Monday, 8 July 2024
BIZ

‘VRANDA’ เตรียมโอนโครงการ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ’ มั่นใจ!! ‘ธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ท’ ไตรมาส 4/66 คึกคักรับไฮซีซั่น

(15 พ.ย. 66) บมจ.วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA ประกาศผลประกอบการมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ลบ. แม้ว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ 20 ลบ. ในไตรมาส 3/66 หลังได้รับผลกระทบจากธุรกิจโรงแรมช่วงโลว์ซีซั่นซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าคาดการณ์ ประกอบกับอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งตลาดได้ทยอยรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปบ้างแล้ว ชี้ตลาดธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก รับนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เตรียมโอนโครงการใหม่ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน-ชะอำ’ เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีหนุนรายได้ ต่อเนื่องไปถึงปี 2567

นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA ผู้นำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนแบบ Exclusive เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทของไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยลบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าคาดประกอบกับ VRANDA อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2566 นี้ 

อย่างไรก็ตามจากโดยสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยของ ททท. ในช่วง 9 เดือนแรก 19 ล้านคน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 28 ล้านคน ซึ่งมั่นใจได้ว่าในไตรมาส 4/66 ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางมาประเทศไทย ฯลฯ เสริมให้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ VRANDA ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 4/2566 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการวีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ ด้านการเปิดขาย ‘โครงการวีรันดา วิลล่า แอนด์ สวีท ภูเก็ต’ ประกอบด้วย วิลล่า 6 หลัง และคอนโดมิเนียม 12 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมประมาณ 850 ล้านบาท ที่มียอดจองแล้วกว่า 70% รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยของภาครัฐ อาทิ มาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจากจีน คาซัคสถาน อินเดีย และใต้หวัน ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีนโยบายผลักดันรายได้การท่องเที่ยวไทยจากตลาดยุโรปให้มากกว่า ‘5 แสนล้านบาท’ ภายในปี 2567 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ VRANDA 

สำหรับผลการดำเนินงานของ VRANDA ในช่วง 9 เดือนปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 1,026 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 219 ล้านบาท โดยมีขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจาก VRANDA อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะสิ้นสุดภายในปีนี้ ขณะที่ไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวม 329 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันและอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ล้านบาท

‘3BB’ ผนึกกำลัง ‘AIS’ พร้อมยกระดับเน็ตบ้านให้คนไทย หลัง กสทช.อนุญาตให้ซื้อกิจการ ย้ำ!! ลูกค้าปัจจุบันใช้งานได้ปกติ

เมื่อวานนี้ (13 พ.ย. 66) นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB (TTTBB) และการซื้อหน่วยลงทุนบางส่วนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์ - JASIF ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแก่ 3BB เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยหลังจากนี้ จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนการให้บริการของ 3BB ลูกค้าในปัจจุบันนั้น จะยังคงสามารถใช้บริการได้ตามปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งทั้ง AIS และ 3BB จะร่วมผนึกกำลังและนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัท มาร่วมกันส่งมอบให้ลูกค้าได้รับบริการที่ยกระดับไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีโครงข่าย การขยายพื้นที่ให้บริการ บริการหลังการขาย ดิจิทัล คอนเทนต์ นวัตกรรม ฯลฯ โดยจะทยอยส่งมอบบริการพร้อมสิทธิพิเศษที่หลากหลาย และสะดวกมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“การที่ 3BB ได้เข้าไปเป็น 1 ในกลุ่มธุรกิจของ AIS ที่เป็นผู้นำทางด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการดิจิทัล นอกจากจะเป็นผลดีแก่ลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ตามนโยบาย กสทช. ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Fix Broadband หรือ เน็ตบ้าน อาทิ ความชำนาญในการพัฒนาบริการเน็ตบ้านในพื้นที่ห่างไกลของ 3BB หรือ ความชำนาญของ AIS เกี่ยวกับบริการดิจิทัล และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยให้เติมเต็มซึ่งกันและกัน พร้อมทำให้บริการเน็ตบ้าน ก้าวสู่ความเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ที่จะทำให้ทั้งระดับประชาชน ผู้ประกอบการในทุกๆอุตสาหกรรม ตลอดจนเศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่ง พร้อมรับมือความท้าทายที่ท่ามกลางความแปรปรวนของเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป” นายสุพจน์ กล่าว 

‘Jet Delivery’ เปิดแผนรุกตลาดธุรกิจส่งอาหาร ตั้งเป้าขยายพื้นที่บริการ 100 สาขาทั่วประเทศในปี 68

