Monday, 8 July 2024
EXCLUSIVE

'ซาบีน่า' เปิดภารกิจเพื่อสังคม เปลี่ยนชุดชั้นในเก่าเป็น 'พลังงานสะอาด' พร้อมเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง

จากรายการ THE TOMORROW ทางสำนักข่าวออนไลน์ THE TOMORROW สัปดาห์นี้ ได้พูดคุยกับ แขกพิเศษ คุณดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นใน ซาบีน่า แบรนด์ไทยที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 60 ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับภูมิภาคด้วยพันธกิจใหม่

ซาบีน่า เริ่มต้นโดยคุณแม่จินตนา ที่เริ่มขายชุดชั้นใน บริเวณตลาดพลู เย็บด้วยมือ ถือหิ้วตะกร้าเดินขาย จนสามารถแตกไลน์จากชุดชั้นในจินตนามาสู่แบรนด์ซาบีน่า ที่ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของประเทศ ไว้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในปีที่จะก้าวสู่วัย 60 อยู่ที่พันธกิจที่เหนือกว่าการผลิตสินค้าและการขายของแบรนด์ ซาบีน่า ภายใต้มุมคิดที่จะทำธุรกิจอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด และสร้างประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุด

คุณดวงดาว กล่าวว่า "ปัจจุบันซาบีน่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) เพราะชุดชั้นใน เสื้อผ้า ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ ยิ่งเมื่อไหร่ที่มียอดขายสูงขึ้น แปลว่าเรากำลังสร้างขยะออกมาในโลกนี้มากขึ้นเท่านั้น นั่นจึงให้เราเริ่มหาวิธีการที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้

"โดยในปีที่แล้ว เราได้มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบขยะให้ถูกนำไปทำลายอย่างถูกวิธี ภายใต้แคมเปญ 'โละแล้วไปไหน' หรือก็คือ ชุดชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นของคุณเอง หรือคนในครอบครัว คุณเก็บใส่ถุงให้ดีแล้วนำมาให้เรา เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถนำมาใส่กล่องรับชุดชั้นในเก่า ที่จุดขาย หรือ Shop ของเรา ซึ่งที่กล่องจะมี QR CODE ให้สแกนเก็บไว้ และทุก ๆ 1 สแกนเราจะบริจาคสินค้าใหม่ให้กับคนที่ต้องการ 1 ชิ้นอีกด้วย"

ต่อมากับ โครงการเต้านมเทียม Sabina Sewing Cup Sewing Heart เย็บเต้ารวมใจ สู้ภัยมะเร็งเต้านม แคมเปญนี้ถูกคิดขึ้นเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดมะเร็ง สำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ประสงค์ติดต่อขอรับเต้านมเทียมเพื่อส่งต่อให้กับผู้ป่วย สามารถติดต่อขอรับเต้านมเทียม ได้ผ่านทาง Line@ : @SabinaThailand หรือทาง www.sabina.co.th 

โดยซาบีน่าจะจัดส่งเต้านมเทียมให้ถึงมือผู้ป่วยฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Sabina Call Center โทร. 02-422-9430 บริษัทหรือหน่วยงานแจ้งความประสงค์ผ่านทาง csr@sabina.co.th ซาบีน่าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเต้านมเทียมเหล่านี้ จะช่วยเติมเต็มพลังใจให้กับผู้ป่วย หลังการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยวิธีตัดเต้า ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

เรียกว่าเป็นอีกพันธกิจเพื่อสังคม ที่เดินหน้าควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจของ ซาบีน่า ที่เราต้องขอปรบมือให้จริง ๆ

วิเคราะห์!! กำแพงใหญ่ขวาง 'จีน' ผงาดแซงหน้าสหรัฐฯ ในเร็ววัน 'ค่าเงิน-ตลาด-นวัตกรรม-แรงฉกฉวยจากประเทศที่เคยตีห่าง'

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหรัฐอเมริกาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าจะมีบางช่วงเวลาที่อาจตกต่ำ 

แต่ภายหลังการวางระเบียบโลก Bretton Woods หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และโดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในราวต้น 1990 นั้น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้นำเดี่ยวของโลกอย่างแท้จริง 

โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดประมาณ 25% ของ GDP โลก ทิ้งอันดับ 2 อย่างจีนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 18% ตามอัตราแลกเปลี่ยนตลาด

แม้ว่าจีนจะไล่มาเป็นที่ 2 แบบห่าง ๆ แต่โอกาสที่จะตามสหรัฐฯ ทันในอนาคตอันใกล้คงจะเป็นไปได้ยาก หากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ปริมาณและคุณภาพของกำลังแรงงาน ขนาดของตลาดสินค้าบริการและทุน ตลอดจนระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ยังคงล้ำหน้าอยู่หลายช่วงตัว 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ ว่าจะลดความสำคัญลงจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรฝ่ายตรงข้าม ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักในทางการค้าการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ 

"ดอลลาร์ยังคงความเป็นเงินสำรอง (Reserve Currency) สกุลหลักของโลก โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังถือเงินสกุลดอลลาร์เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves)" อ.พงษ์ภาณุ กล่าว

วันนี้ หลายประเทศที่เคยตีตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา เช่น อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็กำลังเอนเอียงกลับไปคบหากับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยเล็งเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะพึงฉกฉวยได้ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้าย Supply Chains ออกจากจีน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีพลานุภาพ 

แล้วประเทศไทยล่ะจะยอมปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไปได้อย่างไร?

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

เตือน!! อย่าคาดหวัง นทท. จีน อย่างเดียว ควรกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนอื่นเพิ่ม

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 6 ส.ค.66 ในประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจกับการท่องเที่ยวไทย โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ใหญ่บ้างเล็กบ้าง จำกัดอยู่ในระดับประเทศบ้าง ระดับภูมิภาคบ้าง หรือเป็นวิกฤตระดับโลกบ้าง บางวิกฤตมีต้นเหตุมาจากภาคการเงินการธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสาธารณสุข หรือจากการก่อการร้ายและสงคราม 

แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภาคเศรษฐกิจจะเกิดการหดตัว การว่างงานพุ่งสูงขึ้น ภาคการเงินจะเกิดหนี้เสียสูงขึ้นมาก เป็นเหตุให้เศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวได้ช้า และภาคธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว ภาคการเงินการธนาคารไทยมีความเข้มแข็งและทนทานขึ้นมาก เมื่อเศรษฐกิจไทยหดตัวจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระบบการเงินจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ และไม่เกิดปัญหาหนี้เสียคงค้าง (Debt Overhang) เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ จึงเชื่อกันว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ขณะที่ไทยก็น่าจะกลับมาเติบโตได้รวดเร็ว

ยิ่งเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ จึงมีความคาดหวังสูงว่าไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะจีนส่งนักท่องเที่ยวมาไทยมากที่สุด ถึงปีละประมาณ 10 ล้านคนก่อนโควิด-19 

แต่เหตุการณ์ต่อไป อาจหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแรงแค่ไตรมาสแรกไตรมาสเดียว พอเข้าไตรมาสที่สองก็เริ่มชะลอตัวลงอีก จากภาระหนี้สินคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังกลายเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของการบริโภค 

สังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการท่องเที่ยวในปี 2566 จะเป็นไปตามเป้าที่ทางการกำหนดไว้ที่ 28.5 ล้านคนหรือไม่ ภายใต้การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนกำลังเตรียมการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) เร็ว ๆ นี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจจีนไม่ให้ชะลอตัวไปกว่านี้ 

"ไทยไม่ควรฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยวจากจีนเพียงอย่างเดียว ควรจะกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย และอาจเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดไม่ใหญ่นักที่มุ่งสนับสนุนการบริโภคการลงทุนในประเทศ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า" อ.พงษ์ภาณุ ฝากให้คิด

30 ปี 'เจนิฟู้ด' ยึดหลัก 'คุณธรรมนำการค้า คุณภาพนำการตลาด’ ปรัชญาการทำธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

การดูแลสุขภาพยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น 

จากจุดนี้ ได้ส่งผลให้ตลาดของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอย่าง 'เจนิฟู้ด' ก็ได้อานิสงส์นี้ไปด้วยเต็ม ๆ

