Monday, 8 July 2024
BIZ

INTERLINK ประกาศกร้าว!! ขอสร้างการเติบโตยั่งยืน แม้ผลัดใบรัฐบาล ชู!! 'สินค้าดี-บริการเยี่ยม-ราคาเป็นธรรม' นำธุรกิจเอื้อผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม

(29 ส.ค.66) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ได้เผยถึงพันธสัญญาของ INTERLINK ต่อทุกผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศธุรกิจของบริษัท ถึงการเปลี่ยนผ่านขั้วรัฐบาลใหม่ ว่า...

“ตลอดระยะเวลา 2-3 อาทิตย์นี้ ถ้าไม่พูดถึงรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะตั้ง ก็ดูจะเชยและไม่ทันสถานการณ์   แต่เนื่องจากผมเป็นประธานกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ซึ่งต้องนำพาธุรกิจของกลุ่มให้เติบโตต่อเนื่องและยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร หรือใครจะเข้ามาบริหารกระทรวงต่าง ๆ”

“ทั้งนี้ เป้าหมายที่กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ต้องทำ คือดำเนินการให้ผลประกอบการ สามารถเติบโตต่อเนื่อง ทั้งรายได้และกำไร ตามที่ได้สัญญาไว้กับนักลงทุน”

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า “ผมอยากจะบอกข่าวสำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ เพราะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา มีสัญญานที่ส่งให้ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ขายดี เป็นเทน้ำเทท่า (พนักงานบอก) เริ่มจากการจัด Mid Year Sales ที่ผลปรากฏว่าสินค้าที่เตรียมไว้ ได้รับการตอบรับอย่างเกินความคาดหมาย เป็นผลให้ทีมโลจิสติกส์ และทีมจัดส่ง ไม่มีวันได้หยุดพักเลย ต้องจัดส่งทุกวันทั้งในกรุงเทพและในทุก ๆ ภูมิภาค” 

"อีกทั้งเผอิญบริษัทผู้ผลิตสายไฟฟ้าของประเทศไทยรายใหญ่มีปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนด ดังนั้น INTERLINK จึงเกิดปรากฏการณ์ส้มหล่น สินค้าสายสัญญาณและสายคอนโทรล ขายดีจนขาดตลาด อาทิ สาย Sola Cable, สายโทรศัพท์, สาย Security and Control, สาย CVV, สาย THW-F เป็นต้น ซึ่งโรงงานของ ILINK พร้อมที่จะผลิตสินค้าเหล่านี้เข้ามาทดแทนตลาดที่ขาดหายไป”

นายสมบัติ กล่าวทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “คาดว่าใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ผลิตภัณฑ์สายสัญญาณและสายคอนโทรลของ ILINK จะได้เป็นทางเลือกใหม่ภายใต้สโลแกน 'สินค้าคุณภาพ ราคาถูกกว่า และบริการที่ดีกว่า' แน่นอนครับ”

‘ร้านลูกไก่ทอง’ จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ‘ปังชา’ ห้ามใช้ตั้งชื่อร้าน-สินค้า ห้ามลอกเลียน ทำซ้ำ ดัดแปลง

(28 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant’ ของร้านอาหารลูกไก่ทอง ซึ่งมี 6 สาขาในกรุงเทพฯ และร้านปังชาคาเฟ่ 5 สาขา โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า…

"จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน แบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ‘ปังชา’ ภาษาไทย และ ‘Pang Cha’ ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จดทะเบียนลิขสิทธิ์ จดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย"
.
โพสต์ดังกล่าวชาวเน็ตได้วิพากษ์วิจารณ์และสงสัยว่า นอกจากจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าแล้ว เป็นการจดสิทธิบัตรเมนู ‘ปังชา’ หรือ ‘ปังชาไทย’ ที่เป็นน้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง โรยด้วยนมข้นหวาน ซึ่งได้รับรางวัลมิชลินไกด์หลายปีซ้อนหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นร้านอาหารอื่น ๆ ที่มีเมนูในลักษณะคล้ายกันจะกลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

จากการสืบค้นข้อมูล ‘ปังชา’ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พบว่า น.ส.กาญจนา ทัตติยกุล เจ้าของแบรนด์ปังชาได้ยื่นคำขอลิขสิทธิ์ ขนไก่ปังชา ประเภทงานศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม เลขที่คำขอ 371901 โดยได้เลขทะเบียน 47654 และคำขอเครื่องหมายการค้า เลขที่คำขอ 220133778 โดยได้ทะเบียนเลขที่ 231117892 โดยระบุข้อจำกัดว่า "ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ อักษรโรมันและอักษรไทยทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนเครื่องหมาย ยกเว้น คำว่า KAM"

นอกจากนี้ยังพบว่า น.ส.กาญจนา ทัตติยกุล ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patents) 7 ฉบับ ได้แก่ แก้ว ตุ๊กตา ลวดลายของแก้ว ลวดลายบนฉลากสินค้า ถ้วยไอศกรีม จดลิขสิทธิ์งานจิตรกรรม 6 ฉบับ ได้แก่ ไก่เจ้าครับ แก้มกาญจนา ไก่เจ้าค่ะ ขนไก่ปังชา แก้มกัลยา ไก่เหล็กถัก และเครื่องหมายการค้าหรือบริการอีก 45 ฉบับ