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ศิริอริย จำกัด ผู้บริหาร แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่น Jet Delivery เตรียมแผนรุกตลาดธุรกิจส่งอาหาร ตั้งเป้าขยายพื้นที่เปิดบริการ 100 สาขาอำเภอ ทั่วประเทศ ภายในปี 2568

แอปพลิเคชัน Jet Delivery แพลตฟอร์มของคนไทย เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจส่งอาหารในช่วงปลายปี 2564 จวบจนปัจจุบัน มีสาขามากกว่า 30 สาขา ทั่วประเทศ ได้เตรียมแผนธุรกิจเชิงรุก เพื่อรองรับการขยายสาขาในปี 2567 โดยตั้งเป้าหมาย มีพื้นที่เปิดบริการสาขา รวมไม่น้อยกว่า 60 สาขา และในปี 2568 ตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้ ครบ 100 สาขา ปัจจุบัน มีร้านค้าเข้าร่วมขายอาหารบนแพลตฟอร์ม มากกว่า 5,000 ร้านค้า 

2 ปี ที่ผ่านมา Jet Delivery กระตุ้นให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นหมุนเวียน สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น ทั้งในส่วนของร้านค้ามีช่องทางการขายมากขึ้น มีรายได้จากการขายอาหารเพิ่มขึ้น มีอัตราการจ้างแรงงานมากขึ้น มีพนักงานส่งอาหารซึ่งเป็นคนในพื้นที่ มีรายได้โดยไม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด

ในการให้บริการ Jet Delivery มีนโยบายการคิดค่า GP (Gross Profit) ที่ต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ให้สามารถใช้บริการสั่งอาหารได้ประหยัด ตาม Concept ‘ส่งถูก ส่งดี ส่งฟรี ส่งไกล’

รูปแบบการดำเนินงานของ Jet Delivery จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การเปิดสาขาบริการ ที่บริหารงานโดยบริษัทฯ เอง และ การหาพาร์ตเนอร์ลูกค้าที่มีความพร้อม ความสนใจที่ต้องการสร้างธุรกิจ ในท้องถิ่น โดยการซื้อแฟรนไชส์ ไปเปิดบริการในพื้นที่อำเภอที่ตนสนใจ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี สาขาแฟรนไชส์หลายสาขา สามารถสร้างผลตอบแทน และคืนทุนได้ภายใน 4-6 เดือน

ล่าสุด ผู้บริหาร ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม ในโครงการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ผ่านโครงการ WE RISE Together สนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แสดงให้เห็นถึงการให้โอกาสกับทุกเพศ อย่างเท่าเทียมในการทำงาน และการสร้างองค์กรธุรกิจด้วยความเสมอภาค

จากนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้างโอกาสให้คนไทย มีธุรกิจเป็นของตนเอง ส่งเสริมการสร้างอาชีพในท้องถิ่น สามารถสร้างรายได้ ด้วยการกำหนดราคาแฟรนไชส์ราคาประหยัด เพื่อให้ผู้สนใจ สามารถเข้าถึงธุรกิจแพลตฟอร์มแอปฯ เดลิเวอรี่ได้ และมุ่งเน้นทำตลาดในพื้นที่ โดยใช้เงินทุนที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการต้องสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจขึ้นมาใหม่ ย่อมเป็นการเริ่มต้นในการลงทุนที่ดี สำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจใหม่ ๆ และอยากทำธุรกิจที่บ้านเกิดของตนเอง

ติดตามได้ Jet Delivery ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/JetDeliveryTH
TIKTOK : www.tiktok.com/@jetdeliverythailand_
E-mail : jetdeliveryth@gmail.com

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 66 พลิกทำกำไร 16,342 ลบ. เร่งเครื่องฟื้นฟูกิจการเต็มกำลัง พร้อมขานรับนโยบายฟรีวีซ่า

(10 พ.ย. 66) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย โดยระบุว่า...

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,860 ล้านบาท หรือ 12.6% 

โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน เป็นส่วนของการบินไทย 2.19 ล้านคน และไทยสมายล์ 1.08 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% (การบินไทย 77.1% และไทยสมายล์ 80.9%) ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77.0% 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,289 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 28,940 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 11,995 ล้านบาท (41% ของค่าใช้จ่ายรวม) 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งมีกำไร 3,920 ล้านบาท 

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,722 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,732 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 8,360 ล้านบาท 

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท 

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 86,567 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 66,115 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 29,330 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 548 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 11,237 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,390 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 31,720 ล้านบาท 

ในปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 1 ลำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 3 ลำ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 234,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 36,112 ล้านบาท (18.2%) หนี้สินรวมจำนวน 288,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 19,794 ล้านบาท (7.4%) 

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 54,706 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 16,318 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำและหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 

สำหรับในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 แม้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายภูมิภาค แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันที่คาดว่าจะปรับตัวรุนแรงขึ้นจากการที่สายการบินต่าง ๆ เริ่มทยอยนำเครื่องบินกลับมาทำการบินในระดับที่ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังจะเห็นได้จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินของสายการบินในหลายเส้นทาง อาทิ การกลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโคเปนเฮเกนของสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ส การนำเครื่องบินแอร์บัสแบบ A380 กลับเข้ามาทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครมิวนิกของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 

ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางและพื้นที่ฉนวนกาซาซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวของการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในหลาย ๆ เส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางทวีปยุโรปและเที่ยวบินกรุงเทพฯ-นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย 

ซึ่งการบินไทยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เห็นได้จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นไปอย่างล่าช้า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารผลตอบแทนต่อหน่วย (Yield) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดการด้านค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กรและการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดและมีวินัย เพื่อให้การดำเนินการปรับโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

การดำเนินตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในไตรมาสนี้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

>>การหารายได้จากการขนส่ง 

เพิ่มจุดบินและความถี่เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการ เดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ในเส้นทางซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

>>การดำเนินการตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน

รับมอบเครื่องบินแบบ A350-900 จำนวน 1 ลำ ซึ่งจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ในเส้นทางสู่ประเทศจีน เพื่อรองรับนโยบาย Free Visi ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) และเพื่อขยายฝูงบินให้รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน 

รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

>>การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ 

การบินไทยได้ขายเครื่องบินแบบ B747-400 จำนวน 2 ลำ และ A340-68) จำนวน 1 ลำ รวมทั้งเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 1 เครื่องยนต์ ซึ่งส่งมอบให้กับผู้ซื้อแล้ว 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ได้แก่ บ้านพักกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสำนักงานขายมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินครบถ้วนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว

>>การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของกลุ่มบริษัทการบินไทย 

บริษัทฯ รับโอน เครื่องบิน A320-200 จากบริษัท ไทยสมายล์ฯ เพิ่มอีกจำนวน 3 ลำ รวมเป็น 6 ลำ เพื่อเตรียมทำการบินในเส้นทาง ระหว่างประเทศของบริษัทฯ ได้แก่ เดล, มุมไบ, ธากา รวมถึงกัลกัตตา (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม2566 เป็นต้นไป) 

บริษัทฯ ยังทำการบินทดแทนสายการบินไทยสมายล์ ในเส้นทางย่างกุ้ง, เวียงจันทน์, พนมเปญ, อาห์เมคา บัด รวมถึงเกาสงและปีนัง (เริ่มบินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป) 

การบินไทยจะทยอยรับโอนอากาศยานจน ครบ 20 ลำ ภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอากาศยานได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนและพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบิน และจัดเที่ยวบินให้ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารใน ภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร

‘ดิสนีย์’ เผย!! กำไร Q4 ปีนี้ สูงกว่าที่คาด หลังได้รับอานิสงส์จากธุรกิจ ‘สตรีมมิ่ง’

(9 พ.ย.66) บริษัท วอลต์ ดิสนีย์ เปิดเผยกำไรที่สูงกว่าคาด ในไตรมาส 4 ของปีงบการเงิน 2566 โดยได้แรงหนุนจากกำไรในธุรกิจสตรีมมิ่ง อีเอสพีเอ็นพลัส (ESPN+) และรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสวนสนุก แต่รายได้จากการโฆษณาที่ลดลงได้บดบังภาพรวมผลประกอบการของบริษัท

ดิสนีย์ ระบุว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 82 เซนต์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ของรีฟินิทิฟ (Refinitiv) คาดการณ์ไว้ที่ 70 เซนต์ และรายได้อยู่ที่ 2.124 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าเพิ่มขึ้น 5% แต่ยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.133 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่รายได้ของดิสนีย์อยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์

ส่วนจำนวนสมาชิกที่ใช้บริการสตรีมมิ่งดิสนีย์พลัส (Disney+) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7 ล้านราย สู่ระดับ 150.2 ล้านราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 148.15 ล้านราย

ดิสนีย์เปิดเผยรายได้จากการโฆษณาลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาบนแพลตฟอร์มเอบีซี เน็ตเวิร์ก (ABC Network) และโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ของดิสนีย์

ดิสนีย์ ระบุว่า บริษัทได้นำภาพยนตร์หลายเรื่องที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์เข้ามาเพิ่มในบริการสตรีมมิ่งในไตรมาส 4 ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘Elemental’, ‘Little Mermaid’ และ ‘Guardians of the Galaxy: Vol. 3’

