Tuesday, 9 July 2024
ประเทศไทย

‘BOI’ กางยอด 8 เดือน ไต้หวันแห่ลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท พร้อมยกเป็นฐานการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งออกทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ดิจิทัล อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกขยายตัวอย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัปพลายเชนครบวงจร และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนที่แข่งขันได้ ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

โครงการลงทุนจากไต้หวันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คอมพิวเตอร์พกพา (Notebook) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Device) เป็นต้น 

ซึ่งบีโอไอได้มองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากไต้หวันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานนำสมาชิกสมาคมผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากไต้หวัน เดินทางสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการลงทุนในประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัท PCB จากไต้หวัน ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี และได้พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ จนแข็งแกร่งและครบวงจร ทั้งยังผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกมาแล้ว จึงมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยจะดึงการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” นายนฤตม์ กล่าว

ปัจจุบันไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 65 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ สำหรับการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 35 โดยปัจจุบันผู้ผลิต PCB ไต้หวัน 20 อันดับแรก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 10 ราย เช่น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB เป็นต้น 

เมื่อรวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยประเทศเวียดนามและมาเลเซีย สำหรับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่เหลือ เป็นเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอจะเร่งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยบางรายได้ตอบรับและอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเร็ว ๆ นี้

“การเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิต PCB จากไต้หวันในรอบนี้ ถือเป็นคลื่นการลงทุนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ประเทศเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัปพลายเชนในประเทศ เกิดการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไออีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - สิงหาคม 2566) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการผลิต PCB 7 โครงการ เช่น บริษัท Gold Circuit Electronics, ITEQ Corporation, Taiwan Union Technology และเป็นการผลิตโน้ตบุ๊กให้กับ HP บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 2 ของโลก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท QMB และ Inventec นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่จากไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น บริษัท Delta Electronics, Tatung, Cal-Comp, Techman, Chicony, Primax เป็นต้น

14 กันยายน พ.ศ. 2485 ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันเป็นวันแรก แสดงถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

วันนี้เมื่อ 81 ปีก่อน 14 กันยายน พ.ศ. 2485 ประชาชนชาวไทยยืนตรงเคารพธงชาติไทยครั้งแรก ในเวลา 08.00 น. และ เวลา 18.00 น. หลังก่อนหน้านี้มีการกำหนดเป็นกฎหมาย แต่ไม่ได้รับความนิยม

ปีพ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีเพลงชาติเป็นครั้งแรก แต่ยังคงใช้ชื่อว่า ‘เพลงชาติสยาม’ (เปลี่ยนชื่อเป็น เพลงชาติไทย ปี พ.ศ. 2482) และในปีต่อมา คือ พ.ศ. 2478 ทางราชการก็ได้ประกาศกฎหมายให้ประชาชนยืนเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น. แต่ในสมัยนั้นกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร

จนในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรายการวิทยุนายมั่น นายคง ซึ่งเป็นรายการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อโฆษณาแนวคิดรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการนัดหมายประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2485 เป็นวันแรก โดยภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้กล่าวผ่านทางวิทยุกระจายเสียงในทำนองว่า ตนเองรู้สึกสบายใจ และพบความเป็นไทยมากขึ้น รวมทั้งประณามคนที่ไม่เคารพธงชาติไทยว่า เป็นผู้คิดทรยศต่อชาติ เท่ากับการด่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระพุทธเจ้า เนื่องจากสีของธงชาติไทยมีสีแทนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีการทำตามมาจนถึงปัจจุบัน

อัปเดตความยิ่งใหญ่โครงสร้างพื้นฐานยกระดับเศรษฐกิจไทย 'ถนน-รถไฟ-รถไฟฟ้า-เมกะโปรเจกต์แสนล้าน' ใกล้เป็นจริง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 ก.ย.66 ได้พูดคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย กับ 'คุณจิรวัฒน์ จังหวัด' เจ้าของเพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ EP นี้ได้มาอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมอัปเดตการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าเส้นทางไหนเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางไหนกำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ เปิดแผนการลงทุน โปรเจกต์แสนล้าน! โครงการ Land Bridge เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค โดยคุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า...

ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ ส่วน ตั้งแต่สิ่งที่สร้างไปแล้ว สิ่งที่กำลังก่อสร้าง และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

>> ราง
สิ่งที่เปิดไปแล้วใหญ่ๆ เลยก็คือ สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ตอนนี้พอมารวมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ส่งผลให้พิกัดนี้กลายเป็น Hub สำคัญแห่งการคมนาคมของอาเซียนไปแล้ว (รถไฟจากลาวจีน สามารถวิ่งตรงมาที่ประเทศไทยได้เลย)

"โดยรถไฟสายสีแดง ถือเป็นรถไฟฟ้าเส้นสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหารถติดช่วงตั้งแต่ บางซื่อถึงรังสิต ได้ดีอย่างมาก"

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เปิดบริการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โมโนเรล (Monorail) สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรล สายแรก ที่เป็นขนส่งมวลชนในเมืองไทย เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งจะแก้ไขปัญหารถติดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี 

"สายนี้สำคัญมาก เพราะมาเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่ลาดพร้าว ขณะที่ในอนาคตจะมาเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ซึ่งลำสาลีจะวิ่งอยู่บนถนนรามคำแหง แล้วสุดท้ายจะไปจบที่สถานีสำโรง อีกทั้งสายนี้จะยังมีจุดจอดรถจอดแล้วจร ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นขนทางจราจรและป้อนคนเข้าออกชานเมืองได้อย่างดี"

ไม่เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมตัวเปิดอีกไม่นาน ก็จะมี สายสีชมพู ซึ่งเป็นแบบโมโนเรล เหมือนสายสีเหลือง เริ่มตั้งแต่ศูนย์ราชการ นนทบุรี ไปมีนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสายเช่นกัน 

"ความสำคัญของรถไฟฟ้าเส้นนี้คือการเชื่อมต่อไปเมืองทองธานี เป็นสายแรกในเมืองไทยที่ทำรถไฟฟ้าสายแยก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งสายสีชมพูจะเริ่มเปิดประมาณต้นปี 2567"

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ คือสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูที่มีนบุรี และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปถึง ศิริราช และสถานีบางขุนนนท์ได้เลย โดยสายสีส้มจะวิ่งในแนวขวางตัดกรุงเทพมหานคร 

ข้ามมาที่ สายสีม่วง ก็จะมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือสีม่วงด้านบน ช่วงเตาปูน ไปบางไผ่ ส่วนด้านล่าง เตาปูน ลงมาถึงพระประแดง ก็จะมาตัดสีส้มแถวราชดำเนิน ซึ่งสายสีม่วงส่วนล่างกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2572

คุณจิรวัฒน์ เผยอีกว่า รถไฟฟ้าที่เล่ามายังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนนี้ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) และกรมการขนส่งทางราง ได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการวางแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP ที่ได้วางกันมานาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมศึกษาเส้นทาง ภายใต้ประเด็นการใช้ตั๋วร่วม ให้เกิดขึ้นจริงบรรจุอยู่ด้วย

ในส่วนของ รถไฟทางคู่ คุณจิรวัฒน์ เล่าว่า "ตอนนี้เรามีประมาณ 5 โครงการทั่วประเทศ โดยเส้นทางหลักๆ ที่คืบหน้าไปมาก คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายอีสาน อีกเส้นหนึ่ง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ อีกสายหนึ่งที่สำคัญมาก คือ รถไฟสายใต้ นครปฐม-ชุมพร ตรงนี้คือคอขวดของรถไฟสายใต้ ถ้าสร้างช่วงนี้เสร็จไม่ต้องรอสับรางแล้วสามารถวิ่งตามกันได้เลย"

ส่วนรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของเมืองไทยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช โดยโครงการนี้ไทยเป็นคนก่อสร้างเองในส่วนของงานโยธา และซื้อระบบมาวางบนทางวิ่งที่ก่อสร้างเอง 

"ในอนาคตเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตรถไฟ ทางการก่อสร้างเส้นทาง การซ่อมบำรุง การประกอบของรถไฟความเร็วสูง โดยนำข้อมูลตัวเดียวกันมาผลิตรถไฟทางคู่ หรือ ราง 1 เมตรได้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2570" 

ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านมาเมืองนั้น จะมีสถานีระหว่างเมือง 3-4 สถานี ที่อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571-2572 

>> ถนน
ด้าน มอเตอร์เวย์ 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปเยอะมากแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี น่าจะสร้างเสร็จ (ประมาณ ปี 2568) อีกเส้น คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นส่วนๆ  ประมาณกลางปี 2567 น่าจะแล้วเสร็จ

>> เมกะโปรเจกต์
สำหรับโครงการในอนาคต กับ โครงการสะพานข้ามเกาะสมุย ขนอม-สมุย ระยะทางการสร้างสะพานประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากการขึ้นเรือเฟอร์รี่มายังเกาะสมุยนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ SEC (Southern Economic Corridor : ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ได้ 

อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการ Landbridge ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเศรษฐกิจข้าม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งโครงการนี้จะมีช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งทะเลได้โดยง่าย โดย Landbridge จะมีโครงการย่อยๆ เชื่อมโยงกันอยู่ 3 โครงการหลักๆ ได้แก่...

1.ท่าเรือ ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 ฝั่งทะเล บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ซึ่งการสร้างท่าเรือ จะช่วยในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น สับปะรด ได้ด้วย

2.การสร้างมอเตอร์เวย์ แบบคู่ขนาน ถนน และรถไฟสายใหม่ 

และ 3.การสร้างทางรถไฟ เชื่อมโยงกับทางรถไฟระบบเดิม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างมาก

"สำหรับโครงการนี้สำคัญต่อประเทศอย่างมาก ซึ่งผมอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในฐานะประชาชนในพื้นที่กันครับ" คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

‘ท่องเที่ยวฯ’ เล่นใหญ่!! ปี 67 ดึง นทท.เข้าไทย 40 ล้านคน เล็งผนึกกำลังทำงานรอบทิศ พร้อมชูวัฒนธรรมถิ่นเป็นจุดขาย

(18 ก.ย. 66) จากการประเมินแนวโน้มรายได้รวมจากการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2570 ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 5,599,377 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 4,479,502 ล้านบาท และรายได้จากตลาดในประเทศ 1,119,875 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อดูเฉพาะเทรนด์การเติบโตของรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ จะพบว่า...
- ในปี 2566 คาดอยู่ที่ระดับ 1,620,000 ล้านบาท
- ในปี 2567 คาดอยู่ที่ระดับ 2,292,968 ล้านบาท
- ในปี 2568 คาดอยู่ที่ระดับ 2,930,723 ล้านบาท
- ในปี 2569 คาดอยู่ที่ระดับ 3,656,910 ล้านบาท
- ในปี 2570 คาดอยู่ที่ระดับ 4,479,502 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้เตรียมตั้งเป้าหมายเชิงท้าทาย เพื่อสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 4 ล้านล้านบาทให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยแบ่งเป็นรายได้การท่องเที่ยวเฉพาะตลาดต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.8% จากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีสร้างรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ตลาดในประเทศวางเป้าไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง และคณะรัฐมนตรี ต่างเห็นตรงกันว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกระทรวงสร้างรายได้เข้าประเทศได้รวดเร็ว เป็นควิกวินของเศรษฐกิจไทย โดยนายกฯ เศรษฐา เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ บูรณาการความร่วมมือกับทุกกระทรวง เห็นได้จากนโยบายยกเว้นวีซ่า (วีซ่า-ฟรี) เป็นการชั่วคราวนานประมาณ 5 เดือนแก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 ตามที่ ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ย. สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว”

รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุผลที่นำร่องมาตรการวีซ่า-ฟรีเป็นการชั่วคราวกับตลาดจีนก่อน เนื่องจากในยุคก่อนโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2562 ตลาดจีนถือเป็นฐานลูกค้าหลัก เดินทางเข้าประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวนกว่า 11 ล้านคน แต่พอเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 เดินทางเข้ามาน้อยกว่าที่คาดไว้ จากข้อจำกัดเรื่องกระบวนการขอวีซ่า และกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่ข่าวลือเชิงลบของประเทศไทย ทำให้หน่วยงานรัฐต้องเร่งกระตุ้นและทำตลาด สร้างความเชื่อมั่นในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

“เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดการณ์ว่าช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคนต่อเดือน จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินมาตรการและอาจพิจารณาเพิ่มประเทศเป้าหมายในการออกมาตรการวีซ่า-ฟรี”

รมว.ท่องเที่ยวฯ เผยอีกว่า ในปีหน้ามีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2567 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 100% เทียบกับรายได้รวมปี 2562 จากเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 40 ล้านคน ปรับเพิ่มจากเป้าเดิมที่ ททท. ตั้งไว้ว่าจะดึงเข้ามาไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน

ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% ของปี 2562 โดยจากแนวโน้มตลอดปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน โดยหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นฮับบันเทิงแห่งเอเชีย (Entertainment Hub of Asia) แนวทางส่งเสริมการจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและกีฬาในประเทศไทย จะต้องเป็นงานที่แปลก ใหญ่ ต่อเนื่อง สร้างสรรค์ และใช้พลังของซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ ในการชิงเจ้าฮับบันเทิงของเอเชีย ซึ่งต้องบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน

ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปรับเพิ่มเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 เป็น 40 ล้านคน จากเป้าเดิมที่ ททท.ตั้งไว้อย่างน้อย 35 ล้านคน มองว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ เพราะทั้งนายกฯ เศรษฐา รวมถึงทุกกระทรวงพร้อมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ททท.จึงพร้อมพุ่งเป้าการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย 40 ล้านคน
.

โดยได้วางยุทธศาสตร์ ‘PASS’ ขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวซึ่งกำลังถูกจับจ้องในฐานะ ‘ควิกวินเศรษฐกิจ’ ไทยตอนนี้ ประกอบด้วย…

1. Partnership 360 ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2. Accelerate Access to Digital Worldพัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล

3. Sub-Culture Movementการลงลึกถึงระดับความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย แม้ประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจการท่องเที่ยว แต่การแข่งขันช่วงชิงนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่เคยทำอย่างการทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มกระแสหลักและกลุ่มความสนใจเฉพาะยังต้องเดินหน้า แต่ต้องเจาะกลุ่มความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมย่อยด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างแก่ทั้งองคาพยพท่องเที่ยวไทย จำเป็นต้องลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอความชอบของนักท่องเที่ยวที่มีเหมือน ๆ กัน

4. Sustainably NOWมุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่ต้องเดินเข้าหา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยืนอยู่บนโลกธุรกิจได้ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย นับเป็นต้นทุนที่มีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัส แต่เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน อย่างภาวะไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ ทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวได้หลายเดือน นี่คือสิ่งที่กระทบชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ ยังได้ดำเนินกลยุทธ์ ‘The LINK : Local to Global’ เชื่อมการทำงานแบบบูรณาการของสำนักงาน ททท.ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ด้วยแนวคิดLocal Experience, Innovation, Networking และ Keep Character อีกด้วย

“เทรนด์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในตอนนี้ ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในแง่ความยั่งยืนอย่างมาก ทำให้ ททท.วางเป้าหมายปี 2567 มุ่งเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism Destination) เพื่อยืนยันว่าภาคท่องเที่ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลก” นางสาวฐาปนีย์ กล่าว

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฝากบัญญัติ 10 ประการ รัฐบาลใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย โตก้าวกระโดดครึ่งปีหลัง

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า... 

