Tuesday, 9 July 2024
ประเทศไทย

จับตา!! เศรษฐกิจจีนซบเซา สะเทือนเศรษฐกิจโลก ชี้!! หากหวัง ศก.หวนคืน ต้องปรับท่าทีแบบ 'เติ้ง เสี่ยวผิง'

ทีมข่าว THE STATES TIMES (THE TOMORROW) ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มอ่อนแอลง ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่อย่างไร โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

นับจากจีนภายใต้การนำของประธานเติ้ง เสี่ยวผิงปฏิรูปและเปิดเสรีประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี ค.ศ. 2001 การค้าการลงทุนระหว่างประเทศได้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทียบเคียงได้กับสหรัฐอเมริกา จนทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ได้เปลี่ยนจากมิตรมาเป็นคู่แข่งและศัตรูอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองได้ทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับตะวันตก และเพิ่มบทบาทภาครัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ในการแทรกแซงการทำธุรกิจของภาคเอกชน 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะหลัง เริ่มลดต่ำเหลือเพียง 5% ต่อปี และยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีการปิดประเทศเกือบ 3 ปี ทำให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงอย่างมาก ถึงแม้จะเร่งเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ จีนก็ไม่สามารถกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิม อุตสาหกรรมสำคัญหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มไม่ดีนัก อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนปัญหาหนี้สินที่ยังเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลายฝ่ายเริ่มมีความเห็นว่าจีนน่าจะอยู่ในช่วงขาลงและไม่สามารถคงความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า หากจีนจะกลับมาเติบโตเหมือนเดิม และทำให้โลกสามารถลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยได้นั้น จำเป็นที่สี จิ้นผิง จะต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายของจีนใหม่ ตามแนวที่เติ้ง เสี่ยวผิง และประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหน้า 2-3 คนได้วางไว้ กล่าวคือ เคารพกฎกติกาสากลและระเบียบโลก รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐและดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับตลาดมากขึ้น 

ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็เรียกได้ว่า พึ่งพาจีนค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ไทยก็จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยง และปรับเปลี่ยนนโยบายการทูต การต่างประเทศให้มีความสมดุลต่อไปด้วย
 

เชื่อม ‘ขนส่ง-ลงทุน’ จากซีกโลกถึงซีกโลกผ่านไทยแลนด์ โปรเจกต์เปลี่ยนไทยให้เนื้อหอมที่ ‘จีน-สหรัฐฯ’ จ้อง!!



ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่กับโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโปรเจกต์ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าในโครงการนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสมหาศาลของไทย หากทำได้สำเร็จ โดยรายการหนุ่ยทอล์ก ดำเนินการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรไอทีและผู้ผลิตคอนเทนต์ชาวไทย ซึ่งได้พูดคุยกับแขกรับเชิญอย่างคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI / นักเขียน และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นั้น ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสรุปคร่าวๆ แล้ว ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในโลกของกลุ่มมหาอำนาจ ตั้งแต่เรื่องของพลังงานที่แย่งชิงกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาสู่การแย่งชิง ‘แร่หายาก’ (Rare Earth) ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่เชิงภูมิศาสตร์  และนั่นก็ทำให้การมองหาพิกัดในการได้มาและถ่ายเทไปซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ที่ตนมีไปสู่ประเทศอื่นๆ จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง

โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกกัน โดยทั้ง 2 ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมในอาเซียนจะมี ‘ช่องแคบมะละกา’ ที่เป็นพิกัดในการขนส่งสินค้ามาลงประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่แร่หายาก 

แต่หากมีการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์นี้ รับรองได้ว่า ‘ไทย’ จะได้รับโอกาสใหม่ๆ อย่างมหาศาล

แน่นอนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่จะใช้เป็นทางลัดจาก ตะวันตก / ตะวันออกกลาง ไปเอเชียหรือไปสู่จีนได้ใกล้กว่ามะละกา แล้วก็สามารถแก้ปัญหาการแออัดของช่องทางคลองสุเอช รวมถึงช่องทางระหว่างแดนต่างๆ จากยุโรปไปถึงตะวันออกกลางและเอเชียภายใต้กรณีพิพาทจากสงคราม 

