Tuesday, 9 July 2024
ประเทศไทย

‘กูรูฟุตบอลไทย’ ชี้!! เส้นทางวงการฟุตบอลไทยยุคนี้ สดใส หลังโครงสร้างสมาคมใหม่ เหมือน รบ.แห่งชาติด้านฟุตบอล

จากผลการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นายกสมาคมคนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกของไทย ทำให้เกิดการจุดประกายให้กับวงการฟุตบอลไทยว่าจะกลับมาสู่ยุคเฟื่องฟูอีกหรือไม่? รายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES จึงได้คลุกวงในพูดคุยกับ คุณศิริชัย ยิ่งเจริญ ผู้จัดรายการ BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งอยู่ในแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน ถึงทิศทางและโอกาสของฟุตบอลไทยในปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 17 ก.พ.67โดยคุณศิริชัย กล่าวว่า…

แม้วงการฟุตบอลไทยจะเริ่มกลับมาเติบโต ถ้าเอาจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับวงการฟุตบอลทั่วโลกถือว่ายังอยู่ในช่วงไข่ด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาดูแลและขับเคลื่อน ภายหลังจากได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า มาดามแป้งมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการประสานงานในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้จัดการทีมชาติอยู่แล้ว และยังมีใจรักและทุ่มเท ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราได้รัฐบาลแห่งชาติด้านฟุตบอล ซึ่งคาดหวังว่าวงการฟุตบอลไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น 

เมื่อพูดถึงนักกีฬาดาวเด่นที่จะมาเป็นกำลังสำคัญจากทัวร์นาเมนต์การแข่งขันในไทยนั้น? คุณศิริชัย กล่าวว่า “ถ้าจะให้อธิบายถึงลีกฟุตบอลไทยอาชีพในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 5 ระดับด้วยกัน คือ Tier 1  Tier 2  และ Tier 3 และรองลงมาแบบสมัครเล่น ได้แก่ ‘ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก’ และ ‘ไทยแลนด์ เมเจอร์ลีก’ โดยมี BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งเป็นรายการที่จัดการแข่งขันอยู่ในกลุ่มไทยแลนด์ เซมิโปรลีก เป็นแม่เหล็กที่น่าสนใจ เพราะรายการนี้สามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่เลื่อนชั้นสู่ระดับอาชีพได้มากมาย เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนระดับมัธยมปลาย เพื่อเฟ้นหานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ เข้าสู่ทีมโดยมีเป้าหมายพัฒนาไปสู่นักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องมีใจรัก มีความพร้อมและทุ่มเท โดยเฉพาะสภาพร่างกาย และวินัยในการฝึกซ้อม”

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากนำเสนอเพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเกิดการพัฒนา? คุณศิริชัย กล่าวว่า “เราควรปูพื้นฐานใหม่ด้านกีฬาฟุตบอลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่โภชนาการ เทคนิคการเล่น วิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพร่างกาย ซึ่งควรเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่วัยเด็กหรือเยาวชน โดยที่ครอบครัวและผู้ปกครองก็จะมีส่วนสำคัญในด้านนี้ เช่น การส่งเสริมให้บุตรหลานอยากเป็นนักฟุตบอลด้วยใจรัก สนุกไปกับมัน ภายใต้ความพร้อมด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่าย”

อย่างไรก็ตาม คุณศิริชัย ก็ไม่ได้ตีกรอบให้ผู้ปกครองต้องผูกเด็กไว้กับกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ควรหาแรงบันดาลใจของบุตรหลานตัวเองให้ได้ว่าชอบกีฬาอะไร โดยการพาไปชมกีฬาหลาย ๆ ประเภทหรือทดลองเล่นกีฬาเหล่านั้นเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง เมื่อมีใจรักและมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม โอกาสประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นตาม 

