Monday, 8 July 2024
THETOMORROW

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE TOMORROW ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

“1. การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2. ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู

3. ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

3 ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ นวัตกรรม เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ ทิ้งท้าย

BLC ปลื้ม!! นักลงทุนแห่จองซื้อ IPO ล้นหลาม ปักหมุดเตรียมลงสนามเทรด 21 มิถุนายนนี้

📌(19 มิ.ย.66) บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้น IPO หลังนักลงทุนตอบรับการจองซื้อหุ้นคึกคักมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรร ตอกย้ำความเชื่อมั่นและพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง เตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนสร้างโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่อย่างน้อย 14 รายการ รับเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพเติบโตทั่วโลก สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเดินหน้านำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก 21 มิถุนายน 2566

ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ โดยใช้ชื่อย่อ ‘BLC’ ในการซื้อขายหลักทรัพย์ หลังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนรวมทั้งสิ้น 150 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขาย 10.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวม 1,575 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกินความคาดหมาย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งจากการเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน และมีผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้รับการยอมรับและไว้วางใจมากว่า 30 ปี จากสถานพยาบาล ร้านขายยาชั้นนำในประเทศกว่า 8,000 แห่ง และส่งออกไปยังกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ เพื่อรองรับแผนงานขยายการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ เนื้อที่ 11,703 ตารางเมตร (ตร.ม.) ใช้งบลงทุน 845.0 ล้านบาท บนที่ดินเดิมของโรงงานที่จังหวัดราชบุรี และมีการติดตั้ง Solar Rooftop ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2569 ส่งผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 193% นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งวิจัย พัฒนา และผลิตยาสามัญใหม่อย่างน้อย 14 รายการ ในกลุ่มยาโรคเรื้อรัง และไม่เรื้อรัง โดยจะเริ่มวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2566 งบลงทุนไม่เกิน 140 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเงินลงทุนรายการละ 10 ล้านบาท

นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ กล่าวว่า BLC หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง จากเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังเติบโตทั่วโลก และผลิตภัณฑ์ยาจัดเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และหาผลิตภัณฑ์อื่นเข้าทดแทนได้ยาก อีกทั้งตลอดระยะกว่า 30 ปี BLC ดำเนินธุรกิจด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนไทย พร้อมทั้งยกระดับสมุนไพรไทยด้วยการสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างการยอมรับในตลาดโลก ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาของ BLC ได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งในพื้นฐานธุรกิจของ BLC ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ในช่วงการเสนอขายหุ้น IPO ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจอย่างดีจากนักลงทุน และมีนักลงทุนจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้

'นิวยอร์ก' เบียด 'ฮ่องกง' เมืองที่ 'ค่าครองชีพ' แพงที่สุด ปี 2023

📌นิวยอร์ก ครองแชมป์!! 
จากการสำรวจ ‘ค่าครองชีพ’ ครั้งล่าสุดของ ECA International ที่ทำการจัดอันดับ 207 เมือง ใน 120 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก ผลปรากฏว่า ฮ่องกงหลุดจากอันดับ 1 ในการเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติ หลังจากติดอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ปี โดยถูกนิวยอร์กแซงหน้าขึ้นแท่นมาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่าและค่าเช่าที่ที่สูงขึ้นอย่างมากนั่นเอง

ส่องมูลค่า 12 ธุรกิจชั้นนำ ที่ 'กระทรวงการคลัง' ถือหุ้นอยู่

🔍 มาดูกัน!! ‘กระทรวงการคลัง’ องค์กรของรัฐที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังถือหุ้นตัวไหนอยู่บ้าง?

ส่องประวัติ ‘ซอสพริกศรีราชา’ แรงบันดาลใจจาก 'พานิช' สู่ 'ตราไก่'

📌หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน (2562) คำว่า ‘ซอสศรีราชา’ ได้สร้างกรณีดรามาครั้งใหญ่ในไทยมาแล้ว โดยมีคนออกมาไถ่ถามกันว่าทำไมถึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘ซอสศรีราชา’ ไม่ได้ ซึ่งทางแฟนเพจ ‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ก็ได้ออกมาให้เหตุผลว่า...

