Tuesday, 16 July 2024
STORY

26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 วันเกิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย โดยเจ้าตัวถือเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ที่ผันตัวมาทำงานด้านการเมือง ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

‘ทักษิณ ชินวิตร’ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ปัจจุบันอายุ 74 ปี โดยเจ้าตัวถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2544-2549

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ทักษิณเป็นที่รู้จักในนามของนักธุรกิจเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคม และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 เจ้าตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองภายใต้สังกัดพรรคพลังธรรม และต่อมาได้ก่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในชื่อ ‘พรรคไทยรักไทย’ ในช่วงปี พ.ศ. 2541

และหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงส่งผลให้ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมา พรรคไทยรักไทยยังสามารถกุมฐานเสียงในการเลือกตั้งเอาไว้ได้อีกครั้ง ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่การเป็นนายกฯ ของประเทศไทยเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

ต่อมา รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของทักษิณ ถูกกล่าวหาทั้งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งเจ้าตัวยังถูกเพ่งเล็งในเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี จนเป็นที่มาของเหตุการประท้วง 

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในช่วงที่เจ้าตัวเดินทางไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา เจ้าตัวเดินทางกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 

แต่หลังจากที่ศาลพิพากษาคดีทุจริตที่ดินย่านรัชดาฯ ซึ่งเจ้าตัวมีความผิด ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ทักษิณก็เดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง และไม่ยอมเดินทางกลับนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน ทักษิณ ชินวัตรใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน และยังปรากฎตัว วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ตลอดจนแสดงทัศนะ เรื่องราวกระแสสังคมต่าง ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำ และมีชื่อฉายาใหม่ที่ถูกเรียกขานเพิ่มเติมว่า ‘Tony Woodsome’

วันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ 74 ปีของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทใด ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าตัวยังคงสร้างความสนใจต่อสังคมไทยได้อยู่เสมอ

25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ ไฟลุกไหม้ตกใส่โรงแรมคร่า 113 ชีวิต

วันนี้ในอดีต 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ‘คองคอร์ด’ เครื่องบินเร็วเหนือเสียง เกิดอุบัติเหตุขณะกำลังบินขึ้น ไฟลุกไหม้เครื่องยนต์ และโหม่งโลก ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 113 คน
       
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2543  เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินคองคอร์ด ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 4590  ซึ่งกำลังเดินทางจากปารีสไปนิวยอร์ก ขณะเครื่องบินกำลังบินขึ้นเกิดไฟลุกไหม้และตกลงสู่พื้นดิน

เจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน ได้แจ้งนักบินว่า เห็นเพลิงไหม้ที่ด้านท้ายเครื่อง นักบินได้ตรวจสอบแล้วแจ้งว่า เกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 1  อีก 4 วินาทีต่อมานักบินได้แจ้งว่าเกิดปัญหากับเครื่องยนต์หมายเลข 2 ด้วย จากนั้น สัญญาณเตือนไฟไหม้ดังขึ้นในห้องนักบิน นักบินพยายามนำเครื่องไปร่อนลงที่สนามบินใกล้เคียงแต่เครื่องบินสูญเสียความเร็ว ดิ่งหัวลงสู่พื้นจนเกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 113 คน เป็นผู้โดยสาร 100 คน ลูกเรือ 9 คน และผู้ที่อยู่ในโรงแรมที่ 'คองคอร์ด' ตกใส่อีก 4 คน

จากผลการสอบสวนสรุปว่า สาเหตุการตก เกิดจากมีชิ้นส่วนโลหะที่หลุดออกมาจากเครื่องบินดีซี-10 ของคอนติเนนตัลแอร์ไลน์ ซึ่งบินขึ้นก่อนหน้านั้น 4 นาที กระแทกกับยางล้อด้านซ้ายของ 'คองคอร์ด' ขณะกำลังเร่งเครื่องเพื่อเทคออฟ ยางล้อเกิดระเบิดและมีชิ้นส่วนของยางกระเด็นไปกระแทกถังน้ำมันและสายไฟ และเกิดไฟลุกไหม้ขึ้น

หน่วยงานความปลอดภัยทางการบินได้สั่งระงับ ‘คองคอร์ด’ ทุกเที่ยวบินเพื่อสอบสวนหาสาเหตุและแก้ไข