‘EA’ ผนึกเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘วิทยาศาสตร์พลเมือง’ เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความยั่งยืนให้ป่าชายเลน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด เดินหน้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ EA Go Green Clean Energy ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) มุ่งมั่นส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบก (บางปู) จัดขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคเอกชน และพันธมิตร

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ โครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เป็นผู้แทน EA ร่วมผลักดันกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากภาคธุรกิจจำนวน 6 หน่วยงาน ประชาชน และสื่อมวลชนกว่า 150 คน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว โดยภายในงานได้มีกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้

- Exploring Nature by Technology สร้างการเรียนรู้ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) และ TH-BIF Journey แอปพลิเคชัน เพื่อการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

- Anyone can be Citizen Science เรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน และภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

- Nature Walk, Nature Talk ให้ความรู้เบื้องต้นผ่านการสังเกต ศึกษา และสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ควบคู่ไปกับการทดลองใช้งาน แอปพลิเคชัน TH-BIF Journey 

- Art and Science เชื่อมโยงศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การบันทึกธรรมชาติ ผ่านภาพวาด และเทคนิคการถ่ายภาพ

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยและสุขภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะจัดการและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฯ ตลอดจนรวมการพิจารณาและประเมินความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับกระบวนการทำงานของเรา รวมถึงได้มีการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์และเส้นทางการบินของนกแต่ละชนิดในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และได้สำรวจความหลากหลายของพืชพรรณโดยใช้รูปแบบทุติยภูมิ ภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจในพื้นที่ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนการยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน

‘ITEL’ เซ็นสัญญารับงานโครงการ Course Online ภายใต้ ‘กสทช.’ มูลค่ากว่า 297 ล้านบาท

(21 ส.ค. 66) ​บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม หรือ ITEL คว้างานโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) หรือ โครงการ Course Online มูลค่า 297,208,550 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

​นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ที่มีความเสถียรภาพสูงสุดทั่วประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มูลค่าทั้งสิ้น 297,208,550.00 บาท (สองร้อยเก้าสิบเจ็ดล้านสองแสนแปดพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายทั้งปวงไว้ด้วยแล้ว โดยสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2568

​“บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในพื้นที่ห่างไกลในด้านทักษะความรู้การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างโอกาสและการพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคมที่ยั่งยืน” นายณัฐนัย กล่าว

​อย่างไรก็ตาม งานใหม่ที่ ITEL ได้รับความไว้วางใจนั้น จะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เติบโตได้ต่อเนื่อง และผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวม เติบโตได้ 20-30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งยังทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มมากขึ้น

BAM โชว์ครึ่งปีผลเรียกเก็บพุ่ง 28% เตรียมลุยประมูลหนี้เสียเพิ่ม 7.1 หมื่นล้าน

BAM เผยผลงานครึ่งปี 2566 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผลเรียกเก็บ 7,357 ล้านบาท โดยผลเรียกเก็บไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปีนี้ 28% และมีกำไร 425 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนซื้อทรัพย์เติบโตสูงถึง 296% พร้อมเดินหน้าประมูลหนี้มาบริหารเพิ่มกว่า 70,000 ล้านบาทภายในปีนี้ หวังดันผลเรียกเก็บทั้งปีเข้าเป้า 17,800 ล้านบาท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 ว่า ผลประกอบการโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผลเรียกเก็บ 7,357 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีผลเรียกเก็บ 4,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่มีผลเรียกเก็บ 3,230 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28% และมีกำไร 425 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาสที่ 1 ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 267 ล้านบาท

ด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ NPL ในครึ่งปีแรก BAM สร้างผลเรียกเก็บด้วยกลยุทธ์การสร้างโอกาสและเร่งการประนอมหนี้ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้หลายโครงการ เช่น โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ และโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้เกษตรกร รวมทั้งการเร่งการติดต่อลูกหนี้ และเร่งกระบวนการขายทอดตลาด เช่น แถลงเร่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกัน แถลงเร่งจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงิน และร่วมมือกับกรมบังคับคดีจัดมหกรรมขายทอดตลาด เป็นต้น

พร้อมกันนี้ BAM ยังได้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปรียบเสมือนฮีโร่ของสังคมไทย ซึ่งได้เสียสละเวลาพักผ่อนเวลาส่วนตัวและความสะดวกสบายมาแก้ไขปัญหาในช่วงที่เกิดโรคระบาดและสาธารณภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร ครู และ อสม. ภายใต้โครงการ BAM for Thai Heros โดยในช่วงครึ่งปีแรกสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ไปได้เป็นจำนวน 82 ราย คิดเป็นยอดประนอมหนี้ 131 ล้านบาท และยังได้เตรียมให้สิทธิพิเศษสำหรับฮีโร่ดังกล่าวที่ซื้อทรัพย์สินรอการขายของ BAM อีกด้วย