โดย 'เจนิฟู้ด' (Enzyme Genufood) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ เอนไซม์บำบัด ในรูปแบบของอาหารเสริมที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมายหลายชนิด โดยนำธัญพืชมาผ่านกรรมวิธีการสกัด จนเกิดเป็นอาหารเสริมที่รับประทานง่าย แต่ได้คุณค่ามากมาย อาทิ เอนไซม์กว่า 370 ชนิด สารอาหารต่าง ๆ เกลือแร่ วิตามิน ที่จำเป็นต่อร่างกายของคนเรา ช่วยฟื้นฟูเซลล์ในร่างกาย คืนสู่สภาพปกติ เอนไซม์เจนิฟู้ดยังสามารถนำมาใช้ในการโภชนบำบัด หรือ เอนไซม์บำบัดได้อีกด้วย ได้ผลดีเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ว 'เจนิฟู้ด' โดยคุณรุ่งโรจน์ บุญยทรัพยากร ประธานบริษัท เบสไฟว์ อินเตอร์เทรด จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เจนิฟู้ด ได้เล่าว่า ตัวแบรนด์นั้นอยู่ดูแลสุขภาพคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

"ประมาณปี พ.ศ. 2537 คุณพ่อได้เดินทางไปไต้หวัน และไปพบผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งคนไต้หวันในขณะนั้นมีปัญหาสุขภาพ พอใช้แล้วดีขึ้น ก็เลยลองซื้อตัวอย่างมาลองใช้กับคนใกล้ตัว ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด ผมจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ก่อนนำเข้ามาเมืองไทย ถึงทราบว่าเป็น เอนไซม์ และมีประโยชน์ในการช่วยเร่งปฏิกิริยาชีวเคมีต่าง ๆ โดยวิธีธรรมชาติให้ร่างกายของเราซ่อมตัวเองได้ดีขึ้น

"พอได้เห็นถึงผลลัพธ์ของตัวผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือ จึงตัดสินใจไม่นานที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งการทำตลาดยากกว่าสมัยนี้มาก ๆ การสื่อสารไปยังคนหมู่มากมีจำกัด และในยุคนั้นเมืองไทยยังไม่ใช่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพยังมีน้อยไม่เหมือนปัจจุบันด้วย"

อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวทางการทำธุรกิจที่เน้นความจริงใจกับผู้บริโภคก็ทำให้ เจนิฟู้ด เริ่มเป็นที่แพร่หลาย

"เมื่อซื้อสินค้าของเราไปแล้วเรารับผิดชอบทั้งหมด ถ้าใช้แล้วไม่พอใจเราคืนเงินให้ เราทำธุรกิจตรงไปตรงมาไม่เอาเปรียบใคร เราเชื่อมั่นว่าสินค้าเราช่วยลูกค้าได้ เรามองว่าผลิตภัณฑ์เจนิฟู้ดเป็นสินค้าที่สามารถช่วยคนได้ในระยะยาว ไม่ใช่สินค้าตามกระแส”

"ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่ได้คิดเรื่องการสร้างแบรนด์ฮือฮา ปีสองปีแล้วหายไป แต่เราทำธุรกิจโดยยึดปรัชญาที่เน้น 'คุณธรรมนำการค้า คุณภาพนำการตลาด' ซึ่งคุณพ่อผมวางแนวทางไว้ ผสานกับมุมมองของผมที่เน้นเลือก Product ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้จริง”

"สังเกตให้ดีว่า ตลาดอาหารเสริมปัจจุบัน เน้นใช้ Social Media ในการขายกันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่มาแล้วก็ไป อาจรู้จักแบรนด์บางแบรนด์เพียงหนึ่งปีหรือสองปี แต่เรามองว่า เจนิฟู้ด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตั้งใจมาอยู่คู่สุขภาพคนไทยในระยะยาว เราจึงวางตัวเป็นแบรนด์ที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น เพราะผมรู้สึกว่าเราเกิดมา ควรทำประโยชน์ให้กับโลก ให้กับคนอื่นในมุมที่เราพอจะทำได้ งานของเราจึงยึดมั่นอยู่บนหลักการนี้ หลักการที่ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ไม่มองเงินเป็นตัวตั้งหลัก แต่มองผลลัพธ์ที่สุขภาพดีของลูกค้าคืนมาเป็นความสุขให้กับเรา ตอกย้ำแนวทางในการทำธุรกิจแบบ 'คุณธรรมนำการค้า คุณภาพนำการตลาด'"

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้ รุ่งโรจน์ ตอบอย่างชัดเจนว่า อยากเน้นทำธุรกิจแบบที่พอมีกำไร และประคับประคองธุรกิจให้พอไปได้ ก็พอใจแล้ว 

"จริง ๆ แล้วธุรกิจของเรา ผ่านมาทุกวิกฤต ส่วนหลักที่ทำให้ผ่านมาได้อย่างไรนั้น ผมพูดได้เต็มปากเลยว่า ผมน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาล 9 มาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจ คือ ทำงานอย่างมีเหตุมีผล ทำธุรกิจอย่างมีภูมิคุ้มกัน เราไม่คิดว่าฟ้ามันจะสดใสตลอด ถ้าตอนไหนฝนตกฟ้ามืดมนเราก็ต้องรู้ว่าต้องจะต้องพาตัวเองไปจุดไหน เช่น หากเปรียบกับการใช้จ่าย เราก็จะมีการประเมินตัวตลอด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ธุรกิจก็ไปต่อได้"

ในช่วงท้าย รุ่งโรจน์ กล่าวถึงอีกบริการและผลิตภัณฑ์สำหรับโรคไต โรคที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญมากขึ้นอีกด้วย ว่า...

"ถ้าพูดถึงการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เราต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคไต ซึ่งในปัจจุบันเป็นโรคที่คุกคามคนไทยเป็นอย่างมาก จำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยบางท่านก็ไม่รู้วิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง เราก็เลยจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฟื้นฟูโรคไตขึ้น เพื่อให้ความรู้กับผู้ป่วยโรคไตว่าควรดูแลตัวเองอย่างไร โดยมีหลักคำแนะนำในการดูแล คือ การชะลอความเสื่อม และเร่งการซ่อมแซมของร่างกาย ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ ใครที่มีปัญหานี้ สามารถโทรมาปรึกษาได้ที่ศูนย์ข้อมูลฟื้นฟูโรคไตได้ และเราก็จะมีผลิตภัณฑ์มูลค่า 1,200 บาทให้ฟรี (โดยจ่ายเพียงค่าจัดส่งและภาษี 120 บาท) สามารถโทรมาได้ที่ 098-236-4622"

BLC แต่งตัวเข้าตลาดฯ ผงาดรุกต่างประเทศ หนุนรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี


สำนักข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ซึ่งได้นำพาองค์กรผู้ผลิตยาของคนไทยโลดแล่นสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อย สร้างความภาคภูมิใจในแวดวงอุตสาหกรรมยาเป็นอย่างมาก

โดย ภก.สุวิทย์ กล่าวในภาพรวมว่า อุตสาหกรรมยาในปัจจุบันยังเป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านสุขภาพ โดยอุตสาหกรรมยาเมืองไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติ ที่เหลือเป็นบริษัทยาไทย

ทั้งนี้สัดส่วนทางการตลาดสามารถแบ่งได้ดังนี้ 60% เป็นตลาดของโรงพยาบาลรัฐ / 20% เป็นตลาดของโรงพยาบาลเอกชน และอีก 20% เป็นตลาดของร้านขายยา โดยปัจจุบันมีการทำตลาด Modern Trade รวมถึง e-Commerce มากขึ้น จนส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพสูงและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นอกจากนี้ หากลงไปในรายละเอียด จะพบว่า ยาแผนปัจจุบัน กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล มีการแข่งขันสูง รองลงมาคือ ตลาดยาใหม่ ได้แก่ ยาที่บริษัทข้ามชาติจะหมดสิทธิบัตร ซึ่งหากใครสามารถพัฒนายาใหม่เหล่านี้ได้ ก็สามารถครองตลาดได้ไม่ยากนัก 

