกขับเคลื่อนเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับบริษัทได้อย่างยั่งยืน ไว้อย่างน่าสนใจ...

"PPS เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งคอยให้บริการทางด้านบริหารและควบคุมโครงการก่อสร้างงานแขนงต่างๆ อาทิ งานก่อสร้างอาคาร งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ งานโยธา งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบต่างๆ งานสำรวจปริมาณงานและราคา รวมถึงโครงการก่อสร้างที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งที่เป็นโครงการก่อสร้างของภาครัฐและภาคเอกชน" ดร.พงศ์ธร เล่าถึงที่มาธุรกิจของ PSS 

เมื่อถามถึงผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา? ดร.พงศ์ธร เผยว่า "ครี่งปีแรกของปี 2566 ทางบริษัทมีรายได้รวม 207.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 203.31 ล้านบาท จำนวน 4.05 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.99% และมีขาดทุนสุทธิ 5.27 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.51 ล้านบาท  

"อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรขั้นต้น 50.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 47.16 ล้านบาท จำนวน 3.14 ล้านบาท จากการควบคุมต้นทุนที่ดี"

ดร.พงศ์ธร เสริมอีกด้วยว่า "ในส่วนของผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ทางบริษัทมีรายได้รวม 105.15 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 106.04 ล้านบาท จำนวน 0.89 ล้านบาท หรือลดลง 0.84% และมีขาดทุนสุทธิ 6.63 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 8.30 ล้านบาท จำนวน 14.93 ล้านบาท"

ทั้งนี้ หากมองภาพรวมรายได้ของบริษัท ถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรับรู้รายได้โครงการควบคุมงานระยะสั้นจากภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสามารถส่งมอบงานได้เร็ว ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเนื่องจาก การตั้งคืนรายได้ของ บริษัท โปรเจคท์ ทรี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่มีการปรับการรับรู้รายได้เงินในงวดสุดท้ายของการส่งมอบงานรับเหมาก่อสร้างบ้าน งวดสุดท้ายของบ้านวิลล่าที่ภูเก็ต

"สำหรับทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 2566 คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทมีแผนชำระคืนเงินกู้ต่อเนื่อง เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย"

เมื่อถามถึงภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้าง? ดร.พงศ์ธร มองว่า "มีแนวโน้มชะลอตัวจากงบการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้า ส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอลงทุนตาม" 

เมื่อถามถึงการปรับตัวของ PPS ต่อจังหวะการชะลอตัวดังกล่าวของภาครัฐ? ดร.พงศ์ธร เผยว่า "ตอนนี้ต้องมองหาทางออกใหม่ๆ โดยทางบริษัทได้วางแผนเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ประจำ ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายแอปพลิเคชัน KANNA ที่ใช้ในการบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างให้กับโครงการของลูกค้าอื่นๆ รวมถึงนำมาให้บริการลูกค้าของ PPS 

"นอกจากนี้ บริษัทยังได้วางแผนทำธุรกิจรักษ์โลกเพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน จากฐานธุรกิจการก่อสร้างของเราอีกทางหนึ่ง โดยจะเพิ่มทุนในบริษัทย่อย เพื่อดำเนินธุรกิจการตรวจวัด และการรับรองคาร์บอนเครดิต รวมไปถึงการวางแผนการลดคาร์บอนและจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ EV charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเพื่อทำให้เกิดธุรกิจความยั่งยืนที่ครบวงจรอีกด้วย"

ดร.พงศ์ธร ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า "ในส่วนของอีกผลิตผลไฮไลต์ อย่าง โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอัลตร้าลักซ์ชัวรี่วิลล่าในที่ดินแหลมยามู จ.ภูเก็ต (Headland Cape Yamu) ก็ไปได้สวย โดยปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 หลัง และมีแผนที่จะร่วมออกแบบตกแต่งวิลล่า กับ หนึ่งในแบรนด์ระดับโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างภาพลักษณ์ของวิลล่า ตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับบน พร้อมทั้งปรับราคาขายเริ่มต้นที่ 350 ล้านบาท โดยตั้งเป้าปิดการขายปีนี้อย่างน้อย 1 หลัง"

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฝากบัญญัติ 10 ประการ รัฐบาลใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย โตก้าวกระโดดครึ่งปีหลัง

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า... 

