Monday, 8 July 2024
STOCK

TPL ปลื้ม!! หลังขาย IPO หมดเกลี้ยง 120 ล้านหุ้น ตอกย้ำเป็นหุ้น High Growth จ่อลงสนามเทรด 30 มิ.ย.นี้

📌 (27 มิ.ย. 66) นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL เปิดเผยว่าการเปิดให้จองซื้อหุ้น IP0 ของ TPL จำนวน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.90% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท โดยได้เปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 22-23 และ 26 มิถุนายน 2566 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างศึกคัก ในส่วนของนักลงทุนรายย่อย

"ส่วนราคาหุ้น IPO ซึ่งกำหนดที่ 3.30 บาทต่อหุ้น เป็นระดับราคาที่หมาะสมสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดย TPL เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจโลจิสติกส์ที่แตกต่าง มีความเชียวชาญด้านส่งสินค้าชิ้นใหญ่ น้ำหนักมาก และให้บริการส่งสินค้าทั่วไทย ควบคู่กับการบริหารความเสียงโดยการบาลานซ์พอร์ตลูกค้า B2B, B2C, C2C  ได้อย่างดีเยี่ยม และ TPL เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ และเชื่อว่าจะเป็นหุ้น IPO น้องใหม่ขวัญใจนักลงทุนได้แน่นอน" นายวรนันท์ กล่าว

ทางด้าน นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL กล่าวว่า ภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้หนึ่งในแผนของบริษัทฯ คือ การปรับไปใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้รถน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีขบวนรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทุกประเภท จำนวน 300 คัน และในส่วนของพันธมิตรอีก 100 คัน จากการศึกษาทดลองนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งานจริงในครึ่งหลังของปีนี้ จะทำให้สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้กว่า 50% จึงมั่นใจว่จะทำให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการสร้างรายได้และผลักดันให้อัตราการทำกำไรเพิ่มสูงขึ้น และสนับสนุนองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการขนส่งภายใต้สโลแกน ‘ส่งหนัก ส่งใหญ่ ส่งทั่วไทย ใช้ TPL’ ด้วยระบบ Green logistics ในอนาคตอีกด้วย

โดยในปีนี้บริษัทฯ ได้ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 15-20% ซึ่งเป็นการเติบโตได้ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-5% ขณะที่เป้าหมายของอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 18-20% เนื่องจากการเข้าระดมทุนในตลาด Mai จะสามารถลดต้นทุนทางการเงินและการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดสมกับคุณสมบัติการเป็นหุ้น High Growth ได้อย่างแท้จริง" นายภัทรลาภ กล่าว

อนึ่ง ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.41 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 278% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.90% จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.53 เท่า

‘บุญเอื้อ จิตรถนอม’ ผู้ถือหุ้นเบอร์ใหญ่ ‘OTO’ กดขายหุ้นรวดเดียว 21 ล้านหุ้น เหลือถือ 9.6143%

📌 (27 มิ.ย. 66) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานแบบรายงานการได้มาและการขายหุ้น (แบบ 246-2) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 โดยนายบุญเอื้อ จิตรถนอม ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO

พบว่าได้ดำเนินการขายหุ้น OTO จำนวน 21,067,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.6558% โดยทำธุรกรรมผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ส่งผลให้ภายหลังการทำธุรกรรมในครั้งนี้ นายบุญเอื้อ จิตรถนอม เหลือสัดส่วนการถือหุ้น OTO อยู่จำนวน 76,264,799 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9.6143%

ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานว่า ได้แจ้งข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 เกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้น OTO ที่สภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระหว่างวันที่ 12-22 มิ.ย. 2566 ว่า ราคาปรับลดลงมากเกิดจากการขายกระจุกตัวในกลุ่มบุคคล ทำให้เกิดการบังคับขาย (Force sell) ในเวลาต่อมา โดยสัดส่วน Short selling และ Program trading น้อยมาก นั้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแจ้งข้อเท็จจริงว่าปริมาณการ Short selling และ Program trading ในช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 2566 ว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญไปจากช่วงก่อนหน้า สรุปดังนี้

1. ราคาปรับตัวลดลง 89.07% จาก 16.2 บาท เป็น 1.77 บาท (ช่วงวันที่ 12-22 มิ.ย. 2566) และราคาลดลง 20.34% จาก 1.77 บาท เป็น 1.41 บาท (ช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 2566)

2. เกิดจากการขาย กระจุกตัวในกลุ่มบุคคล ช่วงแรก กระจุกตัว 30-50% ของปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน หลังจากนั้นกระจุกตัวต่อเนื่องจากการ Force sell (ช่วงวันที่ 12-22 มิ.ย. 2566 และกระจายผ่านการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ (ช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 2566)

3. Short selling 0.005% ของปริมาณการซื้อขาย (ช่วงวันที่ 12-22 มิ.ย. 2566) แต่ไม่มี (ช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 2566)

4. Program trading 1.60% (ช่วงวันที่ 12-22 มิ.ย. 2566) ของปริมาณการซื้อขาย และ 6.06% ของปริมาณการซื้อขาย (ช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 2566)

5. มาตรการกำกับการซื้อขาย อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 1 (ช่วงวันที่ 12-26 มิ.ย. 2566)

6. ข่าวสำคัญ ไม่มีพัฒนาการสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพการซื้อขาย (ช่วงวันที่ 12-22 มิ.ย. 2566) แต่มีกรรมการลาออก 1 ท่าน ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร (ช่วงวันที่ 23-26 มิ.ย. 2566)

โบรกฯ ชูหุ้น ‘GFPT-CPF’ คาด ‘ส่งออก-ราคาไก่พุ่ง’ หลัง ‘มาเลเซีย’ ไฟเขียวรับรองโรงผลิตปศุสัตว์ ‘ไทย’

🔴 (26 มิ.ย. 66) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ ว่า มาเลเซียได้ประกาศรับรองโรงงานผลิตปศุสัตว์ของไทยเพิ่มอีก 11 แห่ง ได้แก่ โรงฆ่าไก่ 7 แห่ง โรงฆ่าเป็ด 1 และโรงงานผลิตนม 3 แห่ง หลังจากเดินทางมาตรวจเดือน ก.พ. - มี.ค. ซึ่งคาดการณ์ปี 2566 มูลค่าส่งออกไปมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10% คิดมูลค่าที่เพิ่ม 1.5 พันล้านบาท