จากนั้น ‘คองคอร์ด’ เที่ยวบินแรกหลังเกิดอุบัติเหตุ ได้ทำการบินทดสอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2544 และทำการบินพร้อมผู้โดยสารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11  ก.ย. 2544 วันเดียวกับการเกิดวินาศกรรม 9 /11 (ไนน์วันวัน)

อย่างไรก็ตาม จากความตกต่ำของอุตสาหกรรมการบินหลังเหตุการณ์9/11(ไนน์วันวัน)ทำให้แอร์ฟรานซ์และบริติชแอร์เวย์ ตัดสินใจประกาศยกเลิกการใช้งานเครื่องบิน 'คองคอร์ด' ทั้งหมด ในปี 2546 เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยและมีต้นทุนสูง

สำหรับ เครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ ( Concorde) เป็นเครื่องบินขนส่งชนิดมีความเร็วเหนือเสียง มีความเร็วปกติ 2,158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพดานบินสูงสุด 60,000 ฟุต (18.288กิโลเมตร) โดยใช้เวลาศึกษาวิจัยเป็นเวลา 7 ปี ก่อนจะนำเครื่องต้นแบบเริ่มบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2512

เครื่องบิน ‘คองคอร์ด’ มีทั้งสิ้น 20 ลำ เป็นเครื่องที่ใช้ในการพัฒนา 6 ลำ ใช้งานเชิงพาณิชย์ 14 ลำ และตก 1 ลำ
.

24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ‘อาภัสรา หงสกุล’ คว้ามงกุฎนางงามจักรวาล นับเป็นหญิงไทยคนแรก และคนที่ 2 ของเอเชีย

TST = WEB / FB / BD / TW / VK / Treads / LINE OA
TT = WEB / FB



วันนี้ เมื่อ 58 ปีก่อน ‘อาภัสรา หงสกุล’ หญิงไทยคนแรกที่ได้ครองมงกุฎนางงามจักรวาล ในการประกวดที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นนางงามจักรวาลคนที่ 14 ของโลก และคนที่ 2 ของเอเชีย

อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทย ได้รับเลือกเป็น "นางงามจักรวาล” หรือ “Miss Universe" ในเวทีประกวดที่ชายหาดไมอามี รัฐฟลอริดา 


ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) นับเป็นนางงามจักรวาลคนแรกของไทย และเป็นคนที่ 2 จากเอเชีย (หลังจาก อากิโกะ โคจิมะ นางงามจากประเทศญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2502)

ในขณะนั้น อาภัสรา มีส่วนสูง 164 ซม. (5 ฟุต 7 นิ้ว) สัดส่วน 35-23-35 ซม. สามารถชนะใจกรรมการและคว้ามงกุฎมาครองได้สำเร็จ โดยในปีนั้นรองนางงามจักรวาลอันดับที่ 1 คือนางงามจากประเทศฟินแลนด์ รองฯ อันดับที่ 2 จากสหรัฐอเมริกาเจ้าบ้าน รองฯ อันดับที่ 3 จากประเทศสวีเดน และรองฯ อันดับที่ 4 จากประเทศฮอลแลนด์

อนึ่ง อาภัสรา นับเป็นตัวแทนคนที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจาก อมรา อัศวนนท์ รองนางสาวไทย 2496 ซึ่งเป็นตัวแทนคนแรกเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล 1956 ตามด้วย สดใส วานิชวัฒนา ในการประกวดนางงามจักรวาล 1959
 

23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’

 

วันนี้ เมื่อ 109 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนวิชาแต่งหนังสือไทยให้ถูกต้อง

วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง ‘วรรณคดีสโมสร’ ขึ้นเพื่อสนับสนุนวิชาแต่งหนังสือไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย สนับสนุนให้แต่งเรื่องที่อ่านแล้วได้สาระประโยชน์ 

