Monday, 8 July 2024
BIZ

'โลตัส-ทรู' เปิดตัวร้านอัจฉริยะไร้พนักงานแห่งแรก หยิบของ-จ่ายเงินอัตโนมัติในเวลาแค่ 1 นาที


‘โลตัส’ ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน เดินหน้ารีโนเวต พร้อมขยายสาขาใหม่ต่อเนื่อง ผนึก ‘ทรูดิจิทัล’ เปิดร้านค้าอัจฉริยะไร้พนักงานแห่งแรก ‘นอร์ธ ราชพฤกษ์’ ใช้เวลาชำระค่าสินค้าแค่ 1 นาที

นายมนต์ชัย อินทรพรอุดม ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาการปฏิบัติการธุรกิจโลตัส เปิดเผยว่า โลตัสยังคงเดินหน้าเปิดสาขารูปแบบใหม่และปรับปรุงสาขาเดิมมีอยู่ 2,300 สาขา ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เช่น ขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มร้านอาหาร โดยในปี 2566 ใช้เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท ปรับโฉมใหม่ 10-15 สาขา เช่น สาขาบางกะปิ ลาดพร้าว สระบุรี เป็นต้น และเปิดสาขาใหม่รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 2-3 สาขา และโลตัสโกเฟรช 100-150 สาขา กระจายในเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยว ซึ่งปลายปีนี้จะเปิดสาขาใหม่ที่เดอะ ฟอเรสเทียส์ พื้นที่ 4,500 ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนในปี 2567 จะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับปีนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท เพื่อเปิดสาขาใหม่ประมาณ 100-150 สาขา และปรับปรุงสาขาเดิมอีก 10-20 สาขา

นายมนต์ชัยกล่าวว่า ล่าสุดร่วมกับ ทรู ดิจิทัล เปิดตัว Lotus’s Pick & Go by True Digital ร้านค้าอัจฉริยะแบบไร้พนักงานแห่งแรกของประเทศไทยที่ โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ ซึ่งจะเป็นสาขาต้นแบบค้าปลีกโมเดลใหม่ในอนาคต โดยมีพื้นที่กว่า 30 ตร.ม. สินค้ากว่า 400 รายการ กว่า 90% เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม และขนมคบเคี้ยว และ 10% เป็นสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู สามารถซื้อสินค้าและชำระเงินอัตโนมัติผ่านทรูมันนี่ วอลเล็ต จะมีเงินขั้นต่ำในบัตร 200 บาท ได้ในเวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น รองรับลูกค้าเป็นกลุ่มต้องการความเร่งด่วน คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 50-100 คนต่อวัน และมีแผนจะเปิดสาขาที่ 2 กำลังดูพื้นที่ทั้งสาขาเดิมมีพื้นที่รองรับ หรือรูปแบบตู้กดอัตโนมัติที่ใช้พื้นที่ไม่มาก เช่น ในโรงเรียน ออฟฟิศ เป็นต้น

“ปัจจุบันกำลังซื้อค้าปลีกดีขึ้นทั้งจำนวนลูกค้าและยอดขายในทุกสาขา แม้สถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่งก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนรัฐบาลครั้งนี้ครั้งแรก” นายมนต์ชัยกล่าว

นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทำงานร่วมกับโลตัสมา 1 ปี พัฒนาแพลตฟอร์มค้าปลีกอัจฉริยะ ทรู เวอร์โก เอไอ ซึ่งใช้เอไอ 100% เป็นแห่งแรกในไทย จะเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น หากประสบความสำเร็จจะขยายสาขาที่ 2 ในโลเคชันที่เหมาะสมและลูกค้าอื่นนอกเครือซีพี

นายเอกราชระบุว่า สำหรับระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการจัดการร้าน เก็บข้อมูลและเทรนด์ลูกค้าเพื่อวางแผนธุรกิจ บริหารจัดการการใช้พลังงาน ลดภาระพนักงาน แจ้งเตือนจำนวนสินค้าบนเชลฟ์ โดยจะติดกล้องเอไออัจฉริยะไว้ในร้าน 38 ตัว เพื่อตรวจจับและบันทึกข้อมูล

สำหรับวิธีการใช้งาน มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ สแกนคิวอาร์โค้ดทรูมันนี่, เลือกหยิบสินค้า, เดินผ่านประตูทางออกระบบจะตัดเงินอัตโนมัติ, สแกนคิวอาร์โค้ดที่หน้าจอทางออกเพื่อรอใบเสร็จ ซึ่งจำกัดคนเข้า 6 คนต่อครั้ง

โตกระฉูด 37%!! แสนสิริ กวาดยอดขายครึ่งปี 25,000 ล้านบาท อานิสงส์โครงการบ้านหรู - คอนโดพร้อมอยู่ ดีเกินคาด


แสนสิริเผยผลงานครึ่งแรกปี 66 แข็งแกร่งด้วย ยอดขาย 25,000 ล้านบาท โต 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดขาย 18,300 ล้านบาท หลังได้อานิสงส์โครงการลักซ์ชัวรี และคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ผลตอบรับดีเกินคาด