ประเทศไทยปีนี้น่าจะไปได้สวย เมื่อต้นปีเราเชื่อมั่นว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวและเอื้ออำนวยต่อการเติบโตต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไปเมื่อเศรษฐกิจจีนใน Q2 เริ่มมีอัตราเติบโตลดน้อยลง ทำให้หลายคนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวผิดหวังไปตามๆ กัน  แต่ผมยังเชื่อว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่ จากเงินเฟ้อที่แม้จะมีอัตราสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงอย่างชัดเจน รวมถึงแรงกดดันที่ส่งผลให้ธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นมีลดน้อยลง 

ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ก็จะมีทั้งดีและไม่ดี อย่างในช่วง Q1 ไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่พอมาใน Q2 นักท่องเที่ยวเริ่มซาลง แต่เมื่อสรุปโดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก 12 ล้านคน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็กลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบทุกเดือน จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เราเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี น่าจะโตได้ 3%  โดยครึ่งแรกปีคาดเติบโตประมาณ 2.2 % เมื่อเทียบเคียงกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ซึ่งหมายความว่าช่วงครึ่งหลัง เศรษฐกิจไทยควรเติบโตมากกว่า 4% ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ายังเป็นไปได้ 

สำหรับรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ อ.พงษ์ภาณุ ได้ฝากบัญญัติ 10 ประการ ที่อยากให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนไว้ดังนี้…

1.การใช้นโยบายการคลังที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (Fiscal Stimulus) 
2.ธนาคารแห่งประเทศควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ย 
3.เตรียมแผนรับมือเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ 
4.ให้ความสำคัญกับความถดถอยของภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคส่วนอื่นๆ 
5.ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน 
6.การปฏิรูปการคลังและภาษี 
7.ให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อน 
8.ยกระดับการลงทุนของประเทศ 
9.การใช้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 
และ 10.ผลักดันการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

วันนี้วันแรก!! รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการ ‘วีซ่าฟรี’ อ้าแขนต้อนรับ นทท.จีน-คาซัคฯ กระตุ้นการท่องเที่ยว

วันนี้ (25 ก.ย. 66) จะเป็นวันแรกที่รัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (วีซ่าฟรี) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ จะเดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและมอบของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาโดยสายการบิน Thai Air Asia X (ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์) เที่ยวบิน XJ 761 เส้นทางเซี่ยงไฮ้-สุวรรณภูมิ ณ บริเวณประตูเทียบเครื่องบิน D4

ทั้งนี้เที่ยวบินที่ XJ761 วันที่ 25 กันยายน 2565 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด  341 คน โดยเป็นผู้โดยสารชาวจีน คิดเป็น 90 % และชาวต่างชาติ คิดเป็น 10 % โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT 80% และ 20%

อย่างไรก็ตามมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA Exemption) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 โดยรัฐบาลได้ยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน ให้สามารถเข้ามาและพำนักในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 

โดยจะยกเว้นเป็นเวลา 5 เดือน เป็นกรณีพิเศษ และเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเชื่อมโยงระดับประชาชน รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถาน 

มาตรการดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวคาซัคสถานที่จะเดินทางมาไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะสามารถเดินทางมาไทยได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (ไม่ต้องขอวีซ่าจึงไม่มีค่าธรรมเนียม) และเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอันเป็นปัจจัยสำคัญ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมตามนโยบายรัฐบาล

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า นักท่องเที่ยวตลาดจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของประเทศไทย โดยยังมีการฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 และเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นแรงส่งช่วยพลิกฟื้นการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมาอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่มีการยกเว้นการตรวจลงตราจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนประมาณ 1,912,000 - 2,888,500 คน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 - 62  สร้างรายได้เข้าประเทศ 92,583 - 140,313 ล้านบาท 