ส่วนกลุ่มยาสามัญใหม่ก็มีมูลค่าการตลาดค่อนข้างสูง เช่น ยาเบาหวาน ซึ่งบริษัทข้ามชาติมีการพัฒนายาตัวใหม่ หรือที่เรียกว่า ยา Original ซึ่งจะมีราคาแพง ขณะที่บริษัทยาในประเทศส่วนใหญ่นั้น หากหมดสิทธิบัตรเมื่อไหร่ แล้วสามารถพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นผู้นำตลาดได้เช่นกัน ซึ่ง BLC มองเห็นประเด็นนี้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จึงตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อพัฒนา ยา Original โดยปัจจุบันสามารถผลิตได้ 2-3 ผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก BLC มีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเงินทุนเข้ามามากขึ้น ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากถึงปีละ 10 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มยาสมุนไพรนวัตกรรมมีโอกาสเติบโตสูงมาก

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยา ทาง BLC มองว่าเป็นเรื่องที่แปลก เพราะยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด ซึ่ง BLC เอง มียอดขายในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อยมากในตลาดภาพรวม โดย BLC มีความชำนาญอย่างมากในด้านการผลิตยากลุ่มกระดูกและข้อ และกลุ่มยาผิวหนัง 

ส่วนทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมยา BLC มองว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจโตไม่มากนัก ประมาณ 7%

"เรามองการเติบโตเป็นช่วงๆ อย่างในยุคแรก ช่วงปี ค.ศ. 1990-2000 เรามองในเรื่องระบบคุณภาพ ว่าทำอย่างไรให้โรงงานยาเป็นที่ยอมรับ มีมาตรฐานสูงสุด ส่วน 10 ปีต่อมา เรามองว่า BLC จะเป็นบริษัทยาที่แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างไร โดยมีมุมมองในรูปแบบของ Business Model สร้างความเชี่ยวชาญตอบรับกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำให้ BLC เจริญเติบโตมาถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 10 ปีต่อมา BLC เราเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรม มีการตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนายาต้นแบบ ซึ่งเรานำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาศึกษาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบัน ไปพัฒนายาจากสมุนไพร ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่พัฒนามาจากสมุนไพร เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และมีการส่งออกไปต่างประเทศมากมาย ส่วนปัจจุบัน BLC เรามองเรื่องสร้างการเจริญเติบอย่างยั่งยืนอย่างไร โดยเน้นสร้างพันธมิตรธุรกิจยาระหว่างประเทศมากขึ้น" ภก.สุวิทย์ กล่าว

เมื่อถามถึง BLC กับเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีกลยุทธ์อย่างไร? ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจยาเป็นธุรกิจกระแสหลักของโลก BLC มีกลยุทธ์ดังนี้...

1.สร้างโรงงาน 2.พัฒนาสินค้าใหม่ 3.หาพันธมิตรทางการค้า จากต่างประเทศ และสร้าง Business Model ที่สร้างการเจริญเติบโตได้ พร้อมผลิตยาให้กับบริษัทยาจากต่างประเทศได้

"ตอนนี้ประเทศไทยเรายังไม่สามารถผลิตตัวยาสำคัญได้ เราควรที่จะมียาของตนเอง โดยการนำสมุนไพรมาพัฒนา ส่วนเคมีคอลจะทำอย่างไรให้เมืองไทยผลิตตัวยาสำคัญได้ หรือผลิตวัตถุดิบหลักทางยาได้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุน และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเราให้ความสำคัญ Trusted Solutions for Lifelong Well-Being หมายถึง การดำเนินธุรกิจเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบหลัก ผลิต พัฒนาและวิจัย แล้วทำการตลาดให้แพทย์และเภสัชกรเป็นที่รู้จัก" ภก.สุวิทย์ เสริม

ด้านการทำตลาดของ BLC หลังเข้าตลาดฯ ได้วางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายการเติบโตปีหนึ่งมากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนระยะต่อมาจะมีการสร้างโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เพื่อให้ผลิตยาที่มีคุณภาพในต้นทุนที่ถูก ซึ่งขณะนี้โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมยาในไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้แล้ว

สำหรับยอดขายของ BLC ในปัจจุบันนั้น 60% -70% เป็นกลุ่มยา รองลงมาคือกลุ่มเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริมตามลำดับ ซึ่งในส่วนของ BLC มีการทำตลาดด้านเวชสำอาง อาหารเสริม ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร เนื่องจากนำสมุนไพรที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทฯ มีงานวิจัยรองรับ มาพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความแตกต่างและมีประสิทธิภาพสูงด้วยนวัตกรรม

ส่วนเป้าหมายของ BLC ต่อจากนี้ ภก.สุวิทย์ เชื่อว่า จะโตอย่างน้อยเฉลี่ย 10% ภายใน 3 ปีนี้ เป็น Organic Growth และจากนั้นก็จะเป็น New S-Curve หลังจากโรงงานเราเสร็จ คาดยอดขายแตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี คิดเป็นกำไรเติบโต 10-20%

ท้ายสุด ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า "ในฐานะที่จบเภสัชกรมาก็อยากสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เภสัชกร ว่าเราสามารถทำอย่างไรให้ยาของเมืองไทย เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยก็ใน CLMV ระดับอาเซียน หรือระดับสากล โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน BLC เป็นที่ฝึกงานของน้องๆ เภสัชกร กว่า 15 สถาบัน มาร่วม 20 ปีแล้ว เนื่องจากโรงงานผลิตยาในเมืองไทยมีไม่มาก และ BLC เห็นความสำคัญตรงนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป"

 

เกาะไอเดีย COMMART ในวันที่รายอื่นตายจาก ผสานพลัง ‘ออฟไลน์-ออนไลน์อีเวนต์’ รุกตลาดต่อเนื่อง

📌 (1 ก.ค. 66) แม้พฤติกรรมการช็อปปิ้งสินค้าของคนรุ่นใหม่กับหลากหลายประเภทสินค้า จะเริ่มเทซัดไปสู่การซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและตรวจสอบราคา โปรโมชัน ได้แบบทันใจ แต่ก็ยังมีกลุ่มสินค้าบางอย่างที่บางครั้งต้องยอมรับว่า ‘หากไม่เห็นกับตา’ ก็อาจจะยังยากต่อการตัดสินใจ

สินค้าที่ว่านั้น คือ สินค้าในกลุ่มไอซีที ที่ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก และสารพัด Device เพื่อเชื่อมต่อทุกการสื่อสารและไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัลครองเมือง ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายสินค้าไอทีทั่วไป เพียงแต่ หากคุณอยากเห็นสินค้าแบบครบลูป ครบรุ่น และรวมถึงเทรนด์สินค้าใหม่ๆ ในที่เดียว ก็ยังต้องพึ่งพางาน Exhibition ที่มักจะจัดขึ้นกันทุกปี

ทว่า งานแสดงสินค้าไอทีเหล่านี้ ก็ค่อยๆ ล้มหายกันไปทีละราย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะต้านทานแรงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่ไม่ซีเรียสกับการต้องเห็นสินค้าจริง แต่เช็กดูรีวิวในโลกออนไลน์แล้วก็ตัดสินใจซื้อแบบทันใจ อีกส่วนหนึ่งก็เพราะการจัดงานประเภทนี้ต้องใช้พลังในการดึงคู่ค้า รวมถึงการต่อรองให้เกิดการนำสินค้า และโปรโมชันที่ควรค่าแก่การดึงดูดคนมาในงาน ซึ่งยากมาก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังมีผู้เล่นในตลาดแสดงสินค้าด้านไอซีทีหลงเหลืออยู่ และยังอยู่แบบไม่ยอมหายไปไหน นอกจากโควิด19 เท่านั้นที่มาเบรกชะลอการจัดงาน แต่ก็ยังสามารถผสานรูปแบบการจัดงานผ่านออนไลน์มาชดเชยได้ โดยผู้เล่นรายนั้นก็คือ Commart โดย ARIP ซึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ (6-9 ก.ค.66) ก็จะมีอีเวนต์เพื่อสายไอที และชื่นชอบเทคโนโลยีมาให้ไปแวะเวียนในพิกัดที่คุ้นเคย