🟢 ทั้งนี้ KCS Strategist มองบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออกสัตว์ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) หรือ BR โดยเน้น 'GFPT' ราคาเป้าหมาย 14 บาท และ 'CPF' ราคาเป้าหมาย 23 บาท จากแนวโน้มการส่งออกไก่และราคาไก่ดีขึ้น

SAFARI แจ้งบริษัทย่อย 'บมจ. ภูเก็ตแฟนตาซี’ 'ขอผ่อนผัน-ยืดจ่ายหุ้นกู้' 7 รุ่น กว่า 2.2 พันล้าน

📌 (26 มิ.ย. 66) บมจ.ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAFARI เปิดเผยว่า บมจ.ภูเก็ตแฟนตาซี ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้กำหนดนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 มูลค่าหุ้นกู้รวม 2,288.70 ล้านบาท จำนวน 7 รุ่น  ในวันที่ 26 มิ.ย.66 เวลา 10.00 น. (หุ้นกู้ลำดับที่ (1) – (3)) และเวลา 13.00 น. (หุ้นกู้ลำดับที่ (4) – (7)) คือ

(1) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 2/2562 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “PHUKET208A”
(2) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 4/2562 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “PHUKET20DA”
(3) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 5/2562 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “PHUKET206A”
(4) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 1/2561 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “PHUKET207A”
(5) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 6/2562 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “PHUKET207B”
(6) หุ้นกู้มีประกันครั้งที่ 7/2562 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “PHUKET216A”
(7) หุ้นกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้แบบมีหลักประกันครั้งที่ 1/2564 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2567 หรือ “หุ้นกู้ปรับโครงสร้าง”

วาระการพิจารณา คือ ขอผ่อนผันให้ภูเก็ตแฟนตาซี ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขเรื่องการดำรงไว้ซึ่งอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio) ในอัตราส่วน 4:1 เท่า ณ วันสิ้นงวดบัญชีรายไตรมาสหรือวันสิ้นปีบัญชี ไม่ให้ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ และขอผ่อนผันการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเหตุผิดนัดดังกล่าว

และขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการแบ่งชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.65 ซึ่งกำหนดจะชำระดอกเบี้ยคงค้างที่ตั้งพักไว้ทั้งหมดในวันที่ 30 ส.ค.66 เป็นกำหนดชำระดอกเบี้ยคงค้างที่ตั้งพักไว้ดังกล่าว ในวันที่ 30 ธ.ค.67 โดยที่กำหนดวันชำระดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ทุกรุ่นยังคงเดิม

รวมทั้ง ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.65 จากเดิม ผู้ออกหุ้นกู้ชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วน 5% ของมูลค่าเงินต้นหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนในวันที่ 30 ธ.ค.66 และ 10% ของมูลค่าเงินต้นหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนในวันที่ 30 เม.ย.67 และเงินต้นหุ้นกู้ส่วนที่เหลือจะชำระในวันครบกำหนดไถ่ถอน เป็น ผู้ออกหุ้นกู้จะชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ในวันครบกำหนดไถ่ถอน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิ ใบหุ้นกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าว

‘BYD-NEX-EA’ ดิ่งยกแผง!! ร่วงรับเหตุไฟไหม้รถเมล์ไฟฟ้า

📌 (26 มิ.ย.66) ราคาหุ้นกลุ่ม EA ร่วงยกแผงรับเหตุรถเมล์ไฟฟ้าของไทยสมายล์บัสไฟไหม้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ณ เวลา 11:00 น. อยู่ที่ระดับ 55.25 บาท ลบ 2.75 บาท หรือ 4.75% ราคาสูงสุด 57.75 บาท ราคาต่ำสุด 55.00 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 368.26 ล้านบาท

บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ณ เวลา 11:02 น. อยู่ที่ระดับ 10.00 บาท ลบ 0.70 บาท หรือ 6.54% ราคาสูงสุด 100.70 บาท ราคาต่ำสุด 9.95 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 58.94 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ณ เวลา 11:05 น. อยู่ที่ระดับ 6.05 บาท ลบ 0.30 บาท หรือ 4.72% ราคาสูงสุด 6.40 บาท ราคาต่ำสุด 6.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 21.81 ล้านบาท

ทางด้าน นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถเมล์สาย 8 เมื่อวันเสาร์ 24 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) หรือพนักงานน่าจะต่อสายไฟฟ้าผิด ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น

"ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากตัวแบตเตอรี่ เนื่องจากหากเกิดจากแบตเตอรี่น่าจะพบตั้งแต่แรกที่เอามาใช้แล้ว แต่คันที่ไฟไหม้ เดินรถมา 11 เดือนแล้ว แต่ขณะนี้เรายังไม่ได้รับการรายงานข้อเท็จจริง"

OTO ร่วง 15% หลัง ‘บัณฑิต สะเพียรชัย’ ทิ้งเก้าอี้ CEO ส่งผลให้แผนระดมทุน PP เป็นอันต้องพับเก็บ

📌 (26 มิ.ย.66) ราคาหุ้นบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ณ เวลา 10:28 น. อยู่ที่ระดับ 1.54 บาท ลบ 0.27 บาท หรือ 14.92% สูงสุดที่ระดับ 1.63 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.47 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 78.02 ล้านบาท

ด้านนายคณาวุฒิ วรรทนธิรัช ประธานกรรมการบริหาร OTO แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 มีมติที่ประชุมรับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทของนายบัณฑิต สะเพียรชัย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และมีมติอนุมัติแต่งตั้งรองศาสตราจารย์ดร.อภิวัฒน์ มุตตามระ เป็นกรรมการแทนกรรมการที่ลาออกโดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป

โดยภายหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท จะประกอบด้วยกรรมการ 10 คน ได้แก่

1. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ประธานกรรมการ กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ 
2. ดร.ชูเกษ อุ่นจิตติ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
3. นายภัทกฤซ เตชะศิกานต์ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
4. นายไพรยง ธีระเสถียร กรรมการอิสระ
5. นายคณาวุฒิ วรทนธิรัช กรรมการ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 
6. นายชัยวัฒน์ พิทักษ์รักธรรม กรรมการ 
7. นายสมคิต ลิขิตปริญญา กรรมการ 
8. นายศรายุทธ์ ยิ้มเรือน กรรมการ 
9. นางณารีรัตน์ เงินนำโชคธรัตน์ กรรมการ 
10. รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ มุตตามระ กรรมการ