ประเทศไทยปีนี้น่าจะไปได้สวย เมื่อต้นปีเราเชื่อมั่นว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวและเอื้ออำนวยต่อการเติบโตต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปเมื่อเศรษฐกิจจีนใน Q2 เริ่มมีอัตราเติบโตลดน้อยลง ทำให้หลายคนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวผิดหวังไปตามๆ กัน  แต่ผมยังเชื่อว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่ จากเงินเฟ้อที่แม้จะมีอัตราสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน รวมถึงแรงกดดันที่ส่งผลให้ธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นมีลดน้อยลง 

ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ก็จะมีทั้งดีและไม่ดี อย่างในช่วง Q1 ไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่พอมาใน Q2 นักท่องเที่ยวเริ่มซาลง แต่เมื่อสรุปโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก 12 ล้านคน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็กลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบทุกเดือน จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เราเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี น่าจะโตได้ 3%  โดยครึ่งแรกปีคาดเติบโตประมาณ 2.2 % เมื่อเทียบเคียงกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งหมายความว่าช่วงครึ่งหลัง เศรษฐกิจไทยควรเติบโตมากกว่า 4% ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ายังเป็นไปได้ 

สำหรับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ อ.พงษ์ภาณุ ได้ฝากบัญญัติ 10 ประการ ที่อยากให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนไว้ดังนี้…

1.การใช้นโยบายการคลังที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (Fiscal Stimulus) 
2.ธนาคารแห่งประเทศควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ย 
3.เตรียมแผนรับมือเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ 
4.ให้ความสำคัญกับความถดถอยของภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคส่วนอื่นๆ 
5.ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน 
6.การปฏิรูปการคลังและภาษี 
7.ให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน 
8.ยกระดับการลงทุนของประเทศ 
9.การใช้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 
และ 10.ผลักดันการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

‘แม่มณี’ วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย ‘ครู-เด็กไทย’ ได้เวลาต้องปรับเปลี่ยน

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณมณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ หรือ ‘แม่มณี’ อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีกรีนักกฎหมายจาก King’s College London, นักธุรกิจมากความสามารถ, นักขับเคลื่อนงานด้านประชาสังคม พ่วงบทบาทในแวดวงการเมืองร่วม 10 ปี และอดีตผู้สมัครผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ได้พูดคุยในมุมมองปัญหาการศึกษาไทย กับ การนำสื่อดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า... 

“ปัญหาการศึกษาไทยควรลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาไทย” คุณมณีรัตน์ เริ่มบทสนทนา พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม หรือมัธยม ที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกล ค่อนข้างเข้าถึงคุณครู หรือแม้แต่เนื้อหาต่างๆ ได้ยากกว่าเด็กที่อยู่กรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ขณะเดียวกันความน่าสนใจในการสอนก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้การซึมซับและเรียนรู้ลดลง ซึ่งถ้าเด็กเหล่านี้ได้เรียนกับครูที่มีสไตล์การสอนที่ดึงดูดอย่างน่าสนใจ เนื้อหาเข้มข้นหลากหลาย จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม 

คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยให้ครูหรือติวเตอร์ชื่อดัง สอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนกับครูเก่งๆ แทนที่จะหวังแต่ผลิตครูเก่งๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็สามารถทำควบคู่กันได้ แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า นี่คือทางแก้ในส่วนของเด็ก

