Tuesday, 9 July 2024
ประเทศไทย

'กูรูอีสาน' โชว์ภาพรวม ศก.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 'เกษตรฯ-การลงทุน-นวัตกรรม' เฟื่องฟูไม่แพ้ถิ่นใด

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณสุรวัช อริยฐากูร ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจสินเชื่อ ธ.ก.ส. และที่ปรึกษาองค์กรภาคเอกชน ถึงประเด็น 'ภาพรวมของเศรษฐกิจในภาคอีสานในปัจจุบัน' โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หากพูดถึงอีสาน สิ่งที่เราจะนึกถึง คือ วิถีชีวิตของคนถิ่นที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความหวือหวา โดยคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว ปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจในภาคอีสานต้องพึ่งพาด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอีสาน ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตชัด จะประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมแป้งมัน, มันสำปะหลัง 

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่โดดเด่น คือ การเพาะปลูกข้าว ที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ 

ในด้านการปศุสัตว์ที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นหมวดของการขยายฟาร์มเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ถ้าจัดลำดับสัดส่วนสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์หลักๆ ของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา และข้าวโพด ถือเป็นพระเอก ส่วนปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นการทำฟาร์มสุกรขุน 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมโคนมก็ถือว่าเป็นสิ่งได้รับความนิยม โดยมีกลุ่มเกษตรกรการเกษตร คอยส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้วหันมาเลี้ยงโคนม หลังจากแถบวังน้ำเขียวเริ่มเข้ามาซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น 

ส่วนธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจในภาคอีสานอีกด้านหนึ่ง คือ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เนื่องจากภาคอีสาน มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก อีกยังเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงสูงเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอ ได้มีนโยบายสนับสนุนกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดโซลาร์ฟาร์มขายคืนพลังงานให้กับการไฟฟ้า กลายเป็นธุรกิจใหม่พลังงานสะอาดตาม BCG โมเดลในผืนถิ่นนี้

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับลูกหลานคนอีสานที่ย้ายถิ่นฐานกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว ทำให้บ้านจัดสรรได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในอำเภอรองในจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากเมืองเริ่มขยายตัว

ส่วนภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอยู่ในความรับผิดชอบของ 'บีโอไอโคราช' นั้น พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน 38 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุน 15,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 373

เห็นภาพรวมเศรษฐกิจคร่าวๆ ในดินแดนแห่งนี้ ที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นลงรายละเอียดเชิงลึกเป็นรายจังหวัดไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า การให้ความสำคัญในอีสานของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยทลายภาพอีสานแล้ง แล้วทดแทนด้วยความเจริญผนวกกับโอกาสที่เริ่มค่อยๆ เติมเข้ามามากขึ้นได้พอสมควรเลยจริง ๆ...

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทย จัดให้มีการเลือกตั้ง สส. เป็นครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียว

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียวของไทย โดยเป็นการเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนเลือกตัวแทนของตนในระดับตำบล เพื่อไปทำหน้าที่เลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจำนวน 78 คน รวมกับสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการเป็น 156 คน

การเลือกตั้งครั้งนั้น เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ประเทศไทย แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 70 จังหวัด และตามรัฐธรรมนูญ 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท โดยมีจำนวนเท่า ๆ กัน คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง

ในขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละจังหวัดจะมี สส. ได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน ทำให้มี ส.ส. ประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน และ สส. ประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 คน รวมเป็น 156 คน ซึ่งจากการคำนวณดังกล่าว ทำให้ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเลือก สส. ได้จังหวัดละ 1 คน และมีบางจังหวัดที่มี สส. มากกว่า 1 คน คือ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม และนครราชสีมา มี สส. จำนวน 2 คน ในขณะที่จังหวัดพระนครและอุบลราชธานี มี สส. มากที่สุด คือ 3 คน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกของไทย ถูกจัดขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และเป็นการเลือกตั้ง สส. ประเภทที่ 1 โดยใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม คือ ประชาชนจะไปใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกนั้น จะไปทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนประชาชนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยในครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 4,278,231 คน และมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็น 41.45% โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็น 78.82% และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์น้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็น 17.71%