พร้อมกันนี้ บอร์ดมีมติอนุมัติแต่งตั้งนายคณาวุฒิ วรรทนธิรัช เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการสรรหาบุคคลเพื่อมารงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการ OTO เพิ่งจะมีมติอนุมัติแต่งตั้งนายบัณฑิต สะเพียรชัย เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป (เท่ากับว่านายบัณฑิต ยังไม่ทันได้นั่งเก้าอี้ซีอีโออย่างเป็นทางการ) เพื่อเตรียมขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนช่วงครึ่งหลังปีนี้ ทำให้บริษัทจะมีรายได้ประจำ (Recuring Income ) สนับสนุนธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต นอกเหนือจากรายได้ธุรกิจ Contact Center และ Call Center

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากราคาหุ้น OTO ที่ปรับลงแรงอย่างต่อเนื่อง หลังขึ้นไปทำจุดสูงสุด 24.40 บาท (วันที่ 30 พ.ค. 2566) จากแรงเก็งการเดินหน้าเข้าสู่กำไรธุรกิจใหม่ด้านพลังงานทดแทน แต่หลังจากนั้นหุ้น OTO ถูกกระหน่ำขายออกมาอย่างหนัก จนล่าสุด (23 มิ.ย.) ปรับลงมาเหลือเพียง 1.81 บาท หรือปรับลงกว่า 22.59 บาท หรือปรับลงกว่า 92.50% ประกอบกับการลาออกของนายบัณฑิต สะเพียรชัย ดังกล่าว จะส่งผลให้แผนการระดมทุนผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้แก่นักลงทุน 4 ราย จำนวน 50,000,000 หุ้น ได้แก่

1. Capital Asia Investments PTE. LTD. จำนวน 20,000,000 หุ้น 
2. นายยศวีย์ วัฒนธีระกิจจา จำนวน 20,000,000 หุ้น 
3. นายนพพร วิฑูรชาติ จำนวน 5,000,000 หุ้น 
4. นางสาวรฐา วีรพงษ์ จำนวน 5,000,000 หุ้น 
โดยราคาหุ้นละ 16 บาท มีอันต้องล่มลงไปด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ OTO ระบุว่า หากแผนการเพิ่มทุนแบบ PP ไม่สำเร็จ บริษัทยังมีแนวทางอื่นในการจัดหาเงินทุน เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าลงทุนธุรกิจพลังงานตามเป้าหมายได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน กระแสเงินสดที่เกิดจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ OTO-W1 ครั้งที่ 1 และเงินฝากในบัญชีบริษัท โดยเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการเข้าลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป

บล.เคจีไอ ชี้ ‘HMPRO’ ปัจจัยบวกรายล้อม คาด!! ยอดขาย-กำไร ปี 2/66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

📌(26 มิ.ย. 66) บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ส่องหุ้น HMPRO หรือ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดยระบุในบทวิเครราะห์ว่า คาดอุปสงค์น่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ตัวชี้วัดทางด้านอุปสงค์ยังคงมีแสดงสัญญาณการฟื้นตัว ได้แก่ i) การฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) และ ii) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูล ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดัชนี CCI ในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 55.7 เพิ่มขึ้น MoM ติดต่อกันเป็น เดือนที่สิบสองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

ในขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคง เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคนในเดือนเมษายน 2566 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรวม ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 8.7 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 31% ของสมมติฐานเต็มปีของฝ่ายวิจัยที่ 28 ล้านคน

ฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรสุทธิของ HMPRO ใน Q2/66 จะอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท (+10% YoY, +4% QoQ) จากยอดขายที่ฟื้นตัวขึ้น จากภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมที่เอื้ออำนวย ฝ่ายวิจัยคาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 1.84 หมื่นล้านบาท (+13% YoY, +7% QoQ) เนื่องจาก i) คาดว่า same store sales (SSS) จะเพิ่มขึ้น 6% ใน Q2/66 และ ii) ขยายสาขาเพิ่มเป็น 123 ร้านเมื่อสิ้นงวด Q2/66 (จาก 114 ร้านเมื่อสิ้นงวด Q2/65 และ 120 ร้านเมื่อสิ้น งวด Q1/66) 

ฝ่ายวิจัยคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ขยายตัวในช่วง 10-30bps ตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้มาอยู่ที่ 25.9% (+0.2ppts YoY, -0.2ppts QoQ) จากการคัดสรรสินค้า ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าสัดส่วนยอดขาย ของ MegaHome ที่เพิ่มขึ้น (อัตรากำไรขั้นต้นของ MegaHome ต่ำกว่าของ HomePro ประมาณ 3-4ppts) ฝ่ายวิจัยคาดว่าค่าใช้จ่าย SG&A จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 พันล้านบาท (+11% Yoy, +7% QoQ) คิดเป็นสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายที่ 18.6% สะท้อนถึงการขยายสาขาร้าน และต้นทุนสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น

ฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรของ HMPRO จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง HoH ใน 2H66 จากปัจจัยฤดูกาล และจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากกำไรในงวด 1H66 คิดเป็น 46% ของประมาณการกำไรเต็มปี ดังนั้น กำไรปีนี้จึงน่าจะเป็นไปตามประมาณการกำไรปีของฝ่ายวิจัย ซึ่งคาดว่าจะโต 14% YoY แนะนำ ‘ซื้อ’ และประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 16.50 บาท

หุ้น JMART ร่วงแรง -10% แม้ออกโรงปฏิเสธข่าวลือ

📌(26 มิ.ย. 66) หุ้นบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ราคาปรับตัวลงแรง 10% และมีมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น แม้บริษัทจะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวลือต่าง ๆ เมื่อสัปดาห์ก่อนก็ตาม

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น JMART อยู่ที่ 14.40 บาท ลบ 1.60 บาท หรือ 10% ระหว่างวันราคาลงมาต่ำสุดที่ 14.30 บาท โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 317.28 ล้านบาท 

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน JMART แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ตามที่มีข่าวในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับบริษัทจะถูกตรวจสอบการซื้อขาย และข่าวลือต่าง ๆ ในห้องค้าหลักทรัพย์ฯ นั้น ขอชี้แจงว่า ข่าวและสารสนเทศดังกล่าวเป็นข่าวลือไม่เป็นความจริง โดยไม่มีที่มาอย่างแท้จริงจากแหล่งข่าว และแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งข่าวดังกล่าวได้สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อบริษัท 

ทั้งนี้ บริษัทยังคงดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าหมาย และปฎิบัติตามแนวทางหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน (Good Corporate Governance)