ขณะที่นักท่องเที่ยวคาซัคสถานในช่วง 5 เดือนดังกล่าวจะมีจำนวนประมาณ 129,485 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ประมาณ 7,930 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการ Quick Win ที่รัฐบาลใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะสั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 กันยายน 2566 จำนวน 2,284,281 คน ถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอันดับที่ 2 รองจากมาเลเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ถ้าไม่มีมาตรการในการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) จะมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,470,430 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 31 สร้างรายได้ 174,358 ล้านบาท

แต่เมื่อมีการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการกระตุ้นตลาด ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 4.04-4.4 ล้านคน และมุ่งสู่เป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 257,500 ล้านบาทในปี 2566 

เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of Traveling) นักท่องเที่ยวไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการขอตรวจลงตรา และเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ง่ายขึ้น รวมถึงในช่วงวันที่ 1- 8 ตุลาคมนี้ที่จะเป็นช่วง Golden week ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมออกเดินทางท่องเที่ยว 

ประกอบกับพันธมิตรด้านสายการบินมีความพร้อมจัดทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อาทิ เฉิงตู - สมุย, ปักกิ่ง - เชียงใหม่, กวางโจว - เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - เชียงใหม่, เซี่ยงไฮ้ - ภูเก็ต, กวางโจว - ภูเก็ต, คุนหมิง - หาดใหญ่ ทั้งระยะของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรายังครอบคลุมถึงช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่และตรุษจีนที่จะช่วยส่งเสริมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2567 อีกด้วย 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ Visa Free สนามบินสุวรรณภูมิคาดว่าจำนวนเที่ยวบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเพิ่มขึ้น

โดยคาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ คือ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 จะมีเที่ยวบินรวม 674 เที่ยวบิน (เฉลี่ย 96 เที่ยวบินต่อวัน) เป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 337 เที่ยวบิน 

ในส่วนประมาณการผู้โดยสารคาดว่าจะมีผู้โดยสารจากเที่ยวบินจีนรวม 130,593 คน (เฉลี่ย 18,656 คนต่อวัน) แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 65,584 คน ขาออก 65,009 คน 

สำหรับเที่ยวบินระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และสาธารณรัฐคาซัคสถาน คาดว่าในช่วง 7 วันแรกของมาตรการ ระหว่างวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 มีเที่ยวบินรวม 6 เที่ยวบิน

แบ่งเป็นเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ขาละ 3 เที่ยวบิน เท่ากับช่วงก่อนมีมาตรการ แต่คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,338 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ขาละ 669 คน 

การเตรียมความพร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิ ในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า - ขาออก นั้นได้มีการบูรณาการการบริหารจัดการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

กระบวนการผู้โดยสารขาเข้า คือ 
1.ขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ตม.) ขาเข้า 138 ช่องตรวจ (ช่องปกติ 118 ช่องตรวจ และช่อง Visa On Arrival อีก 20 ช่องตรวจ) และมีเครื่อง Auto Channel จำนวน 16 เครื่อง 

สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง (กรณีที่มีการใช้งานทุกช่องตรวจ) ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน และมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 1,550 ตารางเมตร ซึ่งสนามบินสุวรรณภูมิได้วางแนวทางดำเนินการกรณีเกิดความหนาแน่นบริเวณช่องตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 11.00 - 16.00 น.) 

2.ขั้นตอนรับกระเป๋าสัมภาระ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสายพานรับกระเป๋าขาเข้าสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ 4 สายพาน และสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ 18 สายพาน โดยหากเกิดความหนาแน่นบริเวณสายพานรับกระเป๋า สนามบินสุวรรณภูมิจะกำกับดูแลและติดตามเวลา First Bag และ Last Bag ของผู้ให้บริการภาคพื้นและสายการบิน 

ปัจจุบันผู้รับสัมปทานผู้ให้บริการภาคพื้น (บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด) สามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นจากช่วงปลายปี 2565

กระบวนการผู้โดยสารขาออก สนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการบริหารจัดการขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