นอกจากนี้ ดิสนีย์ ยังประกาศแผนการลดต้นทุนเชิงรุก โดยจะปรับลดต้นทุนเพิ่มอีก 2 พันล้านดอลลาร์ สู่ระดับเป้าหมายที่วางไว้ที่ 7.5 พันล้านดอลลาร์

‘EA’ ได้รับการจัดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AA ปี 66 ตอกย้ำ!! ความใส่ใจ-รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม-ดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับการจัดอันดับ ‘หุ้นยั่งยืน ระดับ AA’ ประจำปี 2566 (SET ESG Ratings : AA) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายและการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) การเปิดเผยกระบวนการดำเนินธุรกิจและมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปีนี้ EA ได้รับการคัดเลือกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2560

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด กล่าวว่า “EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น ‘Green Product’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับนวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

นอกจากนี้ EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร เดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมระบบขนส่งทั้งรถหัวลากไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ได้แก่โดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการเดินทางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของไทยที่มีความสะดวก ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

‘JKN’ ยื่นคำร้องขอ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่อศาลล้มละลายกลาง แก้ปัญหาสภาพคล่อง-สร้างผลกําไรให้มั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต

(9 พ.ย. 66) นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ หรือ แอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว ระบุรายละเอียดในเอกสารเอาไว้ดังนี้

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง การยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เรียน กรรมการและผู้จัดการ

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) (“บริษัท”) ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอ ผู้จัดทําแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ บริษัทขอเรียนชี้แจงสรุปสาระสําคัญของคําร้องฟื้นฟูกิจการ ดังนี้

1. บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
2. บริษัทเสนอ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทําแผน
3. แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ดังนี้

3.1 การปรับโครงสร้างกิจการ และโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร

3.2 การขยายระยะเวลาการชําระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถ สร้างรายรับจากการประกอบกิจการและนํามาจัดสรรชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วนและบริษัทยังคงดําเนินกิจการต่อไปได้

3.3 การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือ สถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท

3.4 การจัดหาแนวทางการดําเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนําเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
3.5 การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุง ระบบ โครงสร้างภายในองค์กร และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกําไร จากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง

บริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ 
ผู้มีอํานาจรายงานสารสนเทศ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แอน จักรพงษ์ ได้ทำการขายหุ้น JKN จำนวน 116 ล้านบาท โดยแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ว่า บริษัทมีรายการขายหุ้นและรับโอนหุ้นหลายรายการ ทั้งนี้รายการขายหุ้นนั้นมาจากบัญชี มาร์จิ้น ถูกฟอร์ซเซลล์หรือบังคับขาย เนื่องจากราคาหุ้นตกแรงกว่า 50% ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ JKN ต้องทำเอกสารยื่นร้องขอฟื้นฟูกิจการนั่นเอง 

‘EA’ จัดโชว์นวัตกรรมฝีมือคนไทย ในงาน 4th iTIC FORUM 2023 ชู ‘รถโดยสารไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า’ หนุนการขนส่งสาธารณะแบบไร้มลพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำพลังงานสะอาด หนุนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ร่วมจัดแสดงผลงานและให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่การเดินทางสาธารณะด้วยไทยสมายล์บัส และ ไทยสมายล์โบ้ท ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม ด้วยฝีมือคนไทย บริการด้วยใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบชาร์จ แบบ ‘EV Smart Building ภายใต้แนวคิด EA’s Electric Public Transportation: Solutions for Smart Cities’ ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Connectivity and Smart Mobility) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะในประเทศไทย พร้อมระดมพลังความร่วมมือและขับเคลื่อนข้อมูลในการแก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ ภายใต้แนวคิด ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อนสมาร์ทโลจิสติกส์ รถ-เรือ-ราง ‘The Potential of Thai Private Sector in Driving Smart Logistics’ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมระบบขนส่งของไทยให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ด้วยยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับขนส่งไทยไร้มลภาวะ 

นอกจากนี้ EA ร่วมกับ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ต้อนรับคณะจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) เปิดประสบการณ์ (Technical Tour) การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปกับบริการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus และ เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดยปัจจุบัน รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus ให้บริการแล้วกว่า 2,200 คัน ในพื้นที่ 123 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ที่ให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่ ท่าเรือสาทร - ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า มีเรือไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ลำ สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยฝีมือคนไทย โดยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชมวิววัดวาอารามและฟังบรรยายที่มาของรถ-เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษครบวงจร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

‘WeWork’ ยื่นล้มละลายแล้ว หลังเผชิญวิกฤติขาดทุนมหาศาล มีผลเฉพาะสหรัฐฯ-แคนาดา ส่วนประเทศอื่นยังดำเนินการปกติ