นายวิชาญ วิริยะภูษิต ประธานผู้บริหารสายการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปี 2566 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับแสนสิริอย่างมาก จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี แสนสิริ มองล่วงหน้าถึงสถานการณ์และมีความพร้อมรองรับความผันผวนของภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไว้แล้ว จึงวางกลยุทธ์ต่างๆ ตามความเหมาะสม ส่งผลให้สามารถสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยในครึ่งปีแรก แสนสิริสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 25,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 37% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยโครงการเปิดตัวใหม่ ทำยอดขายดีเกินคาดในทุกโครงการ นำแชมป์ด้วยโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรี อย่างนาราสิริ พหล -วัชรพล และ บูก้าน กรุงเทพกรีฑา ที่สามารถสร้างยอดขายได้ดีมาก ต่อยอดความสำเร็จจากการส่งมอบบ้านเดี่ยวในระดับซุปเปอร์ลักซ์ชัวรีจากแสนสิริ ในโครงการนาราสิริ กรุงเทพกรีฑา และบูก้าน โยธินพัฒนา ซึ่ง Sold out ปิดการขายอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้จากความต้องการบ้านในระดับลักซ์ชัวรี ที่ยังมีดีมานต์อยู่มาก ประกอบกับกลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อต่อเนื่อง ทำให้ทั้ง 2 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพ เดินทางสะดวก ได้ผลตอบรับที่ดี รวมถึงโครงการเศรษฐสิริ ดอนเมือง ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามบินดอนเมืองและใกล้โรงเรียนนานาชาติ ฮาร์โรว์ ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาดเช่นกัน 

ล่าสุดแสนสิริได้เปิดตัว แคมปัส คอนโด ใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โครงการ ดีคอนโด ไฮป์ รังสิต ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่ามียอดจองแล้วถึง 80% แสดงให้เห็นว่าครึ่งแรกของปีนี้โครงการเปิดใหม่ได้รับผลตอบรับที่ดีในทุกโครงการ รวมถึงโครงการแนวราบอีกหลายโครงการ เช่น สราญสิริ ราชพฤกษ์ 345 และ อณาสิริ ศรีนครินทร์-แพรกษา เป็นต้น

ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ หรือ Ready to Move เริ่มกลับมาขายดี สะท้อนให้เห็นว่าตลาดคอนโดมิเนียมกำลังกลับมาหลังจากช่วงก่อนโควิดและหลังโควิดมีการดูดซับช้าลง ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีกับตลาดคอนโดมิเนียมเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่เป็นตัวชี้วัดที่ดีในตลาด Real Demand เพราะกลุ่มลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองหรือปล่อยเช่า ไม่ได้เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรหรือมีดีมานด์เทียมในยอดขายของคอนโดมิเนียมกลุ่มดังกล่าว โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาแสนสิริสามารถทำยอดขายได้ดี จนทำให้ยูนิตสร้างเสร็จพร้อมขาย (Stock) ของคอนโดมิเนียมลดลงเหลือเพียง 8,100 ล้านบาทจากStock ในต้นปีที่ 11,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าแสนสิริมี Absorption ที่ดีที่สุดในตลาด สำหรับกลุ่มคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ภายใต้แบรนด์ The Base, The Line, The Muve, XT, dcondo และ CondoMe เป็นต้น โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แสนสิริยังได้เตรียมปิดการขายอีก 12 โครงการ ในคอนโดมิเนียมกลุ่มแบรนด์นี้  

นอกจากนี้ แสนสิริยังสร้างวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ การมียูนิต สร้างเสร็จพร้อมขาย หรือ Stock ลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แสนสิริสามารถชำระคืนเงินกู้ธนาคารจากโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ได้ 100% ซึ่งหมายถึง แสนสิริไม่มีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนในกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ ซึ่งการมีวินัยทางการเงินนับเป็นปรัชญาสำคัญของแสนสิริในการดำเนินธุรกิจมาตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ทำให้แสนสิริอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ดีและมีคุณภาพ เป็นที่วางใจของธนาคารและนักลงทุนเสมอมา ทั้งนี้ การคืนหนี้ได้เร็วกว่ากำหนดก็เท่ากับว่าแสนสิริ สามารถลดค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินไปในตัวอีกด้วย โดยปัจจุบันแสนสิริมีสภาพคล่องอยู่กว่า 17,000 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินมากที่สุด

สำหรับไฮไลท์แผนธุรกิจครึ่งปีหลัง แสนสิริจะรุกบ้านเดี่ยวแบรนด์เศรษฐสิริอย่างต่อเนื่อง จากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และการตอบรับที่ดีของตลาดบ้านระดับลักซ์ชัวรีและซุปเปอร์ลักซ์ชัวรี แสนสิริจึงเดินหน้าเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวภายใต้แบรนด์ เศรษฐสิริ เพิ่มอีก 10 โครงการ มูลค่ารวม 21,900 ล้านบาท ครอบคลุมทุกทำเล ทั้ง รามอินทรา สายไหม เสรีไทย บางนา ราชพฤกษ์ พรานนก และ พุทธมณฑล สาย 1 เป็นต้น ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเมื่อรวมกับโครงการคอนโดมิเนียมที่จะทยอยเปิดตัวใหม่อีกกว่า 10 โครงการในช่วงครึ่งหลังของปีจากสถานการณ์ดีมานด์ตลาดคอนโดมิเนียมทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน แสนสิริจึงมีโอกาสที่จะทำยอดขายได้เกินเป้า 55,000 บาท ตามแผนที่วางไว้ในช่วงต้นปี