ขณะที่การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA BAM ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยการออกบูทและจัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อสร้างยอดเสนอซื้อ การจัดการทรัพย์ให้พร้อมขาย (Renovate) การจำหน่ายทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อย ตลอดจนการกำหนดทรัพย์ราคาพิเศษ และการเพิ่มฐานลูกค้าผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา BAM ได้ทำหน้าที่เสมือนแก้มลิงที่ช่วยรองรับหนี้เสียของสถาบันการเงิน นำมาบริหารจัดการและแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังทำหน้าที่ฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์มือสองที่เป็นทรัพย์สินรอการขายของบริษัทฯ ให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาดที่ผ่านมา BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติในการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 146,121 ราย คิดเป็นภาระหนี้ 466,871 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 49,216 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 107,319 ล้านบาท ปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแล คิดเป็นภาระหนี้รวม 481,578 ล้านบาท และ NPA มูลค่าราคาประเมิน 69,275 ล้านบาท 

นายบัณฑิต ยังได้กล่าวถึงกลยุทธ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ว่า BAM ยังคงเดินหน้าด้วยกลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการ NPL หลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการ Knock Door การพัฒนาแอพพลิเคชัน BamGo Digital เพื่อสร้างระบบการให้บริการประนอมหนี้ออนไลน์ (E-TDR) ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2566 พร้อมทั้ง การบริหารจัดการ Clean Loan เพื่อสร้างผลเรียกเก็บได้โดยเร็ว ส่วนการบริหารจัดการ NPA นั้น BAM ได้ทำการคัดทรัพย์ราคาพิเศษกว่า 10,000 รายการ เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดจำหน่ายทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการครบเครื่องเรื่องบ้าน by BAM โครงการ BAM for Thai Heroes และเตรียมจัดมหกรรมจำหน่ายทรัพย์ในโอกาส BAM ก้าวสู่ปีที่ 25 ในช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้งยังแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินรอการขาย และการปรับรูปแบบธุรกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้ BAM สามารถสร้างผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 17,800 ล้านบาท

ด้านนายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน (CFO) เปิดเผยว่าการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพื่อขยายพอร์ตในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 BAM ได้เข้าประมูลซื้อหนี้ NPL มาบริหารจัดการ คิดเป็นภาระหนี้ (เงินต้นบวกดอกเบี้ย) รวม 22,408 ล้านบาท มีการเติบโตสูงถึง 296% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปี 2565 ที่มีการซื้อทรัพย์มาบริหาร 5,658 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินมีการทยอยนำ NPL ออกมาประมูลขายในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยอยู่ระหว่างรอผลการประมูลและการทำ Due Diligence คิดเป็นภาระหนี้ 71,203 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาพรวม NPL ในระบบสถาบันการเงิน ณ ไตรมาสที่ 1 มีจำนวน 497,952 ล้านบาท คิดเป็น 2.67% ของสินเชื่อรวมในระบบสถาบันการเงิน จึงเป็นโอกาสที่ BAM จะเข้าประมูลซื้อ NPL เข้ามาบริหารจัดการต่อไป

Torpenguin ผุดฟรีสัมมนา Restaurant Technology & Franchise 2023 ยกระดับธุรกิจร้านอาหารด้วยเทคโนโลยี 8-9 ธ.ค.นี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Torpenguin สื่อผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการธุรกิจสำหรับร้านอาหาร เตรียมจัดงาน Restaurant Technology & Franchise 2023 งานอีเวนต์และสัมมนาด้านการจัดการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหาร งานที่จะช่วยยกระดับธุรกิจร้านอาหารให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พบกับบูทแสดงสินค้าและบริการด้านการจัดการร้านอาหาร จากบริษัทชั้นนำกว่า 150 บูท เช่น เทคโนโลยีสำหรับร้านอาหาร, อุปกรณ์ครัวสำหรับร้านอาหาร, เครื่องมือด้านการตลาด, ซัพพลายเออร์, เทคโนโลยีด้านการเงิน, แฟรนไชส์และพื้นที่เช่ากว่า 60 บูท และสัมมนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และตัวจริงในวงการร้านอาหารแถวหน้าของเมืองไทยกว่า 20 ชีวิต พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปพิเศษจากกูรูคนดังในวงการ พร้อมแชร์ประสบการณ์ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน 

และไฮไลต์สุดพิเศษ ‘ตัวอย่างร้านอาหารแห่งอนาคต’ พร้อมสัมผัสประสบการณ์จริงที่จะรวบรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ มารวมไว้ในร้านเดียว ทั้งหมดนี้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พบกันในวันที่ 8-9 ธันวาคม 2566 ณ อาคาร 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด “กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เห็นผู้จัดงานรุ่นใหม่เข้ามาในวงการจัดงาน Exhibition 

นอกจากจะมีในส่วนของงาน Exhibition ต่าง ๆ แล้ว ทางอิมแพ็คเองยังอยู่ในวงการร้านอาหารมามากกว่า 20 กว่าปี ซึ่งก็ได้เจอปัญหาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Operation ในร้าน Technology ในร้าน ปัญหาเรื่องของ Suppiler ซึ่งเราก็ได้เห็น Pain Point ของคนทำร้านอาหารมาค่อนข้างเยอะ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ Covid-19 ได้ผ่านมาเรียบร้อย แต่พฤติกรรมลูกค้าก็ได้เปลี่ยนไปเยอะมาก เราก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้ ด้วย Tool ใหม่ ๆ ที่เข้ามา จะสามารถช่วยให้เราปรับตัวไปตามโลกในยุคนี้ได้ 