(7 พ.ย. 66) วีเวิร์ก (WeWork) บริษัทให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน ได้ยื่นล้มละลายแล้ว หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า วีเวิร์ก ได้เตรียมยื่นล้มละลาย หลังจากเผชิญกับหนี้สินก้อนโต และการขาดทุนมหาศาล 

ข่าวระบุว่า วีเวิร์ก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวีเวิร์กระบุว่า การยื่นเรื่องล้มละลายดังกล่าว จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่ธุรกิจทั่วโลกคาดว่าจะยังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

โดยโฆษกของวีเวิร์กกล่าวว่า ราว 92 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ของบริษัท ตกลงที่จะแปลงหนี้ที่มีหลักประกัน ให้เป็นหุ้นทุน ภายใต้ข้อตกลงการสนับสนุนการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยล้างหนี้ได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ครั้งหนึ่ง วีเวิร์ก เคยเป็นสตาร์ตอัปที่เป็นดาวรุ่งอย่างมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ด้วยการให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน และให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปลี่ยนรูปแบบของสำนักงานทั่วโลก และได้เริ่มดำเนินธุรกิจกระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อปี 2019 วีเวิร์กเคยเป็นบริษัทสตาร์ตอัพของสหรัฐ ที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานกลายเป็นการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของวีเวิร์ก ประสบปัญหาและขาดทุนเรื่อยมา

โดยข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วีเวิร์กมีพื้นที่สำนักงานแบ่งปันอยู่ทั้งสิ้น 777 แห่งทั่วโลก และในเอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายนิวเจอร์ซีย์ ระบุว่า วีเวิร์กมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 15,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินอยู่ 18,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย. 66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ
ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”

‘ซิซเลอร์’ เผย!! เทรนด์ทานที่ร้านกลับมาฮิต พร้อมขยายสาขาใน ‘ห้าง-หัวเมือง’ เพิ่ม ส่ง ‘3 เมนูสเต็ก’ ไฮไลต์ ชิงดีมานด์ปลายปี มั่นใจ!! โตตามเป้าก่อนปี 67

(3 พ.ย. 66) นายอนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ภายใต้ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้ากว่า 90% ของฐานสมาชิกกว่า 4 แสนคน เข้ามาใช้บริการในรูปแบบไดน์อิน (Dine-in)

ปรากฎการณ์นี้ส่งผลให้ประสบการณ์ในทั้งการออกแบบและตกแต่งบรรยากาศร้าน รวมถึงเมนูอาหารมีความสำคัญมากขึ้น

ดังนั้นช่วงไฮซีซั่นไตรมาส 4 นี้จะใช้ กลยุทธ์ “Festive Marketing”เชื่อมโยงเทศกาลเข้ากับเมนูอาหารและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหลากหลาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ชื่นชอบการทานอาหารนอกบ้าน

มีไฮไลต์เป็น 3 เมนูสเต๊ก Festive Season ทั้งสำหรับการทานคนเดียวและเป็นกลุ่มประกอบด้วย สเต๊กปลากะพง และเบคอน (Bacon-Wrapped Sea Bass Steak), สเต๊กบีฟลอยน์ และเบคอน (Bacon-Wrapped Beef Loin Steak), สเต๊กเนื้อไพร์มริบ (สำหรับ 2 ท่าน) (Grilled Sous Vide Beef Prime Rib Cote De Boeuf)

เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินธุรกิจในปีนี้คาดว่าจะเติบโตตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

ผู้บริหารซิซซ์เล่อร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2567 จะขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับเมนูสเต๊กและสลัดบาร์ใหม่ ๆ

รวมถึงจัดกิจกรรมลอยัลตี้ โปรแกรมมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าสมาชิกทุกระดับต่อเนื่อง ตามแผนเน้นสร้างประสบการณ์เอ็กซ์คลูซีฟ

‘บางจาก’ ยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซล ชู!! มาตรฐาน EURO 5 เริ่ม 15 พ.ย. 66

(3 พ.ย. 66) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลทุกชนิด และผลิตภัณฑ์พรีเมียมของบางจาก ทั้งบางจาก ไฮพรีเมียม 97 พรีเมียมแก๊สโซฮอล์ และบางจาก ไฮพรีเมียมดีเซล S ในเขตกรุงเทพมหานครให้มีปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

โดยบางจากฯ จะปรับสูตรน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันบางจากและสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่เดิม ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันบางจากที่ปรับจากสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 224 สาขา ให้เป็นดีเซลปริมาณกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันลดลงถึง 5 เท่า อ้างอิงจากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

โดยการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลนี้ สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่น ทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM 2.5

