Monday, 8 July 2024
THETOMORROW

MENA ชี้ ธุรกิจครึ่งปีหลังโตต่อ ปักธงปีนี้โตตามเป้า รับอานิสงส์โลจิสติกส์สดใส - ดีมานด์ขนส่งฟื้นตัวเด่น

🔴 (20 มิ.ย.66) นางสาวสุวรรณา ขจรวุฒิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วย นางสาวพัชรีรัตน์ ขจรวุฒิเดชภัทร์ ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ และ นายกอบชัย ชิดเชื้อสกุลชน ผู้อำนวยการสายงานบัญชีการเงิน บริษัท มีนาทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ MENA โดยร่วมนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2566 ในงาน Opportunity Day บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยประเมินธุรกิจครึ่งปีหลังจะเติบโตต่อเอง ตามอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากดีมานด์การขนส่งของลูกค้าฟื้นตัวโดดเด่น พร้อมส่งมอบรถมิกเซอร์ให้ CPAC- BUA Concrete ครบตามกำหนด รวมถึงการร่วมลงทุนกับบริษัท ตะวันแดง โลจิสติกส์ จำกัด ผ่านบริษัทร่วมทุน ทีดี เอ็มลอจิสติกส์ ช่วยเสริมทัพ มั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตตามเป้าไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ

เรือดำน้ำ Titan สูญหายระหว่างชมซาก ‘ไททานิค’ จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

📌ปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ Titan หลังสูญหายระหว่างเที่ยวชมซาก ‘ไททานิค’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

ทีมค้นหาของสหรัฐฯ และแคนาดากำลังแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาเรือดำน้ำของนักท่องเที่ยวที่หายไประหว่างการดำลงไปที่ ‘ซากเรือไททานิค’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก BBC รายงานว่า ปฏิบัติการกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปในคืนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก แต่จนถึงตอนนี้ (13.00 น.) ตามเวลาไทย ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

เรือลำที่สูญหาย คือ ‘เรือดำน้ำ Titan’ ของบริษัทเอกชน OceanGate Expeditions ข้อมูลเฉพาะระบุว่า สามารถดำได้ลึกลงไปถึง 4,000 เมตร มีการออกแบบให้มีอุปกรณ์ยังชีพ (life support) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสำหรับ 5 คน นาน 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน เจ้าหน้าที่คาดว่า มีออกซิเจนฉุกเฉินสำหรับคนบนเรืออยู่ที่ 70-96 ชั่วโมง

บริษัททัวร์ OceanGate กล่าวว่ากำลังสำรวจทางเลือกทั้งหมดเพื่อให้ลูกเรือกลับมาอย่างปลอดภัย และหน่วยงานรัฐบาลได้เข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือ นี่คือสิ่งที่เรารู้จนถึงตอนนี้ 

>>ความพยายามล่าสุดในการกู้ภัย

ผู้นำปฏิบัติการค้นหาระบุในทวิตเตอร์ว่า ลูกเรือ 5 คน จมอยู่ใต้น้ำในเช้าวันอาทิตย์ และลูกเรือขาดการติดต่อประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที หลังการดำลงของเรือ โดยคาดว่าเรือดำน้ำไททันอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กม.) ในขณะนั้น

พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ ของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การดำเนินการค้นหาในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ถือเป็นความท้าทาย

หน่วยยามฝั่งได้ส่งเครื่องบิน C-130 Hercules จำนวน 2 ลำเพื่อค้นหา โดยมีเครื่องบิน C-130 ของแคนาดาและเครื่องบิน P8 ที่ติดตั้งระบบโซนาร์ใต้น้ำเข้าร่วมด้วย

ขณะที่พลเรือตรีเมาเกอร์กล่าวว่า ต้องการความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเรือ หากพบเรือจมอยู่ใต้น้ำ และกำลังยื่นมือขอความช่วยเหลือ รวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐฯ

>>มีใครอยู่บนเรือ?