ด้วยปรากฏว่าเวลานั้นผู้แต่งหนังสือไม่ค่อยเอาใจใส่ภาษา การเรียบเรียงภาษาหรือการแปลมักเลียนตามแบบภาษาต่างประเทศ อันเป็นการทำลายภาษาไทยให้เสียไป นอกจากนี้ยังส่งเสริมการประพันธ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการไว้ตรวจคัดเลือกหนังสือที่แต่งดีเพื่อรับพระราชทานรางวัล นับเป็นรางวัลวรรณกรรมที่รัฐได้สร่งเสริมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก 

ในการจัดตั้งวรรณคดีสโมสรนี้ ได้โปรดให้สร้างพระราชลัญจกรขึ้นใหม่ เป็นรูปพระคเณศร์ เพื่อเป็นเครื่องหมายของวรรณคดีสโมสรอีกด้วย
 

22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัย นำประเทศไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1


วันนี้เมื่อกว่า 105 ปีมาแล้ว เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระราชหฤทัย นำประเทศไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2457-2461 โดยเป็นความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย เป็นผู้นำ กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งมีเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เป็นผู้นำ ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ประเทศสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และปราศจากมนุษยธรรม ส่งผลให้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมทั้งส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว 

เป็นที่มาของการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวงเวียน ที่เป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น โดยทำการสร้างบริเวณถนน 3 สาย (ปัจจุบันคือ ถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ) ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาได้พระราชทานนามวงเวียนว่า ’22 กรกฎาคม’

ปัจจุบัน วงเวียน 22 กรกฎาคม กลายเป็นแหล่งการค้าของกรุงเทพมหานครชั้นใน ทั้งนี้ที่บริเวณวงเวียน ยังปรากฎป้ายหินที่จารึกเป็นภาษาไทยและภาษาจีน มีใจความว่า...

อนุสรณ์แห่งนี้เป็นวงเวียนแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ก่อนจะได้รับชัยชนะในเวลาต่อมา
 

21 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ‘นีล อาร์มสตรอง’ มนุษย์คนแรก เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์


วันนี้ เมื่อ 54 ปีก่อน นีล อาร์มสตรอง เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นคนแรกของโลก พร้อมคำกล่าวขณะที่ก้าวลงบนดวงจันทร์ว่า "นี่เป็นก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"

เรือโท นีล ออลเดน อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong) 5 สิงหาคม พ.ศ. 2473 — 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน และเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก

นีล อาร์มสตรอง เกิดที่เมืองวาปาโคเนตา รัฐโอไฮโอ ชื่นชอบเรื่องการขับเครื่องบินมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เรียนการขับเครื่องบินครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 15 ปีแล้วได้รับใบอนุญาตนักบินเมื่อตอนอายุ 16 ปี และเป็นนักบินทดสอบให้กับองค์การนาซามาก่อน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และปฏิบัติภารกิจหลายภารกิจในโครงการเจมินีและโครงการอะพอลโล และยังเคยเป็นนักบินในกองทัพสหรัฐ ปฏิบัติภารกิจ 78 ครั้งในสงครามเกาหลี

พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์ โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

เขากล่าวประโยคนี้เมื่อเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์That’s one small step for man, one giant leap for mankind. นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนนึง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 อาร์มสตรองได้เสียชีวิตในซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ขณะอายุได้ 82 ปี เนื่องด้วยภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐได้กล่าวยกย่องอาร์มสตรองว่าเป็น “บุรุษชาว.
อนึ่ง นีล อาร์มสตรอง เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย และ หนึ่งในสถานที่มาเยือนนั้นคือที่ โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ในต้นฤดูฝน พ.ศ. 2512 มีนักเรียนชื่อ อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ และเพื่อนรวม 6 คน ได้เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยังนีล อาร์มสตรอง ซึ่งแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอะพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้สามารถเล่าให้เราฟังได้มากที่สุดและดีที่สุด” ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ หลังการประสานงาน เมื่อสำนักงานข่าวสารอเมริกัน บรรจุโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ไว้ในรายการเยือนประเทศไทยอีกจุดหนึ่งด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2512 นีล อาร์มสตรอง กลับจากดวงจันทร์ไม่นาน ก็ได้มายืนถ่ายรูปกับครูและนักเรียน ณ โรงเรียนประจำจังหวัดในภาคอีสาน นามว่า “ร.ร.สิรินธร จ.สุรินทร์”

ในการเดินทางมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น ตริตราภรณ์ช้างเผือก ให้แก่เขาด้วย
 

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 คณะปฏิบัติการณ์ฝนหลวง บินทดลองทำฝนเทียมครั้งแรก



คณะปฏิบัติการณ์ฝนหลวง เริ่มบินปฏิบัติการทดลองฝนเทียมกับเมฆฝนบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “ทำให้เมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็นฝน” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินภาคอีสาน เมื่อปี 2498 

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงบนท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงบนท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรกโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbon dioxide ) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และต่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผล โดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้ เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
 

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีหมั้น กับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น)

วันนี้เมื่อกว่า 74 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ โดยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ทรงประกอบพระราชพิธีหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

จุดเริ่มต้นของการสืบสานความผูกพันของทั้งสองพระองค์ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2491 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จจากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยการเสด็จครั้งนั้น มีหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ในฐานะเอกอัครราชทูต ให้การเฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมด้วยครอบครัว

ทั้งนี้ หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่ให้การเฝ้ารับเสด็จฯ ในครั้งนั้น มีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นบุตรีของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล เข้าร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย จึงเป็นที่มาของการที่ทั้งสองพระองค์ทรงได้พบกันเป็นครั้งแรก

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ จึงกลายเป็นความรักความเข้าพระราชหฤทัยซึ่งกันและกัน และสืบสานความผูกพันมากขึ้นเป็นลำดับ

ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีรับสั่งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลไปเฝ้าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระองค์จะเสด็จไปพบหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมที่พัก และทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการหมั้น 

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้นต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งพระธำมรงค์วงนี้ เป็นวงเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระราชพิธีหมั้น เมื่อปี พ.ศ. 2462 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการประจำพระองค์ ทำหนังสือแจ้งข่าวที่ทรงหมั้นมายังรัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น รัฐบาลได้แจ้งประกาศข่าวอันเป็นมงคลนี้ให้พสกนิกรทราบ ยังความปลื้มปีติยินดีแก่เหล่าประชาชนชาวไทยถ้วนทั่วหน้ากัน

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 สวนสนุก ‘ดิสนีย์แลนด์’ แห่งแรก เปิดให้บริการในแคลิฟอร์เนีย

วันนี้ เมื่อ 68 ปี ก่อน ‘ดิสนีย์แลนด์’ เปิดให้บริการครั้งแรก ที่เมืองแอนาเฮม รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ดิสนีย์แลนด์พาร์กหรือดิสนีย์แลนด์ สวนสนุกแห่งความฝัน ที่สร้างความสุขให้กับคนทั่วโลก โดยเมื่อ 68 ปีก่อน ดิสนีย์แลนด์แห่งแรกของโลก ได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 หรือปี ค.ศ. 1955 ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแอนาเฮม รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

โดยสวนสนุกแห่งนี้เป็นสวนสนุกดิสนีย์แลนด์เพียงแห่งเดียวที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของวอลต์ ดิสนีย์ นักสร้างการ์ตูนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

วอลต์ ดิสนีย์ ได้นำเสนอแนวคิดดิสนีย์แลนด์หลังจากไปเที่ยวสวนสนุกที่ต่าง ๆ พร้อมกับลูกสาวของเขาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 และ 1940 เขาจินตนาการถึงการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ติดกับสตูดิโอของเขาในเบอร์แบงก์เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแฟน ๆ ที่อยากไปเยี่ยมชม

แต่อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าเขาก็ตระหนักว่าขนาดเนื้อที่ ที่เสนอไปนั้นมีขนาดเล็กเกินไป ดิสนีย์จึงได้ซื้อพื้นที่ 160 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 409 ไร่ ในเมืองแอนาเฮม รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เริ่มก่อสร้างโครงการสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ขึ้นโดยมีความตั้งใจให้สวนสนุกนี้เป็นสถานที่ที่ให้ทั้งความสุขและความรู้กับเด็กและผู้ใหญ่ที่เข้ามาเยี่ยมชม

