Tuesday, 9 July 2024
ประเทศไทย

ภูเก็ตไม่ธรรมดา!! ติดอันดับ The World's 20 Most Beautiful Streets ถนนที่สวยที่สุดในโลก

🔍สุดยอด!! ซอยรมณีย์ ย่านเมืองเก่า จ.ภูเก็ต ของประเทศไทย ติดอันดับ 19 The World's 20 Most Beautiful Streets (ถนนที่สวยที่สุดในโลก) ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ ที่เชื่อมระหว่างถนนถลาง และถนนดีบุก เต็มไปด้วยตึกเก่าศิลปะชิโนโปรตุกีส อันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปะแบบภูเก็ต มีร้านกาแฟ ร้านขายของฝาก เกสท์เฮ้าส์ บางส่วนก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ซอยรมณีย์จึงยังคงมีชีวิตชีวา มีสีสัน และมีเสน่ห์อยู่เสมอ

จับตา 6 หุ้น รับอานิสงส์เชิงบวกจากการท่องเที่ยว หลังครึ่งปีแรกต่างชาติแห่เข้าไทยทะลุ 12 ล้านคน

📌 (27 มิ.ย. 66) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งสัปดาห์ (19-25 มิ.ย. 66) มีจำนวนทั้งสิ้น 523,794 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 74,828 คน ในช่วงดังกล่าว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 66 จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 12,464,812 คน คิดเป็นสัดส่วน 539% สามารถสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 514,237 ล้านบาท

ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมากที่สุด 85,065 คน รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 67,082 คน, อินเดีย 36,653 คน, เกาหลีใต้ 28,857 คน และเวียดนาม 26,798 คน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเป็นไปตามคาด จากการกลับมาขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่เพิ่มขึ้น 15.34% ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเป็นที่ 1 แซงหน้านักท่องเที่ยวมาเลเซีย ในขณะที่นักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 77.84%

อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยายตัวในทุกตลาดหลัก ยกเว้นนักท่องเที่ยวอาเซียนที่ชะลอตัวลง 4.28% ส่งผลให้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 6.94% โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ยังคงเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน มิ.ย. 66 ที่ 2.17 ล้านคน จากสัญญาณการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีน ให้สามารถรักษาระดับการขยายตัวที่เป็น double-digit ให้ได้โดยคาดการณ์ว่าสัปดาห์หน้า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยราว 5 แสนคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ เป็นหลัก

ขณะที่ปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญในระยะถัดไป คาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยจะมีแนวโน้มการขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการกลับมาขยายตัว double-digit ของนักท่องเที่ยวจีน และข่าวการเพิ่มเส้นทางบินและเครื่องบินของสายการบินต่างๆ รวมถึงความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนของไทย ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มความสะดวก และลดข้อจำกัดในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติลง

ด้าน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากโมเมนตัมท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุดเป็นบวก โดยอิงจำนวนผู้ใช้บริการ 6 สนามบิน สำหรับ AOT เดินทางออกนอกประเทศวันที่ 1-24 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา มีสัดส่วน 72.1% ของช่วงก่อนโควิด-19 เร่งขึ้นจากวันที่ 1-17 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ที่มีสัดส่วน 70.8% ระดับดังกล่าวบ่งชี้นักท่องเที่ยว มิ.ย. 66 สูงราว 2.2 ล้านคน ใกล้เคียงระดับสูงสุดรายเดือนจากต้นปีถึงปัจจุบันในปี 66 ในช่วงฤดูกาล มี.ค. 66

ทั้งนี้ อิงยอดดังกล่าว คาดนักท่องเที่ยวครึ่งแรกของปี 66 จะอยู่ราว 12.7 -12.8 ล้านคน ยังเดินหน้าสู่กรอบบนที่ Consensus คาดทั้งปีที่ 28-30 ล้านคน เชื่อหนุนกลุ่มอิงการท่องเที่ยวเคลื่อนไหวแกร่งกว่าตลาด โดยเน้น AOT, ERW, MINT, CPAXT, CRC และ ADVANC 

‘ค้าชายแดน-ผ่านแดน’ ฟื้นตัว!! ดันยอด พ.ค. พุ่ง 4.94% ‘สปป.ลาว’ นำโด่ง!! ขยายตัวติดต่อกันเข้าเดือนที่ 4