...เพราะคำว่า ‘ศรีราชา’ เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามกฎหมาย ทำให้เครื่องหมายการค้าของไทยและต่างประเทศไม่สามารถรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้

ครั้นพอดรามาจบ ก็มีการตั้งคำถามลามไปต่อถึงเรื่อง ‘ซอสพริกศรีราชา’ ว่าที่ขายกันในตลาดหลากโฉมแต่ชื่อคล้ายกันนั้น เป็นของใคร? และมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ไหนกันแน่?

ว่าแล้ว THE TOMORROW ก็จะขอหยิบเรื่องนี้มาสรุปให้ทราบกันอีกสักครั้งสำหรับผู้อ่านที่ยังไม่รู้ถึงความเป็นมาเป็นไป...

เริ่มจากซอสพริกศรีราชาพานิช คำว่า ‘ศรีราชา’ ก็บอกแล้วว่ามีต้นกำเนิดมาจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และมีประวัติอันยาวนานมามากกว่า 80 ปี

โดยมีจุดเริ่มต้นจาก ‘น้ำพริก’ สูตรเฉพาะที่คุณแม่ถนอม จักกะพาก ที่ได้มาจากคุณทวดกิมซัว ทิมกระจ่าง ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน อันเป็นจุดกำเนิดแรกสุดของสูตรซอสศรีราชา เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2480 เลยก็ว่าได้

จุดพลิกผันจากการทำเพื่อไว้ทานในครอบครัว ซึ่งมีครบรสทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด เมื่อลองนำไปให้เพื่อนบ้านลองชิมต่างก็ติดใจ โดยเฉพาะเมื่อนำไปทานกับอาหารทะเลนั้นเข้ากันสุด ๆ

จากน้ำพริกที่ทำไว้ทานเฉพาะในครอบครัว ก็ขยายสู่ธุรกิจครัวเรือนโดยหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2505 ได้ตั้งโรงงานที่ซอยแหลมฟาน ศรีราชา และใช้ชื่อว่า ‘ศรีราชาพานิช’ ไว้สำหรับผลิตซอสพริกโดยเฉพาะ กลายเป็นซอสสุดโด่งดังจนเป็นที่รู้จักทั้งคนในศรีราชาและนักท่องเที่ยวที่รู้กันว่า เมื่อมาเยือนศรีราชาแล้ว ต้องซื้อซอสพริกขวดนี้กลับไปเป็นของฝากคนทางบ้าน ขึ้นแท่นของดีประจำอำเภอไปโดยปริยาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ซอสพริกศรีราชาก็ขยายสู่ร้านโชว์ห่วยและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เมื่อบริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายซอสปรุงรส ตราภูเขาทอง ได้เข้าซื้อกิจการและจัดจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์รสชาติแบบดั้งเดิมไว้ไม่เสื่อมคลาย

***และนี่คือเรื่องราวความเป็นมาของ ‘ซอสพริกศรีราชาพานิช’ ของไทย

ที่นี้อยู่ดี ๆ ก็มีซอสพริกที่ชื่อคล้ายกันเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในชื่อ 'ซอสพริกศรีราชาตราไก่' ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า ซอสยี่ห้อนี้มีที่มาจากความประทับใจในซอสต้นตำรับนะจ๊ะ

โดยในสหรัฐอเมริกาจะรู้จักซอสพริกศรีราชาในชื่อ ‘ซอสรสชาติเผ็ดร้อน ขวดสีแดงฝาสีเขียว’ หรือ ‘ซอสศรีราชาตราไก่’ โดยมีข้อความข้างขวดเขียนว่า Tương Ớt Sriracha (แปลว่า ซอสศรีราชา) ที่ผลิตโดย ‘เดวิด ทราน’ (David Tran) ชาวเวียดนามเชื้อสายจีนที่อพยพหนีสงครามเวียดนาม มายังสหรัฐอเมริกา