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม

รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับบรรดานานาอารยประเทศ ดังนั้นปี พ.ศ. 2483 จึงมีเพียง 9 เดือน

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในสมัยโบราณมาเราถือว่า วันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันต้องด้วยในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี และในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ ได้นับถือคติของพราหมณ์ คือใช้วันที่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน 5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา

ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 จึงมีเพียง 9 เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินของนานาประเทศ มีหนังสือประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของ ไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และการใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก 

ทั้งนี้ประเทศไทยจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยตั้งแต่ นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ 1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นเดียวกัน

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการณ์ แต่เขื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น

‘รศ.ดร.สมชาย’ วิเคราะห์!! อนาคตเศรษฐกิจไทย ปีงูใหญ่ แนะ!! ‘ความชำนาญ-เชี่ยวชาญ’ ยังช่วยฝ่าโลกเปลี่ยนไว

จาก THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงทิศของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2567เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.66 โดย รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า…

ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2567 จะมีความเสี่ยงใหญ่ 3 ประการที่ท้าทาย ได้แก่…

(1) ภัยธรรมชาติ โลกร้อน แผ่นดินไหว น้ำท่วม

(2) โรคติดต่อ หรือ โรคระบาด ถึงแม้โควิด-19 จะเพิ่งผ่านไป ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือเสมอ โดยเฉพาะโรคที่จะมาจากสัตว์สู่คน ซึ่งในปัจจุบันมักเกิดถี่ขึ้น ทุกประเทศต้องเตรียมตัว

(3) เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก (รัสเซีย-ยูเครน) แต่เนื่องจากวงของสงครามในตอนนี้เริ่มจำกัด จึงจะยังไม่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกับตอนช่วงต้นของสงคราม ขณะที่ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ ประเมินว่า เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 67 แล้วหลังจากนั้นถ้าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายในการกำจัดผู้นำฮามาสได้ แรงกดดันจากประชาคมโลกก็จะลดลง ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นบ้าง แต่ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจโลก 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ อาทิ ทะเลจีนใต้, ไต้หวัน ซึ่งตรงนี้เชื่อว่ายังไม่มีการเผชิญหน้ากันแบบดุเดือด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็พยายามป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคตอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากโฟกัสในด้านเศรษฐกิจโลกสำคัญ ๆ ของโลก รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่าคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เชื่อว่ายังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 2.7%-2.8% ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะขยายตัวดีมาก 

ส่วนยุโรป (EU) เศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว ประมาณ 0.2%-0.6% แต่ไม่เข้มแข็งมากนัก 

ขณะที่ประเทศจีนเศรษฐกิจคาดว่าขยายตัว 4% ในกรณีที่จีนไม่กระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ แต่ถ้ามีการใช้มาตรการคลังเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจจีนมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 5% 

ส่วนประเทศญี่ปุ่นคาดเศรษฐกิจน่าจะขยายตัว ประมาณ 1%-2%  

ด้านเศรษฐกิจอาเซียนเอง คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4% 

โดยสรุปปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง บนความไม่แน่นอน แต่ก็จะมีความแตกต่างกับปีนี้ (2566) เนื่องจากตัวแปรเรื่องเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติไปได้ไม่ยากเย็นนัก

ทั้งนี้เมื่อหันมามองเศรษฐกิจไทยในปี 2567 รศ.ดร.สมชาย มองว่า ปัจจัยที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ภาวะของเศรษฐกิจโลก ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ 

“ถ้าตั้งสมมติฐานว่าถ้าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อ คู่ค้าประเทศต่าง ๆ ของเรายังขยายตัวได้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกบนความไม่แน่นอน ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ (1) การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3%-4% (2) เรื่องการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าทำการบ้านดี ๆ วางแผนงานได้ดีจะได้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 38-40 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และ (3) การบริโภคของเอกชน การลงทุนของภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัว รวมไปถึงการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น”