📌 (28 มิ.ย.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจชายแดนเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ทำให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนพฤษภาคม มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 153,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.94% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 

โดยการส่งออกชายแดนไป สปป.ลาว ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 89,396 ล้านบาท ลดลง 1.52% และการนำเข้ามูลค่า 64,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.44% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้งสิ้น 24,966 ล้านบาท

ทั้งนี้ไทยมีการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (สปป.ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา) มีมูลค่าการค้ารวม 82,418 ล้านบาท ลดลง 6.84% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 54,210 ล้านบาท ลดลง 1.46% และการนำเข้ามูลค่า 28,208 ล้านบาท ลดลง 15.67% โดยไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 26,001 ล้านบาท แบ่งเป็น

- มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 14,655 ล้านบาท (-1.86%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์
- สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 14,335 ล้านบาท (+8.40%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และน้ำตาลทรายขาว
- เมียนมา มูลค่าส่งออก 13,607 ล้านบาท (+1.14%) สินค้าสำคัญได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องดื่มอื่น ๆ
- กัมพูชา มูลค่าส่งออก 11,613 ล้านบาท (-13.37%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มอื่น ๆ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส และรถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสันดาปภายใน

ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ) มีมูลค่ารวม 71,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 35,187 ล้านบาท ลดลง 1.60% และการนำเข้ามูลค่า 36,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.99% โดยจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก

- จีน มูลค่าส่งออก 18,825 ล้านบาท (-1.48%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสด และฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ
- เวียดนาม มูลค่าส่งออก 4,313 ล้านบาท (+15.42%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส และมังคุดสด 
- สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 4,225 ล้านบาท (+8.71%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
- ประเทศอื่น ๆ (เช่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มูลค่าส่งออก 7,823 ล้านบาท (-13.35%)

นอกจากนี้ยังมีการจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 88 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 75 แห่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เปิดจุดผ่อนปรนการค้า บ้านบึงชนังล่าง จ.จันทบุรี ตรงข้ามกับด่านบ้านสวายเลง จ.พระตะบอง ของกัมพูชาด้วย

‘บพท.’ เปิด 10 ปัญหา ‘ความยากจน-เหลื่อมล้ำ’ ของไทย แนะ!! ควรแก้ที่ระบบโครงสร้างโดยตรง อย่าแก้ที่ปลายเหตุ

📌 สถานการณ์ความยากจน ของประเทศไทย ยังนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หมดสิ้น แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี รัฐบาล หน่วยงาน องค์กรทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม จะพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และพบการตกหล่นอีกจำนวนไม่น้อย

โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานสถานการณ์ความยากจนของไทยในปัจจุบัน แม้จะมีระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบว่ามีคนจนอยู่ในพื้นที่ใดบ้างแล้ว แต่ก็ยังพบปัญหาการตกหล่นของคนจนอีกจำนวนไม่น้อย

ที่ผ่านมา บพท. ได้ทำการสอบทานข้อมูลคนจนแบบรายพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสมบูรณ์ที่สุด ผ่านระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (Practical Poverty Provincial Connext : PPPConnext) จนพบว่า ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 พบว่า มีจำนวนคนจนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่ยากจนที่สุด ประกอบด้วย
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกันจำนวน 1,039,584 คน มากกว่าข้อมูลที่กำหนดไว้ใน TPMAP ซึ่งแสดงข้อมูลไว้เพียงแค่ 350,601 คนเท่านั้น

ไม่นานมานี้ บพท. ได้จัดงานสัมมนาใหญ่ โดยมีการนำเสนอข้อมูลด้าน ความจน ความเหลื่อมล้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ของนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อมีเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีช่องว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ปัญหาความยากจนที่ตัวบุคคล ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ควบคู่กับการเสริมพลังกลุ่มยากจนและกลุ่มเปราะบางควบคุมกันไป

สำหรับข้อเท็จจริงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนของประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ มีด้วยกัน 10 ข้อ ดังนี้

1. เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายรัฐบาลแจกเงินลงไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จำนวนมาก และหลากหลายนโยบาย
2. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยที่ผ่านมาเกิดปัญหาให้ทุนการศึกษากับเด็กแต่เด็กกลับไปเรียนไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกล
3. การจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาแบบเดิมไม่บรรลุผลความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะแบบเดิมใช้แบบหารรายหัว แต่โรงเรียนแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน
4. การให้บริการสาธารณสุข ขาดมาตรฐานกลางระหว่างหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ
5. การออกแบบระบบจัดการรายได้ยามชราขาดการบูรณาการและความยืดหยุ่น เพราะแต่ละหน่วยงานและกองทุนมีกฎหมายของตัวเองไม่เกิดความยืดหยุ่น
6. การกระจายอำนาจไม่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง บางครั้งถ่ายโอนแต่หน้าที่ แต่งบประมาณ และบุคลากรไม่มี ซึ่งจะต้องปรับรูปแบบการดำเนินการให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
7. ระบบภาษีขาดความเป็นธรรม โดยปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำคนที่มีฐานะสูง ได้รับการลดหย่อยจำนวนมาก และหลากหลาย ทำให้บางครั้งไม่ต้องเสียภาษีด้วย
8. ขาดยุทธศาสตร์การคุ้มครองทางสังคมในภาพรวมประเทศ
9. ขาดการบูรณาการฐานข้อมูลต่าง ๆ
10. ขาดการประเมินผลกระทบของนโยบาย จึงจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ในแต่ละปีมีการจัดสรรงบประมาณลงไปในด้านนี้จำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีใครกล้าทำการประเมิน

นายเอ็นนู ระบุว่า ที่ผ่านมานโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ไขปัญหาที่ตัวบุคคลไม่ได้คิดจะแก้ที่ระบบโครงสร้างอำนาจ เพราะนโยบายตอนนี้คิดเพียงแค่ว่าคนจนน่าสงสารแล้วต้องหาทางเข้าไปสงเคราะห์ ต้องแจกเงิน แทนที่จะหาทางเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส แต่กลับปิดโอกาสด้วยกฎหมายหลายข้อว่าทำไม่ได้ ต้องขออนุญาตทำให้คนจนไม่มีโอกาส

อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเสริมพลังทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย รวม 3 ข้อ ดังนี้

1. ด้านการศึกษาและการทำงานของคนจน โดยปฏิรูปการศึกษา ยกระดับแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้แรงงานมีการพัฒนาความสามารถและเข้ามามีส่วนร่วม
2. ด้านสวัสดิการ การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่เหมาะสม เชื่อมฐานข้อมูลสวัสดิการและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงสิทธิ์ มีกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานการกลางและเป็นธรรม จัดระบบจัดการรายได้ยามชรา และสนับสนุนนโยบายและมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรม
3. ด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจ ให้การบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นอำนาจของท้องถิ่น

‘ส่งออกข้าวไทย’ มีลุ้น!! มิ.ย. 66 คาดอยู่ที่ 700,000 ตัน หลังผู้นำเข้าเร่งสต็อกข้าวเพิ่ม หวั่นปัญหาแบบเอลนีโญ

📌 (30 มิ.ย.66) นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) พบว่าการส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 มีปริมาณ 3,467,368 ตัน มูลค่า 64,322 ล้านบาท (1,896.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 26.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 34.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 2,741,910 ตัน มูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้การส่งออกข้าวในเดือนพฤษภาคม 2566 มีปริมาณ 849,807 ตัน มูลค่า 15,710 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 53.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 48.9% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ที่มีการส่งออกมีปริมาณ 553,633 ตัน มูลค่า 10,546 ล้านบาท

เนื่องจากในเดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออกข้าวทุกชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกข้าวขาวไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก ญี่ปุ่น มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกับข้าวนึ่งที่ส่งออกไปยังแอฟริกาใต้มากขึ้น

โดยการส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 478,632 ตัน เพิ่มขึ้น 48.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปประเทศอินโดนีเซีย อิรัก ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาเลเซีย ซิมบับเว เป็นต้น ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 173,654 ตัน เพิ่มขึ้น 86.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดประจำ เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 92,376 ตัน เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา จีน สิงคโปร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบให้กับผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญทั้งในแถบอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ขณะที่ผู้นำเข้าต่างเร่งนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยสต็อกข้าวในประเทศที่ลดลงและเก็บสต็อกสำรองไว้ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะทำให้หลายประเทศประสบกับภาวะภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรรวมทั้งข้าวมีปริมาณลดลง

