Monday, 8 July 2024
BIZ

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่ง ศาลปกครองชั้นต้น ให้รับฟ้องคดีควบรวม TRUE-DTAC ชี้!! เข้าข่ายผูกขาด

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอถอนมติ กสทช. เรื่องการควบรวม TRUE-DTAC ชี้ การควบรวมส่งผลกระทบวงกว้าง - เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีลักษณะกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ

(30 ต.ค. 66) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. กรณีขอให้เพิกถอนมติ กสทช.ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 65 ที่รับทราบเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน)และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมทั้งประกาศ และนิติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 65

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 จะเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ แต่ บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้างจึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายเดียวกัน 

ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

บิ๊กดีล!! WHA เซ็นขายที่นิคมฯ 250 ไร่ให้ ‘ฉางอาน ออโต้ฯ’ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก เพื่อส่งออกทั่วโลก

(26 ต.ค. 66) บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ครั้งสำคัญแห่งปี 2566 สะท้อนถึงศักยภาพและการบูรณาการด้านการส่งเสริมการลงทุนอันโดดเด่นของประเทศไทย และมาตรฐานการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป นับเป็นการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรชั้นนำของโลก

ในพิธีลงนามในสัญญาครั้งสำคัญนี้ ได้รับเกียรติจาก มิสจาง เซียว เซียว อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 โดยบริษัทยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย

ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของฉางอานฯโดยเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในไทย ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย

ปัจจุบัน การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate)

โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050” นางสาวจรีพร กล่าว

AIS ผุดแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ชวนลูกค้าทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

AIS ชูภารกิจ Zero e-waste to landfill ชวนลูกค้าทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ดีต่อโลก ดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผุดแคมเปญ ทิ้ง E-Waste กับ AIS รับทันที AIS Points

(26 ต.ค. 66) AIS เดินหน้าเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Hub of e-waste อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ชวนลูกค้านำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริมมือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก มาทิ้งกับ AIS ที่ศูนย์บริการ AIS Shop ที่ร่วมรายการ ผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste+ แพลตฟอร์มการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บน Blockchain ที่จะทำให้เรารู้สถานะการทิ้งตั้งแต่ต้นจนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบหรือ Zero e-waste to landfill รับทันที AIS Points สูงสุดถึง 5 คะแนน

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “เพื่อเป็นการตอกย้ำความพร้อมในการเป็น Hub of e-waste มุ่งสร้าง Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมไปจนถึงการสร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero e-waste to landfill ตามมาตรฐานสากล โดยการทำงานครั้งนี้เราได้ต่อยอดเทคโนโลยี Blockchain กับแอปพลิเคชัน E-Waste+ ในแคมเปญทิ้ง E-Waste รับ AIS Points เปลี่ยนทุกการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นคะแนน AIS Points ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างการมีส่วนร่วมให้คนไทยและลูกค้าตระหนักถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมแล้ว การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้จะช่วยทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ รวมถึงยังคำนวณขยะที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเป็นปริมาณเท่าไหร่จากการร่วมทิ้ง E-Waste ในครั้งนี้” 

สำหรับลูกค้า AIS สามารถร่วมแคมเปญ ‘ทิ้ง E-Waste รับ AIS Points’ ได้ง่าย ๆ เพียงนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ โทรศัพท์มือถือเก่า แท็บเล็ตเสีย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อุปกรณ์เสริมมือถือ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ไม่ใช้แล้ว มาทิ้งกับ AIS ที่ศูนย์บริการ AIS Shop ที่ร่วมรายการ โดยสามารถทิ้งผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste + ก็รับทันที AIS Points สามารถดูรายละเอียดที่ https://sustainability.ais.co.th/th/update/e-waste/686/aisewaste-aispoints  

'การบินไทย' รีแคป!! 2 ทศวรรษแห่งการโบยบิน รันธุรกิจเคียงคู่ 'รักษ์โลก' ในทุกกระบวนการ

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค. 66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว 'FROM PURPLE TO PURPOSE' การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อย่างลงตัว โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯ กำหนดไว้

‘มาคาเลียส’ อัดแคมเปญใหญ่ ‘Makalius Super Bonus’ ลุยตลาดท่องเที่ยวช่วงปลายปี 66 ส่วนลด-ดีลเด็ดเพียบ

(25 ต.ค. 66) มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย ชี้สิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยเกินกว่า 50% ยังคงท่องเที่ยวในประเทศ สาเหตุจากสถานการณ์ความรุนแรงของหลายประเทศที่เกิดขึ้น เตรียมเดินหน้าผนึกกำลังพันธมิตรโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว จัดแคมเปญใหญ่ ‘Makalius Super Bonus’ (มาคาเลียส ซูเปอร์ โบนัส) มอบเป็นโบนัสพิเศษให้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่งท้ายปี