สรุปแล้วตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้า 2567 คาดว่าจะเติบโตเกิน 3% โดยอยู่ที่ประมาณ 3.2%-3.4% โดยภาครัฐต้องระมัดระวังเรื่องเสถียรภาพการคลัง เพราะหนี้สาธารณะของไทยเริ่มเกิน 60% 

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ อย่าให้งบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ เกิดการสะสมหนาแน่นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงเกินขอบเขต ควรมีมาตรการคู่ขนานกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การใช้ Digital Transformation มาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม และ Soft Power ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป 

นอกจากนี้เงินเฟ้อต่างประเทศยังอยู่ในช่วงขาลง เงินเฟ้อประเทศไทยต่ำ จึงเชื่อว่าปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างแล้ว 

เมื่อถามถึงข้อแนะนำถึงนักธุรกิจในปี 2567 ที่จะมาถึงนั้น? รศ.ดร.สมชาย แนะนำว่า... 

(1) ต้องบริหารความไม่แน่นอน ต้องถือว่าความไม่แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อย่ามองโลกในแง่ดีมากเกินไปต้องเตรียมพร้อมเสมอรวมถึงบริหาร Bottom line ของธุรกิจให้ได้

(2) โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ควรทำในสิ่งที่ชำนาญและเชี่ยวชาญ มองโลกอนาคต แล้วเพิ่มความชำนาญของตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวัน อาจเพิ่มในเรื่องนวัตกรรม หรือเอาเรื่องเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และ (3) วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศึกษาและขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

‘Finstable’ ผนึกภาครัฐ จัดงาน ‘B2GC’ ที่ภูเก็ต 17-19 ม.ค.นี้ หารือแนวทางใช้ประโยชน์ ‘บล็อกเชน’ ยกระดับ ‘ไทย’ หลากมิติ

(5 ม.ค. 67) บริษัท ฟินสเตเบิ้ล จำกัด (Finstable) ผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), Thai Blockchain Services Infrastructure (TBSI), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ผนึกกำลังจัดการประชุม Blockchain to Government Conference (B2GC) โดยจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 17 - 19 มกราคม 2567 นี้

สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่นำรัฐบาลและผู้นำด้านบล็อกเชนระดับโลกมาพบกัน เพื่อเป็นการประชุมและหารือเกี่ยวกับแนวทางในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานของระบบบล็อกเชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประตูที่จะนำไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาและรวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น พร้อมทำให้เกิดประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริงแก่ประชาชนชาวไทย 

ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ บล็อกเชนเป็นระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และรวมไปถึงการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน นับเป็นเทคโนโลยี ที่ได้รับการยอมรับในความแข็งแกร่งของระบบบันทึกข้อมูลที่โปร่งใสและยังสามารถกระจายอำนาจไปสู่ภายในระบบของประเทศไทย ที่สามารถเดินหน้าทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยได้รับรองความถูกต้องของข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นในโครงสร้างฐานเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงกลยุทธ์เทคโนโลยีบล็อกเชนจะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก พร้อมยกระดับเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น บริการสาธารณะของประเทศไทย จะสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การประชุม B2GC ครั้งนี้ จะจัดขึ้นที่ Blockchain Technology Center (BTC) จังหวัดภูเก็ต โดยเนื้อหาการประชุมจะเน้นบทบาทของบล็อกเชนในการยกระดับความสามารถภาครัฐและผลประโยชน์ต่อประชาชน โดยมีวิทยากรระดับโลกทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมงานด้วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักวิชาการ และแขกคนสำคัญระดับ VIP อาทิ คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คุณโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าการจังหวัดภูเก็ต, ศ.(พิเศษ)ธงทอง จันทรางศุ และ คุณวิชัย ทองแตง 

โดยงานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านบล็อกเชนระดับโลก อาทิ Dr. Xiao Feng (CEO) Hashkey Group, Dr. Xinxi Wang (Co-Founder) Litecoin Foundation, Zack Gall (Co-founder & CCO) EOS Network, Alex Blagirev (Strategic Initiatives Officer) SingularityNET, และ Sebastian R. Cabrera (VP of Product, National ID) Polygon Labs