“อย่างไรก็ตาม กีฬาฟุตบอล ก็ยังถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก สามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งมูลค่าของกีฬา มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือมูลค่าแฝงทางสังคมที่เกินกว่าตัวเงิน เช่น ความภาคภูมิใจของทีมกีฬา หรือตัวนักกีฬาเอง และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสมาคมฟุตบอลไทยยุคใหม่จะทำให้ภาพความสำเร็จเหล่านี้มาสู่เมืองไทยได้มากขึ้น” คุณศิริชัย ทิ้งท้าย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE TOMORROW  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ เปิดมุมมอง ‘หนี้สาธารณะ’ กับการพัฒนาประเทศ ข้อดี ‘ก่อหนี้-กู้ยืม’ สร้างแรงส่งสู่การลงทุน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจ

ทีมข่าว THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้สาธารณะกับการพัฒนาประเทศ' เมื่อวันที่ 25 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

หลังการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศหลายประเทศ ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็มีระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นมาก และเมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะจึงเริ่มเป็นปัญหาและในบางประเทศเข้าขั้นวิกฤต เช่น สหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหาเพดานหนี้จนอาจถึงขั้นรัฐบาลปิดดำเนินการ (Government Shutdown) จีนมีปัญหาหนี้รุนแรงในระดับรัฐบาลท้องถิ่นจนรัฐบาลกลางต้องเข้าไปอุ้ม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขหนี้ตามสนธิสัญญา Maastricht ได้

แม้ว่าในบางครั้งหนี้อาจเป็นปัญหาและก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่หนี้โดยตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องหวาดกลัวเสมอไป การก่อหนี้หรือการกู้ยืมมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตเพื่อการบริโภคในอนาคตแทนที่จะบริโภคหมดไปในปัจจุบัน ตลาดและสถาบันการเงินมีหน้าที่หลักในการระดมทุนจากผู้ออมและจัดสรรทุนในรูปหนี้หรือทุนไปยังกิจกรรม/โครงการที่นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระดับประเทศก็เช่นกัน การก่อหนี้สาธารณะมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐบาลมีทรัพยากรเสริมจากรายได้ภาษีอากร เพื่อจัดให้มีบริการที่จำเป็นต่อประชาชนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ยิ่งถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จะระดมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อาจมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเสริมเงินออมในประเทศ ระเบียบโลกจึงได้กำหนดให้มีโครงสร้างทางตลาดและสถาบันที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนไปยังที่ที่มีความต้องการใช้เงินทุนนั้น

แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มพยายามบิดเบือนและสร้างความสับสนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมไทยอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับข่าวแผนการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ว่าเป็นการเปิดประตูเมืองชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอคติอย่างรุนแรงต่อกลไกตลาดการเงินระหว่างประเทศ

ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ได้รับประโยชน์มหาศาลจากตลาดการเงินโลก เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดโลกครั้งแรก ที่ตลาดลอนดอน เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำคัญ ๆ ล้วนใช้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศทั้งนั้น อาทิเช่น ทางหลวงแผ่นดิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เป็นต้น รัฐบาลประยุทธ์ก็กู้เงินเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก หากไม่มีแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยคงไม่มีโอกาสพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางเช่นทุกวันนี้

ประเทศไทยมีระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก กฎหมายการเงินการคลังของไทยวางโครงสร้างและสถาบันภาครัฐเพื่อสร้างหลักประกันแห่งวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม และรัฐบาลไทยก็ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมา 

วันนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับปลอดภัยและมีองค์ประกอบที่เหมาะสม ทุนสำรองระหว่างประเทศมีความมั่นคง ประเทศไทยมี Credit Rating ในระดับ Investment Grade เสมอมา

ดังนั้น การออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาสร้างความตระหนกตกใจในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม ทำนองเดียวกับการออกพันธบัตรเพื่อสร้าง Yield Curve ของตลาดตราสารหนี้ในประเทศ แผนการออกพันธบัตรในตลาดต่างประเทศดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานักลงทุนระดับโลก และสร้างตลาดอ้างอิง (Benchmark) ให้กับตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่จะพึงมีในอนาคตหากจำเป็น


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top