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ลูกค้าบางจากฯ สามารถนำใบเสร็จจากการเติมน้ำมันไปรับบริการตรวจเช็กสภาพรถฟรี 11 รายการ ได้ที่ FURiO Care และ Wash Pro สาขาที่ร่วมรายการ

พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการดูแลให้เครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้อันเป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 โดยสามารถดูรายชื่อ FURiO Care และ Wash Pro ได้ที่ www.bcpcarcare.com

ILINK ผงาด!! คว้าคะแนน 'ดีเลิศ' CGR 2023 ระดับ 5 ดาว ปี 2023 สะท้อน!! ความโปร่งใส ใส่ใจต่อทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน

(3 พ.ย. 66) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้าและค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ โชว์ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน คว้าคะแนนในระดับ 5 ดาว หรือ 'ดีเลิศ' (Excellent) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำถึงผลงานการประเมินตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2566 หรือ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2023: CGR 2023 ซึ่งได้รับการตรวจสอบ และประเมินจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

จากการที่ ILINK ได้รับคะแนนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ในระดับ 'ดีเลิศ' (Excellent CG Scoring) หรือ 5 ดาว ซึ่งคัดเลือกจาก 782 บริษัทที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ 

นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบการบริหารงาน ความมุ่งมั่น ตั้งใจของคณะกรรมการบริษัท และคณะผู้บริหารในการพัฒนายกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และกำกับดูแลกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย 

นอกจากนี้ ยังปฏิบัติตามหลักการสากล มีความรับผิดชอบทางสังคมที่ดี มีเจตนารมณ์ที่มั่นคงในการส่งเสริม สนับสนุนให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงให้ความสำคัญ ใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน 

อีกทั้งเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ของบริษัท 'เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน' ไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นมีความมั่นใจในการดำเนินงานของบริษัทฯ และเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบของการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อไป

‘SINOPEC SUSCO’ ปั๊มน้ำมันน้องใหม่เลือดผสม ‘ไทย-จีน’ ปักหมุดสาขาแรก ‘รัชดาภิเษก’ ตั้งเป้าขยายครบ 5 สาขาในปีนี้

สถานีบริการน้ำมัน ‘SINOPEC SUSCO’ ปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติ ‘ไทย-จีน’ เปิดตัว ‘สาขาแรก’ ในประเทศไทย ปักหมุด ‘รัชดาภิเษก’ เป็นที่เรียบร้อย โดยมาพร้อมกับสโลแกน Fuel To The Max ที่พร้อมเติมพลังให้เต็มแมกซ์ในทุกวัน เลือกพิกัดดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น ศูนย์บริการรถยนต์ B-Quik, ร้านสะดวกซื้อ Lawson108 และร้านชาวดอยคอฟฟี่ ฯลฯ

หลี่ เว่ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เปิดเผยว่า เลือกพิกัดรัชดาภิเษก เนื่องจากอยู่ในโซนตัวเมือง และเขตชุมชน พร้อมตั้งเป้าขยายสาขา ให้ครบ 5 สาขาภายในปีนี้

ทั้งนี้ ปั๊มน้ำมันดังกล่าว เป็นของบริษัท ไซโนเปค ซัสโก้ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO ถือหุ้น 51% กับบริษัท ไซโนเปค (ฮ่องกง) 49% ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SINOPEC Group ยักษ์พลังงานจีน 

สำหรับดีลดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ที่คณะกรรมการ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบขายหุ้น บริษัท ซัสโก้ ดีลเลอร์ส จำกัด (SDA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUSCO ในสัดส่วน 49% ให้แก่ ไซโนเปค (ฮ่องกง) บริษัทลูกในเครือไซโนเปค ด้วยมูลค่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ1,175.18 ล้านบาท

บริษัทร่วมทุนนี้ จะมีสถานีบริการน้ำมัน และ น้ำมันอากาศยาน รวมไปถึงการขยายโอกาสธุรกิจในอนาคต

ขณะที่ SUSCO ได้รับซื้อสินทรัพย์ของสถานีบริการน้ำมันกลับไปจำนวน 14 สถานี ทำให้บริษัทร่วมทุน SDA มีสถานีบริการน้ำมันเหลืออยู่ 25 แห่ง พร้อมกันนี้ SDA ได้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 10 แปลงเป็นเวลา 20 ปี ด้วยค่าเช่ารวมประมาณ 278.40 ล้านบาท

โดยมีสถานีบริการน้ำมันภายใต้การบริหารของบริษัท 25 แห่ง มีเป้าหมายจะเปลี่ยนเป็นสถานีบริการน้ำมัน SINOPEC SUSCO ต่อไป ซึ่งมีอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี ชลบุรี และนครราชสีมา