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูทั้งจำนวนและคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง โดย คุณมณีรัตน์ มองว่า การสอนของครูในปัจจุบันอาจต้องปรับแนวคิดการสอนให้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลทั้งคุณภาพของนักเรียนและคุณภาพของครูไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อถามถึงอีกปัญหาสำคัญของเด็กไทยที่ยังอ่อนภาษาอังกฤษ? คุณมณีรัตน์ ชี้ว่า “เนื่องจากปัจจุบันเราอาจยึดติดกับการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ (เรียนไปไม่ได้ใช้จริง) ซึ่งหากเรามองตัวอย่างหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างชาติ เขาจะมีหลักสูตรการสอนไม่เหมือนเรา เราอาจะต้องปรับรูปแบบการสอนและหลักสูตรให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น หรือสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยใช้ Big Data ที่รวบรวมทุกหลักสูตร แบ่งเป็นวิชา เนื้อหา แล้วให้นักเรียนมีโอกาสได้นำมาศึกษาด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย”

คุณมณีรัตน์ เสริมอีกด้วยว่า “รูปแบบของหลักสูตรต่อจากนี้ ก็อย่ายึดหลักแบบที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ควรมีหลักสูตรอื่นๆ เช่น การฝึกพูดภาษาอังกฤษ, การบริหารธุรกิจ, การเล่นดนตรี, การทำอาหาร ฯลฯ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

เมื่อถามถึงการศึกษากับความสอดคล้องต่อตลาดแรงงาน? คุณมณีรัตน์ มองว่า “ควรถึงเวลาส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เรียนจบมาได้ทำงานที่ตรงสายกับที่เรียนมา และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกอาชีพระหว่างเรียน ทำให้เกิดทักษะวิชาชีพ ได้พัฒนาในหลายๆ ด้านและมีรายได้จริง”

เมื่อถามถึงในอนาคต AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายคนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์แค่ไหน? คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเราควรมองว่าทำอย่างไรให้แรงงานไทยทำงานร่วมกับ AI ได้ในอนาคต ควรฝึกเด็กทำงานร่วม AI กันตั้งแต่ตอนเรียน เมื่อทำงานจริงก็สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไม่มีรอยต่อ”

คุณมณีรัตน์ ยังให้มุมคิดต่อผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบต่ออนาคตของชาติไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายด้วยว่า ควรส่งเสริมให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไป โดยเฉพาะครอบครัวและสถานศึกษาต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กโตมามีความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องเป็นพลังบวก 

หากเดินหน้ากระบวนทัศน์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน จนกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศชาติได้ต่อไป

'ไทย' หวัง!! รัฐบาลใหม่ ฟื้น FTA 'ไทย-อียู' อีกฟันเฟืองกอบกู้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น รัฐบาลใหม่ กับการฟื้นสัมพันธ์ FTA ไทย-อียู เมื่อวันที่ 17 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหภาพยุโรป (European Community) เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งในด้านความกว้างและความลึก กล่าวคือ มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ GDP รวมกันเป็นประมาณ 15 % และคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในเชิงลึก ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยอมสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน โดยใช้เงินสกุลเดียว คือ ยูโร และมี European Central Bank เป็นธนาคารกลาง

แม้ว่าจะเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในทางปฏิบัติได้ก่อเกิดวิกฤตและผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย...วิกฤตหนี้ยูโร เช่นปี 2015 และ Brexit ในปี 2016 ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ติดตามเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของยุโรปอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เมื่อจีนเปิดเสรีและประสบความสําเร็จในการพัฒนาประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ประสบความสําเร็จในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจของยุโรปกลับถูกทิ้งห่างในอุตสาหกรรมใหม่ แม้จะยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเก่าบางสาขา

เดิมทีไทยกับยุโรปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมายาวนาน ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐฯ) ยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ในไทย (รองจากญี่ปุ่นและจีน) แต่ไทยยังไม่สามารถทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ โดยการเจรจา EU-Thailand FTA ซึ่งเริ่มต้นกว่า 10 ปีมาแล้ว ถูก EU สั่งระงับไปเนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ขณะที่ เวียดนามได้บรรลุความตกลง FTA กับ EU สำเร็จแล้ว เมื่อ 2020  ทำให้อุตสาหกรรมเวียดนามสามารถส่งออกไปยัง EU แบบปลอดภาษี และได้เปรียบในเชิงการแข่งขันเหนืออุตสาหกรรมไทย

