Monday, 8 July 2024
THETOMORROW

MASTER ไม่รับรางวัล Global Health Awards 2023 เหตุมีกลโกงแจกดะ ขอยืนหยัดเรื่องความซื่อสัตย์

📌กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมความงาม เมื่อบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ โรงพยาบาลศัลยกรรมชั้นนำของเมืองไทย ปฏิเสธการขึ้นรับรางวัล Global Health Awards 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดย Global Health Asia-Pacific สื่อสัญชาติสิงคโปร์ ที่ล่าสุดได้จัดงานมอบรางวัลไปเมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรม Ritz Carlton บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) เปิดโต๊ะแถลงถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง รางวัลโกลบอลเฮลธ์ เอเชีย-แปซิฟิก ในอีกมุมที่ไม่เป็นความจริงและห่างไกลจากมาตรฐานการแจกรางวัลระดับนานาชาติ กับ THE TOMORROW ว่า…

“เรื่องนี้เป็นปาหี่ที่เกิดขึ้นในวงการการรับรางวัลอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ด้วยแผนการตลาด อ้างการแจกรางวัลในสาขาต่างๆ ว่าเป็นที่สุดใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ ทั้งที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานการคัดเลือกหรือกลั่นกรอง ทำได้แม้กระทั่งการเลือกชื่อรางวัลเอง”

นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ในการแจกรางวัลไม่ว่ารางวัลอะไรก็ตาม หากผมตกลงรับ ผมต้องมั่นใจว่าผมคู่ควร ผมคาดหวังถึงกระบวนการการคัดเลือกและตัดสิน ที่ไม่ใช่การมโนคิดขึ้นมาเอง และบอกว่าคุณได้รับรางวัลนั้นรางวัลนี้ เช่น ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญตัดสิน มีผู้ผ่านเข้ารอบ แล้วถึงจะมีการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการ เพราะแน่นอนว่าการประกาศรางวัลนั้นเอื้อในแง่ของการทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่ได้ ด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพราะการไปบอกว่าเราดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ใครๆ ก็พูดได้ แต่การมีรางวัล มีสถาบันที่ให้ข้อเท็จจริง หรือรับรองในมาตรฐานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ”

นพ.ระวีวัฒน์ ยกตัวอย่างด้วยว่า “อย่างการมอบรางวัลมิชลินสตาร์ เขามีมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าเวลาที่เลือกไปกินอาหารที่ร้านมิชลินสตาร์แล้วการันตีได้ว่าอร่อยจริง ไม่ใช่ไปถึงแล้วไก่กา ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเกิดจากกระบวนการกลั่นกรอง และคัดสรรด้วยมาตรฐานการรับรอง เช่น มิชลินสตาร์มีการส่งคนมากินอาหารที่ร้านนั้นๆ จริง และมากินในฐานะลูกค้าโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้รู้ตัว

นพ.ระวีวัฒน์ เผยอีกว่า “เมื่อทาง Global Health Asia-Pacific ติดต่อทีมงานของผมมา โดยมีการพูดถึงการมอบรางวัลในระดับเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการระบุมาว่าเราได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงใน 3 รางวัล คือ...  

- Hair Transplant Clinic of The Year in Asia Pacific
- Breast Augmentation Centre of the Year in Asia Pacific
- Cosmetic and Plastic Surgery Service Provider of the Year in Asia Pacific

“ทางโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชเรามีลูกค้าปลูกผมเฉลี่ยวันละ 4 เคส แน่นอนครับว่าศักยภาพขนาดนี้ เราสมควรกับรางวัล ส่วนรางวัลศัลยกรรมหน้าอกในเอเชียแปซิฟิก ถามว่าจริงไหม ก็จริงอีก เพราะที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลท็อปการใช้ซิลิโคนเสริมหน้าอกจำนวนสูงสุด เราจึงไม่มีข้อสงสัยอะไรในรางวัลที่เขาบอกว่าโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชมีสิทธิจะได้รับ โดยมีการขอความร่วมมือในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นปกติ เนื่องจากเราไม่เชี่ยวชาญ ถ้าต้องไปซื้อสื่อเองที่ประเทศสิงคโปร์ จึงจำเป็นต้องมีเซลล์เอเจนซี่เป็นตัวแทนจัดการให้ โดยเจ้าของหนังสือและเจ้าของรางวัลได้เดินทางเข้ามาพบกับทีมงานของผมพร้อมกับตัวแทนคือคนไทยอีก 2 คน เพื่อนำเสนอและเชิญชวนให้เราเข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มาโชยกลิ่น ‘รางวัลลวง’ โดย นพ.ระวีวัฒน์ เล่าว่า “เราเริ่มสงสัยสักประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนการจัดงาน ว่าการแจกรางวัลครั้งนี้มี Agenda อย่างไร สามารถเปิดเผยได้ไหมว่าเราจะได้รับรางวัลจริงหรือไม่ เขาก็ว่าเปิดเผยรางวัลไม่ได้ แต่เราจะได้รับรางวัลในกลุ่มนี้ๆ นะ จนในที่สุดกำหนดการจัดงานก็มาถึง