ที่ผ่านมาเราได้เห็นหลาย ๆ งานเกิดจากผู้จัดที่เป็น Publisher มาก่อน ทำ Magazine เป็นนักข่าว แต่ยุคใหม่นี้จะเป็น Influencer ที่เริ่มปรับตัวมาเป็น Organizer ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแบบ Online หรือ Offline และเราเองก็ดีใจที่ได้ร่วมงานกับลูกค้ารุ่นใหม่อย่างคุณต่อ ที่จัด Restech 2023 ขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะสร้าง Ecosystem คนทำร้านอาหาร หวังว่าจากการเข้าชมงานนี้ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของ Exhibition และ Conference จะได้รับประโยชน์ และหวังว่างานนี้จะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยได้ และช่วยยกระดับ Community คนทำร้านอาหารให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของเพจ Torpenguin สื่อผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการจัดการธุรกิจสำหรับร้านอาหาร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “SME ทุกคนคือปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ว่าเราจะกินขนาดไหนก็ยังเป็นได้แค่ปลาตัวเล็ก ไม่นานก็จะโดนปลาตัวใหญ่กิน ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือ ‘การรวมปลาตัวเล็กให้กลายเป็นปลาฝูงใหญ่’ ที่ไม่ได้จะไปกินปลาตัวใหญ่ แต่จะเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะกำบังไม่ให้ปลาตัวใหญ่มากินเราได้ Torpenguin เราจึงพยายามสร้าง Ecosystem สร้างระบบนิเวศที่ดีให้ปลาตัวเล็ก ๆ สามารถเติบโตต่อไปได้ มันก็เลยเป็นความพร้อมที่เราจะต้องจัดงานอีเวนต์บางอย่างขึ้นมา เลยเป็นที่มาของงาน Restech : Restaurant Technology & Franchise 2023

นั่นก็เพราะว่าน้อยคนในวงการร้านอาหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งถ้าคนทำร้านอาหารยังไม่ให้ความสำคัญ ในวันหนึ่งที่คนในธุรกิจอื่น ๆ ไปข้างหน้าหมดแล้ว ธุรกิจร้านอาหารกลายเป็นคนที่ถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง จึงรู้สึกว่าเราอยากจะเอาเรื่องร้านอาหารที่คนคิดว่าเป็นแค่การขายอาหารเพียงอย่างเดียว กับเรื่องเทคโนโลยีเรื่องยาก ๆ ที่ใครคิดว่าไกลตัว ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

สิ่งที่เราเห็นที่ผ่านมาก็คือ ต้นทุนค่าแรงของธุรกิจที่มันสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก 10% เป็น 15%-20% ของยอดขาย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก และจากสภาพการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเจ้าของร้านอาหารในเมืองไทยมีกว่า 700,000 ราย แต่ Market Size อยู่ที่ 4 แสนล้านบาทเท่าเดิม นั่นหมายความว่าไม่แปลกใจเลยถ้าร้านเรายอดขายจะตก เพราะเรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

เมื่อก่อนเชนร้านอาหารอยู่แต่ในห้าง แต่ในตอนนี้เขาออกมาทำการตลาดนอกห้างมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักเทคโนโลยีไม่ปรับตัว เราก็คงสู้เขาไม่ได้ ผมจึงเชื่อว่า เทคโนโลยีนี่แหละที่จะเป็นจุดเปลี่ยนให้คนตัวเล็กมีศักยภาพแข่งขันสู้กับเจ้าใหญ่ได้

รวมไปถึงพฤติกรรมของลูกค้า เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าตั้งแต่สถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา ว่าทุกอย่างคือ ทุกอย่างจัดการอยู่บนโทรศัพท์มือถือ POS การทำ CRM ไม่รู้จักการทำระบบบัญชีออนไลน์ ไม่รู้วิธียิงแอด ไม่รู้วิธีการไลฟ์ แล้วเราจะไปสู้เจ้าใหญ่ได้อย่างไร

เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น แต่มีราคาที่ถูกลง นี่คือโอกาสที่ SME อย่างเราที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาที่ถูกได้ 

เหล่านี้แหละคือทั้งหมดที่เราอยากทำเพื่อให้เจ้าของร้านอาหารทุกคนได้เรียนรู้ และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตัวเอง”

Restaurant Technology & Franchise 2023 งานอีเวนต์และสัมมนาด้านการจัดการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ พบกันวันที่  8-9 ธันวาคม 2566 ณ อาคาร 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

'มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน' ผนึกกำลัง 'ภาครัฐ-เอกชน' จัดแข่งขันพัฒนาแอปฯ มุ่งชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจ SMEs