ถึงกระนั้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยและ EU กำลังเริ่มกลับมานั่งโต๊ะเจรจา FTA ใหม่ น่าจะถือเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของรัฐบาลใหม่ที่จะผลักดันให้ FTA กับ EU เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

อัปเดตความยิ่งใหญ่โครงสร้างพื้นฐานยกระดับเศรษฐกิจไทย 'ถนน-รถไฟ-รถไฟฟ้า-เมกะโปรเจกต์แสนล้าน' ใกล้เป็นจริง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 ก.ย.66 ได้พูดคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย กับ 'คุณจิรวัฒน์ จังหวัด' เจ้าของเพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ EP นี้ได้มาอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมอัปเดตการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าเส้นทางไหนเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางไหนกำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ เปิดแผนการลงทุน โปรเจกต์แสนล้าน! โครงการ Land Bridge เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค โดยคุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า...

ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ ส่วน ตั้งแต่สิ่งที่สร้างไปแล้ว สิ่งที่กำลังก่อสร้าง และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

>> ราง
สิ่งที่เปิดไปแล้วใหญ่ๆ เลยก็คือ สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ตอนนี้พอมารวมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ส่งผลให้พิกัดนี้กลายเป็น Hub สำคัญแห่งการคมนาคมของอาเซียนไปแล้ว (รถไฟจากลาวจีน สามารถวิ่งตรงมาที่ประเทศไทยได้เลย)

"โดยรถไฟสายสีแดง ถือเป็นรถไฟฟ้าเส้นสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหารถติดช่วงตั้งแต่ บางซื่อถึงรังสิต ได้ดีอย่างมาก"

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เปิดบริการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โมโนเรล (Monorail) สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรล สายแรก ที่เป็นขนส่งมวลชนในเมืองไทย เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งจะแก้ไขปัญหารถติดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี 

"สายนี้สำคัญมาก เพราะมาเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่ลาดพร้าว ขณะที่ในอนาคตจะมาเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ซึ่งลำสาลีจะวิ่งอยู่บนถนนรามคำแหง แล้วสุดท้ายจะไปจบที่สถานีสำโรง อีกทั้งสายนี้จะยังมีจุดจอดรถจอดแล้วจร ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นขนทางจราจรและป้อนคนเข้าออกชานเมืองได้อย่างดี"

ไม่เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมตัวเปิดอีกไม่นาน ก็จะมี สายสีชมพู ซึ่งเป็นแบบโมโนเรล เหมือนสายสีเหลือง เริ่มตั้งแต่ศูนย์ราชการ นนทบุรี ไปมีนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสายเช่นกัน 

"ความสำคัญของรถไฟฟ้าเส้นนี้คือการเชื่อมต่อไปเมืองทองธานี เป็นสายแรกในเมืองไทยที่ทำรถไฟฟ้าสายแยก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งสายสีชมพูจะเริ่มเปิดประมาณต้นปี 2567"

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ คือสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูที่มีนบุรี และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปถึง ศิริราช และสถานีบางขุนนนท์ได้เลย โดยสายสีส้มจะวิ่งในแนวขวางตัดกรุงเทพมหานคร 

ข้ามมาที่ สายสีม่วง ก็จะมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือสีม่วงด้านบน ช่วงเตาปูน ไปบางไผ่ ส่วนด้านล่าง เตาปูน ลงมาถึงพระประแดง ก็จะมาตัดสีส้มแถวราชดำเนิน ซึ่งสายสีม่วงส่วนล่างกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2572

คุณจิรวัฒน์ เผยอีกว่า รถไฟฟ้าที่เล่ามายังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนนี้ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) และกรมการขนส่งทางราง ได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการวางแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP ที่ได้วางกันมานาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมศึกษาเส้นทาง ภายใต้ประเด็นการใช้ตั๋วร่วม ให้เกิดขึ้นจริงบรรจุอยู่ด้วย