1.ขั้นตอนการเช็กอินซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอิน แบบเดิม 302 เคาน์เตอร์ (ใช้เวลาเฉลี่ย 3 นาทีต่อคน) และมีเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) จำนวน 196 เครื่อง และเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) จำนวน 50 เครื่อง (ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาทีต่อคน) และกำหนดแนวทางการลดปัญหาความหนาแน่น โดยการทำ Early Check-in พร้อมประสานสายการบินให้นั่งเคาน์เตอร์ให้เต็ม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารใช้ CUSS และ CUBD 

2. บริการจุดตรวจค้น ซึ่งปัจจุบันมีจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจำนวน 3 โซน เครื่องเอ็กซเรย์ 25 เครื่อง และมีการติดตั้งระบบ Automatic Return Tray System (ARTS) ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจค้นไม่เกิน 7 นาทีต่อคน วางแนวทางลดความหนาแน่น โดยเกลี่ยแถวในโซนจุดตรวจค้นที่หนาแน่น 

3. ขั้นตอนการตรวจลงตรา ซึ่งปัจจุบันมีช่องตรวจหนังสือเดินทาง ตม.ขาออก 69 ช่องตรวจ และเครื่อง Auto Channel 16 เครื่อง ที่ใช้ระยะเวลาในการตรวจลงตรา 1 นาทีต่อคน มีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 2,199 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,149 คนต่อชั่วโมง 

โดยได้วางแนวทางลดความหนาแน่นบริเวณ ตม.ขาออก โดยประสานเจ้าหน้าที่ ตม.ให้นั่งเต็มทุกเคาน์เตอร์ในชั่วโมงหนาแน่น (ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 - 07.00 น. ช่วงกลางวันระหว่างเวลา 14.00 - 15.00 น. และช่วงกลางคืนระหว่างเวลา 21.00 - 23.00 น.)

30 กันยายน พ.ศ. 2511 ยกเลิก 'รถราง' ในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง

วันนี้เมื่อ 55 ปีก่อน เป็นวันสุดท้ายของการให้บริการรถรางในกรุงเทพมหานคร หลังได้รับความนิยมลดลง จากการที่ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

กิจการเดินรถราง เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายจอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก ของพระบรมราชานุญาตเดินรถราง จนเปิดการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนแรกสุดในกรุงเทพฯ และเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเวลาต่อมา รถรางถูกพัฒนาจากการใช้ม้าลาก เป็นการใช้ไฟฟ้าลาก ซึ่งก็ถือเป็นรถรางระบบไฟฟ้าชาติแรกในเอเชียอีกด้วย กิจการรถรางถูกเปลี่ยนมือหลายครั้งระหว่างการเปิดให้บริการ จนกระทั่งถูกโอนเป็นกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และมีเส้นทางเดินรถรางทั่วกรุงเทพฯ 11 สาย

แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนมีตัวเลือกในการเดินทางมากขึ้น รถรางเสื่อมความนิยม ทางการจึงค่อย ๆ ยกเลิกรถรางทีละสาย จนยกเลิกทั้งหมดในวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ. 2511

'อ.พงษ์ภาณุ' มองท่องเที่ยวไทย ภายใต้เศรษฐกิจจีน 'เปราะบาง' ยกเว้นวีซ่า ช่วยได้แค่ไหน แม้ไทยจะเป็นจุดหมายเบอร์ 1

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น การท่องเที่ยวไทย ภายใต้เศรษฐกิจจีน 'เปราะบาง' และการยกเว้นวีซ่า จะช่วยได้จริงหรือไม่? เมื่อวันที่ 15 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การท่องเที่ยวของไทยปีนี้แม้ว่าจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนต้นปีและยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด 19 ได้ แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ 8 เดือนแรกของ 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 12 ล้านคน และอาจจะบรรลุเป้า 30 ล้านคน สร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่

มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa Free) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน ของรัฐบาล จึงได้รับการจับตามองว่าจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้หรือไม่ แต่ต้องถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากทางการจีน โดยเฉพาะในจังหวะที่จีนกำลังเข้าสู่วันหยุด Golden Week เนื่องในวันชาติจีน (1 ตุลาคม) ซึ่งจากผลสำรวจของ Trip.com มักมีชาวจีนกว่า 20 ล้านคนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว และประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ 