เมื่อวันที่ 10-11 ส.ค. 66 มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมกล่าวเปิดโครงการฯ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาระบบการชดเชยคาร์บอนสำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งสาธารณะ และสถานประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ในการปรับตัวเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการซื้อขายคาร์บอนที่กำลังเป็นกระแสของโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ จะเปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยภาครัฐและเอกชนทั้ง 8 หน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนโครงการครั้งนี้ อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัด

คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย กรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 มีเยาวชน นิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 13 ทีม และมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 200,000 บาท ได้แก่ ทีม Greenie จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน 

-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทุนการศึกษา 100,000 บาท ได้แก่ ทีม Carbonzero จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ 

-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม Chestnut จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 

-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ทุนการศึกษา 20,000 บาท ได้แก่ ทีม CC Da Rock!!! จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม 

-รางวัลชมเชย มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท 3 รางวัล ได้แก่ 1.ทีม Deviate จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 2.ทีม Viridis จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 

นอกจากนี้ภายในงานนี้ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนจัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือกับ หน่วยงานเอกชน ในการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กได้มีส่วนร่วมในการตระหนักถึงความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ดังนี้

บริษัท เอสโคโพลิส จำกัด, บริษัท เคเชอร์ เพย์เมนท์ จำกัด และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัด ในการขยายช่องทางการซื้อคาร์บอนเครดิตรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ได้มีโอกาสส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Green Tourism ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตพร้อมกับการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ เพื่อชดเชยจำนวนคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเข้าพักในโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งบจก.เอสโคโพลิส เป็นโบรกเกอร์ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ในแพลตฟอร์ม FTIX โดยมีพันธกิจมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสในการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปชดเชยได้ตามวัตถุประสงค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Net Zero

‘เอ็กโก’ โชว์กำไร Q2/66 แตะ 2.6 พันล้านบาท ชูกลยุทธ์ ‘4S’ เสริมแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีรายได้รวม 15,593 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ตอกย้ำความมั่นใจการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลินในไต้หวัน มีความคืบหน้าและเป็นไปตามแผน พร้อมงัดกลยุทธ์ ‘4S’ สร้างรายได้ เสริมแกร่งธุรกิจ ต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงสามารถบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถก่อสร้างพร้อมกันได้ถึง 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Storage) ซึ่งมีจำนวนรวม 657 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น (ส่วนขยาย) ที่มีความก้าวหน้ากว่า 78% และโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลิน ในไต้หวัน ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างได้ตามแผนงาน ในขณะที่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ดังเช่นโครงการทีพีเอ็น ก็มีความพร้อมที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป มีรายได้รวมทั้งสิ้น 15,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งใน สปป.ลาว ได้แก่ น้ำเทิน 1 น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี มีปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงและมีการซ่อมบำรุง รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนอมมีรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านความคืบหน้าทางธุรกิจจนถึงปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้น 115 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ โครงการพลังงานลม 1 โครงการ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 2 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง 2 ใน 3 ส่วน และจำหน่ายโครงการออกไป 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของเอ็กโก กรุ๊ป ในรูปแบบไฮบริด 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ในไต้หวัน มีกังหันลมที่ติดตั้งแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 20 ชุด โดยมีกำลังผลิตรวม 144 เมกะวัตต์ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสะสมแล้วมากกว่า 620 กิกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้ามากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงการอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานของภาครัฐไต้หวัน (Taiwanese Bureau of Energy) เพื่อขอเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของโครงการตามที่ระบุไว้ในสัญญาบริหารจัดการให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งการหารือมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปีนี้

“ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ‘4S’ เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 

1) Strengthen financial performance เสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านการเงิน 
2) Select high quality project ให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้า Conventional และ Renewable ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรับรู้รายได้ทันที 
3) Speed up projects under construction เร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน 
4) Streamline portfolio and improve operation บริหารพอร์ตโฟลิโอ โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 36 แห่ง และธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกลยุทธ์ ‘4S’ สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

ปตท. ส่ง on-ion เดินหน้าขยายสถานีชาร์จ EV ผนึก SC เจาะกลุ่มที่อยู่อาศัย ตั้งเป้า 400 หัวจ่ายในปี 66

(15 ส.ค. 66) นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายโทรณ หงศ์ลดารมภ์ Head of EV Charger Business บริษัท อรุณ พลัส จำกัด และนายดิเรก ตยาคี Head of Technology Solutions บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC Asset) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด และ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการใช้และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้รถ EV เติมเต็มพลังงานสะอาดได้แบบไม่ต้องแวะรอชาร์จ

นายเชิดชัย เปิดเผยว่า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่โครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน โดยจับมือพันธมิตรผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรอย่าง SC Asset ติดตั้ง EV Charging Station ในเฟสแรก จำนวน 40 เครื่อง ภายใต้โครงการเรฟเฟอเรนซ์ (Reference) โค้บบ์ (COBE) และโครงการอื่น ๆ โดยจะเริ่มโครงการแรกที่เรฟเฟอเรนซ์ สาทร-วงเวียนใหญ่ ใกล้ใจกลางธุรกิจย่านสาทร พร้อมให้บริการช่วงต้นปี 2567 ตอบโจทย์ทุกการอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย รองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น