ว่าแต่ทำไม Commart ถึงยังยืนหยัดเป็นอีเวนต์ขาประจำได้ในยุคปัจจุบัน? และทำอย่างไรถึงสามารถฝ่ามรสุมโควิด19 มาได้? เรื่องนี้ นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) หรือ ARIP ผู้ดำเนินธุรกิจสื่อและคอนเทนต์ การจัดงานอีเวนต์ และธุรกิจ Digital Platform & Service ในฐานะเจ้าของงานแสดงมหกรรมสินค้าไอซีทีชื่อดังของไทยภายใต้ชื่อ ‘Commart’ ได้เผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00 - 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 โดยเล่าถึงการขับเคลื่อน COMMART ให้ยังอยู่รอดในช่วงวิกฤตโควิด19 และสามารถขยายขีดจำกัดในการจัดงานไปสู่ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่อย่างออนไลน์ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 จนทำให้ไม่สามารถจัดงานแบบ On ground ได้เต็มที่ แต่ทาง ARIP ก็สามารถปรับตัวตามแนวโน้มของสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอด ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์มารองรับการจัดงานอีเวนต์ ภายใต้การประยุกต์เทคโนโลยี AR / VR และ Metaverse ต่อยอด Virtual & Hybrid Event เพื่อนำเสนออีเวนต์ในรูปแบบใหม่ผ่านโลกออนไลน์ 

“เรามีลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมากมาย เช่น งานกาชาดออนไลน์ในปี 63 และปี 64 ซึ่งพัฒนาอีเวนต์ออกมาในรูปแบบ Virtual Event ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Commerce ของงานออกร้านคณะภริยาทูตครั้งที่ 55 ที่พัฒนาให้กับสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย, งาน Virtual Event ที่จัดให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), งาน Virtual Event พิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่น ของสำนักงานคปภ. เป็นต้น

“เช่นเดียวกันกับงาน Commart ที่ถึงแม้ว่าทาง ARIP จะไม่ได้จัดอีเวนต์แบบ On Ground ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิดอย่างรุนแรง แต่ก็ได้นำแพลตฟอร์ม Virtual Event มาประยุกต์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ รวมถึงความสำเร็จจากการจัดงาน Commart ช่วงปลายปี 64 จนทำให้เจ้าของสินค้าและผู้จัดจำหน่ายทั้งรายเล็กและรายใหญ่เชื่อมั่นในการร่วมมือกับงาน Commart ในปี 65 อย่างต่อเนื่อง”

นายบุญเลิศ กล่าวอีกว่า “ด้วยสถานการณ์ในปีนี้ที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า โควิดไม่รุนแรงเหมือนเก่า และผู้คนมีวัคซีนป้องกันโดยทั่วแล้วนั้น จึงทำให้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และนั่นก็ทำให้งาน Commart ตั้งแต่ช่วงต้นปีกลับมาจัดได้เหมือนเดิม แต่ถึงกระนั้น รูปแบบวิธีการจัดงานที่ถูกปรับเข้ามาใหม่ด้วยแพลตฟอร์ม Virtual Event ก็ได้สร้างความตื่นเต้นจากฐานผู้เข้าชมผ่านแพลตฟอร์มนี้ในระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะสามารถช่วยให้พวกเขาเข้าถึงงาน Commart ได้จากทุกหนทุกแห่ง พร้อมตอบโจทย์ระบบแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายที่สามารถซื้อจากที่ไหนก็ได้ไปพร้อมๆ กัน 

“แม้เราจะกลับมาจัดงาน Commart รูปแบบเดิมได้แบบปกติ แต่เราก็จะไม่ทิ้งกลุ่มคนที่อยู่บนออนไลน์ หรือคนที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ โดยจากนี้ไปเราจะผสานรูปแบบการจัดงานให้อยู่ในทรงของ Hybrid ต่อไป เพราะตรงนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีต่อ ARIP ที่จะกลายเป็นผู้มีประสบการณ์และความพร้อมในการเป็น Exhibitor ที่สามารถจัดงานได้ทั้งแบบ On  Ground และ Online สร้างผลกำไรให้บริษัท และสามารถปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นได้มากขึ้นต่อไปด้วย”

ทั้งนี้ นายบุญเลิศ ได้กล่าวเสริมอีกด้วยว่า แม้จะรูปแบบอีเวนต์ออนไลน์เสริมเข้ามา แต่ก็ยังอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นใจเสน่ห์ของ Commart On Ground ที่ทาง ARIP คงไว้ให้ทุกคนสัมผัสได้ทุกครั้ง คือ ความครบของแบรนด์สินค้าชั้นนำ และทุกรุ่นสินค้าที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ เทสต์ทดลองได้ สามารถซื้อและนำกลับบ้านได้เลย ขณะเดียวกันในส่วนของโปรโมชันต่างๆ ก็จัดเต็มแบบคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นคูปองส่วนลด และพริวิลเลจต่างๆ ภายในงาน ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่มาแวะเวียนเสมอ เพราะนี่คือจุดแข็งของ Commart ที่ยังคงเอื้อประโยชน์ต่อคู่ค้าและผู้บริโภคได้ไม่เปลี่ยน

“อนาคต Commart จะทำแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Personal Live Marketing เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคของสินค้าไอทีโดยเฉพาะเพิ่มเข้ามาด้วย รอติดตามกันครับ” นายบุญเลิศ ทิ้งท้าย

สำหรับการจัดงาน Commart Crazy Deal ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เวลา 10.00-21.00 น. ณ EH 98-99 จะมีสินค้าไอทีมากกว่า 500 แบรนด์ รวมกันกว่า 200 บูธ โดยเทรนด์เทคโนโลยีในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 นี้ นายบุญเลิศ เผยว่า ผู้บริโภคจะได้เห็นโน้ตบุ๊กที่บางเบา สเปกแรง รวมถึงสมาร์ตดีไวซ์ที่มีเทคโนโลยี AI ฝังอยู่ในการทำงาน นอกจากนี้แล้วยังมีความคึกคักในส่วนของเทคโนโลยี AR และ VR อีกด้วย ซึ่งเป็นผลพวงจากการมาของ Apple Vision Pro เป็นต้น

เปิดใจ ‘กัปตันเค-สุทธิกาจ’ ผู้พัฒนาแอป ‘จับยาม’ ช่วย ‘สายมู’ ทุกการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของชีวิต

📌จากกัปตันสายการบินพาณิชย์ สู่ซินแสผู้พัฒนาแอป ‘จับยาม’ (JUB-YAM) ‘กัปตันเค-สุทธิกาจ พัฒนสุข’ ที่รวบรวมเอาศาสตร์การทำนายของชาวจีนที่มีมายาวนานกว่า 4,000 ปี มาผสมผสานกับเทคโนโลยีจนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ ‘สายมู’ วางแผนชีวิต ตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ จากคำทำนายเฉพาะบุคคลตามดวงชะตาจากวันเดือนปีเกิดของคุณเอง ที่จะช่วยให้เราไม่พลาดทุกการตัดสินใจ

>> ผสานหลากศาสตร์จีนสู่คำทำนายหนึ่งเดียว
สุทธิกาจ เล่าว่าก่อนที่จะมาศึกษาเรื่องโหราศาสตร์จีนและศาสตร์ลายเซ็น เพราะลายเซ็นต์คนเราสามารถวิเคราะห์ตัวตน และอาชีพการงานของเขาได้ สามารถแก้ไขลายเซ็นให้เหมาะสมกับพลังงานธาตุประจำตัวได้ เป็นวิชาพื้นฐานแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่า คนเรามีธาตุประจำตัว แล้วถ้ามีธาตุเราจะเอามาทำอะไรได้บ้าง ก็เลยลองเริ่มศึกษาเรื่อยๆ จนมาจับกับเรื่องระบบปฏิทิน และโหราศาสตร์จีน

“ผมเรียนเกี่ยวกับโหราศาสตร์จีน และศาสตร์การทำนายของจีนอื่นๆ มาเยอพอสมควร จึงเอาองค์ความรู้ทุกอย่างในศาสตร์การทำนายของจีนมาเพื่อใช้งานในแบบเฉพาะของตัวเอง อย่างระบบปฏิทินที่ใช้ในแอปจับยามผมก็เป็นคนสร้างเอง เรารู้สึกว่าเวลาที่เราพัฒนาสร้างเองมันสามารถใช้งานได้จริง วิชาที่ใช้ในการทำงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องธาตุพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของวิชาโหราศาสตร์จีนอยู่แล้ว ผมก็ไปปรึกษากับเพื่อน (คุณเจ ต้องการชื่อจริง) ก็ได้รับคำแนะนำว่าศาสตร์ที่ผมพัฒนาขึ้นนี้สามารถพัฒนาให้คนทั่วไปรู้จักได้ จึงลงตัวที่การพัฒนาเป็นแอปจับยาม” สุทธิกาจ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาจับยาม ผู้ช่วยสายมูที่ผู้ใช้สามารถเช็กดวงชะตาและฤกษ์งามยามดีของตัวเองในแต่ละวันได้ 