เดวิดเป็นคนที่ชื่นชอบซอส และต้องการจะทำซอสไว้กินกับเฝอ (ก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม) ซึ่งตอนนั้นไม่มีขายในอเมริกา เขาจึงเริ่มต้นผลิตซอสรสชาติเผ็ดร้อนขึ้นในปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) โดยมีแรงบันดาลใจมาจาก ‘ซอสพริกศรีราชาพานิช’ ที่นิยมทานกันในอำเภอศรีราชา ประเทศไทยนั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม เดวิดที่ได้ยอมรับว่า ซอสของเขามีต้นตำรับมาจากประเทศไทย แต่ก็ต้องการผลิตซอสที่มีรสชาติเผ็ดร้อนกว่าเดิม เพื่อให้ชาวเวียดนามในอเมริกาทาน

“ผมรู้ว่า มันไม่ใช่ซอสศรีราชาของไทย แต่มันเป็นซอสศรีราชาของผม” เขากล่าว

หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตซอสของเขาโดยใช้ชื่อ Huy Fong Foods ซึ่งตั้งตามชื่อเรือขนส่ง ฮุย ฟง โดยใช้ตราสัญลักษณ์บนขวดซอสเป็น ‘ไก่’ ที่เป็นสัตว์ประจำปีนักษัตรของเขา และโทนสีแดงกับเขียวเพื่อสื่อถึงความเป็นพริกสดมากที่สุด และได้มีการนำเข้า ‘ซอสศรีราชา ตราไก่’ มาขายในประเทศไทยด้วย

สำหรับ ‘ซอสศรีราชา’ สูตรของเดวิดนั้น เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ อย่างมาก กระแสนิยมเริ่มต้นจากการบอกปากต่อปาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2552 นิตยสาร Bon Appétit ได้คัดเลือกให้ ‘ซอสศรีราชา ตราไก่’ เป็นซอสแห่งปี 2553 และด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปี 2555 บริษัทของเขามียอดขายซอสสะสมมากถึง 20 ล้านขวดเลยทีเดียว

ฉะนั้น หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ‘ซอสศรีราชา’ ที่คนไทยและคนสหรัฐฯ รู้จักนั้น จึงเป็นคนละสูตรกัน ต้นกำเนิดต่างกัน รสชาติความอร่อยก็มีความเฉพาะต่างกันไป โดย ‘ซอสศรีราชาพานิช’ ต้นตำหรับไทยแท้จะมีรสชาติออก ‘หวานปนเผ็ด’ และถือกำเนิดมาก่อน ซอสพริกศรีราชาตราไก่ เกือบ ๆ 50 ปี

ส่วน ‘ซอสศรีราชา ตราไก่’ ที่โด่งดังในสหรัฐฯ โดยเดวิด ทราน จะมีรสชาติ ‘เปรี้ยวเผ็ด’ ซึ่งตรงนี้ใครจะชอบรสชาติแบบไหน ก็คงอยู่ที่รสนิยมส่วนบุคคล

อ้อ!! แล้วนอกจากคำว่า ‘ศรีราชา’ จะไปเป็นส่วนหนึ่งของชื่อซอสพริกแล้ว ก็ยังกลายเป็นชื่อแฟรนไชน์ร้านอาหารชื่อดังในสหรัฐฯ อย่าง Sriracha House ‘ศรีราชา เฮ้าส์’ ที่เน้นขายอาหารสไตล์เอเชียแบบฟิวชัน เพื่อปรับรสชาติให้เข้ากับคนในสหรัฐฯ แถมมีซอสพริกยี่ห้อต่าง ๆ มาขายอย่างหลายอีกด้วย

ไม่สับสนละเนาะ!!

รู้จักธุรกิจ BDMS กลุ่มโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในไทย

🔍 ธุรกิจ BDMS ถือเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีเครือข่ายโรงพยาบาลแยกได้ 6 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มโรงพยาบาลล้วนมีขนาดความสามารถเฉพาะในการรองรับผู้มาใช้บริการและกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย!!🏥✨

หมดเวลาเผาเงิน!! ยักษ์ใหญ่ 'Tech Company' เริ่มมีกำไร

📌ถึงเวลาโกยกำไร!! เมื่อยักษ์ใหญ่ด้าน Tech Company ในกลุ่มธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อมใจลดแคมเปญการตลาด แต่หันไปโฟกัสที่การสร้างรายได้มากขึ้น ส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มเห็นผลกำไรเป็นบวกหลังติดลบมานานนับ 10 ปี นำโดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง ‘Lazada’ ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่พลิกทำกำไรได้เมื่อปี 2564 โดยมีกำไรสุทธิ 226 ล้านบาท 