“ปตท. มุ่งมั่นเพิ่มศักยภาพความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมบริการครบวงจร ภายใต้แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ พื้นที่ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และพื้นที่โครงการที่อยู่อาศัยกว่า 400 หัวจ่าย ในปี 2566 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของกลุ่ม ปตท.” นายเชิดชัย กล่าว

นายดิเรก กล่าวว่า SC Asset ได้ร่วมมือกับ on-ion ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กับทางสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2563 นับว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพในการร่วมมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าและบริการของ SC ตามแนวคิด Human-Centric ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อค้นหาความต้องการ และโซลูชันต่าง ๆ ด้านที่อยู่อาศัย ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งเทรนด์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ในอนาคตการมี EV Charging Station ในโครงการ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักสำคัญที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้าน และคอนโดฯ นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางตรงที่ผู้บริโภคได้รับแล้ว การนำเทคโนโลยีนี้เข้ามายังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ โครงการของ SC ที่มีการติดตั้ง EV Charging Station ลูกค้าจะสามารถ สั่งชาร์จ ตรวจสอบสถานะการณ์ชาร์จ และ ชำระเงิน ผ่านทางรู้ใจแอป (RueJai App) ได้ทันที

เปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้า 'สายสีชมพู' 15 สิงหา 66 ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งจริงกันยายนนี้

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.แจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรีว่า บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าว ได้ทำการทดสอบระบบการเดินรถตั้งแต่ศูนย์ซ่อมบำรุง (DEPOT) ไปยังสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) รวม 30 สถานี หรือตลอดแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ซึ่งภาพรวมพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด ทางรฟม.จึงคาดว่าจะเริ่มทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

>> ความก้าวหน้าของงานก่อสร้างล่าสุดในเดือน ก.ค. 2556
- งานโยธาช่วงแคราย - มีนบุรี อยู่ที่ 97.35%
- งานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 97.74%
- ความก้าวหน้ารวมสะสมอยู่ที่ 97.54%

นอกจากนี้บริษัทฯ จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการฟรี ระหว่างเดือน กันยายน-ตุลาคม 2566 ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งภาพรวมของโครงการถือว่าเร็วกว่าแผนกำหนดไว้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะก่อสร้างเป็นทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งหมด 30 สถานี และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี โดยโครงการยังมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่

1. รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี
2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่
3. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
4. รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

>> สถานีให้บริการจำนวน 30 สถานี ได้แก่

- PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีต้นทางตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ
- PK02 สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ บริเวณด้านหน้าสถาบันทรวงอก
- PK03 สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ
- PK04 สถานีสามัคคี ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้ทางแยกเข้าถนนสามัคคี ระหว่างคลองบางตลาดกับถนนสามัคคี
- PK05 สถานีกรมชลประทาน ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา
- PK06 สถานีแยกปากเกร็ด ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมทางแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ
- PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์และโฮมโปร ก่อนถึงทางแยกเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
- PK08 สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
- PK09 สถานีศรีรัช ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 35 ก่อนถึงทางด่วนศรีรัช ใกล้กับหมู่บ้านเมืองทองธานี
- PK10 สถานีเมืองทองธานี ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าสำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวงและห้างแม็คโครซุปเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ
- PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างบิ๊กซีแจ้งวัฒนะ และซอยแจ้งวัฒนะ 14
- PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
- PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7
- PK14 สถานีหลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนแจ้งวัฒนะและถนนวิภาวดีรังสิตสามารถเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)
- PK15 สถานีราชภัฏพระนคร สถานีสุดท้ายบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

- PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)
- PK17 สถานีรามอินทรา 3 สถานีแรกบนถนนรามอินทราตั้งอยู่บริเวณหน้าโครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ และศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก
- PK18 สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราระหว่างซอยรามอินทรา 21 และซอยรามอินทรา 23 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า
- PK19 สถานีรามอินทรา กม.4 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 33 และซอยรามอินทรา 37
- PK20 สถานีมัยลาภ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราหน้าปากซอยรามอินทรา 41 ใกล้กับสามแยกมัยลาภ
- PK21 สถานีวัชรพล ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช บริเวณซอยรามอินทรา 59 และซอยรามอินทรา 61
- PK22 สถานีรามอินทรา กม.6 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42
- PK23 สถานีคู้บอน ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 69 และซอยรามอินทรา 46
- PK24 สถานีรามอินทรา กม.9 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้กับโรงพยาบาลสินแพทย์ ช่วงระหว่างซอยรามอินทรา 54 และซอยรามอินทรา 56
- PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade
- PK26 สถานีนพรัตน์ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ใกล้ซอยรามอินทรา 103/1 และโรงพยาบาลนพรัตน์
- PK27 สถานีบางชัน ตั้งอยู่บนถนนบริเวณซอยรามอินทรา 113 และซอยรามอินทรา 115
- PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ระหว่างซอยรามอินทรา 121 และ ซอยรามอินทรา 123
- PK29 สถานีตลาดมีนบุรี สถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2
- PK30 สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนสายสีชมพูฯ ใกล้กับถนนรามคำแหง เป็นสถานีปลายทางของโครงการ และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ได้ด้วยทางเดินยกระดับลอยฟ้า (Skywalk)

'การบินไทย' ตั้งลำ!! โชว์รายได้สวยไตรมาส 2 ปี 66 พา 'บริษัท-บริษัทย่อย' ทำกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี

(11 ส.ค. 66) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี

โดยบริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%

บริษัท และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน

โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท (12.7%) หนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท (3.9%)

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท

และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทจึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มใจ!! อนุมัติลงทุนใน EEC ทะลุ 2 ลลบ. มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคม-พัฒนาชีวิต ปชช.