JMART ยังระบุในเอกสารเผยแพร่เช่นกันว่า ขอแจ้งปฏิเสธข้อมูลตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง ระบุอ้างถึง แหล่งข่าวจากห้องค้าหลักทรัพย์ กล่าวว่า จากราคาหุ้นกลุ่มเจมาร์ท อาทิ JMART - JMT ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นผลจากมีกระแสข่าวออกมาสะพัดในห้องค้าหลักทรัพย์ว่า มีโอกาสที่หุ้นในกลุ่มนี้จะโดนตรวจสอบการซื้อขายอย่างเข้มงวด และอ้างอิงกับหุ้นที่ประสบปัญหาตัวอื่นในตลาดฯ ดังนั้นบริษัทที่ต้องสงสัยจะถูกตรวจสอบ ทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจผิด และเกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ จึงขอปฏิเสธว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่ใช่การประกาศอย่างเป็นทางการจากตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ดี กลุ่มเจมาร์ท ให้ความสำคัญในการบริหารงานบนหลักธรรมภิบาล และยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต แม้มีปัจจัยภายนอกกระทบ สร้างความกังวลต่อนักลงทุน และราคาหุ้นที่ปรับลดลง แต่เรายังขอให้ความมั่นใจว่า ในระยะยาวกลุ่มบริษัทมี Ecosystem ที่แข็งแกร่ง และเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ในฝั่งของผู้บริหารจะเดินหน้าทำงานด้วยความเต็มที่ และจะพิสูจน์ด้วยผลงานที่กลับมาฟื้นตัว หลังมีการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

โดยเจมาร์ทยังได้ปรึกษาในประเด็นดังกล่าวกับทางตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งสารสนเทศผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อชี้แจง และปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ซึ่งหากมีการพูดถึงในประเด็นที่ไม่เป็นความจริงที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์ หรือสื่อต่างๆ เราจะดำเนินการเพื่อรักษาองค์กรที่เราดำเนินมากว่า 35 ปี และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลท.มาแล้ว 14 ปี อยู่บนความถูกต้อง และตรวจสอบได้ 

นักลงทุนสาย VI ควรขายหุ้นตอนไหน หากไม่อยากปล่อยให้กำไรกลายเป็นขาดทุน

📌‘ขายหุ้นตอนไหนดี’ น่าจะเป็นคำถามยอดฮิตของนักลงทุนในตลาดหุ้นทุกคนโดยเฉพาะกับนักลงทุนมือใหม่ อย่างที่ทราบกันดีว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะแนะนำในช่วงการ ‘เข้าซื้อหุ้น’ แต่ไม่ได้บอกว่าควรจะ ‘ขายหุ้น’ ตอนไหน ทั้ง ๆ ที่การหาจังหวะขายหุ้นเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้ การเลือกซื้อหุ้นดี เพราะเป็นจุดที่สร้างผลกำไรในการลงทุน ทว่านักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) หรือสายการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment : VI) ที่เน้นถือลงทุนในระยะยาว หลายครั้งมักจะติดกับดักเรื่องนี้ และบ่อยครั้งที่ปล่อยให้กำไรกลายเป็นขาดทุนไปเรียบร้อย

ในการซื้อหุ้นเพื่อถือลงทุนในระยะยาวนั้น ช่วงการเข้าซื้อส่วนใหญ่มักเลือกจังหวะได้ถูกต้อง อดทนถือเก่ง แต่พอถึงจังหวะต้องขาย กลับกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่รู้จะขายตรงไหนดี จนพลาดโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสมในบางครั้ง หรือช่วงที่ตลาดไม่เป็นใจ ก็ตัดขาดทุนไม่ทัน จนพอร์ตเสียหายหนักกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อธรรมชาติการลงทุนของเรานั้นเป็นสายเน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ค้นหาหุ้นที่ใช่ แล้วให้ใจกันไปยาว ๆ หรือที่มักมีคำพูดในแวดวงนักลงทุนกันว่า เลือกหุ้นที่ใช่ แล้วไปให้สุด แต่คำถามก็คือ อะไรจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรขายหุ้นได้แล้ว

ทั้งนี้ การที่จะขายหุ้นออกไปในแต่ละครั้งนั้น ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ

หนึ่ง… ขายหุ้นเพื่อทำกำไร

สอง… ขายหุ้นเพื่อหยุดขาดทุน

สาม… ขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน

สิ่งที่มักจะเห็นได้ทั่วไป เวลาเห็นหุ้นที่ถืออยู่มีราคาสูงขึ้น เรามักจะเข้าข้างตัวเองและชะล่าใจว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่บ่อยครั้งที่ไม่ได้เป็นอย่างใจคิด จึงแนะนำให้นักลงทุนกำหนดหลักการให้ชัดเจน หากเมื่อไหร่หุ้นที่ถือเข้าเงื่อนไขดังนี้ ก็ควรขายออกจากพอร์ตเพื่อเก็บเกี่ยวผลกำไร

ขายหุ้นเพื่อทำกำไร

1. ราคาหุ้นวิ่งมาถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
การคัดเลือกหุ้นโดยปัจจัยพื้นฐาน สุดท้ายแล้วเราต้องประเมินมูลค่าหุ้น ไม่ว่าจะมาจากมุมมองของนักลงทุนเอง ประเมินเบื้องต้นจากอัตราส่วนทางการเงิน เช่น P/E , P/BV รวมถึงราคาเป้าหมายต่าง ๆ จากการอ่านบทวิเคราะห์ ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึงราคาเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สิ่งที่ควรทำคือการตัดสินใจขายหุ้นเพื่อทำกำไร

เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 5 บาท ประเมินราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปีไว้ที่ 6 บาท ผ่านไป 3 เดือน ราคาหุ้นทยอยปรับขึ้นไปถึงมูลค่าพื้นฐาน 6 บาทแล้ว ก็อย่าลังเลที่จะขายหุ้น เพราะการได้กำไร 30% จากการลงทุนครั้งนี้ เป็นกลยุทธ์ที่เราคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้น อย่าให้อารมณ์และความโลภมาชี้นำว่าหุ้นจะขึ้นได้อีกจนเกินมูลค่าพื้นฐาน

2. ราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
การที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นราวกับจรวดจนเกินมูลค่าที่แท้จริงไปเยอะแล้ว เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น แรงหนุนจากภาวะตลาด พื้นฐานธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือแม้แต่เกิดแรงเก็งกำไรทำให้หุ้นวิ่งเกินพื้นฐาน กรณีนี้หากหุ้นขึ้นมาถึงระดับที่เรามีกำไรแล้ว ก็สามารถตัดสินใจขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไรก่อนได้ แล้วค่อยรอจังหวะเข้าเก็บหุ้นคืนเมื่อราคาปรับตัวลง

หรือหากวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วว่าราคาหุ้นขยับขึ้น เพราะศักยภาพการดำเนินธุรกิจในอนาคต เราสามารถใช้เทคนิคทยอยขายทำกำไรตามราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ เช่น เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปทุก ๆ 10% จะทยอยขายหุ้นที่ถืออยู่ 10% เป็นต้น วิธีนี้ช่วยให้ไม่พลาดจังหวะเวลาหุ้นขึ้น เป็นการล็อกผลกำไรได้บางส่วน แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

การขายหุ้นเพื่อหยุดขาดทุน

สิ่งที่ทุกคนไม่อยากเจอนั่นคือ ‘การขาดทุน’ เพราะหากสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว กว่าจะทำให้เงินก้อนนั้นกลับมาเท่าเดิมนั้นยากมาก สมมติ เริ่มลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท ขาดทุน 30% หรือ 3,000 บาท เหลือเงิน 7,000 บาท แปลว่าถ้าต้องการให้เงินกลับมาเท่าทุน จะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้ถึง 43%  

จะเห็นได้ว่า ยิ่งขาดทุนหนักขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องพยายามสร้างผลตอบแทนในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้น แนวคิดที่ว่า ‘ไม่ขายไม่ขาดทุน’ อาจจะไม่ถูกต้องนัก บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเจ็บแต่จบ โดยการรักษาเงินต้น และหยุดขาดทุน (Stop Loss) ให้เร็วที่สุด ด้วยการขายหุ้นออกไปเมื่อเจอสถานการณ์ ดังนี้

1. ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไป
ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ผลประกอบการ โครงสร้างธุรกิจ กลยุทธ์การเติบโต ผู้บริหาร การแข่งขันในตลาด จนไปถึงภาวะเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น มีคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้า เกิดการปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหาร พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป มีการออกนโยบายจากภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

หากเราสังเกตเห็นแล้วว่ามีบางอย่างที่จะทำให้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จนอาจกระทบมูลค่าของหุ้นในอนาคต การตัดสินใจขายหุ้นทิ้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

2. วิเคราะห์หุ้นผิดพลาด

การประเมินมูลค่าหุ้นเป็นศาสตร์และศิลป์ ประกอบด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมุมมองที่แหลมคมของแต่ละบุคคล ดังนั้น ต่อให้คิดคำนวณมาเป็นอย่างดีแค่ไหน ก็มีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ

แต่สิ่งสำคัญก็คือถ้ารู้แล้วว่า ‘วิเคราะห์ผิด’ ทั้งในแง่ของการดำเนินธุรกิจ เช่น ประเมินว่าบริษัทนี้โตเร็ว แต่ความจริงแล้วกำไรที่เห็นเป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือคิดผิดในแง่ของราคาหุ้นที่ไม่สะท้อนมูลค่า ถือรอมานานหลายปี ราคาก็ยังไม่ไปไหนสักที แบบนี้การตัดใจขายหุ้นทิ้งก็คงดีกว่า

ตั้งจุดหยุดขาดทุนสำหรับมือใหม่

การตั้งจุดหยุดขาดทุนไม่ได้มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ เทคนิคที่ง่ายที่สุด คือ นำ % ที่รับได้หากขาดทุน มาคูณกับราคาต้นทุนที่ซื้อหุ้น เช่น ซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท ตั้ง % ตัดขาดทุนไว้ที่ 5% ดังนั้น จุดหยุดขาดทุนอยู่ที่ 10 x 5% = 0.50 บาท แปลว่าหากราคาหุ้นที่ถือลดลงจาก 10 บาท เป็น 9.50 บาท (10 - 0.50) บาท ต้องตัดสินใจขายเพื่อหยุดขาดทุน

ขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน

การหมั่นทบทวนและปรับพอร์ตลงทุน (Rebalance) โดยจัดสัดส่วนของสินทรัพย์ต่าง ๆ ให้กลับมาอยู่ในนโยบายการลงทุนที่วางแผนไว้ รวมถึงสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาส หรือทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปีเป็นอย่างต่ำ ซึ่งในบางครั้งยามที่ตลาดเคลื่อนไหวเป็นขาขึ้น หุ้นในพอร์ตอาจมีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง สูงเกินความต้องการ

ยกตัวอย่างเช่น กำหนดสัดส่วนของหุ้นในพอร์ตที่ 60% ตราสารหนี้ 40% แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราคาหุ้นพุ่งขึ้น สัดส่วนพอร์ตเปลี่ยนเป็นหุ้น 70% ตราสารหนี้ 30% ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมสูงขึ้น นักลงทุนจึงควรปรับสัดส่วนสินทรัพย์ให้กลับมาเท่าเดิม ด้วยการขายหุ้นออกไป แล้วนำเงินไปซื้อตราสารหนี้เพิ่มเติม

สรุปแล้วสัญญาณที่บ่งบอกให้เราตัดสินใจขายหุ้น คือ ‘ราคาขึ้นสูงมาถึงจุดที่ต้องการแล้ว’ ‘พื้นฐานแย่ลง’ ‘ปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม’ แต่จุดสำคัญที่สุด คือ เราต้องสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำ ภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ ซึ่งบทวิเคราะห์การลงทุนถือเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้แบบครบทุกมิตินั่นเอง

วิเคราะห์หุ้น EA หนืดระยะสั้น วิ่งระยะยาว หลังยอดส่งมอบ EV Bus เริ่มกระเตื้อง

📌หุ้น EA กลับเข้าเรดาร์นักลงทุนอีกครั้ง หลังโบรกฯ คาดยอดส่งมอบ EV Bus เริ่มกระเดื้อง ก่อนพีคสุด H2/66 มองอุตสาหกรรม EV อยู่ในรอบการเติบโต สบโอกาสอัพกำลังผลิตแบตเตอรี่ Q3/66 สู่ระดับ 2 GWh ก่อนถึงระดับ 4 GWh ช่วง Q1/67 ดันงบปี 66 - 68 โตเฉลี่ย 15% ต่อปี แถมมอง Valuation หุ้นยังถูก