ดังนั้น หากนโยบายยกเว้นวีซ่า ประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาในช่วง Golden Week นี้ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปให้กลับมาคึกคักได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ก็ยากที่จะด่วนสรุปว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ 

เพราะตอนนี้ จีนเจอปัญหาหลายด้าน ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะฟองสบู่แตกกำลังประสบปัญหาหนี้สินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยากที่จะแก้ไขได้ในเวลารวดเร็ว รวมถึงความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก ก็กำลังซ้ำเติมปัญหาภายในของจีน สะท้อนจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลจีนเอง ก็ดูจะมีความล่าช้าที่จะใช้นโยบายการคลังและการเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันการ 

ความเปราะบางของจีนขณะนี้ จึงถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งจริงๆ ก็กำลังเผชิญอยู่ จนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด...

28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในหลวง รัชกาลที่ 9

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ให้การถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของในหลวง รัชกาลที่ 9 นับเป็นครั้งที่ 2 ในการเสด็จเยือนประเทศไทย

ในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังพระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทอดพระเนตรการแสดงแสงสีเสียงที่วัดไชยวัฒนาราม ทอดพระเนตรขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ยังได้เสด็จไปยังโรงเรียนสตรีวิทยา ในขณะที่เจ้าชายฟิลิปเสด็จไปวางพวงมาลาที่สุสานทหารสัมพันธมิตร ที่จังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยทั้งสองพระองค์และเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน จ. อยุธยา และ จ.เชียงใหม่

'อ.พงษ์ภาณุ' เปิด 4 เหตุผล มาตรการแจกเงินดิจิทัลต้องรันต่อ อย่าพะวงเสียงวิจารณ์ ในจังหวะประเทศโตอืดมานาน

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 29 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้น่าจะเป็นเวลาเหมาะสมที่รัฐบาลจะใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็ล้วนไร้เหตุผลที่น่าเชื่อถือและอาจมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางเศรษฐกิจ การคลัง และรูปแบบของมาตรการเอง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาเป็นเวลานาน นับจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง การปฏิวัติรัฐประหาร รวมทั้งวิกฤตโควิดก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบมากว่าประเทศอื่น แม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปแล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้เหมือนประเทศอื่น แนวโน้มระยะข้างหน้าก็ไม่สู้จะดีนัก เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ช่องว่างทางการคลัง (Fiscal Space) ของไทยยังถือว่ามีอยู่ค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาจะสร้างหนี้สาธารณะไว้เป็นจำนวนมาก แต่ระดับหนี้สาธารณะที่ 62%ของ GDP ก็ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีหนี้เกิน 100% ขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แม้ว่าจะตึงตัวขึ้นบ้างและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ยังถือว่าตลาดยังเปิดสำหรับการกู้ยืมโดยภาครัฐ ทั้งนี้คำนึงจาก Yield Curve ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และเงินเฟ้อในประเทศที่เข้าใกล้ศูนย์เข้าไปทุกที

รูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ Fiscal Stimulus ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 T ได้แก่ Timely / Targeted / Temporary และ Transparent มาตรการเงินดิจิทัลของรัฐบาลมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ กล่าว คือ...

1) ทันการสามารถอัดฉีดการใช้จ่ายเงินเข้าภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันที ต่างจากข้อเสนอให้ใช้การลงทุนภาครัฐ ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าจะบังเกิดผล 

2) มีเป้าหมายชัดเจน เพราะมุ่งให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคกระจายไปทั่วประเทศและกระตุ้นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 

3) ชั่วคราว ใช้แล้วจบ ไม่ฝังอยู่ในโครงสร้างทางการคลัง และไม่เป็นภาระการคลังในระยะยาว และที่สำคัญที่สุด 

4) โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะระบบดิจิทัลจะสามารถแสดงข้อมูลแบบ Online และ Real time เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีสามารถติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไปพร้อมๆ กับองค์กรตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top