การเคลื่อนไหวตามข่าวที่เราได้เห็นกันชัดเจนแล้ว คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มาคุยเจรจากับไทย ในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าสิงคโปร์ รวมถึงการลงทุนในโครงการนี้ที่จะตามมาอีกมาก คือสัญญาณว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศไทย แต่เป็นโครงการที่โลกต้องใส่ใจ ภายใต้คำตอบที่ง่ายดายว่า โครงการนี้ขนส่งใกล้กว่าสิงคโปร์ และมีการโอกาสในการต่อยอดด้านการลงทุน สาธารณูปโภค และการขนส่งระหว่างสองซีกอ่าวอย่างมโหฬาร

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้แลนด์บริดจ์เกิด คือ สร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างท่อน้ำมัน กระจายต่อไปทางจีนได้เร็วเท่าไร โอกาสก็ยิ่งชัดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ก็คงไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่โครงการนี้เดินหน้าได้ไม่ยาก เนื่องจากถ้าเราสร้างคลังน้ำมันใหญ่ตรงนี้ได้ การสร้างท่อน้ำมันจากตรงนี้ไปยังประเทศที่โฟกัส ก็จะไม่ยาวมาก

ทั้งสองท่านมองอีกว่า นี่คือความสำคัญของประเทศไทย ในขณะที่จีนกับอเมริกาเขาทะเลาะกัน เพราะพิกัดบริเวณแลนด์บริดจ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากอเมริกามาคุมตรงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ศูนย์กลางของโลกไปเลย นำเศรษฐกิจวิ่งไปอาเซียนได้ ไป EEC ได้ ไปจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วิ่งไปที่จีนข้างบนแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน หากมองประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ในย่านนี้ การมีแร่พลังงาน หรือแม้แต่แร่หายากใหม่ๆ จากประเทศจีน ก็จะไหลมาหาไทยได้ง่ายขึ้น เพราะตรงนี้ก็จะอยู่ไม่ไกลจากเรา อีกทั้งไทยเรามี FTA กับจีน ก็ขนแร่มามาทางนี้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำเชื่อมต่อได้เลย ซึ่งนี่ก็เหตุผลที่ทำไมรถไฟฟ้าจีนถึงได้มาเมืองไทย

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทําไมบรรดาค่ารถยนต์จีนอย่าง MG หรือแม้แต่ GWM ถึงเริ่มแห่มาไทย เพราะในอนาคตนอกจากที่ว่าไปข้างต้นแล้ว เขายังสามารถขนเอาแร่ลิเธียมจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาบริเวณนี้ได้อีกด้วย

ดังนั้น หมากเกมนี้ รัฐบาลลุงตู่ เหมือนจะวางไว้เพื่อรับโอกาสหลายมิติ แต่มิติที่ใกล้สุดก็คือการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโรงผลิตรถไฟฟ้าโดยธรรมชาติ และเราจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าสิงคโปร์ได้ในอนาคต หากเราทำพิกัดนี้สำเร็จ ถึงบอกว่าประเทศไทยเรามีความหวังมากเลยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะบอกเลยว่า อาจจะเจ๋งกว่า EEC เสียอีก 

ลุงตู่นี่แกก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย
 

31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 กำเนิด ‘รถแท็กซี่’ ในประเทศไทย เริ่มออกวิ่งให้บริการเป็นครั้งแรก



วันนี้เมื่อ 100 ปีก่อน รถแท็กซี่ (Taxi) เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดย พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ 

ในครั้งนั้น ได้นำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง ติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ คิดค่าโดยสารเป็นไมล์ โดยตกไมล์ละ 15 สตางค์ ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบราคากับค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า ‘รถไมล์’ เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง 

ในสมัยบุกเบิกใหม่ ๆ นั้นมีรถแท็กซี่อยู่เพียง 14 คัน แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเลิกกิจการในที่สุด เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2490 ก็มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่อีกครั้ง รถที่นำมาบริการในช่วงนั้นเป็นรถยี่ห้อ เรโนลต์ (Renault) สมัยนั้นจึงเรียกแท็กซี่ว่า ‘เรโนลต์’ ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบ ซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้น จนขยายไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถมาจนถึงทุกวันนี้ 

ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ส่วนบุคคลนำมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวิวัฒนาการรถแท็กซี่ในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ‘กรุงเทพ’ ครองอันดับ 1 ปี 2023 เมืองที่ ‘นทท.ต่างชาติ’ มาเยือนมากที่สุดในโลก

(3 ส.ค.66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 จากเว็บไซต์ travelness มีชาวต่างชาติเดินทางมาทั้งสิ้น 22.78 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 - 24 ก.ค. 66 สร้างรายได้รวม 1,125,072.88 ล้านบาท เฉพาะช่วง 24 - 30 กรกฎาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 563,882 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 80,555 คน