ตามรายงานระบุว่า ใน 5 คนที่อยู่บนเรือดำน้ำไททัน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยืนยัน คือ ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษวัย 59 ปี

นายฮาร์ดิงประกาศครั้งแรกว่าเข้าร่วมทีมเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และกล่าวว่า ลูกเรือประกอบด้วย นักสำรวจสองสามคน ซึ่งบางคนเคยดำน้ำในเรือ RMS Titanic มาแล้วกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1980

เขาเป็นประธานของ Action Aviation ซึ่งเป็นบริษัทระหว่างประเทศ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมการบินเชิงธุรกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

>>ลูกเรือชม Titanic ต้องจ่ายเท่าไหร่ 

บริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชันส์ คิดค่าใช้จ่ายเพื่อชมซากเรือไททานิค ซึ่งอยู่ใต้พื้นผิว 3,800 เมตร (12,500 ฟุต) ที่ด้านล่างของมหาสมุทรแอตแลนติก ทริป 8 วัน คนละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8.7 ล้านบาท

มีรายงานว่าการดำลงไปที่ซากเรือทั้งหมดรวมถึงการลงและขึ้นนั้นใช้เวลา 8 ชั่วโมง การเดินทางแต่ละครั้งกินเวลา 8 วัน ตามข้อมูลของ โอเชียนเกต และการดำน้ำแต่ละครั้งมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการศึกษาการสลายตัวของซากเรือด้วย ซึ่งการดำน้ำครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2564 ตามเว็บไซต์ของบริษัท 

>>เรารู้อะไรเกี่ยวกับเรือดำน้ำไททันบ้าง?

เรือไททันเป็นเรือดำน้ำขนาด 5 คน มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สามารถดำลงใต้ทะเลลึกสุด 13,100 ฟุต และมีอากาศสำหรับการดำรงชีพของผู้โดยสาร 5 คน นาน 96 ชั่วโมง

นอกจากการพาไปยังซากเรือไททานิคแล้ว ยังใช้สำหรับการสำรวจและตรวจสอบสถานที่ การวิจัยและการรวบรวมข้อมูล การผลิตภาพยนตร์และสื่อ และการทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในทะเลลึก

จุดที่ดำลงไปอยู่ใต้ทะเลลึก 3,800 เมตร ใต้พื้นมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา ราว 600 กิโลเมตร เป็นจุดที่เรือไททานิคจมสู่ใต้ทะเล

21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

📌วันนี้เมื่อ 24 ปีก่อน ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีทุนชำระแล้วหลัง IPO ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ขึ้น โดยเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่มีศักยภาพ ในการเติบโตสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ โดยเน้นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี ในอนาคต (Business for the Future) หรือธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการอื่นๆ หากมีคุณสมบัติ ครบตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีความยินดีรับเป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีบริษัทจดทะเบียนในหลากหลายอุตสาหกรรมให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนได้ ตามความเหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สามารถรองรับธุรกิจได้ทุกขนาด ทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำภายหลังกระจายหุ้น 50 ล้านบาทขึ้นไป และไม่มีการจำกัดทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นสูง ซึ่งแตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่รองรับได้เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีทุนชำระแล้วขั้นต่ำ 300 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น

ในปีแรกของการจัดตั้ง มีบริษัทเข้าจดทะเบียน จำนวน 3 บริษัท ขณะที่ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 มีบริษัทจดทะเบียนใน mai 206 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 479,383 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 2,973 ล้านบาทต่อวัน

หุ้นติด Cash Balance หมายถึง หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย

🔍‘หุ้นติด Cash Balance’ หรือ ‘หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย’ เกิดจากการซื้อขายที่ผิดปกติไปจากสภาพปกติของตลาด ทำให้ SET ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การซื้อขายโดยให้ใช้บัญชี Cash Balance โดยลูกค้าจำเป็นต้องฝากเงินเข้ามาในระบบก่อนเพื่อชำระซื้อหลักทรัพย์ 