>>กลับสู่ความสนใจ รับงบ Q2/66 โต YoY
หุ้น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กลับสู่ความสนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หลังนักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/66 ของ EA มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

โดย บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พาย ระบุสาเหตุที่ทำให้คาดว่า กำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ของ EA จะเดิบโตขึ้นจากปีก่อนเป็นเพราะได้รับแรงหนุน จากยอดขายรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เบื้องต้นคาดการณ์ไว้ที่ราว 800 คัน

นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุน จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะคาดว่า ฤดูฝนของปีนี้จะสั้นกว่าปีก่อน สืบเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยคาดว่า ปัจจัยทั้งหมดจะชดเชยผลกระทบจากราคาขายในธุรกิจไบโอดีเซลที่ลดลง หลังอุปทานล้นตลาด

>> คาด H2/66 เร่งส่งมอบ EV Bus มากขึ้น
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าการส่งมอบ EV Bus ของ EA จะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังอยู่ในช่วงการส่งมอบให้กับกลุ่ม Thai Smile Bus ที่ต้องเร่งเพิ่มจำนวนรถเพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางที่ได้รับสัมปทาน (เพิ่มเป็นอย่างน้อย 3 พันคัน จากเดิม 2 พันคัน)

ขณะเดียวกัน บริษัทเริ่มมีการเจรจากับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อเสนอขาย EV Bus เพิ่มเติมเช่นกัน ทั้งนี้ เราคาดว่า ความคืบหน้าทั้ง 2 ดีล จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 66 (H2/66)

เช่นเดียวกับ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ที่มองว่า การส่งมอบ EV Bus ของ EA จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ช่วงครึ่งหลังของ 1/66 โดยบริษัทยังคงเป้าส่งมอบ EV Bus ให้กับกลุ่ม Thai Smile Bus ไม่ต่ำกว่า 3 พันคัน ภายในปี 66

>>จ่อเพื่อกำลังผลิตแบตเตอรี่ รับอุปสงค์พุ่ง
บล.พาย ระบุว่า EA ประเมินอุปสงค์ในปี 68 ด้วยมูลค่าแบตเตอรี่ EV สำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ในไทย จะสามารถยืนเหนือระดับ 4.5 GWh ได้ ส่งผลให้บริษัท มีแผนจะขยายกำลังการผลิตธุรกิจแบตเตอรี่เป็น 2 GWh ในช่วงไตรมาส 3/66 และจะเพิ่มเป็น 4 GWh ในไตรมาส 1/67

ทั้งนี้ เรามีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการเพิ่มกำลังผลิตดังกล่าวของ EA เนื่องจากมีความเห็นสอดคล้องกับบริษัท ว่าอุปสงค์ของตลาดดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และคาดว่า โครงการดังกล่าว จะสามารถสร้างผลตอบแทนดีให้กับ EA ได้ในระยะยาว

>>EV ขาขึ้น ดันกำไรปี 66-68 โตเฉลี่ยน 15%
บล.พาย ประเมินกำไรปกติปี 66 - 68 ของ EA มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี มีปัจจัยหนุนจากยอดขายรถบัส และ รถบรรทุกไฟฟ้า ที่เติบโตขึ้น โดยคาดปี 66 จะเพิ่มเป็น 3.3 พันคัน เทียบปีก่อนอยู่ที่ 1.16 พันคัน ก่อนจะเพิ่มสู่ระดับ 4 - 5 พันคัน/ปี ในช่วงปี 67 - 68 หนุนโดยกำลังซื้อของลูกค้าหลักอย่างกลุ่ม Thai Smile Bus

ปัจจุบัน Thai Smile Bus เดินรถอยู่ 122 เส้นทาง ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ประกอบกับ EA ยังเดินหน้าหาลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง เราเชื่อว่า นโยบายการส่งเสริมจากรัฐบาลชุดใหม่จะรวมถึงการทดแทนรถนัสเก่าระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย EV Bus ตามข้อเสนอขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

>>โบรกฯ มอง Valuation หุ้นยังน่าสนใจสะสม
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า มูลค่า (Valuation) ณ ปัจจุบัน ของ EA กลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น หลังราคาหุ้น Underperform SET ราว 5% และ 12% ในช่วง 1 เดือน และ 3 เดือน ที่ผ่านมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ที่มีการส่งมอบ EV Bus ล่าช้ากว่าคาด

รวมถึงยอดคำสั่งซื้อในอนาคต และความกังวลต่อข่าวลบ เกี่ยวกับคุณภาพของแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตาม เรายังแนะนำ ซื้อ จาก Valuation หุ้น ณ ปัจจุบัน เทรดอยู่ในระดับที่ต่ำ เทียบกับผลการดำเนินงานปี 66 คิดเป็น P/E ที่ 26 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่อยู่ในระดับ 36 เท่า

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เสริมว่า ยังคงคำแนะนำการลงทุน EA เป็นซื้อเช่นเดิม เนื่องจากราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน มีอัพไซด์ค่อนข้างสูงกว่า 20% แต่แนะนำถือลงทุนระยะยาว 12 เดือนขึ้นไป จากแนวโน้มอุตสาหกรรม EV เติบโต แต่ในระยะสั้น การฟื้นตัวของราคาหุ้นมีโอกาสถูกจำกัด จากความเสี่ยงเข้าสู่ Recession อาจส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสู่ EV ช้ากว่าคาดได้

>>ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ ‘ซื้อ’
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ ‘ซื้อ’ เนื่องจากมองว่า ผลการดำเนินงาน
ของ EA ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องถึงปี 68 เป็นอย่างน้อย หนุนโดยอุตสาหกรรม EV ที่เติบโต ตาม
การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ระบบพลังงานสะอาด อีกทั้ง Valuation หุ้น ณ ปัจจุบัน ยังค่อนข้างถูก อีก
ด้วย

กล่าวโดยสรุป 
บล.ยูโอบีฯ แนะนำซื้อ ในราคา 100 บาท
บล.ดีบีเอสฯ แนะนำซื้อ ในราคา 93 บาท
บล.หยวนต้า แนะนำซื้อ ในราคา 80 บาท
บล.ดาโอ แนะนำซื้อ ในราคา 80 บาท
บล.พาย แนะนำซื้อ ในราคา 68 บาท
ราคาเฉลี่ยคือ 84 บาท