รวมทั้งยังมีผลสำรวจของ The Pew Research Center ของสหรัฐอเมริกา เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เผยว่าอาหารไทย ได้รับการโหวตเป็นอาหารยอดฮิตอันดับ 3 อาหารเอเชียที่ขายดีในอเมริกา ด้วยสัดส่วนร้อยละ 11 เป็นรองเพียงอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวของไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย พร้อมชูซอฟพาวเวอร์ ‘อาหารไทย’ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ ‘Gastronomy Tourism’ ให้อยู่ในกระแสนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานความคืบหน้า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนว่า กรมฯ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น

เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและองค์กรปกครองท้องถิ่นในการบริหารจัดการเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย สอดคล้องมาตรฐานเมืองท่องเที่ยวของอาเซียน เช่น มาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาด (ASEAN Clean Tourist City Standard) ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมในไทยให้ความสนใจ โดยปี 2566 นี้ มีผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการขอรับการตรวจประเมินมาตรฐานโรงแรมสีเขียวอาเซียน ถึง 27 แห่งจากทั่วประเทศ  

"ประเทศไทยยังคงเป็นปลายทางการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวยังคงให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อน เชื่อว่าปี 2566 ทั้งปี การท่องเที่ยวไทยจะสามารถสร้างรายได้ราว 2.38 ล้านล้านบาท และมีสิทธิลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาไทยไม่น้อยกว่า 25 ล้านคนตามเป้าหมาย" น.ส.รัชดากล่าว 

เตือน!! อย่าคาดหวัง นทท. จีน อย่างเดียว ควรกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนอื่นเพิ่ม

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 6 ส.ค.66 ในประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจกับการท่องเที่ยวไทย โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ใหญ่บ้างเล็กบ้าง จำกัดอยู่ในระดับประเทศบ้าง ระดับภูมิภาคบ้าง หรือเป็นวิกฤตระดับโลกบ้าง บางวิกฤตมีต้นเหตุมาจากภาคการเงินการธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสาธารณสุข หรือจากการก่อการร้ายและสงคราม 

แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภาคเศรษฐกิจจะเกิดการหดตัว การว่างงานพุ่งสูงขึ้น ภาคการเงินจะเกิดหนี้เสียสูงขึ้นมาก เป็นเหตุให้เศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวได้ช้า และภาคธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว ภาคการเงินการธนาคารไทยมีความเข้มแข็งและทนทานขึ้นมาก เมื่อเศรษฐกิจไทยหดตัวจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระบบการเงินจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ และไม่เกิดปัญหาหนี้เสียคงค้าง (Debt Overhang) เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ จึงเชื่อกันว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ขณะที่ไทยก็น่าจะกลับมาเติบโตได้รวดเร็ว

ยิ่งเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ จึงมีความคาดหวังสูงว่าไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะจีนส่งนักท่องเที่ยวมาไทยมากที่สุด ถึงปีละประมาณ 10 ล้านคนก่อนโควิด-19 

แต่เหตุการณ์ต่อไป อาจหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแรงแค่ไตรมาสแรกไตรมาสเดียว พอเข้าไตรมาสที่สองก็เริ่มชะลอตัวลงอีก จากภาระหนี้สินคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังกลายเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของการบริโภค 

สังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการท่องเที่ยวในปี 2566 จะเป็นไปตามเป้าที่ทางการกำหนดไว้ที่ 28.5 ล้านคนหรือไม่ ภายใต้การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนกำลังเตรียมการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) เร็ว ๆ นี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจจีนไม่ให้ชะลอตัวไปกว่านี้ 

"ไทยไม่ควรฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยวจากจีนเพียงอย่างเดียว ควรจะกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย และอาจเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดไม่ใหญ่นักที่มุ่งสนับสนุนการบริโภคการลงทุนในประเทศ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า" อ.พงษ์ภาณุ ฝากให้คิด

เตรียมพร้อมรับ Digital Nomad นักท่องเที่ยว สายทำงาน เลือก 3 พิกัดในไทยเป็นหมุดหมายในการมาใช้ชีวิต

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ไลฟ์สไตล์ในการทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 15.2 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 35 ล้านคนในปี 2565 หรือเติบโตขึ้นกว่า 130% และมีโอกาสแตะระดับ 60 ล้านคน ในปี 2573