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือลดระดับความร้อนแรงของการเทรดบนกระดานนั่นเอง โดยสามารถติดตามรายชื่อหุ้นที่ติด Cash Balance ได้ที่ประกาศข่าวรายวันภายใต้หัวข้อข่าว ‘Trading Alert List’ และ หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายบนเว็บของ SET

KBANK-บล.เอเซียพลัส ล้มประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ‘STARK’ ใช้สิทธิเรียกเงินคืนรวมวงเงิน 6,957 ล้านบาท

(21 มิ.ย. 66) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘STARK’ ได้ออกหนังสือแจ้งผู้ถือหุ้นกู้เรื่องเห็นควรให้ยกเลิกการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK ในวันที่ 23 มิ.ย. 2566

เนื่องจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้สิทธิเรียกให้หนี้ตาม ‘หุ้นกู้’ ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (Call Default) แล้วในวันนี้ โดยอาศัยอำนาจของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามข้อกำหนดสิทธิ เรียกให้หนี้ตามหุ้นกู้ STARK ถึงกำหนดชำระโดยพลัน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ต่อไปอีก

โดยได้อาศัยเหตุผิดนัดของ STARK ตามข้อกำหนดสิทธิ เนื่องจากได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในชุด STARK239A และ STARK249A ซึ่งครบกำหนดชำระแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 จำนวน 18.13 ล้านบาท

ถือเป็นจำนวนเงินรวมกันเกินกว่า 3% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของ STARK ซึ่งคำนวณจาก ‘งบการเงินประจำปี 2565’ ที่ STARK ได้นำส่งให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบเป็นจำนวนประมาณ 4,403 ล้านบาท

สำหรับหุ้นกู้ 3 ชุด ที่ทาง ธนาคารกสิกรไทย และ บล.เอเซียพลัส Call Default ประกอบด้วย

-หุ้นกู้ STARK245A ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 โดยมี ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
-หุ้นกู้ STARK255A ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 โดยมี ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
-หุ้นกู้ STARK242A ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2567 โดยมี บล. เอเซีย พลัส จำกัด เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ทั้งนี้มูลค่าของหุ้นกู้ทั้ง 3 รุ่น จะคิดเป็นเงินที่ทาง STARK จะต้องจ่ายคืนรวมเป็นเงิน 6,957 ล้านบาท รวมทั้งหากทาง STARK ไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมดภายในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะได้สิทธิทางศาลต่อไป เพื่อเป็นการคุ้มครอง และรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้

'เดนมาร์ก' แชมป์ ขีดความสามารถแข่งขัน ปี 66 ไทยขยับขึ้น อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

🔍‘IMD’ ขยับขีดความสามารถแข่งขันไทยดีขึ้น 3 อันดับอยู่ที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ชี้คะแนนหลายด้านดีขึ้นทั้งสมรรถนะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ - ธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ‘TMA’ ได้เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 ไทยปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจในปีนี้ 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อน 

2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): อันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ

3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ

4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): อันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ

โดยเมื่อเทียบกับในอาเซียนไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 4 และมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 27 ของโลก

รู้จัก 5 ลูกเรือในเรือดำน้ำท่องเที่ยว ‘ไททัน’ หลังสูญหายปริศนาระหว่างสำรวจซากเรือไททานิก

📌เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.66) ที่ผ่านมา เรือดำน้ำท่องเที่ยวที่ชื่อว่า ‘ไททัน’ ของบริษัท OceanGate เพื่อดำดิ่งสำรวจซากเรือไททานิกที่ระดับความลึก 3,800 เมตร กลางมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งแคนาดา ได้ขาดการติดต่อไป