ประกอบกับในช่วงนี้อุปทานข้าวของไทยยังคงมีเพียงพอ และยังได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จึงทำให้ราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากประเทศคู่แข่งมากนัก ทำให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 508-512 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อินเดีย อยู่ที่ 468-472 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 488-492 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 523 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย อยู่ที่ 408-412 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 558-562 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

เมืองไทยน่าอยู่ ‘ประเทศไทย’ ติด 1 ใน 10 ประเทศน่าอยู่หลังเกษียณ ต่างชาติพอใจราคา ‘ค่าครองชีพ-ที่พัก-รักษาพยาบาล’

 

TST = WEB / FB / BD / TW / VK / Treads 
TT = WEB / FB


 

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เผยผลสำรวจ 10 ประเทศที่น่าพำนักอยู่หลังเกษียณ (10 Cheapest Places To Live After Retiring) ปี 2023 จากการจัดอันดับของ Annual Global Retirement Index
.
ผลสำรวจนี้ประมวลข้อมูลจากค่าครองชีพ สภาพอากาศ วีซ่า ค่าอาหาร ที่พัก และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ที่อาจอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องทำงาน หรือใช้เงินจำนวนมาก
.
โดย 10 ประเทศที่น่าพำนักอยู่หลังเกษียณ ได้แก่ 
1.โปรตุเกส  
2.เม็กซิโก 
3.ปานามา 
4.เอกวาดอร์ 
5.คอสตาริก้า 
6.สเปน 
7.กรีซ 
8.ฝรั่งเศส 
9.อิตาลีและไทย
.
สำหรับ ‘ประเทศไทย’ คว้าอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 9 ของโลก (เท่ากับอิตาลี) ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก แม้การท่องเที่ยวจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพี แต่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตผ่อนคลาย สนุกสนาน และเต็มไปด้วยการผจญภัย
.
และยังแนะให้ผู้สนใจเลือกใช้ชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยแสงสีและตึกใหญ่ หรือเลือกอยู่ในจังหวัดภาคเหนือที่อากาศเย็นสบาย
.
ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยไม่แพง สามารถเลือกซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 2 ห้องนอนได้ในราคาไม่ถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเลือกเช่าได้ในราคาเพียงเดือนละ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
.
 

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ประเทศไทยสูญเสียดินแดน ครั้งที่ 7 ยกเขมรและ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม

เมื่อ 156 ปีก่อน ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนต้องศึกษาและจดจำ

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 เป็นอีกวันที่คนไทยทั้งชาติควรศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน กับเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่อันสำคัญในการรักษาอำนาจอธิปไตย ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กับความเจ็บปวดที่แลกมากับการต้องสูญเสียดินแดน เขมรและเกาะ 6 เกาะ เป็นพื้นที่ 124,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 7 จากทั้งหมด 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 จวบจนปัจจุบัน

สำหรับการเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ นั้น สืบเนื่องจากการทำสงครามระหว่างไทยกับญวนหลายปี เพื่อแย่งชิงเขมรส่วนนอก หรือที่เรียกว่า "อานามสยามยุทธ" ซึ่งภายหลังได้มีการตกลงกันว่า จะให้เขมรเป็นประเทศราชของสยามต่อไป แต่ก็ต้องส่งบรรณาการไปให้ญวนเสมือนประเทศราชของญวนด้วย แต่ไทยมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์เขมรดั่งเดิม

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองด้วง เป็นกษัตริย์แห่งเขมร สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ สมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ แต่ในปี 2397 เขมรได้แอบส่งสารลับไปยังฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกู้ดินแดนที่เสียให้ญวณกลับมาอยู่กับเขมรอีกครั้ง และมาช่วยคุ้มครองเขมรให้พ้นจากทั้งอำนาจของสยามและญวน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชการที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นักองราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ต่อจาก สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ที่เสด็จสวรรคต โดยในช่วงก่อนปี 2406 นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลัง ทั้งทางกองเรือและทางการทูต