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย กล่าวว่า “มาคาเลียส คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศจะคึกคักอีกครั้ง และคาดว่าในช่วงสิ้นปีนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยเกินกว่า 50% จะยังคงเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว”

ทางด้านมาคาเลียสเตรียมเดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว อาทิ Eco Cozy Beachfront Resort, Taris river cottage, Golden Tulip Pattaya Beach Resort, Movenpick Resort Khao Yai, Centara Azure, Hotel Kuretakeso, Cross Vibe Pattaya Seaphere, Prima Hotel, Kooncharaburi Resort, Baiyoke Buffet, Sanay Rooftop Bar, ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นต้น จัดแคมเปญใหญ่ส่งท้ายปี ‘Makalius Super Bonus’ (มาคาเลียส ซูเปอร์ โบนัส) อัดแน่นโปรโมชั่นสุดพิเศษเพื่อมอบเป็นโบนัสให้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่งท้ายปี 

ไม่ว่าจะเป็น Double Date Promotion 11.11 | 12.12 รวมถึง Signature Promotion อย่าง Makalius WoW deal และ Seasonal Promotion ต่าง ๆ อีกมากมาย โดยความพิเศษคือ ดีลพิเศษมากกว่า 15 ดีล กับส่วนลดสูงสุดกว่า 70% ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว พร้อมการเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เหนือระดับด้วยความพิเศษที่มาคาเลียสมอบให้ อาทิ ฟรีดินเนอร์ ฟรีดริ้งค์ ฟรีบัตรกำนันสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง มกราคม 2567 

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “ภาพรวมของตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยปีนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ วิถีการทำงานแบบไฮบริดของคนออฟฟิศที่ทลายข้อจำกัดเรื่องวันการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยจากปัจจัยดังกล่าวและการปรับแผนการตลาดช่วงโค้งสุดท้ายของมาคาเลียส คาดว่าในปีนี้ บริษัทฯ จะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าที่วางไว้คือ 120 ล้านบาท”

‘MK’ ประกาศเปลี่ยนโลโก้บริษัท มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานทุกอย่าง ย้ำ!! ยังเหมือนเดิมทุกประการ

(24 ต.ค. 66) บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศเปลี่ยน โลโก้ (Corporate Logo) ของบริษัท เป็นดีไซน์ใหม่

สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจครั้งนี้ เอ็มเคฯ ระบุในหนังสือที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงโลโก้นี้เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยจะมีผลตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยักษ์ร้านสุกี้ยังย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงโลโก้ใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและบริหารทางธุรกิจของบริษัท โดยทั้งชื่อย่อ เว็บไซต์ ที่อยู่สำนักงาน และหมายเลขติดต่อ ยังคงเดิมทุกประการ

ในส่วนของที่มาของชื่อและโลโก้เอ็มเคนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ mkrestaurant.com ระบุว่า ที่มาของคำว่า ‘เอ็มเค’ มาจากชื่อของเจ้าของเดิมคือ มาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ก่อนที่ คุณป้าทองคำ เมฆโต จะซื้อกิจการต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ได้ชักชวนคุณป้าทองคำ มาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้าน ‘กรีน เอ็มเค’ ตามด้วยร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในปี พ.ศ. 2529

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ซีอีโอ EA คว้ารางวัล ‘บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023’ เชิดชูการริเริ่ม-ยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่น

เมื่อไม่นานมานี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ ‘บุคคลคุณภาพแห่งปี 2023’ (QUALITY PERSONS OF THE YEAR 2023) สาขาภาคธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ในฐานะเป็นบุคคลตัวอย่างที่มุ่งมั่นทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม โดยเป็นผู้ริเริ่มและยกระดับธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น ด้านพัฒนากลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจแบตเตอรี่ ลิเธียม ไอออน, ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และสถานีชาร์จ EA Anywhere สู่การสร้างโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตรถโดยสาร EV ระหว่างไทยกับสมาพันธ์รัฐสวิส โครงการแรกในโลก พร้อมจัดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กว่า 12,800 คน ใน 280 หน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ประธานในพิธีมอบโล่รางวัลประกาศเกียรติยศ ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) เป็นองค์กรเพื่อการกุศลสาธารณะ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมยกย่องบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ควรค่าแก่การส่งเสริมเพื่อประกาศเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ มาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี 

‘เฮียฮ้อ’ ส่ง ‘RS LiveWell’ ลงทุนในแบรนด์ ‘Erb’ กว่า 60% ปูทางรุกธุรกิจ ‘Wellness & Spa’ รับเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

(17 ต.ค. 66) สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจาก อาร์เอส กรุ๊ป ทรานส์ฟอร์มองค์กรจากการดำเนินธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์มาสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซ ภายใต้โมเดล Entertainmerce ได้มุ่งมั่นการขยาย Ecosystem ธุรกิจคอมเมิร์ซเพื่อรักษาอัตราการเติบโตและหาโอกาสในการขยายฐานการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้บริษัท RS LiveWell ซึ่งเป็น Product Company ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รวมถึงการเข้าลงทุนในแบรนด์สุขภาพ-ความงามที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพ ล่าสุดได้เข้าลงทุนในบริษัท เอิบเอเชีย จำกัด หรือ Erb ในสัดส่วน 60%