และแล้วโครงการสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ก็ได้เปิดให้บริการในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1955 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชื่นชมเหล่าตัวการ์ตูน เครื่องเล่นและบรรยากาศความยิ่งใหญ่อลังการณ์ที่พร้อมจะมอบความสุข ให้กลับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความสุขจะไม่ได้มาโดยง่ายขนาดนั้น เพราะในวันเปิดสวนสนุกวอลต์และทีมงานก็ได้พบกับปัญหา เพราะว่าดินแดนแห่งความฝันของพวกเขานั้นยังสร้างไม่เสร็จ แม้แต่ยางมะตอยที่ถนนก็ยังแห้งไม่สนิท อีกทั้งอาหารและเครื่องดื่มหมดในเวลาอันรวดเร็ว เรือล่องน้ำชมวิวก็เกือบจะล่มเพราะผู้โดยสารเยอะเกินไป และที่แย่ที่สุดคือ พบว่าคนที่เข้ามาเล่นในสวนสนุกหลายพันคนใช้ตั๋วปลอม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ดิสนีย์แลนด์ต้องขาดทุน

หลังจากนั้น สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ก็ได้รับการฟื้นฟูปรับปรุงจนกลายมาเป็นดินแดนในฝันของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกตามความต้องการของวอลต์ ดิสนีย์ และแม้ว่าวอลต์จะเสียชีวิตใน พ.ศ. 2509 แต่สวนสนุกในชื่อของเขาก็ยังคงทำหน้าที่เติมเต็มความสุขและความหวังของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่อไป
 

ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก ภายใต้รหัส ‘Trinity’ ของกองทัพสหรัฐฯ


Trinity เป็นชื่อรหัสของการทดสอบการระเบิดของอุปกรณ์นิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก โดยฝ่ายกองทัพสหรัฐฯ เมื่อเวลา 5.29 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

การทดสอบมีขึ้นที่ทะเลทราย Jornada del Muerto ห่างจากเมือง  Socorro รัฐนิวเม็กซิโกราว 56 กิโลเมตร ซึ่งในสมัยนั้นถูกใช้เป็นสนามสำหรับการซ้อมการทิ้งระเบิดและซ้อมยิงของกองทัพอากาศสหรัฐ แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสนามทดสอบขีปนาวุธ White Sands Missile Range 

สิ่งปลูกสร้างเดียวในพื้นที่ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ชื่อ  McDonald Ranch House ที่นักวิทยาศาสตร์เป็นห้องปฏิบัติการณ์สำหรับทดสอบอุปกรณ์ของระเบิด จึงมีการตั้งเบสแค้มป์ขึ้นที่นั่น โดยขณะที่มีการทดลองระเบิด มีผู้คนมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ 425 คน

ชื่อ Trinity กำหนดให้ใช้โดย J. Robert Oppenheimer ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการลอส อลามอส  โดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของ John Donne  อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นระเบิดพลูโตเนียมที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า The Gadget มันมีการออกแบบ แบบเดียวกับระเบิด  Fat Man ที่ต่อมาถูกนำไปถล่มใส่เมืองนางาซากิของญี่ปุ่นเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 การทดสอบวางแผนและอำนวยการโดย Kenneth Bainbridge และมีการซักซ้อมกันก่อนเมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 โดยการระเบิดวัตถุระเบิดขนาด 98 ตันพร้อมด้วยไอโซโทปกัมมันตรังสีการระเบิดของ The Gadget ปล่อยแรงระเบิดออกมา 22 กิโลตันทีเอ็นที

 

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ประเทศไทยสูญเสียดินแดน ครั้งที่ 7 ยกเขมรและ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม

เมื่อ 156 ปีก่อน ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนต้องศึกษาและจดจำ

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 เป็นอีกวันที่คนไทยทั้งชาติควรศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน กับเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่อันสำคัญในการรักษาอำนาจอธิปไตย ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กับความเจ็บปวดที่แลกมากับการต้องสูญเสียดินแดน เขมรและเกาะ 6 เกาะ เป็นพื้นที่ 124,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 7 จากทั้งหมด 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 จวบจนปัจจุบัน

สำหรับการเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ นั้น สืบเนื่องจากการทำสงครามระหว่างไทยกับญวนหลายปี เพื่อแย่งชิงเขมรส่วนนอก หรือที่เรียกว่า "อานามสยามยุทธ" ซึ่งภายหลังได้มีการตกลงกันว่า จะให้เขมรเป็นประเทศราชของสยามต่อไป แต่ก็ต้องส่งบรรณาการไปให้ญวนเสมือนประเทศราชของญวนด้วย แต่ไทยมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์เขมรดั่งเดิม

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองด้วง เป็นกษัตริย์แห่งเขมร สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ สมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ แต่ในปี 2397 เขมรได้แอบส่งสารลับไปยังฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกู้ดินแดนที่เสียให้ญวณกลับมาอยู่กับเขมรอีกครั้ง และมาช่วยคุ้มครองเขมรให้พ้นจากทั้งอำนาจของสยามและญวน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชการที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นักองราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ต่อจาก สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ที่เสด็จสวรรคต โดยในช่วงก่อนปี 2406 นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลัง ทั้งทางกองเรือและทางการทูต

ทำให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยอมให้อำนาจแก่ฝรั่งเศส ในการเข้ามาปกครอง และให้เขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยมีพระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์อยู่ และได้ทำสัญญากันในปี 2406 ฝรั่งเศสเข้ามาเอาผลประโยชน์ โดยเอาเปรียบทางการค้าไทย และต้องการดินแดนเพื่อเข้าไปใกล้กับแม่น้ำโขง เพราะต้องการจะล่องเรือเข้าไปยังจีนผ่านทางนั้น

อย่างไรก็ตาม สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชา โดยทำสนธิสัญญาลับสยาม - กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ.2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน แต่เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ก็ได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา

ทั้งนี้เมื่อฝ่ายสยามประเมินแล้วเห็นว่า ไม่มีทางจะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ จึงต้องยอมไปใน พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867) โดยสยามจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส รับรองให้เขมรส่วนนอกด้านติดกับโคชินไชนา รวมเกาะอีก 6 เกาะ เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส หลังจากฝรั่งเศสบังคับกษัตริย์นโรดมพรหมบริรักษ์แห่งเขมร ให้ยอมยกดินแดนดังกล่าวไปอยู่ใต้การปกครอง

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548  ยูเนสโก ประกาศให้ ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’  เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน ที่ประชุมยูเนสโกประกาศให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เป็น #มรดกโลก ทางธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ นับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็นผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบๆ

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ได้แก่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

ลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของภูเขาใหญ่น้อยแห่งเทือกเขาสันกำแพง โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มียอดเขาสูงสุดของพื้นที่ สลับกับพื้นที่ราบและทุ่งระหว่างหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชนิดป่า ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า โดยเฉพาะยังเป็นแหล่งที่อยู่อายของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลานชนิด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ ๆ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี ลำพระเพลิงและลำตะคอง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศในอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก การดูผีเสื้อ การส่องสัตว์ การล่องแก่ง ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ เป็นต้น

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประสูติ เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (พระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร) เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

 

 

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริให้ ‘เลิกทาส’


วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 หรือวันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน คือจุดเริ่มต้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะ "เลิกทาส" 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริของพระองค์ว่าจะ ‘เลิกทาส’ กลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์เอง ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417

จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 หรือ 31 ปีต่อมา พระองค์จึงจะทรงสามารถออก ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ อันเป็นการสิ้นสุดระบบทาสโดยถาวรไปจากสยามประเทศ

40 วัน หลังจากทรงประกาศพระราชดำรินี้ คือวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงออก ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ คือการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของค่าตัวทาส ซึ่งมักจะมีการโก่งและขึ้นราคา เนื่องจากนายทาสมักจะนิยมสะสมทาสเพื่อแสดงศักดิ์ และบารมีของตนเอง โดยพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ แต่จะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมาเท่านั้น และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ ‘พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน ‘วันเลิกทาส’

 

 

11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์


11 กรกฎาคม ครบรอบ 135 ปี วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทรงมีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวีสิริกัลยาณี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์ 

พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายก ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์

ในช่วงปลายรัชกาล ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคตนั้น เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายขึ้นในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2231 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ประทับอยู่ที่ลพบุรี และทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิชัยดิษฐ์ในปัจจุบัน

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

 


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top