ทำให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยอมให้อำนาจแก่ฝรั่งเศส ในการเข้ามาปกครอง และให้เขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยมีพระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์อยู่ และได้ทำสัญญากันในปี 2406 ฝรั่งเศสเข้ามาเอาผลประโยชน์ โดยเอาเปรียบทางการค้าไทย และต้องการดินแดนเพื่อเข้าไปใกล้กับแม่น้ำโขง เพราะต้องการจะล่องเรือเข้าไปยังจีนผ่านทางนั้น

อย่างไรก็ตาม สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชา โดยทำสนธิสัญญาลับสยาม - กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ.2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน แต่เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ก็ได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา

ทั้งนี้เมื่อฝ่ายสยามประเมินแล้วเห็นว่า ไม่มีทางจะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ จึงต้องยอมไปใน พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867) โดยสยามจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส รับรองให้เขมรส่วนนอกด้านติดกับโคชินไชนา รวมเกาะอีก 6 เกาะ เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส หลังจากฝรั่งเศสบังคับกษัตริย์นโรดมพรหมบริรักษ์แห่งเขมร ให้ยอมยกดินแดนดังกล่าวไปอยู่ใต้การปกครอง

ไทย ติดอันดับ 6 ต่างชาติอยากย้ายมาทำงานมากสุด ชี้ ที่พักไม่แพง - อาหารถูกใจ แต่กังวลด้านสิ่งแวดล้อม


รายงาน Expat Insider 2023 จัดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 8 จากทั้งหมด 53 ประเทศ

สำหรับ 10 จุดหมายปลายทางน่าอยู่และเหมาะทำงานมากที่สุดในโลก ในปี 2023 ได้แก่
1.เม็กซิโก
2.สเปน
3.ปานามา
4.มาเลเซีย
5.ไต้หวัน
6.ไทย
7.คอสตาริกา
8.ฟิลิปปินส์
9.บาห์เรน
10.โปรตุเกส

เกณฑ์การจัดลำดับของ Expat Insider 2023 จะพิจารณาจาก 5 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีคุณภาพชีวิต ดัชนีความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน ดัชนีการทำงานในต่างประเทศ ดัชนีการเงินส่วนบุคคล และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การติดต่อราชการ ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย Expat Insider ระบุว่า ดัชนีคุณภาพชีวิตของไทยอยู่ลำดับที่ 37 ดัชนีความสะดวกสบายในการเข้าพักอยู่ลำดับที่ 11 ดัชนีการทำงานในต่างประเทศอยู่ลำดับที่ 39 ดัชนีการเงินส่วนบุคคลอยู่ลำดับที่ 4 และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติอยู่ลำดับที่ 18

Expat Insider อธิบายถึงการจัดลำดับของไทยว่า ชาวต่างชาติ 86% เห็นว่ารายได้ครัวเรือนเพียงพอต่อการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ราคาบ้านถูก และชาวต่างชาติ 9 ใน 10 พึงพอใจกับอาหารไทยที่มีความหลากหลาย วัฒนธรรมไทยและชีวิตกลางคืนก็เป็นปัจจัยที่ชาวต่างชาติชื่นชอบมากถึง 78%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวต่างชาติกังวลคือด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เพราะชาวต่างชาติเชื่อว่า รัฐบาลไม่ค่อยมีนโยบายสนับสนุนปกป้องสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการสีเขียว รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรก็ยังไม่น่าพึงพอใจ

นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัยมากนัก เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ

ขณะที่ชาวต่างชาติบางส่วนยังรู้สึกไม่สบายใจกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ชาวต่างชาติประมาณ 42% มองว่า คนไทยไม่ค่อยคิดนอกกรอบ และมีเพียง 45% เท่านั้นที่ทำงานในไทยแล้วได้พัฒนาทักษะอาชีพตนเอง ส่วนชาวต่างชาติ 1 ใน 3 ยังไม่พอใจกับการให้บริการออนไลน์ของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ราว 81% พึงพอใจกับความเป็นมิตรของคนไทยในท้องถิ่นมาก และเปรียบเทียบว่าอยู่ไทยเหมือนได้อยู่บ้านตัวเอง และแม้ภาษาไทยจะเป็นอุปสรรคที่ยากสำหรับชาวต่างชาติ แต่ 63% บอกว่าสามารถอยู่ไทยได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องพูดไทยก็ได้
.