เรือดำน้ำนี้มีปริมาณออกซิเจนราว 96 ชม. หรือราว 4 วัน และเวลาผ่านมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยสำหรับเรือดำน้ำดังกล่าว มีขนาดเท่ารถบรรทุก มีผู้โดยสาร 5 คน ในราคาทริปละ 250,000 ดอลลาร์/คน หรือราว 8.7 ล้านบาท โดยเป็นคนขับ 1 คนกับนักเดินทางอีก 4 คน ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ

ฮาร์ดิง วัย 58 ปี ถือเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งในอังกฤษ โดยได้ก่อตั้งบริษัท Action Group ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ทั้งในกรุงลอนดอน และนครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อปี 2545

ทั้งนี้ ธุรกิจของ Action Group รวมไปถึงบริษัท Action Aviation ซึ่งให้บริการนายหน้า (โบรกเกอร์) จัดซื้อเครื่องบิน รวมถึงบริการการจัดการและบริการทางการเงินให้กับสายการบินต่าง ๆ

เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ฮาร์ดิงซึ่งปัจจุบันแต่งงานแล้วและมีลูก 2 คน เคยนั่งเรือดำน้ำลงสู่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรที่ระดับความลึก 10,930 เมตร ด้วยการสำรวจบริเวณร่องเป็นเวลา 4 ชม. 15 นาที

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว เขายังเคยเป็นผู้โดยสารเพียงไม่กี่คนของยานอวกาศ Blue Origin ด้วย โดยฮาร์ดิงสำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและด้านวิศวกรเคมี จากมหาวิทยาลัย Cambridge ในอังกฤษ 

2. สต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ชาวอเมริกัน

รัชเป็นประธานของบริษัท OceanGate ที่ให้บริการเรือดำน้ำสำรวจซากไททานิก โดยเขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมอวกาศจากมหาวิทยาลัย Princeton และด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย University of California, Berkeley ในสหรัฐฯ

แม้ปัจจุบันอยู่ในวัย 60 ต้น ๆ แล้ว แต่รัชเคยเป็นนักบินเจ็ตขนส่งที่อายุน้อยที่สุดในโลกตั้งแต่อายุ 19 ปี หลังได้รับตำแหน่งกัปตันจากสถาบันฝึกอบรมเจ็ตสายการบิน United Airlines ในปี 2524 อีกทั้งยังเคยทำงานกับบริษัทผลิตเครื่องบิน Boeing ด้วย

3. ชาห์ซาดา ดาวูด (Shahzada Dawood) นักธุรกิจชาวปากีสถาน และ ซูเลมาน ดาวูด (Suleman Dawood) บุตรชาย

ชาห์ซาดา ดาวูด วัย 48 ปี เป็นรองประธานของบริษัท Engro ในปากีสถาน ซึ่งดำเนินธุรกิจตั้งแต่ผลิตปุ๋ยไปจนถึงโรงไฟฟ้า และเป็นหนึ่งในบุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศ

ดาวูดจบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Buckingham ในอังกฤษ และด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย Philadelphia ในสหรัฐฯ

ส่วนประวัติของซูเลมาน ลูกชายวัย 19 ปีของเขาที่มีรายงานว่าโดยสารเรือสำรวจนี้ด้วยกันนั้น ขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลเพิ่มเติม

4. ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ (Paul Henry Nargeolet) ชาวฝรั่งเศส

นาร์โฌเลต์ วัย 77 ปี เป็นนักดำน้ำและผู้เชี่ยวชาญด้านซากเรือไททานิกระดับโลก อีกทั้งนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยใต้ทะเลสำหรับกลุ่ม Experiential Media Group ด้านการสำรวจธรรมชาติและเรือไททานิก

นาร์โฌเลต์เกิดที่เมืองชาโมนิกส์ (Chamonix) ประเทศฝรั่งเศส และหลังจากสำเร็จการศึกษาที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เขาใช้เวลา 22 ปีในกองทัพเรือฝรั่งเศสจนขึ้นสู่ระดับผู้บังคับบัญชา และยังเป็นผู้นำการค้นพบเรือไททานิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2530 หลังจากร่วมกับสถาบันฝรั่งเศสสำหรับการวิจัยและสำรวจทางทะเล