>> จับยาม รู้วันดี บอกเวลาเฮง
หลังจากพัฒนาศาสตร์การทำนายที่ผสมผสานศาสตร์จีนต่างๆ จนลงตัว สุทธิกาจ ก็ได้เริ่มพัฒนา แอปพลิเคชัน เพื่อง่ายต่อการที่ทุกคนสามารถดูดวงกับซินแสโดยไม่เสียเวลาต่อคิว และรับรองได้ว่ามีรายละเอียดการทำนายเกินร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับการต่อคิวดูดวงกับซินแสตัวจริง

“เราใช้เวลาพัฒนาอยู่เกือบปีนับจากโครงร่างโครงแรก และเพื่อความง่ายต่อคนดู เราพัฒนาการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์เพียงแค่แอดเฟรนด์ ลงทะเบียน ระบุวัน เดือน ปี เวลาเกิด ก็สามารถรู้ฤกษ์ยามของตัวเองตามหลักโหราศาสตร์จีน” สุทธิกาจ กล่าว 

สำหรับการใช้งาน ‘จับยาม’ นั้นไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เพียงแค่เข้าเว็บไซต์ www.jubyam.com หลังจากนั้นล็อกอินเข้าสู่ระบบผ่านแอปพลิเคชัน กรอกวัน เดือน ปี เวลาเกิด (ถ้ามี) เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้งานแอปจับยามได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้ง ซึ่งผู้ใช้สามารถรู้ ยามเกิด ธาตุประจำตัว เช่น เกิดเป็นคนธาตุทองหยาง เวลาวอก เดือนฉลู ปีระกา จากนั้นก็มีคำทำนายประจำวัน คำทำนายประจำสัปดาห์ เรื่องงาน ความรัก สุขภาพ และอื่นๆ สามารถเลือกเวลาดีและเวลาไม่ดีเฉพาะตัวเจ้าชะตาในแต่ละวัน และในแต่ละเดือนมีวันไหนบ้าง ที่เป็นวันเวลามงคลสำหรับเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ทุกอย่างล้วนอยู่ในแอปฯ จับยามนี้ทั้งสิ้น

>> DNAid โครงสร้างดวงชะตาจากฟ้าดิน
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่ทำให้แอปจับยามนั้นแตกต่างจากแอปฯ อื่นๆ คือ DNAid และคำทำนายของพระแม่ธรณี Master Earth oracle และ 12 วันเจ้าการ ซึ่งนำมาจากการรวมศาสตร์การทำนายของจีนมาไว้ในแอปพลิเคชันนี้ให้การทำนายดวงชะตาของทุกคนมีความแม่นยำและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตไปในแต่ละปี

สุทธิกาจ อธิบายว่า DNAid แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ DNA เป็นการรวมศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเบื้องบน ส่วน id คือตัวเลขหนึ่งที่บ่งชี้พื้นฐานของตัวเรา ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อรวมเป็น DNAid จะเป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างธาตุประจำตัวกับพลังงานธาตุประจำวัน ก็จะกลายเป็นเหตุการณ์เป็นคำทำนายในแต่ละวันที่แต่ละคนประสบพบเจอแตกต่างกันออกไป

อย่างดวงไทยจะมีแค่ 12 ราศี มีดาวย้าย มีดาวเจ้าเรือน แต่ DNAid จะสามารถจำแนกได้ถึง 60 แบบทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องต่างๆ ที่ลงลึกมากขึ้น หากจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือในแต่วันล้วนมีพลังงานหลักที่มาจากตัวแทนธาตุต่างๆ ตามแนวทางของจีนได้แก่ ธาตุไม้, ธาตุทอง, ธาตุดิน, ธาตุไฟ, ธาตุน้ำ สมมุติว่าวันนี้เป็นวันที่มีพลังงานของธาตุไม้ ปีนักษัตรนี้เป็นปีเถาะ ซึ่งเป็นธาตุไม้ เช่นกัน ไม้กับไม้ เจอกันจะกลายเป็นวันทำลายตามคำทำนาย 12 วันเจ้าการ หากเราเจอคำทำนายแบบนี้เราจะทำอย่างไร ก็เหมือนผมกำลังบอกว่าวันนี้ช่วงกลางวันคุณจะเจอฝนตกหนัก ถ้าผมบอกแบบนี้เราจะยังซักผ้าตากทิ้งไว้ที่ระเบียงบ้านอีกไหมก็คงไม่ แต่ละคนมีลักษณะที่แตกต่างกัน วันนี้ดีสำหรับเราแต่อาจไม่ดีสำหรับอีกคนก็ได้ เพราะ DNAid ของเราแตกต่างกัน รู้ฤกษ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

สุทธิกาจ อธิบายถึงความสำคัญของฤกษ์ยามตามศาสตร์การทำงานจีนอีกด้วยว่า ในลักษณะการทำนายของดวงจีนจะใช้พลังงานธาตุประจำวัน มารวมกับพลังงานธาตุของตัวเราและอื่นๆ ก็จะได้เป็นคำทำนายเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันเป็นคำทำนายที่ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากเรากำลังหาวันนัดติดต่อเซ็นสัญญาลูกค้า เราดูแล้ววันพรุ่งนี้ไม่ดีสำหรับดวงเรา เป็นวันถัดไปจะดีกว่าแบบนี้เราจะเลือกวันไหน แต่สิ่งที่ผมกำลังจะบอกอีกอย่างก็คือ ไม่ใช่ว่าเป็นวันไม่ดีแล้วเราจะเซ็นสัญญาไม่ได้ คุณอาจจะเจรจาเซ็นสำเร็จก็ได้ แต่ความราบรื่นจะต่างกัน ความเสี่ยงก็ต่างกัน และข้อดีอีกอย่างของแอปจับยามก็คือสามารถดูวันเวลาล่วงหน้าได้เป็นปีซึ่งจะช่วยทำให้เราวางแผนชีวิต และการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น

“เพราะช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต เราเลือกผิดไม่ได้ คนเรามีกิจกรรมและเรื่องที่ต้องตัดสินใจทุกวัน พลังงานประจำวันกับพลังงานของตัวเราส่งผลต่อชีวิตเรามากกว่าที่คิด ผมเชื่อว่าต้องมีสักวันหนึ่ง ที่คุณรู้สึกว่า ‘โอ้โห วันนี้มันวันซวยจริง ๆ มีเรื่องทั้งวัน’ และก็คงมีบางวันที่คุณรู้สึกว่าทำอะไรก็สำเร็จไปซะทุกอย่าง สิ่งนั้นแหละ เรียกว่าผลของพลังงานประจำตัว และพลังงานประจำวัน ทุกกิจกรรมในชีวิต จะประสบความสำเร็จราบรื่นได้ เรื่องฤกษ์ยามมีผลมาก แม้เราจะไม่ได้สังเกตจริงจัง แต่มันมีเวลาที่เหมาะที่ควรอยู่ในทุกกิจกรรม” สุทธิกาจ กล่าวทิ้งท้าย

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

เปิดบทสรุป AI ในมุมที่ไม่ได้จะมาแทนที่ใคร แต่คนที่ใช้ไม่เป็นจะถูกผู้ช่ำชองใน AI แทนที่

📌 ไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก 'Skooldio' ได้สรุป Session 'AI for The Next Era of Marketing AI สำหรับยุคสมัยใหม่ของ marketing' โดยคุณวิสสุต เมธีสุวกุล จาก Microsoft Thailand ในงาน Creative Talk Conference 2023 ในหัวข้อ 'คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเรียนรู้และนำ Generative AI ไปใช้' ว่า...

Generative AI นั้นได้รับการพูดถึงอย่างมากทั่วโลก รวมถึงนิตยสาร The New York Times ที่ได้นำรูปของ ChatGPT ที่เป็นหนึ่งใน Generative AI มาขึ้นปกนิตยสารซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจดจำมากทีเดียว

โดย ChatGPT นั้นเป็น Generative AI ภายใต้บริษัท OpenAI ซึ่งมี Generative AI ทั้งหมด 3 ตัวได้แก่...

