Monday, 8 July 2024
BIZ

จับตา 5 เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารยุคหลังโควิด ฝ่ามรสุม 'แข่งดุ-ต้นทุนพุ่ง-พฤติกรรมคนเปลี่ยน'

ไม่นานมานี้ Krungthai COMPASS ได้ประเมินว่า ตลาดร้านอาหารในประเทศไทยปี 66-67 จะเติบโตราว 7.8% (YoY) และ 5.8% (YoY) โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.2 และ 6.5 แสนล้านบาท ได้แรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น จากการที่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้บริการร้านอาหารเป็นปกติมากขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 66-67 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 29.0 และ 35.5 ล้านคน ตามลำดับ

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ยังได้ประเมิน 5 เทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารในยุคหลังโควิดที่น่าจับตาไว้ด้วย ดังนี้...

1. Dining Experience ร้านอาหารที่สามารถมอบประสบการณ์แปลกใหม่ น่าจดจำ แต่เข้าถึงง่ายนั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 ได้เร็วกว่า โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ได้รับ Michelin Guide ที่ถูกค้นหามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

2. Health & Wellness Cuisine เมื่อผู้คนต่างดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อาหารที่ดีต้องส่งเสริมสุขภาพ โดย ผลสำรวจผู้บริโภคอเมริกันกว่า 1,000 คน ได้ให้นิยามของ ‘Healthy Food’ ว่าจะต้องเป็นอาหารที่ ‘สดใหม่-มาจากธรรมชาติ-น้ำตาลน้อย-ใช้แหล่งโปรตีนคุณภาพดี’

3. Elderly Food ร้านอาหารเพื่อดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีโอกาสกลายเป็น Segment ดาวรุ่งในระยะถัดไป จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย

4. Robotics in Restaurant ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง คือ 2 แรงผลักดันสำคัญให้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร

5. Sustainable Food 70% ของผู้บริโภค Gen ใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาจากขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ทำให้เทรนด์พฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบรักษ์โลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

POP MART แบรนด์ Art Toys หมื่นล้าน บุกประเทศไทย เปิด Flagship Store ครั้งแรกที่ Central World 20 ก.ย.นี้

หลายคนเข้าใจว่า การทำธุรกิจยุคนี้ ต้องเริ่มจากการตามเทรนด์ให้ทัน แต่รู้หรือไม่ว่า สำหรับ POP MART แบรนด์ร้าน Art Toys ชื่อดังที่มีรายได้กว่า 22,000 ล้านบาท สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ด้วยการสร้างเทรนด์นิยม หรือที่เรียกว่า POP Culture ขึ้นมาเอง

สำหรับ POP Culture ซึ่งย่อมาจาก Popular Culture หมายถึง วัฒนธรรม ที่เป็นที่นิยมของผู้คนในขณะนั้นในด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร, แฟชัน, กีฬา, วรรณกรรม รวมทั้ง Art Toys โดยในส่วนของ Art Toys ถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือ ฟิกเกอร์ตัวการ์ตูนต่าง ๆ ที่เป็นของเล่นและของสะสม ซึ่งต่างจากของเล่นทั่วไป ตรงที่มักจะออกมาเป็นซีรีส์ หรือคอลเลกชัน ท้าทายนักสะสมที่ต้องรวบรวมให้ครบ

ทั้งนี้ จุดกำเนิดกว่าจะเป็น Art Toys แต่ละตัว ล้วนมาจากความสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจของ Designer ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประกอบกับ Art Toys มักจะมาพร้อมกับ Blind Boxes การซื้อของเล่นเพื่อลุ้นการเปิดสินค้าว่าจะได้อะไร ทำให้ยิ่งลุ้น และตื่นเต้นเสียทุกครั้ง ว่าในมือของเราจะเป็น Art Toys ตัวใด

ทั้งหมดนี้ คือเสน่ห์ของ Art Toys ที่กลายมาเป็น POP Culture ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่เป็นธุรกิจ Leader ของวงการนี้ ก็คือ POP MART แบรนด์ร้าน Art Toys ชื่อดัง ที่สร้างรายได้กว่า 22,000 ล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ POP MART นั้น คือ การวางตนเองว่าเป็น Art Gallery เพราะได้ทำงานร่วมกับ Designer รังสรรค์ผลงานคุณภาพ โดยผลงานแต่ละชิ้นต้องมาจากแรงบันดาลใจ ผ่านการตีความออกมาอย่างดีที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาและความละเมียดละไม ไม่ต่างจากงานศิลปะ ทำให้ POP MART Store เสมือนเป็นห้องจัดแสดงผลงาน Art Gallery

***แล้วกระบวนการสร้างงานศิลปะแต่ละชิ้น ที่เรียกว่า Art Toys ของ POP MART เป็นอย่างไร?

>> ค้นหา Designer Toys Phenomenon
เริ่มต้นจาก POP MART เฟ้นหา Artist และ Designer ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ผ่านงาน Largest Art Toys Show in ASIA หลายครั้งจาก เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือสิงคโปร์ เร็วๆ นี้ และยังเคยบรรยายในมหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำต่าง ๆ รวมทั้งงานแข่งขันการออกแบบกับแบรนด์ชั้นนำ

จากจุดนี้ทำให้ POP MART ดึงดูดแบรนด์ระดับโลก และ Designer หน้าใหม่ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Kenny Wong ผู้สร้างสรรค์ Molly, มอลลี่ นิสา ศรีคำดี ผู้สร้างสรรค์ CryBaby และ SKULLPANDA ผู้สร้างสรรค์ SKULLPANDA

>> Collaborate กับแบรนด์ดังต่าง ๆ
เมื่อผลงานของ POP MART เป็นสิ่งที่สนุก ไม่มีขีดจำกัด และสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดได้ แบรนด์ต่าง ๆ จึงอยากมาร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น DC, Disney, Warner, Harry Potter ฯลฯ