หลังเปิดตัวด้วยการอัดโปรโมชั่น ลดราคาน้ำมันลิตรละ 1 บาท ถึงสิ้นเดือนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันส่วนใหญ่ เท่ากับแบรนด์เจ้าตลาด และยังมีโปรบัตรเครดิต รวมถึงโปรเติม 900 แจกน้ำ 1 ขวด เหมือนเช่นปั๊ม SUSCO ก่อนหน้านี้ด้วย

‘เสถียร’ เตรียมเปิดตัว 2 แบรนด์ ‘เบียร์’ หัวหอก ‘คาราบาว-ตะวันแดง’ จ่อวางตลาด 9 พ.ย.นี้ หวังเพิ่มทางเลือกให้นักดื่มคอทองแดงในไทย

(1 พ.ย. 66) ภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาท โดย 3 ขั้วใหญ่ ที่ทำตลาด ประกอบด้วย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ของ ‘ตระกูลภิรมย์ภักดี’ มีสินค้าหลากแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ เช่น เบียร์สิงห์ ลีโอ ฯลฯ  และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของราชันย์น้ำเมา ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ มีแบรนด์ช้าง อาชา ฯลฯ เสิร์ฟคนไทย และ กลุ่มธุรกิจทีเอที บิ๊กแบรนด์ระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ที่มี ไฮเนเก้น ครองความเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์พรีเมียม

ผู้ท้าชิงใหม่ลงสนาม ซึ่งแม่ทัพคนสำคัญ อย่าง ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ ได้ประกาศจะต่อยอดความสำเร็จในการทำตลาดน้ำเมาสีอำพันผ่านโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมากว่า 20 ปี และสร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

>> ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ 2 แบรนด์เบียร์ใหม่

เสถียร ประกาศทุ่มงบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี แต่ใช้กำลังผลิตเบื้องต้นยังไม่เต็มที่เพื่อตอบสนองผู้บริโภค พร้อมกันนี้ กลุ่มคาราบาว โดยบริษัท โรงเบียร์ตะวันแดง 1999 จำกัด จะเปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ อย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ย.นี้ 

เบียร์น้องใหม่ยังจัดเต็มติดอาวุธการตลาดด้วย Sport Marketing กับแคมเปญใหญ่หวังดึงดูดชาวไทยไปสัมผัสประสบการณ์ฟุตบอลระดับโลก คาราบาว คัพ นัดชิง ที่กลุ่มคาราบาว เพิ่งทุ่มเงิน 18 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ต่อสัญญาเป็นผู้สนับสนุน คาราบาว คัพ (Carabao Cup) การแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษ ไปอีก 3 ปี คือ ฤดูกาลแข่งขัน 2024/2025, 2025/2026 และ 2026/2027

เสถียร เคยกล่าวว่า ในการทำตลาดเบียร์ครั้งนี้ภายใต้แบรนด์คาราบาวและตะวันแดง ต้องการเป็นขั้วที่ 3 ของค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย บริษัทจึงทุ่มสุดตัวทั้งเม็ดเงินก้อนโต และการร่วมมือกับสถาบัน VLB BERLIN ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยและพัฒนาเบียร์ยาวนานถึง 140 ปี มาช่วยดูแลและพัฒนาคุณภาพสินค้า

สำหรับผลิตภัณฑ์เบียร์ 2 แบรนด์ ที่ออกมาทำตลาดมีทั้งสิ้น 5 ชนิด ได้แก่ 1.เบียร์ลาร์เกอร์ 2.เบียร์ดำ หรือ Dunkel 3.เบียร์ไวเซ่น 4.เบียร์โรเซ่ และ 5.เบียร์ไอพีเอ (India Pale Ale:IPA) โดยสินค้ามีทั้งแบบขวดแก้วและกระป๋อง ดังนี้ แบบขวดแก้วขนาด 620 มิลลิลิตร (มล.) กระป๋อง 490 มล. และกระป๋อง 320 มล. และจุดเด่นของเบียร์น้องใหม่คือการยึดกฎการทำเบียร์เยอรมัน(German Purity Law) ที่มีวัตถุดิบแค่มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์เท่านั้น เพื่อตอบสนองนักดื่ม

ทางด้าน ไทยเบฟเวอเรจ แม้ธุรกิจ ‘เบียร์’ ในไทยยังเป็นรอง ส่วนแบ่งตลาดไล่หลัง ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ หรือค่ายสิงห์ แต่ไทยเบฟยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งในตลาดเบียร์ระดับภูมิภาคอาเซียนเพราะมีส่วนแบ่งทางการตลาด ‘แถวหน้า’ (รวมเบียร์ของไทยเบฟ และ SABECO เวียดนาม เบียร์ในประเทศเมียนมา)

