Monday, 8 July 2024
STORY

28 มกราคม พ.ศ. 2551 ‘สมัคร สุนทรเวช’ ได้คะแนนเสียงจาก สส. ให้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกฯ คนที่ 25’ ของไทย

‘สมัคร สุนทรเวช’ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคที่พัฒนามาจากพรรคไทยรักไทยในอดีตที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และทำให้นายสมัครได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2551 ครั้งนั้นมีเรื่องสำคัญที่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์หยิบขึ้นมาพูดคุยกัน 2 ประเด็น คือ 1.) การเสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ และ 2.) การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงเกือบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ฝ่ายพรรคพลังประชาชนกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงไม่ห่างกันมาก ที่สำคัญคือภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สส.ของแต่ละพรรคไม่จำเป็นต้องทำตามญัตติพรรค สส.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อิสระตามความคิดของแต่ละคน ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแข่งกับ นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน

ซึ่งในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ มีการลุกขึ้นชี้แจงของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ส่วนฝ่ายพรรคพลังประชาชนไม่ต้องการให้มีการอภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ จึงเสียเวลาประชุมหาข้อสรุปกันในเรื่องนี้

ทั้ง 2 ฝ่ายต่างชิงไหวพริบกันในที่ประชุม โดยหลังจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจึงมีการประชุมเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ โดยนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ (แบบสัดส่วน) มีความเห็นว่า “เพราะนายกเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ วิสัยทัศน์การบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ผมคิดว่าจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและที่สำคัญคือความซื่อสัตย์”

ขณะที่นายสุขุมพงศ์ โง่นคํา สส.พรรคพลังประชาชน (แบบสัดส่วน) จากกาฬสินธุ์ เห็นแย้งว่า “ในการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลก็ออกมาแล้วว่าพรรคพลังประชาชนชนะได้เสียงข้างมาก 233 เสียง นั้นก็แสดงถึงเจตนาของประชาชนแล้วที่เปล่งเสียงออกมาว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงนั้นมีการแสดงวิสัยทัศน์กัน 45 วัน ทั้งกลางวันและทั้งกลางคืน ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้รับทราบรู้ดีกันมาโดยตลอดถึงคุณสมบัติถึงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายในการที่จะบริหารราชการแผ่นดิน”

เมื่ออภิปรายกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้วจึงมีมติให้เลิกประชุมเรื่องอภิปรายการแสดงวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน แล้วให้มาเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน เพราะเป้าหมายการประชุมในวันนี้คือการเลือกนายกรัฐมนตรี มิใช่การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และผลปรากฏว่านายสมัครชนะนายอภิสิทธิ์ ด้วยคะแนนเสียง 310 ต่อ 163, งดออกเสียง 3, ไม่อยู่ในที่ประชุม 1 ดังนั้นนายสมัครจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

27 มกราคม ของทุกปี วันรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล ‘กองทัพแดง’ ปลดปล่อยเชลยศึกจากค่ายนาซี

เหตุการณ์ฮอโลคอสต์ ถือเป็นความทรงจำที่เลวร้ายที่สุดของชาวยุโรป นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากความเกลียดชังในใจมนุษย์จนนำไปสู่การทำลายล้าง และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุ้นให้เรารู้จักยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น

คำว่า ‘ฮอโลคอสต์’ ในความหมายของนักประวัติศาสตร์มักใช้อ้างถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปราว 6 ล้านคน โดยพรรคนาซีเยอรมันช่วงปี 1941-1945 ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของโลก เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุด มีการวางแผนสังหารหมู่อย่างเป็นระบบโดยการสนับสนุนของรัฐบาล และมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ทั้งนี้ วันที่ 27 มกราคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวันรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล หรือ International Holocaust Remembrance Day เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตปลดปล่อยเชลยศึกนาซีในค่าย Auschwitz-Birkenau ค่ายกักกันและค่ายมรณะของนาซีที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1945

26 มกราคม พ.ศ. 2366 ครบรอบ 201 ปี การจากไปของ ‘เอดเวิร์ด เจนเนอร์’ ผู้คิดค้น ‘วัคซีนโรคฝีดาษ’ ชนิดแรกของโลก