“Erb เป็นแบรนด์เครื่องหอมและสกินแคร์ที่มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 25 ปี ผู้บริหารและพนักงานมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในธุรกิจ รวมไปถึงมีคอนเนกชันและพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารและทีมงานของ อาร์เอส ผสานกับ Ecosystem และความเชี่ยวชาญของทุกธุรกิจในเครือ จะสนับสนุนให้ Erb เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาสินค้า การตลาด การประชาสัมพันธ์ ช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และการจัดจำหน่าย ส่งผลให้ธุรกิจของ Erb มีสินค้าและบริการที่ครบวงจรและเติบโตอย่างชัดเจน”

พัชทรี ภักดีบุตร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Erb กล่าวว่า Erb ใช้ความโดดเด่นในเรื่องของภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งขยายธุรกิจไปในตลาดที่มีโอกาสและสอดคล้องกับ Core business ของบริษัท อาทิ Wellness and Spa โดยใช้จุดแข็งของตัวแบรนด์ นำไปสู่การเติบโตในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาสนใจและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลสะท้อนเชิงบวกแก่แบรนด์ในการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เพื่อตอบสนองตลาด จึงมองหาพาร์ตเนอร์ โดยเงินลงทุนที่ได้ครั้งนี้จะนำไปสร้างทีมเพื่อดูแลรับผิดชอบธุรกิจใหม่ รวมถึงขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และ Collaboration projects ต่างๆ

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Erb มีการจำหน่ายแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ อาร์เอส จะทำให้ Erb แข็งแรงขึ้นจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” พัชทรี กล่าวและว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการของ Erb แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์สกินแคร์, ผลิตภัณฑ์สปาภายในบ้าน, ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมภายในบ้าน, Amenity kit และเซ็ตของขวัญ, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอนามัย และธุรกิจสปา

สุรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากผลิตภัณฑ์และบริการของ Erb ที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจสปา จะทำให้ อาร์เอส มีโอกาสรุกและขยายธุรกิจ Wellness and Spa มากขึ้น รองรับการเติบโตตามเทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ภาครัฐสนับสนุนการเดินหน้าสู่ Medical Hub ของไทย รวมถึงเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของ RS LiveWell ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ Erb จะเดินหน้าเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น สร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ อาทิ การทำสินค้า Corporate brand การขยายธุรกิจ Spa ไปยังโรงแรมและสถานที่ Prime location ต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือใหม่ ๆ กับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ ที่มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน 

‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งระงับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม 1,500 MW  หลังบริษัทย่อยกลุ่ม EA ร้องคำสั่ง กกพ. ไม่โปร่งใส-ยุติธรรม

(16 ต.ค. 66) ศาลปกครองมีคำสั่งระงับรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในกลุ่มพลังงานลม ขนาด 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว หลังจากบริษัทย่อยของ EA ร้อง กกพ. ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส และยุติธรรม

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EA ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ร้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เกี่ยวกับ การออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ไม่โปร่งใส และยุติธรรม ต่อศาลปกครองกลาง

โดยสาระสำคัญที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทางการปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งศาลได้แถลงไว้ ดังนี้

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยังไม่ได้แจ้งเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทราบ โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินหรือการกำหนดคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคด้านต่าง ๆ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าตามระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2”

“ข้อเท็จจริงไม่มีการประกาศหรือกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินคะแนนความพร้อมทางเทคนิคด้านต่าง ๆ ให้ผู้อื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบแต่อย่างใด อันทำให้เป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการคัดเลือกโดยแท้ซึ่งจะทำให้ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า”

“ผู้ฟ้องคดีเองได้ขอทราบคะแนนการประเมินของคณะอนุกรรมการก็ไม่ได้รับการชี้แจงหรือ แจ้งผลใด จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีปัญหาว่าการพิจารณาและการประเมินให้น้ำหนักคะแนนของคณะอนุกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการไม่ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ตามที่หลักเกณฑ์กำหนดกระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า”

“เมื่อคณะอนุกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์การให้น้ำหนักคะแนนความพร้อมทางเทคนิค แต่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงอาจมีการใช้ดุลพินิจ ตามอำเภอใจ โดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและตรวจสอบได้”

“ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาประเมินคะแนนความพร้อมทางเทคนิคในแต่ละด้านและยังให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้พิจารณา คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อเสนอความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย อันมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางอีกด้วย”

จากกรณีดังกล่าว จึงทำให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อผู้ของฟ้องคดีและทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลมจำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นอย่างอื่นเนื่องจากการดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับ ความชอบด้วยกฎหมาย