ในส่วนของ รถไฟทางคู่ คุณจิรวัฒน์ เล่าว่า "ตอนนี้เรามีประมาณ 5 โครงการทั่วประเทศ โดยเส้นทางหลักๆ ที่คืบหน้าไปมาก คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายอีสาน อีกเส้นหนึ่ง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ อีกสายหนึ่งที่สำคัญมาก คือ รถไฟสายใต้ นครปฐม-ชุมพร ตรงนี้คือคอขวดของรถไฟสายใต้ ถ้าสร้างช่วงนี้เสร็จไม่ต้องรอสับรางแล้วสามารถวิ่งตามกันได้เลย"

ส่วนรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของเมืองไทยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช โดยโครงการนี้ไทยเป็นคนก่อสร้างเองในส่วนของงานโยธา และซื้อระบบมาวางบนทางวิ่งที่ก่อสร้างเอง 

"ในอนาคตเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตรถไฟ ทางการก่อสร้างเส้นทาง การซ่อมบำรุง การประกอบของรถไฟความเร็วสูง โดยนำข้อมูลตัวเดียวกันมาผลิตรถไฟทางคู่ หรือ ราง 1 เมตรได้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2570" 

ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านมาเมืองนั้น จะมีสถานีระหว่างเมือง 3-4 สถานี ที่อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571-2572 

>> ถนน
ด้าน มอเตอร์เวย์ 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปเยอะมากแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี น่าจะสร้างเสร็จ (ประมาณ ปี 2568) อีกเส้น คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นส่วนๆ  ประมาณกลางปี 2567 น่าจะแล้วเสร็จ

>> เมกะโปรเจกต์
สำหรับโครงการในอนาคต กับ โครงการสะพานข้ามเกาะสมุย ขนอม-สมุย ระยะทางการสร้างสะพานประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากการขึ้นเรือเฟอร์รี่มายังเกาะสมุยนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ SEC (Southern Economic Corridor : ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ได้ 

อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการ Landbridge ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเศรษฐกิจข้าม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งโครงการนี้จะมีช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งทะเลได้โดยง่าย โดย Landbridge จะมีโครงการย่อยๆ เชื่อมโยงกันอยู่ 3 โครงการหลักๆ ได้แก่...

1.ท่าเรือ ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 ฝั่งทะเล บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ซึ่งการสร้างท่าเรือ จะช่วยในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น สับปะรด ได้ด้วย

2.การสร้างมอเตอร์เวย์ แบบคู่ขนาน ถนน และรถไฟสายใหม่ 

และ 3.การสร้างทางรถไฟ เชื่อมโยงกับทางรถไฟระบบเดิม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างมาก

"สำหรับโครงการนี้สำคัญต่อประเทศอย่างมาก ซึ่งผมอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในฐานะประชาชนในพื้นที่กันครับ" คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ยานยนต์ไทยใต้เงายุค EV ทางสองแพร่ง ที่ไม่ควรส่งเสริมแค่สิทธิด้านภาษี