ย้อนกลับไป 201 ปี ‘เอดเวิร์ด เจนเนอร์’ เผชิญกับการตกเลือดในสมอง ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2366 ทำให้ส่วนขวาของร่างกายเป็นอัมพาต ส่งผลให้เขาไม่ได้ฟื้นตัวและเสียชีวิตในวันถัดมาด้วยอาการสโตรกที่ชัดเจนครั้งที่สองในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2366 โดยมีอายุ 73 ปี ซึ่งศพของเขาได้รับการฝังที่ห้องสุสานครอบครัวที่โบสถ์นักบุญแมรี บาร์กลีย์

โดย เอดเวิร์ด เจนเนอร์ เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดวัคซีนและผลิตวัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนชนิดแรกของโลก ทั้งนี้ คำว่า ‘วัคซีน’ และ ‘การให้วัคซีน’ มาจากคำว่า Variolae vaccinae (ตุ่มหนองของวัว) ซึ่งเป็นคำที่เจนเนอร์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเรียก ’ฝีดาษวัว‘ ใน พ.ศ. 2341 โดยเขาใช้ศัพท์นี้ในหัวข้อ Inquiry into the Variolae vaccinae known as the Cow Pox เพื่อกล่าวถึงผลการป้องกันโรคฝีดาษจากฝีดาษวัว

ทั้งนี้ ในโลกตะวันตก เจนเนอร์ มักได้รับการกล่าวถึงเป็น ‘บิดาแห่งวิทยาภูมิคุ้มกัน’ และกล่าวกันว่าผลงานของเขาได้ช่วยเหลือ ’หลายชีวิตมากกว่าผู้ใด‘ ซึ่งในสมัยของเจนเนอร์ ประชากรโลกประมาณ 10% เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยในเมืองและนครที่โรคแพร่กระจายได้ง่าย ตัวเลขพุ่งสูงถึง 20% ใน พ.ศ. 2364 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีบาร์กลีย์ เป็นสมาชิกราชสมาคม ในด้านสัตววิทยา และเป็นหนึ่งในนักวิชาการสมัยใหม่กลุ่มแรกที่กล่าวถึงภาวะกาฝากของนกคัคคูอีกด้วย

25 มกราคม พ.ศ. 2510 วันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ จุดกำเนิด ‘มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ในปัจจุบัน

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2510 ตรงกับวันก่อตั้ง ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก’ โดยสาเหตุของการก่อตั้งเกิดจาก วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู

อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ

โดย 'ดร. สาโรช บัวศรี' ถือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497

และได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่างๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม พ.ศ. 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม พ.ศ. 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม พ.ศ. 2512)

หลังจากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกนั้น จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่นๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

และในช่วงปี พ.ศ. 2527-2531 ทางวิทยาเขตได้เตรียมแผนสำหรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ยกฐานะวิทยาเขตพิษณุโลก ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ 

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ว่า ‘มหาวิทยาลัยนเรศวร’ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย

ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางมหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดพะเยา โดยปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา และในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศในระดับมัธยมให้กับนักเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง

24 มกราคม พ.ศ. 2555 ย้อนรอยเหตุการณ์ ‘พลุ-ดอกไม้ไฟระเบิด’ จ.สุพรรณบุรี บ้านเรือนไฟโหมกว่า 50 หลัง - บาดเจ็บอีกหลายราย

เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 ท่ามกลางงานรื่นเริงรับเทศกาลวันตรุษจีน ได้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้น ณ อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในวันนั้นได้มีการจัดงาน ‘ตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์’ โดยจัดขึ้นในช่วงวันที่ 23-29 มกราคม พ.ศ. 2555 มี นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี 

โดยเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นในเวลา 19.30 น. ในระหว่างการแสดงพลุดอกไม้ไฟไพโรเทคนิคชุด ‘ปีทองมังกรสวรรค์อวยชัยให้พรตรุษจีน’ ได้เกิดเหตุพลุจำนวนมากระเบิดขึ้นพร้อมกัน จนสามารถเห็นเป็นลำแสงที่พุ่งสู่ท้องฟ้าในยามค่ำคืนและเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกไฟได้ตกใส่บ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งติดกันอยู่กันนับร้อยหลังคาเรือนจนเกิดไฟโหมไหม้กว่า 50 หลัง ทั้งยังมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 75 ราย และเสียชีวิต 4 ราย นอกจากนี้หลังจากเหตุการณ์ได้มีผู้มาแจ้งความเสียหายของบ้านเรือนทั้งหมด 435 หลัง ซึ่งมีกว่า 71 ราย ที่บ้านเสียหายทั้งหลัง อีกทั้งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดเช่นกัน 