1. ChatGPT เป็น Generative AI ที่สามารถตอบโต้ระหว่างคอมกับผู้ใช้ได้อย่างคล่องและรู้เรื่องด้วยภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้ง่าย แล้วยังสามารถสร้างเรื่องราวและไอเดียได้ รวมทั้งยังสรุปข้อมูลให้เราได้ด้วย หากต้องการให้ข้อมูลอัปเดตล่าสุดอยู่ตลอด คุณสามารถเพิ่ม Plug in ‘voxscript’ เข้าไปกับการใช้ ChatGPT ได้

2. Codex เป็น Generative AI ที่ช่วยเขียนโปรแกรมให้ Programmer โดยไม่ว่าคุณจะใช้ภาษาเขียนโค้ดภาษาใดก็ตาม Codex ก็สามารถช่วยคุณแปลเป็นภาษาอื่นที่คุณต้องการได้ โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาทำเองหรือไปเรียนภาษาอื่น

3. DALL-E เป็น Generative AI ที่สามารถช่วยคุณวาดภาพได้ตาม prompt ที่คุณกำหนดอย่างไร้ขีดจำกัด ตราบใดที่คุณเขียน prompt ที่ชัดเจน

แล้วมันจะเข้ามาช่วยเราในการทำงานได้อย่างไร?

AI จะส่งผลกระทบในการทำงานของเราในเชิงบวก Generative AI สามารถช่วยเราทำงานได้หลายอย่างมาก เช่น การทำสไลด์ใน Powerpoint จากข้อมูลที่เราบอก ดึงข้อมูลใน Excel ให้ทำมาเป็น output ที่เราอยากได้ นอกจากนี้ เราสามารถออกแบบการขายของให้กับลูกค้าแบบ Personalization ได้เช่นกัน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสามารถของ AI ที่เข้ามาช่วยเราทำงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่มันจะเข้ามาช่วยลดภาระการทำงาน และเพิ่ม Productivity ให้กับเรา

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า เราจะเชื่อใจ AI ได้มากน้อยแค่ไหน?

คำตอบคือเชื่อได้ในระดับที่เราก็ยังควรที่จะตรวจสอบข้อมูลเพราะ Generative AI คือระบบอัตโนมัติที่วิเคราะห์คำตอบจากข้อมูลที่มีมาประเมินและค่อยตัดสินใจทำ action เปรียบเสมือน Copilot เราไม่สามารถให้ทุกอย่าง Autopilot ได้ตลอดเวลา ทุกอย่างยังต้องใช้มนุษย์ที่มีประสบการณ์ เหมือนกับการที่เราไม่สามารถใช้ระบบขับเครื่องบินได้ตลอด เรายังต้องการกัปตันในการที่จะนำเครื่องขึ้นหรือลงและควบคุมเครื่อง

📍และสำหรับบริษัทที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลว่าปลอดภัยไหม จะหลุดออกมาไหม
คำตอบก็คือปลอดภัยเพราะทางผู้ผลิตได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบจะไม่ถูกเปิดเผยสู่โลกภายนอกอย่างแน่นอนด้วย Open AI for Enterprise

จะเห็นได้ว่า Generative AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราใช้มันให้เป็น เราก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้โดดเด่นกว่าใคร และไม่ต้องกลัว AI จะมาแทนที่

'พงษ์ภาณุ' หวั่น!! สังคมไทยผู้สูงวัยพุ่ง อัตราเกิดต่ำ ชี้!! เปิดทางแรงงานคุณภาพต่างชาติ ช่วย ศก.ไทย

📌(19 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า...

โลกกำลังเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่แก่เร็วมาก มีตัวเลข ว่าถ้าชาติใดมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ก็จะนับว่าประเทศนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันชาติไทยก็ได้เกินหลักเกณฑ์นั้นไปแล้ว อายุเฉลี่ยของคนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี นั่นก็หมายความว่าคนไทยมีอายุมากกว่า 40 ปีและน้อยกว่า 40 ปีในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน 

โดยในอาเซียนจะมีอายุเฉลี่ย น้อยกว่าประเทศไทยยกเว้นสิงคโปร์ที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย สาเหตุตรงนี้ก็คือเด็กเกิดใหม่นั้นมีน้อยส่วนผู้สูงอายุนั้น ก็มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัฒนธรรมการมีลูกของคนไทยในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป 

ถ้าย้อนกลับไป เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ต่อผู้หญิงไทย 1 คนจะมีลูกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 คน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผู้หญิงไทย จะมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3 คน ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งถ้าจะคงที่ของประชากรไทยไว้ผู้หญิง 1 คนจะต้องมีลูกประมาณ 2 คนนิด ๆ ถึงจะคงค่าเฉลี่ยของประชากรไทยไว้ได้เหมือนเดิม ค่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 

คนไทยมีอยู่ประมาณ 70 ล้านคนซึ่งวิเคราะห์ตัวเลขนี้แล้วก็บอกว่าคงจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้ อันนี้ฟังแล้วก็น่าใจหาย ที่อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงมาก สืบเนื่องจากว่าในปัจจุบันประชากรจากชนบทนั้นได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานกันอยู่ในเมือง ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทำเกษตรกรรมกันทำไร่ทำนากันอยู่ตามท้องไร่ท้องนา คนเมืองที่อยู่ในบ้านในเมืองใหญ่ซึ่งบ้านจะเล็กกว่าบ้านตามชนบทการมี ลูก ก็เลยจะน้อยลงต่างกับคนชนบทที่จะมีลูกกันมาก

เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนที่จะมีลูกนั้นก็จะต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายค่าเลี้ยงดูค่าเล่าเรียนการศึกษา ค่าอาหารการกินค่าที่พักอาศัยซึ่งจะตามมาอีกมาก เพราะฉะนั้นการมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ และนโยบายจากทางภาครัฐนั้นก็ถือว่าสำคัญ อย่างถุงยางอนามัยถุงยางมีชัยนั้นก็ถือว่าได้ผลเกินคาด

เมื่อเราเป็น ผู้สูงวัยเกษียณอายุ ชีวิตก็จะมีอยู่ 3 ทางเลือก 1 ถอนเงินออมออกมาใช้ 2 พึ่งบำนาญจากทางราชการ 3 ให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเรา สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมผู้สูงอายุ และในภาวะที่อัตราการเกิดลดลงก็คือ อัตรากำลังในภาคแรงงาน นั้นจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรประเทศ ซึ่งตรงนี้คือตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นส่วนที่ผลักดันทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ

หลาย ๆ ประเทศก็ได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการ เพิ่มจำนวนผู้อพยพเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะเข้ามาเพิ่มจำนวนของประชากรในประเทศไปโดยปริยาย อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะดึงดูดประชากรใหม่เข้ามาในประเทศปีละเป็นแสนเป็นล้านคน ในประเทศไทยก็ได้เปิดให้แรงงานเข้ามาในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบนโยบายการรับผู้อพยพเข้าเมืองระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะพบว่า มีความแตกต่างกันมาก เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเปิดรับผู้อพยพที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ามาคิดค้น นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ อย่างเช่นสตีฟ จ๊อบ ก็มีพ่อแม่ซึ่งอพยพมาจากประเทศจอร์แดน หรือในปัจจุบัน CEO ของ Microsoft หรือ CEO ของ Google ก็เป็นคนแขก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยผู้อพยพที่เข้ามาส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ เพราะห่วงว่าคนต่างด้าวจะเข้ามาแข่งขันกับคนไทย จึงเอาเฉพาะแรงงานระดับรากหญ้าระดับที่ติดดินเข้ามา ซึ่งความคิดตรงนี้อาจจะต้องเปลี่ยน

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE TOMORROW ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

“1. การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2. ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู

3. ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

3 ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ นวัตกรรม เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ ทิ้งท้าย

จับตา 4 สัญญาณอันตราย อาจเป็นต้นเหตุ ‘วิกฤตการคลัง’ รอบใหม่

📌นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจว่า วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ แม้จะมีข้อยุติชั่วคราวไปแล้ว แต่ได้สะท้อนปัญหาการคลังที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทย ซุกไว้ใต้พรมและพร้อมที่จะปรละทุได้อีกทุกเมื่อ หากไม่มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ใน 4-5 ปีข้างหน้า แนวโน้มฐานะการคลังจะเลวร้ายลงจากสาเหตุ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้งบชำระหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างมาก
2. ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก ทำให้ทุกประเทศต้องจัดงบประมาณด้านการทหารสูงขึ้น
3. การแก้ปัญหาโลกร้อนและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
4. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐในด้านบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพคนชรา และการรักษาพยาบาล