“ก่อนวันเดินทางไปรับรางวัลที่บาหลี ผมได้รับทราบจากการไลฟ์สดของคลินิกแห่งหนึ่ง ว่าเขาเป็นผู้ได้รับรางวัลชื่อใกล้เคียงกับเรา สมมติว่าเป็นรางวัล Leader in Cosmetic ซึ่งไม่รู้ว่าจู่ๆ รางวัลดังกล่าวโผล่มาจากไหน เพราะผู้จัดงานไม่เคยพูดถึงชื่อรางวัลนี้มาก่อน โอเคครับ ชื่อภาษาอังกฤษอาจแค่คล้ายกัน แต่แปลเป็นไทยแล้วคือชื่อรางวัลเดียวกัน แล้วทำไมเขาถึงเปิดเผยชื่อรางวัลได้ก่อนโดยไม่ต้องรอการประกาศผล

“ชักเริ่มเอะใจ จึงขอลงไปดูหน้างาน ปรากฏห้องจัดงานในโรงแรมหกดาวเล็กกว่าห้องที่คนทั่วไปใช้จัดงานแต่งงานเสียอีก พื้นที่แค่หนึ่งในสี่ของห้องบอลรูมขนาดเล็ก ไม่นับจำนวนโต๊ะกาลาร์ดินเนอร์ซึ่งมีอยู่แค่สองแถว จำนวนเก้าอี้ก็มีเท่าจำนวนคนที่มาร่วมรับรางวัล นับได้เพียงไม่กี่สิบ”

เมื่อสงสัย นพ.ระวีวัฒน์ จึงเข้าไปตรวจสอบดูจำนวนคนกด Like กับ Follow ในเพจ Global Health Asia-Pacific ปรากฏว่าเพจนี้ถูกเปลี่ยนชื่อมาถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 2022 ก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อไป แปลว่าเพจนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะถูกซื้อมา หรือเว็บไซต์เองก็มียอด Organics Growth เป็นศูนย์ รวมทั้งงานที่จัดขึ้นที่บาหลี มีป้ายชื่องานอยู่แค่สามป้าย

“จินตนาการว่าถ้าให้ผมขึ้นไปรับรางวัล พอกลับถึงเมืองไทย จู่ๆ วันหนึ่งผมเกิดเอารางวัลที่ได้ไปคุยโม้กับลูกค้า แล้วเขาขุดขึ้นมาว่าไอ้รางวัลที่หมอระวีวัฒน์ไปรับมาเป็นรางวัลที่ใครมีเงินก็ซื้อได้ แล้วผมจะไปเหลืออะไร” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่า อะไรคือความคับข้องใจกับรางวัลดังกล่าว นพ.ระวีวัฒน์ แจงว่า “ต้องถามหาจรรยาบรรณของคนที่ให้รางวัลครับ แน่นอนว่าควรต้องมีมาตรฐานหรือเกณฑ์การวัด การตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ว่าฉันขอขายของ ให้เธออุดหนุนจ่ายค่าโฆษณาเพิ่มอีกหน่อยนะ แล้วฉันจะเชียร์เธอให้ นั่นกลายเป็นว่าเราตกอยู่ในกระบวนการหลอกลวงของเขานะครับ เพราะมีการซื้อสื่อเพื่อจะให้ได้รับรางวัล มีการจัดงานเพื่อจะได้ขึ้นไปถ่ายรูปบนเวที แน่นอนว่าทุกคนที่ได้รางวัลสุดท้ายแล้วก็ต้องเอารูปไปโปรโมตในสื่อต่างๆ และปลายทางก็คือเอารางวัลไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือปิดการขายในที่สุด ซึ่งต้องบอกว่าในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ในทั่วโลกหรือสายงานอื่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ที่ผิดคือกระบวนการได้มาซึ่งรางวัล ผมมองว่าเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบและกลั่นกรอง ซึ่งสิ่งที่ผมคำนึงถึงคือสุดท้ายปลายทาง ลูกค้าของเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ารางวัลดังกล่าวมันไม่เป็นความจริง วันนี้ผมจึงขอแชร์และบอกกล่าวในเรื่องราวของรางวัลดังกล่าวกับทุกคน การที่ผมจ่ายเงินไปครึ่งล้านเพื่อได้ขึ้นไปรับรางวัลที่ไม่มีมาตรฐานมันยุติธรรมกับลูกค้าของเราหรือ และเมื่อผมถามเจ้าของรางวัลไปตรงๆ คำตอบที่ผมได้รับคือ...I don’t care Thailand.”