ซึ่งผลจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งทางภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยการจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวขึ้น และในส่วนของพื้นที่จัดงานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดล้อมไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ และได้เข้าตรวจสอบในตอนเช้าของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยนายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่วิทยาการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้ระเบิด เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ  

หลังจากเหตุการณ์นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ขอร้องให้ยกเลิกงานโดยทันที ส่งผลให้งานต้องยกเลิกเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย อีกทั้งส่งผลให้จังหวัดอื่นๆ ยกเลิกการแสดงดอกไม้ไฟการแสดงพลุด้วยเช่นกัน  

23 มกราคม พ.ศ. 2494 วันเกิด ‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายาในตำนาน ‘จอมยุทธขลุ่ย’

‘ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ ‘อาจารย์ ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี’ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2494 ที่ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยการศึกษาปทุมวันและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและวิทยาลัยครูจันทรเกษม จึงถูกเรียกติดปากว่า อาจารย์ธนิสร์ ได้เข้าร่วมวงคาราบาว ในปี พ.ศ. 2526 พร้อมกับ เทียรี่ เมฆวัฒนา และเป้า - อำนาจ ลูกจันทร์ ในการเป็นนักดนตรีแบ็กอัปในห้องอัดของอโซน่า เมื่อคาราบาว โดยแอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ได้มาอัดเสียงที่นี่ และชักชวนเข้าร่วมวง

ทั้งนี้ บทบาทของ อ.ธนิสร์ ในวงคาราบาวนั้นนับว่าโดดเด่นมาก โดยจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่ง คีย์บอร์ด และการประสานเสียง แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และความสามารถเฉพาะก็คือการเป่าขลุ่ย โดยเฉพาะในเพลง เมด อิน ไทยแลนด์ ที่อยู่ในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของวงนั้น อ.ธนิสร์ ได้เป่าทั้งเพลง รวมทั้งการส่งเสียงแซวในเนื้อเพลงด้วย จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกสีสันประจำตัวเมื่อมักจะแซวสมาชิกในวงคนอื่นๆ โดยเฉพาะแอ๊ดเมื่อเล่นคอนเสิร์ตเสมอๆ ทำให้ อ.ธนิสร์ เปรียบเสมือนสีสันของวง

ซึ่ง อ.ธนิสร์ ได้แยกตัวออกจากวง เมื่อปี พ.ศ. 2531 ภายหลังวงคาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 คือ ทับหลัง โดยขัดแย้งในความเห็นกับแอ๊ด นับเป็นสมาชิกคนแรกที่แยกตัวออกไป จากนั้นเทียรี่และเป้าก็แยกออกจากวงคาราบาวตาม อ.ธนิสร์ ไปด้วย หลังจากนั้นทั้งสามคนได้ร่วมกันออกอัลบั้มชุดแรกของพวกเขาในปี พ.ศ. 2532 ชื่อชุด ขอเดี่ยวด้วยคนนะ มีเพลงที่ได้รับความนิยม ซึ่งร้องโดย อ.ธนิสร์และเทียรี่ คือ วันเกิด และ เงินปากผี

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ก็ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของตนเองชื่อชุด ‘ลมไผ่’ มีเพลงที่เป็นที่จดจำ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีความไพเราะมาก คือ ทานตะวัน ที่นำเนื้อร้องมาจากบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจากการชมทุ่งทานตะวัน ที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางไปพร้อมกับวงคาราบาวในการทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ ซึ่งเป็นการร้องประสานเสียงพร้อมเสียงขลุ่ย

และนับแต่นั้น อ.ธนิสร์ ก็ได้ทำงานที่ชื่นชอบและถนัดของตนเอง มีผลงานออกมาหลายชุด ซึ่งโดยมากเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านหรือเพลงไทยประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีร่วมสมัย หลายชุดก็เป็นการร่วมงานกับศิลปินเพื่อชีวิตคนอื่นๆ เช่น สุรชัย จันทิมาธร หรือ วิสา คัญทัพ เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2538 ก็ได้กลับมาร่วมงานกับคาราบาวอีกครั้ง ในชุด หากหัวใจยังรักควาย อันเป็นการกลับมาร่วมทำงานด้วยกันของสมาชิกวงในยุคคลาสสิกทั้ง 7 คน