สำหรับความคืบหน้าค้นหาเรือดำน้ำไททันที่ยังคงติดต่อไม่ได้ ทางหน่วยดูแลชายฝั่งของสหรัฐและแคนาดาเร่งระดมทีมเพื่อค้นหาเรือดังกล่าวด้วยเรือและเครื่องบินลาดตระเวน ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบากจากปัจจัยแรงกดดันของน้ำ สภาพอากาศ แสงที่ไม่เพียงพอในตอนกลางคืน รวมถึงความลึกของห้วงทะเล

ขณะเดียวกัน ทีมกู้ภัยและค้นหาต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากออกซิเจนในเรือดำน้ำดังกล่าวใกล้หมดลงเรื่อย ๆ ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

STARK ทำสถิติหุ้นที่มีราคาต่ำสุดใน ตลท. มูลค่าบริษัท เหลือเพียง 100 ล้านบาท

🔴 (21 มิ.ย.66) ติดฟลอร์ต่อเนื่องสำหรับ STARK ซึ่งนาทีนี้ทำสถิติเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำสุดในตลาดหลักทรัพย์คือ 0.01 บาทต่อหุ้น ณ ราคาเปิด จากเกณฑ์ใหม่ตลาดหลักทรัพย์ โดยระหว่างวัน จะซื้อขายได้ต่ำสุดที่ 0.02 บาท และสามารถกลับไปปิดได้ที่ 0.01 บาทอีกครั้ง

🟢 ทั้งนี้ ในราคา 0.01 บาท STARK จะมีมูลค่าบริษัท เหลือเพียง 100 ล้านบาท จากเดิม ที่เคยมีมูลค่าระดับ 55,000 ล้านบาท 

🔵 แน่นอนว่า ถ้าต่ำกว่านี้ หรือ 0 บาทซึ่งคงไม่มีใครซื้อขายกันที่ 0 บาทเพราะไม่รู้จะซื้อไปทำไม แต่ก็ไม่แน่ว่าอนาคตตลาดหลักทรัพย์อาจจะต้องพิจารณาให้มีราคาทศนิยมสามตำแหน่ง เพื่อให้หุ้นซื้อขายกันได้ ที่ 0.001 บาทนั่นเอง

‘MAKRO’ เคาะเปลี่ยนชื่อ!! เป็น ‘ซีพี แอ็กซ์ตร้า’ พร้อมใช้ชื่อย่อหุ้นใหม่ ‘CPAXT’ มีผลวันนี้วันแรก

🔴 (21 มิ.ย. 66) หลังจากวันที่ 15 มิถุนายน 2566 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของกลุ่มซีพี ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่อย่างเป็นทางการเป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CP Axtra Public Company Limited และวันนี้เป็นวันแรกที่จะเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์ใหม่เป็น CPAXT

🟢 นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวคิดของคำว่า Axtra ในชื่อบริษัท มาจากคำว่า Advance ซึ่งหมายถึงการขับเคลื่อนองค์กรให้นำหน้ากว่า ก้าวไปข้างหน้า และทันสมัย และคำว่า Extra ซึ่งสื่อความหมายว่า ดีกว่า เพิ่มประสิทธิภาพยิ่งกว่า ในการตอบโจทย์ลูกค้าด้วยความเชี่ยวชาญทั้งค้าส่งและค้าปลีก

⚪ สำหรับการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท และชื่อย่อหลักทรัพย์ดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 และมติผู้ถือหุ้นที่ได้รับอนุมัติในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของธุรกิจ รวมถึงรองรับธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัว ในการขยายธุรกิจสู่บางประเทศ ที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้แบรนด์แม็คโคร หรือ โลตัส อีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top