ในงานแถลงแผนประจำปี 2566 ของไทยเบฟ แม่ทัพใหญ่อย่าง ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า มีโอกาสได้เจอคุณอาเสถียร ยังเอ่ยถึงเลยว่าที่ท่านตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจเบียร์ และกำลังออกสินค้าตัวใหม่ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นการสร้างสรรค์ในเรื่องแข่งขันของตลาด ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์

“ตราบใดที่เป็น Healthy Competition มองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ เราคงบอกไม่ได้ว่าเราเห็นการแข่งขันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ขณะที่ในการทำธุรกิจเราต้องปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ที่สุดแล้วต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ กติกาเดียวกัน ไม่งั้นลำบาก”

สำหรับการบุกตลาดเบียร์ของไทยเบฟ นอกจากในประเทศได้ออกสินค้าใหม่เซ็กเมนต์พรีเมียมอย่างช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ บริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา ยังเดินหน้าขยายโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศเมียนมา ผ่านเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) และซาเบโก้(SABECO) เดินหน้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในกลุ่มโรงเบียร์ต่างๆ เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

>> บิ๊กแบรนด์รุมรับน้องเบียร์

หลังจาก เสถียร เดินเกมรุกสร้างการรับรู้เบียร์น้องใหม่ ทำให้บิ๊กแบรนด์ต่างๆ มีการขยับตัวกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้นำตลาดอย่าง ‘ลีโอ’ ของค่ายบุญรอดฯ ที่แม่ทัพใหญ่ ‘ภูริต ภิรมย์ภักดี’ ตลอดจนขุนพลการตลาดได้เผยการปรับโฉมแบรนด์ลีโอใหม่ให้เป็นเสือหนุ่มมากขึ้น และมีการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ สื่อโฆษณานอกบ้านกันอย่างคึกคัก

ฟากกลุ่มธุรกิจทีเอพี นอกจากพยายามผลักดัน ไฮเนเก้น ซิลเวอร์ เจาะนักดื่มรุ่นใหม่แบรนด์ ‘เชียร์’ ขยับตัวออกสินค้ารสชาติใหม่ ดึงส้มยูซุแท้จากประเทศญี่ปุ่นมาสร้างสีสัน

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของแบรนด์ใหญ่นอกจากต้อนรับน้องใหม่ อีกด้านหนึ่งยังเป็นการปล่อยหมัดการตลาดเพื่อรองรับช่วงปลายปี ซึ่งถือเป็นไฮซีซันของตลาดเบียร์ด้วย

การแย่งชิงขุมทรัพย์เบียร์ ‘แสนล้านบาท’ หัวใจสำคัญคือช่องทางจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรมฯ (On-Premise) ช่องทางร้านค้าทั่วไปเป็นอีกจิ๊กซอว์ทำเงิน ซึ่งต้องมีขุมพลังเอเย่นต์ หรือตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่คอยเป็นกองหนุน สำหรับบุญรอดฯ ครองบัลลังก์เบียร์ มีเอเย่นต์ในมือราว 300 ราย และเครือข่ายร้านค้าส่งอีกเฉียดหมื่น (ข้อมูลที่เปิดเผย ณ ปี 2560) ขณะที่ไทยเบฟเวอเรจ มีเอเย่นต์ไม่แพ้กันจำนวนหลายร้อยราย

ดังนั้น การทำตลาดของ ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ จึงต้องหากองทัพในการส่งและกระจายสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทุ่มเงินผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ (Traditional Media) เพื่อประกาศหาเอเย่นต์ทั่วประเทศมาร่วมเป็นพันธมิตร

สำหรับภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเซ็กเมนต์อีโคโนมี (ตลาดล่าง) หรือ Mass สัดส่วน 75% หรือมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท สแตนดาร์ดสัดส่วน 20% และเซ็กเมนต์พรีเมียมประมาณ 5% ตลาดยังมีเบียร์เฉพาะกลุ่มหรือ Niche Market อย่างคราฟต์เบียร์ (เบียร์แบรนด์ไทยและนำเข้า) แทรกตัวอยู่ โดยมีสัดส่วน 0.5-1% หรือมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การชิงขุมทรัพย์น้ำเมาสีอำพันไม่ง่าย ‘คาราบาว’ และ ‘ตะวันแดง’ น้องใหม่เบียร์มาจากโรงงานที่กำลังการผลิตราว 400 ล้านลิตรต่อปี หากเทียบรุ่นใหญ่ในตลาด เช่น บุญรอดฯ โรงงานมีกำลังผลิตรวมระดับ 2,000 ล้านลิตร ทำรายได้ระดับ ‘แสนล้านบาท’ ไทยเบฟ เช่นกันที่กำลังการผลิตมหาศาล ทำเงินแสนล้านบาท


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top