“แสนสิริยังคงวางเป้าหมายในการพัฒนาโครงการตอบรับความต้องการลูกค้าในทุกเซกเมนต์ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด  “YOU Are Made For Life” ซึ่งกลยุทธ์ในการเปิดตัวสินค้าในแต่ละกลุ่ม สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยใช้ข้อมูลทางตลาดเป็นตัวชี้นำ ทั้งนี้ ในปีนี้แสนสิริจะเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกลุ่มลักซ์ชัวรีที่ยังคงได้ผลตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากตลาดคอนโดมิเนียม ที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จะยิ่งส่งผลดีต่อยอดขายและผลประกอบการของบริษัทฯ ขณะที่ การจัดตั้งรัฐบาลที่เสร็จสิ้นแล้ว ประกอบกับการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ใกล้ระดับก่อนโควิดในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และนับเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้แสนสิริมั่นใจว่าเรายังคงมีผลการดำเนินงานที่ On Track ในการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่กับยอดขายและผลประกอบการที่ดีที่สุดของบริษัทฯ ต่อไปในปีนี้ ” นายวิชาญ กล่าว 
 


 

RICHY เปิดตัว Retail Mall เดอะริชพระราม9-ศรีนครินทร์ บนพื้นที่กว่า 2,000 ตร.ม. กับสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน

🔴 (29 มิ.ย. 66) บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY กำลังเปิดตัว Retail Mall ในโครงการ เดอะริช พระราม 9 - ศรีนครินทร์ ภายใต้แบรนด์ Rich Walk บนพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร จำนวน 3 ชั้น โดยตอนนี้พร้อมเปิดให้ผู้เช่าจับจองพื้นที่แล้ว

🟢 โดยถือเป็นอีกจุดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีลูกบ้านและผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงมาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวกไม่ต้องไปไหนไกล ถือว่าครบจบในโครงการนี้ และล่าสุดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเส้นทางลาดพร้าว-สำโรงเปิดให้บริการแล้วยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์สถานีหัวหมากกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนอีกด้วย

‘สายสีเหลือง’ เตรียมให้บริการเชิงพาณิชย์ 3 ก.ค. นี้ จากลาดพร้าว-สำโรง มีค่าบริการเริ่มต้น 15-45 บาท

📌 (30 มิ.ย. 66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีหลือง แจ้งว่า รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เตรียมจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ทั้ง 23 สถานี จากสถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 66 เป็นต้นไป โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท ซึ่งผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้ 3 วิธี ดังนี้

1) บัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว (Single Journey Card) โดยออกบัตรได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารภายในสถานี ทั้งนี้ กรณีผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรประชาชนติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อออกบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียวได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร

2) บัตรแรบบิท (บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน)

3) บัตร EMV Contactless โดยใช้บัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของธนาคารใดก็ได้ รวมถึงบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตของธนาคารยูโอบี และบัตรเดบิต Play Card (สมัครผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment บนหน้าบัตรหรือหลังบัตร แตะเข้า-แตะออก ระบบรถไฟฟ้าที่จุดให้บริการเครื่อง EDC บริเวณประตูพิเศษ (Swing Gate) โดยมีแผนจะขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมให้ครบทุกประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC Gate) ในลำดับถัดไป

ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง-MRT สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีลาดพร้าวและชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน จะได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ หากเดินทางเชื่อมต่อภายในระยะเวลา 30 นาที

พร้อมกันนี้ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอ ได้เตรียมออกบูธบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับบัตร EMV Contactless และรับสมัครบัตรเดบิต Krungthai Tran Xit Debit Card และบัตรเดบิต UOB TMRW ที่สถานีลาดพร้าว (YL01) ในวันที่ 3 ก.ค. 66 นี้

โดยผู้โดยสารยังสามารถนำรถยนต์มาจอด และเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ได้ที่อาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว และอาคารจอดรถสถานีศรีเอี่ยม โดยคิดอัตราค่าจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้ อาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว คิดอัตราค่าจอดรถยนต์ 2 ชั่วโมง 15 บาท (กรณีไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า ชั่วโมงละ 50 บาท ส่วนอาคารจอดรถสถานีศรีเอี่ยม คิดอัตราค่าจอดรถยนต์ ชั่วโมงละ 5 บาท (กรณีไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า ชั่วโมงละ 20 บาท)

‘มาม่า’ ทุ่มพันล้านบาท ขยายโรงงานรับดีมานด์ ‘ตลาดยุโรป’ หลังออเดอร์ ‘เยอรมัน-ฟินแลนด์’ พุ่ง!! จนส่งจากไทยไม่ทัน

📌 (30 มิ.ย. 66) นายพันท์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า เตรียมลงทุนมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท ขยายโรงงานในประเทศฮังการี เพื่อรองรับตลาดยุโรป หลังดีมานด์จากเยอรมันและฟินแลนด์ซึ่งเป็นตลาดหลักสัดส่วนมากกว่า 50% ของยุโรปเพิ่มสูงขึ้น จนการส่งสินค้าจากไทยไม่ตอบโจทย์