จากนั้น ในปี 2565 Shopee และ Grab สามารถพลิกฟื้นจากที่มีตัวเลขผลประกอบการขาดทุน กลับมาทำกำไรได้เป็นครั้งแรกเช่นกัน 

ในขณะที่ Robinhood แพลตฟอร์มสัญชาติไทย ในเครือ SCB X แม้จะมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี แต่ทางบริษัทมั่นใจว่า จะพลิกกลับมาทำกำไรได้ในปี 2568 

เปิดกลยุทธ์ 'ภาครัฐ-เอกชน' ไทย ใช้ LINE ยังไง? ให้ปังแบบ สุด ๆ

🔍การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของธุรกิจไทยเริ่มต้นและเดินหน้าอย่างช้า ๆ ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดที่เปลี่ยนวิถีชีวิตคน เป็นผลให้ธุรกิจต้องเดินหน้าสู่การใช้งานดิจิทัลเต็มตัว เพราะเป็นช่องทางเดียวในการเข้าถึงผู้บริโภค

LINE ถูกเลือกให้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสร้างแบรนด์ สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ด้วยประสิทธิภาพของเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม ที่พร้อมให้แบรนด์เข้าถึงคนไทยได้มากกว่า 53 ล้านคน

LINE พร้อมเชิดชูความสำเร็จขององค์กรและแบรนด์ที่ใช้งานแพลตฟอร์มในเชิงธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์ ทรงประสิทธิภาพ นำไปสู่ความสำเร็จเชิงการตลาดอันโดดเด่น และเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับการทำธุรกิจในวงกว้าง จึงจัดงานประกาศรางวัลสำหรับภาคธุรกิจครั้งใหญ่แห่งปี LINE Thailand Awards 2022

โดยมีการมอบรางวัลรวมทั้งสิ้น 51 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลสุดยอดแบรนด์ผู้สร้างผลงานการตลาดดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่ง 8 รางวัล และรางวัลการใช้งานโซลูชันต่าง ๆ บน LINE ยอดเยี่ยมตามแต่ละกลุ่มประเภทธุรกิจอีก 43 รางวัล ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจสำคัญในไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา LINE ได้พัฒนาโซลูชันมากมาย เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเลือกใช้งานตามเป้าหมายทางการตลาดได้อย่างครบครัน นำมาซึ่งผลสำเร็จเชิงการตลาดที่หลากหลาย ไม่เพียงเพิ่มจำนวนลูกค้าหรือเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าของแบรนด์

โดยเห็นได้จากแบรนด์ที่ได้รับรางวัล ‘สุดยอดแบรนด์ผู้สร้างผลงานการตลาดดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่งปี 2022’ ที่สามารถสร้างความสำเร็จเชิงธุรกิจได้หลากหลายมิติ จากการใช้แพลตฟอร์ม LINE อาทิ

>>ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง คว้ารางวัล Data Lead Campaign of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์บริหารดาต้ายอดเยี่ยมแห่งปี

ด้วยกลยุทธ์ในการบริหาร จัดการข้อมูลบนแพลตฟอร์ม LINE อย่างมีชั้นเชิง ผ่านการใช้ LINE OA และ Mission Stickers เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย พร้อมจำแนกแบ่งกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาในเชิงลึก ด้วยเครื่องมือ MyCustomer และต่อยอดสู่การทำ Cross Targeting ร่วมกับ LINE OA ของแบรนด์ในเครือ ด้วย Business Manager ทำให้ประสิทธิภาพการสื่อสาร และการลงโฆษณาผ่าน LINE Ads ไปสู่กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ของแต่ละแบรนด์ในเครือ Unilever แม่นยำ ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ผู้นำในกลุ่ม FMCG ในยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง

>>วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) คว้ารางวัล Chat Commerce of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์สร้างสรรค์กลยุทธ์ Chat Commerce ยอดเยี่ยมแห่งปี