จุดเด่นของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad คือ การมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยสูงถึง 6 เดือน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไปกว่า 56% และไม่ได้มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ชัดเจนแบบนักท่องเที่ยวกลุ่ม Mass ทำให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว โปรไฟล์ของกลุ่ม Digital Nomad จะเป็นชาวอเมริกันเป็นหลักโดยมีสัดส่วนสูงถึง 48% ของกลุ่ม Digital Nomad ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (7%) รัสเซีย (5%) แคนาดา (4%) และเยอรมัน (4%)

และส่วนใหญ่จะเป็นชาวมิลเลนเนียล (Millennials) หรือกลุ่ม Gen Y โดยกว่า 83% จะประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพที่พบได้มากที่สุด คือ งานด้านคอมพิวเตอร์/ไอที นักการตลาด งานออกแบบ นักเขียน และงานด้าน E-Commerce

โดยสถานที่ที่นิยมใช้เป็นที่ทำงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

-กลุ่มที่ต้องการเสียงและบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน จะเลือกทำงานใน Co-working Space เป็นหลัก

-กลุ่มที่ต้องการความเงียบสงบในการทำงานจะเลือกทำงานในที่พักอาศัยเป็นหลัก

ส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของกลุ่ม Digital Nomad จะมีงบประมาณในการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 62,000 บาทต่อเดือน โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมืองหรือประเทศที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ต่อไป

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เป็นอย่างมาก เพราะว่า 5 ปัจจัยหลักในการเลือกจุดหมายปลายทางของกลุ่ม Digital Nomad คือ ค่าครองชีพต่ำและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วีซ่าที่เหมาะสม ร้านกาแฟ/Co-working Space โดยเรื่องค่าครองชีพและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากมีผลต่อกำลังซื้อและประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง ขณะที่เรื่องความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยด้านอาชญากรรมและสภาพแวดล้อมมีความสำคัญรองลงมา

ซึ่ง ประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ถึง 3 แห่ง ได้แก่ 1. เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) 2. กรุงเทพฯ (อันดับ 2) 3. จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9) 

ด้วยศักยภาพและของ กลุ่ม Digital Nomad ด้าน Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลัก คือ

-ธุรกิจที่พักแรม และร้านอาหาร เช่น ธุรกิจ Co-Living Space, Service Apartment, Hostel, โรงแรม และ ธุรกิจ Co-working Space

-ธุรกิจบริการเช่ารถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นวิธีการเดินทางหลักของ Digital Nomad

-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Community เช่น การจัดกรุ๊ปทัวร์ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ รวมถึงคลาสออกกำลังกาย เช่น โยคะ มวยไทย เป็นต้น

-ธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและมีประสิทธิภาพมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อมก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า / ธุรกิจสถานบันเทิง / ธุรกิจการแพทย์

'อินเดีย' ห้ามส่งออกข้าวกระทบประชากรหลายล้านคน ด้านไทยพร้อม หลังผลผลิตเพียงพอ เหลือพอส่งออกเพิ่ม

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้ห้ามส่งออกข้าวขาว ที่ไม่ใช้พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เสี่ยงสั่นคลอนตลาดข้าวทั่วโลก มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนหลายล้านคน โดยเฉพาะเอเชียและแอฟริกา

เหตุผลเพราะรัฐบาลอินเดียต้องการควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ 

ทั้งนี้ อินเดียมีสัดส่วนส่งออกข้าว กว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดยมีมาเลเซีย, สิงคโปร์ เป็นสองประเทศในอาเซียนที่พึ่งพาข้าวจากอินเดียมาก รวมทั้งแอฟริกา, ตะวันออกกลาง, แอฟริกาเหนือ (MENA) โดยประเทศจิบูตี, ไลบีเรีย, กาตาร์, แกมเบีย และคูเวต มีความเสี่ยงมากที่สุด ตามรายงานของธนาคารบาร์เคลย์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศที่มีการผลิตข้าว ส่งออกข้าว หรือนำเข้าข้าว ให้ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด หลังจากที่อินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น มากำหนดแผนและมาตรการในเรื่องข้าวของไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ติดตามสถานการณ์การส่งออกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร ประเทศไหนมีความต้องการเพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาส่งออกเป็นอย่างไร กรมการค้าภายใน ให้ติดตามสถานการณ์สต็อกในประเทศ ราคาข้าวเปลือกในประเทศ และทูตพาณิชย์ ให้ติดตามว่าแต่ละประเทศมีมาตรการและนโยบายในเรื่องข้าวอย่างไร มีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายกีรติกล่าวว่า เมื่อเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าทิศทางข้าว จะเป็นไปอย่างไร กระทรวงพาณิชย์จะมาทำแผนและมาตรการในเรื่องข้าว ซึ่งมีสมมติฐานตั้งแต่เบาไปหาหนัก แล้วแต่ว่าสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังคงเป็นปกติ ไม่มีอะไร ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้กลไกตลาดขับเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการข้าวที่สูงขึ้น ก็จะมาพิจารณาว่าจะใช้มาตรการอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะไม่ต้องใช้เลยก็ได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลก ผลผลิตมีเพียงพอ และเหลือที่จะส่งออก