ทั้งนี้เริ่มลงทุนไปแล้วประมาณ 300 ล้านบาท และคาดว่าจะต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 700 ล้านบาท โดยคาดว่าสายการผลิตใหม่นี้จะเริ่มเดินเครื่องในปี 2568 ทำให้โรงงานมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า และรองรับดีมานด์ในตลาดยุโรปได้ 50-60% จากเดิมรองรับได้เพียง 20%

ขณะเดียวกันมีแผนลงทุนสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกใหญ่ของมาม่าด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ลงทุน 200 ล้านบาท สร้างโรงงานในที่เมืองมัณฑะเลย์ของเมียนมาไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างทดลองเดินเครื่อง คาดว่าจะเริ่มผลิตสินค้าได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนามอีกครั้ง หลังถอนตัวออกมาเมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยอาจเริ่มจากหาพันธมิตรด้านการกระจายสินค้า ทั้งนี้เพื่อรับกำลังซื้อในเวียดนาม

ทั้งนี้ผู้บริหาร ไทยเพรสซิเดนท์ ฟูดส์ อธิบายว่า การตัดสินใจเดินหน้าลงทุนเสริมแกร่งตลาดต่างประเทศนี้ เพราะตลาดต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบาลานซ์พอร์ตรายได้และกำไรของบริษัทซึ่งช่วยให้สามารถผ่านวิกฤติต่าง ๆ มาได้ เช่น ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีกำไร 1,100 ล้านบาทนั้น มาจากการส่งออกถึง 50% ขณะที่การขายในประเทศไทยสร้างกำไรเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น

SPI ทุ่ม 1 หมื่นล้านบาท ผุดโครงการมิกซ์ยูส นำร่องคอนโดมิเนียมก่อน คาดเสร็จปลายปี 70

🔴 (30 มิ.ย. 66) นายวรยศ ทองตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI เปิดเผยว่า แนวโน้มผลงานครึ่งปีหลังของปี 66 เติบโตต่อเนื่อง จากปี 65 ที่มีรายได้ 5.89 พันลบ. และกำไรสุทธิ 3.36 พันลบ. โดยหลักมาจากธุรกิจในเครือทุกกลุ่มฟื้นตัวตอบรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หนุนผลประกอบการเติบโตทั้งปี 66 เติบโตต่อเนื่อง

🟢 อีกทั้งในปี 66 บริษัทวางงบลงทุน 2 พันล้านบาท รองรับการขยายธุรกิจบริการและอสังหาริมทรัพย์ ลุยโครงการ ‘King Square Complex’ ซึ่งเป็นมิกซ์ยูส (Mixed-Use) โครงการแรกในเครือ SPI มูลค่าโครงการรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท (SPI ถือหุ้น 60%) ประกอบไปด้วย Residential Project, Retail Project, Service Apartment โดยนำร่องก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมกับ Retail Project ในช่วง Q4/66 นี้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างโครงการเสร็จปลายปี 70

⚪ รวมถึงโครงการร่วมทุนกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาอาคารสำนักงาน ‘KingBridge Tower พระราม 3’ มูลค่าโครงการราว 6 พันลบ. พื้นที่ 4.4 หมื่นตร.ม จำนวน 52 ชั้น ปัจจุบันมีพันธมิตรต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 67 ในขณะที่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมบริษัทยังคงมีพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในเครือ SPI ในอนาคต

‘ไปรษณีย์ไทย’ โชว์ 5 เดือนแรก ‘ส่งด่วน EMS’ โต 26% ลุยเดินหน้าพัฒนาบริการ ตอกย้ำผู้นำส่งด่วนครองใจผู้บริโภค

📌 (29 มิ.ย. 66) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผย ส่งด่วน EMS ยังคงครองใจผู้ใช้บริการ และภาคธุรกิจ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณชิ้นงานเติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 26% โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ไปรษณีย์ไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการดังกล่าว โดยมุ่งเน้นทั้งการส่งมอบคุณภาพที่ดี มีโซลูชันการขนส่งที่มีความหลากหลาย เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ รวมทั้งโปรโมชันส่ง EMS ในราคาเริ่มต้นเพียง 25 บาทที่ยิงยาวจนถึงสิ้นปี

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริการส่งด่วน EMS ของไปรษณีย์ไทยยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอานิสงส์จากมาตรฐาน งานบริการที่ตอบโจทย์กับแนวทางการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และไลฟ์สไตล์ที่เร่งด่วนของผู้ใช้บริการต้นทาง – ปลายทาง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการส่งด่วน EMS เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 26% เห็นได้ว่ายังคงเป็นบริการส่งด่วนที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ไว้วางใจมากที่สุดในตลาดขนส่งอีกด้วย

“บริการส่งด่วนเป็นหนึ่งในบริการที่ธุรกิจขนส่งแข่งขันพัฒนาบริการมากที่สุดในตลาด โดยแนวโน้มการแข่งขันของปี 2565 – 2566 จะเห็นได้ว่าเรื่องราคาไม่ได้เป็นปัจจัยหลักอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของฟังก์ชันที่เข้ามารองรับความต้องการขนส่งเพื่อทำให้การส่ง First Mile / Last Mile มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาโซลูชันให้เกิดความสะดวกกับผู้ที่ใช้บริการมากที่สุด