ด้วยการใช้โซลูชันบนแพลตฟอร์ม LINE ในการทำแชตคอมเมิร์ซได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การลงโฆษณาผ่าน LINE Ads เพื่อกระตุ้นลูกค้ามาเพิ่มเพื่อนบน LINE OA การใช้ LINE OA เป็นช่องทางสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างทันใจ มีการใช้แชตบอตเข้ามาเสริมเพื่อสร้างสัมพันธ์และเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายไปพร้อม ๆ กัน และสามารถนำเสนอสินค้า เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกจองรถและปิดการขายผ่าน LINE SHOPPING ได้อย่างลงตัว สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับธุรกิจยานยนต์ไทย ขับเคลื่อนด้วยแชตคอมเมิร์ซบน LINE ได้อย่างครบวงจร

>>ซีพี ออลล์ คว้ารางวัล Best LINE OA of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์ใช้งาน LINE OA ยอดเยี่ยมแห่งปี จาก LINE OA: CP ALL 7-Eleven

ด้วยยอดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Target Reach) และอัตราการเข้าใช้งาน LINE OA จากตลอดทั้งปีสูงที่สุด สะท้อนถึงกลยุทธ์การพัฒนารูปแบบการซื้อขายร้านสะดวกซื้อสู่บริการยุคใหม่ผ่านแชตบน LINE OA ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วไทยได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับทุกการสื่อสาร ทุกกิจกรรมและทุกบริการที่นำเสนอบน LINE 0A นี้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการปฏิรูปวิถีการค้าปลีกของไทยมาอยู่บน LINE ได้อย่างทรงพลัง

>> สำนักงานประกันสังคม คว้ารางวัล Best Sticker of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์สร้างสรรค์สติ๊กเกอร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

จากสติ๊กเกอร์ชุด 'ออมสุขและอุ่นใจห่วงใยคุณ' ด้วยยอดดาวน์โหลดถล่มทลายสูงสุด จากการออกแบบคาแรคเตอร์ 'น้องออมสุขและน้องอุ่นใจ' ในรูปแบบสติ๊กเกอร์ไลน์ ที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์และสร้างการจดจำต่อองค์กรได้เป็นอย่างดี สมาชิกผู้ประกันตนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสื่อสารแทนใจ ส่งต่อความห่วงใยให้คนรอบข้างได้ในหลากหลายโอกาส ถือเป็นหนึ่งในตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ที่มีการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้สู่ประชาชนในวงกว้างได้อย่างน่าสนใจและมีประสิทธิภาพ

>> ลาซาด้า คว้ารางวัล Best Display Advertising of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์ด้านโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี

ด้วยอัตราการคลิกโฆษณารวมตลอดทั้งปีสูงที่สุด จากกลยุทธ์ในการวางแผนลงโฆษณาที่โดดเด่น ทรงประสิทธิภาพ มีการจำแนกประเภทกลุ่มสินค้าให้ตรงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจ ลงโฆษณาผ่าน LINE ในหลากหลายตำแหน่งเพื่อความครอบคลุม ออกแบบช่วงเวลาการนำเสนอโฆษณาแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้สารจากโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดในเวลาที่ใช่ นำมาสู่ผลลัพธ์เชิงการตลาดที่น่าประทับใจท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของตลาดอีคอมเมิร์ซ

>>โคคา โคล่า ประเทศไทย คว้ารางวัล Best LINE Ads Campaign of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์แคมเปญโฆษณาบน LINE Ads จากแคมเปญโฆษณา 'Coke ซ่าทุกเบรก'

ถือเป็นผู้นำพากลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ติดโผที่สุดแห่งปี ด้วยกลยุทธ์การวางกลุ่มเป้าหมายหลักของโฆษณาได้อย่างน่าสนใจ ก่อนกระจายการรับรู้ไปในวงกว้าง ผสานกับคอนเซปต์และชิ้นงานโฆษณาที่ดึงดูดสายตา ดึงดูดใจ ไปจนถึงเส้นทางการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ หลังรับชมโฆษณาที่ออกแบบมาได้อย่างลงตัว ทำให้แคมเปญนี้สร้างสถิติการเข้าถึง และอัตราการคลิกผ่าน LINE Ads สูงที่สุดแห่งปี

>>M-Flow - กรมทางหลวง คว้ารางวัล Best Display Advertising of the Year in Public
Sector หรือ สุดยอดองค์กรภาครัฐด้านโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี จากโฆษณา 'M-Flow'