'สุกี้ตี๋น้อย' ปั้นแบรนด์ใหม่ 'Teenoi Express' ฝ่าดงหม่าล่าเกลื่อน ปักหมุด 'เมเจอร์รัชโยธิน' สาขาแรก 1 พ.ย.นี้ ราคาเดียว 439 บาท

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.66) เปิดเกมรุกบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์สุกี้ชื่อดัง โดยบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด

มีสโลแกน ‘อร่อยไม่อั้น เที่ยงวันยันเช้า’ ในราคา 219 บาท ทำให้ฮิตติดลม จนแตกแขนงหลายสาขาทั้งกรุงเทพ ปริมณฑล ล่าสุดเริ่มบุกต่างจังหวัดแล้ว

ขณะที่รายได้เรียกว่าแม้จะเปิดตัวในปี 2562 หรือเพียงระยะเวลาแค่ 5 ปี แต่ก็สร้างรายได้เติบโตต่อเนื่อง

ปี 2562 มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท, ปี 2564 มีรายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท และปี 2565 มีรายได้พุ่งทะยาน 3,976 ล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท

ส่วนปี 2566 น่าจับตาเส้นทางการเติบโตทั้งรายได้และกำไร หลัง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ปิดดีลความร่วมมือกับ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท และทำให้กิจการสุกี้ตี๋น้อยมีมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท โดยปีนี้วางแผนเปิด 12 สาขา

ล่าสุดออกแบรนด์ใหม่ ‘Teenoi Express’ (ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส) สุกี้ บุฟเฟต์ อร่อยไม่อั้น ราคาเดียว 439 บาท รวมเครื่องดื่มและของหวาน ครบจบที่เดียว พร้อมเปิดให้บริการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ ที่ ‘อเวนิว เมเจอร์ รัชโยธิน’

มีเมนูไฮไลต์ เนื้อวากิวออสเตรเลีย บริสเกต MB 6, เนื้อ Rib Eye นิวซีแลนด์, เนื้อ Oyster Blade ออสเตรเลีย, ลิ้นวัว อาร์เจนตินา, ลูกชิ้นกุ้งปั้นสด, ปลาหมึกกระดอง, กุ้งแก้ว, เต้าหู้ม้วนทอด, ไส้เป็ด, ไส้อ่อน, เซี่ยงจี๊ และอื่นๆ อีกมากกว่า 50 รายการ

ส่วนน้ำซุป-น้ำจิ้ม เป็นสูตรซิกเนเจอร์ ไม่ว่าน้ำซุปหม่าล่า, น้ำซุปดำ, น้ำซุปกระดูกหมูทงคัตสึ, น้ำซุปเห็ดหอม และน้ำซุปต้มยำ

ด้านของหวาน มีวาฟเฟิลราดซอสช็อกโกแลต/สตรอเบอร์รี่ + ไอศกรีมวานิลลา ช็อก ชิป,ไอศกรีม พร้อมของทานเล่น

เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ หลังสร้างความฮือฮาเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ ‘ข้าวแกง ตี๋น้อยปันสุข’ ในราคาเริ่มต้น 39 บาท ที่สาขาเลียบทางด่วน 1 และ ‘ตี๋น้อย ป็อปอัพ คาเฟ่’ สาขาสยามสแควร์ซอย 2

คงต้องจับตาการบุกตลาดพรีเมียมครั้งแรกของ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ หลังทำตลาดมาแมส ที่ราคาเข้าถึงง่าย ใครๆ ก็กินได้ มานานหลายปี จะมีเสียงตอบรับมากน้อยขนาดไหน

‘กองทุนดีอี’ ชูระบบสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ‘CondoMaps’ หลังสนับสนุนงบ ‘กรมที่ดิน’ พัฒนาสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ภายหลังจาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กองทุนดีอี ได้สนับสนุนงบประมาณให้ กรมที่ดิน ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565

จากผลการดำเนินงานล่าสุด ทางกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) สำเร็จพร้อมเปิดให้บริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กรมที่ดิน ในฐานะผู้พัฒนาระบบ CondoMaps ได้ทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธีเปิดด้วย 

สำหรับระบบสืบค้นอาคารชุด ห้องชุด (CondoMaps) พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่ถือครองห้องชุด เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด สามารถสืบค้นข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด ได้โดยใช้เลขทะเบียนอาคารชุด ห้องชุด ที่ระบุในหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบบจะแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารชุด ห้องชุด ในรูปแบบภูมิสารสนเทศ 3 มิติ ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นทัศนียภาพเสมือนจริง โดยแสดงผลร่วมกับข้อมูลรูปแปลงที่ดินของกรมที่ดิน ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ (Open Street Map) และภาพถ่ายทางอากาศเชิงเลข (DMC) ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

โครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่ช่วยสร้างฐานข้อมูลอาคารห้องชุดให้เป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลเอกสารสิทธิห้องชุดทั่วประเทศ นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายให้ประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างศักยภาพของภาครัฐ ตอบโจทย์ทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปัจจุบัน กรมที่ดินมีฐานข้อมูลห้องชุดแบบ 3 มิติ สำหรับให้บริการบนระบบ CondoMaps จำนวน 180,000 ยูนิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างดำเนินการนำเข้าฐานข้อมูลอาคารชุด ห้องชุด เพื่อให้มีฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ 3 มิติ เพิ่มมากขึ้นอีกจำนวน 480,000 ยูนิต หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีฐานข้อมูลห้องชุดรวมจำนวนทั้งสิ้น 660,000 ยูนิต

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวย้ำว่า การดำเนินโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยผ่านระบบ CondoMaps นั้น เป็นการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในรูปแบบ Data as a Service (Daas) เป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการ รวมทั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานใช้ประกอบการวางแผนงาน นโยบาย หรือวางแผนต่อยอดทางด้านธุรกิจ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับหลักการภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวมอย่างครบวงจร

สายการบิน ‘MyAirline’ ประกาศหยุดบินกะทันหัน มีผลตั้งแต่วันนี้ หลังประสบปัญหาด้านการเงินอ่วม

(12 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสายการบินมายแอร์ไลน์ (MyAirline : Z9) ประกาศหยุดให้บริการทำการบินทุกเส้นทาง อ้างเหตุผลประสบปัญหาด้านการเงิน สายการบินได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘MyAirline’ โดยระบุว่า มายแอร์ไลน์ประกาศระงับการปฏิบัติการ

มายแอร์ไลน์รู้สึกเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบถึงการระงับการปฏิบัติการบินชั่วคราว (Suspension) ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการประกาศอีกครั้ง การตัดสินใจที่ยากลำบากนี้ เกิดจากแรงกดดันด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ต้องยกเลิกการให้บริการระหว่างการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการเพิ่มทุนของสายการบิน

แถลงการณ์จากคณะกรรมการบริหารสายการบิน ระบุว่า สายการบินเสียใจอย่างที่สุด และขออภัยต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ เราเข้าใจถึงผลกระทบต่อผู้โดยสารผู้ภักดี พนักงานที่ทุ่มเทและพันธมิตรของสายการบิน เราได้ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อเสาะหาความร่วมมือต่าง ๆ และแนวทางการระดมทุนเพื่อเลี่ยงการหยุดทำการบินนี้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ข้อจำกัดด้านเวลาบีบบังคับให้เราต้องเลือกหยุดปฏิบัติการบิน

ทั้งนี้ เราเข้าใจถึงความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และเรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนคุณผ่านสถานการณ์นี้ โปรดติดต่อเราที่ customercare@myairline.my และทีมสนับสนุนของเราจะพร้อมให้ความช่วยเหลือ

ในระหว่างนี้ เราขอแนะนำให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบ อย่ามุ่งหน้าไปสนามบิน และหาทางเลือกอื่นในการเดินทางไปยังจุดหมายของตน

คณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น และพนักงาน MyAirline จะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อกลับมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด แต่ในตอนนี้เรายังไม่สามารถกำหนดเวลาใด ๆ ได้

เราขออภัยอย่างจริงใจอีกครั้งสำหรับความไม่สะดวกและปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการหยุดปฏิบัติการบินนี้และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออัพเดตข้อมูลเมื่อมีความพร้อม”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ประชาชาติธุรกิจเคยได้สัมภาษณ์นายเรเนอร์ เทียว เคง ฮอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของสายการบิน MyAirline (มายแอร์ไลน์) โดยครั้งนั้น ผู้บริหารรายนี้ให้ข้อมูลว่า สายการบินเกิดขึ้นในยุคโควิด-19 โดยสายการบินใช้โอกาสช่วงโควิด ‘ล็อกต้นทุน’ ในระยะยาว ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น

โดยสายการบินได้เริ่มทำการบินแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2565 และเริ่มทำการบินเส้นทางสู่ประเทศไทยเที่ยวบินแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 จากนั้นสายการบินได้ให้บริการเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองสู่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ในครั้งนั้นผู้บริหารมายแอร์ไลน์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนมีแผนขยายเส้นทางบินสู่จุดบินอื่น ๆ ในไทย เช่น ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ ภายในสิ้นปี 2566 นี้ จากนั้นเตรียมพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินสู่อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย ส่วนในอนาคต 3-5 ปี อาจพิจารณาเปิดทำการบินเส้นทางอินเดียเพิ่มเติม เกาหลีใต้และออสเตรเลีย และที่สำคัญคือ เตรียมขยายฝูงบินเป็น 80 ลำ ในปี 2570 (ค.ศ. 2027)