>> สร้าง Iconic Crossovers
เสน่ห์ของสะสมจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อเรารู้ว่าคอลเลกชันนั้นเป็น Limited มีจำนวนจำกัด ยิ่งไปกว่านั้น คือ Surprise ที่เกิดขึ้นได้แบบไร้ขีดจำกัด เช่น Molly x Snoopy, Labubu x Spongebob ฯลฯ

นอกจากนี้ POP MART ยังมีโอกาสร่วมงานกับสตูดิโอ และแบรนด์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Inner Flow, Silent Trick, Gone ฯลฯ เพื่อออกแบบสิ่งใหม่ ๆ ให้ผู้คนได้สนุก และตื่นเต้นไปกับผลงานทุกคอลเลกชัน สะท้อนความเป็น Leader ในวงการนี้ไปแบบเต็ม ๆ

การตีแตกในธุรกิจ Art Toys ของ POP MART ยังไม่จบแต่เพียงเท่านั้น หลังจากสร้างคอลเลกชัน Art Toys ต่าง ๆ ที่น่าสนใจแล้ว POP MART ยังเข้าใจความต้องการของลูกค้า โดยพัฒนา Art Toys ให้มี 3 ขนาดแตกต่างกัน คือ ไซซ์ปกติ, ไซซ์ Big, ไซซ์ MEGA และหากสังเกตให้ดี Art Toys ไซซ์ MEGA ตอนนี้ ก็เชื่อว่าน่าจะเข้าไปอยู่ในบ้านของใครหลายคน เรียบร้อยแล้ว

***สำหรับคนไทย Art Toys ไซซ์ MEGA ถือว่ามาแรง และสุดฮิตจริง ๆ แม้จะเป็นไซซ์ที่มีราคาสูง แต่ก็มีกลุ่มลูกค้าสะสมเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะรุ่น MEGA SPACE MOLLY ที่ตอนนี้กลายเป็น Phenomenon ในไทย ช่วยขยายฐานลูกค้าได้มากทีเดียว

และในอนาคต เราอาจจะได้พบ POP MART ในรูปแบบที่ไปไกลกว่า Art Toys เพราะบนพื้นฐานของความสนุก ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Art Toys อยู่แล้วสามารถขยายธุรกิจ POP MART เข้าสู่วงการความบันเทิง หรือ Entertainment ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็น Animation, Game หรือแม้แต่ Theme Park

พูดง่าย ๆ ว่าโอกาสทางธุรกิจของ POP MART ที่วันนี้สร้างรายได้ 22,000 ล้านบาทจาก Art Toys ยังมีโอกาสที่รออยู่อีกมหาศาล จากอุตสาหกรรม Entertainment ในอนาคต

สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ POP MART กำลังจะเปิดตัว Flagship Store ในประเทศไทยครั้งแรกที่ Central World ชั้น 1 ในวันที่ 20 กันยายนนี้

จัดเต็มความตื่นเต้น เช่น...
- Blind Box Collection สุด Rare ที่ทุกคนกำลังตามหา
- พิเศษสุดคือ SKULLPANDA Hoar Frost Thailand Limited Edition วางขายที่ Flagship Store Central World ประเทศไทยเพียง 140 ชิ้น เท่านั้น

จากนี้ไป POP MART Thailand จะเขย่าวงการ Art Toys ประเทศไทยแค่ไหน ก็น่าติดตามไม่น้อย..

‘S&P’ ผุดนิวโมเดลไซส์ย่อ เจาะปั๊ม ปตท. รับเทรนด์ ‘ซื้อกลับ-สั่งด่วน’ มาแรง

‘เอส แอนด์ พี’ ผุดสาขารูปแบบใหม่ นำร่องเจาะปั๊มน้ำมัน ปตท. 2 สาขาแรก เบเกอรี่ครบไลน์ อาหารเน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว เผยแผนทั้งปีนี้ลุยเปิดเบเกอรี่ช็อป 25 สาขา และร้านอาหาร 3 สาขา โชว์ครึ่งปีแรกรายได้รวมโต 12% ส่วนช่องทางนั่งทานในร้านพุ่ง 66%

(11 ก.ย.66) นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจเอสแอนด์พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวธุรกิจร้านโมเดลใหม่ ‘คอนเซ็ปท์ ฟุ้ด แอนด์ เบเกอรี่’ (Food and Bakery) ซึ่งเป็นร้านที่มีบริการทั้งเบเกอรี่ เครื่องดื่มครบไลน์ และบริการอาหารด้วย โดยเปิดสาขาแรกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. พระรามสี่ใกล้กล้วยน้ำไท พื้นที่ประมาณ 100ตารางเมตร เปิดบริการเมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา และเตรียมที่จะเปิดสาขาที่สองอีกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นปั๊มที่สร้างใหม่

“รูปแบบของสาขาโมเดลใหม่นี้ จะมีขนาดที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีบริการเบเกอรี่เครื่องดื่มครบไลน์ ส่วนอาหารจะไม่ครบไลน์เหมือนร้านอาหารมาตรฐานเดิม จะเป็นลักษณะคล้ายนั่งทานอาหารหน้าเคาน์เตอร์บาร์ เน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว และเน้นเทคอะเวย์กับเดลิเวอรีด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ผูกติดเฉพาะกับปั๊มน้ำมันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำเลและขนาดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือไม่” นายอรรถ กล่าว

ทั้งนี้ การเปิดตัวร้านรูปแบบใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ โดยปีนี้วางแผนที่จะเปิด ร้านเบเกอรี่ช็อป ประมาณ 25 สาขา ลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อสาขา เปิดไปแล้ว 15 สาขา และจะเปิดอีก 10 สาขาต่อถึงสิ้นปีนี้ ส่วนร้านอาหาร ลงทุนเฉลี่ย 8-10 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งจะเปิดเล็กลงประมาณ 150 ตารางเมตร จากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 200 ตารางเมตร จะเปิดปีนี้ 3 สาขา โดยเปิดไปแล้วที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเตรียมจะเปิดอีกที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข และอีกแห่งจะเปิดในเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลสาขา

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครือข่ายร้านค้ารวม 437 สาขา โดยแบ่งเป็น ร้านเบเกอรี 300 สาขา และร้านอาหาร 137 สาขา อีกทั้งยังไม่ได้นับรวม ร้านเดลโก้ ที่่เป็นจุดบริการเดลิเวอรีโดยเฉพาะ อีก 33 สาขา ซึ่งก็ยังคงมีการเติบโตที่ดีแต่อาจจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงโควิด-19ระบาดหนัก ที่ความต้องการเดลิเวอรีสูงมาก ส่วนแผนการรีโนเวทร้านเดิมก็ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่โควิดระบาด มีการรีโนเวทไปมากกว่า 100 สาขาแล้ว ใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วเปิดร้านใหม่ประมาณ 35 สาขา

นายอรรถ กล่าวต่อว่า บรรยากาศการจับจ่ายในภาพรวมขณะนี้ ถือว่าในส่วนของกรุงเทพและปริมณฑลกลับมาดีมากขึ้นแล้ว ขณะที่ในตลาดต่างจังหวัดยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เพราะกำลังซื้อลดลง แต่คาดว่าจากนี้น่าจะดีขึ้นบ้างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการเติบโตที่ดี โดยในไตรมาสที่2ปี2566 รายได้รวมทั้งกลุ่ม 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท หรือเติบโต 12% จากไตรมาสสองปีที่แล้ว ส่วนกำไรมีประมาณ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท

ส่วนช่วงครึ่งปีแรกพบว่า มีรายได้รวมทั้งกลุ่ม 2,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 350 บาท หรือเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกที่ 194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท เติบโต 14% โดยสัดส่วนรายได้หลักกว่า 80% มาจากร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ในประเทศ ส่วนอีก 20% มาจากกลุ่มรีเทลฟู้ดกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกพบว่า รายได้จากช่องทางร้านอาหารนั่งทานในร้านเติบโตมากถึง 66% ช่องทางเทคอะเวย์ เติบโต 7% และช่องทางเดลิเวอรี เติบโต 5% สาเหตุหลักที่นั่งทานในร้านเติบโตมากเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาทานอาหารในร้านมากขึ้นแล้ว รวมทั้งกลยุทธ์ตลาดที่บริษัทฯ ทำด้วยในช่องทางร้านอาหาร เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จัดเทศกาลเมนูข้าวแช่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เดือนพฤษภาคมเริ่ม แคมเปญฉลอง 50 ปี 50 เมนู ซึ่งกิจการจะครบ 50 ปีในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ล่าสุดเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีนี้เปิดตัว 2 รสชาติใหม่คือ ใส้เกาลัดและชาอู่หลง ใส้บัวมันม่วง พร้อมโปรโมชั่นมากมาย

“ปีนี้คาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโต 15% ซึ่งขณะนี้รายได้รวมกลับไปถึงปี 2562 แล้วประมาณ 80% และคาดว่าปีหน้าน่าจะกลับคืนมา 100% ได้แน่นอน” นายอรรถ กล่าว

บสย. ผนึก SET เปิดโครงการ SME Platform เชื่อม Start up - SMEs พร้อมเข้าตลาดทุน

บสย.- SET ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เชื่อมโยง Start up - SMEs ด้วยการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผนึก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เชื่อมโยง Start up - SMEs ด้วยการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เพื่อการเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและเตรียมความพร้อมการเติบโตไปสู่โอกาสการระดมทุนในตลาดทุนต่อไป

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการ SME Platform เพื่อพัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการทั้งภาคการเงิน การผลิต เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดย 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันเชื่อมโยงบทบาทการทำงานของตลาดเงินและตลาดทุน ในการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่ม Start up และ SMEs ผ่านโครงการ SME Platform รองรับการเติบโตของภาคธุรกิจเพื่อเตรียมสร้างความพร้อมสู่การระดมทุนในตลาดทุน

บสย. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะร่วมกันบ่มเพาะเติมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้แก่ Start up และ SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่แหล่งทุนและการระดมทุน ผ่านหลักสูตร e-Learning และ Scaling Up Platform หลักสูตรการอบรมเชิงลึก การจัดระบบงาน จับคู่ธุรกิจและให้คำปรึกษาธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange และผ่าน บสย. Business School ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center

นายสิทธิกร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. จะให้ความช่วยเหลือ SMEs และ Start up ใน 3 มิติ คือ

1. มิติการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินผ่านกลไกผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ SMEs เข้มแข็ง (PGS10)

2. ด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ผ่าน บสย. F.A. Center และ Live Platform ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET

และ 3.มิติการบริหารหนี้ ช่วย SMEs แก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยการค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ให้กับ SMEs ซึ่งมีมูลค่าต่อ GDP 30-35% และรักษาการจ้างงานกว่า 70%

ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ขยายความช่วยเหลือโดยใช้ศักยภาพและกลไกของทั้ง 2 หน่วยงานเชื่อมโยงช่วยเหลือให้ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งทุน จากทั้งตลาดเงิน และการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดย บสย. มีฐานลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มากกว่า 8 แสนราย ซึ่งมี SMEs ที่มีโอกาสขยายกิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ประมาณร้อยละ 30 หรือราว 240,000 ราย โดยภายใต้โครงการนี้ คาดว่าจะช่วยเชื่อมโยงให้ SMEs ได้รวมตัวกันและ scale up ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาและเติบโตไปเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ใน SET ต่อไป

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ขยายการลงทุน-สร้างโอกาสเติบโตในสหรัฐฯ เข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’

(11 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง ด้วยการเข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ (Compass Portfolio) กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะสามารถรับรู้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ทันที