รางวัลพิเศษที่ตอกย้ำถึงการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของภาครัฐอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านสื่อโฆษณา ซึ่ง M-Flow ได้ออกแบบคอนเซปต์โฆษณาได้อย่างสร้างสรรค์ ชูสโลแกนความเป็นครอบครัวเดียวกัน (M-Flow Family) และกลยุทธ์ในการเลือกตำแหน่งโฆษณาบน LINE ได้อย่างทรงพลัง นำมาซึ่งผลสำเร็จในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยยอดการเข้าถึงและอัตราการคลิกโฆษณาสูงที่สุดในกลุ่มโฆษณาจากองค์กรภาครัฐด้วยกัน

ทั้งนี้ หากมองในมุมของกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจตลอดช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตบนแพลตฟอร์ม LINE ได้อย่างโดดเด่น ทั้งในด้านการใช้งาน LINE OA เพื่อสื่อสารกับฐานผู้บริโภคของแต่ละแบรนด์ในข้อมูลเชิงลึกต่างๆ เช่น รายละเอียดสินค้าหรือบริการ ด้วยการพูดคุยผ่านแชตเพื่อปิดการขาย และในด้านการลงโฆษณาบน LINE เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ ไปจนถึงแคมเปญการตลาด โปรโมชันไปยังผู้บริโภค ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ FMCG เริ่มมีการพัฒนาการใช้งาน LINE OA ในเชิงลึก ยกระดับสู่การบริหาร จัดการดาต้าบน LINE นำโดยแบรนด์ใหญ่อย่าง Unilever Thai Trading Limited ถือเป็นโอกาสให้แบรนด์อื่นทั้งในกลุ่มธุรกิจนี้และกลุ่มธุรกิจอื่น ได้ศึกษาและพัฒนาต่อยอด LINE OA เพื่อประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดาต้าได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ถือเป็นน้องใหม่มาแรงในช่วงปี 2022 คือ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจสินค้าหรู และองค์กรภาครัฐ โดยธุรกิจยานยนต์และสินค้าหรู เน้นกลยุทธ์ Chat Commerce ด้วยการออกแบบเส้นทางให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ผ่าน LINE ตั้งแต่สร้างการรับรู้จนถึงปิดการขาย แม้สินค้ามีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถสร้างการเติบโตผ่าน LINE ได้อย่างต่อเนื่องและโดดเด่นไม่แพ้กลุ่มธุรกิจอื่น

ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ถือว่ามีความโดดเด่นในด้านโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE ด้วยการสร้างการรับรู้สู่ประชาชนผ่านโซลูชันต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสติ๊กเกอร์ และการลงโฆษณารวมไปจนถึงการใช้งาน LINE OA จากหลากหลายหน่วยงานภาครัฐที่มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวสู่โลกดิจิทัลที่จริงจัง อันสามารถต่อยอดสู่การขับเคลื่อนประเทศในเชิงโครงสร้างด้วยดิจิทัลได้ในอนาคต

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ โลกและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แบรนด์จำเป็นต้องเลือกใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเข้าถึง เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว การมอบรางวัล LINE Thailand Awards ไม่เพียงเชิดชูแบรนด์ที่มีการตลาดดิจิทัลที่เหนือกว่า แต่ยังเป็นเครื่องกระตุ้นให้แต่ละแบรนด์พัฒนาความสามารถในการนำโซลูชัน LINE ไปใช้งานเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
 

‘วิชัย ทองแตง’ เผยแผนดำเนินชีวิตในวัย 76 ปี ทิ้งฉายา ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ สู่นักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป

📌ในวัย 76 ปี ชื่อของ ‘วิชัย ทองแตง’ กำลังจะกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบหายไป จากอดีตที่เคยโด่งดังในยุคของการเป็นทนายมือทอง และเข้าสู่แวดวงตลาดหุ้น มีการ ‘เทกโอเวอร์กิจการ’ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง

มาถึงวันนี้ ในวันที่หันหลังให้กับฉายา ‘เจ้าพ่อตลาดหุ้น’ แล้ว ฉากและชีวิตจะก้าวไปอย่างไร มาลองฟังมุมมองและแพชชันใหม่ ๆ ที่ ‘วิชัย ทองแตง’ ตั้งใจผลักดันกัน