จากเหตุผลที่ว่ามา ทำให้ นพ.ระวีวัฒน์ วอล์กเอาต์ พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า “ยอมรับว่าผมอึ้ง มี 3 สถานการณ์ที่ต้องเลือก 1. รับๆ รางวัลไปเถอะ เราจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ลงสื่อไปแล้ว ก็แค่แอคท่าถ่ายภาพเอาไปลงโปรโมทกับลูกค้า แกล้งหลับตาสองข้างไปเลย ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และถ้าผมขึ้นรับรางวัลกลับมา ทีมงานที่โรงพยาบาลมาสเตอร์พีชก็คงไม่มีใครรู้หรอก พวกเขาคงดีใจและเอาชื่อรางวัลนี้ไปคุยอวดกับลูกค้า 2. ไม่รับรางวัล และไม่บอกต่อถึงเหตุผลที่ไม่รับ เพราะถ้าบอกข่าวนี้ออกไปก็เหมือนเราเสียรู้ และ 3. คือไม่รับรางวัล และบอกต่อให้ทุกคนรับรู้

“เหตุผลที่ไม่รับเพราะผมรับไม่ได้กับคุณค่าของตนเองที่ถูกทอนลงในเรื่องความไม่ตรงไปตรงมา และการขึ้นรับรางวัลดังกล่าวยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สื่อเจ้าของรางวัลดังกล่าวในปีหน้า สามารถจะเอาชื่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชไปลงประชาสัมพันธ์ เอาชื่อไปอยู่ในลิสต์คนได้รับรางวัลในปี 2023 เพื่อต่อยอดไปขายรางวัลกับคลินิกหรือโรงพยาบาลแห่งอื่นที่อาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป ซึ่งผมได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วคิดว่าเราไม่ควรขึ้นรับรางวัล มาสเตอร์ควรมีจุดยืน ซึ่งถ้าผมบอกว่าตัวเองเป็นคนดีต่อสังคมจริง การที่ผมออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวพูดคุยออกสื่อในวันนี้นี่ละที่เป็นข้อพิสูจน์ความเป็นคนดีได้ดีมากที่สุด”

บทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ นพ.ระวีวัฒน์ บอกกับทีมงานของตนเองว่า ‘ผิดพลาด’ กับ ‘ผิดคาด’ ไม่เหมือนกัน “ความ ‘ผิดพลาด’ คือไม่ได้ดู และไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน แต่ ‘ผิดคาด’ คือดูแล้วนะ แต่บังเอิญมันยังมีอะไรที่นอกเหนือไปกว่านั้นอีก ซึ่งผมได้ทำหน้าที่ตรวจสอบให้แล้ว โดยการขอดูรายละเอียดการมอบรางวัลในทันทีที่บินถึงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย อย่างชื่อรางวัลก็โอเค ‘Global Health Awards 2023’ สถานที่จัดงานก็โอเค จัดในโรงแรมหกดาว ดูน่าเชื่อถือ แม้จะเลือกจัดในมุมอับมุมหนึ่งของห้องจัดเลี้ยงขนาดเล็กก็ตาม แต่ที่รับไม่ได้เลย คือ การเข้าประเมินสถานที่จริง การไม่มีคณะกรรมการตัดสิน ไม่มีกระบวนการในเชิงลึกทางการตลาด การสอบถามผู้ใช้บริการจริง ไม่มีวิธีการโหวต หรือกระบวนใดเลยที่เป็นมาตรฐานในการมอบรางวัล ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อคลินิก และชื่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในไทย รวมถึงสายการบินที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในงานประกาศรางวัลครั้งนี้ เพราะทุกคนอาจมีศักยภาพสมควรกับรางวัลนั้น ซึ่งถ้าผมเป็นเจ้าของรางวัล ผมอาจจะแอบส่งคนมาเป็นลูกค้าเพื่อสอบถามราคาสักสามรอบ ว่าราคาเหมือนเดิมไหม หรือถามจากซัพพลายเออร์ที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ว่า ที่นี่มียอดการใช้งานในปริมาณที่สูงจริงหรือไม่ นี่คือกระบวนที่ง่ายดายมากเลยครับ แต่เขาไม่คิดทำ”

นพ.ระวีวัฒน์ เผยประเด็นที่เด็ดยิ่งกว่าเมื่อเข้าไปท้วงติง ปรากฏวิธีการแก้ไขปัญหาและคำตอบจากผู้จัดงานที่เขาได้รับ คือ “I’ll Service you คุณได้ 3 รางวัลใช่ไหม เดี๋ยวคุณไปเลือกเพิ่มมาอีก 1 รางวัล อะไรก็ได้เดี๋ยวเขาจะตั้งชื่อรางวัลให้ ผมยิ่งงงไปกันใหญ่ ว่าให้ผมเลือกได้เองเลยหรือ เขาบอกคุณคิดเองได้เลย”

เมื่อถามต่อว่าคดีนี้จะเกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นหรือไม่ นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวว่า “ไม่ใช่ว่าท้าทาย ผมเชื่อว่ามันมีกฎหมายว่าถ้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนเราทำได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือผมไม่ยอมให้ต่างประเทศมาเอาเปรียบ อาศัยช่องว่างของคำว่า Asia-Pacific มาใช้ทำมาหากิน โดยในส่วนของมาสเตอร์ เราตัดสินใจว่าต้องรีบออกมาพูด เพราะไม่อย่างนั้นพอจบงานที่อินโดนีเซีย เขาก็จะเริ่มหาสปอนเซอร์รายใหม่ แล้วจะมีอีกกี่คลินิก กี่โรงพยาบาลที่เขาเอาชื่อไปเคลม เพราะท้ายที่สุดคนที่หลงเชื่อก็คือ ลูกค้าที่ต้องโดนเหมือนเราโดน”

“ผมชอบการแข่งขัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น และดีขึ้นในทุกๆ วัน เรียกว่าเราแข่งกับตัวเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดการแข่งขันโดยที่ไม่ต้องแข่ง การได้อะไรมาโดยที่ไม่ต้องขวนขวาย ผมว่ามันไม่มีคุณค่า และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือผมไม่ชอบชนะใคร โดยที่ผมไม่ได้พยายาม” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ส่องค่าตัวอีเวนต์สุดแพง 4 สาว BLACKPINK ผ่าน 4 อีเวนต์จาก 4 แบรนด์หรู

📌4 สาว วง BLACKPINK กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชันไปแล้ว อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับแบรนด์หรูระดับโลก แต่ความปังยังไม่หมดเท่านั้น เพราะทั้ง 4 สาวยังได้สร้างมูลค่าทางสื่อให้กับแบรนด์หรูได้มากมหาศาล ทำให้ใครๆ ก็อยากดึงตัวมาร่วมงานด้วยทั้งนั้น

ธุรกิจแบบเดียวกัน ที่ชอบเปิดร้านใกล้เคียงกัน

🔍เคยสงสัยกันมั้ย ว่าทำไมร้านค้าที่ขายของคล้าย ๆ กัน ถึงชอบเปิดร้านใกล้กัน ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ทั้งนี้ หากมองในมิติเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี ‘Hotelling's law’ 