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 10 ก.ย.66 ในประเด็นอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และทางแยกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ทิศทางใดเพื่อผลักไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของเอเชียได้อย่างแท้จริง ดังนี้...
.
อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) ซึ่งครองความเป็นเจ้าถนนมาตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี กำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก นับจาก Benz ได้จดสิทธิบัตร Motorwagen ครั้งแรกเมื่อปี 1880 และพาอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และไทย
.
แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเจอกับ Technological Disruption ครั้งใหญ่ที่สุด ใหญ่ถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแบบถอนรากถอนโคน เมื่อ Tesla ของ Elon Musk ได้นำรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EV) ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 จนผ่านมาถึงวันนี้ตลาดรถยนต์ EV ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดผลิต/จำหน่ายเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมดและน่าจะเติบโตต่อไปอีกมาก เพราะความสนใจของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญใน Hardware และความเป็นเลิศทางยนตรกรรม มาเป็น Software และประสบการณ์ทางดิจิทัลผ่านยานพาหนะมากขึ้น
.
แน่นอนว่า ประเทศไทยซึ่งประสบความสําเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 50 ปี และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก มีสัดส่วนใน GDP กว่า 10% พิจารณาได้จากการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน และถึงขั้นได้รับสมญานามว่าเป็น Detroit of Asia เมื่อปี 2017 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออกอีก 1 ล้านคัน ถือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกมากเป็นอันดับ 13 ของโลก
.
แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ได้เดินมาถึงทางแยกสำคัญ หากยังยึดโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการเคลื่อนตัวค่อนข้างช้าไปสู่การผลิตรถยนต์ EV เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนที่ได้กลายเป็นผู้นำในรถยนต์ EV และในการผลิตแบตเตอรี 
.
ทิศทางการส่งออกรถยนต์ (สันดาป) ไปตลาดสำคัญๆ ของไทยก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตลาดที่เคยเป็นฐานหลักของไทยเริ่มหันเหไปมองหารถยนต์ EV มากขึ้น 
.
ครั้นจะพลิกบทบาทมาเป็นผู้เล่นในตลาด EV ก็น่าห่วงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งยังไม่สามารถเทียบได้กับจีนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่อินโดนีเซียที่มีสินแร่สำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรีและมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า
.
ดังนั้น จากนาทีนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนที่เคยมุ่งเน้นแต่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ก่อนที่เราจะไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เหลือให้พัฒนา

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว  THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก 

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้ 

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน 

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง 

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา 

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU 

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปรากฏการณ์แปลก โลกเจอทั้งเงิน ‘เฟ้อ-ฝืด’ ตะวันตกเผชิญเงินเฟ้อต่อเนื่อง ส่วนจีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด'

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดย เงินเฟ้อ และ เงินฝืด ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กลับทิศกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง 

โดยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 10% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่มีมาก่อน ลามมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก็จำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5 % เป็น 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะปรับเป็น 2.5% อีกครั้งเร็วๆ นี้

ในทางตรงกันข้าม จีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจีนเปิดประเทศกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตหนี้และวิกฤตทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ตัวแปรอยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน หลังเกิดภาวะฟองสบู่มาหลายปี และเอาเข้าจริงฟองสบู่ก็แตกก่อนการระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 เสียอีก

นั่นก็เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เช่น การแทรกแซงธุรกิจ, การวางตัวเป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ซ้ำด้วยการล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เข้าไปอีก เหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และนั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจีนติดลบและอาจจะติดลบต่อเนื่องไปอีกนานด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีนี้หันมามองประเทศไทยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เอนเอียงและเชื่อมโยงกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในจีนย่อมก่อแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจแก่ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไทยตามรอยจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่ำกว่า 1% และอาจจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

Kazakh Thai Alliance ชวนผู้ประกอบการไทย เปิดตลาดใหม่ ในงาน Food Business Matching

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 2 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณแอสเซล เบคบาเยวา ประธานชมรมพันธมิตรคาซัคไทย และ คุณพีระพล พิภวากร รองประธานชมรมพันธมิตรคาซัคไทย ซึ่งมาเล่าถึงงานใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาดในเดือนกันยายนนี้ ว่า…

ในเดือนกันยายนนี้ ทาง Kazakh Thai Alliance ในการสนับสนุนของสถานทูตคาซัคสถาน ประจำประเทศไทย จะจัดงาน Food Business Matching ขึ้นที่เมืองอัลมาตี้ ประเทศคาซัคสถาน โดยในงาน ทางสถานทูต, หอการค้า และ สมาคมนักธุรกิจอัลมาตี้ ได้เชิญ Importer, Distributor และ Buyer ของ Modern Trade / Local Modern Trade รายใหญ่ ๆ ในคาซัคสถานมาพร้อมหน้า เพื่อเจรจาธุรกิจ กับ ผู้ผลิตสินค้า และผู้ส่งออกจากประเทศไทย 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Business Networking หลังงาน, การประชุมร่วมกับ Kazakh Invest และ เยี่ยมชม Almaty Industrial Zone ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ 