>> ลุยปั้นคน-ไม่เน้นสร้างเวลท์
“new chapter ของผมต่อจากนี้ คือ สร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์ (ความมั่งคั่ง) เหมือนก่อนแล้ว” อดีตเจ้าพ่อตลาดหุ้น ประกาศจุดยืนใหม่ของตัวเอง

วิชัยบอกว่าปัจจุบันตนไม่ใช่เซียนหุ้นแล้ว และไม่อยากจะให้ภาพตัวเองเป็นพ่อมดตลาดหุ้น หรือเป็นนักลงทุนขาใหญ่เหมือนในอดีต เพราะตนคิดว่าก้าวข้ามจากส่วนนั้นมาแล้ว โดยปัจจุบันได้โอนทรัพย์สินแบ่งให้ลูก ๆ ไปเกือบหมดแล้ว และวางมือจากธุรกิจเดิม ลาออกจากประธานกรรมการโรงพยาบาลพญาไท เพื่อขอออกมาทำตาม ‘passion’ ของตัวเอง นับตั้งแต่ตอนอายุ 70 ปี หรือตั้งแต่ราว 6 ปีก่อน ปัจจุบันรับบทเป็นเพียงที่ปรึกษาในแต่ละธุรกิจเท่านั้น

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
“ตอนนี้ new chapter ของผมเป็นคนเก่าในชีวิตใหม่ ที่เริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 70 ปี คือ ผมอยากมีภาพเป็น ‘นักปั้นหุ้น’ มากกว่า” วิชัยบอก พร้อมอธิบายว่า การปั้นหุ้น ก็คือ การปลุกปั้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหุ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปของเด็กรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถึงจุดหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ โดยตนจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้ามาคุยและวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งความตั้งใจของตนเองในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ จะต้องสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ให้ได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ให้ฉายาผมว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ฉะนั้น new chapter ของผมต่อจากนี้ คือสร้างคนเป็นหลัก ไม่เน้นสร้างเวลท์เหมือนก่อนแล้ว” วิชัยกล่าว

โดยที่ผ่านมา ได้เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่ที่มีความกระหายอยากทำธุรกิจ แต่ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งตรงนี้นับเป็นข้อกำหนดที่ร่วมธุรกิจกับทาง ‘บิทคับ’ ด้วย ว่าตนขอทำแค่ส่วนที่เกี่ยวกับบล็อกเชน และดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเท่านั้น ส่วนที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี พวกการเทรดต่าง ๆ จะไม่ยุ่ง

>>โฟกัสธุรกิจ ‘เมกะเทรนด์’
สำหรับประเภทธุรกิจที่ให้ความสำคัญ วิชัยกล่าวว่าจะเป็น ‘เมกะเทรนด์’ นอกจากเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว ก็ยังมีธุรกิจคาร์บอนเครดิต ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวแถลงข่าวใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัทนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบการเคลมคาร์บอนเครดิตได้สูงขึ้น และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาธุรกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่รับซื้อพลาสติก ซึ่งจะดำเนินการเป็น 2 แบบ คือ 1. เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ 2. กลั่นออกมาเป็นน้ำมัน ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีความจำเป็นกับประเทศไทยตอนนี้มาก

ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนทำน้อย โดยตนกำลังปั้นบริษัทแบบนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตและยิ่งใหญ่ได้ ไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่หากินในต่างประเทศได้ด้วย

ส่วนธุรกิจที่ใช้ AI ก็สนใจ ซึ่งก็มีสตาร์ตอัปรายหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถบริหารโหลดสำหรับการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี เพราะรถอีวีเวลาชาร์จไฟครั้งหนึ่งเท่ากับติดแอร์พร้อมกัน 10 ตัว ทำให้โหลดกระชากมาก

“ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าคนไทยทั้งประเทศใช้ไฟพร้อมกัน หม้อแปลงจะอยู่ได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครคิด แต่ผมไปเจอสตาร์ตอัปเด็กไทยคนหนึ่ง ไปประกวดระดับโลกได้ที่ 29 เขาทำสิ่งนี้อยู่ ผมพาเขา เข้าไปพรีเซนต์กับการไฟฟ้าแล้ว ธุรกิจพวกนี้คอยไม่ได้ เพราะกระแสอีวีเข้ามาเร็ว” วิชัยกล่าว