แต่ถ้าจะมองในมิติที่ไม่ซับซ้อน อาจกล่าวได้ว่า การที่ธุรกิจประเภทเดียวกัน เปิดร้านอยู่ใกล้กัน ในบางธุรกิจถือว่าเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความคึกคักน่าสนใจและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไปลองดูตัวอย่างธุรกิจประเภทเดียวกันที่มักพบเห็นเปิดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ว่ามีอะไรบ้าง 

อีกหนึ่งมุมชีวิต ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ เปิดร้าน ‘บ้านพี่แยม’ ขายอาหารใต้

ชั่วโมงนี้ เมื่อเอ่ยถึงชื่อ ‘แยม - ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก สำหรับนักข่าวภาคสนามสายลุยตัวจริง ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘หญิงแกร่งแห่งวงการสื่อ’

ยิ่งถ้าใครที่เป็นขาประจำรายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 จะยิ่งได้เห็นบทบาทการทำงานผู้สื่อข่าวภาคสนามของ แยม ฐปณีย์ ได้เป็นอย่างดี ด้วยสไตล์การข่าวแบบเจาะลึก ถึงลูกถึงคน เข้าถึงทุกพื้นที่ข่าว ซึ่งเป็นสไตล์ที่เห็นมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนักข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ปัจจุบัน แยม ฐปณีย์ ได้ลาออกจากการเป็นนักข่าวประจำแล้ว แต่ก็ยังเป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ให้กับทางรายการข่าว 3 มิติอยู่ ขณะเดียวกัน ยังได้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ที่มีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน

ล่าสุด ชื่อของ แยม ฐปณีย์ ได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากได้ออกมาเปิดคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่จัดประชุมขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจังหวะที่การเมืองร้อนระอุ เพราะ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถูกร้องเรียนเรื่องขาดคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นไอทีวี อยู่พอดี

แยม ฐปณีย์ ยืนยันว่าข่าวทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดจากความเอนเอียงหรือเข้าข้างฝ่ายไหนทั้งสิ้น แต่เกิดจากการตั้งข้อสังเกต การสืบค้นข้อมูล และอยากจะหาความจริงของตัวเองตามสัญชาตญาณของผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง อีกทั้งเธอยังทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยว่า "ถ้า #ไอทีวี จะกลับมาทำสื่อ ก็ต้องกลับมาอย่างสง่างาม ต้องกลับมาอย่างมีศักดิ์ศรี" พร้อมทั้งยืนยันว่าจะตามเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อไป

นอกจากอาชีพนักข่าวแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของ แยม ฐปณีย์ ที่อยู่นอกจอที่อาจจะไม่คุ้นตานัก นั่นก็คือแม่ค้าขายขนมจีนและข้าวราดแกงประจำร้านอาหาร 'บ้านพี่แยม' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เธอใช้สร้างรายได้เพิ่ม เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว นอกเหนือจากการทำอาชีพสื่อสารมวลชน ที่ดูเหมือนจะเป็นอาชีพที่รับผลกระทบไม่น้อย จากการถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ  

อีกทั้ง เดิมทีที่บ้านชอบทำกับข้าวกินเองอยู่แล้ว จึงได้เริ่มเปิดขายอาหารปักษ์ใต้สไตล์สงขลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแยมเอง โดยมีน้องชายที่ชอบทำและคิดสูตรอาหารขึ้นมาเองเป็นพ่อครัวหลัก และเธอเป็นผู้ช่วย ช่วงแรกเปิดขายออนไลน์ก่อน ตั้งแต่ช่วงปี 2563 หลังจากได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเปิดขายหน้าร้าน ชื่อร้าน ‘บ้านพี่แยม’ ร้านตั้งอยู่ที่ถนนเทิดราชัน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 

ล่าสุด แยม ฐปณีย์ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ร้านบ้านพี่แยม Baan P’Yam ขายดีแบบไม่ทันตั้งตัว มาหลายวันนับจากข่าว #ไอทีวี ต้องขอโทษคุณลูกค้าที่อาหารหมดเร็ว และรอคิวนาน 

โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวนั้น น่าจะเป็นเพราะคนดูข่าว เรื่องเจาะประเด็นหุ้นไอทีวี ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมา ร้านอาหารบ้านพี่แยม ที่ตนเองและครอบครัวเปิดขายขนมจีน อาหารปักษ์ใต้นั้น ขายดี มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว คิดว่าเป็นเพราะคนต้องการให้กำลังใจ เดินทางมารับประทานอาหารที่ร้านจำนวนมาก ซึ่งหลายคนเพิ่งทราบว่า ตนเปิดร้านขายขนมจีน ก็มาช่วยอุดหนุน โดยเมนูที่ขายดีที่สุดคือ ขนมจีนน้ำยาปู ข้าวยำปักษ์ใต้ เต้าคั่ว และหมูทอดขั้นเทพนั่นเอง

นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่แม้จะไม่คุ้นตา แต่น่าจะสร้างความสุขนอกจอให้กับนักข่าวสายลุย ‘แยม – ฐปนีย์ เอียดศรีชัย’ อยู่ไม่น้อย ในยามที่ต้องวางไมค์ แล้วหันมาใส่ผ้ากันเปื้อน เป็นแม่ค้าขายข้าวแกงอย่างเต็มตัว

Forced sell หมายถึง การบังคับขาย

🔍‘Forced sell’ หรือ ‘การบังคับขาย’ หมายถึงการที่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้ นำส่วนหนึ่งของหลักทรัพย์ในบัญชีเงินกู้ยืมซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าออกขาย เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของลูกค้ารายนั้น ๆ 

โดยบริษัทหลักทรัพย์จะทำการบังคับขายก็ต่อเมื่อหลักประกันหนี้ของลูกค้ามีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้แล้ว โดยมีอัตราส่วนเท่ากับหรือต่ำกว่าระดับอัตราหลักประกันที่ต้องดำรงไว้ (Maintenance Margin Rate) ที่เป็นเกณฑ์การบังคับขาย

หลักเกณฑ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ลูกค้าแต่ละรายมีภาระหนี้เกินตัวจนไม่อาจแบกรับได้ หรือหากปล่อยค้างไว้ ถ้าหุ้นที่วางเป็นประกันมีมูลค่าลดลงไปอีก อาจทำให้มีหลักประกันไม่คุ้มมูลหนี้ จนกระทบถึงฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์และกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งระบบได้

'สี จิ้นผิง' พบปะ 'บลิงเคน' ณ กรุงปักกิ่ง เผยอยากเห็น 2 ฝ่ายยุติแรงกดดันระหว่างกัน

📌เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.66) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พบปะกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ณ อาคารมหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน

สีจิ้นผิงชี้ว่าโลกต้องการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่มีเสถียรภาพในภาพรวม และการที่ทั้งสองประเทศแสวงหาหนทางอันถูกต้องเพื่ออยู่ร่วมกันได้นั้นจะส่งผลต่ออนาคตของมนุษยชาติ พร้อมเสริมว่าชาวจีนเป็นผู้มีเกียรติศักดิ์ศรี ความมั่นใจ และพึ่งพาตนเองได้เช่นเดียวกับชาวอเมริกัน โดยประชาชนทั้งสองประเทศมีสิทธิแสวงหาชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตนด้วยสำนึกของการรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ ประชาชน และโลก รวมถึงจัดการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งควรให้คุณค่ากับผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองประเทศ และความสำเร็จของอีกฝ่ายถือเป็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคามต่อกัน โดยวิธีนี้ จีนและสหรัฐฯ อาจมีส่วนส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนให้มีเสถียรภาพ ความแน่นอน และความสร้างสรรค์มากขึ้น

สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการแข่งขันของประเทศขนาดใหญ่ไม่สะท้อนกระแสธารแห่งยุคสมัย และยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาของอเมริกาเองหรือความท้าทายต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญได้ โดยจีนเคารพผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และไม่ได้แสวงหาการท้าทายหรือแทนที่สหรัฐฯ

ทำนองเดียวกัน สหรัฐฯ จำเป็นต้องเคารพจีน และต้องไม่ละเมิดสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน โดยทั้งสองฝ่ายไม่ควรมุ่งกดดันอีกฝ่ายตามความประสงค์ของตัวเอง หรือลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมในการพัฒนาของอีกฝ่าย

สีจิ้นผิงกล่าวว่าจีนหวังเห็นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่แข็งแรงและมั่นคงมาโดยตลอด และเชื่อว่าประเทศขนาดใหญ่ทั้งสองสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และแสวงหาหนทางอันถูกต้องเพื่ออยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย พร้อมเรียกร้องฝ่ายสหรัฐฯ ใช้ท่าทีที่มีเหตุผลและปฏิบัติได้จริง รวมถึงทำงานกับจีนในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงชี้ว่าทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องยึดมั่นความเข้าใจร่วมกันที่เขาและประธานาธิบดีโจ ไบเดน บรรลุในจังหวัดบาหลีของอินโดนีเซีย และปฏิบัติตามแถลงการณ์เชิงบวกเพื่อสร้างเสถียรภาพและปรับปรุงความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ต่อไปด้วย

PLT ทุ่ม 353 ล้านบาท ซื้อเรือบรรทุกก๊าซ LPG 1 ลำ หนุนการขยายบริการขนส่งสู่สากลเพิ่ม คาดเปิดให้เช่า ต.ค. นี้

🔴 (20 มิ.ย.66) นายฐกฤต ฉิมตะวัน กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนและพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีลาทัส มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PLT ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทางเรือและทางรถบรรทุก เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการซื้อเรือ ร่วมกับนายหน้าในการจัดหาเรือ (Broker) จำนวน 1 ลำ เป็นเรือ DL POPPY อายุ 14 ปี ขนาดระวาง 3,473.603 ลูกบาศก์เมตร มีความสามารถในการบรรจุ 1,700 ตัน พร้อมติดตั้งระบบบำบัดน้ำอับเฉา รวมถึงอุปกรณ์และการซ่อมบำรุงตามวาระในตัวเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีกำหนดรับเรื่อภายในเดือนกันยายน 2566 และคาดว่าจะเริ่มให้บริการเช่าเหมาลำขนส่งก๊าซ LPG ได้ในเดือนตุลาคม 2566

🟢 ทั้งนี้ การซื้อเรือบรรทุกก๊าซ LPG เป็นไปตามที่ประชุมคณะกรรมกรบริษัท ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 มีมติอนุมัติการซื้อเรือบรรทุกก๊าซ LPG ในราคาเสนอขาย 10.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 353.16 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีแหล่งเงินทุนมาจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนครั้งแรก (IP0) จำนวน 200 ล้านบาทและส่วนที่เหลือจากสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 

⚪ โดยเรือลำดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทเรือเดินสมุทร (Ocean going vessel) และสำหรับการลงทุนซื้อเรือบรรทุกก๊าซ LPG ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ไปยังต่างประเทศในเส้นทางเพิ่มเติม ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) และเส้นทางการขนส่งข้ามมหาสมุทรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่ดีที่สุด ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการขนส่งก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น นับเป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยให้ผลประกอบการในปีนี้ เติบโตตามเป้าหมายที่กำหนด และสร้างความแข็งแกร่งให้กลุ่มธุรกิจ PLT ในอนาคต

'เคจีไอ' จับตาหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ชี้เป้า 'SPALI-LH' หุ้นเด่นในโหมด Laggard

🔴 (20 มิ.ย. 66) บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จับตาหุ้นกลุ่มอสังหาฯ นอกจากฐาน Q1/66 ต่ำแล้วจากการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดือนพฤษภาคมยังชะลอตัวและคาดต่อเนื่องเดือนมิถุนายน 2566 การเปิดโครงการใหม่/ยอดขายบ้านและการปล่อยเช่า 5M66 ยังซบเซา 

🟢 โดยฝ่ายวิจัยคาดกำไรและยอดจองเพิ่มขึ้น QoQ แต่ยังลดลง YoY ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญนักวิเคราะห์ในตลาด และ ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการกำไรทั้งปี 2566 ลง โดยคาดอัตราการเติบโตกำไรปีนี้ทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย ส่วนเป้าหมายเดิมของบริษัทฯ อาจต่ำกว่าคาด

⚪ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคงให้น้ำหนักกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เท่ากับตลาด โดยเลือก SPALI โดยแนะนำ ‘ซื้อ’ ราคาเป้าหมายที่ 24.60 บาท และ LH  โดยแนะนำ ‘ซื้อ’ ให้ราคาเป้าหมายที่ 9.84 บาท เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มนี้เพราะถือเป็นหุ้น laggard มากสุด โดย trade ที่ต่ำกว่า -1 S.D. ของค่าเฉลี่ย PE ระยะยาว


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top