 

HP แบรนด์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เตรียมย้ายกำลังการผลิตคอมฯ บางส่วนออกจากจีนมายังไทย

(18 ก.ค. 66) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่าง HP ล่าสุดได้เตรียมย้ายกำลังการผลิตสินค้าบางส่วนออกนอกประเทศจีน โดยย้ายมายังประเทศไทย เม็กซิโก เวียดนาม เนื่องจากต้องการให้ห่วงโซ่การผลิตของบริษัทไม่สะดุด

Nikkei Asia รายงานข่าวว่า HP ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ได้เตรียมย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และประเทศเม็กซิโก และบริษัทยังเตรียมขยายกำลังการผลิตในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน รวมถึงทั่วโลกหลังจากนี้

สื่อธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นได้รายงานว่า HP ได้ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ในการย้ายฐานการผลิตมายัง 2 ประเทศนี้ โดยในประเทศไทย HP เตรียมที่จะผลิต Laptop สำหรับตลาดผู้บริโภค ขณะที่ Laptop ที่จำหน่ายให้กับองค์กรต่าง ๆ จะใช้ฐานการผลิตที่เม็กซิโก นอกจากประเทศไทยแล้ว HP ยังเตรียมย้ายกำลังการผลิตมายังเวียดนามในช่วงปีหน้าด้วย

ในปีที่ผ่านมา HP ได้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปมากถึง 55.2 ล้านเครื่อง และในจำนวนดังกล่าวมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ผลิตนอกประเทศจีนอยู่ราว ๆ 3 ถึง 5 ล้านเครื่อง

สำหรับประเทศไทยนั้นมีซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย ทำให้ HP ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตอีกแห่ง ขณะที่เม็กซิโกถือเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญในอเมริกาเหนือ และยังมีข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดสำคัญของ HP เนื่องจากคำสั่งซื้อราวๆ 31% ขณะที่ตลาดในประเทศจีนนั้นมีสัดส่วนไม่ถึง 8% ของยอดขายของบริษัท เนื่องจากคู่แข่งอย่าง Lenovo รวมถึง Huawei ครองตลาดในประเทศจีนแทบเบ็ดเสร็จ

สาเหตุที่ทำให้ HP ต้องย้ายกำลังการผลิตบางส่วนออกนอกประเทศจีน บริษัทได้ให้เหตุผลเนื่องจากต้องการให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้าของบริษัทมีความยืดหยุ่น เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของภาคการผลิต และต้องการที่จะตอบสนองลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลก

นอกจากผู้ผลิตอย่าง HP แล้ว Dell ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อีกรายก็ได้เตรียมที่จะย้ายกำลังการผลิต 20% ของสัดส่วนการผลิตทั้งหมดมายังประเทศเวียดนาม รวมถึงเปลี่ยนผ่านการผลิตสินค้าที่พึ่งพาชิปจากประเทศจีนด้วย ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่น เช่น Apple เองก็ตั้งเป้าที่จะกระจายกำลังการผลิตไปยังเวียดนามหรืออินเดียด้วย

อย่างไรก็ดีบริษัทได้กล่าวว่ายังให้ความสำคัญกับฐานการผลิตในเมืองฉงชิ่งของจีนอยู่ โดยฐานการผลิตนี้เปิดตัวในช่วงปี 2008 และเป็นฮับในการผลิต Laptop สำคัญของบริษัทด้วย

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทหลายแห่งได้เตรียมการที่จะย้ายฐานการผลิต หรือแม้แต่ย้ายกำลังการผลิตออกนอกประเทศจีน หลังจากที่จีนได้ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าทั่วโลก ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน และยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบกับการทำธุรกิจหลังจากนี้ได้

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 คืบหน้า 82.5% คาด!! พร้อมเปิดให้บริการ ภายในปี 2567

(19 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้เร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  เชื่อมระหว่างบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคจากวิกฤติโควิด แต่ล่าสุด โครงการมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 82.550% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567

สำหรับโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ได้มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ในปี 2562 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  ที่อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว 

รูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ กรมทางหลวงออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง โครงการมีระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ฝั่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบา ท ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท) 


ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และมณฑลกว่างสีของประเทศจีน เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดในจีนตอนใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
 


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top