นอกจากนี้ ยังสนใจเกี่ยวกับ smart farmer โดยกำลังปั้นบริษัทบริหารฟาร์ม สร้างโมเดลเกษตรกรหัวขบวนอยู่ โดยสตาร์ตอัปรายนี้นอกเหนือบริหารฟาร์มแล้วยังสามารถค้นหาดีมานด์และซัพพลายให้มาเจอกันได้ ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลางออกไปได้

“ตอนนี้บริษัทที่ว่านี้ เพิ่งทำ ‘กระดานเทรดข้าว’ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เสร็จเรียบร้อยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน” วิชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาโรงพยาบาลพญาไท ย้ำว่า ตนและลูก ๆ ก็ไม่ได้ทิ้งธุรกิจด้านสุขภาพ (healthcare) เพราะเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงสูงมาก

>>ดันสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้น
สำหรับปีนี้วิชัยคาดว่าจะผลักดันบริษัทสตาร์ตอัปเข้าตลาดหุ้นได้ ประมาณ 2 บริษัท โดยตนจะไม่ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% อาจจะถือหุ้นแค่ 20-30% และไม่เข้าไปบริหาร

“ผมต้องการให้สตาร์ตอัปเกิด ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเทกโอเวอร์” วิชัยกล่าว

>>สูตรเลือกสตาร์ตอัป
วิชัยกล่าวว่า การเลือกสตาร์ตอัปที่จะนำมาปั้นนั้น ตนมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 คน ที่อยู่ในเครือข่าย ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ธุรกิจให้ เพราะทุกวันนี้สตาร์ตอัปเข้ามาหามาก เพราะ pain point ของสตาร์ตอัป คือการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเด็กที่เข้ามาจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า what’s next ? คืออะไร มีแผนธุรกิจต่อไปอย่างไร มีแผน 5-10 ปีหรือไม่ ต้องการเพิ่มทุนอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

“ผมมีสูตรเลือกสตาร์ตอัป คือ ขอให้มี 2G ก่อน G แรกคือ growth ต้องมีการเติบโต รายได้มากน้อยไม่ว่ากัน และ G ที่สอง คือ gain ต้องมีกำไร เพราะนั่นแปลว่าเข้าใจวิธีการบริหารและต้นทุนธุรกิจดี ถ้ามี 2G แล้ว ผมก็ไม่ต้องเหนื่อยมาก จากนั้นก็จะหาช่องทางระดมทุน หรือแนะนำกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) พร้อมทั้งช่วยวางแผนทางการเงินให้ด้วย” วิชัยกล่าว

“นอกจากนี้ ทุกคนที่เข้ามา ต้องปฏิญาณ 3 ข้อ คือ 1. ไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกง หรือหลอกลวงผู้อื่น 2. เรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม และ 3. แบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า” เดอะ ก็อด ฟาร์เธอส์ นักปั้นสตาร์ตอัปกล่าวทิ้งท้าย

ส่องธุรกิจในมือ 'วิชัย ทองแตง' นักกฎหมายที่ 'มั่งคั่ง' จากการลงทุน

🔍เมื่อเอ่ยถึง ‘วิชัย ทองแตง’ ผู้คนในแวดวงนักลงทุน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะถือเป็นนักธุรกิจและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้น ที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ จนครั้งหนึ่งเคยได้รับฉายาว่า ‘พ่อมดตลาดหุ้น’ มาแล้ว

แม้ระยะหลังได้ลดดีกรีการลงทุนในตลาดหุ้นลง พร้อมผ่องถ่ายธุรกิจหลาย ๆ อย่าง ส่งต่อไปให้ทายาทสานต่อ เพราะตนเองมีเป้าหมายใหม่ นั่นคือ การใช้ประสบการณ์และความรู้ เข้าไปช่วยปั้นบริษัทสตาร์ตอัปไทยให้ประสบความสำเร็จ

ขณะที่ปัจจุบัน คุณวิชัย ยังถือครองหุ้นและลงทุนในธุรกิจใดบ้าง ไปดูตัวอย่างกัน


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top