ในปี พ.ศ. 2547 อ.ธนิสร์ได้ร่วมกับ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และหมู - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ออกอัลบั้มร่วมกันในชุด ‘เพลงแผ่นดิน จาก 3 คีตกานต์กวี’ ซึ่งก็ได้นำเพลงทานตะวันมาทำดนตรีและร้องใหม่โดยหมูด้วย

อ.ธนิสร์ มีชื่อเล่นว่า เล็ก ซึ่งไปซ้ำกับชื่อของเล็ก - ปรีชา ชนะภัย สมาชิกอีกคนของวง ดังนั้น อ.ธนิสร์ เมื่ออยู่ในวงจึงไม่ถูกเรียกชื่อเล่นเหมือนสมาชิกคนอื่นๆ โดยผลงานสุดท้ายที่ทำร่วมกับคาราบาว คือ การเป่าขลุ่ยในเพลง เดือนแรม ในอัลบั้ม 'สาวเบียร์ช้าง' ในปี พ.ศ. 2544 แต่ในการแสดงสดนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 อ.ธนิสร์ ได้ขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกับคาราบาวถึง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือในคอนเสิร์ต 35 ปี คาราบาว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อ.ธนิสร์ ได้รับการยอมรับว่า เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถและความชำนาญอย่างมากในการเล่นดนตรีประเภทเครื่องเป่า โดยเฉพาะขลุ่ย จนได้รับฉายาว่า จอมยุทธขลุ่ย นอกจากนี้แล้ว ยังสนใจในแนวดนตรีแจ๊สอีกด้วย โดยนำแนวทางการเล่นแบบแจ๊สมาประยุกต์ใช้ในการเป่าขลุ่ย จนได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จาก Thailand International Jazz 2016 จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2559

22 มกราคม พ.ศ. 2486 รัฐบาล ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ประกาศให้ใช้ “สวัสดี” เป็นคำทักทาย

ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 โดยมอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวประกาศในวันนี้

โดยคำว่า “สวัสดี” นั้น จะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่า “สวัสดี” คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้

ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่า “สวัสดี” พร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลต่อทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟัง และยังสามารถเพิ่มเสน่ห์ในตัวบุคคลได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามก่อนใช้คำว่าสวัสดีนั้น คำทักทายของคนไทยสมัยก่อนไม่มีรูปแบบคำเฉพาะตายตัว แต่เป็นคำที่มาจากความรู้สึกจากใจ บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง

21 มกราคม พ.ศ. 2453 วันเกิด ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ บุคคลสำคัญของโลก สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล

นายเอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ครูเอื้อ’ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า ‘ละออ’ ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น ‘บุญเอื้อ’ และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ‘เอื้อ’ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

1.) หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล สุนทรสนาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2.) นางเอื้อน แสงอนันต์
3.) นายเอื้อ สุนทรสนาน

ซึ่ง ครูเอื้อ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ แล้วจึงมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท (ภาคบ่าย) โดยครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และอาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

ต่อมาได้เรียนดนตรีกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทะยะกร) เริ่มทำงานในกรมมหรสพ และได้ร้องเพลง ‘ในฝัน’ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ถ่านไฟเก่า’ เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขณะทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน มีผลงานเพลงกว่า 1,000 เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาล เพลงสถาบัน เพลงรัก เพลงสะท้อนสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย

ตลอดระยะเวลาการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักและอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือ เพลงพรานทะเล

ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน

20 มกราคม พ.ศ. 2539 ’สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ‘ เป็นองค์ประธานในพิธี ปล่อย ‘เรือหลวงจักรีนฤเบศร’ ลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน สเปน

เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศรลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540

โดย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกและลำเดียวในขณะนี้ของราชนาวีไทย ใช้ปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน ยาว 182.50 ม. กว้างสุด 30.50 ม. กินน้ำลึก 6.25 ม. ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า และเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 26 นอต ทหารประจำเรือ 601 คน ทหารประจำหน่วยบิน 758 คน สามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) อีก 6 เครื่อง ใช้งบประมาณในการสร้าง 7 พันล้านบาท

19 มกราคม พ.ศ. 2545 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์  ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ออกแบบอาคารโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน

โดยโครงสร้างหลักของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยเหล็กและแก้ว ซึ่งยาห์นบอกว่านี่เป็น ‘สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21’ โดยสนามบินแห่งนี้ได้เริ่มเปิดทดลองใช้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท

18 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันกองทัพไทย’ รำลึกพระนเรศวรทำยุทธหัตถีมีชัยต่อทัพพม่า

วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีและมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทยตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ปีเถาะ พ.ศ. 2098 ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอีกด้วย

ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า องค์พระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกัน ณ เมืองหงสา และได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ ความสามารถต่างๆ เพื่อรอวันที่จะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความกตัญญูของสมเด็จพระนเรศวร ที่มีต่อพระเจ้าบุเรงนอง ที่ชุบเลี้ยงดูแลจนเติบใหญ่ จึงไม่ทำการขัดขืนใดๆ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรได้กลับมาปกครองยังพระนครกรุงศรีอยุธยา และด้วยวิชาความรู้และความสามารถของพระองค์ ได้ทำการรบข้าศึกต่างๆ และชนะเรื่อยมา จนเป็นที่เกรงกลัวของข้าศึกเป็นอย่างมาก จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรได้ทำการยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่าและเอาชนะได้ในที่สุด โดยการยุทธหัตถีนั้น หมายถึงการต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการต่อสู้ของกษัตริย์เพราะต่อสู้ตัวต่อตัว ตัดสินแพ้ชนะกันที่ความคล่องแคล่ว แกร่งกล้า และผู้ใดที่ทำการยุทธหัตถีชนะ จะได้รับการยกย่องพระเกียรติยศสูงสุดอีกด้วย

และอีกเหตุการณ์หนึ่งของพระนเรศวรมหาราชคือการยิงปืนข้ามแม่น้ำสโตงถูกสุรกรรมาจนตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 35 พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ 37 พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ 40 พรรษา เสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมรและแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปี พ.ศ. 2148 รวมสิริพระชนมายุได้ 50 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 15 ปี

17 มกราคม พ.ศ. 2376 ‘รัชกาลที่ 4’ ทรงค้นพบ ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง’ ยกย่องให้เป็น ‘มรดกแห่งความทรงจำของโลก’

จารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ 1 เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่ง ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ทรงค้นพบขณะผนวชอยู่ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่ 1 บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า 'กู' เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า 'กู' แต่ใช้ว่า 'พ่อขุนรามคำแหง' เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่ 3 ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย

ทั้งนี้จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น 'มรดกความทรงจำแห่งโลก' เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”

อย่างไรก็ตาม จารึกหลักที่ 1 นี้เอง ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจารึกดังกล่าว โดย ‘พิริยะ ไกรฤกษ์’ นักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา ออกความเห็นว่า การใช้สระในศิลาจารึกนี้แนะว่าผู้สร้างได้รับอิทธิพลมาจากระบบพยัญชนะยุโรป เขาสรุปว่าศิลาจารึกนี้ถูกบางคนแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น 

ซึ่งนักวิชาการเห็นต่างกันในประเด็นว่าด้วยความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ ผู้ประพันธ์บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ยังยึดถือความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้รอยจารึกดังกล่าวและภาพลักษณ์ของสังคมสุโขทัยในจินตนาการยังเป็นหัวใจของชาตินิยมไทย และ ‘ไมเคิล ไรท์’ นักวิชาการชาวอังกฤษ เสนอแนะว่าศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ทำให้เขาถูกขู่ด้วยการเนรเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย

ทางด้าน ‘จิราภรณ์ อรัณยะนาค’ เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

16 มกราคม พ.ศ. 2447 ‘กระทรวงเกษตราธิการ’ ได้ก่อตั้ง ‘โรงเรียนช่างไหม’ จุดกำเนิด 'มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์' ในยุคปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น ‘โรงเรียนช่างไหม’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหม ในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับสวนหม่อนและสถานีทดลองเลี้ยงไหม 

โดยจัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้าในหลักสูตรตลอดจนได้เริ่มสอนวิชาสัตวแพทย์ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูกต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก 

โดยในปี พ.ศ. 2451 กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนกรมคลอง และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกัน เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาการเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย

โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452 และในปี พ.ศ. 2456 รัฐบาลได้ยกโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ งานศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์จึงมาสังกัดกระทรวงธรรมการ

ต่อมาได้รับการก่อตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2460 ในนามโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดจากนั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกลาง บางเขน กับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ และสถาปนาเป็น ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ ในปี พ.ศ. 2486 

ซึ่งในระยะแรกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจ และงานบริการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