เมื่อสอบถามว่า สายการบินในเอเชียต่างสั่งซื้อเครื่องบินจำนวนมหาศาล ไม่คิดว่าแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ในภาคการบินหรือไม่ ผู้บริหารรายนี้ตอบว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าซัพพลายเครื่องบินยังไม่มากจนเกินไป ภูมิภาคอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน หากรวมประเทศรอบ ๆ อาเซียน ประชากรย่อมมีมากกว่านั้น ภูมิภาคอาเซียนจึงยังมีโอกาสและมีศักยภาพในการขยายตัว

“เราไม่ได้มองแค่ตลาด 2-3 ประเทศ แต่เรามองไกลมากกว่านั้น ดังนั้น แผนการสั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร”

สำหรับเรเนอร์ เทียว ‘เรเนอร์ เทียว’ เริ่มต้นจากการทำงานกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส (Malaysia Airlines) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแผนกสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสาร จากนั้นได้ร่วมงานกับบริษัท Abacus Distribution Systems (Malaysia) Sdn Bhd ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแผนกการรับรองเอเย่นต์ที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในระหว่างปี 2536-2547

ต่อมาในระหว่างปี 2547-2562 ‘เรเนอร์’ ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกฝ่ายขายและการจัดจำหน่ายที่บริษัท AirAsia Group Berhad ก่อนที่จะร่วมงานกับสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ในตำแหน่งที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2562

‘กองทุนดีอี’ หนุนทุกภาคส่วนร่วมต่อยอดเทคโนโลยี 5G เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัลครบทุกมิติ

สดช. จัดเวทีสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G หวังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G โดยมีนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ โรงแรม PULLMAN BANGKOK KING POWER กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. ได้ดำเนินโครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ซึ่งได้ทำการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ แผนงาน มาตรการ โครงการ และแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ และรูปแบบแนวทางในการจัดทำมาตรการฯ โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบัน สดช. ได้จัดทำ (ร่าง) มาตรการฯ และเอกสารคู่มือที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยมาตรการ 3 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และมาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนและผลักดันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสู่การปฏิบัติจริงที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างระบบนิเวศด้านการลงทุนให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป

“ทั้งนี้ สดช. ยังมีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสาน และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกระดับและทุกมิติของภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยที่ผ่านมา สดช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่ได้สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่าย 5G ประสิทธิภาพสูง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านเทคโนโลยี 5G ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบนิเวศให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 ฉบับทบทวน โดยมีตัวชี้วัดในภาพรวม 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking ปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประชาชนคนไทยมากกว่า 80 คะแนน ในปี พ.ศ. 2570” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางสาวสิริกาญจน์ สุขผล ผู้อํานวยการกลุ่มบริหารกองทุน ได้กล่าวถึงบทบาทของกองทุนฯ บนเวทีเสวนา "การส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี5G" ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกองทุนดี มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล โดยการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนในแต่ละปีนั้น จะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่กองทุนดีอีได้รับมากจาก กสทช. 

ทั้งนี้ ทางกองทุนดีอี จะจัดสรรเงินทุนสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ส่วนแรก เป็นการสนับสนุนด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่สอง เป็นการสนับสนุนด้านการวิจัย โดยโครงการที่จะนำเสนอเข้ามานั้น ทางกองทุนฯ อยากให้คำนึงถึงโครงการที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในเชิงสาธารณะ 

“การนำเสนอโครงการที่ต้องทุนสนับสนุน เพื่อการจะพัฒนาขึ้นนั้น จะต้องส่งผลประโยชน์ต่อมุมกว้าง มีการให้บริการประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ขณะเดียวกันในส่วนของการวิจัยนั้น จะเน้นไปที่โครงการที่ทำการวิจัยด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เช่นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G โดยทางกองทุนฯ เปิดกว้างให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน หรือกลุ่มบุคคลทั่วไป สามารถจะเสนอขอรับทุนได้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาการ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล และพัฒนาเมืองปลอดภัยน่าอยู่ หรือ สมาร์ทซิตี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีโครงการอยู่ในมือ ต้องการจะพัฒนาขึ้น แต่ยังขาดเงินทุนสนับสนุน ก็สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ที่กองทุนฯ ซึ่งจะเปิดรับในช่วงต้นปี ประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี” นางสาวสิริกาญจน์ กล่าว

‘ไทยเบฟ’ เปิดเกมรุก ชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำดำ รีแบรนด์ ‘เอส’ รอบ 11 ปีงัดไม้เด็ดมาร์เก็ตติ้งเจาะฐานเจน Z ดันแบรนด์สู่ ‘เอเชียนโคล่าแห่งภูมิภาค’

(11 ต.ค. 66) สมรภูมิตลาดน้ำอัดลม 62,000 ล้าน เดือด!!  ‘เอส’ เปิดเกมเฉือนส่วนแบ่งเจ้าตลาด ‘โค้ก-เป๊ปซี่’ หวังขยับมาร์เก็ตแชร์เพิ่มทุกปีจากปัจจุบัน 9.1% รั้งเบอร์ 3 รีแบรนด์รอบทศวรรษ ทุ่ม 200 ล้าน งัดมิวสิคมาร์เก็ตติ้งขยายเจน-Z พร้อมแจกน้ำอัดลม 1 ล้านกระป๋อง มุ่ง เอเชียนโคล่าแห่งภูมิภาค

ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมไทยมูลค่ารวมกว่า 62,000 ล้านบาท ถูกครองตลาดโดย 2 โกลบอลแบรนด์ ‘โค้ก’ และ ‘เป๊ปซี่’ ซึ่งทั้งสองค่ายมีส่วนแบ่งการตลาดน้ำอัดลมในไทยรวมกันเกินกว่า 80% นำโดย โค้ก ครองส่วนแบ่งการตลาด 54% ตามมาด้วย เป๊ปซี่ 30% นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ ‘บิ๊กโคล่า’ จากอเมริกาใต้ และ ‘อาร์ซี’ แบรนด์โคล่าสัญชาติอเมริกา

แม้ตลาดน้ำอัดลมไทยจะมีโกลบอลแบรนด์เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก แต่แบรนด์สัญชาติไทย 'เอส' ภายใต้อาณาจักรยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มกลุ่มไทยเบฟ แจ้งเกิดตั้งแต่ปี 2554 ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่เก๋าเกม ด้วยผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง บริษัท เสริมสุข มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้วางรากฐานในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมของไทย มานานกว่า 6 ทศวรรษ

โดยปัจจุบัน ‘ไทยดริ้งค์’ ในเครือไทยเบฟเป็นผู้ทำตลาด ‘เอส’ อยู่ในสถานะเบอร์ 3 ของตลาดด้วยส่วนแบ่งฯ 9.1% แน่นอนว่า ความแข็งแกร่งของธุรกิจไทยเบฟที่มีเครือข่ายและมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมแผนเชิงรุกมุ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ล่าสุดกับการปรับโฉมแบรนด์จะเป็นแรงหนุนทำให้ ‘เอส’ เติบโต พร้อมขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น

นางสาวสุภรณ์ เด่นไพศาล ผู้อำนวยการสำนักการตลาด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ประเทศไทย บริษัท ไทยดริ้งค์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดน้ำอัดลมไทยปี 2566 แข่งขันอย่างดุเดือด ทุกแบรนด์ต่างโหมแคมเปญและทำตลาดอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี ทั้งการเปิดตัวเครื่องดื่มรสชาติใหม่ การทำกิจกรรมการตลาด และการเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ มาร่วมขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่

ตลาดรวมน้ำอัดลมในปีนี้ที่มีมูลค่า 62,000 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำดำ 75% และ น้ำสี 25% กลับมาขยายตัวสูงในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยหากเปรียบเทียบกับปี 2562 ตลาดรวมมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมา 2565 ภาพรวมตลาดรวมมีการขยายตัวประมาณ 1.8%

โดยในปีนี้ได้รับแรงหนุนการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงการบริโภคที่สูงขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ และจากการปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมในช่วงที่ผ่านมา หากไปสำรวจการดื่มน้ำอัดลมของคนในประเทศ เฉลี่ยต่อปี 37.5 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนปริมาณรวมการบริโภคน้ำอัดลมในประเทศประมาณรวม 2,100 ล้านลิตร

“ภาพรวมตลาดปีนี้ กลับมาขยายตัวสูง 16% และเติบโตสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากที่ผ่านมาตลาดจะขยายตัวเป็นตัวเลขแบบอัตราเดียว โดยตลาดรวมได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ในประเทศที่กลับมาปกติ และสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ตลาดรวมกลับมาแข่งขันอย่างรุนแรงขึ้น” นางสาวสุภรณ์ กล่าว

‘เอส’ รีแบรนด์รอบ 11 ปี
ทั้งนี้ ‘เอส’ ได้มีการรีแบรนด์ใหญ่ในรอบ 11 ปี โดยการปรับสูตรและปรับโฉมใหม่ การร่วมดึง ไอคอนตัวแทนคนรุ่นใหม่ชาวเอเชีย ชาอึนอู และพรีเซ็นเตอร์คนไทย มาร่วมขยายตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างยอดขายสูงขึ้น 22.6% นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 - ส.ค.2566 ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มขึ้นเป็น 9.1% นับจากเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมมีส่วนแบ่งการตลาด 7%

แผนการตลาดในปี 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) จะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน พร้อมขยายตลาดด้วยกลยุทธ์​ มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง เพื่อเป็นสื่อสำคัญในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่ต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ทุ่มงบ 80 ล้านบาท ร่วมมือพันธมิตรทางดนตรี ‘เอ-ไทม์’ และ ‘จีเอ็มเอ็มโชว์’ จัด 2 กิจกรรมใหญ่ ประกวดดนตรีในตำนาน ‘est Cola Presents Hotwave Music Awards 2023’ การร่วมเทศกาลดนตรีที่ใหญ่สุดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ‘est Cola Presents Monster Music Festival 2023’ พร้อมส่งบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ‘est Cola Awards Awesome Monster’ ที่นำคาแรกเตอร์มอนสเตอร์รวม 8 ลาย มาร่วมขยายตลาดกลุ่มเป้าหมาย