โดยในปัจจุบันนอกจากระยะเวลา ในการขนส่งถึงปลายทางต่างๆ ด้วยความรวดเร็วแล้ว ส่งด่วน EMS ของไปรษณีย์ไทยยังมีความโดดเด่นในด้านความครอบคลุมทุกพื้นที่เนื่องจากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ การให้บริการตลอด 365 วัน จากการปรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ อีกทั้งยังมีบริการรับฝากสิ่งของ ถึงหน้าบ้าน Pick up Service ที่สามารถจองได้ในระบบตลอด 24 ชั่วโมง โปรโมชันส่งในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ที่ช่วยควบคุมต้นทุนของผู้ฝากส่ง การรายงานสถานะตามจริงและเรียลไทม์ รวมทั้งจุดฝากส่งสิ่งของซึ่งถือว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสม สะดวกต่อการใช้บริการ”

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ไปรษณีย์ไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการ EMS อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นทั้งการส่งมอบคุณภาพ การรองรับความต้องการที่มีความแตกต่างหรือ Multiple Niche Market ด้วยโซลูชันการขนส่งที่มีความหลากหลาย อีกทั้งยังมีโปรโมชันส่ง EMS ในราคาเริ่มต้นเพียง 25 บาท ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ยิงยาวจนถึงสิ้นปี ระบบแคร์คอนโทรลที่ช่วยดูแลของทุกชิ้นไม่ให้เกิดความเสียหาย ตามประเภทของสินค้า เช่น ส่งสิ่งของขนาดใหญ่ ส่งต้นไม้ ส่งควบคุมอุณหภูมิ และยังมีการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ กลุ่มธุรกิจบริการที่จะเป็นจุดฝากส่ง ช่วยรองรับความต้องการส่งด่วน EMS เป็นตัวช่วยและตัวกระตุ้นมูลค่าทางธุรกิจให้กับทุกภาคส่วน

ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเติบโตของส่งด่วน EMS แล้ว ยังมีการเพิ่มขึ้น ของการใช้บริการฝากส่งสิ่งของในวันเสาร์-อาทิตย์ ผ่านช่องทางไปรษณีย์ไทยด้วยเช่นเดียวกัน โดยเป็นผลจากการค้าขายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ที่ทำงานประจำที่หันมาทำธุรกรรมต่างๆ ในวันหยุด รวมทั้งโซลูชันอำนวยความสะดวกที่ทำให้การใช้บริการฝาก-นำจ่ายเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้ร่วมกับพันธมิตร เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด Lotus’s CJ ในการขยายจุดให้บริการฝากส่งด่วนพิเศษ EMS Point เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและอำนวยความสะดวกให้กับคนไทยทุกที่ทั่วประเทศ

DPAINT ลุยเจรจา JV-M&A คาดชัดเจนปลายปีนี้ พร้อมเตรียมออกสินค้าใหม่ ดันยอดขายทั้งปี 66

📌 (27 มิ.ย. 66) นายอรรถพล ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ DPAINT กล่าวว่า การต่อยอดธุรกิจของบริษัทจากธุรกิจสีไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังคงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญในการต่อยอดการเติบโตทั้งการร่วมทุน (JV) และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อเข้ามาเสริมศักยภาพของธุรกิจ และขยายตลาดใหม่ๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการศึกษาและเจรจาดีลในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัท คือ สีทาบ้าน เช่น วัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง และสีอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาในช่วงปลายปี 66 หรือต้นปี 67

ขณะที่แนวโน้มของผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 คาดว่าจะยังเห็นทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1/66 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์ของบริษัทที่หันมาเน้นสัดส่วนกลุ่มลูกค้า โครงการเพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนกลุ่มลูกค้าโครงการในไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้นเป็น 15% จากสิ้นปีก่อนที่ 5% ทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น และเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง อีกทั้ง ยังสามารถนำเสนอสินค้าอื่นๆให้กับลูกค้าเพิ่มเติมได้ ทำให้สามารถสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้กับบริษัท

นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าในการขยายเครื่องผสมสีของบริษัทให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการขยาย Point of sale ให้กระจายและเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นโดยในไตรมาส 1/66 ขยายเพิ่ม 40 เครื่อง จากสิ้นปี 65 ที่มี 617 เครื่อง และยังคงเดินหน้าขยายจนถึงสิ้นปีเป็นจำนวน 867 เครื่อง เพื่อให้เพิ่มโอกาสในการขาย

ส่วนการขยายไลน์สินค้าของบริษัทยังคงเน้นไปที่การขยายกลุ่มสีระดับพรีเมียม และอัลตร้าพรีเมียม ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ให้มาจิ้นที่สูง และเป็นการยกระดับแบรนด์ของสีเดลต้า เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อ และต้องการใช้สีที่มีคุณภาพ พร้อมกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า โดยในปี 66 วางแผนออกสินค้าใหม่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง 30 รายการ ปัจจุบันได้ออกสินค้าใหม่ไปแล้ว 20 รายการ และบริษัทยังมั่นใจยอดขายทั้งปี 66 จะทำได้ตามเป้าหมายเติบโต 20-30%