วันเกิด ‘วิกิพีเดีย’ สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกคนสามารถ ‘เขียน-แก้ไข-เพิ่มเติม’ ข้อมูลได้อย่างอิสระ

เมื่อ 23 ปีก่อนหรือเมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 เป็นวันเกิด ‘วิกิพีเดีย’ เว็บสารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถเขียน แก้ไข และเพิ่มเติมข้อมูลได้อย่างอิสระ

หากคิดจะค้นหาข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เชื่อว่าเว็บ ‘วิกิพีเดีย’ (Wikipedia) คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนคลิกเข้าไปอ่านข้อมูล นอกจากจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ขึ้นมาให้เห็นแล้ว เว็บวิกิพีเดียยังเป็นเว็บสารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีข้อมูลนื้อหามากกว่า 62 ล้านบทความ อีกทั้งยังครอบคลุมภาษาที่หลากหลาย

สำหรับ ‘วิกิพีเดีย’ นั้น ก่อตั้งโดย จิมมี่ เวลส์ (Jimmy Wales) และ แลร์รี แซงเจอร์ (Larry Sanger) โดยก่อนหน้าที่จะมีวิกิพีเดีย พวกเขาได้ก่อตั้ง ‘นูพีเดีย’ (Nupedia) มาก่อน ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2544 แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นระบบที่มีการตรวจทานข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผู้ที่จะร่วมแก้ไขได้ต้องมี ‘คุณวุฒิสูง’ จึงส่งผลให้แทบไม่มีการเขียนบทความลงในนูพีเดีย

เมื่อเป็นเช่นนั้น จิมมี่ เวลส์ จึงปรึกษากับ แลร์รี แซงเจอร์ และได้ข้อสรุปว่า ควรสร้างเว็บแยกออกมาจาก ‘นูพีเดีย’ แบบที่สาธารณชนมีส่วนร่วมแก้ไขเนื้อหาหรือเขียนบทความได้ และในที่สุด ‘วิกิพีเดีย’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีโดเมนคือ wikipedia.com เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น wikipedia.org โดยได้รับการดูแลและการสนับสนุนจากมูลนิธิวิกิมีเดีย องค์กรไม่แสวงผลกำไร

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นที่รู้ ๆ กันของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ว่า การจะเชื่อหรืออ้างอิงข้อมูลจาก ‘วิกิพีเดีย’ จะต้องใช้อย่าง ‘ระมัดระวัง’ เนื่องจากเป็นเว็บที่ ‘ใครๆ’ ก็เข้ามาปรับแต่ง ลบ แก้ไขข้อมูลได้อย่างอิสระ ทำให้ข้อมูลในบางเรื่องถูก ‘บิดเบือน’ หรือ ‘ปรับเปลี่ยน’ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นควรจะมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลมากกว่า 1 แห่ง และตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

14 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ’  สร้างความตระหนักรู้-อนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศไทย

14 มกราคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ’ มุ่งสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย

‘ป่าไม้’ เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ช่วยรักษาความสมดุลย์ของภาวะแวดล้อมและป้องกันภัยธรรมชาติซึ่งนำความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพป่าไม้ของชาติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ทางภาวะแวดล้อมขึ้นจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้อันเนื่องมาจากอุทกภัยภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 โดยเฉพาะที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จำเป็นต้องทำการรณรงค์ต่อเนื่องและระยะยาวให้ประชาชนได้เข้าใจและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้โดยสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่าจึงขออนุมัติให้กำหนดวันที่ 14 มกราคมของทุกปีเป็น ‘วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ’

‘กรมป่าไม้’ จัดงานวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติเพื่อประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันดังกล่าวมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ การบรรยายความรู้ในสถานศึกษา ประกวดวาดภาพป่าไม้ แจกเอกสารเผยแพร่ แจกกล้าไม้แก่ประชาชน จัดประชุมชี้แจงแก่ประชาชน เชิญชวนให้ประชาชนงดเว้นการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมทั้งร่วมกันปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ในทุกท้องที่ภาคเอกชน ประชาชนควรให้การสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับทางราชการเท่าที่สามารถจะทำได้ ควรถือเอาวันที่ 14 มกราคมเป็นวัดลดละเลิกการบุกรุกแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า ร่วมมือร่วมใจกันปลูกต้นไม้ทดแทนที่ถูกตัดทำลายไปให้มากที่สุด


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top