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก คัมแพซ ทู แอลแอลซี (EGCO Compass II, LLC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอ็กโกถือหุ้นทั้งหมดและจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา           ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้า พลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยมาร์คัส ฮุก เอ็นเนอร์ยี่ แอลพี (มาร์คัส ฮุก) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่มิลฟอร์ด พาวเวอร์ แอลแอลซี (มิลฟอร์ด) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน พาวเวอร์ (ไดตัน) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 187 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์

โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ ‘พอร์ตโฟลิโอคัมแพซ’ ได้รับประโยชน์จากการที่โรงไฟฟ้ามาร์คัส ฮุก มีสัญญาระยะยาวในการขายกำลังผลิตส่วนใหญ่ให้แก่ลองไอส์แลนด์ พาวเวอร์ ออธอริที (The Long Island Power Authority - LIPA) และขายกำลังผลิตส่วนที่เหลือในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) ในขณะที่โรงไฟฟ้ามิลฟอร์ดและโรงไฟฟ้าไดตันขายกำลังผลิตให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ยังขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คือ PJM และ ISO-NE

“การลงทุนใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ จะสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นจะสำเร็จหลังจากดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปิดรายการซื้อขายแล้วเสร็จ

‘EA’ ลงนามสินเชื่อ SLL กับ ‘EXIM BANK’ มูลค่า 500 ลบ. ผลักดันนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีธุรกิจพลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ลงนามการสนับสนุนทางการเงินภายใต้ วงเงินกู้ระยะยาวลักษณะ Sustainability Linked Loan (SLL) มูลค่า 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ณ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ 

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกํากับดูแลที่ดี (Environmental, Social, Governance : ESG) ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานสะอาด ได้แก่ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และ ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ซึ่ง EA ได้จดทะเบียนอยู่ในรายชื่อ Thailand Sustainability Investment (THIS) 5 ปีติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญ มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม 

โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเข้าข่ายที่ EXIM bank จะสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวในลักษณะ SLL ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักและมีแผนการจัดการโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ Net Zero Emission 

เปิดโอกาสคนไทยสู่อาชีพใหม่ใน 'แฟรนไชส์ เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2023' 7-10 กันยายน 2566 ที่บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว

จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้ประชาสัมพันธ์ชวนคนไทยมีอาชีพที่งาน 'แฟรนไชส์ เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2023' (Franchise SMEs EXPO 2023) 

โดยใครที่อยากเริ่มธุรกิจส่วนตัว คิดลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องไปงานนี้ งานแสดงแฟรนไชส์ที่จะสร้างอาชีพให้กับคุณ งานจัดระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2566 ที่บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว 

ทั้งนี้ ในงานสามารถพบกับโปรโมชันส่วนลดพิเศษสุด ๆ จากธุรกิจแฟรนไชส์ แบบเยอะ ครบ คุ้ม เฉพาะภายในงานนี้เท่านั้น!! พร้อมการเปิดตัวแฟรนไชส์ใหม่ ๆ อาทิ...

* แฟรนไชส์หมวดอาหารและขนม
* แฟรนไชส์หมวดเครื่องดื่ม แฟรนไชส์ชา แฟรนไชส์กาแฟสด 
* แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก
* แฟรนไชส์การศึกษา
* ระบบซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการร้าน / POS
* พบกับธุรกิจเครื่องหยอดเหรียญทำเงิน 24 ชม. 
* ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย เมล็ดกาแฟ เครื่องชงกาแฟ บรรจุภัณฑ์ในธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเบเกอรี่ 
* พบกับบูธธุรกิจดาราชื่อดัง คุณอรอนงค์ ปัญญาวงศ์, คุณต๊ะ บอยสเก๊าท์

นอกจากนี้ ยังสามารถลงทะเบียนร่วมฟังเสวนาได้ฟรีทุกวัน...

- วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 13.00 - 14.00 น. หัวข้อ 'กลยุทธ์เลือกแฟรนไชส์น่าลงทุนและเหมาะกับคุณ' โดย คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์, CFE กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด มืออาชีพสร้างแฟรนไชส์ และจับคู่แฟรนไชส์น่าลงทุน

- วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 เวลา 12.30 - 13.30 น. หัวข้อ 'Inspiration for the next startup' โดย คุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

- วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 เวลา 14.00 - 15.00 น. หัวข้อ 'เส้นทางอาชีพสายครีเอเตอร์ นักออกแบบตัวการ์ตูน-มาสคอต' โดยคุณสัญญา เลิศประเสริฐภากร ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ (Creative Director) จากไซโลสตูดิโอ ผู้สร้างสรรค์ตัวการ์ตูน ติดลมห้อยเวหา

- วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2566 เวลา 12.30 - 13.30 น.หัวข้อ 'การทำการตลาดบนแอปพลิเคชัน TikTok' โดยคุณแอ๊ม-ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต CEO บริษัท Uppercuz Creative ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดออนไลนามากกว่า 9 ปี

เข้าร่วมชมงานฟรีทุกวัน 10.30 - 20.00 น. ลงทะเบียนเข้าชมงานรับฟรีเครื่องดื่ม 1 แก้ว 

สำหรับในครั้งนี้ จัดโดยบริษัท สกุล วี กรุ๊ป จำกัด สนใจติดต่อ โทร. 064-983-6919, 094-241-9664

Wongnai ผนึก LINE เข้าซื้อ Rabbit LINE Pay จากผู้ถือหุ้นเดิม ปั้นบริการคลุม ‘สั่งอาหาร’ จนถึง ‘กู้เงิน’ พร้อมท้าชน ‘e-Wallet-เป๋าตัง’

(5 ก.ย. 66) นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai และ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ได้ร่วมเปิดเผยภายหลังจาก LINE MAN Wongnai และ LINE ได้เข้าซื้อ Rabbit LINE Pay (RLP) จากผู้ถือหุ้นเดิม และทำให้ LINE MAN Wongnai กลายเป็นถือหุ้นสูงสุดใน RLP ว่า...

หากเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS บ่อยๆ เชื่อว่าก็คงจะใช้บริการ Rabbit LINE Pay (RLP) แน่นอน ซึ่ง Rabbit LINE Pay นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจาก LINE Thailand ร่วมมือกับทาง Rabbit Card และ mPay แพลตฟอร์มบริการทางการเงินของ AIS เข้ามาลงทุนร่วมกันเมื่อปี 2018 โดยทั้ง 3 พาร์ทเนอร์นั้นถือหุ้นเท่าๆ กัน

โดยจุดเด่นของ Rabbit LINE Pay ก็คือ การใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋ว BTS, ซื้อสินค้าใน LINE เช่น สติกเกอร์ รวมไปถึงร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ ทั้งนี้ ตัวเลข ณ ปี 2022 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านราย

แม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงมูลค่าการเข้าซื้อหุ้น RLP ต่อจาก แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด แต่ ยอด เผยว่า LINE MAN Wongnai เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเชื่อว่า RLP นั้นเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจของ LINE MAN Wongnai โดยเปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่น ให้กับธุรกิจ เพราะในทุกบริการต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ นอกจากนี้ ยอด ยังมองว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

“ทุกบริการของ LINE MAN Wongnai ไม่ว่าจะเป็น Food, Taxi Messengers หรือ LINE เองก็มีบริการอีคอมเมิร์ซอย่าง LINE Shopping และทุกอย่างต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ทั้งหมด ดังนั้น RLP จะมาช่วยให้บริการต่างๆ มันไร้รอยต่อ (Seamless) มากขึ้น” ดร.พิเชษฐ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ในแง่ขององค์กร RLP ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งออฟฟิศและพนักงาน ในส่วนของผู้ใช้ก็เช่นเดียวกัน บริการไหนที่เคยใช้ได้ก็ยังใช้ได้ตามเดิม ไม่ว่าจะเติมเงินขึ้นรถไฟฟ้า BTS หรือการใช้จ่ายผ่านร้านค้าพันธมิตร ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคอยากรู้คือ บริการใหม่ที่จะได้เห็น

โดย ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ได้กล่าวเสริมว่า จะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นแน่นอน อย่างน้อยที่จะได้เห็นก็คือ สิทธิพิเศษที่มากขึ้น หากใช้งาน RLP ผ่าน LINE หรือ LINE MAN รวมถึงความเป็นไปได้ของบริการ กู้เงินออนไลน์ เพราะทาง LINE เองก็มี LINE BK บริการทางการเงินแบบ Social Banking ของบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (บริษัทในเครือของธนาคารกสิกรไทย) และบริษัท ไลน์ ไฟแนนเชียล เอเชีย (LINE Financial Asia) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะเห็นบริการใหม่ ๆ เร็วสุดเมื่อไหร่

“อาจยังไม่ชัดเจนว่าจะมีบริการอะไรใหม่ ๆ แต่เราจะพยายามดันทรานซ์แซ็คชั่นของทั้ง LINE MAN Wongnai และ LINE เข้าไปใช้ใน RLP ให้ได้มากที่สุด แต่เราอยากให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มของเราแล้วทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สั่งอาหารจนถึงกู้เงิน” ดร.พิเชษฐ กล่าว

ด้าน ยอด ได้กล่าวด้วยว่า แม้ว่าตลาดอี-วอลเลตปีนี้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ดอลฟิน วอลเลต จะหายไป แต่การแข่งขันก็ไม่ได้ลดน้อยลง โดยตลาดอีเพย์เมนต์ยังมีความท้าทายจาก พร้อมเพย์ ที่ทำให้ทุกอย่างใช้งานได้อย่างเปิดกว้าง นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม เป๋าตัง ของรัฐบาล ดังนั้น การแข่งขันจึงกว้างมากเพราะมีทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มอีวอลเลต ซึ่ง RLP ก็อยากจะเป็นผู้เล่นหลักของตลาดไทย ดังนั้น การมีบริการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังใช้งานเป็นโจทย์ที่สำคัญ

“อย่างเป๋าตังเขาก็มีบริการซื้อสลากออนไลน์เพื่อดึงดูดให้ใช้งาน นี่ก็เป็นโจทย์ของเราว่านอกจากบริการที่มีที่ผู้บริโภคใช้อยู่แล้ว เราจะเพิ่มอะไรเข้าไปได้อีก”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของตลาดอีเพย์เมนต์ มีแต่ขาขึ้นไม่มีทางลง ตลาดจะใหญ่ขึ้นอีกเพราะผู้บริโภคใช้งานชินตั้งแต่เกิดโควิดระบาด คนใช้เงินสดน้อยลง เพียงแต่ตลาดยังไม่มาชัวร์ เพราะยังมีผู้เล่นที่ออกจากตลาดไปและยังมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา

ปัจจุบัน แม้บริการ RLP จะยังไม่ทำกำไร โดยในปี 2565 รายได้รวม 319.63 ล้านบาท ขาดทุน 156.65 ล้านบาท แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังคงเติบโต โดย ยอด เชื่อว่า ต้องทำให้ RLP มีกำไร และเติบโตในฐานะ STAND ALONE COMPANY ที่แข็งแกร่งให้ได้

OR เล็งธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน วางเฟสแรก 20 แห่ง รายได้ 1,000 บาท /ห้อง/คืน

เมื่อเช้านี้ มีกระแสข่าวว่า OR กำลังสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจโรงแรมสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อเปิดบริการในสถานีบริการน้ำมัน แบบราคาประหยัด 1,000 บาทต่อคืน

โดยผู้บริหารให้ข้อมูลว่าอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กในสถานีบริการน้ำมัน โดนคาดว่าระยะแรกจะเปิดให้บริการ 20 แห่ง แต่ละแห่งมีห้อง 60-80 ห้อง คาดว่า จะมีรายได้ราว 1,000 บาทต่อห้องต่อคืน

รวมถึงการเข้าลงทุนในธุรกิจ Health & Beauty โดยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย

คำถาม คือ ถ้าเราเห็นธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน PTT จริงๆจะถือเป็น New S Curved มากแค่ไหนต่อกลุ่ม OR

คำตอบคือ ไม่ได้เยอะมาก ...