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.0% อาจเป็นการซ้ำเติมภาระหนี้รัฐบาลและประชาชนขึ้นอีก รวมทั้งยังอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทั่วโลกเปิดประเทศหลังโควิด โดยเฉพาะจีน น่าจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund ที่มีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย โดยกองทุนดังกล่าวควรเข้ามาดูแลปัญหาและต้นทุนที่การท่องเที่ยวก่อเกิดกับประเทศไทย เช่น การประกันภัยและการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยว การบูรณะและฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมทรามลง การลดผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากรายได้การท่องเที่ยว

MASTER ไม่รับรางวัล Global Health Awards 2023 เหตุมีกลโกงแจกดะ ขอยืนหยัดเรื่องความซื่อสัตย์

📌กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมความงาม เมื่อบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ โรงพยาบาลศัลยกรรมชั้นนำของเมืองไทย ปฏิเสธการขึ้นรับรางวัล Global Health Awards 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดย Global Health Asia-Pacific สื่อสัญชาติสิงคโปร์ ที่ล่าสุดได้จัดงานมอบรางวัลไปเมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรม Ritz Carlton บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) เปิดโต๊ะแถลงถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง รางวัลโกลบอลเฮลธ์ เอเชีย-แปซิฟิก ในอีกมุมที่ไม่เป็นความจริงและห่างไกลจากมาตรฐานการแจกรางวัลระดับนานาชาติ กับ THE TOMORROW ว่า…

“เรื่องนี้เป็นปาหี่ที่เกิดขึ้นในวงการการรับรางวัลอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ด้วยแผนการตลาด อ้างการแจกรางวัลในสาขาต่างๆ ว่าเป็นที่สุดใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ ทั้งที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานการคัดเลือกหรือกลั่นกรอง ทำได้แม้กระทั่งการเลือกชื่อรางวัลเอง”

นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ในการแจกรางวัลไม่ว่ารางวัลอะไรก็ตาม หากผมตกลงรับ ผมต้องมั่นใจว่าผมคู่ควร ผมคาดหวังถึงกระบวนการการคัดเลือกและตัดสิน ที่ไม่ใช่การมโนคิดขึ้นมาเอง และบอกว่าคุณได้รับรางวัลนั้นรางวัลนี้ เช่น ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญตัดสิน มีผู้ผ่านเข้ารอบ แล้วถึงจะมีการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการ เพราะแน่นอนว่าการประกาศรางวัลนั้นเอื้อในแง่ของการทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่ได้ ด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพราะการไปบอกว่าเราดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ใครๆ ก็พูดได้ แต่การมีรางวัล มีสถาบันที่ให้ข้อเท็จจริง หรือรับรองในมาตรฐานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ”

นพ.ระวีวัฒน์ ยกตัวอย่างด้วยว่า “อย่างการมอบรางวัลมิชลินสตาร์ เขามีมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าเวลาที่เลือกไปกินอาหารที่ร้านมิชลินสตาร์แล้วการันตีได้ว่าอร่อยจริง ไม่ใช่ไปถึงแล้วไก่กา ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเกิดจากกระบวนการกลั่นกรอง และคัดสรรด้วยมาตรฐานการรับรอง เช่น มิชลินสตาร์มีการส่งคนมากินอาหารที่ร้านนั้นๆ จริง และมากินในฐานะลูกค้าโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้รู้ตัว

นพ.ระวีวัฒน์ เผยอีกว่า “เมื่อทาง Global Health Asia-Pacific ติดต่อทีมงานของผมมา โดยมีการพูดถึงการมอบรางวัลในระดับเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการระบุมาว่าเราได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงใน 3 รางวัล คือ...  

- Hair Transplant Clinic of The Year in Asia Pacific
- Breast Augmentation Centre of the Year in Asia Pacific
- Cosmetic and Plastic Surgery Service Provider of the Year in Asia Pacific

“ทางโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชเรามีลูกค้าปลูกผมเฉลี่ยวันละ 4 เคส แน่นอนครับว่าศักยภาพขนาดนี้ เราสมควรกับรางวัล ส่วนรางวัลศัลยกรรมหน้าอกในเอเชียแปซิฟิก ถามว่าจริงไหม ก็จริงอีก เพราะที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลท็อปการใช้ซิลิโคนเสริมหน้าอกจำนวนสูงสุด เราจึงไม่มีข้อสงสัยอะไรในรางวัลที่เขาบอกว่าโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชมีสิทธิจะได้รับ โดยมีการขอความร่วมมือในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นปกติ เนื่องจากเราไม่เชี่ยวชาญ ถ้าต้องไปซื้อสื่อเองที่ประเทศสิงคโปร์ จึงจำเป็นต้องมีเซลล์เอเจนซี่เป็นตัวแทนจัดการให้ โดยเจ้าของหนังสือและเจ้าของรางวัลได้เดินทางเข้ามาพบกับทีมงานของผมพร้อมกับตัวแทนคือคนไทยอีก 2 คน เพื่อนำเสนอและเชิญชวนให้เราเข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มาโชยกลิ่น ‘รางวัลลวง’ โดย นพ.ระวีวัฒน์ เล่าว่า “เราเริ่มสงสัยสักประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนการจัดงาน ว่าการแจกรางวัลครั้งนี้มี Agenda อย่างไร สามารถเปิดเผยได้ไหมว่าเราจะได้รับรางวัลจริงหรือไม่ เขาก็ว่าเปิดเผยรางวัลไม่ได้ แต่เราจะได้รับรางวัลในกลุ่มนี้ๆ นะ จนในที่สุดกำหนดการจัดงานก็มาถึง

“ก่อนวันเดินทางไปรับรางวัลที่บาหลี ผมได้รับทราบจากการไลฟ์สดของคลินิกแห่งหนึ่ง ว่าเขาเป็นผู้ได้รับรางวัลชื่อใกล้เคียงกับเรา สมมติว่าเป็นรางวัล Leader in Cosmetic ซึ่งไม่รู้ว่าจู่ๆ รางวัลดังกล่าวโผล่มาจากไหน เพราะผู้จัดงานไม่เคยพูดถึงชื่อรางวัลนี้มาก่อน โอเคครับ ชื่อภาษาอังกฤษอาจแค่คล้ายกัน แต่แปลเป็นไทยแล้วคือชื่อรางวัลเดียวกัน แล้วทำไมเขาถึงเปิดเผยชื่อรางวัลได้ก่อนโดยไม่ต้องรอการประกาศผล

“ชักเริ่มเอะใจ จึงขอลงไปดูหน้างาน ปรากฏห้องจัดงานในโรงแรมหกดาวเล็กกว่าห้องที่คนทั่วไปใช้จัดงานแต่งงานเสียอีก พื้นที่แค่หนึ่งในสี่ของห้องบอลรูมขนาดเล็ก ไม่นับจำนวนโต๊ะกาลาร์ดินเนอร์ซึ่งมีอยู่แค่สองแถว จำนวนเก้าอี้ก็มีเท่าจำนวนคนที่มาร่วมรับรางวัล นับได้เพียงไม่กี่สิบ”

เมื่อสงสัย นพ.ระวีวัฒน์ จึงเข้าไปตรวจสอบดูจำนวนคนกด Like กับ Follow ในเพจ Global Health Asia-Pacific ปรากฏว่าเพจนี้ถูกเปลี่ยนชื่อมาถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 2022 ก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อไป แปลว่าเพจนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะถูกซื้อมา หรือเว็บไซต์เองก็มียอด Organics Growth เป็นศูนย์ รวมทั้งงานที่จัดขึ้นที่บาหลี มีป้ายชื่องานอยู่แค่สามป้าย