หากอ้างอิงข้อมูลของนักวิเคราะห์ ดูเหมือนว่าผลการดำเนินงานระยะสั้นของ EA ยังถูกฉุดรั้งนิดหน่อย ตามการส่งมอบ EV Bus ช่วงครึ่งปีแรกล่าช้ากว่าคาด แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า จะสามารถเร่งส่งมอบได้มากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และสามารถรักษายอดการส่งมอบให้อยู่ในระดับสูงได้ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนผลการดำเนินงานในระยะ
ยาว

‘กูรู’ แนะเก็บ ‘ADVANC-CBG’ เชื่อ!! ไตรมาส 2-3 โตเด่น

📌นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS เปิดเผยว่าสถานการณ์มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น หุ้นหลาย ๆ ตัว ยกเว้น DELTA นั้น มีการดีดตัวขึ้นมาและมีผลตอบรับในเชิงบวก อาทิ กลุ่มแบงก์ กลุ่ม commerce แต่ด้านตลาดหุ้นไทยนั้นโดนหุ้น DELTA กดลบไปประมาณ 20 บาท ส่งผลให้ SET index ปรับตัวลงค่อนข้างแรง

นอกจากนี้ยังมีการติด cash หรือความเสี่ยงที่จะหลุด SET50 คาดว่าหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA จะไม่ปรับตัวลงแรงอีก แต่ภาพรวมของตลาดหุ้นเพื่อนบ้านนั้น เซนติเมนต์นับว่ายังไม่ค่อยดีเท่าไร สืบเนื่องมาจาก 2 ปัจจัย 

ปัจจัยแรก คือ ความกลัวที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก หลังจากที่ตัวเลขการสร้างบ้านถูกเผยออกมาแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นมองว่าค่อนข้างแข็งแรง ซึ่งตัวเลขสร้างบ้านจุดนี้นับว่าเป็นตัว core CPI ของทางด้านสหรัฐอีกด้วย โดยเฟดจะพิจารณาเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ

ส่วนปัจจัยที่สอง คือ ด้านเศรษฐกิจของจีน ถึงแม้ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงไปแล้ว แต่ตลาดยังรู้สึกไม่พอใจเท่าไรนัก เพราะมีเรื่องของการปรับลดประมาณการ GDP ของจีนลงมา เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องกดดันพอสมควร

ทั้งนี้ การตอบรับผลลัพธ์ในเรื่องของการเมืองไทย ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามกำหนดการณ์ที่วางไว้ มองว่ายังมีโอกาสที่จะตอบรับในเชิงบวกได้ และมองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีการรีบาวด์เกิดขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ต้องยอมรับในเรื่องของหุ้น DELTA ที่ปรับตัวลง เรื่องเศรษฐกิจของจีน และเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด ว่ามีส่วนเป็นตัวกดทับตลาด แนะว่าเลือกเล่นเป็นรายตัวน่าจะเหมาะกว่า

ด้านหุ้นที่น่าเก็งกำไรในช่วงนี้ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC มองว่างบในไตรมาส 2/66 จะเติบโตขึ้น เพราะมีการแข่งขันลดน้อยลง ราคาพื้นฐานให้ไว้ที่ 250 บาท และมองว่ามีการปันผลที่ดีด้วย

อีกตัวที่น่าสนใจคือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ตัวนี้ราคาลงมาค่อนข้างลึก ตอบรับในเรื่องงบในไตรมาส 1/66 ออกมาไม่ดี แต่มองว่าเป็นตัว bottom ไปแล้ว เชื่อว่าในไตรมาสที่ 2-3 นั้นจะมีการฟื้นตัวในเรื่องของต้นทุนแก๊สในการผลิต และต้นทุนอะลูมิเนียมนั้นลดลงมาแล้ว โดยราคาพื้นฐานให้ไว้ที่ 82 บาท

นอกจากนี้ ตัว ADVANC ที่แนะนำในราคา 250 บาทนั้น รวมแค่แนวโน้มของผลประกอบการที่จะเติบโตขึ้น ไม่ได้รวมในเรื่องของบริษัท Triple T Boardband ที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยอาจจะมีการ revalue อีกครั้งที่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ตัว ARPU หรือรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคนที่เพิ่มเข้ามานั้น ตอบรับกับกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ DTAC ควบกันไปแล้ว และมีโอกาสมากกว่านี้ เนื่องจากล่าสุดมีโปรโมชันจำพวกใช้อินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด โดยเมื่อก่อนราคาแพ็คเกจอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1,000 บาท แต่ตอนนี้ได้มีการยกเลิกไปแล้วทั้ง 2 ค่าย คือ ADVANC และบริษัทที่ร่วมกันของ TRUE และ DTAC ในส่วนของค่าบริการที่เพิ่มขึ้นมา เชื่อว่าจะสามารถทำให้ตัว ARP ทั้งระบบมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

‘บล.เคจีไอฯ’ มองหุ้นกลุ่ม รพ. ฟื้นตัวแข็งแกร่ง เชื่อ!! ปรับตัว-รับมือสังคมผู้สูงอายุได้ดีเยี่ยม

🔴(23 มิ.ย. 66) บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล โดยให้น้ำหนัก Overweight เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส 1/66 ที่ผ่านมา พบว่าบริษัทในกลุ่มโรงพยาบาลที่อยู่ในการวิเคราะห์ของเคจีไอ พบว่าภาพใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่คาดไว้ โดยผลประกอบการของโรงพยาบาลใหญ่ (BDMS และ BH) ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยฝ่ายวิจัยไม่กังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลใหม่อาจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกเกือบ 30% เป็น 450 บาทต่อวัน ซึ่งจากการสำรวจของฝ่ายวิจัยพบว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานไร้ทักษะที่อัตราใกล้เคียง 450 บาทต่อวันอยู่แล้ว 

🟢สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ทราบดีว่าสัดส่วนประชากรสูงวัยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อพิจารณาในธีมนี้ คาดว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นแนวโน้มอุปสงค์การรักษาพยาบาล และการป้องกันโรคที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวอยู่แล้ว 

⚪อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก เนื่องจากมีบริการรักษาโรคที่มี intensity สูงมากกว่า, ฐานผู้ป่วยกว้างกว่า และฐานเงินทุนใหญ่กว่า ดังนั้น จึงเชื่อว่า BH และ BDMS จะเป็นหุ้นหลักที่ได้อานิสงส์จากพัฒนาการในด้านนี้ เพราะมีการเตรียม platform เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยตามแนวโน้มในอนาคตมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็กก็พยายามจะให้บริการที่เกี่ยวข้องกับประชากรที่สูงวัยมากขึ้นเช่นกัน แต่ยังช้ากว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยฝ่ายวิจัยเคจีไอ ได้เลือกหุ้น BDMS เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มนี้ และให้ราคาเป้าหมายของปีนี้อยู่ที่ 36.50 บาทต่อหุ้น