“งานนี้จะมีการพาทุกท่านไปสำรวจห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกแบรนด์ชั้นนำ รวมถึง ร้านค้าปลีกในท้องถิ่นเพื่อให้เข้าใจในบริบทของตลาดมากยิ่งขึ้น ผู้กลุ่มซื้อทางคาซัคสถาน กำลังมองหาสินค้าในหมวดต่าง ๆ เช่น  สินค้าหมวดน้ำจิ้ม ซอสต่าง ๆ น้ำจิ้มไก่ ซอสต้มยำ ผลไม้ ผลไม้แปรรูป มะพร้าว ข้าวโพด สับปะรด TropicalFruit EnergyDrink Snack อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง อาหารเสริม เครื่องสำอาง น้ำตาล ขนมหวาน ไก่ปลอดสาร อีกด้วย” คุณแอสเซล กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thailandfestival.co 

‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น

'บอสใหญ่ BAM' ชวนนักศึกษาทั่วไทย ระเบิดไอเดียสร้างสรรค์ ร่วมประชันโครงการ 'BAM สร้างแบรนด์' ชิงเงินกว่า 4 แสนบาท

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 26 ส.ค.66 ได้พูดคุยกับแขกพิเศษ นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เกี่ยวกับงานประกวด 'BAM สร้างแบรนด์' งานที่เปิดโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้ร่วมระเบิดไอเดียสร้างแบรนด์ BAM ให้ปัง และยั่งยืน ชิงเงินรางวัล รวมกว่า 400,000 บาท พร้อมรับโล่รางวัลและประกาศนียบัตร โดยร่วมสมัครและส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2566 นี้ ว่า...

BAM เป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทั้ง NPL และ NPA โดยทำหน้าที่แก้ไขหนี้เสียให้กลับเป็นหนี้ดีเพื่อส่งคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติอีกครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา BAM ดำเนินธุรกิจโดยมีแนวคิดในการสร้างเสริมเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เข้มแข็ง โดยแบ่งปันโอกาส คำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา BAM ได้ดำเนินโครงการที่เป็นการส่งเสริมให้เยาวชน นิสิตนักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะและยกระดับคุณภาพการเรียนรู้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น 'โครงการมอบทุนการศึกษา' ให้กับนักเรียนนักศึกษา มากกว่า 15,000 ทุน รวมเป็นเงินกว่า 70 ล้านบาท 

'โครงการโรงเรียนต้นคิด ชีวิตยั่งยืน' เพื่อให้นักเรียนระดับประถมศึกษา ได้จัดทำแปลงเกษตรอาหารกลางวันในพื้นที่โรงเรียน เป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดี และเพิ่มคุณค่าโภชนาการควบคู่ไปกับแผนการเรียนการสอน พัฒนาทักษะด้านการเกษตร

สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นประสบการณ์จริง ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจัด 'โครงการประกวดการออกแบบทรัพย์สินรอการขายของ BAM' โดยนำแบบที่ชนะการประกวดไปปรับปรุงพัฒนาทรัพย์ต้นแบบของ BAM เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินรอการขายให้เป็นที่ต้องการของตลาด และยังเป็นการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้แสดงฝีมือในเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

***สำหรับในส่วนของโครงการ 'BAM สร้างแบรนด์' ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ BAM ตั้งใจที่จะให้นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้มีพื้นที่ในการนำเสนอความคิด จัดทำแผน ซึ่งจะสร้างการรับรู้ ของแบรนด์ BAM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความหลากหลายทางจินตนาการและความคิดที่สดใหม่

"ผมมองว่าการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอความคิดนั้น เพราะเป็นผู้ไม่เคยผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน จึงมีจินตนาการที่กว้างไกล มีการครีเอทแนวความคิดที่ใหม่และสด ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเหล่านี้เติบโตเป็นต้นกล้าได้ในอนาคต ต่างจากการจ้างบริษัทเอเจนซี่ ที่ส่วนใหญ่ต้องเป็นไปตามประสบการณ์ของแต่ละบริษัทนั้นๆ เท่านั้น" นายบัณฑิต กล่าว

ในส่วนของเงินรางวัลรวม ก็มีทั้งสิ้น 440,000 บาท ประกอบด้วย...