เจาะคนรุ่นใหม่ - ดันแบรนด์ ‘เอเชียนโคล่า’
สำหรับกลยุทธ์มิวสิคมาร์เก็ตติ้งในครั้งนี้ จึงเป็นการเร่งเครื่องขยายตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z ในอายุ 15-24 ปี ที่เป็นฐานลูกค้าสำคัญ และมีแผนนำเครื่องดื่มน้ำอัดลม 1 ล้านกระป๋อง เปิดให้ลูกค้าได้เข้ามาร่วมทดลองชิมผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงเครื่องดื่มที่ได้ปรับรสชาติใหม่
.
นอกจากตลาดในประเทศที่บริษัทเร่งโหมการตลาดครั้งใหญ่แล้ว อีกแนวทางสำคัญที่จะเพิ่มยอดขายกับ ขยายช่องทางจำหน่ายและทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยพร้อมเร่งขยายตลาดผ่านร้านโชห่วยทั่วประเทศ จากในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1 แสนโชห่วยทั่วไทย รวมถึงขยายผ่านช่องทางร้านอาหารควบคู่กัน

พร้อมกันนี้ ‘เอส’ เตรียมรุกตลาดภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยวางตำแหน่งแบรนด์ ‘เอเชียน โคล่า’ โดยจะรุกตลาดไปในประเทศใหม่ๆ สอดคล้องนโยบายกลุ่มไทยเบฟที่ได้วางยุทธศาสตร์ขยายตลาดครอบคลุมอาเซียน และมีการลงทุนไปในประเทศต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา เอสได้มีการทำตลาดทั้งในประเทศ จีน ทำเลตอนใต้ และมาเลเซีย สร้างผลตอบรับที่ดีเช่นกัน

“ภาพรวมปีนี้ประเมินว่า ยอดขายจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และบริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในเครื่องดื่มน้ำอัดลมมากขึ้น”

ผู้ประกอบการลุยเซ็กเมนต์ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจตลาดน้ำอัดลมในไทย ยังมีการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการเครื่องดื่มรายใหญ่ของไทย ทั้งจาก ตันซันซูเครื่องดื่มโซดา ที่เป็นน้ำอัดลมในสไตล์เกาหลี จากบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป เข้ามาสร้างประสบการณ์ครั้งใหม่และเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ รวมถึงจากค่าย สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ที่มีเครื่องดื่มอัดก๊าซ อย่าง ‘สิงห์ เลมอนโซดา’ เข้ามาร่วมกระตุ้นตลาด สร้างเซ็กเมนต์ใหม่เครื่องดื่มอัดก๊าซให้มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง อีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดเครื่องดื่มนน้ำอัดลมในภาพรวมกลับมาขยายตัวสูง มาจากธุรกิจท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ จึงส่งผลดีต่อตลาดน้ำอัดลมโดยรวม

‘นิสสัน’ เปิดแคมเปญ ช่วยลูกค้าประสบภัยน้ำท่วม ถึงสิ้นปี 66 มอบส่วนลดค่าอะไหล่-อุปกรณ์ 30% พร้อมบริการยกรถส่งศูนย์ฟรี

(11 ต.ค.66) ‘นิสสัน ประเทศไทย’ เปิดแคมเปญ ช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยรถยนต์เสียหายจาก น้ำท่วม ลดค่าอะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่ง ถึงสิ้นปี 2566

แคมเปญ ‘นิสสันร่วมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม’ จะจัดขึ้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยจะมีส่วนลดพิเศษสูงสุด 30% สำหรับค่าอะไหล่, เคมีภัณฑ์, น้ำมันหล่อลื่น และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์

นอกจากนี้ยังมีบริการยกรถที่ประสบภัยน้ำท่วม ไปยังศูนย์บริการนิสสันที่ใกล้ที่สุดฟรี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ

“แคมเปญช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตอกย้ำความมุ่งมั่นของนิสสันในการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าตลอดระยะเวลาการเป็นเจ้าของรถยนต์นิสสัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบความช่วยเหลือในช่วงเวลาวิกฤติ และแบ่งเบาภาระของลูกค้าให้สามารถดำเนินชีวิต และใช้รถยนต์นิสสันได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด” อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และนิสสัน อาเซียน กล่าว

ทั้งนี้ รถยนต์ที่จะได้รับสิทธิครอบคลุมรถยนต์นิสสันทุกรุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาแคมเปญ และสำหรับลูกค้านิสสันที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่รวมลูกค้าที่ได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย หรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย


© Copyright 2023, All rights reserved. THE TOMORROW
Take Me Top