พร้อมกลุ่มผู้นำทางด้านบล็อกเชนไทย อาทิ คุณชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัท Velo Labs, คุณสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Bitkub Blockchain Technology, คุณกัญญารัตน์ แสงสว่าง Head of Growth (Thailand) จาก The Sandbox, คุณสถาพน พัฒนะคูหา ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท SmartContract Blockchain Studio และพ.ญ. นวพร นะลิตา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Crypto City Connext

สำหรับเนื้อหาการประชุม B2GC ทั้ง 3 วันนั้น ในวันที่ 1 จะกล่าวถึงการทำงานของบล็อกเชนและการประยุกต์ใช้ ตามด้วยการประชุมในวันที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นหัวข้อการประชุมที่ถูกเลือกโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและคณะกรรมการจัดงาน และวันสุดท้ายจะมีการหารือครั้งสำคัญ รวมถึงการปราศรัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ โดยโฟกัส 3 ด้านสำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ, การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศรวมถึงการพัฒนาบล็อกเชนระดับโลกอีกด้วย

ผู้ที่สนใจร่วมงาน สามารถส่งคำถามหรือลงทะเบียนรอรับสิทธิ์เข้าร่วมงานได้บนเว็บไซต์ https://B2GC.finstable.co.th

13 มกราคม พ.ศ. 2563 ‘สธ.’ แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในไทย เป็น ‘นักท่องเที่ยวชาวจีน’ เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น

วันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของประเทศ เป็นเพศหญิง วัย 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน 

ย้อนกลับไปปลายเดือนธันวาคม 2562 มีรายงานว่า ประเทศจีนพบกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ โดยยังไม่สามารถระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุ จำนวน 27 คน และเพิ่มเป็น 44 คน ในวันที่ 3 มกราคม 2563 และกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกับตลาดค้าส่งอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และในวันเดียวกันนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ต่อมา วันที่ 8 มกราคม 2563 ไทยตรวจพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน มีไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตรวจร่างกายแรกรับผู้ป่วยวัดอุณหภูมิได้ 38.6 องศาเซลเซียส และมีอาการไอแห้งเล็กน้อย ไม่มีน้ำมูก เมื่อสอบประวัติก็พบว่า เคยไปตลาดค้าส่งอาหารทะเลในอู่ฮั่น จนในที่สุด 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงยืนยันว่า พบเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในไทย หลังจีนเปิดเผยข้อมูลเชื้อโรคดังกล่าวเพียง 1 วัน โดยระบุว่า เชื้อโรคดังกล่าวเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า SARS-CoV-2 หรือที่องค์การอนามัยโลกประกาศชื่อภายหลังว่า COVID-19

แม้ รมว.สาธารณสุข จะแสดงความเชื่อมั่นในการหาวัคซีน หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปประชาชนเริ่มมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ป้องกันตัวเอง มีวินัยอยู่สม่ำเสมอ บวกกับมีการพัฒนาวัคซีน มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และทำให้ประชาชนคนไทยได้กลับมาลืมตาอ้าปาก ออกไปใช้ชีวิต ทำมาหากิน ได้อย่างสบายใจมากขึ้นอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงกว่าเดิมแล้ว แต่เราทุกคนยังคงต้องป้องกันตนเอง ไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเช่นเดิมจะเป็นผลดีกับตัวเราเองที่สุด

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง!! ศก.ไทยเหมือนร้านอาหาร เมนูส่วนใหญ่ ‘ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม-ไม่ปรับตัวตามเวลา’

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ (ต๊ะ) คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.67 ระบุว่า…

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก อาจโตแบบช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมองไปที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่ในปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่อัตราการว่างงานไม่มากนัก ภาวะทางการคลังมีหนี้สูง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่กระทบการเติบโตของสหรัฐฯ