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า บริษัทยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รวมถึง บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA แม้ว่าจะเป็นคนในตระกูลตั้งคารวคุณเหมือนกัน เพราะคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารของ DPAINT เป็นคนละชุดกัน และไม่ได้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม TOA แต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ถือหุ้นและนักลงทุนต่างเข้ามาถามในเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ธ.ก.ส. เตือน!! ระวังมิจฉาชีพ ‘ชักชวนลงทุน-หลอกเอาเงิน’ ใช้กลวิธีอ้างเป็นผู้จัดการธนาคาร วอน ปชช. อย่าหลงเชื่อ

🔴 (27 มิ.ย.66) นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีแอบอ้างเป็นนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ชักชวนผู้อื่นให้ลงทุน โดยให้เพิ่มเพื่อนผ่านทาง Line ID : dr.chatchaicirilai และหลอกให้โอนเงินลงทุนเข้าระบบล่วงหน้าเข้าบัญชีธนาคารอาคารสงเคราะห์พร้อมแสดงหลักฐานการโอนเงิน เมื่อดำเนินตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วมิจฉาชีพจะให้กรอกจำนวนเงินลงทุนและแนบหลักฐานการโอนเงินในลิงก์ https:coupangjob66.com/index/user/login.html แล้วผู้เสียหายจะได้รับเงินปันผลคืน โดยในครั้งแรก ๆ มิจฉาชีพได้หลอกให้ลงทุนในจำนวนเงินที่น้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง และชักชวนให้ผู้เสียหายเข้ากลุ่ม Line OpenChat เพื่อลงทุนต่อ และในการลงทุนครั้งต่อๆไป มิจฉาชีพจะหลอกให้ทำภารกิจเพื่อถอนเงินคืน และใช้ข้ออ้าง ว่า หากทำภารกิจไม่สำเร็จจะไม่สามารถถอนเงินได้ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก 

🟢 ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จึงขอเรียนว่า ธ.ก.ส. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว อีกทั้งธนาคารไม่มีนโยบายในการชักชวนให้ลงทุนผ่านการโอนเงินทำภารกิจและให้เงินปันผลสูง จึงขอให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนทั่วไปอย่าหลงเชื่อบริษัทหรือบุคคลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าว

⚪ ซึ่งลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลและข่าวสารด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ถูกต้องได้ผ่านช่องทางการสื่อสารหลักของธนาคาร ได้แก่ เว็บไซต์ www.baac.or.th Facebook Page ‘ธกส BAAC Thailand’ ‘ธกส บริการด้วยใจ’ และ LINE Official Account : @baacfamily พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส. ขอย้ำเตือนให้ลูกค้าทุกท่านเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการติดต่อหรือทำธุรกรรมออนไลน์ เนื่องด้วยปัจจุบันมิจฉาชีพมีรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลาย ดังนั้น หากไม่แน่ใจโปรดติดต่อโดยตรงที่ธนาคาร หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-555-0555 *3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารจะดําเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงในลักษณะดังกล่าวต่อไป 

AOT จ่อลุ้นไตรมาส 3/66 กำไรแตะ 3.5 พันล้านบาท รับรายได้สัญญาสัมปทาน-สิ้นสุดมาตรการช่วยผู้ค้าปลีก

🔴 (27 มิ.ย.66) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กำลังมีปัจจัยหนุนใหม่คาดไตรมาส 3/66 มีกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านบาท โต 85% เทียบไตรมาสก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของรายได้จากสัญญาสัมปทานและการสิ้นสุดมาตรการช่วยผู้ค้าปลีกในพื้นที่สนามบิน ประกอบกับโมเมนตัมของกำไรที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 73% เทียบกับ Pre-Covid ในเดือน พ.ค. 66

🟢 ขณะที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งหลังปี 66 จึงคาดว่ากำไรปกติปี 66 จะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท และกระโดดขึ้นเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท ในปี 67 ปรับใช้ราคาเป้าหมายเป็นปี 67 ที่ 85 บาท นอกจากนี้ยังมี Upside จากการเพิ่มขึ้นของ Passenger Service Charge ในอนาคต แนะนำ 'ซื้อ'

‘SCI’ ปลื้ม!! คว้างาน กฟผ. มูลค่า 230 ลบ. ลุยประมูลงานเพิ่ม ดันผลงานปี 66 โตตามเป้า

📌(27 มิ.ย. 66) นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับงานใหม่เพิ่มเติมเป็นงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่า 230 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) รวม 1,400 ล้านบาท

“การรับงานใหม่ในครั้งนี้จะช่วยให้มูลค่างานในมือเพิ่มขึ้น สามารถทยอยรับรู้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในปีนี้บริษัทฯ ยังเตรียมแผนเข้าร่วมประมูลงานของการไฟฟ้าอีกหลายโครงการ มั่นใจภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2566 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวมวล ขนาดกำลังการผลิตรวม 11 เมกะวัตต์ ที่ทางบริษัทฯ ชนะการประมูลมาแล้วทั้งหมด 4 โครงการนั้น ยังคงเดินหน้าก่อสร้างในช่วงปีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มั่นใจพร้อมเดินหน้าขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน”

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนงานก่อสร้างในประเทศในช่วงปี 2566 จะยังคงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงงานก่อสร้างภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการลงทุนภาครัฐ

ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่าทั้งธุรกิจตู้สวิตช์บอร์ด และเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจะมีการเติบโตในปี 2566 โดยการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ ทั้งงานที่เป็นโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่ รวมถึงการขยายตัวของการลงทุนจากภาคเอกชน ดังนั้น มั่นใจว่าปีนี้บริษัทฯจะสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอน

MINT ทุ่มงบ 546 ลบ. ซื้อ ‘Singco Trading’ เจ้าของลิขสิทธิ์แบรนด์ร้านอาหาร ‘Sizzler’

🔴(27 มิ.ย. 66) นายอันฮุล เชาฮัน กรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า MFG International Holding (Singapore) Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ MINT ได้เข้าทำสัญญาเพื่อซื้อหุ้นบริษัท Singco Trading Pte. Ltd. จาก CFG Finance Pty. Ltd. ในสัดส่วน 100% หรือ แบ่งออกเป็น 978,917,378 หุ้น

🟢ประเภทของธุรกิจของ Singco Trading Pte. Ltd. เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาแบรนด์ร้านอาหาร Sizzler ยกเว้นในประเทศสหรัฐอเมริกา กัวเตมาลา และเปอร์โตริโก้ ภายหลังการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว บริษัท Singco Trading Pte. Ltd. ถือเป็นบริษัทย่อยของ MINT มูลค่ารายการ 21 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (เทียบเท่า 546 ล้านบาท) โดยแหล่งที่มาของเงินทุน คือกระแสเงินสดภายในบริษัท

⚪โดยวัตถุประสงค์ของการลงทุน เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาแบรนด์ร้านอาหาร Sizzler ยกเว้นในประเทศสหรัฐอเมริกา กัวเตมาลา และเปอร์โตริโก้ ผลประโยชน์ที่จะได้รับ ค่าสิทธิในการใช้สินทรัพย์ทางปัญญา โอกาสและความยืดหยุ่นในการขยายธุรกิจในอนาคต

'CPN-คิงเพาเวอร์-PLANB' ซื้อซองชิงเช่าสิทธิ 'พื้นที่-ป้ายโฆษณา' สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

📌 (26 มิ.ย. 66) นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่า รฟท. เปิดเผยว่า จากที่ รฟท. ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์และงานประกวดเสนอผลตอบแทน เพื่อเช่าสิทธิติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี (จตุจักร วัดเสมียนนารี บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะ ดอนเมือง หลักหก รังสิต บางซ่อน บางบำหรุ ลิ่งชัน) จำนวน 4 สัญญา โดยขายเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค-28 เม.ย. 66 ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีบริษัทเอกชนให้ความสนใจซื้อเอกสารประกวดเสนอผลตอบแทนฯ 3 สัญญา คือ

สัญญาที่ 1 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 47,675 ตารางเมตร มีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ จำนวน 3 ราย 1. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN 2. บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 3. บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

สัญญาที่ 2 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 3,759 ตารางเมตร ไม่มีบริษัทเอกชนซื้อเอกสารการประกวดเสนอผลตอบแทน ซึ่งจะเปิดให้มีการประมูลอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2566

สัญญาที่ 3 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่ จำนวน 2,303 ตารางเมตร มีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ จำนวน 2 ราย 1. บมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

สัญญาที่ 4 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,080 ตรางเมตร มีผู้สนใจซื้อเอกสารฯ จำนวน 2 ราย 1. บมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

สำหรับขั้นตอนต่อไป ในส่วนของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 การรถไฟฯ กำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 4 ก.ค. 66 โดยจะประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 13 ก.ค. 66 และประกาศผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคในวันที่ 15 ส.ค. 66 กำหนดเปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ในวันที่ 16 ส.ค. 66 ส่วนสัญญาที่ 4 การรถไฟฯ กำหนดยื่นซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 5 ก.ค.66 และประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 13 ก.ค. และประกาศผลผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคในวันที่ 15 ส.ค. 66 โดยกำหนดเปิดซองข้อเสนอด้านผลตอบแทนในวันที่ 17 ส.ค. 66

โดยสัญญาที่ 2 พื้นที่เชิงพาณิชย์สายสีแดง 12 สถานี ไม่มีเอกชนซื้อซองนั้น ยกเลิกตามขั้นตอน และเร่งออกประกาศเชิญชวนอีกครั้งในเดือน ก.ค. นี้ ซึ่งหากยังไม่มีเอกชนซื้อซองอีกจะพิจารณาแนวทางอื่น เช่น ให้สิทธิ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน หรือ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ ร.ฟ.ท. บริษัทลูกเดินรถสายสีแดง รับพื้นที่ไปดำเนินการโดยให้ผู้ประกอบการ ร้านค้ารายย่อย ทำสัญญาเช่าตรงไปก่อน คาดว่าจะล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 เดือน

ทั้งนี้ การรถไฟฯ คาดว่าจะได้ผู้ประกอบการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามที่เปิดประมูลไปภายในเดือน พ.ย. 66 คาดว่าจะมีรายได้ตลอดอายุสัญญาขั้นต่ำราว 5,520 ล้านบาท ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการผู้โดยสารภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้เป็นจุดนัดพบ แหล่งช็อปปิ้ง แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนกรุงเทพในอนาคต

‘EA’ ผนึก ‘สทร.’ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน EV on Train ส่ง MINE Locomotive เสริมแกร่งนวัตกรรมพลังงานสะอาดไทย