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า มองว่าธุรกิจโรงแรมในช่วงระยะเริ่มต้น น่าจะสร้างรายได้ให้ OR ราว ๆ 200 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 1% ของรายได้ทั้งรวมทั้งหมด ทำให้ไม่มีนัยสำคัญอะไรมากนักในระยะสั้น จนถึงกลางต่อภาพรวมธุรกิจ 

อีกทั้ง ธุรกิจนำเข้าสินค้าประเภท Health & Beauty ก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นไม่สูง ไม่น่าจะสร้างกำไรที่มีนัยสำคัญอะไรให้กับ OR 

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ไหมที่เราจะเห็นโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน แต่ในภาพของธุรกิจ ไม่น่าจะส่งผลเชิงบวกมากนักในระยะแรก

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการ Ai ลงรหัสโรค พบเพิ่มประสิทธิภาพเวชระเบียนได้ถูกต้อง – สมบูรณ์

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยลงรหัสโรคทางการแพทย์ ของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ และเจ้าหน้าที่กลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน โครงการการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยลงรหัสโรคทางการแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

โครงการมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาโปรแกรมต้นแบบสนับสนุนการใส่รหัสโรคด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องของการใส่รหัสโรคให้แก่ภาควิชาศัลยศาสตร์ และสามารถนำโปรแกรมต้นแบบไปพัฒนาต่อเพื่อใช้ในระดับโรงพยาบาลและสาธารณสุขของประเทศต่อไป

โดยมีผลการดำเนินโครงการในการพัฒนาต้นแบบสนับสนุนการใส่รหัสโรคด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ทำงานร่วมกับนักลงรหัสโรคได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากการทดลองใช้งานระบบทดสอบกับเวชระเบียนจากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สามารถแนะนำการให้รหัสโรค (ICD-10) และรหัสหัตถการ (ICD-9) ในกระบวนการทำงานของนักวิชาการเวชสถิติผู้ให้รหัส (Coder) แพทย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานต่อจำนวนเวชระเบียนได้อย่างมาก รวมถึงการแนะนำรหัสที่มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ตามข้อกำหนดของ สปสช. 

โครงการภายใต้การพัฒนา นำโดยคณะแพทย์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ นักพัฒนาระบบ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะที่ปรึกษาจาก สปสช.

ศาลฯ เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ 'ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์' เริ่มจ่ายคืนเงินผู้โดยสาร-เจ้าหนี้ช่วงโควิด พร้อมเพิ่มฝูงบินในปี 71

ศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบด้วยเเผนฟื้นฟูกิจการ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ) เริ่มจ่ายคืนเงินผู้โดยสาร-เจ้าหนี้ช่วงโควิด พร้อมเดินหน้าเพิ่มฝูงบินเป็น 17 ลำ ในปี 2571

(1 ก.ย. 66) รายงานจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้รับการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมนำเครื่องเข้าประจำการฝูงบิน ขยายเส้นทางใหม่ เพิ่มกระเเสเงินสดและรายได้ ควบคู่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะสามารถเริ่มทยอยจ่ายหนี้เเละคืนเงินตามคิวให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความจำเป็นในการยกเลิกเที่ยวบินช่วงโควิดได้ ตามแผนที่วางไว้

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า การที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้รับความเห็นชอบด้วยแผนการฟื้นฟูกิจการ ในฐานะตัวแทนของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ขอขอบคุณการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ทุก ๆ ราย และคำสั่งของศาลล้มละลายกลางในครั้งนี้

ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการที่ดี เป็นประโยชน์ทั้งต่อเจ้าหนี้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจในการให้บริการ พร้อมสำหรับการแข่งขันและเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน

“หลังสถานการณ์โควิด ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้กลับมาให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยรักษาจุดแข็งในการเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัด ให้บริการเส้นทางระยะไกลในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยตั้งเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณที่นั่ง (Capacity) ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดภายในสิ้นปี 2567 พร้อมทั้งเร่งการเติบโตในตลาดออสเตรเลียเเละจีน โดยยังเเสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ ตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีแน่นอน” นายธรรศพลฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เเผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบจากศาล สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้วางกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโต คือ

การเพิ่มฝูงบินสร้างรายได้ ในปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินประจำการ 6 ลำ และจะเดินหน้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินตามเเผนฟื้นฟูกิจการ อย่างน้อย 3-5 ลำ ภายในปี 2567 และ รวมเป็น 17 ลำ ภายในปี 2571 ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์มีฝูงบินขนาดใหญ่พร้อมขยายเส้นทางและสร้างเครือข่ายการบินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ณ ฐานการบินหลักที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจคาร์โก้

การลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยการเจรจาปรับโครงสร้างสัญญาเช่าเครื่องบิน เเละสัญญาบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้เหมาะสม

การบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะทยอยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึงการคืนเงินให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินช่วงโควิด-19 โดยจะทยอยคืนเงินให้ตามคิวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับเเผนธุรกิจที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเปลี่ยนการรับข้อเสนอจากรับเงินคืน (Refund) เป็นรับมูลค่าบัตรโดยสารสะสม (Travel Voucher) สามารถทำได้ทันที โดยใช้วงเงินเดินทางกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัสเที่ยวบิน XJ) สู่เส้นทางหลากหลาย ทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เเละจีน โดยผู้โดยสารสามารถอีเมลมาเพื่อยื่นความจำนงในการรับบัตรโดยสารสะสมได้ที่ taxrestructuring@airasia.com

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เนื่องจากเป็นคนละบริษัท คนละสายการบิน ที่มีการบริหารงานแยกจากกันชัดเจน และมีเส้นทางบินที่ไม่ทับซ้อนกัน

‘เอ็มวีทีวี’ จับมือ ‘วอร์เนอร์ฯ’ ทุ่ม 200 ล้าน ซื้อช่อง ‘บูมเมอแรง’ ลั่น!! ขอยกให้เป็นของขวัญแก่เด็กไทย ได้ดูการ์ตูนในดวงใจฟรี!!