- รางวัลชนะเลิศ มูลค่า 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล 
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มูลค่า 100,000 บาท  พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล  
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ  2  มูลค่า  50,000  บาท พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล 
- รางวัลชมเชย มูลค่า 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 2 รางวัล 
และรางวัล Popular Vote มูลค่า 30,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรจำนวน 1 รางวัล

สำหรับโครงการ 'BAM สร้างแบรนด์' จะหมดเขตรับสมัครในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โดยหลังจากนั้นจะมีการคัดเลือกทีมให้เหลือ 20 ทีม และมีการเทรนนิ่ง พร้อมคัดรอบรองชนะเลิศ, ประกาศ 10 ทีมสุดท้าย และประกาศผลในรอบสุดท้ายพร้อมมอบรางวัล ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ต่อไป

"เราหวังว่าโครงการนี้ จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้งานจริงในอนาคตได้ต่อไป" นายบัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามน้องๆ คนไหนที่สนใจ ยังพอมีเวลา สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bam.co.th และทาง LINE Official Account :@bambrandcontest สมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.bambrandcontest.com

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! หลังสหรัฐฯ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเรื่อง Governance สัญญาณไม่ดีต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่า USD เป็นเสาหลัก

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการเงินระหว่างประเทศและบทบาทนำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ระบบการเงินระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่เริ่มที่จะมีกฎเกณฑ์ชัดเจนเมื่ออังกฤษจัดตั้งมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ขึ้นราวปี 1815 ภายใต้ Gold Standard อัตราแลกเปลี่ยนและปริมาณเงินของทุกประเทศอิงอยู่กับปริมาณทองคำของประเทศนั้นแบบคงที่ หากดุลการค้าดุลการชำระเงินเกินดุล/ขาดดุล จะต้องมีการเคลื่อนย้ายทองคำระหว่างประเทศเพื่อปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทองคำจึงทำหน้าที่เป็น Reserve Currency 

ระบบ Bretton Woods ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ทำหน้าที่เป็น Reserve Currency แทนทองคำ แต่ก็ยังอิงทองคำเป็นฐานของค่าเงิน USD อยู่ จนกระทั่งประธานาธิบดี Nixon ประกาศยกเลิก Gold Convertibility ในปี 1971 นับแต่นั้นเป็นต้นมาระบบการเงินโลกได้เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรี (Flexible or Floating Exchange Rates) โดย USD ทำหน้าที่เป็นเงิน Reserve สกุลหลัก และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารกลาง ระบบดังกล่าวจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อโลกมีความเชื่อมั่นในเงิน USD

การลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Downgrade) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย Fitch ซึ่งเป็นหนึ่งใน Big Three ของ Credit Rating Agencies โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดความสึกกร่อนใน Governance ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่าเงิน USD เป็นเสาหลัก และย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลก และอาจเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศ

พูดถึงเรื่อง Governance ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ Rating Downgrade นั้น ก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หรือจัดตั้งได้แต่ไม่มีความมั่นคง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุของการถูก Rating Downgrade ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ในทางกลับกันหากเราได้รัฐบาลใหม่ที่มีความมั่นคง ประเทศไทยก็อาจใช้เป็นโอกาสในการเชิญ Credit Rating Agencies เข้ามาประเมินเครดิตของประเทศใหม่ เพราะอยู่ในวิสัยที่ไทยจะได้รับการพิจารณา Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top