ส่วนยุโรป ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออก ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและอาหารฝั่งยุโรปสูงขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ยังติดกับดักเศรษฐกิจภาวะเงินฝืดมายาวนาน ซึ่งวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นแพงสําหรับคนญี่ปุ่น แต่กับคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ว่าค่าครองชีพที่นั่นถูกมากในรอบหลาย 10 ปี ฉะนั้นวันที่ภาพของญี่ปุ่น จึงเป็นภาพของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงและการส่งออกที่ดีจากค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ภายใต้สัญญาณการสิ้นสุดการหยุดดอกเบี้ยติดได้ลบเร็ว ๆ นี้ 

ข้ามมาที่ จีน ตอนนี้อยู่ในภาวะการปรับฐานเศรษฐกิจหลังจากที่เติบโตมายาวนาน ซึ่งทางการอยากให้โตช้าลง โดยเริ่มโฟกัสไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน ด้วยการไม่อนุญาตให้ลงทุนกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบเก็งกำไร เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง เริ่มมีปัญหาในลักษณะนี้แล้ว ทางการจีนจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเราเหมือนร้านอาหารเป็นร้านอาหารที่ดีแต่โต๊ะเต็มแล้ว ต้องเพิ่มช่องว่างและศักยภาพทางการตลาด โดยเปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ขายอาหารแพงขึ้น เปลี่ยนเป็นร้านอาหารที่ราคาสูงมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากประเทศที่ขายของถูกกลายเป็นขายของแพง หรือ ลดต้นทุน เช่น ร้านอาหารนี้เคยใช้พนักงานจำนวนมาก ขายของไม่แพงเราก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร และปรับใช้คนน้อยลง ก็สามารถทำให้ธุรกิจไปต่อได้

เปรียบแล้ว ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมีเมนูใหม่ ๆ มาขาย ที่ผ่านมาเรามีแต่เมนูเดิม ๆ ถ้าเรานึกภาพว่าประเทศไทยส่งออกอะไรบ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ยังเหมือนกันกับ 10 ปีที่แล้ว และก็เหมือนกันมาจนถึงวันนี้ที่เราก็ยังส่งออกของเดิม ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ 30 ปีที่แล้วส่งออกแบบหนึ่ง 20 ปีที่แล้วส่งออกอีกแบบหนึ่ง 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ก็ส่งออกอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปตลอด เพราะเขาเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลก

เมื่อถามถึงเรื่องพลังงาน คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า โครงสร้างพลังงานของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีส่วนได้เปรียบ เช่น ซื้อพลังงานด้วยถ่านหินแก๊สธรรมชาติหรืออะไรต่าง ๆ แล้วบริหารจัดการผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาพลังงานสูงตามไปด้วย จนไม่เกิดการแข่งขัน แต่กลับกันถ้าโรงไฟฟ้าสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดการแข่งขันกันทำโปรโมชัน ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ 

ส่วนสาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็เพราะว่าเรามีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในระบบเยอะมาก ทำให้ค่าเอฟทีแพง เพราะว่าเราต้องสำรองเรื่องนี้ แน่นอนว่าในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่ เพราะถ้าหากเราเริ่มหนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีเสถียรภาพของไฟฟ้าหมุนเวียนที่น้อย การมีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ก็จะช่วยเข้ามาชดเชยตรงนี้ได้ 

โดยสรุปแล้วในส่วนของพลังงานไทย คุณพลัฏฐ์ มองว่า ประเทศไทยต้องก้าวตามเทรนด์พลังงานสีเขียวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และมุ่งรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้าอีวีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามมา แต่ผลของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีที่จะถูกลง ขณะเดียวกันมลพิษและอากาศจะเป็นสิ่งที่หายไป ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจุดจ่ายไฟ หรือนโยบายที่จะมาสนับสนุน แต่จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามในรายละเอียดข้างหน้ากันต่อไป

‘อ.พงษ์ภาณุ’ กระตุ้นสูตรความยิ่งใหญ่กีฬาไทย อาจต้องใช้เงินภาคเอกชน ‘อุดหนุน-พาสู่ฝัน’