(31 ส.ค. 66) ‘บริษัท เอ็มวีทีวี ไทยแลนด์’ และ ‘วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ดิสคัฟเวอรี’ ได้ประกาศความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเปิดช่องบูมเมอแรงต่อ โดยการทุ่มงบก้อนใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์ช่องบูมเมอแรง เป็นของขวัญให้เด็กไทย และยังคงดำเนินกิจการดูแลคอนเทนต์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของช่อง ให้แฟน ๆ ได้ชมกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

ซึ่งจะมีการนำการ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ ที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจาก ‘การ์ตูนเน็ตเวิร์ค’ และ ‘วอร์เนอร์ บราเธอร์ส’ เข้ามาให้ได้ชมกัน เช่น แบทวีล, บักส์บันนี่ บิวเดอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนการ์ตูนที่เป็นหลักของช่อง เช่น พาวเวอร์พัฟเกิร์ล, จัสติส ลีก แอ็คชั่น, สกูบี้ดู, ทีน ไททัน โก, เบนเทน, ทอมแอนด์เจอร์รี่ ในนิวยอร์ก, และ วีแบร์แบร์ สามหมีจอมป่วน จะยังคงมีฉายเหมือนเดิมที่ช่องบูมเมอแรง หมายเลข 89

คุณวรวุฒิ ทวีปวรเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มวีทีวี ไทยแลนด์ จำกัด ได้กล่าวว่า “ภารกิจของเราที่เข้ามาดูแลช่องนี้ก็เพื่อจะมอบเป็นของขวัญให้กับเด็กไทย เพราะกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา มีเด็กหลายรุ่นมากที่โตขึ้นมาพร้อม ๆ กับการดูช่องบูมเมอแรง และบูมเมอแรงก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำต่าง ๆ ของคนทุกวัย ด้วยตัวคอนเทนต์ของช่องก็ได้สร้างความสุขให้กับคนในครอบครัว พวกเราจึงเล็งเห็นว่าควรที่จะทำช่องนี้และให้ออกอากาศต่อไป พร้อมทั้งจะมีกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสสำหรับผู้ชมและลูกค้าโฆษณาแบรนด์ต่าง ๆ อีกด้วยเช่นกัน”

‘ช่องบูมเมอแรง’ เป็นช่องอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กและครอบครัวของช่องทีวีทั้งหมด และยังเป็น อันดับ 1 (4+) ของกลุ่มช่องเคเบิ้ลดาวเทียม มีผู้ชมเข้าถึงมากกว่า 13 ล้านคนดูในทุก ๆ เดือน

‘ไผ่ทองไอสครีม’ เผยภาพเมนูเด็ด ‘หนมปังชาไผ่ทอง’ ชี้!! ขายขนมปังคู่ไอศกรีมเจ้าแรก แต่ไม่สงวนสิทธิ์ความอร่อย

(31 ส.ค. 66) เพจ ‘ไผ่ทองไอสครีม’ โพสต์ข้อความระบุว่า “ไผ่ทองไอสครีมต้นตำรับ เป็นเจ้าแรกที่นำขนมปังมาทานคู่กับ ไอศกรีมจนเป็นซิกเนเจอร์ของไอศกรีมสตรีทฟู้ด

ผ่านมาหลายสิบปี มีร้านไอติมร้านคาเฟ่มากมายที่พัฒนาดัดแปลงขนมปังแพ มาเป็นขนมปังแถว ขนมปังปอนด์ ขนมปังโทสต์ ต่อยอดความอร่อยกันมาเรื่อย ๆ

ไผ่ทองไอสครีม เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมอาหารสตรีทฟู้ดของไทย และไม่สงวนสิทธิความอร่อยนี้ไว้ เพราะเราอยากให้คนไทยได้ทานของอร่อย ๆ ในราคาที่เอื้อมถึงได้”

และว่า “ในส่วนที่เราสงวนสิทธิคือ #โลโก้ไผ่ทองไอสครีมต้นตำรับ อันนี้ห้ามนำไปใช้โดยการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำไปใช้โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากทางแบรนด์นะคะ”

ทั้งยังระบุด้วยว่า “เราเป็นไอติมนะ อย่าฟ้องเรานะ” “บอกเลย แบรนด์ไผ่ทองไอสครีม เจอเรื่องโดนลอกเลียนแบบเยอะมากกก… แต่ไม่ค่อยได้ไปฟ้อง เหนื่อยค่ะ แบ่ง ๆ กันรวยดีกว่า”

ภายหลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ได้มีผู้เข้าไปชื่นชมและแสดงความเห็นจำนวนมาก เช่น

- เยี่ยมมากครับแบบนี้น่าอุดหนุนมาก ๆ ครับ
- ไผ่ทองน่ารัก อร่อยมาก เจอที่ไหน ถึงกับต้องจอดรถ เพื่อกิน ไผ่ทองเท่านั้น!!!
- นาน ๆ จะเห็นผ่านหน้าบ้านที อร่อยชอบมากค่ะ
- อันนี้เมนูไอติม หรือเมนูปั่นครับ
- ขนมปัง+ชาไทย แต่อยากเรียกสั้น ๆ
- แอดมาเหนือตลอด ชอบ ๆ ครับ
- ชอบมากกกกกกก
- ไอติมในดวงใจ

‘EA’ คว้ารางวัลใหญ่ ‘Corporate Excellence Award’ จาก ‘APEA 2023’ ตอกย้ำ ‘ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด’