(10 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความสำคัญและความสำเร็จการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการลงทุนเกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยวางเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่อนุมัติการลงทุนแล้วถึง 2 ล้านล้านบาท และเป็นการลงทุนที่ส่วนใหญ่มาจากเอกชน

ความสำเร็จของ EEC ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การลงทุนปี 2561 - ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น มีจำนวนถึง 1,360,349 ล้านบาท โดย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศ/เขตบริหารพิเศษ ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F

การพัฒนา EEC ให้เป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมายของนักลงทุน ช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบการพัฒนา คือ ‘Ecosystem’ พัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตในทุกมิติ ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การประกอบธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาเมือง และการยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ‘Exclusive’ กำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษ ในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการการลงทุนนั้น ๆ และ ‘Collaborative’ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการทำให้การลงทุน เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของรัฐบาล ทุกหน่วยงานที่ร่วมมือกันจนเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ EEC ไม่ใช่เพียงความสำเร็จด้านโครงสร้างความเชื่อมโยง แต่รวมถึงการลงทุนจำนวนมาก มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งเห็นความสำเร็จถึงประโยชน์ที่ส่งตรงถึงคนไทย พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สร้างงาน พัฒนาการศึกษา นวัตกรรม โดยไม่มองข้ามการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า EEC ที่รัฐบาลภูมิใจ ให้ความสำคัญในการดำเนินการตลอดมานั้น จะเกิดประโยชน์ถึงประชาชนทุกคน

'เซ็นทรัลฯ' ลุยปรับโฉมร้าน Family Mart พลิกโฉมเป็น Tops Daily ยัน!! แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อร้านแล้ว แต่ 'โอเด้ง' ยังมีขายตามปกติ

เมื่อไม่นานมานี้ เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC ผู้บริหารเชนร้านสะดวกซื้อ Family Mart เริ่มทยอยปรับโฉมและเปลี่ยนชื่อร้าน Family Mart เป็น Tops Daily แล้ว เช่นสาขาในย่านปิ่นเกล้า ทั้งการเปลี่ยนป้ายหน้าร้าน และประโยคต้อนรับลูกค้าของบรรดาพนักงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนสินค้าเด่นของ Family Mart อย่าง ‘โอเด้ง’ ยังสบายใจได้ เนื่องจากพนักงานของร้านยืนยันว่า แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อร้านแล้ว แต่โอเด้งยังมีขายตามปกติ

การเปลี่ยนแปลงนี้ คาดว่าเป็นไปตามแนวทางที่ CRC ประกาศเมื่อช่วงต้นปี 2566 นี้ ว่าจะปรับกลยุทธ์ของธุรกิจค้าปลีก ด้วยการใช้แบรนด์ Tops เป็นแกนกลาง ขณะเดียวกันความต้องการของผู้บริโภคยังเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โดยนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล รีเทล กล่าวในขณะนั้นว่า เทรนด์ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยเปลี่ยนแปลงไป ตลาดต้องการร้านที่ขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ร้าน Family Mart ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ย 120 ตร.ม. ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ต่างจากร้านในแบรนด์ Tops ที่มีขนาดพื้นที่ร้านประมาณ 250-300 ตารางเมตร จึงมีความหลากหลายของสินค้ามากกว่า

พร้อมกันนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังปรับยุทธศาสตร์ด้านแบรนด์ด้วยการโฟกัสการใช้แบรนด์ Tops กับธุรกิจต่าง ๆ ในกลุ่มสินค้าอาหารเพื่อสร้างการจดจำ เช่น Tops, Tops Food Hall, Tops Fine Food, Tops Club และ Top Daily

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ร้าน Family Mart ในไทยมีสาขาลดลงต่อเนื่องจากจำนวนประมาณ 1,000 สาขา เมื่อปี 2560-2561 แต่ในช่วงปี 2564 ลดเหลือ 805 สาขา และปัจจุบันข้อมูลบนเว็บไซต์ของเซ็นทรัล รีเทล ระบุว่า บริษัทมีร้านสะดวกซื้อ 409 สาขา

สำหรับเส้นทางธุรกิจร้าน Family Mart ในประเทศไทยนั้น Family Mart เป็นร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น ภายใต้การบริหารของแฟมิลี่มาร์ทกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท อิโตชู จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 ที่พระโขนง ตามด้วยสาขา 2 ที่สีลม ต่อมาเปิดสาขาแฟรนไชส์แห่งแรกที่เสนานิเวศน์ ก่อนจะมีสาขาครบ 100 สาขา ในธันวาคม 2542 ด้วยการเปิดสาขาลาดพร้าว 35 ตามด้วยสาขาในต่างจังหวัดเป็นครั้งแรกในจังหวัดชลบุรี คือ สาขาพัทยาวงศ์อมาตย์