“จินตนาการว่าถ้าให้ผมขึ้นไปรับรางวัล พอกลับถึงเมืองไทย จู่ๆ วันหนึ่งผมเกิดเอารางวัลที่ได้ไปคุยโม้กับลูกค้า แล้วเขาขุดขึ้นมาว่าไอ้รางวัลที่หมอระวีวัฒน์ไปรับมาเป็นรางวัลที่ใครมีเงินก็ซื้อได้ แล้วผมจะไปเหลืออะไร” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่า อะไรคือความคับข้องใจกับรางวัลดังกล่าว นพ.ระวีวัฒน์ แจงว่า “ต้องถามหาจรรยาบรรณของคนที่ให้รางวัลครับ แน่นอนว่าควรต้องมีมาตรฐานหรือเกณฑ์การวัด การตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ว่าฉันขอขายของ ให้เธออุดหนุนจ่ายค่าโฆษณาเพิ่มอีกหน่อยนะ แล้วฉันจะเชียร์เธอให้ นั่นกลายเป็นว่าเราตกอยู่ในกระบวนการหลอกลวงของเขานะครับ เพราะมีการซื้อสื่อเพื่อจะให้ได้รับรางวัล มีการจัดงานเพื่อจะได้ขึ้นไปถ่ายรูปบนเวที แน่นอนว่าทุกคนที่ได้รางวัลสุดท้ายแล้วก็ต้องเอารูปไปโปรโมตในสื่อต่างๆ และปลายทางก็คือเอารางวัลไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือปิดการขายในที่สุด ซึ่งต้องบอกว่าในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ในทั่วโลกหรือสายงานอื่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ที่ผิดคือกระบวนการได้มาซึ่งรางวัล ผมมองว่าเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบและกลั่นกรอง ซึ่งสิ่งที่ผมคำนึงถึงคือสุดท้ายปลายทาง ลูกค้าของเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ารางวัลดังกล่าวมันไม่เป็นความจริง วันนี้ผมจึงขอแชร์และบอกกล่าวในเรื่องราวของรางวัลดังกล่าวกับทุกคน การที่ผมจ่ายเงินไปครึ่งล้านเพื่อได้ขึ้นไปรับรางวัลที่ไม่มีมาตรฐานมันยุติธรรมกับลูกค้าของเราหรือ และเมื่อผมถามเจ้าของรางวัลไปตรงๆ คำตอบที่ผมได้รับคือ...I don’t care Thailand.”

จากเหตุผลที่ว่ามา ทำให้ นพ.ระวีวัฒน์ วอล์กเอาต์ พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า “ยอมรับว่าผมอึ้ง มี 3 สถานการณ์ที่ต้องเลือก 1. รับๆ รางวัลไปเถอะ เราจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ลงสื่อไปแล้ว ก็แค่แอคท่าถ่ายภาพเอาไปลงโปรโมทกับลูกค้า แกล้งหลับตาสองข้างไปเลย ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และถ้าผมขึ้นรับรางวัลกลับมา ทีมงานที่โรงพยาบาลมาสเตอร์พีชก็คงไม่มีใครรู้หรอก พวกเขาคงดีใจและเอาชื่อรางวัลนี้ไปคุยอวดกับลูกค้า 2. ไม่รับรางวัล และไม่บอกต่อถึงเหตุผลที่ไม่รับ เพราะถ้าบอกข่าวนี้ออกไปก็เหมือนเราเสียรู้ และ 3. คือไม่รับรางวัล และบอกต่อให้ทุกคนรับรู้

“เหตุผลที่ไม่รับเพราะผมรับไม่ได้กับคุณค่าของตนเองที่ถูกทอนลงในเรื่องความไม่ตรงไปตรงมา และการขึ้นรับรางวัลดังกล่าวยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สื่อเจ้าของรางวัลดังกล่าวในปีหน้า สามารถจะเอาชื่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชไปลงประชาสัมพันธ์ เอาชื่อไปอยู่ในลิสต์คนได้รับรางวัลในปี 2023 เพื่อต่อยอดไปขายรางวัลกับคลินิกหรือโรงพยาบาลแห่งอื่นที่อาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป ซึ่งผมได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วคิดว่าเราไม่ควรขึ้นรับรางวัล มาสเตอร์ควรมีจุดยืน ซึ่งถ้าผมบอกว่าตัวเองเป็นคนดีต่อสังคมจริง การที่ผมออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวพูดคุยออกสื่อในวันนี้นี่ละที่เป็นข้อพิสูจน์ความเป็นคนดีได้ดีมากที่สุด”

บทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ นพ.ระวีวัฒน์ บอกกับทีมงานของตนเองว่า ‘ผิดพลาด’ กับ ‘ผิดคาด’ ไม่เหมือนกัน “ความ ‘ผิดพลาด’ คือไม่ได้ดู และไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน แต่ ‘ผิดคาด’ คือดูแล้วนะ แต่บังเอิญมันยังมีอะไรที่นอกเหนือไปกว่านั้นอีก ซึ่งผมได้ทำหน้าที่ตรวจสอบให้แล้ว โดยการขอดูรายละเอียดการมอบรางวัลในทันทีที่บินถึงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย อย่างชื่อรางวัลก็โอเค ‘Global Health Awards 2023’ สถานที่จัดงานก็โอเค จัดในโรงแรมหกดาว ดูน่าเชื่อถือ แม้จะเลือกจัดในมุมอับมุมหนึ่งของห้องจัดเลี้ยงขนาดเล็กก็ตาม แต่ที่รับไม่ได้เลย คือ การเข้าประเมินสถานที่จริง การไม่มีคณะกรรมการตัดสิน ไม่มีกระบวนการในเชิงลึกทางการตลาด การสอบถามผู้ใช้บริการจริง ไม่มีวิธีการโหวต หรือกระบวนใดเลยที่เป็นมาตรฐานในการมอบรางวัล ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อคลินิก และชื่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในไทย รวมถึงสายการบินที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในงานประกาศรางวัลครั้งนี้ เพราะทุกคนอาจมีศักยภาพสมควรกับรางวัลนั้น ซึ่งถ้าผมเป็นเจ้าของรางวัล ผมอาจจะแอบส่งคนมาเป็นลูกค้าเพื่อสอบถามราคาสักสามรอบ ว่าราคาเหมือนเดิมไหม หรือถามจากซัพพลายเออร์ที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ว่า ที่นี่มียอดการใช้งานในปริมาณที่สูงจริงหรือไม่ นี่คือกระบวนที่ง่ายดายมากเลยครับ แต่เขาไม่คิดทำ”

นพ.ระวีวัฒน์ เผยประเด็นที่เด็ดยิ่งกว่าเมื่อเข้าไปท้วงติง ปรากฏวิธีการแก้ไขปัญหาและคำตอบจากผู้จัดงานที่เขาได้รับ คือ “I’ll Service you คุณได้ 3 รางวัลใช่ไหม เดี๋ยวคุณไปเลือกเพิ่มมาอีก 1 รางวัล อะไรก็ได้เดี๋ยวเขาจะตั้งชื่อรางวัลให้ ผมยิ่งงงไปกันใหญ่ ว่าให้ผมเลือกได้เองเลยหรือ เขาบอกคุณคิดเองได้เลย”

เมื่อถามต่อว่าคดีนี้จะเกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นหรือไม่ นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวว่า “ไม่ใช่ว่าท้าทาย ผมเชื่อว่ามันมีกฎหมายว่าถ้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนเราทำได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือผมไม่ยอมให้ต่างประเทศมาเอาเปรียบ อาศัยช่องว่างของคำว่า Asia-Pacific มาใช้ทำมาหากิน โดยในส่วนของมาสเตอร์ เราตัดสินใจว่าต้องรีบออกมาพูด เพราะไม่อย่างนั้นพอจบงานที่อินโดนีเซีย เขาก็จะเริ่มหาสปอนเซอร์รายใหม่ แล้วจะมีอีกกี่คลินิก กี่โรงพยาบาลที่เขาเอาชื่อไปเคลม เพราะท้ายที่สุดคนที่หลงเชื่อก็คือ ลูกค้าที่ต้องโดนเหมือนเราโดน”

“ผมชอบการแข่งขัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น และดีขึ้นในทุกๆ วัน เรียกว่าเราแข่งกับตัวเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดการแข่งขันโดยที่ไม่ต้องแข่ง การได้อะไรมาโดยที่ไม่ต้องขวนขวาย ผมว่ามันไม่มีคุณค่า และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือผมไม่ชอบชนะใคร โดยที่ผมไม่ได้พยายาม” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top