"ผมมองว่าน่า 1-2 สัปดาห์ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแนวโน้มตลาดข้าวโลกจะเป็นอย่างไร เบื้องต้น ในประเทศไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าว และเหลือส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า การส่งออกปีนี้ น่าจะเกิน 8 ล้านตัน จากที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า โดยมีการประเมินกันว่าจะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของไทย และทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง โดยล่าสุดได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เพื่อร่วมกันทำแผนรับมือ เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตลดลง

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มใจ!! อนุมัติลงทุนใน EEC ทะลุ 2 ลลบ. มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม-พัฒนาชีวิต ปชช.

(10 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความสำคัญและความสำเร็จการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการลงทุนเกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยวางเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่อนุมัติการลงทุนแล้วถึง 2 ล้านล้านบาท และเป็นการลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากเอกชน

ความสำเร็จของ EEC ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การลงทุนปี 2561 - ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น มีจำนวนถึง 1,360,349 ล้านบาท โดย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F

การพัฒนา EEC ให้เป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบการพัฒนา คือ ‘Ecosystem’ พัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตในทุกมิติ ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การประกอบธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเมือง และการยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ‘Exclusive’ กำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษ ในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการการลงทุนนั้น ๆ และ ‘Collaborative’ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการทำให้การลงทุน เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของรัฐบาล ทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC ไม่ใช่เพียงความสำเร็จด้านโครงสร้างความเชื่อมโยง แต่รวมถึงการลงทุนจำนวนมาก มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งเห็นความสำเร็จถึงประโยชน์ที่ส่งตรงถึงคนไทย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สร้างงาน พัฒนาการศึกษา นวัตกรรม โดยไม่มองข้ามการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า EEC ที่รัฐบาลภูมิใจ ให้ความสำคัญในการดำเนินการตลอดมานั้น จะเกิดประโยชน์ถึงประชาชนทุกคน

สภาผ่านกฎหมาย เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทย จากวันที่ 1 เม.ย. เป็น 1 ม.ค. แบบสากล

วันนี้เมื่อ 83 ปีก่อน สภาฯ ได้มีมติเห็นชอบ แก้ไขวันขึ้นปีใหม่ จาก ‘1 เมษายน’ เป็น ‘1 มกราคม’

สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการกำหนดวันขึ้นปีใหม่ของไทยไม่เหมาะสม เพราะประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต่างถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเพื่อสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ 

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องปีปฏิทิน ทำการศึกษาค้นคว้าและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล โดยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ จึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พ.ศ. .... ในวันที่ 1 สิงหาคม 2483 โดยมีเหตุผลว่า เพื่ออนุโลมตามปีประเพณีของไทยแต่โบราณที่ถือวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่และให้ตรงกับที่นิยมใช้ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว จากนั้นที่ประชุมรับหลักการวาระที่ 1 และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พ.ศ. ... 

ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2483 มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศใช้พระราชบัญญัติปีปฏิทิน พุทธศักราช 2483 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2483 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงปีปฏิทิน โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติ โดยให้หน่วยงานราชการหยุดทำการ 2 วัน คือ วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ประเทศไทยจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 และเป็นการเปลี่ยนการใช้ปีปฏิทินของประเทศไทยครั้งแรกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประเทศไทยประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 121 ปีก่อน ประเทศไทยได้ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรก เป็นธนบัตรหน้าเดียว มี 5 ราคา คือ 5, 10, 20, 100 และ 1,000 บาท พิมพ์โดย บ.โทมัส เดอลารู แห่งอังกฤษ มีอักษรแจ้งมูลค่าเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ และมลายู

ย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 120 ปีที่แล้ว 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ประเทศไทย ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

และต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น นั่นก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 นั่นเอง โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top