📌(26 มิ.ย. 66) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลงนามความร่วมมือครั้งสำคัญกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) พร้อมส่งหัวรถจักรไฟฟ้า ‘MINE Locomotive’ ยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ นับเป็นโครงการใหญ่ของโรดแมประบบรางไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี และสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มี ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือว่า สถาบันฯ มุ่งมั่นส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาการขนส่งทางรางให้ทันสมัย สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วน ระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ตามนโยบาย Thai First และ MoU ความร่วมมือกับ EA เกิดขึ้นมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบราง อันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศและกระทรวงด้าน Green and Safe Transport ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2580

ด้าน ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า สทร. เป็นหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบรางตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมและสร้างอุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แต่ต้องผลักดันไปสู่การผลิตและใช้จริงในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปสู่ตลาดโลก หรือห่วงโซ่คุณค่า ของระบบรางในระดับโลก (Global Value Chain) ความร่วมมือกับ EA จึงถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญระดับประเทศและระดับโลกด้วย

“การประกาศลงนามความร่วมมือ ระหว่าง สทร.และ EA จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบราง ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การขนส่งทางรางของประเทศไทย และส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยจะสามารถเป็นผู้ผลิตและออกเทคโนโลยี ระบบรางที่ทันสมัยสู่ตลาดโลก” ดร.สันติกล่าว

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีระบบราง และพัฒนานวัตกรรมระบบรางไร้มลพิษตอบโจทย์ต่อบริบทของประเทศ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศอุตสาหกรรมระบบรางไปสู่การใช้ไฟฟ้าแทนระบบรถไฟเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแบตเตอรี่ หรือ EV on Train และเริ่มทดลองใช้แล้วในประเทศไทย

EA ได้นำนวัตกรรมหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (MINE Locomotive) มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New S-curves) ได้เป็นผลสำเร็จ จากการได้รับแรงสนับสนุนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน และได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตพันธมิตรของ EA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลของการพัฒนา MINE Locomotive จึงนำมาสู่การต่อยอดเส้นทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร  ได้แก่ 

1. ระบบสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping & Charging Station) สำหรับรถไฟแบตเตอรี่ EV on Train ที่มีแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ มากกว่า 3 MW

2.องค์ประกอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะสถานีชาร์จและสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต้นแบบ ของ EA ที่มีขนาดมากกว่า 3 MW เพื่อเป็นต้นแบบขยายสถานีชาร์จตามแนวเส้นทางรถไฟ  ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สามารถเพิ่มระยะทางวิ่งใช้เวลาสั้น (เช่น เพียง 10 นาที) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติการของระบบรางสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพัฒนาต้นแบบและทดสอบแล้วจะนำไปสู่การขยายผลใช้งานในระบบรางของประเทศ  รวมทั้งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ ด้านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการร่วมมือ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Local Content) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การทดสอบและรับรองว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้นั้น มีมาตรฐานและผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ EA ในปี 2566 บริษัทฯมั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตมากกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจาก EV Ecosystem ทั้งธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า รถเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยไตรมาส 1/2566 รายได้เติบโตกว่า 80% ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในส่วนของธุรกิจ EV ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯเริ่มมองหาพันธมิตรเข้าลงทุนในชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพันธมิตรในส่วนของ Battery Management System แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ได้อีกมาก 

STC ปักธง!! ผลงาน Q2 เติบโตต่อเนื่อง เตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 30%

🔴(26 มิ.ย. 66) นายเอกชัย ชัยตระกูลทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสทีซี คอนกรีตโปรดัคท์ จำกัด (มหาชน) หรือ STC เปิดเผยว่า คาดผลประกอบการ Q2/66 เติบโตต่อเนื่อง จากแผนขยายกำลังการผลิต 30% ในปี 66 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่กว่า 1 แสนคิว โดยกำลังการผลิตของโรงงานนาวังเฟส 4 จะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ Q2/66 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกันภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวตั้งแต่ Q4/65 เป็นต้นมา รวมถึงภาคนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการเติบโตสูง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐในพื้นที่ EEC และสัดส่วนงานเอกชนทยอยเข้ามา หนุนให้บริษัทมี Backlog เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 262 ลบ. ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้

🟢อีกทั้งในปี 66 บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการเติบโต 10% (YoY) จากแผนขยายกำลังการผลิต 30% จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่กว่า 1 แสนคิว โดยวางงบลงทุนรวม 180 ลบ. เพื่อขยายกำลังการผลิตโรงงานนาวัง เฟส 5 เป็นหลัก คาดจะเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงสุด 480-500 คิว/วัน คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตของโรงงานนาวา เฟส 5 ช่วงปลาย Q4/66 รวมถึงมีแผนขยายโรงงานไปแถบกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงฉะเชิงเทรา หากขยายโรงงานสำเร็จจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 20-30% และลงทุนเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มเติม

⚪ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเข้าประมูลงานภาครัฐ และโครงการอสังหาฯ ของภาคเอกชนหลายตัว โดยมองว่าทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยผลการเลือกตั้งหากประกาศผลรับรองและเปิดประชุมสภาได้ จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายภาครัฐฯ บริษัทคาดจะส่งผลกระทบเล็กน้อย จึงมีแผนลงทุนเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตตามแผน


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top