PRI ควัก 220 ลบ. เข้าซื้อหุ้น ‘โปรเจคส์เอเชีย’ บุกธุรกิจที่ปรึกษางานก่อสร้างแบบครบวงจร

🔴 (23 มิ.ย.66) บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PRI เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2566 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 มีมติอนุมัติให้บริษัท ยูไนเต็ด โปรเจคต์ แมเนจเมนท์ จำกัด (UPM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 เข้าลงทุนโดยการซื้อหุ้นสามัญในบริษัทโปรเจคส์เอเชีย จำกัด (Projects Asia) จำนวน 5,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par value) หุ้นละ 2,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียนของ Projects Asia รวมมูลค่าทั้งสิ้น 220 ล้านบาท

🟢 โดยผ่านกระบวนการการรับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 โดยมีคู่สัญญาจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1) บริษัท เคมบริดจ์ ทิวดอร์ จำกัด (Canbridge) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นจำนวนร้อยละ 75 ใน Projects Asia และ 2) บริษัท ฤาสาย คอนซัลแท้นท์ จำกัด (Ruesai) ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นจำนวนร้อยละ 25 ใน Projects Asia โดย Cambridge และ Ruesai เป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย

⚪ ทั้งนี้ Projects Asia ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาควบคุมโครงการก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างทุกชนิด ให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม ด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง งานควบคุมการออกแบบงาน ควบคุมคุณภาพ รวมถึงงานบริหารต้นทุนโครงการ

KAMART ลบเกือบ 4% โบรกฯ ปรับคำแนะนำเป็น ‘ขาย’ พร้อมหั่นราคาเป้าเหลือ 9.11 บ. แต่คาดกำไรปกติยังคงเติบโต

📌 (23 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ KAMART ณ เวลา 10:33 น. อยู่ที่ระดับ 12.20 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 3.94% สูงสุดที่ระดับ 12.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 12.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 33.29 ล้านบาท

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ ปรับลดคำแนะนำเป็น ‘ขาย’ จาก ‘ถือ’ โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 66 ใหม่ที่ 9.11 บาท ลดลงจากเดิม ที่ 11.4 บาท เนื่องจากรวมการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของ KAMART หลังการประกาศ PP โดยราคาเป้าหมายมาจาก PER ล่วงหน้า 1 ปี ที่ 18.4 เท่า

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 ฝ่ายวิจัยได้จัดการประชุมกับ CEO ของ KAMART เพื่ออัปเดตเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงการเสนอขายหุ้นแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 66 ประเด็นสำคัญคือ 

1.) ข้อตกลงคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสองเดือนแรกของปี 67 
2.) ผู้บริหารยังไม่เปิดเผยผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นจาก PP รวมถึงเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีหน้า
3.) ผู้บริหารชี้แจงว่าจะเปิดเผยรายละเอียดและมูลค่าการผนึกกำลังของการเพิ่มทุนที่อาจเกิดขึ้นภายในไตรมาสที่ 4/66 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ข้อตกลงคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ 
4.) ผู้บริหารบอกเป็นนัยว่ารายรับสุทธิ 1,595 ล้านบาท น่าจะเกี่ยวข้องกับข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในอนาคต 
5.) ข้อตกลง M&A ในอนาคตคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อบริษัทฯ เครื่องสำอางอื่น ซึ่งอาจเป็นบริษัทฯ เครื่องสำอางที่ดำเนินงานในประเทศหรือต่างประเทศ

ดังนั้น จึงคงประมาณการกำไรปกติปี 66/67 ไว้เพื่อรอแนวทางจากผู้บริหาร คาดว่ากำไรปกติของ KAMART จะเติบโต 72% ในปี 66 และ 8% ในปี 67 ด้วยอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่เพิ่มขึ้นตามความนิยมของสินค้าตราห้าง ราคาขายที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเปิดตัวการจ้างผลิตในต่างประเทศ และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น

โดยยังคงมองในแง่ดีเกี่ยวกับการทำ PP ในครั้งนี้ของบริษัทฯ ที่มีความทะเยอทะยานในการขยายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผ่านข้อตกลง M&A ในอนาคตกับบริษัทเครื่องสำอางอื่น ๆ ซึ่งอาจสร้างมูลค่าการผนึกกำลังจากการเติบโตจากภายนอก ในทางกลับกันเชื่อว่าการเป็นหุ้นส่วนกับ Marubeni Corporation ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทฯ ที่มีประสบการณ์สูงในญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้าน Commercial rade จะช่วยให้บริษัทฯ มีโอกาสขยายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เนื่องจากยอดขายในต่างประเทศในปี 66 มีสัดส่วนเพียง 5% ของทั้งหมด แม้ว่าแบรนด์เครื่องสำอางท้องถิ่นของญี่ปุ่น เช่น Shiseido Koh Gen Do และ Kanebo จะได้รับการยกย่องว่าเป็นแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำในญี่ปุ่นก็ตาม

‘AQUA’ ซื้อหุ้น ‘โรงแรมฟลอร่า ครีค เชียงใหม่’ ในสัดส่วน 40.22% ของหุ้นสามัญทั้งหมด

🔴(23 มิ.ย. 66) นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น หรือ AQUA เปิดเผยว่า บอร์ดบริษัทอนุมัติให้บริษัท มันตรา แอสเซ็ท จำกัด (MANTRA) ซึ่งบริษัทย่อย เข้าลงทุนในบริษัท แอท อีส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (AEP) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมภายใต้ชื่อ โรงแรมฟลอร่า ครีค เชียงใหม่ คิดเป็น 40.22% ของหุ้นสามัญทั้งหมด ในมูลค่ารวม 185 ล้านบาท 

🟢โดยทางบริษัทได้วางมัดจำเป็นเงินสด 72 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะชำระส่วนที่เหลือเป็นเงินสดจำนวน 113,000,000 บาท เมื่อการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ MANTRA มีสิทธิแต่งตั้งกรรมการ จำนวน 1 ท่าน จากจำนวน 3 ท่าน ใน AEP


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top