สำหรับหนึ่งในสินค้าฮิตอย่างโอเด้งนั้น เริ่มขายใน 10 สาขาเมื่อสิงหาคม 2549 จากนั้น Family Mart เดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง โดยมีสาขาครบ 500 สาขาในปี 2551 และครบ 600 สาขา ในปี 2553 จากนั้น ปี 2555 เมษายนจึงเปิดสาขาลำดับที่ 700 และเปิดสาขาลำดับที่ 800 เมื่อปี 2556

ขณะเดียวกันบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอรร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมเซ็นสัญญาลงนามในสัญญาร่วมทุน กับ บริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2555 และต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัดเมื่อปี 2556

ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ในอีก 49.00% ที่เหลืออยู่จาก แฟมิลี่มาร์ท ประเทศญี่ปุ่น ทำให้แฟมิลี่มาร์ทในไทยเหลือสถานะเพียงแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่น

‘วิชัย ทองแตง’ นำทัพขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน ร่วมพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ฝุ่นอย่างสมดุลและยั่งยืน

กว่า 10 ปีที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 แม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามแก้ปัญหา แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกปี

ล่าสุดได้มีความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่สั่งสมมานานอีกครั้ง ผ่านโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร โดยมี ‘วิชัย ทองแตง’ นักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ที่มีแรงบันดาลใจมุ่งหวังให้เชียงใหม่และภาคเหนือปลอดจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

วิชัย ทองแตง บอกว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันช่วยเหลือชาวเชียงใหม่ เพราะทนไม่ได้ที่ต้องเห็นจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศด้วย 

แน่นอนว่า ทุกองค์กรที่ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ล้วนตระหนักดีว่า เรื่องปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีนั้น จะแก้ไขได้จะต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ จะรอคอยอีกไม่ได้ เพราะลมหายใจของเชียงใหม่รวยริน และแผ่วเบามากแล้ว 

“แม้ว่าชาวเชียงใหม่จะได้รับข่าวดี หลังศาลได้ตัดสินให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ชนะคดี กรณีได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีละเลยการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใส่ใจปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่ต้องสูดดมควันหรือฝุ่นละออง เมื่อวัน 10 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่การบังคับใช้กฎหมายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลาอีกนาน ขณะที่ปัญหาหมอกควันนั้นรออีกไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องสร้างแนวทางใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หวังให้ลมหายใจดแห่งขุนเขาจะพัดกลับมา ให้คนเชียงใหม่จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ ตามวิถีของชาวเชียงใหม่ และวิถีล้านนา ซึ่งเป็นวิถีที่งดงามให้กลับมาเป็นเช่นเดิม”

ปตท. ติดอันดับ 110 ฟอร์จูนโกลบอล 500 นับเป็นหนึ่งในห้าบริษัทในอาเซียนที่ติดโผ

ฟอร์จูน (Fortune) ประกาศในวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับ 110 ของฟอร์จูนโกลบอล 500 (Fortune Global 500) ในปี 2566 โดยได้รับการจัดให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 110 ในโลกตามรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ด้วยรายได้ 9.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไร 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยและหนึ่งในห้าบริษัทในอาเซียนที่ติดอันดับบนฟอร์จูนโกลบอล 500 ประจำปีนี้ โดย ปตท. ติดอันดับสองของบริษัทบนฟอร์จูนโกลบอล 500 ในอาเซียน เป็นรองเพียงบริษัททราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) จากสิงคโปร์ แต่หากเทียบเฉพาะในภาคพลังงาน ปตท. รั้งอันดับหนึ่งในอาเซียน

ส่วนในระดับโลก ภาคพลังงานก็มาแรงเช่นกัน โดยซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) จากซาอุดีอาระเบีย รั้งอันดับสอง ไชน่า เนชันแนล ปิโตรเลียม (China National Petroleum) จากจีนคว้าอันดับห้า ซิโนเปก (Sinopec) จากจีน ติดอันดับ 6 เอ็กซ์ซอน โมบิล (Exxon Mobil) จากสหรัฐติดอันดับ 7 และเชลล์ (Shell) จากอังกฤษติดอันดับเก้า ส่วนอันดับหนึ่งได้แก่วอลมาร์ต (Walmart) จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีก

สำหรับบริษัทอาเซียนที่ติดฟอร์จูนโกลบอล 500 ประจำปี 2566 ประกอบด้วย

-บริษัททราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) สิงคโปร์ อันดับ 12 ภาคค้าส่ง รายได้ 3.185 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไทย อันดับ 110 ภาคพลังงาน รายได้ 9.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทปิโตรนาส (Petronas) มาเลเซีย อันดับ 139 ภาคพลังงาน รายได้ 8.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทเปอร์ตามิน่า (Pertamina) อินโดนีเซีย อันดับ 141 ภาคพลังงาน รายได้ 8.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Wilmar International) สิงคโปร์ อันดับ 174 ภาคอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ รายได้ 7.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top