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'กีฬาไทย ต้องเป็นมืออาชีพและใช้เงินภาคเอกชน' เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปี 2567 จะเป็นปีที่วงการกีฬาโลกและกีฬาไทยมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2024 ที่กรุงปารีส (Paris Olympics) ฟุตบอลยูโร 2024 การแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 58 ที่ Las Vegas อาทิตย์นี้การเข้ามามีบทบทบาทในเวทีกีฬาโลกของซาอุดีอาระเบีย

ในขณะที่วงการฟุตบอลของไทยก็ได้นายกสมาคมคนใหม่ (มาดามแป้ง) มารับภาระในการพัฒนากีฬาฟุตบอล ซึ่งกำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์

น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่วงการกีฬาไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศอื่น วันนี้ต้องยอมรับว่ากีฬาไทยไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรการเงิน โดยเฉพาะเงินจากภาครัฐอีกต่อไป เมื่อปี 2558 รัฐบาลได้จัดสรรเงินภาษีบาป (ภาษีสุราและยาสูบ) ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องมาเข้ากองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ทำให้มีเงินเพียงพอที่จะสามารถจัดเงินอุดหนุนให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ อย่างพอเพียง

แต่จนแล้วจนรอดวงการกีฬาไทยก็ยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ผลงานนักกีฬาไทยในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาคยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่ารัฐบาลจะใส่เงินลงไปค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแต่ผลงานก็ยังสู้ไม่ได้แม้แต่ประเทศเวียดนาม ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก กีฬาไทยยังพึ่งงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก และแม้ว่าจะได้รับเงินจากภาษีอากรมาค่อนข้างมาก แต่การใช้เงินขาดประสิทธิภาพ เงินงบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับค่าเดินทางไปต่างประเทศของนักกีฬาและบุคคลติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก การใช้เงินของสมาคมกีฬาขาดความโปร่งใสและไม่มีการตรวจสอบ กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติไม่มีประสิทธิภาพในการอนุมัติและบริหารการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งสะท้อนจากการร้องเรียนของสมาคมกีฬาเป็นระยะ ๆ

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กีฬากลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้มหาศาล และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐและเป็นภาระต่อผู้เสียภาษี กีฬาอาชีพหลายชนิด อาทิเช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ เป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าธุรกิจบันเทิงอื่น และหลังจากซาอุดีอาระเบียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เงินจากปิโตรเลียมได้มีส่วนกระตุ้นให้ทีม/สโมสร และผู้เล่นมีรายได้และค่าตอบแทนสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งในรูปของค่าสิทธิประโยชน์ (Sponsorships) ค่าสิทธิในการถ่ายทอด (Broadcasting Rights) และค่าตัวนักกีฬา

สมาคมฟุตบอลไทยในอดีตประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมพัฒนาฟุตบอลไทย คงจะไม่ยุติธรรมนักถ้าจะไม่เอ่ยชื่อคุณวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคม และบริษัทโตโยต้าประเทศไทย ฟุตบอลไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่จากในอดีตที่เป็นแค่ทีมในสังกัดองค์กรมาเป็นสโมสรที่เป็นนิติบุคคล ไทยลีกได้พัฒนาเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชียไม่แพ้ J League ของญี่ปุ่น รายได้จากการประมูลสิทธิการถ่ายทอดเกมส์ฟุตบอลของไทยลีกมีจำนวนสูงถึงปีละกว่าพันล้านบาท การท่องเที่ยวเชิงกีฬาสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการเดินทางติดตามเชียร์ของแฟนคลับ

แทบไม่น่าเชื่อว่าความสำเร็จเหล่านี้ได้หายไปจากวงการกีฬาไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามานี้ วันนี้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อสร้างกีฬาไทยให้กลับมายิ่งใหญ่ และโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล ภายใต้นายกสมาคมคนใหม่ ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำหลักการและบทเรียนที่ในอดีตกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อให้ความฝันบอลไทยได้ไปบอลโลก กลายเป็นความจริงเสียที


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top