EA ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด คว้ารางวัลใหญ่ ‘Corporate Excellence’ Category-Energy ในเวทีระดับสากล Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) แห่งปี 2023 เชิดชูเกียรติกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ในฐานะองค์กรที่เป็นเลิศด้านการบริหารงานและสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จัดโดย Enterprise Asia Enterprise Asia ซึ่งได้คัดเลือกองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนทั่วภูมิภาคเอเชีย

นายวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรางวัล Corporate Excellence Award APEA 2023 เป็นอีกหนึ่งรางวัล สะท้อนถึงการที่บริษัทฯ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการองค์กรที่ดีเลิศ มีพัฒนาองค์กรการเติบโตที่มั่นคงแข็งแกร่งและยั่งยืน การันตีความสำเร็จของกลุ่ม EA จากการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทยในด้านพลังงานสะอาด สู่เวทีระดับสากล

โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้น มีรากฐานจากกลยุทธ์การบริหารธุรกิจแบบ ‘Green Produt’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ที่มีการวิจัยและพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสู่ผลิตภัณฑ์ Biodiesel, Glycerin, Green Diesel และ Bio-PCM ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานจากลม (Wind) และแสงอาทิตย์ (Solar) กำลังการผลิต 664 เมกะวัตต์ (MW) ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจที่จะยกระดับนวัตกรรมฝีมือถือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

โดย EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร โดยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กำลังผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบวงจรกำลังผลิตสูงสุดที่ 9,000 คันต่อปี อีกทั้งธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere มีสถานีชาร์จไฟฟ้าให้บริการทั่วประเทศกว่า 500 สถานี หรือกว่า 2,500 หัวชาร์จ ทั้งยังมีอาคารจอดรถ ‘รามาธิบดี-พลังงานบริสุทธิ์’ อาคารต้นแบบด้านการจัดการพลังงานสำหรับการชาร์จแห่งแรก ที่มีหัวชาร์จมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ EA ยังเดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) ซึ่งสามารถเพิ่มตู้แบตเตอรี่แยก (Power Car)  เพิ่มระยะทางการวิ่งรวมแบตเตอรี่ขนาด 4.1 MWh วิ่งได้ระยะกว่า 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ พร้อมมีการพัฒนาสถานีชาร์จขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก 

“EA พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม สร้าง Champion Product : Commercial EV ยกระดับขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก สบายและทันสมัย ทั้ง รถ-เรือ-ราง ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และด้วยกลยุทธ์บริหารธุรกิจ EA Ecosystem จะเป็นกุญแจสำคัญให้อุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ได้เติบโตพร้อมกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสะอาด สร้างโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้ประเทศ ด้วยผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ภาคภูมิใจ” นายวสุกล่าวทิ้งท้าย

JKN ส่อผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 443 ล้านบาท เตรียมขอผ่อนผันชำระ หลังครบกำหนด 1 ก.ย.นี้

JKN เผยไม่สามารถหาแหล่งเงินชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หุ้นกู้ รุ่น JKN239A มูลค่า 609 ล้านบาท แต่มียอดค้างชำระ 443 ล้านบาท ครบกำหนด 1 ก.ย.นี้ จ่อเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 29 ก.ย.นี้ ขอมติผ่อนผันจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ป้องกันปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า  ตามที่หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 (หุ้นกู้รุ่น JKN239A) ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ในวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609,981,369.6 บาท 
.
อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวได้โดยบริษัทจะชำระเงินต้นบางส่วนจำนวน 146,618,630.14 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 9,981,369.86 บาท รวม156,600,000 บาท ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ (1 กันยายน 2566) โดยคงเหลือยอดค้างชำระจำนวน443,400,000 บาท 

จึงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ สำหรับ หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็นโกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ ถอนปี 2566 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ภายใต้โครงการตราสารหนี้ (Medium Term NoteProgram)  ปี พ.ศ. 2563 วงเงินหุ้นกู้ทั้งสิ้นไม่เกิน 2,500,000,000 บาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (Revolving Basis) (ซึ่งรวมถึงการเพิ่มวงเงินเสนอขาย (ถ้ามี) ที่ได้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมในแบบ 69-Supplement) (ข้อกำหนดสิทธิ)

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้บริษัทจะต้องมีการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิก่อน ได้แก่ (1) ผู้ออกหุ้นกู้ได้รับการร้องขอเป็นหนังสือจากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ว่ารายเดียวหรือหลายรายที่ถือหุ้นกู้หรือถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนทั้งหมด หรือ (2) มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้ถือว่าบริษัทตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และให้หุ้นกู้ถึงกำหนดชำระโดยพลันในการนี้ 

บริษัทได้จัดเตรียมแผนการชำระหนี้ตามหุ้นกู้รุน JKN239A โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2566 ต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาอนุมัติ (1) แผนการชำระเงินตัน และดอกเบี้ยหุ้นกู้การแก้ไขเปลี่ยนปลงข้อกำหนดสิทธิ รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้อง และ (2) การขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ และ ไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน(Call Default) หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ บริษัทเชื่อมั่นว่า บริษัทจะสามารถเสนอเงื่อนไขในการชำระเงินตันและดอกเบี้ยตามแผนที่กำหนดไว้ได้

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจถึงการผิดนัดชำระเงินต้น ดังกล่าว โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้พิจารณาสรรหาแหล่งเงินทุนหลากหลายวิธีการ อย่างไรก็ตาม การเจรจากับผู้ร่วมทุนของบริษัทไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง ในการนี้บริษัทยืนยันและรับรองว่า บริษัทมีความตั้งใจและขอให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัทมีเจตนาที่จะชำระคืนเงินดัน และดอกเบี้ยทั้งหมดของหุ้นกู้รุ่น JKN239A รวมถึงหุ้นกู้ใด ๆ ของบริษัททั้งหมด โดยบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top